เนื้อหาวันที่ : 2011-11-25 10:00:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7229 views

แนวคิดและการจำแนกต้นทุน (ตอนที่ 4)

การจำแนกต้นทุนตามหน้าที่เป็นการจำแนกต้นทุนโดยการพิจารณาว่ามูลค่าต้นทุนที่เกิดขึ้นแต่ละรายการนั้นได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหน้าที่งานใดขององค์กร

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

การจำแนกต้นทุนตามหน้าที่
          การจำแนกต้นทุนตามหน้าที่เป็นการจำแนกต้นทุนโดยการพิจารณาว่ามูลค่าต้นทุนที่เกิดขึ้นแต่ละรายการนั้นได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหน้าที่งานใดขององค์กร (หน้าที่การผลิต หน้าที่การขายหรือการบริหาร) การจำแนกหน้าที่งานในองค์กรหนึ่ง ๆ นั้นมีหลายหน้าที่งาน และแต่ละหน้าที่งานต่างก็ล้วนแต่มีต้นทุนในการดำเนินงานของส่วนงานด้วยกันทั้งสิ้น

ในการวัดค่าผลกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานมักจะทำการจำแนกประเภทค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในองค์กรออกเป็น ต้นทุนในหน้าที่การผลิต และต้นทุนในหน้าที่งานขายและการบริหารงาน ต้นทุนในหน้าที่การผลิตเป็นต้นทุนการผลิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปจำหน่าย ซึ่งมีความหมายรวมถึง วัตถุดิบทางตรง แรงงานทางตรง และต้นทุนการผลิตทางอ้อม (หรือค่าใช้จ่ายการผลิต ค่าใช้จ่ายโรงงาน)

ส่วนต้นทุนในส่วนของหน้าที่การขายและการบริหารงานจะถูกจัดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการนำไปจัดทำงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ หรืองบเฉพาะกำไรขาดทุน การจำแนกหน้าที่งานเป็นส่วนที่มีสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการจำแนกต้นทุนในลักษณะดังกล่าวจะเป็นโอกาสที่จะช่วยทำให้สามารถประเมินประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในแต่ละหน้าที่งานที่แตกต่างกันไป

การจำแนกต้นทุนตามความสัมพันธ์กับรอบเวลาบัญชี
          การจำแนกต้นทุนโดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์กับรอบเวลาบัญชี สามารถจำแนกต้นทุนเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ต้นทุนเพื่อการลงทุนและต้นทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ในรอบเวลาบัญชี

          ต้นทุนเพื่อการลงทุน หรือรายจ่ายเพื่อการลงทุนจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในรอบระยะเวลาบัญชีอนาคตและรายการต้นทุนในลักษณะนี้จะถูกจัดประเภทเป็นสินทรัพย์ส่วนต้นทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ในรอบเวลาบัญชีถูกสมมติว่าเงินที่จ่ายไป หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน

และรายการต้นทุนในลักษณะนี้ถูกจัดประเภทให้เป็นค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามต้นทุนเพื่อการลงทุน หรือรายจ่ายเพื่อการลงทุนจะทยอยตัด หรือรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกันเมื่อสินทรัพย์ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ สึกหรอ หรือเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา

          ความแตกต่างที่เป็นประเด็นสำคัญระหว่างต้นทุนเพื่อการลงทุนและต้นทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ในรอบเวลาบัญชี ได้แก่ ความเหมาะสมของการรับรู้รายการต้นทุนที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมกับการรับรู้ผลประโยชน์ที่ได้รับให้อยู่ในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการวัดมูลค่าผลการดำเนินงานในแต่ละรอบเวลาบัญชี

การจำแนกต้นทุนเพื่อการวางแผนและการตัดสินใจ
          การจำแนกต้นทุนโดยพิจารณาถึงการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการวางแผนงานและการตัดสินใจ สามารถทำการจำแนกต้นทุนออกเป็นต้นทุนเสียโอกาส ต้นทุนจม ต้นทุนที่เกี่ยวข้อง ต้นทุนที่แตกต่าง 

* ต้นทุนเสียโอกาส
          ต้นทุนเสียโอกาสเป็นต้นทุนของโอกาสที่สูญเสียไป ต้นทุนเสียโอกาสจะเกิดขึ้นเมื่อได้ตัดสินใจเลือกที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจากทางเลือกต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ต้นทุนเสียโอกาสจึงเป็นผลประโยชน์ที่สูญเสียไปจากการละทิ้งทางเลือกอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุด โดยปกติแล้วผลประโยชน์ที่สูญเสียไปเป็นกำไรสุทธิ หรือผลกำไรที่อาจจะได้รับจากการละทิ้งทางเลือกอื่นออกไป

ตัวอย่างของต้นทุนเสียโอกาส เช่น กิจการอุตสาหกรรมที่สามารถขายผลผลิตกึ่งสำเร็จรูปที่ได้จากกิจกิจกรรมการผลิต ณ จุดใด จุดหนึ่งออกไปได้ แต่เลือกที่จะยังไม่ขาย จึงทำการผลิตผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปจนกระทั่งได้เป็นสินค้าสำเร็จรูปจึงขาย ต้นทุนเสียโอกาสจึงเท่ากับมูลค่าขายที่มีโอกาสจะได้รับจากการขายผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปแต่เลือกไม่ขาย

ในทำนองเดียวกัน กิจการที่ตัดสินใจนำเงินทุนมาลงทุนสร้างอาคาร โรงงาน หรือลงทุนในสินค้าคงเหลือ แทนที่จะเลือกรับดอกเบี้ย หรือรับเงินปันผลจากการนำเงินทุนจำนวนเดียวกันนั้นไปลงทุนในหุ้นกู้หรือหุ้นทุน

การตัดสินใจเลือกใช้เงินทุนเพื่อการลงทุนในครั้งนี้ มีต้นทุนเสียโอกาสเกิดขึ้นเท่ากับดอกเบี้ยรับหรือเงินปันผลที่ได้ละทิ้งไป หรือการที่เลือกใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เพื่อการผลิตสินค้าจำหน่ายเอง แทนที่จะใช้เครื่องจักรเครื่องเดียวกันนั้นผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อที่ลูกค้าต้องการ การตัดสินใจในกรณีนี้จะมีต้นทุนเสียโอกาสเกิดขึ้นเท่ากับรายได้ที่พึงจะได้รับจากการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า

          ต้นทุนเสียโอกาสเป็นต้นทุนที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจและการประเมินค่าทางเลือก การตัดสินใจเพื่อเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดโดยการใช้แนวคิดต้นทุนเสียโอกาสประกอบการพิจารณา แต่มูลค่าต้นทุนเสียโอกาสที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจนั้นเป็นรายการต้นทุนที่ไม่ได้ถูกจดบันทึกเพื่อรับรู้ต้นทุนที่เกี่ยวข้องตามระบบบัญชีที่ใช้กันทั่วไปตามมาตรฐานการบัญชี หรือหลักการบัญชีที่ยอมรับโดยทั่วไป

* ต้นทุนจม
          ต้นทุนจมเป็นต้นทุนที่ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยปกติทั่วไปจะรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นทุนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นสิ่งได้เกิดขึ้นแล้วในอดีตจึงไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้อีก ต้นทุนเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการตัดสินใจกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดในอดีตแล้วและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ณ วันที่จะทำการตัดสินใจในอนาคต

ตัวอย่างรายการต้นทุนจม เช่น มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น อาคาร โรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ สินค้าคงเหลือ เงินลงทุนในหลักทรัพย์ ยกเว้นผลกำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ดังกล่าวออกไป มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์เป็นต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจไม่ว่าจะจำหน่ายสินทรัพย์ หรือจะยังคงใช้สินทรัพย์เหล่านั้นต่อไป

          บางครั้งจะมีข้อโต้แย้งว่าต้นทุนรวมทั้งสิ้นของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่มีตัวตน (สินทรัพย์ถาวร) ไม่ใช่ต้นทุนจม แต่ต้นทุนจมเป็นส่วนต่างระหว่างราคาซื้อของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่มีตัวตนกับมูลค่าที่รับรู้ได้จากการขาย ตัวอย่างเช่น โรงงานหลังหนึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 2,000,000 บาท และมูลค่าที่เหลือเท่ากับ 100,000 บาท ดังนั้นต้นทุนจมจึงมีค่าเท่ากับ 1,900,000 ไม่ใช่ 100,000 บาท ดังนั้นต้นทุนจมจึงเป็นส่วนที่มีความแตกต่างกันระหว่างมูลค่าตามบัญชีกับมูลค่าที่เหลือนั่นเอง

* ต้นทุนที่เกี่ยวข้อง
          ต้นทุนที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งจะมีมูลค่าที่แตกต่างกันไปในระหว่างทางเลือก ต้นทุนที่เกี่ยวข้องเป็นต้นทุนที่สามารถอธิบาย หรือบอกได้ว่ารายการต้นทุนนั้นจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจได้อย่างไร ในทางตรงกันข้ามต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นต้นทุนที่ยังคงมีจำนวนเท่าเดิมและไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจไม่ว่าจะเลือกกระทำสิ่งใดก็ตาม ต้นทุนที่เกี่ยวข้องเป็นต้นทุนที่มีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ

          1. ต้นทุนที่เกี่ยวข้องเป็นต้นทุนในอนาคตเท่านั้น ต้นทุนเหล่านี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงไม่ใช่ต้นทุนจมซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วและเปลี่ยนแปลงไม่ได้

          2. ต้นทุนที่เกี่ยวข้องเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือเป็นต้นทุนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้นทุนส่วนต่างจะเป็นต้นทุนที่ถูกกล่าวถึงในกรณีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในระหว่างทางเลือก ต้นทุนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้นี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าตัดสินใจเลือกทำการตัดสินใจในอีกทางหนึ่ง

          ตัวอย่างรายการต้นทุนที่เกี่ยวข้อง เช่น กิจการแห่งหนึ่งซื้ออาคารสำนักงานมาหลังหนึ่งด้วยมูลค่า 1,000,000 บาท และมีมูลค่าที่เหลือในอนาคตประมาณ 100,000 บาท ต้นทุนของอาคารสำนักงานหลังนี้จะกลายเป็นต้นทุนที่ล้าสมัยและไม่สามารถจะจำหน่ายได้จริงภายใต้เงื่อนไข ณ วันปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามสินทรัพย์ดังกล่าวจะขายได้ที่ราคาประมาณ 150,000 บาท ถาทำการปรับปรุงสินทรัพย์ดังกล่าว โดยมีต้นทุนที่ทำการปรับปรุงเท่ากับ 60,000 บาท ในตัวอย่างนี้ต้นทุนในการปรับปรุง 60,000 บาท และมูลค่าที่เหลือจำนวน 100,000 บาท เป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในอนาคตทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นละรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ กิจการจะมีผลประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่ากับ 90,000 บาท (150,000 บาท – 60,000 บาท)

          ส่วนต้นทุนของเงินลงทุนในสินทรัพย์จำนวน 1,000,000 บาท เป็นต้นทุนจมไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ไม่ว่าจะตัดสินใจทำการปรับปรุงสินทรัพย์หรือไม่ก็ตาม ในทำนองเดียวกันมูลค่าตามบัญชีจำนวน 1,000,000 บาทจะถูกตัดจำหน่ายออกไป การเลือกตัดสินใจอย่างใดจึงไม่มีความเกี่ยวข้องและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อการตัดสินใจในอนาคตได้อีก

* ต้นทุนส่วนต่าง
          ต้นทุนส่วนต่างเป็นต้นทุนรวมที่มีความแตกต่างกันในระหว่าง 2 ทางเลือก ต้นทุนส่วนต่างเท่ากับส่วนของต้นทุนผันแปรที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นบวกด้วยส่วนของต้นทุนคงที่ที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนรายการนี้ถูกคำนวณด้วยการนำยอดรวมของต้นทุนการผลิตเปรียบเทียบกับยอดรวมของต้นทุนการผลิต ที่ระดับกิจกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้น

          ต้นทุนส่วนต่างเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมักจะถูกกล่าวอ้างถึงเมื่อรายการต้นทุนนั้นมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างทางเลือกเท่านั้น การลดลงของต้นทุนควรจะถูกกล่าวในชื่อว่า ต้นทุนที่ลดลง ต้นทุนส่วนต่างมีความหมายที่กว้างซึ่งจะมีความหมายรวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลงระหว่างทางเลือก

          ตัวอย่างรายการต้นทุนส่วนต่าง เช่น สมมติว่ากิจการแห่งหนึ่งมีกำลังการผลิตโดยปกติในการผลิตสินค้าเท่ากับ 50,000 หน่วยผลิตภัณฑ์ ถ้าผลิตสินค้ามากกว่านี้ฝ่ายผลิตต้องทำการติดตั้งเครื่องจักรในการผลิตเพิ่มขึ้นจึงมีผลต่อจำนวนเงินต้นทุนคงที่ สำหรับมูลค่าต้นทุนคงที่ของช่วงกำลังการผลิตต่าง ๆ กัน ประมาณการได้ดังต่อไปนี้

          สมมติว่า ต้นทุนผันแปรต่อหน่วยการผลิตหนึ่ง ๆ เท่ากับ 4 บาท ทำรายงานต้นทุนเปรียบเทียบระหว่างกิจกรรมการผลิตที่มีความแตกต่างกันไปในช่วง 3 ระดับหน่วยผลิตที่แตกต่างกันไปได้ดังนี้

          กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มีต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นเพื่อการขยายหน่วยผลผลิตที่ต้องการออกไปให้ได้ถึงระดับ 60,000 หน่วย โดยต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 50,000 บาท ต้นทุนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นทำให้ได้หน่วยผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 10,000 หน่วย ต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น 90,000 บาท หรือ 9 บาทต่อหน่วย ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยจะอยู่ที่ 8.17 บาท

          แนวคิดต้นทุนส่วนต่างเป็นต้นทุนที่มีความสำคัญในการวางแผนงานและการตัดสินใจ เป็นเครื่องอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการประเมินผลงาน ความสามารถในการทำกำไรในแต่ละทางเลือก ซึ่งจะช่วยทำให้ฝ่ายบริหารสามารถเลือกทางเลือกที่มีความเหมาะสมถูกต้องได้ดีขึ้น การวิเคราะห์ต้นทุนส่วนต่างสามารถสนับสนุนการบริหารงานให้เกิดผลงานที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกำไรเพิ่มขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้น การใช้ทรัพยากรที่ว่างเปล่าให้เกิดประสิทธิภาพ หรือการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อการขยายผลผลิตที่เป็นที่ต้องการได้

* ต้นทุนที่ประเมินขึ้น
          ต้นทุนที่ประเมินขึ้น หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ต้นทุนสมมติ เป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในบางเหตุการณ์ แต่เป็นต้นทุนที่มีอยู่และมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในบางสถานการณ์ ต้นทุนเหล่านี้ไม่ได้ถูกจดบันทึกไว้ในระบบบัญชี ตัวอย่างรายการต้นทุนที่ประเมินขึ้น เช่น ค่าดอกเบี้ยที่จะได้รับของเงินทุนที่ใช้ในกิจการ ค่าเช่าที่จะได้รับถ้านำสินทรัพย์ของกิจการไปให้ผู้อื่นเช่า

เงินเดือนที่ผู้เป็นเจ้าของน่าจะได้รับในกรณีที่เป็นกิจการเจ้าของคนเดียวหรือห้างหุ้นส่วน ต้นทุนที่มีการจ่ายเงินไปจริง หรือต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงไม่ถือว่าเป็นที่ประเมินขึ้น เนื่องจากเป็นรายการที่ต้องถูกจดบันทึกตามแนวคิดของระบบบัญชีที่รับรองทั่วไป แต่สำหรับเงินทุนที่กิจการนำไปใช้ในระหว่างการดำเนินงานนั้น จำนวนเงินทุนดังกล่าวจึงไม่ได้รับดอกเบี้ยได้ เนื่องจากไม่มีดอกเบี้ยที่จะจ่ายให้จริง

แต่ถ้านำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนในโครงการจ่ายลงทุนบางรายการ โครงการลงทุนจะให้ผลตอบแทนในการลงทุน ถือว่าเป็นดอกเบี้ยที่ควรจะได้รับ รายได้ที่สูญไป (ดอกเบี้ยที่ไม่ได้รับ) จึงเป็นต้นทุนเสียโอกาส ดังนั้นต้นทุนที่ปะเมินขึ้น หรือต้นทุนที่สมมติขึ้นนั้นจึงถือเป็นต้นทุนเสียโอกาส

* ต้นทุนที่จ่ายจริง
          ในขณะที่ต้นทุนที่ประเมินขึ้น หรือต้นทุนที่สมมติขึ้นเป็นต้นทุนที่ไม่ได้มีการจ่ายเงินไปจริง แต่ต้นทุนที่จ่ายจริงเป็นต้นทุนที่มีการจ่ายเงินออกไปจริง ๆ เพื่อการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ในทางธุรกิจ ต้นทุนที่ไม่กระทบเงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคาไม่ถูกนับรวมเป็นต้นทุนที่จ่ายจริง

แนวคิดต้นทุนรายการนี้เป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจจัดสรรเงินทุนที่มีอยู่จำกัดเพื่อการเลือกลงทุนในโครงการลงทุนใด ๆ โครงการหนึ่ง โดยจะพิจารณาว่าโครงการจ่ายลงทุนใดที่สามารถให้ผลตอบแทนเป็นเงินสดกลับคืนมาเท่ากับเงินสดที่ได้จ่ายลงทุนไป ในทำนองเดียวกันการตัดสินใจว่าควรจะยอมรับคำสั่งซื้อพิเศษเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ใด ๆ นั้นอาจจะต้องพิจารณาต้นทุนที่จ่ายจริงประกอบด้วย

เนื่องจากถ้าปฏิเสธคำสั่งซื้อพิเศษจะทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อการจัดหาทรัพยากรใช้เพื่อการผลิต ดังนั้นในการปฏิเสธคำสั่งซื้อจะประหยัดต้นทุนที่จ่ายจริงไปได้ ค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่มีตัวตน หรือสินทรัพย์ถาวรเป็นรายการต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเนื่องจากกิจการไม่ได้มีการจ่ายเงินสดออกไปแต่อย่างใด

* ต้นทุนผันแปร ต้นทุนคงที่และต้นทุนผสม
          สำหรับแนวคิดและคำนิยามต้นทุนผันแปร ต้นทุนคงที่ และต้นทุนผสมนี้ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น

* ต้นทุนการปิดโรงงาน
          ต้นทุนการปิดโรงงานเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่กิจการต้องการหยุดการผลิตผลิตภัณฑ์ หรือปิดแผนกงาน ปิดสาขา หรือปิดการดำเนินกิจกรรมในส่วนงานย่อยในลักษณะอื่น ๆ ของกิจการ ถ้ากิจการปิดการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ของส่วนงานหนึ่งส่วนงานใดไปก็ตาม ต้นทุนผันแปรของส่วนงานนั้นย่อมไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนอยู่แล้ว

ดังนั้นต้นทุนการปิดโรงงานที่กล่าวถึงนี้จึงเป็นส่วนของต้นทุนคงที่ที่มักจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อการดำเนินงานของส่วนงานย่อยยังคงมีอยู่ เช่น เมื่อกิจการต้องการปิดการดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ ต้นทุนผันแปรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบทางตรง แรงงานทางตรง ค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปรย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน

อย่างไรก็ตามต้นทุนคงที่ (ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนคงที่ทุกรายการ) จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป เช่น ค่าเช่าโรงงาน เงินเดือนผู้ดูแลโรงงาน ภาษีโรงเรือน ต้นทุนคงที่ในลักษณะดังกล่าวเป็นต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับต้นทุนคงที่บางรายการที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของต้นทุนการผลิตจะเป็นต้นทุนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่จำเป็นต้องยอมให้เกิดขึ้นต่อไปอีก เช่น เงินเดือนผู้ควบคุมงาน เงินเดือนผู้จัดการโรงงาน เงินเดือนพนักงานคลังวัตถุดิบ ต้นทุนการปิดโรงงานนี้อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นต้นทุนคงที่จำนวนน้อยที่สุดที่จำเป็นต้องยอมให้เกิดขึ้น แม้ว่าการดำเนินกิจกรรมของส่วนงานย่อยเหล่านั้นจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

การจำแนกต้นทุนตามการควบคุม
          การจำแนกต้นทุนโดยพิจารณาถึงความสามารถในการควบคุม หรือมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงมูลค่าต้นทุนที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต สามารถทำการจำแนกเป็น ต้นทุนที่ควบคุมได้และต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้ ต้นทุนมาตรฐาน ต้นทุนผันแปร ต้นทุนคงที่ และต้นทุนผสม

*  ต้นทุนที่ควบคุมได้และต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้
          แนวคิดในการควบคุมต้นทุนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบัญชีต้นทุน และผลได้ที่จะเกิดขึ้นจากความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่จะต้องการทำการควบคุมและการบัญชีตามความรับผิดชอบ ต้นทุนที่ควบคุมได้ อธิบายได้ว่าเป็นต้นทุนที่อยู่ภายใต้การควบคุม หรือได้รับอิทธิพลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยผู้บริหารของส่วนงานย่อยนั้น ๆ โดยเฉพาะ

ในทำนองเดียวกัน ต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้ อาจจะอธิบายได้ว่า เป็นรายการต้นทุนที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม หรือผู้บริหารของส่วนงานย่อยนั้นไม่มีอำนาจ หรือมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าต้นทุนนั้นได้

โดยพื้นฐานทั่วไปแล้ว ต้นทุนที่ควบคุมได้เป็นต้นทุนที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ อนุมัติรายการต้นทุนนั้นได้โดยตรงในทันที ต้นทุนที่ควบคุมได้จะมีจำนวนรายการต้นทุนเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้เรื่อย ๆ ตามขอบเขต อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารงานในแต่ละระดับขั้นของสายการควบคุม หรือการบังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น ๆ

          ต้นทุนที่ควบคุมได้ไม่ได้หมายความว่าต้องควบคุมต้นทุนนั้นได้ 100% เสมอไป ต้นทุนบางรายการบางส่วนอยู่ภายใต้การควบคุม หรือความรับผิดชอบของผู้บริหารหน้าที่หนึ่งและบางส่วนอยู่ภายใต้การควบคุม หรือความรับผิดชอบของผู้บริหารอีกหน้าที่หนึ่ง เช่น ค่าวัตถุดิบทางตรง ผู้จัดการฝ่ายผลิตเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ รับผิดชอบโดยตรงในส่วนของปริมาณ หรือจำนวนการเบิกใช้

ส่วนราคาวัตถุดิบนั้นอยู่ภายใต้การควบคุม ดูแลของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ดังนั้น รายการค่าวัตถุดิบทางตรงจึงต้องถูกรายงานไปยังผู้บริหารงานทั้งสองส่วนงาน แม้ว่าผู้บริหารแต่ละส่วนงานจะเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

          คำว่า ต้นทุนที่ควบคุมได้ เป็นต้นทุนที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็น “ต้นทุนผันแปร”  “ต้นทุนทางตรง” แต่ถ้าพิจารณาถึงความหมายของการเรียกชื่อต้นทุนดังกล่าวนั้นจะเห็นได้ว่าไม่เหมือนกัน ต้นทุนผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณผลผลิตที่เกิดขึ้น แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องควบคุมได้โดยผู้บริหารของส่วนงานนั้น ตัวอย่างเช่น ค่าวัสดุสิ้นเปลืองใช้ไปในโรงงานเป็นต้นทุนผันแปรของฝ่ายผลิต แต่ผู้จัดการฝ่ายผลิตไม่สามารถทำการควบคุมรายการต้นทุนเหล่านั้นได้

          ปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการในการจัดประเภทต้นทุนว่าเป็นต้นทุนที่ควบคุมได้หรือไม่คือ ประการแรก ระยะเวลา ประการที่สองคือ อำนาจหน้าที่ในการอนุมัติและตัดสินใจ สามารถจะใช้เพื่อการพิจารณาเพื่อจำแนกต้นทุนที่เกิดขึ้นรายการหนึ่ง ๆ ว่าเป็นต้นทุนที่ควบคุมได้ หรือต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้ ถ้าพิจารณาที่ระยะเวลาที่ยาวนานออกไปแล้ว จะพบว่าต้นทุนเกือบทุกรายการเป็นต้นทุนที่สามารถควบคุมได้

ในทำนองเดียวกันกับอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติและการตัดสินใจเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อต้นทุน ผู้บริหารศูนย์กลางเป็นผู้ที่มีอำนาจในการอนุติให้มีการจ่ายเงิน แต่ไม่สามารถควบคุมต้นทุนรายการเหล่านั้นได้ ต้นทุนเกือบทุกรายการเป็นต้นทุนที่สามารถควบคุมได้ของผู้บริหารเพียงบางคน

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้บริหารในระดับสูง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารต้นทุนทั้งหมดขององค์กร แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้นการมอบหมายความรับผิดชอบ อำนาจหน้าที่ในการอนุมัติ การตัดสินใจและการควบคุมต้นทุนในแต่ละระดับขั้นการบริหารงานของแต่ละองค์กรจะมีความแตกต่างกันไป

* ต้นทุนมาตรฐาน
          ต้นทุนมาตรฐานเป็นรายการต้นทุนที่ได้ถูกวางแผนงาน หรือกะประมาณการไว้ล่วงหน้าสำหรับการใช้ทรัพยากรไปเพื่อการผลิตผลผลิตแต่ละหน่วย ทั้งนี้เพื่อให้มีข้อมูลพื้นฐานที่จะใช้ในการเปรียบเทียบกับข้อมูลต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจริง ต้นทุนมาตรฐานเป็นต้นทุนที่ใช้ในการจัดทำงบประมาณ

ต้นทุนมาตรฐานเป็นแนวคิดต้นทุนต่อหน่วยและแสดงถึงต้นทุนมาตรฐานต่อหน่วยผลผลิต ต่อชั่วโมงแรงงาน หรืออื่น ๆ ในทางตรงกันข้ามต้นทุนงบประมาณ เป็นแนวคิดต้นทุนรวมและแสดงถึงต้นทุนงบประมาณรวมของแต่ละรายการต้นทุน ในแต่ละระดับกิจกรรม หรือในแต่ละระดับหน่วยผลผลิต เช่น งบประมาณของต้นทุนวัตถุดิบทางตรงเท่ากับ 100,000 บาท ถ้าปริมาณการผลิตเท่ากับ 1,000 หน่วย

* ต้นทุนผันแปร ต้นทุนคงที่และต้นทุนผสม
          สำหรับแนวคิดและคำนิยามต้นทุนผันแปร ต้นทุนคงที่ และต้นทุนผสมนี้ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น

การจำแนกต้นทุนในลักษณะอื่น ๆ
          การจำแนกต้นทุนในลักษณะอื่น ๆ เช่น ต้นทุนร่วม ต้นทุนทั่วไป
* ต้นทุนร่วม
          ต้นทุนร่วมเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นกับกระบวนการผลิตใด ๆ ที่มีวัตถุดิบทางตรงเพียงหนึ่งเดียวซึ่งสามารถให้ผลผลิตที่มีความแตกต่างกันไป 2 ชนิดหรือมากกว่า ได้พร้อม ๆ กันในเวลาเดียวกัน ต้นทุนร่วมจึงมีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตขึ้น 2 ชนิด หรือมากกว่า ที่ผลิตจากกระบวนการผลิตร่วมกัน หรือจากการรวมตัวกันขององค์ประกอบวัตถุดิบ แรงงาน หรือค่าใช้จ่ายผลิตอื่น

          ดังนั้นต้นทุนร่วมจึงเป็นต้นทุนของผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด หรือมากกว่า ซึ่งไม่สามารถอธิบาย หรือบอกได้ว่าใช้ไปเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด หรือในแต่ละขั้นตอนหรือกระบวนการผลิตหนึ่ง ๆ อย่างไร จนกระทั่งถึงจุดสิ้นสุดของขั้นตอนการผลิตหนึ่ง ๆ ซึ่งถูกเรียกว่า จุดแยกออกของผลผลิต

ตัวอย่างเช่น น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา น้ำมันเบนซิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่น ๆ ที่ได้รับจากน้ำมันดิบ ต้นทุนร่วมเป็นมูลค่าต้นทุนรวมที่เกิดขึ้นก่อนถึงจุดแยกออกของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้นทุนร่วมสามารถทำการจัดสรรในอัตราส่วนที่แตกต่างกันไปให้กับแต่ละผลิตภัณฑ์โดยใช้วิธีการปันส่วนที่มีความเหมาะสม

* ต้นทุนทั่วไป
          ต้นทุนทั่วไปเป็นต้นทุนซึ่งเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ งาน เขตการขาย สาขา หรือหน่วยต้นทุนแยกย่อยในลักษณะอื่น ๆ มากกว่าหนึ่งหน่วยต้นทุน ต้นทุนทั่วไปเป็นที่ไม่สามารถอธิบายหรือบอกได้โดยง่ายว่าใช้ไปในแต่ละหน่วยต้นทุนอย่างไร ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการจัดสรรต้นทุนที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเพื่อการจัดสรรต้นทุนทั่วไปให้กับแต่ละหน่วยต้นทุน

          ต้นทุนทั่วไปไม่เพียงแต่จะเป็นต้นทุนที่ได้ใช้ประโยชน์ด้วยกันของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังเป็นต้นทุนทั่วไปของกระบวนการ หน้าที่งาน ขอบเขตความรับผิดชอบ เขตการขาย รอบระยะเวลาและหน่วยต้นทุนอื่น ๆ ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

ตัวอย่างเช่น เงินเดือนผู้จัดการแผนกผลิตซึ่งแผนกผลิตทำการผลิตผลิตภัณฑ์จำนวน 3 ชนิดเป็นตัวอย่างของต้นทุนทั่วไปที่ใช้ร่วมกันเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิด แต่เงินเดือนผู้จัดการแผนกผลิตจำนวนเดียวกันนั้นถือว่าเป็นต้นทุนทางตรงของแผนกผลิต อาจจะกล่าวได้ว่าต้นทุนทั่วไปอาจจะเป็นต้นทุนทางตรงของหน่วยต้นทุนในลักษณะหนึ่ง ในขณะเดียวกันสามารถจะเป็นต้นทุนทั่วไปของหน่วยต้นทุนในลักษณะอื่น ๆ ได้ด้วย

          ถึงแม้ว่าคำทั้งสองคือ ต้นทุนร่วมและต้นทุนทั่วไปสามารถจะนำมาใช้แทนกันได้ในบางครั้ง แต่คำทั้งสองนั้นมีความแตกต่างกัน ต้นทุนร่วมเป็นต้นทุนของปัจจัยการผลิตที่ใช้ร่วมกันในกระบวนการผลิตทั่วไปซึ่งให้ผลผลิต 2 ชนิดหรือมากกว่าขึ้นไป สัดส่วนของปัจจัยการผลิตร่วมในกระบวนการผลิตหนึ่ง ๆ จะมีความสัมพันธ์กันกับปริมาณผลผลิตที่ได้ในจำนวนที่แน่นอน และการผลิตผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งจะมีผลต่อปริมาณผลผลิตอีกอย่างหนึ่งแต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า

ส่วนต้นทุนทั่วไปเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เป็นผลมาจากกระบวนการผลิตร่วมใด ๆ หรือเป็นผลลัพธ์ของการใช้วัตถุดิบเพียงอย่างเดียวในกระบวนการผลิตร่วม แต่ต้นทุนทั่วไปสามารถที่จะคำนวณเพื่อการจัดสรรเข้าสู่หน่วยต้นทุนใด ๆ ในลักษณะเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ งาน แผนกงาน หรืออื่น ๆ ได้ไม่ยากนัก แต่การจัดสรรต้นทุนร่วมจะมีวิธีการที่ยุ่งยากมากกว่า
   
โปรดอ่านต่อตอนต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด