เนื้อหาวันที่ : 2011-12-12 09:53:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 25008 views

การวิเคราะห์อันตรายในงาน (Job Hazard Analysis: JHA)

การมีจิตสำนึกและให้ความใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยตลอดจนสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน ถือเป็นความรับผิดชอบแรกเริ่มของเจ้าของกิจการ

ศิริพร วันฟั่น

          ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทั้งในปัจจุบันและอดีตที่ผ่านมา มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน เป็นผลให้ได้รับบาดเจ็บ พิการ บางครั้งก็ร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด จึงถือเป็นความรับผิดชอบแรกเริ่มของเจ้าของกิจการ ที่ต้องมีจิตสำนึกและให้ความใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัยตลอดจนสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานเป็นอันดับแรก มากกว่าที่จะคิดมุ่งหวังเอาแต่ผลกำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง โดยไม่คำนึงถึงตัวผู้ปฏิบัติงานเลย

เราคงจะปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์หรืออุบัติเหตุจากการทำงานแล้ว ย่อมมีผลเสียตามมาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าชดเชย การเสียเวลาเนื่องจากงานต้องหยุดชะงัก การถูกสอบสวน เกิดความเสียหายกับเครื่องจักรหรือทรัพย์สิน การเสียชื่อเสียงและโอกาสในการแข่งขัน รวมไปถึงความเชื่อมั่นและขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อป้องกันอันตรายในเชิงรุก ทั้งยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานได้อีกทางหนึ่งด้วย สำหรับการวิเคราะห์อันตรายในงานนั้น เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของแผนงาน ฯ แต่ว่าเป็นส่วนที่สำคัญและจะขาดไปไม่ได้เลย เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานของความปลอดภัยซึ่งเกี่ยวข้องกับงานที่ทำโดยตรง

          การวิเคราะห์อันตรายในงาน (Job Hazard Analysis: JHA) หมายถึง กระบวนการหรือเทคนิคเชิงรุกที่จะพุ่งเป้าไปยังงานที่มีลักษณะพิเศษ (Special Tasks) เพื่อที่จะค้นหาหรือแจกแจง (Identification) อันตราย ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น โดยมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้ปฏิบัติงาน งานที่ทำ กระบวนการ/ปฏิบัติการหรือระบบ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เมื่อแจกแจงอันตรายต่าง ๆ แล้ว ก็จะนำไปประเมินและพิจารณาแก้ไข หรือจัดสรรมาตรการที่เหมาะสมและเพียงพอในการขจัด ลด ป้องกัน หรือควบคุมอันตรายในงานเหล่านั้น ให้มีความเสี่ยง (Risks) ที่จะเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด หรืออยู่ในระดับที่ยอมรับได้ 

          หมายเหตุ ในบางตำรา จะใช้คำว่าการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย (Job Safety Analysis: JSA)

วัตถุประสงค์และประโยชน์
          1.  เป้าหมายสูงสุด คือ ป้องกันเหตุการณ์หรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน

          2. ทำให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วม รับทราบ เข้าใจ และตระหนักถึงอันตรายที่มีอยู่หรือซ่อนเร้นอยู่ในงานที่ทำ ลดพฤติกรรมเสี่ยง ยอมรับและปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย รวมถึงปลูกฝังให้มีการระมัดระวังและเตรียมพร้อมในการทำงานมากขึ้น

          3.  พัฒนาการสื่อสาร ทัศนคติ และความร่วมมือในการทำงานระหว่างหัวหน้างานและผู้ปฏิบัติงานให้มากขึ้น

          4.ใช้เป็นข้อมูลที่ช่วยในการปฐมนิเทศหรือฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงเป็นแนวทางสำหรับการทำงานที่ไม่ใช่งานประจำ (Infrequent jobs) เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

          5. ใช้เป็นฐานข้อมูลที่ช่วยในการตรวจสอบ (Inspections) หรือสังเกตการณ์ (Observations) รวมถึงการสืบสวนเหตุการณ์ (Incident Investigations) ที่เกิดขึ้น

          6. พัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการขาดงาน การจ่ายเงินค่าทดแทน ลดค่าเสียหายของทรัพย์สินและเวลา รวมถึงนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตได้อีกด้วย

          7.  สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนงาน และเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการสำหรับงาน/โครงการที่กำหนดขึ้นมา

ขั้นตอนในการวิเคราะห์อันตรายในงาน 
          1.   คัดเลือกผู้วิเคราะห์งาน
          2.   เลือกงานที่จะวิเคราะห์
          3.   ดำเนินการวิเคราะห์
                 3.1 แบ่งแยกงานที่วิเคราะห์ออกเป็นขั้นตอนการทำงานตามลำดับ
                 3.2 ค้นหาหรือแจกแจงอันตรายที่มีอยู่หรือซ่อนเร้นในแต่ละขั้นตอนการทำงาน
                 3.3 ประเมินและเสนอแนะมาตรการป้องกันอันตราย หรือปรับปรุงแก้ไขในแต่ละขั้นตอนการทำงาน
          4.  เขียนคู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัย ซึ่งประมวลได้จากการวิเคราะห์อันตรายในงาน
          5.  นำไปปฏิบัติ
          6.  ประเมินประสิทธิภาพ
          7.  ทบทวนแก้ไข
          8.  ตรวจสอบเป็นระยะ

          การที่จะวิเคราะห์อันตรายในงานได้อย่างสำเร็จลุล่วงหรือมีประสิทธิภาพนั้น ผู้บริหารต้องแสดงเจตจำนงหรือพันธะสัญญา (Commitment) ที่แสดงให้เห็นว่าตระหนักและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน โดยมีเจตนาอย่างจริงใจที่จะดำเนินการพิจารณาข้อเสนอของทีมงานวิเคราะห์ ฯ ในการป้องกันอันตรายทุกประเภทที่แจกแจงได้จากการวิเคราะห์อันตรายในงาน และพร้อมที่จะสนับสนุนบุคลากร เวลา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการปรับปรุงงาน เพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้นและเป็นไปอย่างราบรื่น

มิเช่นนั้นแล้ว ข้อมูลจากการวิเคราะห์อันตรายในงานก็จะเป็นเพียงแค่เศษกระดาษแผ่นหนึ่ง รวมทั้งผู้บริหารก็จะเสียความน่าเชื่อถือ และผู้ปฏิบัติงานเองก็จะลังเลใจ ไม่กล้าเข้าไปพบหรือให้ข้อมูลที่แท้จริงยามที่เกิดเหตุการณ์ เพราะคิดว่าเสียเวลาและป่วยการ อันจะส่งผลเสียให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากเรื่อยไปโดยไม่ทราบข้อเท็จจริง ซึ่งถือว่าเป็น “หายนะ” อย่างแท้จริง

แผนภูมิแสดงกระบวนการวิเคราะห์อันตรายในงาน


ขั้นตอนที่ 1 คัดเลือกผู้วิเคราะห์งาน
          เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุด และมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จในการวิเคราะห์อันตรายในงาน ผู้ที่ถูกคัดเลือกหรือมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ ควรเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย หรืออย่างน้อยต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัยมาก่อน

นอกจากนี้ควรมีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดีในระบบงาน กระบวนการหรือขั้นตอนในการทำงาน และรู้การทำงานของเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งคุณสมบัติตามที่กล่าวมานี้ จะมีส่วนช่วยให้ผู้วิเคราะห์สามารถค้นหาหรือแจกแจงอันตรายที่มีอยู่หรือซ่อนเร้นในงานที่ทำได้ และสามารถที่จะประเมินพร้อมเสนอแนะมาตรการในการป้องกันอันตรายเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม

โดยทั่วไปแล้ว จะใช้การจัดตั้งเป็นทีมงานวิเคราะห์ ฯ ขึ้นมา อาจประกอบไปด้วย วิศวกรโรงงาน วิศวกรซ่อมบำรุง วิศวกรฝ่ายผลิตวิศวกรความปลอดภัย หัวหน้าแผนกงาน และ/หรือผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานหรือมีความเหมาะสมในแผนกงานนั้น ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานเป็นผู้ประสานงานอย่างใกล้ชิด ข้อดีของการมีผู้วิเคราะห์งานหลายคน คือ จะมีส่วนช่วยในแง่ของความรอบคอบในการวิเคราะห์ รวมถึงการรับรู้ ยอมรับและเชื่อมั่นในผลของการวิเคราะห์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขั้นตอนที่ 2 เลือกงานที่จะวิเคราะห์
          โดยหลักการแล้วงานทุกงานควรที่จะได้รับการวิเคราะห์อันตรายในงาน ไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานที่มีลักษณะพิเศษ (Special Tasks) เพื่อที่จะได้จัดทำเป็นคู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัย (Safety Standard Operating Procedure: SSOP)

แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ระยะเวลา บุคลากร งานเร่งด่วน ความยุ่งยากสลับซับซ้อน เป็นต้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้การเลือกงานเป็นบางงานมาทำการวิเคราะห์ โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกงานที่จะนำมาวิเคราะห์เรียงตามลำดับ (Priority) ของระดับอันตรายและความสำคัญ ดังนี้ คือ

          * งานที่มีสถิติหรือรายงานที่แสดงให้เห็นถึงอัตราการได้รับบาดเจ็บ พิการ ตาย หรือเจ็บป่วยสูงที่สุด โดยพิจารณาจากความถี่ของอุบัติเหตุและความรุนแรงของผลที่ตามมา

          * งานที่หวุดหวิดหรือเกือบที่จะเกิดอุบัติเหตุ (Close Calls/Near Miss) ซึ่งหมายถึงงานที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นแต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

          * งานที่มีโอกาสหรือความน่าจะเป็นที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ ตาย หรือเจ็บป่วย แม้ว่าจะไม่เคยมีประวัติมาก่อนหน้านี้ก็ตาม โดยพิจารณาจากองค์ประกอบของงาน เช่น ลักษณะงาน วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ แล้วประเมินความเสี่ยง (Risks) ของโอกาสการเกิดอุบัติเหตุออกมาว่ามากน้อยเพียงไรในแต่ละงาน

          * งานใหม่

          * งานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการ (Process) หรือขั้นตอนการทำงาน (Procedure) หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องมือ และอุปกรณ์ในการทำงาน

          * งานไม่ประจำ (Infrequent jobs) หรืองานพิเศษ

ขั้นตอนที่ 3 ดำเนินการวิเคราะห์
          3.1 แบ่งแยกงานที่วิเคราะห์ออกเป็นขั้นตอนการทำงานเรียงตามลำดับ 
          เมื่อคัดเลือกงานและมีทีมงานที่จะทำการวิเคราะห์แล้ว ขั้นตอนต่อไป ให้ปฏิบัติตามรายละเอียด ดังต่อไปนี้

          * ทีมงานวิเคราะห์ ฯ ต้องเข้าไปชี้แจง ทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานนั้น ๆ ก่อน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้นได้รับทราบและให้ความร่วมมือ โดยให้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ และความจำเป็นที่ต้องกระทำการวิเคราะห์งานว่าเป็นการศึกษาเพื่อให้ทราบถึงอันตราย สาเหตุพื้นฐาน เพื่อขจัดหรือควบคุมอันตรายเหล่านั้น มิใช่เป็นการเฝ้าสังเกตเพื่อจับผิดพนักงาน โดยทีมงานควรคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานอาจจะหนึ่งคนหรือหลายคนที่มีประสบการณ์พอสมควร และสามารถทำงานจนสำเร็จลุล่วงตลอดขั้นตอนการทำงานในงานที่เลือกไว้ มาเป็นบุคคลเป้าหมายที่จะถูกใช้ในการเฝ้าสังเกตของทีมงานเพื่อให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานของบุคคลเหล่านี้ 

          * ทีมงานเฝ้าสังเกตวิธีปฏิบัติงานที่แท้จริง (Actually Perform) และสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ กับผู้ปฏิบัติงานที่เลือกไว้นั้น และทำการจดบันทึกรายละเอียดการทำงาน อาจมีความจำเป็นที่ต้องถ่ายรูปหรือถ่ายวีดีโอไว้เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และอ้างอิง (โดยเฉพาะในงานที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก)

          * นำรายละเอียดวิธีการทำงานมาจัดเรียงเป็นขั้นตอนการทำงานตามลำดับ (Sequence of Job Steps) แล้วนำไปตรวจสอบความถูกต้องกับผู้ที่ถูกสังเกตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น เช่น หัวหน้างาน รองหัวหน้างาน (ถ้าทั้งสองไม่อยู่ในทีมงานวิเคราะห์ ฯ) และผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ เพื่อที่จะได้แน่ใจว่าการแบ่งและจัดเรียงลำดับขั้นตอนการทำงานนั้นถูกต้องและข้อมูลครบถ้วนไม่ขาดหาย

บางครั้งอาจมีข้อเสนอแนะบางอย่างที่เป็นประโยชน์จากผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ ที่ไม่ถูกสังเกตแต่ทำงานในลักษณะเดียวกัน ก็ควรมีการพิจารณาเพิ่มเติมหรือปรับปรุงจนได้เป็นขั้นตอนการทำงานที่สมบูรณ์และเรียงลำดับอย่างถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

          ข้อแนะนำ 
          -  ไม่ควรที่จะแบ่งแยกขั้นตอนการทำงานนั้น ๆ แบบละเอียดแยกย่อย หรือหยาบจนเกินไป เพราะจะทำให้จับประเด็นได้ยาก ไม่เหมาะสมในการนำไปใช้งานจริง โดยทั่วไปแล้วไม่ควรจะเกิน 10 ขั้นตอน ถ้ามากกว่านั้น ก็อาจต้องรวมขั้นตอนเข้าด้วยกันบ้าง หรือแบ่งเป็นงานย่อยออกมา 2–3 ส่วน แล้วแยกวิเคราะห์

          -  ข้อสำคัญต้องมีการจัดเรียงลำดับขั้นตอนการทำงานให้ถูกต้องและครบวงจรการทำงาน มิฉะนั้นแล้วอาจทำให้ข้อมูลผิดพลาดและอันตรายบางส่วนอาจถูกมองข้ามหรือหาไม่พบก็เป็นไปได้

          -  การตรวจสอบโดยการเฝ้าสังเกตนั้นเป็นการค้นหาความจริง (Fact–finding) ไม่ใช่การจับผิด (Fault–finding) แต่ต้องคงไว้ซึ่งจุดประสงค์ เป้าหมาย และรักษาจุดยืน/ทัศนคติ ของทีมงานวิเคราะห์ ฯ ว่าจะต้องคงเส้นคงวา (Firm) เป็นมิตร (Friendly) และยุติธรรม (Fair) เพราะหัวใจสำคัญของการได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นจริง คือ การได้รับความร่วมมือหรือและมีแรงต่อต้านจากผู้ปฏิบัติงานน้อยที่สุด

          -  ถ้าใช้การสอบถาม อาจจะเริ่มจากคำถามที่ว่า “อะไรเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำในการทำงานนี้ ?” คำถามต่อมา “แล้วทำอะไรต่อไป” และ …จนกระทั่งงานสำเร็จ 

          -  การจดบันทึกข้อมูลลงในแบบฟอร์มวิเคราะห์ ฯ ควรใช้ข้อความที่สั้น ไม่ฟุ่มเฟือย ได้ใจความ เข้าใจง่าย แต่คงไว้ซึ่งรายละเอียดที่สำคัญ

          -  ในระหว่างการตรวจสอบอาจได้รับข้อร้องเรียน หรือร้องขอต่าง ๆ จากผู้ปฏิบัติงาน เช่น ขออุปกรณ์ใหม่ การทำงานที่หนักเกินไป ควรรับไว้พิจารณาแต่อย่ารับปากโดยทันทีหรือให้คำมั่นสัญญา เพราะจะเป็นการผูกมัดตัวเอง ถ้าทำไม่ได้จริงจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการวิเคราะห์ ฯ ครั้งต่อไป
 
          3.2 การค้นหาหรือแจกแจงอันตรายที่มีอยู่หรือซ่อนเร้นในแต่ละขั้นตอนการทำงาน  
          มีรายละเอียดดังนี้ คือ
          * สำรวจดูสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปของงานนั้น ๆ รวมถึงแหล่งพลังงานที่อาจมีผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานตลอดจนทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น สถานที่ปฏิบัติงาน แสงสว่าง ระบบระบายอากาศ ระดับเสียง เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ การปนเปื้อนในอากาศ อุณหภูมิ วัสดุไวไฟ/ระเบิด ระบบเตือนภัย สารกัมมันตรังสี เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ลักษณะพื้นที่งาน ความสะอาด เครื่องป้องกันอันตรายเครื่องจักร (Machine Safeguard) ระบบไฟฟ้า สารเคมี สารพิษ เชื้อโรค จุลินทรีย์ เป็นต้น ว่ามีปัจจัยใดที่ไม่เอื้ออำนวยหรือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน หรือคาดว่าจะมีส่วนก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน

ซึ่งบางส่วนอาจไม่ใช่องค์ประกอบโดยตรงของงานที่จะตรวจสอบ แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายในระหว่างงานได้ เช่น พื้นที่ทำงานที่สกปรก เลอะเทอะ มีของวางระเกะระกะ อาจทำให้เกิดการสะดุด ลื่นล้มจากการเดินเข้า/ออกจากพื้นที่งานได้ โดยในการสำรวจอาจใช้การจดบันทึกไว้ด้านหลังของแบบฟอร์มวิเคราะห์ก็ได้ และไม่ควรมองข้ามจุดนี้ไป ควรนำมาพิจารณาแก้ไขไปพร้อม ๆ กันด้วย 

          * เฝ้าสังเกตวิธีการทำงาน พฤติกรรม และท่าทางในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนการทำงานตามลำดับ เพื่อค้นหาหรือแจกแจงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น (Potential Hazards) ในแต่ละขั้นตอน พร้อมทั้งมีการจดบันทึกรายละเอียดไว้ ควรสังเกตการทำงานในช่วงระยะเวลาและสถานที่ตามจริง เช่น งานที่ทำเป็นประจำในเวลากลางคืนก็ควรสังเกตในเวลากลางคืน อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ก็ควรเป็นของที่ใช้กันตามปกติ บางทีก็ต้องคิดหาอันตรายจากเครื่องจักรในสภาพที่ไม่มีเครื่องป้องกัน ทั้ง ๆ ที่ความจริงมีเครื่องป้องกันอยู่  

                    - กรณีงานที่กระทำซ้ำ ๆ (Repetitive) ควรสังเกตจนครบวงจรการทำงาน (Work Cycles) 

                    - กรณีงานใหม่ ซึ่งยังขาดประสบการณ์ในการทำงานนั้น อันตรายต่าง ๆ มักไม่ปรากฏเป็นหลักฐานหรือคาดเดาได้ยาก ดังนั้นอาจต้องใช้วิธีจำลองการทำงาน หรือใช้หัวหน้างาน/ผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์แจกแจงหรือคาดการณ์ถึงอันตรายที่อาจพบเจอ 

                    - บางครั้งทีมงานวิเคราะห์ ฯ อาจต้องใช้การสัมภาษณ์ร่วมกับการสังเกตผู้ปฏิบัติงาน แต่ต้องมั่นใจว่าไม่ขัดขวางการทำงาน เพราะอาจทำให้เสียสมาธิเป็นเหตุให้เกิดอันตรายขึ้นได้

                    - ควรพิจารณาอันตรายที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการทำงานที่ผิดหลักเออร์โกโนมิก (Ergonomic) ด้วย

          * ใช้การทบทวนอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการทำงานนั้น ๆ เป็นข้อมูลพื้นฐานในการค้นหาอันตรายที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีก ทั้งนี้ควรเน้นการพิจารณาอันตรายจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันจะเป็นการดีที่สุด 

          * เขียนหรือจดบันทึกอันตรายที่แจกแจงมาแล้วทั้งหมด ทั้งที่ทราบหรือมีอยู่และที่คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดขึ้นในแต่ละลำดับขั้นตอนการทำงาน เสร็จแล้วนำมาประชุมปรึกษาในกลุ่มทีมงานวิเคราะห์ ฯ ควรมีการตรวจทานพร้อมรับคำเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง แล้วปรับปรุงให้ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

           หมายเหตุ    
          -  การเฝ้าสังเกตผู้ปฏิบัติงานเพื่อค้นหาหรือแจกแจงอันตรายในแต่ละขั้นตอนการทำงานนั้น บางครั้งอาจมีความจำเป็นที่ต้องทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เพื่อที่จะได้สามารถค้นหาและทราบถึงอันตรายที่มีอยู่หรือซ่อนเร้นได้ทั้งหมด

           -  ในการค้นหาหรือแจกแจงอันตราย ควรมีคำถามหลักในใจว่า “เกิดขึ้นบริเวนใด ใครหรือสิ่งใดที่สัมผัสกับอันตรายนั้น อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเช่นไร มีสาเหตุปัจจัยร่วมอย่างอื่นไหม เกิดขึ้นได้อย่างไร ข้อผิดพลาดคืออะไร แนวโน้มที่จะเกิดอันตรายเป็นอย่างไร”

          -  การค้นหาหรือแจกแจงอันตรายในแต่ละขั้นตอนการทำงาน มีข้อมูล 2 อย่างที่ควรจดบันทึก คือ ตัวอันตรายเอง และสิ่งที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บ พึงระลึกไว้ว่า อันตรายเพียงลำพังจะไม่ก่อให้เกิดการได้รับบาดเจ็บ การพิจารณาสิ่งที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บจะช่วยในการแจกแจงปฏิบัติการหรือการกระทำที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ในหลาย ๆ ครั้งพบว่า อันตรายอย่างหนึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาได้หลายอย่างโดยเฉพาะเมื่อมีสาเหตุปัจจัยร่วมหลายประการ

          -  ควรทำการจดบันทึกข้อมูลที่ได้ทันที เพื่อความถูกต้องและป้องกันการหลงลืมบางสิ่งในภายหลัง

          -  เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ให้พร้อม เพราะในบางครั้งไม่อาจใช้ประสาทสัมผัส (Sense) ได้ เช่น การตรวจสอบระดับความเข้มข้นในการสัมผัสกับสารเคมี เสียง รังสี หรือเชื้อโรค เป็นต้น รวมถึงอุปกรณ์พิเศษบางชนิดที่มีความจำเป็นต่อการวิเคราะห์อันตรายในเชิงลึก (In–depth Hazard Analysis)

          -  อาจมีความจำเป็นต้องใช้การถ่ายรูปหรือวีดีโอเพื่อการศึกษาและอ้างอิง (โดยเฉพาะงานที่มีความละเอียดค่อนข้างมาก)

          3.3 ประเมินและเสนอแนะมาตรการป้องกันอันตรายหรือปรับปรุงแก้ไขในแต่ละขั้นตอนการทำงาน
          เมื่อได้ทำการแบ่งแยกงาน และค้นหาหรือแจกแจงอันตรายที่มีอยู่ หรือซ่อนเร้นในแต่ละขั้นตอนการทำงานเรียงตามลำดับอย่างถูกต้องแล้ว ทีมงานวิเคราะห์ ฯ ก็จะนำข้อมูลลักษณะอันตรายต่าง ๆ ที่ได้แจกแจงแล้วทั้งหมดมาประเมินว่าอันตรายประเภทนั้น ๆ ควรที่จะเลือกใช้มาตรการใดในการป้องกัน

และ/หรือควรที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขวิธีปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนการทำงาน หรือมีความจำเป็นในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงานเสียใหม่ให้มีความถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัยเพียงพอ เพื่อที่จะได้สร้างความมั่นใจและเป็นที่ยอมรับของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น ๆ รวมถึงเข้าใจถึงเหตุผลที่เลือกดำเนินการป้องกันอันตรายโดยมาตรการนั้น ๆ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของทีมงานวิเคราะห์ ฯ

แนวทางในการพิจารณาเลือกใช้มาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันอันตราย (Preventative Measures)
          ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สาเหตุหรือปัจจัยพื้นฐานที่มีส่วนก่อให้เกิดอันตรายและนำมาซึ่งอุบัติเหตุนั้น จะมีส่วนสัมพันธ์กัน ดังนี้ 
          1. แหล่งพลังงานและอุปกรณ์เทคนิค เช่น เครื่องจักร ไฟฟ้า ความร้อน สารกัมมันตรังสี ฯลฯ
          2. ตัวผู้ปฏิบัติงาน เช่น พฤติกรรม ประสบการณ์ สรีระ สภาพจิตใจ แรงจูงใจ และทัศนคติ
          3. สภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ความสะอาด แสงสว่าง คุณภาพอากาศ ฯลฯ
          4. ระบบบริหารจัดการความปลอดภัย เช่น การออกแบบงาน วิธีการปฏิบัติงาน การฝึกอบรม ฯลฯ

          ดังนั้นเมื่อทราบถึงลักษณะอันตรายตามที่ได้ค้นหาหรือแจกแจงไว้แล้ว ก็ควรพิจารณาด้วยว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยใด เพื่อที่จะได้เลือกใช้มาตรการที่มีความเหมาะสมในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น

หลักการทั่วไปในการป้องกันอันตราย
          * ควบคุมที่แหล่งกำเนิด (Source) คือ การควบคุมที่ต้นตอหรือแหล่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน เช่น แหล่งพลังงาน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ จัดว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

          * ควบคุมที่ทางผ่าน (Path) คือ การควบคุมที่ทางผ่านของอันตรายจากแหล่งกำเนิดไปสู่ตัวผู้ปฏิบัติงาน เช่น ระบบระบายอากาศ ฯลฯ

          * ควบคุมที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน (Worker) คือ การป้องกันอันตรายที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน เช่น อุปกรณ์ป้องกันอันตรายประเภทต่าง ๆ

ลำดับขั้นของมาตรการในการป้องกันอันตราย
          * การขจัด (Elimination) คือ การเคลื่อนย้ายอันตรายหรืองานที่มีอันตรายออกจากสถานที่ปฏิบัติงาน จัดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด

          * การแทนที่ (Substitution) คือ การแทนที่หรือเปลี่ยนการปฏิบัติงานให้มีอันตรายน้อยลง เช่น การใช้สารเคมีที่อันตรายน้อยกว่าสารเดิมที่ใช้อยู่

          * การแยกส่วน (Isolation) คือ การกันหรือแยกส่วนการปฏิบัติงานอันตรายออกจากพื้นที่งานทั่วไป เช่น ติดตั้งเครื่องกั้นหรือฉากกั้น

          * การควบคุมเชิงวิศวกรรม (Engineering Control) คือ การปรับปรุงเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้งาน ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น ติดตั้งเครื่องป้องกันอันตรายเครื่องจักร (Machine Safeguard) หรือติดตั้งระบบดูดอากาศเฉพาะแห่ง (Local Exhaust)/ระบบระบายอากาศทั่วไป (General Ventilation) เป็นต้น

          * การควบคุมเชิงบริหารจัดการ (Administration Control) เช่น การหมุนเวียนงาน จำกัดจำนวน/ระยะเวลาและความถี่ในการสัมผัสอันตรายของผู้ปฏิบัติงาน การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน การเปลี่ยนวิธีหรือขั้นตอนการปฏิบัติงาน ระบบคู่หู (Buddy System)

          * การใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด และเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เลือกใช้เมื่อมาตรการต่าง ๆ ในลำดับข้างต้นไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริง หรืออาจใช้เป็นมาตรการชั่วคราว (Interim Control Measures) จนกว่ามาตรการอื่นที่ดีกว่าจะถูกนำมาใช้งานแทน หรือใช้ในระหว่างการเกิดเหตุฉุกเฉิน 

          หมายเหตุ  
          - ทีมงานวิเคราะห์ ฯ ควรพินิจพิเคราะห์ด้วยความรอบคอบ ว่าควรเลือกใช้มาตรการหรือวิธีใด จึงจะความเหมาะสมในการจัดการ หรือป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนการทำงานตามที่ได้แจกแจงไว้แล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง และความเสี่ยงของการได้รับบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย

          - ในบางครั้งอาจใช้การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีหรือขั้นตอนการปฏิบัติงานเพียงเล็กน้อย ก็สามารถจัดการกับอันตรายในงานได้ แต่ในบางครั้งก็อาจจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงกันขนานใหญ่ หรือบางทีอาจใช้เพียงมาตรการเดียวแต่บางครั้งต้องใช้หลายมาตรการพร้อมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและเพียงพอต่อการป้องกันอันตรายตามที่แจกแจงได้

          - ทีมงานวิเคราะห์ ฯ ควรนำมาตรการหรือวิธีที่เลือกใช้ในการป้องกันอันตรายในแต่ละขั้นตอนการทำงานตามที่ได้แจกแจงไว้ มาปรึกษากับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบถามความคิดเห็น ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปและการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

          - มาตรการหรือวิธีการที่เลือกใช้ต้องดีกว่าการติดป้ายเตือน “โปรดใช้ความระมัดระวัง”

          - ในแต่ละมาตรการก็จะมีข้อจำกัดในการใช้งาน ดังนั้นจึงควรให้ความใส่ใจที่จะระบุหรือแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบด้วย

          - ในบางครั้งระหว่างกระบวนการวิเคราะห์งาน อาจพบว่าอันตรายที่แจกแจงได้นั้น สามารถที่จะแก้ไข/ป้องกันได้โดยง่าย หรือมีความจำเป็นต้องแก้ไขอย่างรีบด่วน ก็อาจพิจารณาเลือกใช้มาตรการป้องกันเร่งด่วนเพื่อใช้ชั่วคราวได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้เสร็จสิ้นกระบวนการวิเคราะห์งาน หลังจากนั้นจึงค่อยนำมาตรการถาวรมาใช้แทนหลังเสร็จสิ้นการวิเคราะห์ ฯ

          - ในการเริ่มกระบวนการวิเคราะห์อันตรายในงาน จะพบว่ามีการทบทวนข้อมูลหลายครั้งเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง อย่างไรก็ตามแม้ต้องเสียเวลาในการตรวจสอบหลายขั้นหลายตอนแต่ก็คุ้มค่ากับความสมบูรณ์ถูกต้อง และครบถ้วนของข้อมูลนั่นเอง

ขั้นตอนที่ 4 เขียนคู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัยที่ประมวลได้จากการวิเคราะห์อันตรายในงาน
          ทีมงานวิเคราะห์ ฯ ต้องนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากแบบฟอร์มการวิเคราะห์อันตรายในงานนั้น ๆ มาเขียนเป็นคู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัย (Safety Standard Operating Procedure: SSOP) ซึ่งจะระบุถึงลำดับขั้นตอน/วิธีปฏิบัติงานและวิธีการป้องกันอันตรายได้อย่างปลอดภัย โดยก่อนที่จะนำไปปฏิบัติจริงนั้น ต้องมีการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งใหม่และเก่าซึ่งดูแลรับผิดชอบงานนั้น ๆ ให้ได้รับทราบและมีความเข้าใจตรงกัน

รวมถึงยอมรับเหตุผลและความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ทีมงานวิเคราะห์ ฯ ได้กระทำและมีข้อสรุปจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนนำมาซึ่งคู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัย และมีผลบังคับให้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ปฏิบัติงานนั่นเอง

          หมายเหตุ 
          - คู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัยควรมีการระบุ/อ้างอิงลำดับเลขที่เอกสาร (Serial Number) ของแบบฟอร์มการวิเคราะห์อันตรายในงานคู่ฉบับและลำดับครั้งที่แก้ไข ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่าตรงกันและมีความสะดวกในยามที่ต้องมีการตรวจสอบ แก้ไขหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม

ขั้นตอนที่ 5 การนำไปปฏิบัติ
          เมื่อได้ฝึกอบรมเพื่อให้รับทราบและเข้าใจตรงกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องนำคู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัยที่ได้ไปใช้งานจริง ในขั้นตอนนี้จะต้องมีการเฝ้าสังเกตอีกครั้งหนึ่ง ว่าผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้กระทำตามที่ระบุไว้ในคู่มือหรือไม่ อย่างไร พร้อมทั้งมีการจดบันทึกผลการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนการทำงาน รวมทั้งอาจใช้ภาพถ่ายหรือภาพวีดีโอมาพิจารณาร่วมด้วย

ขั้นตอนที่ 6 ประเมินประสิทธิภาพ
          นำผลที่ได้ทั้งหมดจากการเฝ้าสังเกต จดบันทึก รวมถึงนำรูปถ่ายหรือวีดีโอทั้งหมดมาประเมินประสิทธิภาพในที่ประชุมทีมงานวิเคราะห์ ฯ โดยเปรียบเทียบผลระหว่างก่อนและหลังการวิเคราะห์ ฯ แล้วพิจารณาดูว่าผู้ปฏิบัติงานได้กระทำตามที่คู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัยได้เขียนไว้ครบทุกขั้นตอนหรือไม่ ถ้าผลที่ออกมาตรงตามที่คาดหวังไว้ คือ สามารถที่จะลดความเสี่ยงที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับอันตรายจากงานในระดับที่ยอมรับได้ ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ

แต่ถ้ามีสิ่งใดที่ผิดเพี้ยนหรือไม่ตรงตามวิธีปฏิบัติที่วางไว้ ก็ต้องสอบถามผู้ปฏิบัติงานถึงเหตุผลที่ต้องทำอย่างนั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่สามารถใช้งานได้จริง หรือมาตรการป้องกันที่ใช้อาจไม่เหมาะสมก็เป็นได้ หรือว่าผลออกมาแล้วไม่เป็นที่น่าพอใจหรือไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งสองกรณีนี้ก็จำเป็นที่ต้องมีการทบทวนแก้ไขใหม่ให้มีความเหมาะสมต่อไป

          หมายเหตุ  
          - ในบางครั้งทีมงานวิเคราะห์ ฯ อาจต้องใช้เวลาพอสมควรสำหรับปฏิกิริยาตอบสนอง (Feedback) หรือผลตอบรับของผู้ปฏิบัติงานจากการนำไปใช้งาน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับรายงานว่าผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้มีการพิจารณาทบทวนข้อแนะนำต่าง ๆ เช่น อุปสรรคหรือข้อจำกัดต่าง ๆ อันจะช่วยในการระบุถึงแนวโน้มสำหรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา

ขั้นตอนที่ 7 ทบทวนแก้ไข
          เมื่อมีการนำคู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัยที่ได้จากการวิเคราะห์อันตรายในงานไปใช้งานจริง แล้วปรากฏว่าไม่ได้ผลตามที่คาดหวังไว้ ก็เป็นหน้าที่ของทีมงานวิเคราะห์ ฯ ที่จะต้องมาระดมสมอง พินิจพิเคราะห์ว่าเป็นเพราะสาเหตุใดแน่ ถ้าเป็นเพราะข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นผิดเพี้ยนหรือไม่เพียงพอ หรือการค้นหา/แจกแจงอันตรายยังไม่ครบถ้วนหรือตรงจุด ก็ต้องเข้ากระบวนการวิเคราะห์ ฯ ใหม่อีกครั้ง

แต่ถ้าเป็นเพราะวิธีปฏิบัติงานหรือมาตรการป้องกันไม่เหมาะสมหรือไม่เพียงพอก็ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมเข้าไป เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็เขียนคู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัยฉบับแก้ไขใหม่ แล้วนำไปปฏิบัติจริงอีกครั้ง

ถ้าผลที่ได้เป็นที่พอใจหรือยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ถือว่าการทบทวนแก้ไขนั้นประสบผลสำเร็จ แต่ถ้าไม่เป็นที่พึงพอใจแม้จะดำเนินการแก้ไขด้วยมาตรการต่าง ๆ แล้วก็ตาม กรณีนี้ก็ต้องนำเสนอบอร์ดบริหารเพื่อบอกถึงเหตุผลว่ามีความจำเป็นที่ต้องลดความถี่ในการทำงานนั้น ๆ ลงให้มากที่สุด หรือยกเลิกการทำงานนั้นเสียเพราะผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย

ขั้นตอนที่ 8 ตรวจสอบเป็นระยะ
          เมื่อมีการนำคู่มือมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัยที่ได้จากการวิเคราะห์อันตรายในงานไปปฏิบัติจริงแล้ว ก็ควรมีการติดตามวัดผล เพื่อดูประสิทธิภาพอยู่เสมอ โดยใช้การตรวจสอบเป็นระยะ ๆ และจดบันทึกผลที่ได้ไว้ทุกครั้ง เพื่อใช้ในการอ้างอิงและเปรียบเทียบ

          หมายเหตุ 
          - เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าประสิทธิภาพด้อยลง ก็ต้องมีการวิเคราะห์ ฯ ใหม่ หรือเมื่อท่าทีของผู้ปฏิบัติงานย่อหย่อนลง ก็ต้องมีการฝึกอบรมใหม่ ซึ่งการตรวจสอบอยู่เป็นระยะ ๆ นี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการป้องกันอันตรายที่ดี

          - ควรมีการวิเคราะห์อันตรายในงานทุกครั้ง เมื่อมีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ หรือหวุดหวิดที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือมีการเปลี่ยนแปลง/ปรับปรุงใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ วัตถุดิบ กระบวนการ/งานที่ทำอยู่ หรือสิ่งแวดล้อมในการทำงานเปลี่ยน หรือเริ่มงานใหม่/งานไม่ประจำ รวมถึงการตรวจพบอันตรายใหม่ ๆ นอกจากนี้ควรใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้ให้คุ้มค่า โดยใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการตรวจสอบหรือสอบสวนเหตุการณ์/อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และใช้เป็นแนวทางในการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานทั้งเก่าและใหม่ รวมถึงใช้ในการซักซ้อม/ย้ำเตือนความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติงานก่อนเริ่มงานจริงทุกวัน (โดยเฉพาะงานที่มีความเสี่ยงสูง)

          - การตรวจสอบเป็นระยะ ๆ จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าได้สะท้อนข้อมูลตามความเป็นจริงของสถานการณ์ความปลอดภัยในปัจจุบัน และแม้ว่างานนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลยก็ตาม แต่ก็เป็นไปได้ที่อาจตรวจเจออันตรายที่ถูกมองข้ามไปในการวิเคราะห์ ฯ ก่อนหน้านี้

          - ควรเก็บบันทึกข้อมูล (Record Keeping) ที่ได้จากการวิเคราะห์อันตรายในงานไว้ทุกครั้ง เพื่อช่วยย้ำเตือนความจำและเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ ฯ ครั้งต่อไป

          - ไม่ควรหยุดนิ่งในการพัฒนากระบวนการวิเคราะห์อันตรายในงาน หรือไว้วางใจในมาตรการที่ใช้จนเกินไป และควรกระตุ้นเตือนผู้ปฏิบัติงานให้รีบรายงานทันทีที่พบเจอสิ่งผิดปกติในระหว่างการทำงานทุกครั้ง

ตัวอย่างแบบฟอร์มการวิเคราะห์อันตรายในงาน 

เอกสารอ้างอิง
          1. Job Hazard Analysis, U.S.Department of Labor, Occupational Safety and Health Administration (OSHA) .2002

          2. Job Hazard Analysis, Canada‘s National Occupational Health & Safety Resource (CCOHS) .1998
     

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด