เนื้อหาวันที่ : 2012-01-13 11:01:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7208 views

แนวคิดลีนเพื่อผลิตภาพสีเขียว (ตอนจบ)

แนวความคิดกลไกการพัฒนาที่สะอาด คือ โครงการที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

โกศล  ดีศีลธรรม

          ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาที่สร้างความหวั่นวิตกต่อประชาคมโลก ดังที่เห็นได้จากผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นเกือบทั่วภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งตอกย้ำด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าโลกอาจจะร้อนขึ้นประมาณ 0.2 ถึง 0.5 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ

โดยระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น 65 เซนติเมตร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติในรูปความแห้งแล้ง ไฟป่า วาตภัย และอุทกภัย ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้นานาชาติได้ร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCC) ประเทศพัฒนาแล้วได้ให้คำมั่นในการร่วมกันลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความเข้มข้นด้วยข้อผูกพันทางกฎหมายผ่านการลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่มีพันธกรณีทางกฎหมายในฐานะภาคีสมาชิกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็ตามแต่ได้ร่วมลงสัตยาบันเป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบต่อการพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวในฐานะประชาคมโลก โดยดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ Clean Development Mechanism (CDM) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก 

แนวความคิดกลไกการพัฒนาที่สะอาด คือ โครงการที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ผู้ดำเนินโครงการจะได้รับ Certified Emission Reduction (CERs) จากหน่วยงาน CDM Executive Board (CDM EB) และ CERs ที่ผู้ดำเนินโครงการได้รับนี้ สามารถขายให้กับประเทศอุตสาหกรรมและใช้ CERs ในการบรรลุพันธกรณีตามพิธีสารเกียวโต

ดังนั้นกลไกการพัฒนาที่สะอาด คือ กลไกที่กำหนดขึ้นภายใต้พิธีสารเกียวโตเพื่อช่วยให้ประเทศอุตสาหกรรมที่มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกบรรลุพันธกรณีได้ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศกำลังพัฒนา โดยการดำเนินโครงการ CDM จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศเจ้าบ้าน (Host Country) ว่าโครงการที่เสนอนั้นเป็นโครงการที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศเจ้าบ้าน

โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism)
    

          ดังนั้น หากมีภาคธุรกิจเอกชนลงทุนโครงการ CDM ในประเทศกำลังพัฒนาและผ่านการตรวจสอบโดยองค์กรที่ให้การรับรองแล้วว่า สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง ผู้พัฒนาโครงการจะได้รับคาร์บอนเครดิต หรือเรียกว่า "Certified Emission Reductions (CERs)"

โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจะมีหน่วยเป็น ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Ton CO2 Equivalent) โดยมี CDM Executive Board คือหน่วยงานสูงสุดที่มีอำนาจ อนุมัติการขึ้นทะเบียนโครงการ CDM และอนุมัติปริมาณคาร์บอนเครดิตทุกโครงการ CDM ที่เสนอจากทั่วโลก

คาร์บอนเครดิต หรือ CERs สามารถซื้อขายได้ทั้งในตลาดคาร์บอนโลก (Global Carbon Market) คล้ายกับการซื้อขายในตลาดหุ้นหรือการทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งมักเกิดจากการร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว โดยประเทศอุตสาหกรรมที่ถูกจำกัดให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องกำหนดมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศตน

เป้าหมายหลักที่ประเทศกำลังพัฒนามีความประสงค์จะพัฒนาโครงการ CDM ในประเทศของตน คือ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีสะอาดจากประเทศพัฒนาแล้วสู่ประเทศกำลังพัฒนาและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนให้ใส่ใจในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศต่อไป

          ปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโครงการ CDM แล้วจำนวน 1,751 โครงการ ประเทศที่มีโครงการ CDM ได้รับการขึ้นทะเบียนสูงสุด 5 อันดับ คือ จีน 600 โครงการ อินเดีย 448 โครงการ บราซิล 160 โครงการ เม็กซิโก 117 โครงการและมาเลเซีย 58 โครงการ ขณะที่ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 18 โครงการที่ขึ้นทะเบียน โครงการ CDM ของประเทศไทยมุ่งให้ความสำคัญไปที่เรื่องพลังงาน

โดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นการแปลงของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน การแปลงน้ำเสียจากชุมชนสู่พลังงานคมนาคมขนส่ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การมีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างเช่น

          1. โครงการราชบุรีฟาร์ม ไบโอแก๊ส ที่ฟาร์มวีระชัย โดยมีการบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มสุกรเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน ด้วยระบบบำบัดแบบไร้อากาศ โครงการได้รับการจดทะเบียน CDM EB เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 คาดว่าจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 32,092 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

          2. โครงการภูเขียว ไบโอ-เอ็นเนอร์จี จำกัด โครงการที่ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อยในโรงงานน้ำตาล ได้รับการจดทะเบียน CDM EB เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 คาดว่าจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 102,493 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
    

          แต่เนื่องจากองค์กรหลายแห่งยังคงมีความคิดว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายและกฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานที่จะต้องพยายามกำจัด ตามที่ Pamela J. Gordon ที่ปรึกษาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไฮเทคข้ามชาติได้อธิบายแนวคิด Lean and Green คือ วิธีการที่ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จไปพร้อมกับสภาพแวดล้อมของโลกที่ดีขึ้น

ดังนั้นผู้นำองค์กรที่ยังคงคิดว่า แนวทางดำเนินธุรกิจที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม จะมีผลกระทบต่อความได้เปรียบในการแข่งขันและส่งผลต่อกำไรของบริษัทที่ลดลง Gordon ค้นพบว่าบริษัทชั้นนำสามารถประสานประโยชน์ระหว่างผลกำไรกับสภาพแวดล้อมของโลกได้  เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ล้วนมีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่เคยละเมิดกฎหมายหรือกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยสามารถเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายด้วยพฤติกรรมคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ดังเช่น

          * IBM Corporation ในกรุงนิวยอร์ก เสนอวิธีนำสารเคมีกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ลดปริมาณการใช้สารเคมีลงได้ถึง 50 ล้านแกลลอนต่อปี 

          * Apple Computer Corporation ในแคลิฟอร์เนียได้นำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ถึง 97.3% 

          * Philips สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 400 ล้านดอลลาร์ต่อปี ด้วยการลดปริมาณขยะลง 28% ประหยัดพลังงาน 23% และประหยัดน้ำ 34%

          * Agilent Technologies ในสกอตแลนด์สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 400 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยให้พนักงานช่วยปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ในช่วงไม่ได้ใช้งาน 

          * โครงการสิ่งแวดล้อมของ Texas Instruments ลดปริมาณขยะมีพิษลงได้ 44% ส่วนโครงการนำของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ก็นำขยะที่ไม่เป็นพิษกลับมาใช้ซ้ำถึง 81% ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 16 ล้านดอลลาร์ทุกไตรมาส 

          * โครงการสิ่งแวดล้อมของ LSI Logic ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า 2 ล้านดอลลาร์และลดปริมาณขยะมีพิษลงได้ถึง 88% นับตั้งแต่ปี 2530

          โดย Gordon วิเคราะห์ขั้นตอนที่ทำให้บริษัทชั้นนำเหล่านี้สามารถลดปริมาณขยะ ลดต้นทุน และสามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน นั่นคือ  

          * ตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำเนินการที่ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นและค้นหาวิธีปฏิบัติใหม่เพื่อลดขยะ ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

          * ทำให้ทุกคนในองค์กรเชื่อมั่นว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายไปพร้อมกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          * กระตุ้นให้ทุกคนในองค์กรให้ร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม 

          * วัดผลความสำเร็จโครงการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

          การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดผลิตภาพสีเขียว (Green Productivity) ที่ไม่เพียงแต่มุ่งเพิ่มผลิตภาพองค์กรเท่านั้น แต่คำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ล้วนส่งผลต่อภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น ในอดีตภาคธุรกิจจะมุ่งเน้นการลดต้นทุนเป็นหลัก

แต่ทุกวันนี้จำเป็นต้องคำนึงสิ่งแวดล้อมด้วย ดังเช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสนับสนุนนโยบาย Green and Clean Airport โดยนำรถไฟฟ้ามาใช้ในพื้นที่คัดแยกกระเป๋าเพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ตามที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มีนโยบายที่จะเป็นท่าอากาศยานซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green and Clean Airport)

โดยเน้นการลดใช้พลังงานทุกรูปแบบ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้ากับยานพาหนะต่าง ๆ ที่ใช้ในท่าอากาศยาน ทาง ทสภ. จึงกำหนดให้สายการบินและผู้ประกอบการในเขตพื้นที่การบินนำรถไฟฟ้ามาใช้แทนรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในบริเวณพื้นที่คัดแยกกระเป๋าผู้โดยสาร (Sorting Area) ซึ่งการกำหนดให้ผู้ประกอบการนำรถไฟฟ้ามาใช้งานในพื้นที่คัดแยกกระเป๋าผู้โดยสาร

เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่อยู่ชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสารและเป็นพื้นที่มีรถขนกระเป๋าของสายการบินและผู้ประกอบการที่ให้บริการขนถ่ายกระเป๋าปฏิบัติงานเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาด้านมลพิษจากควันท่อไอเสียรถยนต์ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างมาก

ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนให้หันมาใช้รถไฟฟ้าในพื้นที่คัดแยกกระเป๋าจะช่วยให้พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น เนื่องจากรถไฟฟ้าจะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษ ทำให้การถ่ายเทอากาศในพื้นที่บริเวณดังกล่าวดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดพลังงานจากการใช้น้ำมันและรักษาสภาพแวดล้อมด้วย เนื่องจากท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลก

อาทิ ท่าอากาศยานชั้นนำภาคพื้นยุโรปและเอเชียได้มีการนำรถไฟฟ้ามาใช้ในพื้นที่เขตลานจอดเพื่อเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมและประหยัดพลังงาน บางประเทศได้มีการออกเป็นกฎหมายแล้ว หาก ทสภ.สามารถนำรถไฟฟ้ามาใช้งานได้จะจัดเป็นท่าอากาศยานอันดับที่ 5 ในภูมิภาคเอเชียที่มีการนำรถไฟฟ้ามาใช้งานในพื้นที่เขตการบินต่อจากท่าอากาศยานชางงี

ท่าอากาศยานฮ่องกง ท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์และท่าอากาศยานนาริตะ ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ ทสภ.ที่มีความห่วงใยและใส่ใจสิ่งแวดล้อมสนับสนุนนโยบาย Go  For Top Ten เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการของ  ทสภ. ทุกด้าน

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

          กรณีผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเจ้าใหญ่ค่าย Pepsi อย่าง บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีการนำนโยบายสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุดตลอดทั้งกระบวนการผลิต

          กรณีผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเจ้าใหญ่ค่าย Pepsi อย่าง บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีการนำนโยบายสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุดตลอดทั้งกระบวนการผลิต

กรอบดำเนินโครงการสิ่งแวดล้อมของเสริมสุขที่ทำมาอย่างต่อเนื่องจนเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน โดยมุ่งสร้างวัฒนธรรมใจรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พนักงานเสริมสุขทุกคนยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดอาทิ การแปรรูปด้วยแนวคิด 3R: คือ Reduce, Reuse และ Recycle โดยริเริ่มบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทุกโรงงานของเสริมสุข ประกอบด้วย โรงงานปทุมธานี โรงงานนครราชสีมา โรงงานนครสวรรค์ โรงงานสุราษฎร์ธานีและโรงงานชลบุรี

สำหรับโรงงานปทุมธานีมีขนาดใหญ่ที่สุดและตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจึงให้ความสำคัญมากจนได้รับรางวัล อนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาดีเด่น ในโครงการ "รักแม่ รักษ์แม่น้ำ" จากกระทรวงอุตสาหกรรม อันเป็นโครงการตามพระราชเสาวนีย์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในการอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำเจ้าพระยา โดยเสริมสุขบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด Serm Suk Green Dimension 5 มิติ ประกอบด้วย น้ำ บรรจุภัณฑ์ พลังงาน สภาพแวดล้อมในโรงงาน และทรัพยากรมนุษย์
     
          มิติที่ 1: น้ำ
          การบำบัดน้ำเสีย เสริมสุขเป็นบริษัทแรก ๆ ที่เริ่มนำระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ระบบบำบัดน้ำเสียของบริษัทได้กลายเป็นกรณีตัวอย่างที่มีนักเรียน นิสิตนักศึกษาและผู้ประกอบการเข้าเยี่ยมชมเพื่อศึกษาความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการและการกำจัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัทยังได้ลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียอย่างต่อเนื่องตามกฎระเบียบที่กำหนดให้โรงงานทุกแห่งปฏิบัติตาม โดยเฉพาะโรงงานปทุมธานีซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริษัทได้สร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยงบลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อบำบัดน้ำทิ้งก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติตามมาตรฐานที่กำหนดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคม

โดยมีการติดตามและควบคุมการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียตลอด 24 ชั่วโมง และการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทั้งก่อนเข้าสู่ระบบบำบัดและหลังผ่านกระบวนการบำบัดก่อนปล่อยคืนสู่แม่น้ำ โดยน้ำที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติจากโรงงานของบริษัทมีค่า BOD ไม่เกิน 5 mg/l หรือมีความสะอาดกว่ามาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้ถึง 5 เท่า และสะอาดกว่ามาตรฐานน้ำทิ้งจากครัวเรือนมากกว่า 50 เท่า

ในปี 2549 ได้ลงทุนเพิ่มอีกกว่า 10 ล้านบาทเพื่อติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดค่าความสกปรกในน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกจากโรงงานทั้ง 5 แห่ง เครื่องมือดังกล่าวมีความแม่นยำสูงในการตรวจสอบคุณภาพน้ำและมีการเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพน้ำทิ้งผ่านระบบดาวเทียมไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อรายงานคุณภาพน้ำทิ้งที่ปล่อยออกจากโรงงานตลอด 24 ชั่วโมง

          การอนุรักษ์ทรัพยากร  บริษัทได้จัดดำเนินโครงการด้านอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ ทรัพยากรธรรมชาติและให้เกิดของเสียน้อยที่สุด โดยดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้แก่

          * โครงการประหยัดทรัพยากรน้ำ  บริษัทได้ร่วมดำเนินการกับการประปานครหลวงและสำนักงานเทคโนโลยีน้ำ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อรับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการลดปริมาณการใช้น้ำและลดปริมาณน้ำเสีย ตลอดการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำและปริมาณของเสียได้กว่า 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

          * โครงการนำน้ำทิ้งมาใช้และนำเชื้อจุลินทรีย์ส่วนเกินมาทำปุ๋ย บริษัทได้บริหารจัดการน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้รดน้ำสวนหย่อม สนามหญ้า และต้นไม้ภายในโรงงาน โดยนำตะกอนจุลินทรีย์ที่ได้จากการย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำมาใช้ทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อบำรุงรักษาสวนหย่อม สนามหญ้าและต้นไม้ภายในโรงงาน

          มิติที่ 2: บรรจุภัณฑ์
          บริษัทได้ตั้งเป้าหมายลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร โดยนำแนวคิดหลัก 3 R: Reduce, Reuse และ Recycle มาใช้จัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ดังนี้ 

          * ลดการใช้วัตถุดิบ (Reduce) ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อลดการใช้วัตถุดิบ เช่น การพัฒนาขวดพีอีทีให้มีน้ำหนักลดลงหรือใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ปีละกว่า 1,000 ตัน พร้อมดำเนินโครงการลดปริมาณกระดาษที่นำมาใช้เป็นถาดบรรจุภัณฑ์เท่าที่จำเป็นเพื่อลดการใช้ทรัพยากรป่าไม้

          * นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ด้วยการผลักดันการใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วแบบคืนขวด 

          * การคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ด้วยการรีไซเคิลให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด

          โดยเสริมสุขได้ร่วมกับบริษัทชั้นนำกว่า 20 บริษัทและกลุ่มอุตสาหกรรม 5 กลุ่มหลัก ร่วมกันจัดตั้ง สถาบันจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในปี 2549 ภายใต้การกำกับดูแลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการจัดการบรรจุภัณฑ์และวัสดุที่ไม่ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม และยั่งยืนไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ

          มิติที่ 3: พลังงาน
          การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ลดปัญหามลพิษ บริษัทเป็นผู้ริเริ่มระบบการขนส่งทางน้ำเป็นรายแรก ๆ ตั้งแต่ปี 2523 และได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบันเสริมสุขมีเรือลากจูงทั้งสิ้น 3 ลำ และเรือบรรทุกสินค้า 4 ลำ แต่ละลำสามารถบรรทุกเครื่องดื่มได้ถึง 8,640 ลัง การลากจูงสินค้าทางเรือ 1 เที่ยว เทียบเท่ากับการใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ขนส่งสินค้าได้ 20 เที่ยว ทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำมันได้ 240,000 ลิตรต่อปี

รวมทั้งช่วยลดปัญหาการจราจรบนท้องถนน ซึ่งการใช้ระบบขนส่งทางน้ำดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายขนส่งสินค้าแล้ว ที่สำคัญคือช่วยลดปัญหามลพิษและความคับคั่งของการจราจรทางบก ตลอดจนช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงให้กับประเทศอีกด้วย

          การใช้ก๊าซมีเทนทดแทนน้ำมันเตา และการใช้พลังงานทางเลือก บริษัทได้ริเริ่มการใช้ก๊าซมีเทนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้จากการย่อยสลายจุลินทรีย์จากระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อใช้ทดแทนการใช้น้ำมันเตาสำหรับหม้อน้ำ (Boiler) ของโรงงาน สามารถลดการใช้น้ำมันเตาได้ถึงปีละกว่า 200,000 ลิตร

นอกจากนี้เสริมสุขยังมีการสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น การใช้ก๊าซ NGV, LPG หรือ น้ำมันดีเซล B5 มาใช้ในหน่วยรถทุกประเภท นอกจากเป็นการช่วยประหยัดพลังงานของประเทศแล้ว ยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกขณะนี้

          มิติที่ 4 และ 5: สภาพแวดล้อมในโรงงาน และทรัพยากรมนุษย์
          เนื่องจากคนเป็นทรัพยากรที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด การที่จะนำพาธุรกิจสู่การเป็นต้นแบบการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้นต้องอาศัยพนักงานที่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นพลังขับเคลื่อน บริษัทจึงจัดตั้งทีมบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบบำบัดน้ำเสียกว่า 30 คน โดยทีมงานจะผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ของบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งบุคลากรเข้าร่วมการอบรมศึกษาดูงานด้านการควบคุมดูแลระบบน้ำเสีย การอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอก ทั้งที่เป็นนักวิชาการ นิสิตนักศึกษาเข้ามาศึกษาดูงานระบบบำบัดน้ำเสียด้วยมากกว่าปีละ 1,000 คน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาดูแลระบบบำบัดน้ำเสียแก่บริษัทต่าง ๆ

ความสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

          บริษัทเสริมสุขยังเดินหน้าเพื่อมุ่งเป้าหมายลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามนโยบายเสริมสุข กรีน ไดเมนชันส์ (Serm Suk Green Dimensions) ทั้งโครงการเกี่ยวกับน้ำ บรรจุภัณฑ์ พลังงาน สภาพแวดล้อมในโรงงานและบุคลากรที่มุ่งเรื่องสิ่งแวดล้อม อาทิ การแนะนำตู้แช่ผลิตภัณฑ์รุ่นประหยัดพลังงานใหม่ ติดตั้งระบบระบายความร้อนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีชุดระบายความร้อน ช่วยลดค่าบำรุงรักษา พร้อมทั้งระบบตัดไฟที่ฉลาดขึ้น ช่วยให้ร้านค้าสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า 34%

          บริษัทเสริมสุขยังเดินหน้าเพื่อมุ่งเป้าหมายลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามนโยบายเสริมสุข กรีน ไดเมนชันส์ (Serm Suk Green Dimensions) ทั้งโครงการเกี่ยวกับน้ำ บรรจุภัณฑ์ พลังงาน สภาพแวดล้อมในโรงงานและบุคลากรที่มุ่งเรื่องสิ่งแวดล้อม อาทิ การแนะนำตู้แช่ผลิตภัณฑ์รุ่นประหยัดพลังงานใหม่ ติดตั้งระบบระบายความร้อนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีชุดระบายความร้อน ช่วยลดค่าบำรุงรักษา พร้อมทั้งระบบตัดไฟที่ฉลาดขึ้น ช่วยให้ร้านค้าสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า 34%

พร้อมรณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันประหยัดพลังงานโดยตู้แช่ใหม่จะมีสติ๊กเกอร์ Serm Suk Green Dimensions พร้อมข้อความ "กรุณาเลือกเครื่องดื่มก่อนเปิดตู้เพื่อประหยัดพลังงาน" ติดอยู่ทุกตู้ ส่วนเรื่องบรรจุภัณฑ์เทรนด์ที่เห็นชัดเจน อาทิ บริษัทมีแผนการลงทุนตั้งสายการผลิตขวดพีอีที ด้วยงบลงทุน 550 ล้านบาท เนื่องจากลักษณะคนรุ่นใหม่ที่เร่งรีบและตื่นตัวตลอดเวลา ทำให้แนวโน้มการใช้ขวดพีอีทีขยายตัวมากขึ้น ทั้งนี้เสริมสุขมีการพัฒนาขวดพีอีทีให้น้ำหนักเบาสำหรับเครื่องดื่มคริสตัลมาตั้งแต่ปี 2549

ขณะนี้บริษัทยังได้ขยายสู่การพัฒนาขวดพีอีทีที่บรรจุเครื่องดื่มเป๊ปซี่ใหม่ มีน้ำหนักเบา โดยใช้เทคโนโลยีการเป่าขวดในการผลิต ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกรวมถึงปีละ 600 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 25 ล้านบาท ส่วนสภาพแวดล้อมภายในโรงงาน ล่าสุดบริษัทได้รับรางวัล "รักแม่ รักษ์แม่น้ำ" ปีที่ 2 จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับโรงงานปทุมธานีและนครสวรรค์ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

สะท้อนถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการผลิตของโรงงานเสริมสุขทั้ง 5 แห่ง โดยได้ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาทเพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าที่สุด สามารถลดการใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิตถึง 10% หรือ 180 ล้านลิตรต่อปี โดยตั้งเป้าที่จะลดปริมาณการใช้น้ำให้ได้ 20% ภายในปี 2554 นั่นแสดงถึงความมุ่งมั่นความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนธุรกิจ (CSR in Process)

          ส่วนผู้ผลิตอาหารรายใหญ่อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้มุ่งสร้างค่านิยมและแนวทางปฏิบัติให้พนักงานทุกระดับต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการผลิตที่ต้องมีมาตรฐานและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความใส่ใจต่อพลังงานที่นับวันจะยิ่งหมดไป

อีกทั้งสร้างจิตสำนึกของพนักงานให้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงนำความสมบูรณ์ทางธรรมชาติคืนสู่ผืนโลกเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมและการพัฒนาชุมชน ที่มีการปลูกฝังค่านิยมในตัวพนักงานทุกคนที่ว่า ในฐานะเป็นสมาชิกของชุมชนที่ต้องมีส่วนสร้างคุณค่าและความยั่งยืนให้เกิดทั้งตัวพนักงานองค์กรและสังคมส่วนรวม ซีพีเอฟ มีนโยบายประหยัดพลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนการผลิต ที่บริษัทให้ความสำคัญโดยตลอด

โดยผู้บริหารและพนักงานทุกระดับถือเป็นหน้าที่จะต้องปฏิบัติอย่างจริงจังในการอนุรักษ์พลังงาน เน้นความมีส่วนร่วมปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดความสูญเสียด้วยนวัตกรรมประหยัดพลังงานมาใช้และยึดมั่นการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญ บริษัทได้ปลูกฝังค่านิยมการอนุรักษ์พลังงานว่า เป็นหน้าที่ของทุกคน ทำให้พนักงานทุกคนค้นหาวิธีลดการใช้พลังงาน

ดังตัวอย่าง โรงงานผลิตอาหารสัตว์ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พนักงานควบคุมหม้อไอน้ำ สังเกตเห็นอุณหภูมิปล่องไอเสียมีค่าสูงและคิดว่าน่าจะนำกลับมาใช้ได้ จึงเริ่มศึกษาและทำการทดลอง กระทั่งสร้างสรรค์นวัตกรรมทางพลังงานชื่อว่า Economizer หรือ “เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน” ที่ไม่เพียงช่วยลดการสูญเสียพลังงานความร้อน แต่ยังช่วยลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์  การใช้พลังงานความร้อนในโรงงานอาหารสัตว์จะเพิ่มอุณหภูมิน้ำร้อนถึง 105 องศาเซลเซียสก่อนส่งเข้าไปในหม้อไอน้ำ

โดยความร้อนที่กระบวนการผลิตปล่อยทิ้งเมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านระบบ Economizer สามารถทำให้น้ำป้อนก่อนเข้าหม้อไอน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น นอกจากจะลดความร้อนสูญเปล่าที่ถูกปล่อยทิ้งแล้วยังลดการใช้พลังงานการเพิ่มอุณหภูมิน้ำป้อนโรงงานอาหารสัตว์ปักธงชัยจึงติดตั้งเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเป็น 2 เฟส สามารถใช้ความร้อนจากปล่องไอเสียมาอุ่นน้ำป้อนเข้าหม้อไอน้ำ

โดยเฟสแรกจะทำให้อุณหภูมิน้ำป้อนก่อนเข้าสู่กระบวนการสูงขึ้นจาก 29 องศาเซลเซียส เป็น 47 องศาเซลเซียส แล้วจึงติดตั้งเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนในเฟส 2 ที่ช่วยเพิ่มอุณหภูมิน้ำจาก 47 องศาเซลเซียส เป็น 60 องศาเซลเซียสและใช้ไอน้ำทำการเพิ่มอุณหภูมิน้ำถึง 105 องศา 

ดังนั้น Economizer สามารถเพิ่มอุณหภูมิน้ำป้อนได้ 18 องศาในเฟสแรก และเพิ่มอีก 13 องศาในเฟส 2 รวมแล้วสามารถเพิ่มอุณหภูมิน้ำได้ถึง 31 องศา การนำพลังงานสูญเปล่ากลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิผล ช่วยประหยัดการใช้พลังงานได้ถึง 637,551 บาทต่อปี

โครงการ Economizer เกิดขึ้นจากความคิดพนักงานสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดผลงานพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานระดับภูมิภาคหรือ ASEAN ENERGY AWARDS 2010 ประเภท Special Submission ซึ่งมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบโครงการประหยัดพลังงานที่สามารถนำไปขยายผลในโรงงานอาหารสัตว์อื่นของซีพีเอฟอย่างมีประสิทธิภาพ

โรงงานปักธงชัยยังได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล Thailand Energy Award 2010 และรางวัล The Prime Minister Industry Award 2010 ประเภทการจัดการพลังงาน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้โรงงานอาหารสัตว์อื่นของซีพีเอฟ ต่างมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานอย่างต่อเนื่องเช่นกันอาทิ โรงงานท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้นำความร้อนทิ้งจากปล่องไอเสียมาอบข้าวโพดอย่างมีประสิทธิภาพ 

          ล่าสุดโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำแกลง อ.แกลง จ.ระยอง ได้รับเลือกจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้ได้รับเกียรติบัตร CSR-DIW ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นมาตรฐานที่อิงหลักเกณฑ์การปฏิบัติจากมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000 Social Responsibility) ขององค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี 2553 เพื่อให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจังด้วยความสมัครใจ โดยดำเนินกิจกรรม CSR หลากหลายรูปแบบอย่าง โครงการปลูกป่าชายเลนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานรัฐให้เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำและรักษาระบบนิเวศน์ เพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม

ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพและสร้างความปลอดภัยให้ชุมชน กิจกรรมเพื่อสังคมของโรงงานแห่งนี้ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ซีพีเอฟ ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้การตระหนักถึงสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ตามปรัชญาการดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่คำนึงถึงหลัก 3 ประโยชน์ คือ ธุรกิจของบริษัทต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน และประโยชน์ต่อบริษัท

ขณะเดียวกันซีพีเอฟยังวางเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR ให้ทุกหน่วยงานของซีพีเอฟต้องนำไปปฏิบัติ รวมถึงระบุค่านิยมองค์กร หรือ CPF Way ข้อที่ 6 ว่าด้วยการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินและการดำเนินนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีว อนามัยและสิ่งแวดล้อม (CPF SHE) ล้วนเป็นสิ่งปลูกฝังจิตสำนึกพนักงานซีพีเอฟให้ตระหนักถึงสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

สมดุลการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          นอกจากนี้บริษัท ยูเนียน โฟรเซน โปรดักส์ จำกัดหรือพรานทะเล ผู้ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกที่มุ่งเน้นด้วยผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค คุณภาพระดับสากล ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยนำระบบจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001 มาปฏิบัติใช้ตั้งแต่ปี 2541

ทำให้ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการบำบัดของเสียและการใช้พลังงาน รวมทั้งยึดหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาลในการสร้างความพึงพอใจแก่ทุกภาคส่วนเพื่อเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหารของประเทศและมุ่งองค์กรที่เติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน โดยมีกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้พนักงานและชุมชนเกิดจิตสำนึกร่วมช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงาน โดยเฉพาะปัญหาสภาวะโลกร้อนเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น

บริษัทตระหนักปัญหาดังกล่าวจึงดำเนินการศึกษาค่าศักยภาพการดูดกลืนความร้อนของก๊าซเรือนกระจก (GWP) กำหนดแผนงานและเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะเวลา 5 ปี (2557) 10,000 ตัน  คาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 15% เทียบกับปี 2552 โดยมีการจัดทำมาตรการลดผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งมีโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมด้านการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมอาหารและสุขภาพนักเรียน ซึ่งหลายโครงการช่วยเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำให้แก่ท้องทะเล         

แนวคิดประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

          สำหรับลีวายส์ (Levi’s) ผู้ผลิตกางเกงยีนส์รายใหญ่ที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพและความทนทาน โดย ลีวาย สเตราส์ (Levi Strauss) ชาวเยอรมัน ได้จดสิทธิบัตรยีนส์ลีวายส์เมื่อปี  2416  ลีวายส์ นำเสนอความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมกับความสำเร็จของธุรกิจ นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ลีวายส์ระบุข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

จนกระทั่งปี 2549 ที่ผ่านมา ลีวายส์ กล่าวได้เต็มปากว่าสามารถผลิตกางเกงยีนส์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้ 100% โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อีโค่ยีนส์ (Levi’s Eco Jean) ทำจากฝ้ายออร์แกนิกแข็งแรงที่สุด 100% กระดุมทำจากเปลือกมะพร้าว ป้ายราคาทำจากวัสดุรีไซเคิล

ส่วนหมุดเหล็ก สัญลักษณ์สำคัญที่ทำให้ลีวายส์ 501 มีชื่อเสียงได้เปลี่ยนเป็นการเย็บตะเข็บที่แข็งแรงมากแทน พร้อมทั้งใช้เทคนิคการย้อมสีที่ใช้สีจากธรรมชาติผลิตเป็นอีโค่ยีนส์ปราศจากการใช้เคมีและใช้วัตถุดิบที่อยู่ใกล้กับโรงงานผลิตมากที่สุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่ง เช่น การผลิตกรีนยีนส์แห่งแรกที่โรงงานในฮังการีจะใช้ฝ้ายจากตุรกีและวัตถุดิบทั้งหมดจากภูมิภาคยุโรป

โรงงานในฮังการีดำเนินการผลิตสินค้าที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นกางเกง เสื้อ และวัสดุเสริม ได้แยกส่วนการผลิต Eco Jean ออกจากการผลิตสินค้าทั่วไปเพื่อมั่นใจว่าจะไม่มีการปนเปื้อนเคมี กระทั่ง Levi’s Eco Jean ได้การรับรอง EKO Sustainable Textile Certification ลีวายส์ยังทดลองผสมฝ้ายออร์แกนิกกับเส้นใยรีไซเคิลจนได้เส้นใยแบบใหม่ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการย้อมสี การล้างและฟอกสี ที่ต้องปล่อยน้ำเสียจำนวนมาก โดยจัดทำมาตรฐานการจัดการน้ำเสียให้แก่คู่ค้าทั่วทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

ปี 2538 ลีวายส์เป็นบริษัทแรกในธุรกิจเครื่องนุ่งห่มที่คำนึงถึงปัญหาน้ำเสียและใช้ The Global Effluent Guidelines(GEG) เป็นมาตรฐานของบริษัทผู้ส่งมอบ (Supplier) ที่เป็นคู่สัญญากับลีวายส์จะต้องทำตามมาตรฐานการจัดการน้ำเสียของ GEG อย่างเข้มงวด โดยจะถูกตรวจสอบเพื่อนำไปวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อีโค่ยีนส์(Levi’s Eco Jean)

          กระทั่งปี 2549  ลีวายส์ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จและประกาศว่าร้านซักรีด 113 แห่ง และโรงงาน 9 แห่งให้ความร่วมมือทำตามข้อกำหนดทั้งหมด ปี 2550 ลีวายส์ส่งทีมงานเข้าไปช่วยเหลือผู้ส่งมอบเพื่อมุ่งสร้างความมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บริษัทร่วมสัญญากับลีวายส์ต้องไม่ใช้สารต้องห้ามต่าง ๆ เช่น สารชะลอการติดไฟ (Flame Retardant) ธาตุโลหะ ตามรายชื่อสารต้องห้ามของบริษัทด้วย

          กระทั่งปี 2549  ลีวายส์ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จและประกาศว่าร้านซักรีด 113 แห่ง และโรงงาน 9 แห่งให้ความร่วมมือทำตามข้อกำหนดทั้งหมด ปี 2550 ลีวายส์ส่งทีมงานเข้าไปช่วยเหลือผู้ส่งมอบเพื่อมุ่งสร้างความมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บริษัทร่วมสัญญากับลีวายส์ต้องไม่ใช้สารต้องห้ามต่าง ๆ เช่น สารชะลอการติดไฟ (Flame Retardant) ธาตุโลหะ ตามรายชื่อสารต้องห้ามของบริษัทด้วย

ลีวายส์พยายามคิดหากลยุทธ์ปรับปรุงนโยบายอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างการแนะนำลูกค้าให้ซักผ้าด้วยน้ำเย็นและตากแห้งตามธรรมชาติ เพราะประหยัดพลังงานมากกว่าการซักน้ำอุ่นและอบผ้าถึง 16 เท่า โดยมีวิธีดูแลรักษาแบบยั่งยืนในป้ายฉลากบนเสื้อผ้า

นอกจากนี้ลีวายส์ยังใส่ใจเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าธุรกิจเครื่องนุ่งห่มจะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงมากเหมือนบางธุรกิจ โดยลีวายส์มีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนด้วยความร่วมมือจากพนักงานกว่าหนึ่งหมื่นคนใน 110 ประเทศ

ทั้งยังร่วมมือกับ Business for Social Responsibility เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกับ Green Power Market Development Group of the World Resources Institute เป็นความร่วมมือ 12 องค์กรที่สนใจสร้างตลาดพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะผู้ผลิตยีนส์ชื่อดังอย่างลีวายส์ที่ให้ความสนใจสิ่งแวดล้อมนั่นแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและภาพลักษณ์สินค้า

วงจรผลิตภัณฑ์ลีวายส์ 501

          ส่วนแผนการรักษ์โลกของยักษ์ใหญ่โลกไอทีซึ่งให้บริการการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต (Search Engine) อย่างกูเกิล (Google) ได้กำหนดแนวทางจัดการ คาร์บอนสมดุล (Carbon Neutral) โดยลงทุนใช้พลังงานทางเลือกในบริเวณสำนักงานใหญ่และชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน

          ส่วนแผนการรักษ์โลกของยักษ์ใหญ่โลกไอทีซึ่งให้บริการการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต (Search Engine) อย่างกูเกิล (Google) ได้กำหนดแนวทางจัดการ คาร์บอนสมดุล (Carbon Neutral) โดยลงทุนใช้พลังงานทางเลือกในบริเวณสำนักงานใหญ่และชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน

กูเกิลเริ่มก้าวแรกด้วยการร่วมกับองค์กร The Environmental Resources Trust ให้ตรวจสอบว่าบริษัทกูเกิลปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเท่าใด แม้ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผย แต่กูเกิลพิจารณาไตร่ตรองอย่างจริงจัง เช่น การให้เงินสนับสนุนแก่พนักงานที่ซื้อพาหนะรุ่นประหยัดเชื้อเพลิงและรถโดยสารภายในบริษัทที่ใช้ไบโอดีเซลบรรทุกพนักงานได้หลายพันคนต่อวัน

อาคารสำนักงานใหญ่ของกูเกิลใช้วัสดุรีไซเคิล เช่น ไม้จากป่าปลูก ทาสีที่เป็นออร์แกนิก ใช้ผ้ายีนส์รีไซเคิลเป็นวัสดุป้องกันเสียง เก้าอี้นั่งในบริษัทใช้วัสดุรีไซเคิล 92% แม้แต่ ร้านอาหาร Caf? 150 ในกูเกิลจะปรุงอาหารจากวัตถุดิบที่รับจากฟาร์มระยะไม่เกิน 150 ไมล์จากเมาเทนวิว (Mountain View) เท่านั้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการขนส่ง

นอกจากนี้กูเกิลได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่มากกว่า 9,000 แผงที่ให้พลังงานถึง 1.6 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นพลังงาน 30% ของที่ใช้ในสำนักงานกูเกิล โดยโซลาร์เซลล์จะทำงานได้ดีในเวลากลางวันที่มีการใช้ไฟมากที่สุด การลงทุนพัฒนาครั้งนี้ใช้เงินมากถึง 4.5 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะคืนทุนได้ภายในเวลา 7.5 ปี รวมทั้งร่วมมือกับอินเทลบริษัทเพื่อจัดตั้งกลุ่ม Climate Savers Computing Initiative (CSCI) ในการรณรงค์ประหยัดพลังงานจากคอมพิวเตอร์

ต่อมาบริษัทไอทีชั้นนำรายอื่นได้เข้าร่วม ทำให้กูเกิลได้รับการชื่นชมจาก Carter Roberts ประธานกองทุน World Wildlife Fund (WWF) ดำเนินกิจกรรมการกุศลผ่านองค์กรเรียกว่า Google.org และประกาศแผนผลักดันเรื่องพลังงานทางเลือกในสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากมีต้นทุนค่าใช้จ่ายและผลกระทบน้อยกว่าพลังงานจากถ่านหิน โดยมุ่งพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ รวมทั้งชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการให้เงินโครงการปลูกป่าอเมซอน โครงการพลังงานสะอาดในรัสเซีย เป็นต้น โดยพยายามใช้ช่องทางการสื่อสารเรื่องโลกร้อนให้กับประชาชนเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโลก

เอกสารอ้างอิง
          1. Joel Makower, Strategies for the Green Economy: Opportunities and Challenges in the New World of Business, McGraw-Hill, 2009.

          2. Pamela J. Gordon, Lean and Green Profit for Your Business and the Environment, Berrett-Koehler Publishers, 2001.

          3. Thorne, Debbie M., O.C. Ferrell, and Linda Ferrell, Business and Society: A Strategic Approach to Social Responsibility, Houghton Mifflin Company, 2008.

          4. Timothy O’Riodan, Environmental Science for Environmental Management, Prentice Hall, 2000.

          5. http://www.cpfworldwide.com/

          6. http://csri.opendream.in.th/?q=columnist/admin/story/293

          7. http://www.csri.or.th

          8. http://www.diw.go.th/csr/index.htm

          9. http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=2554

          10. http://www.green.in.th

          11. http://www.greensuppliers.gov/pubs/VSM.pdf

          12. http://www.logisticnews.net/modules.php?m=newsupdate_b&op=detailnewsupdate&NUID=3252

          13. http://www.newmoa.org

          14. http://www.nstda.or.th/cc/index.php/tag/clean-development-mechanism/

          15. http://www.onep.go.th/CDM/cdm.html

          16. http://www.sermsukplc.com

          17. http://www.strategosinc.com    

          18. http://www.tgo.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=232&Itemid=25

          19. http://teenet.tei.or.th/Knowledge/cdm.html

          20. โกศล  ดีศีลธรรม, เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยแนวคิดลีน, ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2548.

          21. โกศล ดีศีลธรรม, ผลิตภาพ: ปัจจัยพัฒนาสู่การแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2550.

          22. โกศล ดีศีลธรรม, องค์กรทำดีเพื่อสังคม, สำนักพิมพ์ MGR 360?, 2554.

          23. บมจ. โทเทิล แอ็คเซส คอมมูนิเคชัน, เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร, สถาบันไทยพัฒน์, 2553.

          24. รายงานประจำปี 2552 บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด