เนื้อหาวันที่ : 2011-12-13 10:40:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4314 views

นาโนเทคโนโลยี…ปลอดภัย ไร้กังวล จริงหรือ ? (ตอนจบ)

หลักการควบคุมดูแลนาโนเทคโนโลยีและวัสดุนาโน

ศิริพร วันฟั่น

          ในตอนที่สามนั้นเราได้กล่าวถึง ความต่อเนื่องในการติดตามเฝ้าระวังทางอาชีวอนามัย ตลอดจนความกังวลถึงอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมกันไปแล้ว ในตอนนี้ เราจะมาพูดกันถึงเรื่องหลักการควบคุมดูแลนาโนเทคโนโลยีและวัสดุนาโน ซึ่งเป็นหัวข้อสุดท้ายของบทความนี้

หลักการควบคุมดูแลนาโนเทคโนโลยีและวัสดุนาโน
(Principles for the Oversight of Nanotechnologies and Nanomaterials)
          หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และองค์กรธุรกิจทั่วโลก ต่างก็ประชันขันแข่งกันเพื่อเป็นผู้นำด้านนาโนเทคโนโลยี และเข็นสินค้าอุปโภค บริโภค ทั้งที่มีส่วนผสมของวัสดุนาโนและใช้นาโนเทคโนโลยีในการผลิต ออกสู่ตลาดกันไม่เว้นแต่ละวัน

          ในขณะเดียวกัน หลักฐานที่อาจบ่งชี้ได้ว่าวัสดุที่เป็นนวัตกรรมใหม่เหล่านี้ มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดอันตรายด้านความปลอดภัย ชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเหมือนจะท้าทายต่อสังคม เศรษฐกิจ และจริยธรรมของมวลมนุษยชาติ ว่าเราจะเลือกหนทางใด เก็บเกี่ยวผลกำไรสูงสุดเพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะสั้น และเพิกเฉยต่อผลกระทบในระยะยาวของลูกหลาน หรือจะเลือกหนทางสายกลาง เก็บเกี่ยวผลประโยชน์แต่พอควร เพื่อความยั่งยืนของเผ่าพันธุ์มนุษย์และสิ่งแวดล้อม

          แต่เป็นที่น่าประหลาดใจที่แม้จะมีการพัฒนานาโนเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์กันอย่างกว้างขวาง แต่กลับปรากฏว่า มีผลงานวิจัยน้อยมากที่จะสามารถสร้างความกระจ่างชัดในเรื่องระเบียบวิธีในการลดความเสี่ยง และมาตรการ หรือกลไกในการควบคุมดูแล (Oversight Mechanisms) ซึ่งผลงานวิจัยเหล่านี้จะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการอ้างอิง เพื่อออกระเบียบข้อบังคับ มาตรการ หรือกฏหมาย ที่จะใช้กำกับดูแลนาโนเทคโนโลยีและวัสดุนาโนอย่างได้ผล เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดข้อผิดพลาดซ้ำรอยกับวัสดุหรือเทคโนโลยีอันน่าทึ่งที่ผ่าน ๆ มานั่นเอง

          ในปัจจุบันไม่อาจกล่าวได้ว่า เรากำลังเดินไปในแนวทางที่ถูกต้องสำหรับการพัฒนานาโนเทคโนโลยี เนื่องจากมีบริษัทและห้องทดลองหลายแห่งได้ดำเนินการโดยปราศจากแนวทางที่ถูกต้องในเรื่องของความปลอดภัยและมาตรการป้องกัน

ซึ่งในส่วนของผู้บริโภคเอง ก็อาจเสี่ยงต่อการสัมผัสวัสดุนาโนอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะผู้ผลิตไม่ได้ติดฉลากบอกไว้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวัสดุนาโนเป็นส่วนประกอบ และไม่มีการแจ้งถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้วัสดุนาโนยังถูกกำจัดทิ้งและปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม โดยที่ยังไม่ทราบถึงผลกระทบอย่างแน่ชัด

อีกทั้งยังไม่มีเครื่องมือที่จะสามารถตรวจจับ ติดตาม หรือนำขยะเหล่านั้นออกจากสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซ้ำร้ายทางภาครัฐและนักพัฒนาอุตสาหกรรมสำหรับนาโนเทคโนโลยีเอง ก็เปิดโอกาสให้สาธารณะชนน้อยมากในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการถกปัญหาและตัดสินใจในเรื่องความห่วงใยต่อผลกระทบ และการดำเนินการต่าง ๆ ของนาโนเทคโนโลยี

          การให้ความสนใจในการปฏิรูประเบียบข้อบังคับ (Regulatory Reform) สำหรับช่วงเวลานี้ โดยมากแล้วจะเป็นไปในแนวทางที่ว่า จะสามารถหลบเลี่ยงโครงสร้างของระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่กันอย่างไร มากกว่าความพยายามที่จะพัฒนาระเบียบข้อบังคับนั้น

เราต้องยอมรับความจริงกันว่า ระบบระเบียบข้อบังคับ (Regulatory System) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ดำเนินการกับเทคโนโลยีในแต่ละช่วงอายุของอุตสาหกรรม (Industrial Age) ย่อมสามารถที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างความสามารถของระบบระเบียบข้อบังคับกับคุณลักษณะอะไรบางอย่างที่เรียกกันว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมรุ่นต่อไป และช่องว่างที่ว่านี้ก็มีแนวโน้มว่าจะกว้างมากยิ่งขึ้นตามการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีใหม่ ๆ

          การควบคุมดูแลจะประกอบไปด้วย การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและวิธีการที่จะป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการควบคุมดูแลสำหรับนาโนเทคโนโลยีที่เพียงพอนั้น มีความจำเป็นไม่เพียงแค่การป้องกันความเสียหายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสนับสนุนในการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วย ซึ่งทางสหรัฐฯ และฝั่งยุโรปได้เรียนรู้ว่า การควบคุมดูแลและระเบียบข้อบังคับมีความจำเป็นสำหรับรูปแบบดำเนินการที่เหมาะสมของตลาดการค้า และการยอมรับของสาธารณะชนที่มีต่อเทคโนโลยีใหม่นั้นด้วย

          “ข้อกำหนด (Requirements)” สำหรับระบบควบคุมดูแลที่เพียงพอนั้น อย่างน้อย ๆ ต้องสามารถที่จะประเมินความเสี่ยงที่เป็นไปได้จากเทคโนโลยี โดยลดโอกาสที่ความเสี่ยงนั้นจะเกิดขึ้น และรักษาไว้ซึ่งการติดตามเฝ้าระวังเพื่อชี้บ่งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยจุดเริ่มต้นของระบบควบคุมดูแลใด ๆ ก็คือความสามารถที่จะชี้บ่งความเสี่ยงที่เทคโนโลยีนั้น ๆ อาจก่อให้เกิดขึ้น และการประเมินความเป็นไปได้และขอบเขตของความเสี่ยงนั้น

ทั้งนี้ในการประเมินจะต้องใช้ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป และข้อมูลเฉพาะทางแต่ละเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะ โดยข้อกำหนดในการควบคุมดูแลเหล่านี้ ควรที่จะประยุกต์ใช้ด้วยความตระหนักถึงความจำเป็นในการกระตุ้น ส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

ในขณะที่บางส่วนมองว่าระเบียบข้อบังคับ (Regulations) จะเป็นส่วนที่ขัดแย้งกับตลาดการค้าเสรี แต่ตลาดการค้าที่มีคุณภาพในการผลิตได้นั้นต้องมีระเบียบข้อบังคับที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี กลไกควบคุมดูแลยังต้องพึ่งพาผู้ผลิตเป็นอย่างมากในการประเมินและควบคุมความเสี่ยง ในขณะเดียวกัน การควบคุมดูแลจะต้องสร้างขึ้นเพื่อรับประกันได้ว่าผู้ผลิตเหล่านั้นจะทราบถึงข้อมูลที่จำเป็น และมีวิธีการเก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมถึงไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ

          ระบบการควบคุมดูแลที่เพียงพอต้องสามารถที่จะก่อให้เกิดข้อกำหนด เพื่อป้องกันผลกระทบที่เลวร้ายจากสิ่งที่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็ต้องลดความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งสามารถกระทำได้ในหลาย ๆ หนทาง เช่น การใช้วิธีจำกัด (Restrictions) อาจจะใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ดูเหมือนเป็นเงื่อนไขสำหรับการอนุญาตทำตลาด

ส่วนมาตรฐาน (Standards) อาจจะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานหรือการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมในระหว่างที่ผลิตภัณฑ์กำลังดำเนินการผลิต การขนส่ง จัดเก็บ ใช้ และกำจัด โดยการจำกัดหรือข้อกำหนด (Requirements) อาจจะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์หลังจากออกสู่ตลาด หรือการที่ผู้ผลิตอาจต้องเพิกถอนสินค้าออกจากตลาด นอกจากนี้ยังสามารถที่จะใช้การกระตุ้น ส่งเสริมการออกแบบสะอาด (Green Design) และการป้องกันมลพิษอีกทางหนึ่งด้วย

          โดยทั่วไปแล้ว การควบคุมดูแลนาโนเทคโนโลยีจะเกี่ยวข้องกับ 3 หมวด ด้วยกัน คือ “สาร (Substances) ผลิตภัณฑ์ (Products) และขยะของเสีย (Wastes)” ซึ่งแต่ละหมวดก็ก่อให้เกิดชนิดของปัญหาเฉพาะที่แตกต่างกันไป สำหรับในสหรัฐฯ ได้มีระเบียบข้อบังคับที่ใช้กับวัสดุนาโนหรือสารที่ออกเป็นพระราชบัญญัติควบคุมสารพิษ (Toxic Substances Control Act: TSCA)

ในขณะที่ฝั่งยุโรปมีระเบียบข้อบังคับที่ใช้กับวัสดุนาโนที่อยู่บนพื้นฐานของการขึ้นทะเบียน (Registration) การประเมิน (Evaluation) การได้รับอนุญาต (Authorization) และการจำกัดสารเคมี (Restriction of Chemicals) โดยรวมเรียกว่า “REACH” โดยที่สหรัฐฯ จะใช้คำว่า “สาร (Substance)” ในตัวบทกฏหมาย ส่วนฝั่งยุโรปจะใช้คำว่า “สารเคมี (Chemicals)” แทน

          สำหรับจุดอ่อนของพระราชบัญญัติควบคุมสารพิษ (TSCA) นั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ไม่สามารถที่จะออกระเบียบข้อบังคับกับสารที่มีอยู่ได้ทั้งหมด ซึ่งทางองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) ของสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธอย่างชัดเจนในการที่จะพิจารณาว่าวัสดุนาโนเป็นสารใหม่ แม้ว่าจะมีโครงสร้างโมเลกุลที่ไม่เคยมีมาก่อนก็ตาม

ดังนั้นวัสดุนาโนโดยมากแล้วจึงยังไม่มีระเบียบข้อบังคับ จึงมีหลาย ๆ ฝ่ายมองว่า การควบคุมดูแลนาโนเทคโนโลยีน่าที่จะให้ความสนใจไปที่ตัวผลิตภัณฑ์ (Products) มากกว่าสาร (Substances) เพราะว่า สารตัวเดียวกันนั้นสามารถมีความแตกต่างของผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง ขึ้นอยู่กับว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะถูกใช้ไปในทางใด

เช่น ท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes) (เป็นผลิตภัณฑ์แรก) สามารถที่จะนำไปรวมกับพลาสติกในฐานะของสารประกอบหนึ่งที่จะถูกใช้สำหรับตัวถังรถ (เป็นผลิตภัณฑ์ลำดับที่สอง) และสารประกอบนี้ก็จะถูกนำไปรวมเข้ากับยานยนต์ที่สำเร็จรูปแล้ว (เป็นผลิตภัณฑ์ลำดับที่สาม)

และเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ การคาดการณ์ผลกระทบอันเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น มักจะอาศัยการพิจารณาจากคุณลักษณะเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์ แต่ความยุ่งยากพื้นฐานเมื่อมองจากภาพของการควบคุมดูแล คือจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างท่วมท้นและผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากไม่เว้นแต่ละวัน

ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์โดยมากแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ร้ายแรงต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่หนักหนาพอดูในการที่จะออกระเบียบข้อบังคับมาใช้กับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นไปได้ แต่เมื่อมีจำนวนและความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในอนาคตเพิ่มมากขึ้นก็จะเกิดปัญหาแบบเดิม ๆ อีก

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อย ๆ ก็มีอยู่ 2 หลักการที่ควรจะเป็นพื้นฐานของการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ อย่างแรกก็คือ การควบคุมดูแลควรที่จะครอบคลุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle of Product) ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การขนส่ง การใช้ และการกำจัด รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย

ส่วนอย่างที่สองคือ ระดับของการควบคุมดูแล (Degree of Oversight) เช่น ความเข้มงวดของข้อกำหนดในระเบียบข้อบังคับ ควรที่จะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับอันตรายที่คาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นจากตัวผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งก็คือรูปแบบของความรุนแรงของอันตรายที่คาดการณ์ไว้และความอาจเป็นไปได้ที่อันตรายนั้น ๆ จะเกิดขึ้น

          โดยมากแล้วรัฐบาลมักจะไม่มีรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น ส่วนประกอบ จุดประสงค์ในการใช้ หรือผลกระทบที่คาดการณ์ไว้ จะมีเพียงผู้ผลิตเท่านั้นที่สามารถจะทราบและรู้เรื่องดีที่สุดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น และเป็นเรื่องยากที่หน่วยงานของรัฐฯ จะสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ทั้งหมด

ดังนั้นจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องผลักภาระหรือฝากความไว้วางใจกับผู้ผลิตในการทดสอบผลิตภัณฑ์ และการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องแม่นยำไปยังหน่วยงานของรัฐฯ แต่ก็มีบางคราวที่ภาคอุตสาหกรรมมีการโต้แย้งว่าภาระนี้ควรที่จะตกอยู่กับรัฐบาล เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะเป็นคนพิสูจน์รับรองความปลอดภัยเอง

ส่วนการบิดเบือน ปิดบัง หรือล้มเหลวในการให้ข้อมูล ก็ต้องมีการขจัดพฤติกรรมที่ว่านี้โดยการออกบทลงโทษอย่างเพียงพอ แต่ในการทดสอบผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ๆ สามารถที่จะก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่น มักจะไม่รู้ว่าจุดสุดท้ายอยู่ตรงไหน (เช่น มะเร็ง หอบหืด ทำให้ปลาตาย) หรือไม่มีความเข้าใจว่าคุณลักษณะใดของวัสดุที่เชื่อมโยงกับผลกระทบที่เลวร้าย

ดังนั้นบทสรุปเกี่ยวกับข้อมูลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์หรือวัสดุ จึงมักจะอยู่บนพื้นฐานของความคาดการณ์หรือเทียบเคียงเป็นส่วนใหญ่ เพราะจะว่าไปแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ในเมื่อยังไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดถึงความเสี่ยงที่มี และแม้แต่คำจำกัดความทั้งความเสี่ยงและความปลอดภัยที่จะสามารถระบุได้อย่างชัดเจนด้วย

          ส่วนข้อมูลที่ได้รับจากผู้ผลิตควรที่จะนำไปบรรจุอยู่ใน “แผนงานที่ยั่งยืน (Sustainability Plan: SP)” ที่ถูกรวบรวมโดยผู้ผลิตเหล่านั้น โดยแผนงานนี้ควรใช้กับแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลสรุปที่ทราบเกี่ยวกับส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ผลกระทบที่เลวร้ายของผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่อธิบายถึงการใช้งานและวิธีการกำจัด และอธิบายได้ว่าทำไมผลิตภัณฑ์จึงไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่มากเกินไป

ส่วนรัฐบาลเองก็ควรที่จะมีการแบ่งประเภทหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์และจำกัดความอย่างถูกต้องแม่นยำให้ได้มากที่สุดว่า ข้อมูลอะไรคือสิ่งที่ต้องการและความเสี่ยงใดที่มีมากเกินไป

ซึ่งความเสี่ยงที่ว่านี้ ควรที่จะรวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกลไก (Mechanical Risks) เช่นเดียวกับความเสี่ยงทางด้านเคมีและชีวภาพ ซึ่งมีเหตุผลสมควรที่ต้องการให้ผู้ผลิตทุกราย ได้ทราบถึงข้อมูลเหล่านี้ก่อนที่จะมีการค้าขายผลิตภัณฑ์ โดยแผนงานที่ยั่งยืน (SP) ควรที่จะมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกรณีผู้ผลิตได้ส่งสัญญาณถึงข้อมูลใหม่ที่อาจมีผลกระทบต่อความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์

          ส่วนการควบคุมดูแลมลพิษและขยะของเสีย หรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนั้น สำหรับในสหรัฐฯ จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอากาศและน้ำสะอาด (The Clean Air and Clean Water Acts) กฏหมายที่ใช้จัดการกับการขจัดสารอันตราย (The Disposal of Hazardous Substances Laws) และพระราชบัญญัติอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (The Occupational Safety and Health Acts)

ส่วนสหภาพยุโรป (EU) มลพิษจะถูกจัดการเบื้องต้นโดยตรงผ่านการป้องกันและการควบคุมมลพิษแบบบูรณาการ (The Integrated Pollution Prevention and Control: IPPC) ซึ่งสถานที่ปฏิบัติงานจะมีระเบียบข้อบังคับเบื้องต้นโดยรัฐบาลของประเทศในกลุ่มสมาชิก สำหรับนาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีอื่น ๆ ในอนาคตนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาในส่วนของการเฝ้าติดตามตรวจสอบ (Monitoring) และควบคุมที่เพียงพอสำหรับมลพิษ

ดังนั้นการป้องกันจะเป็นวิธีแรกเริ่มในการปกป้องมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในสหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรป กฏหมายเกี่ยวกับขยะของเสียจะให้ความสนใจไปที่มลพิษหลังจากที่ได้ก่อกำเนิดขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงแทบไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมลพิษ และการบังคับใช้กฏหมายควบคุมมลพิษมักจะมีข้อจำกัด ดังนั้นความไว้วางใจมักจะตกอยู่กับกฏหมายควบคุมผลิตภัณฑ์มากกว่า

          ยิ่งไปกว่านั้น กฏหมายควบคุมมลพิษมีแนวโน้มว่าจะมีความสำคัญน้อยลง เพราะว่าวิธีการผลิตแบบสะอาด (Greener Manufacturing Methods) จะส่งผลให้ปริมาณมลพิษจากโรงงานผลิตลดลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหาด้านมลพิษจะหมดไป ที่จริงแล้ว ผลจากการศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าวิธีการผลิตวัสดุนาโนในปัจจุบัน มักจะใช้พลังงานมากและใช้วัสดุที่มีพิษหลากหลายชนิด

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินผลลัพธ์จากการศึกษาเหล่านี้ อย่างน้อย ๆ ก็สำหรับวัสดุนาโน เพราะว่าวัสดุเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาทั้งในส่วนของวัสดุนาโนที่มีมวลเล็กกว่า หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการประยุกต์ใช้นาโน

ตัวอย่างเช่น จากการศึกษาหนึ่ง โดย Kushnir and Sanden ในปี ค.ศ. 2008 ได้พบว่าการผลิตอนุภาคนาโนคาร์บอนใช้พลังงานเป็น 2-100 เท่า ของการผลิตอลูมิเนียม โดยเป็นการศึกษาจากการวัดความเข้มในการใช้พลังงานต่อน้ำหนักของการผลิต

          “การเฝ้าติดตามตรวจสอบ (Monitoring)” เป็นส่วนที่จำเป็นสำหรับการควบคุมดูแล ซึ่งจะเป็นวิธีการที่เชื่อมโยงระหว่างปฏิบัติการของรัฐฯ และโลกของความเป็นจริง โดยการเฝ้าติดตามตรวจสอบจะกระทำใน 2 ประเด็น คือ สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ซึ่งเราพบว่ามักจะเกิดความไม่แน่นอนในการประเมินความเสี่ยงสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ซึ่งผลลัพท์ที่เลวร้ายบางอย่างของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาจจะปรากฏออกมาหลังจากผลิตภัณฑ์ได้ออกสู่ตลาดแล้ว ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้จะไม่ได้รับการชี้บ่งจนกว่าจะมีระบบติดตามเฝ้าระวัง (Surveillance System) ที่ครอบคลุมเพียงพอที่จะสังเกตเห็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติของผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น จำนวนผู้ที่ป่วยหลังใช้ผลิตภัณฑ์

          ส่วน “การบังคับใช้ (Enforcement)” มี 2 มิติที่สัมพันธ์กัน คือ “การจูงใจ (Incentive)” และ “การบังคับให้ปฏิบัติตาม (Compliance)” ซึ่งการจูงใจจะดีกว่าการบังคับให้ปฏิบัติตาม แต่ทั้งสองมิตินี้จะเกี่ยวข้องกับการพิจารณาที่แตกต่างกัน การก้าวย่างอย่างรวดเร็วของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความแตกต่างกันของนวัตกรรม ได้สร้างความยุ่งยากในการประยุกต์วิธีบังคับใช้แบบเก่า

ซึ่งวิธีใหม่จะเน้นย้ำไปที่การจูงใจทางเศรษฐกิจ (Economic Incentive) และความยืดหยุ่น (Flexibility) โดยความรับผิดชอบ (Liability) อาจถูกใช้เป็นเสมือนแรงกระตุ้นหลักที่จะบรรจุเป็นหนึ่งในกฏหมาย ตัวอย่างเช่น ทำให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบตามกฏหมายสำหรับข้อบกพร่องในการพัฒนาแผนงานที่ยั่งยืน (SP) หรือสำหรับผลลัพธ์ที่เลวร้ายใด ๆ ที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าอย่างมีเหตุมีผลว่าอาจเกิดขึ้นได้แต่กลับไม่บรรจุไว้ในแผนงาน

          “การประกันภัย (Insurance)” คือการจูงใจอีกประเภทหนึ่งที่สำคัญ ที่สามารถจะถูกใช้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ โดยในแง่ลบนั้น บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งได้ปฏิเสธเป็นที่เรียบร้อยแล้วในการรับประกันภัยสำหรับความเสียหายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี โดยอ้างถึงการขาดข้อมูลด้านความเสี่ยงที่เพียงพอ

ซึ่งถ้าบริษัทประกันอื่น ๆ ได้ปฏิบัติตามทำนองนี้ ก็สามารถที่จะเป็นการจูงใจที่สำคัญสำหรับการวิจัยและการทดสอบผลิตภัณฑ์ในจำนวนมากขึ้นของบริษัทเอกชน โดยที่ผู้ให้ประกันภัยสามารถที่จะปฏิเสธการประกันภัยให้แก่ผู้ผลิตที่ไม่มีแผนงานที่ยั่งยืน (SP) ได้

ส่วนในแง่บวกนั้น การประกันภัยสามารถที่จะทำให้ผู้ผลิตต่อสู้ในการถูกฟ้องร้องเอาผิดทางอาญาหรือทางแพ่งได้ ถ้าผู้ผลิตนั้นมีแผนงานที่ยั่งยืน (SP) อย่างเพียงพอและได้ดำเนินการตามแผนงานนี้แล้ว ซึ่งการฟ้องร้องเอาผิดทางอาญาหรือทางแพ่งนั้นจะครอบคลุมประเด็นที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานนี้แล้ว

          และเนื่องจากความไม่เพียงพอของระบบปัจจุบันที่จะใช้จัดการกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ นี่เอง จึงมักมีช่องโหว่ของระบบควบคุมดูแล หรือข้อบกพร่องของระเบียบข้อบังคับในการควบคุมดูแล นอกจากนี้ยังขาดการประสานงานที่ดีเกี่ยวกับระบบควบคุมดูแล

ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ต่างก็มีโปรแกรมของตนเองในการจัดการกับแง่มุมที่มีลักษณะเฉพาะของนาโนเทคโนโลยี และแต่ละโปรแกรมเหล่านี้มีส่วนแยกย่อยออกไปอีก รวมถึงการขาดองค์กรและกลไกสำหรับจัดการกับผลกระทบทางสังคมจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือการไม่มีหนทางที่ดีในการตรวจสอบผลกระทบของเทคโนโลยี หรือการมีส่วนร่วมของสาธารณะชน และมักจะขาดเครื่องมือที่ดีที่จะใช้ในการกระตุ้น ส่งเสริมผลกระทบต่อสังคมในด้านบวกหรือขจัดผลกระทบที่เป็นด้านลบ

ดังนั้นจึงควรที่จะมีการพัฒนาให้เป็นระบบการควบคุมดูแลนาโนเทคโนโลยีแบบบูรณาการน่าจะเหมาะสมกว่า จึงมีผู้ทดลองเสนอรูปแบบองค์กรจำลองที่อาจจะช่วยสนับสนุนระบบการควบคุมดูแลแบบบูรณาการ ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ดีกว่าและมีความยืดหยุ่นที่มากกว่าเดิม และเป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมสำหรับการรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ซึ่งองค์กรใหม่นี้ คาดว่าจะให้ข้อมูลพื้นฐานที่เพียงพอสำหรับการควบคุมดูแลที่มากกว่าระบบเดิมที่เป็นอยู่ โดยจะมุ่งความสนใจไปที่การควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ มลพิษและสถานที่ปฏิบัติงาน และมีรูปแบบเชิงบูรณาการ (การประสานงานและความร่วมมือกันระหว่างองค์กร) มากขึ้น โดยรูปแบบการควบคุมดูแลนั้น ตัวองค์กรจะมีหน่วยงานหลักที่ทุ่มเวลาไปกับการเฝ้าติดตามตรวจสอบและการวิจัย ซึ่งหน้าที่ของส่วนการวิจัยจะรวมถึงการดำเนินการสำหรับการประเมินเทคโนโลยีและการพยากรณ์

ตัวอย่าง รูปแบบองค์กรจำลองในการควบคุมดูแลแบบบูรณาการ
กรมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค (Department of Environmental and Consumer Protection: DECP)

          โดยตัวองค์กรใหม่นี้ จะช่วยสร้างความร่วมมือกันระหว่างรูปแบบการทำงานและโปรแกรมที่มีความแตกต่างกัน รวมถึงจะช่วยเอื้ออำนวยให้เกิดการประสานงานและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างโปรแกรมที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ถึงแม้ว่าในส่วนนี้จะเน้นไปที่การดำเนินการกับนาโนเทคโนโลยี แต่การปรับโครงสร้างใหม่นี้จะช่วยพัฒนาความสามารถของรัฐบาลที่จะดำเนินการกับโปรแกรมหลักในส่วนที่กี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค

ตัวอย่างเช่น การวิจัยเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการสร้างแบบจำลอง จะผูกรวมอยู่ด้วยกันภายใต้หน่วยงานเดียว (อยู่ภายใต้หน้าที่ส่วนการวิจัยและการเฝ้าติดตามตรวจสอบ) หน่วยงานอย่างเดียวกันนี้จะรับผิดชอบสำหรับการควบคุมก๊าซเรือนกระจก (อยู่ภายใต้หน้าที่การควบคุมดูแล) และส่วนหัวของหน่วยงานควรที่จะสามารถวางระบบโดยรวมของนโยบายเกี่ยวกับสภาพอากาศด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อแนะนำที่ได้จากองค์ประกอบย่อยทั้งที่เป็นวิทยาศาสตร์และระเบียบข้อบังคับของหน่วยงาน

          หน่วยงานใหม่นี้ ถ้าเทียบเคียงกับสหรัฐฯ ก็จะประกอบไปด้วย 6 หน่วยงานที่มีอยู่คือ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) หน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (The U.S. Geological Survey: USGS) หน่วยงานบริหารจัดการมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (The National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) หน่วยงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (The Occupational Safety and Health Administration: OSHA)

สถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งชาติ (The National Institute of Occupational Safety and Health: NIOSH) และคณะกรรมาธิการความปลอดภัยในสินค้าอุปโภคบริโภค (The Consumer Product Safety Commission: CPSC) โดยแต่ละหน่วยงานย่อยใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาก็เพื่อการประเมินความเสี่ยง การพยากรณ์ การประเมินเทคโนโลยี การเฝ้าติดตามตรวจสอบสุขภาพและสำนักงานสถิติสิ่งแวดล้อม

          โดยหน่วยงานใหม่นี้ จะมีขนาดใหญ่กว่าองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือหน่วยงานควบคุมดูแลอื่น ๆ ซึ่งรูปแบบหน้าที่การทำงานในการควบคุมดูแลควรที่จะถูกจัดอยู่ในองค์กรที่มีขนาดใหญ่กว่า ไม่เพียงแต่เพราะความสัมพันธ์ระหว่างขนาดและความยืดหยุ่นที่กล่าวมาข้างต้น แต่รวมถึงหน่วยงานควบคุมดูแลที่มีขนาดเล็กในปัจจุบันได้ทำให้หน่วยงานนี้มีขนาดเล็กลงไปอีก

ซึ่งหน่วยงานที่เล็กกว่าจะมีอำนาจหน้าที่ที่น้อยกว่า และมีความสามารถในการผลักดันนโยบายน้อยกว่าหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่ นอกเหนือจากนี้ การที่มีหน่วยงานควบคุมดูแลขนาดเล็กจะทำให้เกิดอุปสรรคในการทุ่มเททรัพยากรไปรับมือกับปัญหาใหม่ และในทศวรรษที่ 21 ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นบ่อยครั้ง

          แต่ข้อเสียขององค์กรที่มีขนาดใหญ่ก็จะทำให้การกระตุ้น ส่งเสริมเป็นไปอย่างล่าช้าและมีความเคร่งครัดหรือระเบียบจัดในการตัดสินใจ และยังเกิดอุปสรรคต่อนวัตกรรมและการคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นเพื่อลดข้อเสียเปรียบเหล่านี้ แต่ละส่วนย่อยขององค์กรใหม่นี้จึงควรได้รับอนุญาตที่จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีอิสระแต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ

จึงอาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จขององค์กรใหม่นี้จึงอยู่ที่การรักษาสมดุลระหว่างการบูรณาการและความมีอิสระแต่ละส่วนย่อยขององค์กร ทั้งนี้ในการพิจารณา ควรที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการในการพิจารณาองค์ประกอบของหน่วยงานใหม่ ในทำนองเดียวกันกับกฏหมายในการควบคุมดูแลและเครื่องมือใหม่ด้วย

          อย่างไรก็ตาม “มาตรการเฝ้าระวัง (Precautionary Measures)” ยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญ ซึ่งต้องการทั้งในส่วนของการบังคับ (Mandatory) และกลไกควบคุมดูแลที่เป็นการเฉพาะสำหรับนาโน ที่สามารถอธิบายถึงคุณลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของวัสดุเหล่านี้ได้

โดยภายในกลไกนี้ การป้องกันสุขภาพของสาธารณะชนและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ต้องการพันธะสัญญาที่พุ่งเป้าไปที่งานวิจัยความเสี่ยงที่สำคัญ และการกระทำอย่างเร่งด่วนในการบรรเทาการสัมผัสที่เป็นไปได้จนกว่าความปลอดภัยจะถูกแสดงออกมาอย่างกระจ่างชัด

ในทำนองเดียวกันกับการเน้นย้ำและการลงมือกระทำ ต้องถูกดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย โดยการดำเนินการในทุกขั้นตอนของการควบคุมดูแล ต้องมีความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้สาธารณะชนสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจ การทดสอบความปลอดภัยและรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ซึ่งการดำเนินการอย่างเปิดเผย มีเนื้อหาสาระ และการมีส่วนร่วมของสาธารณะชนได้อย่างเต็มที่ในทุกระดับถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยการถกปัญหาและการวิเคราะห์เหล่านี้ควรที่จะรวมถึงการพิจารณาผลกระทบในวงกว้างของนาโนเทคโนโลยี และผลกระทบที่มีต่อจริยธรรมและสังคม

ในท้ายที่สุดแล้ว นักพัฒนาและผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบอย่างมีจิตสำนึกในความปลอดภัยและประสิทธิภาพของกระบวนการที่ใช้และตัวผลิตภัณฑ์ และยังคงต้องรับผิดชอบในเรื่องผลกระทบอันเลวร้ายใด ๆ ที่มีต้นกำเนิดมาจากการกระทำของพวกเขาเหล่านั้น

ส่วนหน่วยงานของรัฐฯ องค์กร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรที่จะดำเนินการในการตรากฏหมายสำหรับการควบคุมดูแลอย่างเบ็ดเสร็จ การร่วมมือกัน และดำเนินการตามหลักการพื้นฐานที่จะกล่าวต่อไปนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

          หลักการพื้นฐาน 8 ประการ ในการควบคุมดูแลสำหรับนาโนเทคโนโลยีและวัสดุนาโน ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยดำเนินการควบคุมดูแลและประเมินสำหรับนาโนเทคโนโลยี รวมถึงวัสดุนาโนที่ได้แพร่กระจายไปทั่วแล้วในรูปของสินค้าเชิงพาณิชย์

1. การสร้างรากฐานในการเฝ้าระวัง (A Precautionary Foundation)
          หลักการเฝ้าระวัง (The Precautionary Principle) ได้ถูกผนวกรวมเข้าไปในการประชุมใหญ่ ๆ ในหลายประเทศแล้วหลายครั้ง โดยเป็นการอธิบายว่า “เมื่อใดที่มีกิจกรรมที่ยกระดับการคุกคามไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม เมื่อนั้นมาตรการเฝ้าระวังควรที่จะถูกนำมาปฏิบัติ แม้ว่าสาเหตุและผลกระทบที่เชื่อมโยงกันบางอย่างยังไม่มีการพิสูจน์เป็นที่แน่ชัดในทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม”

ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ต้องการการดำเนินการป้องกันในการเผชิญกับความไม่แน่นอน และมอบหมายภาระในการป้องกันให้กับผู้ซึ่งควรที่จะรับผิดชอบต่อกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเกิดอันตรายขึ้นได้

รวมถึงพิจารณาทางเลือกทั้งหมดสำหรับกิจกรรมและกระบวนการใหม่ ๆ เหล่านี้ และยืนยันถึงการมีส่วนร่วมของสาธารณะในการร่วมตัดสินใจ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ควรที่จะรวมถึงการห้ามทำการตลาดของวัสดุนาโนที่ไม่ได้รับการทดสอบ หรือไม่มีความปลอดภัยในการใช้งาน และยังต้องการให้ผู้ผลิตสินค้าและผู้จัดจำหน่ายแบกรับภาระในการพิสูจน์ด้วย หรือพูดง่าย ๆ ว่า “เมื่อไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและสุขภาพ ก็ยังไม่มีการค้าขาย”

ส่วนการประเมินวงจรชีวิต (Lifecycle) ของวัสดุนาโนได้อย่างเพียงพอนั้น ควรที่จะสามารถจำกัดความและดำเนินการประเมินก่อนที่จะมีการค้าขาย ส่วนทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้น ควรที่จะทุ่มเทไปเพื่อการคัดสรรและใช้วัตถุดิบที่มีความปลอดภัยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยสูงด้วย

          หลักการเฝ้าระวังต้องถูกประยุกต์ใช้กับนาโนเทคโนโลยี เพราะว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ณ ปัจจุบัน ได้แนะนำว่าการสัมผัสอย่างน้อย ๆ กับวัสดุนาโน อุปกรณ์นาโน หรือผลิตภัณฑ์จากนาโนเทคโนโลยีชีวภาพ (Nanobiotechnology) บางอย่าง มีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้เกิดอันตรายที่รุนแรงต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้

โดยอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanomaterials) ที่มีขนาดเล็กสามารถที่จะซึมซาบตัวเองไว้ด้วยคุณสมบัติอันน่าทึ่งทางกายภาพ เคมี และทางชีวภาพ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้นั้นมีศักยภาพอย่างยิ่งที่จะสร้างคุณประโยชน์ได้อย่างมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการที่มีความสามารถสูงในการทำปฏิกิริยา การเคลื่อนไหว

และคุณสมบัติอื่น ๆ ที่มาพร้อมกับอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะแสดงออกได้ถึงความเป็นพิษอย่างน่าอัศจรรย์ใจตามไปด้วยเช่นกัน ส่วนงานวิจัยที่มีอยู่เกี่ยวกับผลกระทบจากวัสดุนาโนที่มีต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ได้ยกระดับสัญญาณเตือนภัยถึงความจำเป็นที่มีเหตุผลอันสมควรในการดำเนินการเฝ้าระวังและศึกษาเพิ่มเติม

ทั้งนี้เพราะว่าความเป็นพิษที่อาจเป็นไปได้ของวัสดุที่มีขนาดในระดับนาโนสเกล ไม่อาจทำให้เราไว้วางใจได้ในการคาดการณ์โดยเทียบเคียงเอาจากแฟ้มพิษวิทยาของวัสดุที่มีขนาดใหญ่กว่า (ไม่ใช่ขนาดนาโนสเกล) โดยระเบียบข้อบังคับต้องมีความเข้มงวด ถูกต้อง และมีการประเมินความปลอดภัยก่อนทำตลาด (Pre-market) และประเด็นคุณสมบัติ (Properties) ของวัสดุ เป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างพร้อมมูล

ซึ่งระเบียบข้อบังคับ (Regulations) ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวิธีการเฝ้าระวังเป็นพื้นฐาน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งยังไม่ทราบอย่างชัดเจน และยังไม่มีการศึกษาอย่างเพียงพอ และ/หรือไม่อาจคาดเดาได้ถึงผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการขาดข้อมูลหรือหลักฐานในส่วนของอันตรายที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้ ไม่สามารถที่จะทดแทนได้ด้วยความปลอดภัยที่ไม่อาจจะแน่ใจได้อย่างสมเหตุสมผล

2. การออกระเบียบข้อบังคับที่ใช้บังคับเป็นการเฉพาะสำหรับนาโน (Mandatory Nano-specific Regulations)
          กฏหมาย (Legislations) ที่มีใช้ในปัจจุบันนี้ ยังไม่ให้การควบคุมดูแลวัสดุนาโนได้อย่างเพียงพอ ซึ่งการปรับปรุง ปรับแต่ง หรือการมีขอบข่ายเนื้อหาของระเบียบข้อบังคับที่เป็นการเฉพาะสำหรับนาโนนั้น ต้องถูกผนวกรวมเข้าเป็นแง่มุมหนึ่งของการพัฒนานาโนเทคโนโลยี

ซึ่งการพิจารณาในส่วนของการพัฒนาและการค้าเชิงพาณิชย์ของวัสดุนาโนที่มีการขยายตัวแล้วอย่างก้าวหน้าและรวดเร็ว และการประเมินในส่วนของรัฐบาลถึงกลไกในการควบคุมดูแลในปัจจุบันที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนนั้น ควรนำเอาประเด็นคุณสมบัติอันน่าทึ่งที่แสดงออกมาของวัสดุนาโนเข้าไปพิจารณาร่วมด้วย

          แม้แต่ในที่ซึ่งมีอำนาจตามกฏหมายใช้อยู่ การเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับจำนวนมากในกฏหมายที่มีอยู่เดิมก็มีแนวโน้มว่ายังมีความจำเป็น เพื่อที่จะสามารถระบุได้ถึงความแตกต่างโดยพื้นฐานของคุณสมบัติของวัสดุนาโน และความท้าทายใหม่ ๆ ที่วัสดุนาโนเหล่านั้นได้แสดงออกมาได้อย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ

ซึ่งกฏหมายในปัจจุบันพบว่า ยังมีเครื่องมือที่น้อยมากที่จะเกื้อหนุนและรองรับในการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์และกระบวนการจากนาโนเทคโนโลยีในปัจจุบันและในรุ่นถัดไป หน่วยงานรัฐฯ เองก็ยังมีข้อบกพร่องในการใช้อำนาจตามกฏหมายที่มีอยู่

โดยระบบระเบียบข้อบังคับในปัจจุบันต้องได้รับการปรับปรุงและประยุกต์ใช้กับวัสดุนาโนเสมือนเป็นการตอบสนองชั่วคราว จนกว่ากลไกในการควบคุมดูแลที่เป็นการเฉพาะสำหรับนาโนจะถูกประยุกต์ใช้ โดยระเบียบข้อบังคับนี้ควรที่จะมีผลย้อนหลังไปบังคับใช้ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์นาโนต่าง ๆ ที่อยู่ก่อนแล้วในตลาดด้วยเช่นกัน

          ผลกระทบที่เลวร้ายจากวัสดุนาโนไม่สามารถที่จะไว้วางใจได้ในการคาดเดาจากพิษวิทยาที่ทราบของวัสดุที่มีขนาดใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านได้ให้ข้อแนะนำว่า มีตัวแปรทางเคมีกายภาพ (Physicochemical Parameters) มากกว่า 16 ตัว ที่จะถูกประเมิน ซึ่งจะแตกต่างอย่างมากกับตัวแปรเพียงแค่ 2-3 ตัว ที่มักใช้ในการตรวจวัดสำหรับวัสดุที่มีขนาดใหญ่

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าการมีคุณสมบัติอันน่าทึ่งและเชื่อมโยงกับความเสี่ยงนี่เอง จึงทำให้มีการเสนอว่าวัสดุนาโนต้องถูกจัดจำพวกว่าเป็นสารตัวใหม่ (New Substances) ที่ควรได้รับการประเมินและมีระเบียบข้อบังคับในการควบคุมดูแลเป็นการเฉพาะ

          ส่วนโครงการริเริ่มสำหรับการเข้าร่วมโดยสมัครใจ (Voluntary Initiatives) ยังถือว่าไม่เพียงพอในการควบคุมดูแลนาโนเทคโนโลยี เพราะยังขาดการจูงใจ (Incentives) สำหรับภาคส่วนที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าที่มีความเสี่ยง ดังนั้นสิ่งที่จะกลายเป็นรูปธรรมโดยมากแล้วจึงต้องตกอยู่ที่ระเบียบข้อบังคับ ซึ่งภายใต้การเข้าร่วมโดยสมัครใจนั้น บริษัทอาจจะขาดแรงกระตุ้นในการทดสอบผลกระทบระยะยาวหรือเรื้อรังที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

และเหตุเนื่องจากการเข้าร่วมโดยสมัครใจมีอยู่บ่อยครั้งที่มีความล่าช้า หรือระเบียบข้อบังคับที่จำเป็นไม่มีความเข้มแข็ง มีการตัดบทในการมีส่วนร่วมของสาธาณะชน และการจำกัดสาธารณะชนในการเข้าถึงข้อมูลส่วนที่สำคัญด้านความปลอดภัยและสุขภาพ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ผลักดันให้สาธารณะชนมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะส่งเสียงดัง ๆ ให้รัฐบาลได้บังคับใช้ระเบียบข้อบังคับในการควบคุมดูแลมากกว่าโครงการริเริ่มสำหรับการเข้าร่วมโดยสมัครใจ

3. การปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของสาธารณชนะและผู้ปฏิบัติงาน
(Health and Safety of the Public and Workers)
          การควบคุมดูแลวัสดุนาโนได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพนั้น ต้องการการเน้นย้ำโดยทันทีในการป้องกันการสัมผัสกับวัสดุนาโน ทั้งที่ทราบและที่มีโอกาสเกิดขึ้นที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัย นี่คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งทั้งในส่วนของสาธาณะชนและผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมนาโน

เพราะว่าวัสดุบางตัวแสดงให้เห็นถึงอันตรายที่เป็นไปได้และที่เหลือส่วนมากก็ยังไม่ได้รับการทดสอบ ส่วนอนุภาคนาโนอิสระ (Free Nanoparticles-วัสดุนาโนที่ไม่มีความเกี่ยวพันกับวัสดุอื่น ๆ) ก็ควรจะได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะปรากฏว่าโดยมากแล้วมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ร่างกายคนเรา ทำปฏิกิริยากับเซลล์ และทำให้เกิดความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อได้

ส่วนอนุภาคนาโนที่ฝังแน่นอยู่กับสิ่งอื่นก็ควรให้ความใส่ใจในการก่อให้เกิดการสัมผัสด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานอาจจะสัมผัสกับวัสดุเช่นนี้ผ่านทางกระบวนการผลิต ในขณะที่การกำจัดและกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) อาจก่อให้เกิดการสัมผัสต่อสาธาณะชนและสิ่งแวดล้อมได้ด้วยเช่นกัน

          จากการที่ขนาดเล็กมาก ๆ นั่นเอง จึงมีโอกาสที่อนุภาคนาโนจะสามารถทะลุผ่านเมมเบรนของหน่วยชีวภาพ เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะได้ง่ายกว่าอนุภาคที่มีขนาดใหญ่ และเมื่อถูกสูดดมเข้าไป อนุภาคนาโนอาจจะเคลื่อนที่จากปอดไปสู่ระบบเลือดได้

ดังเช่นที่มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่บ่งชี้ว่าวัสดุนาโนบางชนิดอาจจะซึมผ่านผ่านผิวหนังที่สัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสารลดแรงตึงผิว หรือการนวด หรือรอยย่นของผิวหนัง และเข้าไปยังระบบไหลเวียนของร่างกายคนเราได้

เมื่อบริโภคเข้าไป วัสดุนาโนอาจจะผ่านผนังลำไส้และเข้าสู่การไหลเวียนของเลือด และทันทีที่เข้าสู่กระแสโลหิตวัสดุนาโนสามารถที่จะไหลเวียนไปทั่วทั้งร่างกายและสามารถฝังอยู่ในอวัยวะและเนื้อเยื่อรวมไปถึงสมอง ตับ หัวใจ ไต ม้าม ไขกระดูก และระบบประสาท นอกจากนี้ ทันทีที่อยูในเซลล์วัสดุนาโนอาจจะรบกวนภาวะการทำงานตามปกติของเซลล์ ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระและแม้แต่ทำให้เซลล์ตายได้เช่นกัน

          งบประมาณที่ไม่เพียงพอและการขาดการเน้นย้ำของรัฐบาลในผลงานวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์นั้น ได้เอื้ออำนวยให้เกิดสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีผู้คนบางส่วนได้สัมผัสกับวัสดุนาโนที่ถูกผลิตขึ้นมาไม่เว้นแต่ละวัน แม้ว่าจะขาดข้อมูลในเรื่องผลกระทบในระยะยาวหรือภาวะเรื้อรังที่มีความเป็นไปได้จากวัสดุเหล่านี้ก็ตาม

โดยกลุ่มบุคคลที่ทำการวิจัย พัฒนา ผลิต บรรจุ จัดการ ขนส่ง ใช้ และกำจัดวัสดุนาโน จะเป็นผู้ที่มีโอกาสสัมผัสมากที่สุด และมักจะได้รับความทุกข์ทรมานมากที่สุดจากอันตรายที่อาจเป็นไปได้จากการสัมผัส

ดังนั้นการปกป้องผู้ปฏิบัติงานควรที่จะมีความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดที่อยู่ภายใต้ขอบข่ายของการควบคุมดูแลวัสดุนาโน ดังสอดคล้องกับมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The U.S. National Science Foundation) ที่ได้ประมาณการณ์ว่าในปี ค.ศ.2015 (พ.ศ. 2558) อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยีจะมีการจ้างงานประมาณ 2 ล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ก็ยังมีนักวิจัยและนักศึกษาที่ทำงานกับวัสดุนาโนในห้องทดลองของสถาบันการศึกษาเพิ่มเติมอีกด้วย

แม้ว่าแรงงานทางด้านนาโนจะมีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานทางด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่เป็นการเฉพาะที่จะระบุไว้ในส่วนของนาโนเทคโนโลยีและวัสดุนาโน และไม่มีวิธีการที่เป็นมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับสำหรับการตรวจวัดการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับวัสดุนาโนในสถานที่ปฏิบัติงานแต่อย่างใด

          ขอบข่ายของระเบียบข้อบังคับใด ๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากผลกระทบที่มีต่อสุขภาพจากการสัมผัสกับวัสดุนาโน ต้องการโปรแกรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอันพร้อมมูลที่เขียนขึ้น เพื่อที่จะสามารถระบุประเด็นนาโนเทคโนโลยีในสถานที่ปฏิบัติงาน

โดยนายจ้างควรที่จะใช้หลักการเฝ้าระวังเป็นพื้นฐานในการดำเนินการมาตรการป้องกัน เพื่อที่จะรับประกันความปลอดภัยและสุขภาพให้กับผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการใช้ลำดับขั้นของการควบคุมการสัมผัส (การขจัด การแทนที่ การควบคุมทางวิศวกรรม การควบคุมทางการบริหารจัดการ วิธีปฏิบัติงานที่ปลอดภัย และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล) การเฝ้าติดตามตรวจสอบการสัมผัส การติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์ และการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน

เพื่อความมั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้นได้รับข้อมูลที่ทันสมัยเกี่ยวกับวัสดุนาโนมากที่สุด รวมถึงการที่ผู้ปฏิบัติงานและตัวแทนของผู้ปฏิบัติงาน ควรที่จะมีส่วนร่วมในทุก ๆ แง่มุมของประเด็นความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานที่ปฏิบัติงานที่ใช้นาโนเทคโนโลยี โดยปราศจากความกลัวมาตรการตอบโต้หรือการเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง ในท้ายที่สุดแล้ว มาตรฐานทางด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบในการนำมาใช้กับวัสดุนาโน

4. ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)
          การประเมินวงจรชีวิต (Lifecycle) ของวัสดุนาโน จะรวมถึงช่วงของการผลิต ขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการกำจัดลงสู่กระแสธารของขยะ ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องเข้าใจในระบบบัญญัติของกฏหมาย (Statutory Systems) ต่าง ๆ ว่าจะถูกประยุกต์ใช้กับเรื่องนี้ได้อย่างไรและระเบียบข้อบังคับตรงใหนที่ยังมีช่องโหว่ โดยวงจรชีวิตของสิ่งแวดล้อมอย่างครบรอบและผลกระทบต่าง ๆ ที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัยนั้น ต้องได้รับการประเมินเสียก่อนที่จะทำการค้าในเชิงพาณิชย์

          วัสดุนาโนที่ถูกผลิตขึ้นมานั้น เมื่อหลุดรอดไปในธรรมชาติก็อาจก่อให้เกิดมลพิษที่อาจไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งการคาดเดาถึงผลกระทบอาจพิจารณาได้จากต้นกำเนิดของลักษณะทางธรรมชาติอันน่าทึ่งของวัสดุนาโน ซึ่งรวมถึง การเคลื่อนที่ได้ง่าย และคงอยู่ได้ในดิน น้ำและอากาศ การสะสมทางชีวภาพ และการทำปฏิกิริยาซึ่งกันและกันที่คาดไม่ถึงทางเคมีและทางชีวภาพของวัสดุ

ซึ่งสัญญาณของการเตือนภัยได้ถูกยกระดับขึ้นจากผลการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น การสัมผัสในปริมาณมากของอลูมิเนียม (Aluminum) ที่มีขนาดในระดับนาโนสเกล ทำให้เกิดการชะงักในการเจริญเติบโตของรากพืชผลทางการค้า 5 ชนิด หรือกรณีผลพลอยได้ (Byproducts) ที่เชื่อมโยงจากการผลิตท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังเดี่ยว (Single-Walled Carbon Nanotubes: SWCNTs) ได้ทำให้อัตราการตายและการชะลอการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ตามลุ่มปากแม่น้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงกรณีความเสียหายต่อจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์จากซิลเวอร์นาโน (Nanosilver)

ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ทาง The U.K. Royal Society ได้ให้ข้อแนะนำว่า การปล่อยอนุภาคนาโนและท่อนาโนสู่สิ่งแวดล้อมนั้น ควรหลีกเลียงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนั่นหมายรวมถึงโรงงานและห้องทดลองงานวิจัยต้องปฏิบัติต่ออนุภาคนาโนและท่อนาโนที่ถูกผลิตขึ้นมาว่าเป็นเหมือนกับสารอันตราย และควรต้องมีความพยายามเสาะหาหนทางที่จะลดขยะหรือของเสียจากกระบวนการผลิต

          ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังคงไม่ได้รับการชี้บ่ง เนื่องจากว่าเกิดความล้มเหลวในการจัดลำดับความสำคัญ (Prioritize) ของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และในปัจจุบันงบประมาณที่ถูกจัดสรรไว้สำหรับงานวิจัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่ว่านั้นก็มีน้อย ซึ่งกองทุนเกี่ยวกับการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลนั้นควรที่จะได้รับในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยุทธศาสตร์ทางด้านแผนงานวิจัยความเสี่ยงก็ควรถูกวาดภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

          วัสดุนาโนได้ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการประยุกต์ใช้ขอบข่ายการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดงบประมาณในการซื้อเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะใช้ในการตรวจจับ เฝ้าติดตามตรวจสอบ การตรวจวัด และการควบคุมวัสดุนาโนที่ถูกผลิตขึ้นมา รวมถึงการแยกเอาวัสดุนาโนที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมออกมา

ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมเอง ก็มีการปกป้องตัวเองโดยการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนกับทางรัฐบาลเกี่ยวกับมุมมองของสาธารณะชนที่ร้องเรียนไปยังบริษัท โดยอ้างว่าเป็นความลับทางธุรกิจ ส่วนการประเมินความเสี่ยง กลไกควบคุมดูแล ตัวแปรทางพิษวิทยา และขีดจำกัดในการสัมผัสที่ถูกควบคุมโดยกฏหมายทางสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ก็มีเพียงที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้กับตัวแปรทางพิษวิทยาของวัสดุที่มีขนาดใหญ่ (ไม่ใช่นาโน) เท่านั้น

ในขณะที่มาตรวัดที่ถูกใช้ในกฏหมายที่มีอยู่ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างมวลและการสัมผัส ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอสำหรับวัสดุนาโน และกฏหมายที่มีอยู่ก็ยังขาดในส่วนของการวิเคราะห์วงจรชีวิต และยังล้มเหลวในการระบุถึงช่องโหว่ของระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่ ดังนั้นการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมสำหรับวัสดุนาโนนั้น จะต้องมีการระบุและแก้ไขในส่วนต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว

5. ความโปร่งใส (Transparency)
          การประเมินและควบคุมดูแลวัสดุนาโนต้องใช้กลไกที่จะรับประกันได้ถึงความโปร่งใส รวมถึงฉลากของสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของวัสดุนาโน การระบุถึงสิทธิของสถานประกอบการที่จะรับทราบถึงข้อกฏหมายและมาตรการป้องกัน และการพัฒนาในการเข้าถึงคลังข้อมูลทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยของสาธารณะชน

ซึ่งสิทธิของสาธารณะชนในการที่จะรับรู้จะรวมไปถึงสิทธิที่จะได้รับการแจ้งข้อมูล เพื่อที่ว่าจะได้มีข้อมูลประกอบการพิจารณาที่เพียงพอ สำหรับการตัดสินใจในหนทางเลือกที่มีอยู่ โดยผลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็น (Polls) ต่าง ๆ เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี ได้แสดงให้เห็นว่าสาธารณะชนส่วนใหญ่ยังขาดแม้แต่ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี หรือการรับทราบถึงการมีอยู่ของวัสดุนาโนในสินค้าอุปโภคบริโภค

ซึ่งในหลาย ๆ กรณี พบว่าผู้ผลิตเองก็ไม่ได้ให้ข้อมูลแก่สาธารณะชนให้รับรู้เกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพและการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ตนเองผลิต หรือแม้แต่การติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัสดุนาโนเหล่านี้ เมื่อผลเป็นเช่นนี้ ทางสาธารณะชนก็จะไม่ได้รับแจ้งข้อมูลใด ๆ เลยในการเลือกตัดสินใจเกี่ยวกับสินค้าวัสดุนาโนเหล่านั้น

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า “สิทธิของสาธารณะชนในการที่จะรับรู้นั้น จะอยู่ที่การติดฉลากบนสินค้าทุก ๆ ตัวที่มีส่วนผสมของวัสดุนาโน” และยิ่งไปกว่านั้น ฉลากผลิตภัณฑ์เองก็ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการถูกปลดปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม การสัมผัสของมนุษย์ และความรับผิดชอบที่มีต่อผลกระทบที่เลวร้ายนั้นด้วย

          ข้อมูลการทดสอบด้านความปลอดภัยต้องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนในการตรวจสอบรายละเอียดและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เมื่อมีข้อมูลบันทึกที่มีผลค่อนข้างแย่อยู่แล้วของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการสัมผัสในสถานที่ปฏิบัติงานและการปลดปล่อยสารอันตรายลงสู่สิ่งแวดล้อม

ดังนั้นการควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพจึงควรที่จะรวมถึงการตำหนิติเตียนถึงการใช้ข้ออ้างเรื่องความลับทางธุรกิจในการปกป้องตนเองของผู้ผลิตสินค้าวัสดุนาโน ส่วนการประชุมระหว่างประเทศนั้น สาธารณะชนเองก็ควรที่จะได้รับเกียรติ์ให้เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ จากการประชุมเหล่านั้นด้วย

6. การมีส่วนร่วมของสาธารณะชน (Public Participation)
          ศักยภาพของนาโนเทคโนโลยีในการเปลี่ยนโฉมหน้าโลกไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ได้สร้างความจำเป็นที่สาธารณะชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ในกระบวนการตรึกตรองและตัดสินใจ โดยกระบวนการเหล่านี้ต้องกระทำอย่างเปิดเผย และเอื้ออำนวยอย่างเท่าเทียมกันในการเปิดรับข้อมูลต่าง ๆ จากคณะบุคคลที่สนใจและผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด

ซึ่งถ้าเป็นการจัดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณะที่อยู่ภายใต้หรือใกล้ชิดอิงแอบกับรัฐบาลเท่านั้น ก็จะเป็นการบั่นทอนความคิดเห็นในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยและผิดหลักการควบคุมดูแล และอาจกล่าวได้ว่าไม่มีความโปร่งใสและไม่รับผิดชอบต่อสาธารณะ ดังนั้นสาธารณะชนทั่วไปในทุก ๆ เชื้อชาติ จะต้องเห็นความสำคัญของการเข้ามามีส่วนร่วม ในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่อาจมีผลกระทบต่อสาธารณะชนในวงกว้าง

          กระบวนการมีส่วนร่วมนั้นต้องเกิดคุณประโยชน์ด้วย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล มีนโยบายในการพัฒนา และกระบวนการตัดสินใจ มากกว่าที่จะจำกัดอยู่เพียงแค่การรับทราบข้อเท็จจริง หรือเป็นการสื่อสารทางเดียวต่อสาธารณะโดยการชี้นำหรือรับปากไปในทิศทางที่รัฐบาลและ/หรือผู้ผลิตได้เคยให้ความรู้กับทางสาธารณะด้วยเป้าหมายเพียงเพื่อให้ชนะการโต้วาทีและเพื่อความเรียบร้อยในการยอมรับของสาธารณะ แต่การมีส่วนร่วมอย่างมีคุณประโยชน์อย่างแท้จริงนั้น ต้องการพันธะสัญญาและเงินทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอจากรัฐบาล

          ในการควบคุมดูแลเทคโนโลยีใหม่ สามารถที่จะจัดแบ่งประเภทกลุ่มสาธารณะได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้คือ 
          1 คนใน (Insiders) ได้แก่ ตัวแทนของภาคอุตสาหกรรม องค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา ตัวแทนของสหภาพแรงงาน ฯลฯ
          2 สาธารณะชนทั่วไปที่ได้รับแจ้งข้อมูลบางอย่าง (The Somewhat Informed General Public)
          3 ผู้เฝ้าดู (Bystanders)

          ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จะตกอยู่ในกลุ่มที่ 3 โดยพวกเขาไม่ทราบหรือเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ และพวกเขาไม่ได้ติดตามว่ารัฐบาลได้หรือไม่ได้บอกกล่าวอะไรเกี่ยวสิ่งเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เฝ้าดูอาจจะมีอิทธิพลต่อการควบคุมดูแลผ่านทางบทบาทของพวกเขาในฐานะผู้บริโภคหรือผู้เสียภาษี ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาซื้อนั้นอาจจะได้รับอิทธิพลจากความคิดเห็นของคนใน

          เป้าหมายของนโยบายสาธารณะได้ขับเคลื่อนผู้คนจากกลุ่มผู้เฝ้าดูไปสู่กลุ่มผู้ที่ได้รับแจ้งข้อมูล นี่คือความเป็นไปของประชาธิปไตย และเป็นวิถีทางที่สำคัญในการลดโอกาสที่สาธารณะชนจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานของการโฆษณาชวนเชื่อหรือข้อมูลผิด ๆ แต่จะทำอย่างไรกับความพยายามที่จะแจ้งให้สาธารณะได้ทราบข้อเท็จจริง และวิธีการใดที่จะนำมาใช้ รวมถึงทำอย่างไรที่จะวาดเส้นแบ่งระหว่างข้อมูลที่พยายามแจ้งให้ทราบกับข้อมูลจากการโฆษณาชวนเชื่อ

          ในท้ายที่สุดแล้ว การเข้ามามีส่วนร่วมของสาธารณะชนอย่างเต็มที่นั้น จะต้องเป็นการมีส่วนร่วมอย่างเป็นประชาธิปไตยตลอดทั้งกระบวนการ โดยที่ส่วนใดของนาโนเทคโนโลยีที่ต้องได้รับการพัฒนา ถูกใช้งาน และสิ่งที่จำเป็นในแต่ละช่วงของการพัฒนาจะอยู่บนพื้นฐานของความต่อเนื่องและช่วยรับประกันได้ถึงสิ่งที่สาธารณะเป็นกังวล และมีสิทธิในการได้รับข้อมูลและแนวทางในการควบคุมดูแลนาโนเทคโนโลยี ซึ่งจะดีกว่าการเริ่มจากข้อสันนิษฐานที่ผิดพลาดว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งไม่สามารถหลีกพ้นได้ และ/หรือมักคิดว่าเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์มากกว่าโทษ

โดยกระบวนการในการออกแบบอุปกรณ์และระบบที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีนั้น ควรที่จะได้รับการขับเคลื่อนโดยความต้องการของสังคมที่มีการพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับแจ้ง และการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมตัดสินใจท่ามกลางผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น รวมถึงต้องมีความพยายามเป็นพิเศษในการเข้าถึงผู้คนที่มีโอกาสน้อยทางสังคมและผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานมากบ้างน้อยบ้างจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอดีตที่ผ่านมา

7. การรวมผลกระทบทั้งหมดที่มี (Inclusion of Broader Impacts)
          การพิจารณาช่วงความกว้างของผลกระทบจากนาโนเทคโนโลยีนั้น จะรวมไปถึงประเด็นผลกระทบทางจริยธรรม และทางสังคมด้วย ซึ่งมักเกิดในแต่ละช่วงของกระบวนการพัฒนา โดยการประเมินได้อย่างเพียงพอทั้งการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ที่มีวัสดุนาโนเป็นส่วนประกอบเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

          ในส่วนที่เพิ่มเติมกับการก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น วัสดุนาโนยังอาจก่อให้เกิดความกังวลต่อสังคมและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ตัวอย่างเช่น เมื่อวัสดุนาโนชนิดใหม่ได้รับความนิยมใช้อย่างแพร่หลาย ก็อาจทำให้ตลาดสินค้าแบบดั้งเดิมต้องหยุดชะงักไป และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลเสียตามมากับระบบเศรษฐกิจของสินค้า โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาที่ต้องพึงพิงสินค้านั้น

รวมถึงประเด็นสิทธิบัตรของวัสดุนาโนพื้นฐานก็จะเป็นตัวกีดกันด้วยเช่นกัน จึงต้องมีการพิจารณาให้ครอบคลุม นอกจากนี้ การพัฒนาในยุคต่อไปของนาโนเทคโนโลยีที่ถูกคาดการณ์กันไว้จะรวมถึงการผลิตอุปกรณ์นาโนที่ความสลับซับซ้อนมากขึ้นเช่นที่ใช้ในการทหาร การแพทย์ และนั่นก็หมายถึงความเสี่ยงที่มีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นและเพิ่มโอกาสมากขึ้นของผู้คนที่จะสัมผัส

ขณะเดียวกันก็เป็นการท้าทายในเรื่องทางจริยธรรมและทางสังคมด้วย ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีห้องทดลองบางแห่งได้ใช้กระบวนการทางวิศวกรรมกับไวรัส ยีสต์ และแบคทีเรียในการสร้างเป็นวัสดุนาโนแล้ว ดังนั้นการถกเถียงในทางสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

          สำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้น การจัดสรรกองทุนสำหรับการวิจัยจะเป็นตัวกำหนดวิถีทางของการพัฒนานาโนเทคโนโลยี รวมถึงการวิเคราะห์ถึงผลที่ตามมาทางสังคมศาสตร์ก็ควรที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับผลที่ตามมาทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

ซึ่งประเด็นของผลกระทบทางสังคม การประเมินทางจริยธรรม ความเสมอภาค ความยุติธรรม และเอกลักษณ์ของชุมชน ควรที่จะเป็นปัจจัยในการพิจารณาจัดสรรกองทุนสำหรับสาธารณะในการทำงานวิจัย ซึ่งสัดส่วนอย่างมีนัยสำคัญของการวิจัยนี้ ควรจะขึ้นอยู่กับชุมชนและถูกออกแบบมาเพื่อช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสาธารณะชน

การมีกองทุนที่มากเกินไปในปัจจุบันสำหรับการวิจัยทางการทหารและกองทุนที่น้อยไปสำหรับการวิจัยในความท้าทายต่อสังคมของนาโนเทคโนโลยี และความเสี่ยงที่เป็นไปได้ที่มีต่อสุขภาพของสาธารณะชน ผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การวิจัยที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบของนาโนเทคโนโลยีที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงเศรษฐกิจสังคม (Socio-economic) ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการวิจัยพฤติกรรมการแสดงออกของชุมชนที่จะช่วยให้พลเมืองมีความเข้าใจในศักยภาพของคุณประโยชน์และอันตรายของโครงการที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีที่อยู่ในชุมชนของเขา ซึ่งการวิจัยนั้นควรที่จะเป็นกองทุนของสาธารณะชนและว่าจ้างให้ทำโดยหน่วยงานของรัฐบาลที่มีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนในการควบคุมดูแลการวิจัยผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงเศรษฐกิจสังคม โดยผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะต้องมีการแจ้งให้สาธารณะชนได้รับทราบในภายหลังด้วย

8. ความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Manufacturer Liability) 
          วัสดุนาโนได้สร้างความสั่นสะเทือนในตลาดการค้า โดยเป็นเหมือนสารมหัศจรรย์ด้วยคุณภาพอันน่าทึ่งที่ทำให้เป็นที่ปรารถนาในเกือบทุก ๆ ภาคส่วนของเศรษฐกิจ ซึ่งคล้ายกับกรณีของแอสเบสตอส (Asbestos-แร่ใยหิน) ในครั้งแรกที่ถูกแนะนำเข้าสู่ตลาดการค้า รวมถึงพบว่ามีการศึกษาวิจัยน้อยมากในเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันกับของวัสดุนาโน

ซ้ำร้ายความเสี่ยงยังมากกว่าแอสเบสตอสตรงที่ วัสดุนาโนมีคุณลักษณะเฉพาะ (รูปร่าง ขนาด ปฏิกิริยาทางเคมี) ที่มีศักยภาพอันหลากหลายกว่าในการสร้างสรรตัวเองโดยเฉพาะความเสี่ยง ซึ่งวัสดุนาโนจำนวนมากได้ถูกจำหน่ายไปยังสาธารณะชนในรูปแบบของสินค้าอุปโภคบริโภค โดยปราศจากการแจ้งหรือเตือนให้ทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ของสินค้าเหล่านั้น

นอกจากนี้ ก็คล้ายกับอุตสาหกรรมยาสูบในสมัยก่อน ที่อุตสาหกรรมนาโนดูเหมือนว่าจะรู้สึกพึงพอใจกับสินค้าของตนเองในตลาด ซึ่งปราศจากความเข้าใจทั้งหมดถึงความเสี่ยงที่เป็นไปได้หรือการแจ้งให้สาธารณะชนได้ทราบถึงความเสี่ยงเหล่านั้น

          อาจกล่าวได้ว่า ผู้ใดก็ตามที่ทำตลาดผลิตภัณฑ์นาโน ซึ่งรวมไปถึงนักพัฒนาวัสดุนาโน ผู้ดำเนินการ ผู้นำผลิตภัณฑ์ไปพัฒนาต่อ ผู้สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีวัสดุนาโนเป็นส่วนประกอบ และผู้ค้าปลีกที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีวัสดุนาโนเป็นส่วนประกอบไปยังสาธารณะชน ต้องรับผิดชอบต่อข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเหล่านั้น ขณะที่การเรียกร้องสิทธิ์ (Claims) ต่อความรับผิดชอบในตัวผลิตภัณฑ์จากข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นนี้ จะรวมไปถึง การขาดความระมัดระวัง การก่อให้เกิดความรำคาญ การหลอกลวง และคำอธิบายที่เป็นเท็จ เป็นต้น

ดังนั้นในส่วนเพิ่มเติม ขอบข่ายของการควบคุมดูแลวัสดุนาโนก็ควรที่จะรวมถึงกลไกทางการเงิน กองทุนของผู้ผลิตและผู้กระจายสินค้า เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า กองทุนเงินนั้นจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการชดเชยและ/หรือเยียวยาให้กับกรณีที่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ตัวผู้ปฏิบัติงาน หรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

โดยกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสได้รับบาดเจ็บจะรวมถึงกลุ่มสาธารณะชนทั่วไปด้วย ทั้งนี้การจัดตั้งกองทุนที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการค้าเชิงพาณิชย์และการร่วมแรงอย่างแข็งขันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้นสำหรับคุณภาพของสินค้าและความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความล้มเหลวจากการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันในการปกป้องผู้คนหรือสิ่งแวดล้อม

          มีการคาดการณ์กันว่า การปฏิวัติเทคโนโลยีดังเช่นการพัฒนานาโนเทคโนโลยี จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าทึ่งและกว้างขวางในทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรา ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมดูแลนาโนเทคโนโลยี โดยอาศัยรูปแบบการดำเนินการต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของการเฝ้าระวัง ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยเกื้อหนุนเป็นอย่างดีในการปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของสาธารณะชนและผู้ปฏิบัติงาน

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ การมีส่วนร่วมของสาธารณะชนและการตัดสินใจในเป้าหมายของสังคมได้อย่างมีประชาธิปไตย การกอบกู้ความเชื่อมั่นของสาธารณะชน การสนับสนุน การวิจัยของรัฐบาลและสถาบันการศึกษา และการดำรงอยู่ต่อไปในส่วนของการค้าเชิงพาณิชย์

โดยเรียกร้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในทุกภาคส่วน ได้มีความตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากนาโนเทคโนโลยี มีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังและจริงใจในการดำเนินการ รวมถึงมีการประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และพิจารณาบนหลักการในการควบคุมดูแลนาโนเทคโนโลยีและวัสดุนาโนตามที่ได้ระบุไว้ข้างต้นอย่างเร่งด่วน

เอกสารอ้างอิง
          1. “Oversight of Next-Generation Nanotecchnology”; J.Charance Davis, Project on Emerging Nanotechnology (PEN), April 2009

          2. “Approach to Safe Nanatechnology” Managing the Healh and Safety Concerns Associated with Engineered Nano Materials; Department of Health and Human Services, Centers for Disease Control and Prevention, National Institute for Occupation Safety and Health; DHHS (NIOSH) Publication No.2009-125, March 2009

          3. Current Intelligence Bulletin 60 “Interim Guidance for Medical Screening and Hazard Surveillance for Workers Potentially Exposed to Engineered Nanoparticles”; Department of Health and Human Services, Centers for Disease Control and Prevention, National Institute for Occupation Safety and Health; DHHS (NIOSH) Publication No.2009-116, Feb 2009

          4. “Principles for the Oversight of Nanotechnologies and Nanomaterials”; Joint Declaration of Nanotechnology-46 Organizations, Executed on July 31, 2007

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด