เนื้อหาวันที่ : 2012-01-18 10:24:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6581 views

Beijing Consensus ฉันทามติแห่งกรุงปักกิ่ง

Beijing Consensus หรือ ฉันทามติแห่งกรุงปักกิ่ง ว่ากันว่า นี่คือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่หลุดออกไปจากกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจเสรีนิยม ใหม่ ภายใต้การชี้นำจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา

Beijing Consensus
ฉันทามติแห่งกรุงปักกิ่ง

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

          ช่วงนี้หันไปทางไหนก็ดูจะมีแต่เรื่องวุ่น ๆ กันทั้งในและนอกประเทศนะครับ นอกจากนี้ภัยธรรมชาติร้ายแรงก็เกิดขึ้นกันแทบทุกปี ตัวอย่างล่าสุด คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองไครเชิร์ช (Christchurch) ประเทศนิวซีแลนด์ นี่ยังไม่นับรวมความวุ่นวายทางการเมืองในแอฟริกาตอนเหนือไล่ตั้งแต่ตูนีเซีย อียิปต์ ก่อนจะลามมาถึงลิเบีย รวมทั้งตะวันออกกลางอย่างบาห์เรน และจอร์แดน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นแล้วนะครับว่าโลกในศตวรรษนี้เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่มาจากธรรมชาติและจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง

          สำหรับซีรีส์ “มารู้จัก Emerging Economy”ฉบับนี้ ผู้เขียนขอแนะนำศัพท์เศรษฐกิจคำหนึ่งที่อีกไม่นานคงจะเริ่มคุ้นหูกัน คำที่ว่านี้ คือ Beijing Consensus หรือ แปลเป็นไทยได้ว่า “ฉันทามติแห่งกรุงปักกิ่ง” นั่นเองครับ ว่ากันว่า นี่คือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่หลุดออกไปจากกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจเสรีนิยม ใหม่ (Neoliberal) ภายใต้การชี้นำจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา

จาก Washington Consensus ถึง Beijing Consensus
          สหรัฐอเมริกาเริ่มมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางความเป็นไปของโลกในด้านต่าง ๆ นับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยสหรัฐอเมริกาพยายามชู “ลัทธิประชาธิปไตย” บนแนวคิดเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยม” หรือที่เราเรียกว่า “ทุนนิยม” นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 เป็นต้นมา

          เศรษฐกิจเสรีนิยมเชื่อในเรื่องกลไกราคาหรือ “กลไกตลาด” ว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ

          อย่างไรก็ตามเมื่อมองในภาพรวมแล้วการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดของนัก เศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันตกนั้นกลับสะท้อนปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน คุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศรวมไปถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจาก การ “ถลุง” ใช้ทรัพยากร เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจมองไปที่แค่เป้าหมายของการจำเริญ เติบโตทางเศรษฐกิจในเชิง “ปริมาณ” เป็นหลักโดยดูจากตัวเลขของอัตราการจำเริญเติบโตที่สูง ๆ เป็นสำคัญ

          ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ มีตั้งแต่ตัวเลข GDP, GDP per capita หรือ GDP รายหัว, อัตราการจำเริญเติบโต, ตัวเลขการว่างงาน, ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ, อัตราแลกเปลี่ยน, อัตราดอกเบี้ย, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์, ราคาทองคำ, ราคาน้ำมัน เป็นต้น ตัวเลขเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ได้ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่อง ชี้วัดว่า ณ เวลานั้น เศรษฐกิจอันหมายถึงเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชนนั้นเป็นอย่างไร

          แต่อย่างไรก็ดี คำถามของการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ แล้วแนวทางไหนล่ะที่จะตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้โดยไม่มีการเอารัด เอาเปรียบ ขูดรีด กดขี่ข่มเหงกัน

          แม้ว่าทุนนิยมหรือเสรีนิยมจะตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจนับตั้งแต่สิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แต่ก็มีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบอื่นที่พยายามอธิบายว่ารูปแบบของการพัฒนา นั้นไม่ได้ผูกขาดอยู่แค่แนวคิดเสรีนิยมเพียงอย่างเดียว

          ในช่วงทศวรรษที่ 50-90 เป็นทศวรรษของ “สงครามเย็น” ที่ต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์ของโลกเสรีประชาธิปไตยที่เชิดชูระบบทุนนิยมกับ อุดมการณ์ของโลกคอมมิวนิสต์ที่ยึดมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และแม้ว่าโลกคอมมิวนิสต์จะพ่ายแพ้ นับตั้งแต่เหตุการณ์ทุบกำแพงเบอร์ลิน หรือการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1990 แต่อุดมการณ์สังคมนิยมได้ถูกส่งต่อให้ “พี่รอง” อย่าง “จีน” ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party; CCP) ที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของพวกเขานั้นไม่ได้ล้ม เหลวไปเสียทั้งหมด

          แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ชี้นำได้รับการ ขนานนามว่าเป็น Washington Consensus หรือ “ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน” ซึ่ง จอห์น วิลเลี่ยมสัน (John Williamson) คือ คนแรกที่กล่าวถึง Washington Consensus ในบทความของเขาที่ชื่อ What Washington Means by Policy Reform โดย วิลเลี่ยมสันได้พูดถึง “ชุดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ” ที่วันนี้ได้กลายเป็น “สูตรสำเร็จ” สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ต้องเดินตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่ง ตรงมาจากกรุงวอชิงตัน ดีซี

          ชุดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 10 ด้าน ประกอบไปด้วย การรักษาวินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline) การจัดลำดับความสำคัญของรายจ่ายรัฐบาล (Prioritize Government Expenditure) การปฏิรูปภาษีอากร (Tax Reform) นโยบายอัตราดอกเบี้ยเสรี (Floating Interest Rate) นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่สนับสนุนให้มีความสามารถในการแข่งขันและการส่งออก (Competitive Exchange Rate) การเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ (Trade Liberalization) การลงทุนโดนตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) การลดการควบคุมและการกำกับ (Deregulation) และการกำหนดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ชัดเจน (Property Right Assignment)

          อย่างไรก็ตามชุดนโยบายดังกล่าว หัวใจสำคัญอยู่ที่ การผ่อนคลายกฎระเบียบ การเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน และการแปรรูปให้เอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของ ทั้งนี้การจะใช้นโยบายให้เกิดประสิทธิผลได้อย่างเต็มที่นั้นจำเป็นต้องมี ระบอบการปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยให้ได้มากที่สุด (Political Democratization) เพื่อมาสนับสนุนระบบเศรษฐกิจดังกล่าว



จอห์น วิลเลี่ยมสัน (John Williamson)
เจ้าของแนวคิดเรื่อง Washington Consensus
   
          จุดเด่นของ Washington Consensus คือ มีชุดนโยบายที่ตายตัวสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องกับกระแส “โลกภิวัฒน์” ทั้งนี้ชุดนโยบายเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นตามหลักเศรษฐศาสตร์จากสำนักคลาสสิก ใหม่หรือ Neoclassical Economics ที่เชื่อในเรื่องประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรที่มาจากกลไกตลาดโดยรัฐควรมี บทบาทน้อยที่สุด

          นอกจากนี้ชุดนโยบายดังกล่าวยังเป็นแนวทางสำคัญให้กับ “องค์กรโลกบาล” ทางเศรษฐกิจอย่าง IMF และ World Bank ที่คอยให้คำแนะนำกับประเทศต่าง ๆ เวลาเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายอย่างแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การรักษาวินัยทางการคลัง มาเป็นเงื่อนไขในการปล่อยเงินกู้

          แม้ว่า Washington Consensus จะถูกมองว่าเป็น “สูตรสำเร็จ” ของการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ค่าเงินเปโซในเม็กซิโก วิกฤตการณ์ทางการเงินในอาร์เจนติน่า รวมถึงวิกฤตต้มยำกุ้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็น “Good Boy” หรือ เด็กดีของพี่เบิ้มอเมริกันด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อถึงเวลาเผชิญหน้ากับวิกฤตประเทศเหล่านี้กลับไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ทั้ง ๆ ที่ปฏิบัติตามสูตรดังกล่าวที่พร่ำสอนกันว่าดีนักดีหนา

          ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์หลายคนจึงมองว่า Washington Consensus นั้นเชื่อมั่นในระบบตลาดเสรีมากจนเกินไป อีกทั้งเป็นแนวทางที่เอารัดเอาเปรียบประเทศที่กำลังพัฒนาจนถูกมองว่ามี ลักษณะเป็น “จักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ” หรือ Economic Imperialism



ลัทธิจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Imperialism
ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มาในรูปของบรรษัทข้ามชาติ
โดยอาศัยกลไกของรัฐบาลอเมริกันเป็นตัวขับเคลื่อนและรักษาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน

          อย่างไรก็ดีนับแต่จีนเริ่มปฏิรูปการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1979 นั้น นับมาถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่สามสิบสองแล้วนะครับ ผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่าจีนกำลังสร้างแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้บริบทของประเทศตนเองโดยเริ่มจากการเดินเข้าสู่ระบบตลาดอย่างค่อยเป็น ค่อยไปตั้งแต่สมัยของ “เติ้งเสี่ยวผิง” (Deng Xiaoping)

          เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนรุ่นที่ 3 (Paramount Leader of People of Republic China) ได้เคยกล่าววลีอมตะที่สะท้อนให้เห็น “วิสัยทัศน์” ของการเป็นผู้นำที่ดีไว้ว่า “แมวสีอะไร ไม่สำคัญ ขอแค่จับหนูได้ก็พอ” ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาผู้นำจีนรุ่นแรก คือ เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong) และรุ่นที่สอง คือ หัว กั๋วเฟิง (Hua Guofeng) นั้นต่างยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มากจนเกินไป จนไม่สามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวจีนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนชั้น ชาวนาและกรรมกรให้อยู่ดีกินดีได้

          ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของเหมาโดยใช้นโยบาย The Great Leap Forward ทำให้เติ้งเสี่ยวผิง ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดดังกล่าวว่าการรีบก้าวกระโดดจนเกินไปอาจนำพา ประเทศไปสู่ความหายนะได้

          “เติ้ง” จึง เสนอให้ให้มีการผ่อนคลาย (Gradualism) โดยนำระบบตลาดมาใช้ เริ่มทดลองนำกลไกตลาดและระบบการสร้างแรงจูงใจมาใช้ในบางพื้นที่ (Experiment) เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ Special Economic Zones (SEZs) 4 แห่งแรก ใน เซิ่นเจิ้น, จูไห่, ซัวเถา และ เซี้ยเหมิน หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ขยายผลไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน (Step by Step) แล้วจึงเริ่มสร้างเมืองเปิดตามชายฝั่งทะเล 14 แห่ง ได้แก่ ตาเหลียน, ฉินหวงเต่า, เทียนสิน, ยานไถ, ชิงเต่า, เหลียนหยูนก่าง, หนานทง, เซี่ยงไฮ้, หนิงโป, เวินโจว, ฝูโจว, กวางโจว, จ้านเจียงและเป๋ยไห่ หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนานิคมชายแดนในเวลาต่อมา

          จะเห็นได้ว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนนั้นเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไปนะครับ โดยจุดเด่นของการปฏิรูป อยู่ที่การคำนึงถึงสภาพพื้นที่ของจีนเองโดยไม่ได้ลอกแบบมาจากชาติตะวันตก เสียทั้งหมด ยกตัวอย่าง มาตรการสำคัญที่จีนคิดขึ้นมาให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ตนเอง เช่น มาตรการการสร้างแรงจูงใจให้กับวิสาหกิจจีนในระดับท้องถิ่นจนเกิดการขยายตัว ของ “วิสาหกิจท้องถิ่น” หรือ Township and Villages Enterprises: TVEs ทั้งนี้รัฐบาลจีนอนุญาตให้วิสาหกิจจีนในแต่ละท้องถิ่นช่วยกันทำธุรกิจและ เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไว้ในท้องถิ่นตนเอง ซึ่งมาตรการดังกล่าวนับเป็นแรงขับเคลื่อนภาคการผลิตที่สำคัญของจีนในช่วง เริ่มต้นการปฏิรูป

          มาตรการ TVEs เน้นให้วิสาหกิจที่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของนั้นมีอำนาจในการบริหารจัดการ อย่างอิสระ สร้างรายได้ของตนเอง เก็บรายได้เข้ากิจการเองได้ ตลอดจนมีการจ่ายค่าตอบแทนแรงงานในอัตราตลาดที่จูงใจ

          ทั้งนี้ผู้นำจีนในเวลาต่อมาต่างก็มิได้ยึดติดสูตรสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ เฉกเช่นเดียวกับชาติตะวันตกแต่อย่างใด อย่างไรก็แล้วแต่ผู้นำจีนรุ่นที่สี่อย่าง “เจียงเจ๋อหมิน” (Jiang Zemin) และ ผู้นำรุ่นที่ห้า คือ “หูจิ่นเทา” (Hu Jintao) ก็ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบตะวันตกเสียทีเดียว โดยนับตั้งแต่ผู้นำรุ่นที่สี่เป็นต้นมานั้น จีนเริ่มมีนโยบายเปิดประเทศสู่ตลาดโลก มีการส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก (Export- Oriented) เน้นดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศ (FDI) และเปิดรับเทคโนโลยีต่างประเทศ พร้อม ๆ กับเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคไม่ให้มีความผันผวน



ผู้นำจีนจากรุ่นที่สามถึงรุ่นที่ห้า ผู้มีส่วนนำพาให้เศรษฐกิจจีนแข็งแกร่ง
เติ้งเสี่ยวผิง (รุ่นที่ 3) เจียงเจ๋อหมิง (รุ่นที่ 4) และ หูจิ่นเทา (รุ่นที่ 5)

          นักเศรษฐศาสตร์ผู้สนใจเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนอธิบายถึงความสำเร็จในการ ปฏิรูปอย่างนี้ครับว่า เส้นทางการปฏิรูปของจีนนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงสถาบันที่มีจังหวะจะโคน และเป็นไปตามขั้นตอนอย่างถูกที่ถูกเวลา (Sequencing in the right timing) โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการทำให้ทุกฝ่ายนั้นได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปมากที่สุด

ขณะเดียวกันยังคงรักษาผลประโยชน์ของท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้การปกครองของพรรค คอมมิวนิสต์เพื่อลดกระแสแรงต่อต้าน เช่น รัฐบาลท้องถิ่นสามารถเก็บรายได้จาก FDI ไว้ได้เอง เป็นต้น นอกจากนี้การปฏิรูปยังนำระบบจูงใจมาใช้กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันระหว่าง มณฑลต่าง ๆ

          ในขณะที่บทบาทของผู้นำจีนในด้านนโยบายนั้น นับแต่เติ้งเสี่ยวผิงได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น ผู้นำจีนในรุ่นถัด ๆ มาต่างมีความเต็มใจที่พร้อมจะเรียนรู้ประสบการณ์การปฏิรูปเศรษฐกิจจากประเทศ อื่น ๆ เพื่อนำกลยุทธ์หรือมาตรการต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศตนเอง ภายใต้จังหวะเวลา และเงื่อนไขที่เหมาะสม



ผู้นำระดับ “นายกรัฐมนตรี” ที่เป็นมือไม้ให้กับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน
จากซ้ายไปขวา หลี่เผิง , จูหรงจี และเหวินเจียเป่า
คนเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการนำวิสัยทัศน์ของผู้นำพรรคมาขับเคลื่อนเป็นนโยบายที่เห็นผล
   
          ตลอดระยะเวลาสามสิบสองปี การสร้างแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ China Model นั้นเกิดจากการเรียนรู้แบบค่อย ๆ เป็นค่อยไปนะครับ หลังจากนั้นจึงเริ่มลงมือทดลองปฏิบัติ เช่น การเปิดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของจีน รวมถึงให้ความสำคัญกับความคิดริเริ่มของท้องถิ่นตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งท้องถิ่นและภาคเอกชน โดยอาศัยวิสัยทัศน์ของผู้นำจีนยุคใหม่ในการเรียนรู้ที่จะเปิดและปฏิรูป ประเทศอย่างมุ่งมั่น

          ด้วยเหตุนี้เอง คำว่า Beijing Consensus หรือ “ฉันทมติแห่งกรุงปักกิ่ง” จึงได้มาจากการรวบรวมประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบจีน โดยคนที่เรียกการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางของจีนสมัยใหม่นี้ว่า Beijing Consensus นี้ คือ นายโจชัว คูเปอร์ ราโม (Joshua Cooper Ramo) ครับ โดยราโม ได้เขียนบทความของเขาเรื่อง The Beijing Consensus: Notes on the New Physics of Chinese Power เมื่อปี 2004

          บทความดังกล่าวได้อธิบายคำว่า Beijing Consensus ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจโลกนอกเหนือจาก Washington Consensus ครับ

 
โจชัว คูเปอร์ ราโม (Joshua Cooper Ramo) และหนังสือ The Beijing Consensus

          ทั้งนี้ราโมได้อธิบายถึงจุดเด่นของ Beijing Consensus ไว้ว่า ไม่มีชุดนโยบายที่ชัดเจนจนกลายเป็นสูตรสำเร็จเหมือน Washington Consensus หากแต่เป็นฐานคิดกว้าง ๆ ในการสร้างนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากกว่า ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกประเทศ และที่พิเศษไปกว่านั้นดูเหมือนว่า Beijing Consensus จะไม่ได้บอกว่าประเทศต่าง ๆ ต้องทำอะไร หากแต่พยายามบอกว่า “ควรจะไม่ทำอะไร” ซึ่งตรงข้ามกับ Washington Consensus ที่กำหนดแนวทางให้เลยว่าควรจะต้องทำอะไรจึงจะพัฒนาเศรษฐกิจได้

          ราโมวิเคราะห์ว่า Beijing Consensus นั้น มีเนื้อหาสำคัญสามด้าน คือ การให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการทดลองอย่างต่อเนื่อง ต่อมาจึงให้ความสำคัญกับจุดหมายในการพัฒนาพื้นที่ที่หลากหลาย ซึ่งจะเห็นได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างค่อยเป็นค่อยไป และประการสุดท้าย คือ การให้อำนาจการตัดสินใจอย่างอิสระ

          ในด้านของการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการทดลองอย่างต่อเนื่องนั้น ราโมอธิบายว่าเป็นการเน้นแนวทางการปฏิบัตินิยม (Pragmatism) โดยไม่มีชุดนโยบายตายตัวที่สามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา เพียงแต่ต้องอาศัยการทดลอง ทบทวน และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพการณ์ที่แตก ต่างกันไป เช่น ในบางพื้นที่รัฐอาจจำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาทในทางเศรษฐกิจ แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกเสรี เป็นต้น

          สำหรับการให้ความสำคัญกับจุดหมายในการพัฒนาที่หลากหลาย ราโมอธิบายว่าตลอดการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนที่ผ่านมานั้น จีนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในมิติอื่น ๆ ด้วย เช่น พยายามที่สร้างสมดุลระหว่างเมืองและชนบท สร้างความสมดุลในการพัฒนาระหว่างพื้นที่และภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งความสมดุลระหว่างการพัฒนาภายในและเปิดออกสู่โลกภายนอก ซึ่งจะเห็นได้จากจีนเลือกที่จะสร้างความสัมพันธ์กับมิตรประเทศเล็ก ๆ มากกว่ามหาอำนาจทั้งหลาย

          ประการสุดท้าย ราโมมองว่าการให้อำนาจการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ หรือ Self Determination นั้น เป็นเรื่องของความเป็นตัวเองที่มีอิสระในการตัดสินใจโดยไม่ตกอยู่ภายใต้แรง กดดันจากประเทศมหาอำนาจแต่อย่างใด เช่น การสมัครเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีน หรือแม้แต่การไม่สนใจแรงกดดันจากอเมริกาที่จะให้จีนลดค่าเงินหยวน เป็นต้น

          ทั้งนี้ผู้นำจีนต่างยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นสำคัญครับ    และล่าสุดมีบทความเรื่อง Redefining Beijing Consensus: Ten general principles ของ Xin Le, Kjeld Erik Brodsgaard และ Michael Jacobsen แห่งสถาบันเอเชียศึกษา ในโคเปนเฮเก้น ได้สรุปหลักสิบประการของ Beijing Consensus ไว้ดังนี้

          1. การยืมแนวทางที่เป็นเลิศมาปรับให้เข้ากับเงื่อนไขของท้องถิ่นตัวเอง (Localization of Best Practices Borrowed)

          2. การบูรณาการระบบตลาดและระบบวางแผน (Combination of Market and Plan)

          3. การใช้วิธีการที่ยืดหยุ่นแตกต่างกันเพื่อจุดหมายปลายทางเดียวกัน (Flexible Means to Common End)

          4. การให้สิทธิในการกำหนดนโยบายของตนเอง (Policy Rights)

          5. การสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ (Stable Political Environment)

          6. การพึ่งพาตนเอง (Self Reliance)

          7. การยกระดับอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง (Constantly Upgrading Industry)

          8. การสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นของตนเอง (Indigenous Innovation)

          9. การเปิดเสรีทางการเงินอย่างระมัดระวัง (Prudent Financial Liberalization)

          10. การเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างสังคมอย่างกลมเกลียว (Economic Growth for Social Harmony)
  
          ท้ายที่สุดภาพของ Beijing Consensus น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะแสวงหารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนว ทางของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเดิน “ตามตูด” ฝรั่งเสียทั้งหมดหรอกนะครับ สำหรับบ้านเรานั้น หากวันหนึ่งเราสามารถพัฒนาไอเดียการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไทย ๆ ได้บ้าง เราอาจจะสร้าง Bangkok Consensus หรือ “ฉันทามติแห่งกรุงเทพเมืองฟ้าอมร” ก็เป็นได้นะครับ

…..แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

เอกสารและภาพประกอบการเขียน
          1. www.wikipedia.org
          2. อักษรศรี พานิชสาสน์ , โมเดลจีนและ Beijing consensus
          3. John Williamson, What Washington Means by Policy Reform
          4. Joshua Cooper Ramo, The Beijing Consensus: Notes on the New Physics of Chinese Power
          5. Xin Le, Kjeld Erik Br?dsgaard and Michael Jacobsen, Redefining Beijing Consensus: Ten general principles

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด