เนื้อหาวันที่ : 2012-01-16 10:14:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7515 views

การป้องกันอันตรายที่มือ (ตอนที่ 1)

มือ เป็นอวัยวะภายนอกที่สำคัญของร่างกายและถูกใช้งานในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเรามากที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ ดังนั้นจึงย่อมมีโอกาสสูงเช่นเดียวกันที่จะได้รับบาดเจ็บ

ศิริพร วันฟั่น
 
           มือ เป็นอวัยวะภายนอกที่สำคัญของร่างกายและถูกใช้งานในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเรามากที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ ดังนั้นจึงย่อมมีโอกาสสูงเช่นเดียวกันที่จะได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเรื้อรัง ไปจนกระทั่งรุนแรงถึงขั้นพิการ และเมื่อเราสังเกตสถิติการได้รับบาดเจ็บจากการทำงานในแต่ละปีจะพบว่าอวัยวะที่ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บมากติดหนึ่งในสามลำดับแรกตลอดมาก็คือ ”มือ” นี่เอง

โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น มักเป็นผู้ปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรม และมีความจำเป็นในการใช้มือในการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับชิ้นงาน วัสดุ หรืองานปฏิบัติการ ควบคุม ซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องมือหรือกลไกต่าง ๆ หรืออาจจะสัมผัสกับสารเคมี ความร้อน กระแสไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่เพียงพอก็ย่อมนำมาซึ่งอุบัติเหตุที่ไม่พึงปรารถนาได้

สาเหตุหลักที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บที่มือ 
           (เมื่อไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันมือหรือเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันที่ไม่เหมาะสมกับงาน)
           1. จากการใช้มือสัมผัสกับพื้นผิวงานหรือเครื่องมือ/อุปกรณ์ เช่น ใช้มือหยิบจับวัสดุที่แหลมคม/ขรุขระ หรือสัมผัสกับส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักร หรือสัมผัสกับสารเคมีอันตราย หรือวัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีอุณหภูมิสูง เป็นต้น ซึ่งลักษณะของการบาดเจ็บปรากฏมักจะปรากฏออกมาในรูปของการถูกหนีบ ทับ ทิ่ม แทง เจาะ ขูด ตัด ทำให้เกิดบาดแผล ฟกช้ำดำเขียว หรือนิ้ว/มือ ถูกตัดขาด หรือเกิดแผลไหม้ พุพอง เป็นต้น

           2. จากการใช้มือกำหรือบีบเครื่องมือ/อุปกรณ์เป็นเวลานาน เช่น จับเครื่องมือที่มีการใช้แรงและสั่นสะเทือน เช่น เครื่องเจาะพื้นผิวถนน หรือการใช้ไขควง คีม ค้อน เลื่อย เป็นต้น ทำให้มือและนิ้วเกิดการเมื่อยล้า อักเสบ และนำมาซึ่งโรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) หรือโรคพังผืดรัดเส้นประสาทบริเวณอุโมงค์ข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome: CTS) ได้

           3. จากการใช้มือ ข้อมือและนิ้วในงานที่มีลักษณะซ้ำ ๆ เช่น งานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การพิมพ์งานคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทำให้มือ ข้อมือและนิ้วเมื่อยล้า อักเสบ และนำมาซึ่งโรคพังผืดรัดเส้นประสาทบริเวณอุโมงค์ข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome: CTS) หรือโรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) ได้เช่นกัน

หมายเหตุ 
           โรคนิ้วล็อก (Trigger Finger)
เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่พบบ่อยที่สุด มักพบในคนที่ทำงานในลักษณะที่ต้องใช้มืออย่างรุนแรง ทำซ้ำ ๆ โดยใช้แรงกดขยำ ขยี้ ทำให้เส้นเอ็นที่มีหน้าที่รัดเส้นเอ็นติดกับกระดูก ขณะที่เรากำและแบมือเกิดการเสียดสี จนทำให้เส้นเอ็นบวม เกิดพังผืดหนาขึ้นเป็นปม จนนิ้วไม่สามารถที่จะกางออกหรือกำได้เป็นปกติ บางรายอาจเกิดอาการนิ้วง้าง หรือคาอยู่เช่นนั้น หรือไม่ก็ผิดรูปจากเดิมไปคล้ายกับอาการคนพิการหรือเป็นอัมพาตที่นิ้ว มีอาการเจ็บที่ฐานนิ้วและปวดบวมในรายที่เป็นมาก ๆ แม้จะไม่อันตรายถึงชีวิต แต่เป็นความทรมานของคนที่ต้องเผชิญกับโรคนี้

           เมื่อเกิดสภาวะนิ้วล็อกแล้ว ความรุนแรงของโรคจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เริ่มจากอาการเจ็บฐานนิ้ว นิ้วฝืดมีอาการปวดนิ้วคล้ายนิ้วถูกบิดทำให้ปวดชาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลากลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้า ทำให้การเคลื่อนไหวของนิ้วมืองอ หรือเหยียดนิ้วไม่ออก กำมือไม่ลง กำได้ไม่สุด นิ้วเกยกัน ไม่อยู่ในระนาบเดียวกัน นิ้วและฝ่ามือแข็งตัวเกิดพังผืดหนา ผิวหนังของนิ้วมือซีดคล้ำ

           อาการนิ้วล็อกทำให้มือใช้งานไม่ได้ เวลานิ้วหรือมือชนถูกสิ่งของต่าง ๆ จะเจ็บมาก โดยเฉพาะฐานนิ้วโป้งอาการของโรคนิ้วล็อกจะเริ่มขยายตัวไปยังนิ้วข้างเคียง ทำให้นิ้วข้างเคียงถูกจำกัดการเคลื่อนไหวไปด้วย ก่อให้เกิดการแข็งตัวตามไป และใช้งานไม่ได้ในที่สุด

           อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยพิจารณาตามอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย การรักษาในระยะแรก ก็คือ การพักการใช้งานของมือ ไม่ใช้งานรุนแรง การทำกายภาพบำบัด การรับประทานยาหรือฉีดยาต้านการอักเสบ  ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือพังผืดหนามากก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

           โรคพังผืดรัดเส้นประสาทบริเวณอุโมงค์ข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome: CTS) เป็นโรคที่พบได้บ่อยเช่นกัน เกิดจากการใช้งานข้อมือท่าเดิม ๆ หรืองอข้อมือเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดพังผืดที่บริเวณอุโมงค์ข้อมือหนาตัวขึ้นจนไปกดทับเส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณแขน และมือ และรับความรู้สึก บริเวณฝ่ามือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง

เส้นประสาทนี้จะเดินทางตั้งแต่บริเวณต้นคอจนถึงปลายนิ้วมือ ซึ่งบริเวณข้อมือนั้น จะต้องลอดช่องอุโมงค์ที่เรียกว่า Carpal Tunnel เมื่ออุโมงค์นี้เกิดการแคบลงจากสาเหตุต่าง ๆ เช่นการอักเสบ การบวมน้ำ หรือมีสิ่งอื่นมากดทับ ก็จะเป็นผลให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด ชา ตั้งแต่บริเวณข้อมือจนถึงปลายนิ้ว ซึ่งมักมีอาการมากบริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง

หรือในบางรายอาจมีอาการได้ทั้งฝ่ามือ ถ้าเส้นประสาทถูกกดทับมากขึ้น จะทำให้เกิดอาการเสียวและชาไปทั้งมือ (มักจะเป็นตอนนอนหลับกลางคืน) ก่อนจะรุนแรงถึงขั้นปวดร้าวไปทั้งแขน และพัฒนาอาการอ่อนแรงของมือ หยิบจับของลำบาก หรือถือของหล่นบ่อย ๆ และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหัวแม่มือและฝ่ามือลีบลงในที่สุด

           ส่วนการรักษาโรคนี้นั้น มีทั้งแบบให้ยาและผ่าตัด ในระยะเริ่มแรก อาจจะแค่กินยาแก้ปวดแล้วก็พักข้อมือหยุดการเคลื่อนไหว อาการก็อาจทุเลาและหายไปได้เอง แต่ถ้าเริ่มปวดมาก ให้กินแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟนและแพทย์อาจให้สวมอุปกรณ์ประคองมือเพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ หรือฉีด Corticosteroids เข้าอุโมงค์ข้อมือเพื่อลดการอักเสบโดยตรง ส่วนในรายที่เป็นมานานกว่า 6 เดือน อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

           ทั้งนี้ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบว่านักท่องเน็ต หรือผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา จะมีอัตราป่วยเป็นโรคนี้กันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

แนวทางการป้องกันอันตรายที่มือ
           เมื่อมีแผนงานสำหรับการทำงานในแต่ละวันแล้ว ควรใช้ประโยชน์จากกระบวนการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย (Job Safety Analysis: JSA) เพื่อแจกแจงอันตรายในแต่ละขั้นตอนของการทำงาน ซึ่งจะทำให้ทราบถึงตำแหน่งหรือจุดของงานที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับบาดเจ็บที่มือ

เมื่อได้รับทราบข้อมูลแล้วก็มาพิจารณาหาหนทางที่จะขจัดอันตรายในงานนั้น ๆ แล้วสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจและรับทราบรวมถึงนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับมือในการทำงานทุกครั้ง โดยทั่วไปแล้วก็มักนิยมใช้วิธีการป้องกันหรือขจัดอันตรายตามลำดับ 3 วิธี ดังนี้

           (a) การควบคุมเชิงวิศวกรรม (Engineering Controls) เป็นเสมือนด่านป้องกันอันตรายชั้นแรก เพราะอันตรายโดยมากแล้วมักเกิดขึ้นที่จุดปฏิบัติงานหน้าเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นถูกเครื่องปั๊ม เครื่องตอก หนีบทับมือ หรือมือสัมผัสส่วนมีคมของเครื่องจักร (ใบมีด ใบเลื่อย เครื่องเจาะ หรือสะเก็ดชิ้นงานจากเครื่องกลึง)  หรือมือสัมผัสกับส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักร (เพลา แกนหมุน) หรืออันตรายจากการป้อนชิ้นงาน หรือมือสัมผัสกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีอุณหภูมิสูง (หม้อไอน้ำ หม้อต้ม วาล์วไอน้ำความดันสูง) รวมถึงอันตรายในช่วงของการซ่อมบำรุง เหล่านี้เป็นต้น

           ซึ่งการควบคุมเชิงวิศวกรรมที่สามารถจะช่วยป้องกันอันตรายที่มือ ได้แก่ แผงกั้น กระจกนิรภัย อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เครื่องจักร (Machine Guarding) เซนเซอร์ตรวจจับ หรือใช้ระบบป้อนชิ้นงานอัตโนมัติ เป็นต้น

           (b) การควบคุมเชิงบริหารจัดการ (Administration Controls) เป็นการให้ความรู้และฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้ตระหนักและรับทราบถึงอันตราย สาเหตุ รวมถึงวิธีปฏิบัติในการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับมือของผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนการออกกฎ-ข้อบังคับในการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย เช่น ห้ามสวมใส่เครื่องประดับที่นิ้วมือหรือข้อมือ

ห้ามสวมใส่เสื้อผ้าที่รุ่มร่ามหรือชายเสื้อยาว ให้ใช้แปรงปัดเศษวัสดุที่มีความแหลมคมแทนการใช้มือ ห้ามยื่นมือเข้าไปใกล้ชิ้นส่วนที่กำลังเคลื่อนไหวของเครื่องจักร หรือก่อนที่จะหยิบชิ้นงาน/วัสดุ ต้องมีการตรวจสอบว่ามีส่วนที่แหลมคมหรือไม่ หรือเมื่อจำเป็นต้องทำงานกับสารเคมี ก็ควรมีการอธิบายทำความเข้าใจในเอกสารความปลอดภัยสำหรับสารเคมี (MSDS) ชนิดนั้นเสียก่อน เหล่านี้เป็นต้น

           (c) การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) ถือว่าเป็นมาตรการสุดท้ายที่ใช้เมื่อพบว่าไม่สามารถขจัดอันตรายผ่านการควบคุมเชิงวิศวกรรมและ/หรือ การควบคุมเชิงบริการจัดการ หรืออีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ เป็นมาตรการป้องกันอันตรายที่เสริมเข้าไปเพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ใช้ป้องกันมือ นิ้วมือ หรือข้อมือ เช่น ถุงมือ ปลอกแขน-ข้อมือ ปลอกนิ้ว เป็นต้น

           โดยก่อนที่จะเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนใดนั้น ควรพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ในการตัดสินใจ เช่น
           - ความเชื่อมโยงระหว่างคุณลักษณะของอุปกรณ์ป้องกันกับงานที่ทำ
           - ความคล่องแคล่วในการใช้งาน
           - สภาพแวดล้อมในงาน
           - ระยะเวลาในการใช้งาน
           - ความถี่ในการใช้งาน
           - ข้อจำกัดในการใช้งาน
           - ระดับของการสัมผัส (นิ้ว มือ หรือแขน หรือทั้งหมด)
           - ลักษณะอันตรายและอันตรายที่มีโอกาสเกิดขึ้น (ที่ได้ทำการแจกแจงไว้แล้วในกระบวนการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย)
           เป็นต้น

           โดยทั่วไปแล้วอุปกรณ์ป้องกันมือที่มักจะนิยมใช้กัน ก็คือ ถุงมือ (Glove) นั่นเอง และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ถุงมือนั้นมีอยู่หลายประเภทและหลากหลายวัสดุ ซึ่งจะมีความเหมาะสมในการป้องกันอันตรายได้แตกต่างกันออกไป รวมถึงมีข้อจำกัดในการใช้งานที่แตกต่างกันไปอีกด้วย พึงระลึกเสมอว่า “ถุงมือประเภทหนึ่งประเภทใดไม่สามารถใช้ป้องกันได้ทุกสถานการณ์” ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนเลือกใช้ถุงมือให้เหมาะสมกับงาน

           ในการพิจารณาเลือกใช้ถุงมือนั้น มีข้อควรพิจารณาหลายประเด็น ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดถึงคุณสมบัติและชนิดของถุงมือที่จะช่วยป้องกันหรือต้านทาน (Resistance) อันตรายจากการสัมผัสในงานนั้นได้

           โดยตัวอย่างข้อควรพิจารณา มีดังนี้
           - ลักษณะและระดับของอันตรายที่มือต้องสัมผัสในงาน เช่น การดูดซับ/กัดไหม้จากสารเคมีอันตราย หรือการเจาะ ทิ่มแทง การตัด ขีดข่วน ขัด จากวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร หรือการสัมผัสวัตถุติดเชื้อ หรือสัมผัสวัตถุที่มีอุณหภูมิร้อน/เย็น หรือเสี่ยงต่อไฟฟ้าช็อต เป็นต้น
           - คุณสมบัติในการป้องกันอันตรายที่ต้องการ เช่น ต้านทานสารเคมี ป้องกันการขัดถู หรือการตัด ฯลฯ
           - ระยะเวลาและความถี่ที่ต้องสัมผัสอันตราย 
           - พื้นที่ส่วนจำเป็นต้องได้รับการป้องกัน (เฉพาะมือ หรือรวมถึงข้อมือและท่อนแขน) 
           - สภาพพื้นผิวงานที่สัมผัส เช่น แห้ง เปียก ลื่น มีน้ำมัน
           - ความต้องการในงาน เช่น ความยืดหยุ่น การรับรู้จากการสัมผัส ความคล่องแคล่วในการใช้มือ 
           - ผู้ใช้ถุงมือ เช่น ขนาดมือ อาการแพ้วัสดุที่ใช้ทำถุงมือ ฯลฯ  
           - สภาพแวดล้อมในสถานที่ปฏิบัติงาน เช่น ทำงานท่ามกลางความร้อน ซึ่งจะมีเหงื่อออกที่มือมาก
           - ความยาก-ง่ายในการทำความสะอาด เก็บรักษา ชำระล้างสิ่งปนเปื้อน และการกำจัดถุงมือ
           เป็นต้น

คุณลักษณะทั่วไปของถุงมือ 
           * ความหนาของถุงมือ (Thickness) โดยทั่วไปในการวัดความหนาของถุงมือนั้น จะมีหน่วยวัดเป็น Gauge หรือ mil โดยที่ 1 mil = 0.001” (นิ้ว-Inches) ยกตัวอย่างเช่น ถุงมือหนา 10 Gauge หรือ 10 mil ก็หมายความว่ามีความหนาเท่ากับ 0.010 นิ้ว เป็นต้น ถ้างานต้องการความยืดหยุ่นและความรู้สึกจากการสัมผัสมากก็เลือกใช้ถุงมือที่มีความหนาน้อย (Low Gauge Glove)

แต่ถ้างานต้องได้รับการป้องกันสูงก็เลือกใช้ถุงมือที่มีความหนามาก (Heavy Gauge Glove) ซึ่งโดยมากแล้ว ถ้าเป็นถุงมือต้านทานสารเคมีผู้ผลิตจะทวีคูณความหนาของถุงมือเป็น 4 เท่าของเวลาที่สารเคมีจะซึมผ่านถุงมือ (Breakthrough Time)

           * ความยาวของถุงมือ (Length) พิจารณาให้สัมพันธ์กับระยะหรือตำแหน่งที่ต้องการได้รับการป้องกัน เช่น
              -  ป้องกันมือและข้อมือ ก็เลือกใช้ถุงมือที่มีความยาว 9–14” (23–36 cm.) 
              -  ป้องกันท่อนแขนช่วงล่างถึงข้อศอก ก็เลือกใช้ถุงมือที่มีความยาว 14–18” (36–46 cm.) 
              -  ป้องกันตลอดทั้งแขนจนถึงหัวไหล่ ก็เลือกใช้ถุงมือที่มีความยาว 31” (76 cm.) 

           * ขนาดของถุงมือ (Size) ควรพิจารณาเลือกให้สวมใส่ได้พอดี ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป ซึ่งถ้าขนาดเล็กไปก็จะรู้สึกไม่สบายมือ เหงื่อออกมาก และอาจปริแตกหรือฉีกขาดได้ ในขณะที่สวมถุงมือขนาดใหญ่หรือหลวมก็จะมีผลต่อความคล่องแคล่วของมือ หรือลื่นหลุดจากมือ หรืออาจไปเกี่ยวหรือพันเข้ากับส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักรทำให้เกิดอันตรายได้

โดยในการพิจารณาขนาดของถุงมือนั้น อาจใช้วิธีเอาสายวัด วัดระยะเส้นรอบวงของฝ่ามือ (Hand Circumference) (ดูรูปประกอบ) เช่น ถ้าวัดได้เท่ากับ 9” ก็เลือกใช้ถุงมือที่มีขนาด Medium (M) และถ้าวัดได้ 9.5” ก็ควรเลือกใช้ขนาด Large (L) เป็นต้น

Hand Circumference Measurement

           * รูปแบบลักษณะขอบข้อมือของถุงมือ (Cuff Design) 
           ขอบข้อมือม้วน (Rolled Cuffs) ช่วยเสริมความแข็งแรง มั่นคงเวลาสวมใส่ และป้องกันการฉีกขาด

           ขอบข้อมือถัก (Knitwrist) ช่วยยึดถุงมือให้อยู่กับที่และป้องกันเศษชิ้นเล็กชิ้นน้อยเข้าไปด้านในที่บริเวณข้อมือ

           ขอบข้อมือนิรภัยและปลอกต่อข้อมือ (Safety & Gauntlet Cuffs) ช่วยป้องกันบริเวณข้อมือ โดยมาตรฐานความยาวขอบข้อมือนิรภัยจะจะอยู่ที่ 2.5” และปลอกต่อข้อมือจะอยู่ที่ 4.5” หรือยาวกว่านั้นเพื่อใช้ป้องกันท่อนแขน

           นอกจากนี้ ยังมีขอบข้อมือแบบอื่น ๆ อีก เช่น หยักคล้ายกาบหอย แบบสวมและถอดได้ง่าย แบบตรง เป็นต้น

          * ถุงมือเสริมกับไม่เสริม (Supported or Unsupported Gloves) 
          ถุงมือเสริม (Supported Gloves) เป็นถุงมือที่บุหรือซับในด้วยเส้นใยผ้าถักหรือทอเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างถุงมือ เช่น ช่วยเสริมความต้านทานต่อการถูกเกี่ยว ขัดถู ตัด และทิ่มแทง หรือแม้กระทั่งช่วยซับเหงื่อภายในถุงมือ (เช่น ปุยฝ้าย) แต่ถุงมือประเภทนี้จะทำให้ความยืดหยุ่นและความคล่องแคล่วลดลง

          ถุงมือไม่เสริม (Unsupported Gloves) เป็นถุงมือที่ไม่มีการบุหรือซับใน แต่จะให้ความยืดหยุ่นและความคล่องแคล่วที่ดีกว่า

          * ลักษณะของพื้นผิวสัมผัส (Finishes) มีให้เลือกหลายแบบ เช่น แบบเรียบ หรือมีรอยนูน แบบหยาบหรือลื่น เป็นต้น
             ถุงมือนั้นมีหลายประเภท จึงควรพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่ทำและความต้องการสำหรับการป้องกันอันตราย เช่น

          * งานจับต้องวัสดุ/อุปกรณ์ที่มีคม ต้องการถุงมือที่สามารถป้องกันหรือต้านทานการตัด (Cut Resistant Glove) ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะผลิตด้วยเส้นใยโลหะถัก (Metal Mesh) 
             - งานอันตรายน้อย: ถุงมือหนังสังเคราะห์ ผ้าฝ้าย ไนล่อน หรือถุงมือหนังชนิดบาง
             - งานอันตรายปานกลาง: ถุงมือผ้าชนิดหนาไม่มีตะเข็บ หรือถุงมือหนัง
             - งานอันตรายมาก: ถุงมือเสริมโลหะ

          * งานขัด ต้องการถุงมือที่สามารถป้องกันหรือต้านทานการขัดถู (Abrasive Resistant Glove)
              - งานอันตรายน้อย: ถุงมือหนัง พลาสติก ไนล่อน ผ้าฝ้าย ยาง หรือยางสังเคราะห์
              - งานอันตรายมาก: ถุงมือหนังเสริมพิเศษ หรือถุงมือยางชนิดหนาพิเศษ

          * งานจับต้องวัสดุ/อุปกรณ์ที่มีความลื่น ถุงมือทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าทออื่น ๆ

          * งานจับต้องวัสดุ/อุปกรณ์ที่มีอุณหภูมิสูง เมื่อจำเป็นต้องทำงานหรือสัมผัสกับวัสดุ/อุปกรณ์ที่มีความร้อนสูงหรือเย็นจัด ก็ควรพิจารณาเลือกใช้ถุงมือพิเศษที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนหรือเย็น (Insulated Gloves) เช่น อะลูมิเนียม หรืออะรามิดไฟเบอร์ หรือเคลือบวัสดุสังเคราะห์พิเศษ เช่น โครเมียม

              - ทำงานอยู่ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมแหล่งกำเนิดความร้อนสูง: ใช้ถุงมือประเภทสะท้อนความร้อนได้

              - สัมผัสกับเปลวไฟ: เลือกใช้ถุงมือประเภททำจากวัสดุสังเคราะห์ต้านทานไฟ 

              - สัมผัสพื้นผิวที่ร้อน: ร้อนสูงก็ใช้ถุงมือพิเศษที่มีฉนวนกันความร้อนหุ้ม ร้อนปานกลางก็สามารถใช้ถุงมือหนัง ร้อนไม่มากก็ใช้ถุงมือผ้าฝ้าย และผ้าทออื่น ๆ 

              - สัมผัสพื้นผิวที่เย็น: ก็เลือกใช้ถุงมือหนัง ฉนวนกันความเย็นที่ทำจากพลาสติกหรือยาง ขนสัตว์ หรือผ้าฝ้าย

          * งานจับต้องวัสดุที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ใช้ถุงมือทำจากวัสดุยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber) เช่น Neoprene หรือ Nitrile

          * งานสัมผัสกับสารเคมีและของเหลว เลือกใช้ถุงมือที่ทำจากวัสดุต้านทานสารเคมีที่สัมผัส เช่น ยางธรรมชาติ (Natural Latex) หรือยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber) เช่น Butyl, Nitrile, Neoprene หรือทำจากพลาสติกหลายประเภท เช่น Polyvinyl Chloride (PVC), Polyvinyl Alcohol (PVA) และ Polyethylene เป็นต้น

          * งานรังสี เลือกใช้ถุงมือพลาสติกหรือหนัง หรือถุงมือยางบุด้วยตะกั่ว

          * งานไฟฟ้า ถุงมือที่ใช้ควรมีคุณสมบัติความเป็นฉนวนกันกระแสไฟฟ้าได้ เช่น ถุงมือยางที่มีสภาพความเป็นฉนวนและควรสวมถุงมือหนังทับ และควรพิจารณาถึงคุณสมบัติของการต้านต่อแรงดันไฟฟ้า (Voltage) ของถุงมือที่จะใช้งานให้เหมาะสมด้วย

          * งานที่สัมผัสหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สามารถเลือกใช้ถุงมือพลาสติกหรือหนังชนิดบาง หรือไนล่อน ผ้าโพลีเอสเตอร์

          * งานทั่วไป สามารถใช้ถุงมือหนังหรือผ้าได้

Guide to the Selection of Gloves

ชนิดของถุงมือและคุณสมบัติในการป้องกันหรือต้านทานอันตราย
          1. ถุงมือประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable Gloves) ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการป้องกันทั้งผู้สวมใส่และวัตถุที่จับต้อง เช่น ใช้ป้องกันการติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววัตถุประสงค์ของการใช้งาน คือ เพื่อใช้ครั้งเดียวในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ทางนิ้วและความคล่องแคล่ว ดังนั้นจึงมีความบาง โดยทั่วไปจะอยู่ประมาณ 4–8 mil. (0.004- 0.008”) มีความยืดหยุ่นสูง ช่วยลดแรงตึงและความเมื่อยล้าของผู้สวมใส่

แต่ความทนทานในการใช้งานอาจจะไม่มากนัก โดยถุงมือชนิดนี้ส่วนใหญ่ทำจากยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ เช่น Nitrile, Vinyl, Polyethylene หรือพลาสติกขนาดเบา โดยมากนิยมใช้ในห้องแล็บอุตสาหกรรม งานบริการทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร (ถุงมือที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอาหารและยา) หรือทำความสะอาด เป็นต้น

ส่วนถุงมือที่ใช้ได้หลายครั้งหรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Re–usable Gloves) จะมีความหนาประมาณ 18–28 mil. (0.018–0.028”) โดยจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันหรือต้านทานอันตรายและความทนทานที่มากกว่าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

Disposal Glove

          2. ถุงมือหนัง (Leather Gloves) ทำจากหนังสัตว์หรือหนังฟอก ใช้ป้องกันอันตรายจากการประกายไฟ (Sparks) หรือสะเก็ดไฟจากงานเชื่อม หรือรังสี ใช้ป้องกันการสั่นสะเทือนและกระชับมือขณะจับถือเครื่องมือ หรือการหยิบจับที่ต้องการความทนทานในระดับปานกลาง เช่น การหยิบจับกระจกหรือกระเบื้อง งานไม้ ไปจนถึงงานที่ต้องการความทนทานสูง แต่ไม่สามารถป้องกันสารเคมีได้ สามารถใช้ป้องกันความร้อนในระดับปานกลาง สะเก็ดหรือวัสดุที่หยาบ ขรุขระ นอกจากนี้ยังถูกใช้ร่วมกับถุงมือที่เป็นฉนวน (ใช้สวมทับ) ในการทำงานที่เกี่ยวข้องไฟฟ้า

Leather Glove

          3. ถุงมือตาข่ายลวด (Metal Mesh Gloves) เป็นถุงมือที่ใช้สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับของมีคมโดยเฉพาะ ป้องกันการตัดและเฉือน ถุงมือประเภทนี้จะทำด้วยลวดหรือเหล็กไร้สนิม สตีล ซึ่งเป็นเส้นลวดเล็ก ๆ ถักเป็นรูปถุงมือ
     

Metal Mesh Glove

          4. ถุงมืออะลูมิไนซ์ (Aluminized Gloves) มักนิยมใช้ในงานเชื่อม เตาไฟ และโรงหล่อ หลอมโลหะ เพราะสามารถที่จะสะท้อนและเป็นฉนวนป้องกันความร้อน โดยถุงมืออะลูมิไนซ์จะเสริมด้วยวัสดุสังเคราะห์ (Synthetic Materials) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานความร้อนและความเย็น

          5. ถุงมืออะรามิด ไฟเบอร์ (Aramid Fiber Gloves) อะรามิด เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่สามารถต้านทานความร้อนและความเย็น นอกจากนี้ผู้ผลิตถุงมือหลายรายจะใช้อะรามิดไฟเบอร์ในการทำถุงมือเนื่องจากสามารถต้านทานการตัดและการขัดถู (Abrasive) ได้เป็นอย่างดี

          6. ถุงมือแอสเบสตอส (Asbestos Gloves) เป็นถุงมือที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนหรือต้านทานความร้อนสูง

          7. ถุงมือผ้า (Fabric Gloves) เป็นถุงมือที่ทอด้วยฝ้ายหรือใยผ้าอื่น ๆ ซึ่งจะให้ระดับของการป้องกันแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความหนาของชั้นผ้า ถุงมือผ้านั้นจะช่วยป้องกันฝุ่น สะเก็ด การขัด การครูด หรือช่วยป้องกันการลื่นจากการจับวัตถุ เช่น จับก้อนอิฐ เส้นลวด แต่ไม่สามารถให้การป้องกันที่เพียงพอสำหรับการใช้งานกับวัตถุที่หยาบ ขรุขระ แหลมคม หรือมีน้ำหนักมาก รวมถึงไม่สามารถใช้ป้องกันหรือต้านทานอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีได้

ผู้ผลิตบางรายมีการเสริมความแข็งแรงของถุงมือผ้าด้วยการเคลือบพลาสติกเข้าไป (Coated Fabric Gloves) ซึ่งโดยทั่วไปจะทำด้วยผ้าฝ้ายขนสักหลาดที่ด้านหนึ่งของถุงมือ ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเคลือบด้วยพลาสติก

Fabric Glove

(โปรดติดตามอ่านตอนจบในฉบับหน้า)

เอกสารอ้างอิง
          * Hand Protection, N.C.Department of Labor, Devision of Occupational Safety and Health Jan. 2005.   

          * Glove Selection Guidance, Imperial College Health Center, Jan. 2006.      

          * อุปกรณ์ป้องกันมือและแขน, หลักความปลอดภัยในการทำงาน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด