เนื้อหาวันที่ : 2011-11-24 10:46:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5623 views

นาโนเทคโนโลยี…ปลอดภัย ไร้กังวล จริงหรือ ? (ตอนที่ 3)

ในปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางเฉพาะสำหรับการทำความสะอาดวัสดุนาโน ที่หกไหล หรือปนเปื้อนบนพื้นผิว

ศิริพร วันฟั่น

          ในตอนที่สองนั้น เราได้กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการสัมผัสกับวัสดุนาโน ความเป็นไปได้สำหรับการสัมผัสทางอาชีวอนามัย แนวทางสำหรับการทำงานกับวัสดุนาโนเชิงวิศวกรรม และข้อแนะนำข้อแรกสำหรับการจัดสรรมาตรการชั่วคราวในการเฝ้าระวังในสถานที่ปฏิบัติงานที่ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสสัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม คือ การใช้มาตรการที่รอบคอบในการควบคุมการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม ดังนั้นในตอนที่สามนี้ จะกล่าวถึง ข้อแนะนำที่สอง คือ ความต่อเนื่องในการติดตามเฝ้าระวังทางอาชีวอนามัย รวมไปถึง ความกังวลในเรื่องอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

การทำความสะอาดและการกำจัดวัสดุนาโน (Cleanup and Disposal of Nanomaterials)
          ในปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางเฉพาะสำหรับการทำความสะอาดวัสดุนาโน (Nanomaterials) ที่หกไหล หรือปนเปื้อนบนพื้นผิว อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำที่ถูกพัฒนาโดยอุตสาหกรรมยา (The Pharmaceutical Industry) ที่ใช้ในการจัดการและทำความสะอาดสารประกอบที่ใช้ผลิตยา อาจสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่งานที่มีการผลิตหรือใช้วัสดุนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanomaterials) แต่ก็คงต้องรอให้มีข้อมูลสนับสนุนมากกว่านี้

ดังนั้นในตอนนี้ก็ต้องมีความรอบคอบที่จะดำเนินการอย่างเป็นระบบ ในการจัดการกับการหกรั่วไหล หรือปนเปื้อนบนพื้นผิวอย่างถูกวิธี ตามมาตรฐานระเบียบปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ร่วมกับการใช้ข้อมูลจากการประเมินความเสี่ยงในการสัมผัส ที่รวมไปถึงความเชื่อมโยงกับช่องทางต่าง ๆ ในการสัมผัส

โดยทั่วไปแล้ว วิธีที่เป็นมาตรฐานในการทำความสะอาดผงที่หกก็จะใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรองอนุภาคในอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง (HEPA-Filtered Vacuum Cleaners) หรือการปัดกวาดด้วยผ้าที่เปียกชื้น หรือปัดกวาดผงที่เปียกชื้นเสียก่อนที่จะแห้ง โดยของเหลวที่หกไหลก็อาจทำความสะอาดโดยการประยุกต์ใช้วัสดุ หรือของเหลวอื่นในการดูดซับ หรือดักจับของเหลวที่หกไหลนั้น

          ส่วนการทำความสะอาดด้วยวิธีที่เปียกชื้นโดยการใช้สบู่หรือน้ำมัน ก็เป็นที่นิยมใช้เช่นกัน แต่ผ้าที่ใช้ทำความสะอาดก็ต้องถูกกำจัดอย่างเหมาะสมด้วย ส่วนการใช้สารที่ทำให้เปียกหรือการใช้ผ้าที่เป็นไมโครไฟเบอร์ที่สามารถลดไฟฟ้าสถิตได้ ก็อาจจะมีประสิทธิภาพในการนำเอาอนุภาคออกจากพื้นผิวโดยมีกระจายตัวออกสู่อากาศให้น้อยที่สุด ในขณะที่การทำให้แห้งและการนำเอาผ้าที่ปนเปื้อนกลับมาใช้ซ้ำ อาจทำให้อนุภาคมีการกระจายตัวอีกครั้งก็เป็นได้

          การทำความสะอาดด้วยการใช้พลังงาน (Energetic) เช่น การปัดกวาดแบบแห้ง หรือการใช้แรงลมเป่า หรือแรงดันสูง ควรที่จะหลีกเลี่ยง หรือใช้ด้วยความระมัดระวังที่จะมั่นใจได้ว่าอนุภาคที่แขวนลอยเหล่านั้นจะถูกดักจับไว้ได้ ด้วยแผ่นกรองอนุภาคในอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง (HEPA Filters) ถ้ามีการใช้เครื่องดูดฝุ่นก็ต้องตรวจสอบว่าแผ่นกรองนั้นถูกติดตั้งอย่างถูกต้อง และถุงเก็บฝุ่นหรือแผ่นกรองก็ต้องได้รับการเปลี่ยนตามข้อแนะนำจากผู้ผลิต

          ในขณะที่เครื่องดูดฝุ่นอาจได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพมากพอในการใช้งานที่หลากหลาย แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณากันต่อไปก็คือ แรงดึงดูด (Forces of Attraction) ที่อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากในการนำเอาอนุภาคออกจากพื้นผิวด้วยเครื่องดูดฝุ่น

ซึ่งประจุไฟฟ้าสถิตบนอนุภาคจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดแรงดึงดูดในทิศทางตรงกันข้ามกับประจุที่อยู่บนพื้นผิวที่มีการปนเปื้อน และถูกผลักดันโดยประจุที่คล้ายคลึงกันที่อยู่บนพื้นผิวนั้น การใช้แปรงหรือเครื่องมือสูญญากาศที่มีประจุที่คล้ายคลึงกันอาจใช้ในการผลักดันอนุภาคเหล่านั้นได้ แต่ก็อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากในการดักจับละอองหรือแม้แต่เกิดการกระจายตัวอีกครั้งก็เป็นได้ ส่วนการขัดอย่างแรงด้วยแปรงหรือเครื่องมือสูญญากาศ หรือแม้แต่การขัดสีด้วยอัตราสูงของวัสดุ หรืออากาศที่อยู่ในสายยางสูญญากาศก็อาจก่อให้เกิดประจุไฟฟ้าขึ้นมาได้

          เมื่อมีการพัฒนากรรมวิธีในการทำความสะอาดวัสดุนาโนที่หกไหลหรือปนเปื้อนบนพื้นผิว ก็มีข้อควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการสัมผัสในระหว่างกระบวนการทำความสะอาด เช่น การสัมผัสทางการสูดดมและทางผิวหนัง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด ดังนั้นจึงต้องมีการพิจาณาใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลควบคู่กันไปด้วย

ซึ่งการสัมผัสทางการหายใจจะเกิดจากความเป็นไปได้ที่จะเกิดละอองของวัสดุ โดยลำดับขั้นของความเป็นได้ในการสัมผัสก็จะเป็นดังนี้ คือ สำหรับฝุ่นแล้วจะก่อให้เกิดโอกาสในการสัมผัสทางการหายใจมากกว่าของเหลว ในทางกลับกันการอยู่ในรูปของเหลวก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงมากกว่าวัสดุนาโนหรือวัสดุที่มีโครงสร้างที่อยู่ในรูปแคปซูลหรือรูปที่เคลื่อนที่ไม่ได้

          ทั้งนี้ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตามมาจัดการกับวัสดุที่หกไหลหรือการปนเปื้อนที่พื้นผิว ทั้งวิธีจัดการและการกำจัดวัสดุที่เป็นขยะ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ได้กำหนดไว้

ความต่อเนื่องในการติดตามเฝ้าระวังทางอาชีวอนามัย (Occupational Health Surveillance)
          “การติดตามเฝ้าระวังทางอาชีวอนามัย” ถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับโปรแกรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Occupational Safety and Health Program) ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ก็เพราะมีหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลถึงผลร้ายที่อาจมีต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็น คุณสมบัติทางด้านกายภาพ และทางเคมีที่มีลักษณะเฉพาะของวัสดุนาโน การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณเพิ่มขึ้นของการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าต่าง ๆ

รวมไปถึงข้อมูลที่บ่งชี้ว่าการสัมผัสกับวัสดุนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanomaterials) สามารถที่จะก่อให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นรายงานผลจากการทดลองในสัตว์ ด้วยเหตุนี้ การใช้โปรแกรมการติดตามเฝ้าระวังทางอาชีวอนามัย สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีโอกาสที่จะสัมผัสกับวัสดุนาโนเชิงวิศวกรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

          นอกจากนี้ การตื่นตัวของทั้งภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม องค์กรแรงงาน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางอาชีวอนามัย และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในหลาย ๆ ประเทศ ได้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “ผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับอนุภาคนาโนควรที่จะได้รับการติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์ (Medical Surveillance) บางประเภทหรือไม่ ?”

ซึ่งจุดประสงค์ก็คือ การให้แนวทางชั่วคราวสำหรับการคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening) เป็นการเฉพาะสำหรับผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ ซึ่งเป็นการทดสอบทางการแพทย์ (Medical Tests) สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ยังไม่แสดงอาการป่วยออกมา (Asymptomatic Workers) จนกว่าจะมีการวิจัยเพิ่มเติมที่จะสนับสนุนหรือคัดค้าน ในเรื่องความจำเป็นสำหรับการคัดกรองประเภทนี้ โดยชนิดและระดับของการคัดกรองนี้ จะเป็นส่วนเพิ่มเติมขึ้นมาจากการติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์ที่มีอยู่เดิม

          เมื่อกล่าวถึงเรื่องของการติดตามเฝ้าระวังทางอาชีวอนามัย โดยทั่วไปแล้ว จะมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน ด้วยกัน คือ การติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์ (Medical Surveillance) และการติดตามเฝ้าระวังอันตราย (Hazard Surveillance)

การติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์ (Medical Surveillance)
          มีเป้าหมายที่ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจริง หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบการทำงานของร่างกายผู้ที่สัมผัส ซึ่งการติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์ถือว่าเป็นแนวป้องกันระดับทุติยภูมิ (Second Line of Defense) ภายหลังจากที่ได้การดำเนินการควบคุมทางวิศวกรรม การบริหารจัดการ การจัดทำวิธีปฏิบัติงานที่ถูกต้อง และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

ซึ่งทาง NIOSH ได้ให้ข้อแนะนำว่า ควรที่จะได้ดำเนินการติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์กับผู้ปฏิบัติงานเมื่อพวกเขาเหล่านั้นได้สัมผัสกับวัสดุอันตราย โดยทั่วไปแล้ว โปรแกรมการติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์จะมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้ คือ

          - การตรวจทางการแพทย์ (Medical Examination) ในระยะแรกเริ่ม และเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติทางการแพทย์และทางด้านอาชีพ

          - การตรวจทางการแพทย์เป็นระยะ ๆ ตามตารางเวลาปกติ รวมถึงการตรวจคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening Tests) เป็นพิเศษเมื่อสมควรต้องทำ

          - การตรวจทางการแพทย์ที่มีความถี่และรายละเอียดที่มากขึ้น เมื่อมีการบ่งชี้ที่อยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่ค้นพบจากการตรวจเหล่านั้น

          - การตรวจหลังเกิดเหตุการณ์ และการคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening) ตามหลังสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือเกิดขึ้นไม่ประจำที่เพิ่มการสัมผัส เช่น การหกรั่วไหล

          - การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้เข้าใจ และรับทราบถึงอาการของการสัมผัสกับอันตรายที่ว่านั้น

          - การเขียนรายงานถึงสิ่งที่ค้นพบทางการแพทย์

          - การดำเนินการของผู้ประกอบการในตอบสนองต่อการชี้บ่งอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

          เมื่อวัตถุประสงค์ของโปรแกรมการติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์ คือ การตรวจจับ (Detect) สัญญานเริ่มต้นของการป่วยหรือโรคที่เชื่อมโยงกับการทำงาน จึงถูกพิจารณาว่าเป็นการคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening) อีกประเภทหนึ่ง และถูกอ้างอิงว่าเป็นการเฝ้าติดตามทางการแพทย์ (Medical Monitoring) และรวมถึงการทดสอบทางการแพทย์ (Medical Testing)

ทั้งนี้ก็เพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของหน้าที่การทำงานของอวัยวะร่างกายก่อนที่จะทราบว่าเป็นโรคโดยแน่ชัด หรือก่อนที่ผู้ปฏิบัติงานจะเข้ารับการรักษา โดยการติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์อาจต้องประยุกต์ใช้กับผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม ที่มีองค์ประกอบทางเคมีเหมือนหรือคล้ายคลึงกับข้อเสนอแนะสำหรับสารอันตราย (Hazardous Substances) ที่มีอยู่เดิมของ NIOSH

          การตรวจทางการแพทย์ (Medical Examination) และการทดสอบทางการแพทย์ (Medical Testing) จะถูกใช้ในสถานที่ปฏิบัติงานหลากหลาย เพื่อพิจารณาว่าผู้ปฏิบัติงานยังสามารถที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีสุขภาพดี หรือว่ามีภาวะคุกคามต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานอันส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือไม่ โดยข้อมูลจากการตรวจทางการแพทย์ก่อนเริ่มงานจะมีประโยชน์อย่างมาก และจะเป็นข้อมูลพื้นฐานเปรียบเทียบกับข้อมูลหลังจากที่ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanoparticles) แล้ว

          “การคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening)” นับว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโปรแกรมการบริหารความปลอดภัยและสุขอนามัย (Safety & Health Management Program) ที่จะใช้ตามหลังลำดับขั้นของการควบคุม (The Hierarchy of Controls) และยังเกี่ยวข้องกับมาตรการต่าง ๆ ในการติดตามเฝ้าระวังทางอาชีวอนามัยอีกด้วย

แต่เนื่องจากว่า แม้มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการสัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanoparticles) สามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายต่อสุขภาพในสัตว์ทดลอง แต่ก็ยังไม่ปรากฏผลการศึกษาในผู้ปฏิบัติงาน ที่สัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมบางชนิดดังเช่นที่ได้ทดสอบกับสัตว์ทดลองได้รับการตีพิมพ์

จึงอาจจะกล่าวได้ว่าในปัจจุบัน หลักฐานเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เป็นไปได้ของการสัมผัสทางอาชีวอนามัยกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม ยังไม่เพียงพอต่อการกำหนดรายละเอียดสำหรับการคัดกรองทางการแพทย์เป็นการเฉพาะ เพื่อชี้บ่งได้ถึงการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะทราบว่าเป็นโรคโดยแน่ชัด (Preclinical Changes) ที่เชื่อมโยงกับการสัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม และยังไม่มีหลักฐานอันแน่ชัดที่จะเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสทางอาชีวอนามัยกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม และผลกระทบอันเลวร้ายต่อสุขภาพจากการสัมผัสนั้น

          นอกจากนี้การวิจัยทางด้านพิษวิทยา (Toxicological Research) ณ ปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่เพียงพอต่อการให้ข้อแนะนำ เช่น การเฝ้าติดตาม การหาชนวนเหตุ หรือส่วนประกอบของสิ่งที่เกิดขึ้น จึงต้องศึกษาวิจัยกันต่อไปจนกว่าจะมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดถึงความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสทางอาชีวอนามัยกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม และผลกระทบอันเลวร้ายต่อสุขภาพ เมื่อนั้นก็จะสามารถระบุได้ว่าการคัดกรองทางการแพทย์ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่

สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและใช้อนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม และถ้าพิจารณาแล้วว่ายังมีความจำเป็นอยู่ ข้อแนะนำที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงลงไป สำหรับการคัดกรองทางการแพทย์สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่อาจจะสัมผัสกับอันตรายจากอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม ก็จะถูกนำเสนอขึ้นมาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

          แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่สนใจเฝ้าระวังมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม โดยคิดว่าถ้าข้อแนะนำที่มีอยู่สำหรับการคัดกรองทางการแพทย์ที่ใช้กับสารเคมี หรือวัสดุที่มีขนาดใหญ่ที่มีอนุภาคนาโนใด ๆ เป็นองค์ประกอบ ก็น่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับอนุภาคนาโนนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ซึ่งข้อแนะนำหรือเกณฑ์ทั่วไปสำหรับโปรแกรมการคัดกรองทางการแพทย์ทางด้านอาชีวอนามัย (Occupational Medical Screening Program) นั้น จะมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้คือ การประเมินอันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน การชี้บ่งอวัยวะเป้าหมายที่จะได้รับพิษจากการสัมผัสกับแต่ละอันตราย การเลือกวิธีทดสอบสำหรับแต่ละผลกระทบต่อสุขภาพที่สามารถคัดกรองได้ การพัฒนาเกณฑ์การปฏิบัติ กระบวนการในการเก็บข้อมูลแบบมาตรฐานเดียว

ผลการปฏิบัติในการทดสอบ การแปรผลที่ได้จากการทดสอบ การยืนยันผลการทดสอบ การพิจารณากำหนดสภาวะการทำงาน การแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการ การประเมินสำหรับการวินิจฉัย การประเมินและการควบคุมสำหรับการสัมผัส และการเก็บรักษาข้อมูลบันทึก [ที่มา: Baker and Matte 2005] ส่วนรายชื่อสาร (Substance) ที่ทาง OSHA ได้กำหนดมาตรฐานที่รวมไปถึงข้อกำหนดในการติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์ (Medical Surveillance) ไว้ด้วย

เช่น 2-Acetylaminofluorene, Acrylonitrile, 4-Aminodiphenyl, Inorganic, Asbestos, Benzene, Benzidine, Bis-chloromethyl Ether, 1, 3-butadiene, Coke Oven Emission, Cotton Dust, Dibromochloropropane, 3.3’-Dichlorobenzene, 4-Dimethylaminoazobenzene, Cadmium, Occupational Exposure to Hazardous Chemicals in The Laboratories, Ethylene Oxide, Ethyleneimine, Formaldehyde, Hazardous Waste, Lead, Methyl Chloromethyl Ether, Alpha-naphthylamine, Methylene Chloride, 4-Nitrobiphenyl,N-nitrosodiumethylamine, Beta-propriolactone, Vinyl Chloride, Methylenedianiline, Bloodborne Pathogens, Chromium (VI) เป็นต้น

          หัวใจหลักของข้อแนะนำในการคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening) ที่เป็นการเฉพาะสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanoparticles) นั้น จะรวมถึงการพิจารณาว่า สาร (Substance) ที่อยู่ในความสงสัยนั้นเป็นอันตรายหรือไม่ และโรคที่จะได้รับการป้องกันนั้นเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานโดยทั่วไปในสัดส่วนปริมาณที่เพียงพอหรือไม่ ต่อการตัดสินใจว่าควรจะมีการคัดกรองเป็นประจำ

สำหรับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมนั้น ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอสำหรับการระบุอันตราย (Hazard Determination) ได้อย่างเด็ดขาด มีอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมเพียงไม่กี่ชนิดที่ยังคงมีการดำเนินการทดลองทางการสูดดมในสัตว์ทดลอง และยังไม่เป็นที่กว้างขวางนักสำหรับหมวดหมู่ของปัจจัยเสี่ยงทางเคมีกายภาพ (Physicochemical) ที่ได้รับการจำแนก เพื่อใช้ในการคาดการณ์ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับอนุภาคทุกประเภท ในปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการที่จะศึกษาในส่วนของการสูดดมที่เป็นผลกระทบเรื้อรังจากการสัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม

ซึ่งการศึกษาในระยะสั้นสำหรับการสูดดมของท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes) และโลหะออกไซด์ (Metal Oxides) ที่มีขนาดในระดับนาโนสเกลที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะบ่งชี้ได้ว่า โรคอะไรที่ถือว่าเป็นข้อยุติที่ควรจะได้รับการประเมินสำหรับการคัดกรองทางการแพทย์ นอกจากนี้ ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความแน่นอน การเทียบเคียง หรือจำนวนบุคคลที่จัดว่ามีความเสี่ยงอันเชื่อมโยงกับการสัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม

          สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการคัดกรองทางการแพทย์ ก็คือ การพิจารณาว่าสถานที่ใดที่อาจจะมีประโยชน์ในการดำเนินการคัดกรองทางการแพทย์กับผู้ปฏิบัติงานที่อาจจะสัมผัสกับอันตราย ซึ่งอาจประสบปัญหาในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานบางรายไม่แสดงอาการป่วยออกมา นั่นก็คือ การที่ไม่สามารถระบุถึงอาการของโรคจากการทำงานได้

และเนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่เพียงน้อยนิด ที่จะระบุได้อย่างชัดเจนถึงอันตรายหรือผลกระทบจากการสัมผัสกับอนุภาคนาโนของผู้ปฏิบัติงาน จึงส่งผลให้ยากต่อการให้ข้อแนะนำที่เป็นการเฉพาะสำหรับการตรวจคัดกรอง (Screening Tests) ดังนั้นจึงมีแค่เพียงแนวทางชั่วคราวสำหรับการคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening) และการติดตามเฝ้าระวังอันตราย (Hazard Surveillance)

          ตัวอย่างของประเด็นในการพิจารณาหลักการและเหตุผลสำหรับข้อแนะนำในการคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening) สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีความเป็นไปได้ในการสัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม มีดังนี้ คือ

ท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังเดี่ยว (Single-Walled Carbon Nanotubes: SWCNTs)
          การสัมผัสกับท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังเดี่ยว (SWCNTs) ที่บริเวณด้านในหลอดลม (Intratracheal) มีความเชื่อมโยงกับการเกิดพังผืดบริเวณช่องระหว่างเซลส์ (Interstitial Fibrosis) ของหนูทดลอง [ที่มา: Lam et al. 2004] การสูดดมเอาท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังเดี่ยวชนิดบริสุทธิ์ (Purified SWCNTs) เข้าไป ได้ก่อให้เกิดพังผืดบริเวณช่องระหว่างเซลส์ของหนูทดลองอย่างรวดเร็วและรุนแรง [ที่มา: Shvedova et al. 2005] ทาง NIOSH ได้แสดงให้เห็นเช่นกันว่า การสูดดมเอาท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังเดี่ยว (SWCNTs) เข้าไปนั้น สามารถก่อให้เกิดพังผืดบริเวณช่องระหว่างเซลส์ [ที่มา: Shvedova et al. 2008]

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังเดี่ยวชนิดบริสุทธิ์ (Purified SWCNTs) นั้น พบว่าไม่ได้ทำให้เกิดปฏิกิริยารีดอกซ์ (Redox Reactive) และการเกิดพังผืดบริเวณช่องระหว่างเซลส์นั้น ก็ไม่ได้เป็นผลจากการออกซิแดนซ์และการอักเสบ

ดังนั้น การตรวจวัดในตัวบ่งชี้ (Markers) ของภาวะการมีอนุมูลอิสระมาก (Oxidant Stress) หรือการอักเสบในมนุษย์ก็ไม่อาจคาดเดาได้ ถ้าโรคในช่องปอด (Interstitial Lung Disease) ได้ถูกพิจารณาว่าเป็นข้อยุติสำหรับความกังวลทางด้านสุขภาพแล้วละก็ การเฝ้าติดตามสำหรับความสามารถในการแพร่กระจาย (Diffusion) ของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอดก็คงไม่ต้องทำกันแล้ว

แม้การลดลงอย่างมีนัยสำคัญในการแพร่กระจาย สามารถที่จะบ่งชี้ได้ถึงการสูญเสียโพรงเล็ก ๆ ของหลอดเลือดฝอยในการแลกเปลี่ยนก๊าซ (Alveolar-capillary Gas Exchange) และเป็นสัญญาณบอกเหตุเริ่มต้นของการเป็นโรคก่อนที่จะทราบว่าเป็นโรคโดยแน่ชัด (Pre-clinical Disease)

แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ได้รับการตีพิมพ์ในเรื่องของความเข้มข้นในการสัมผัสทางอาชีวอนามัยสำหรับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังเดี่ยว (SWCNTs) ดังนั้น ณ เวลานี้จึงไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะพิสูจน์ยืนยันได้ถึงข้อยุติสำหรับโรคที่เกิดขึ้น รวมถึงมีข้อมูลที่น้อยเกินไปที่แสดงถึงการสัมผัสโดยทั่วไป และความเสี่ยงในท้ายที่สุดที่มีต่อผู้ปฏิบัติงานที่ดำเนินการกับวัสดุเหล่านี้

โลหะออกไซด์ที่มีขนาดในระดับนาโนสเกล (Nanoscale Metal Oxides)
          การสัมผัสกับโลหะออกไซด์ที่มีขนาดในระดับนาโนสเกล เช่น ไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) ได้แสดงให้เห็นจากหนูทดลองว่า สามารถก่อให้เกิดอาการอักเสบของปอดได้ [ที่มา: Oberdorster et al. 2005] และยับยั้งความสามารถในการตอบสนองของระบบหลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลืองต่อเครื่องถ่าง (Dilators) หลังจากที่สัมผัสบริเวณด้านในหลอดลมหรือทางการสูดดม [ที่มา: Nurkiewicz et al.2006; Nurkiewicz et al. in Press]

ส่วนอนุภาคขนาดเล็กมาก (Ultrafine Particle) ในระดับนาโนสเกลของไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) ได้แสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพมากพอที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเช่นนี้ได้มากกว่าอนุภาคขนาดเล็ก (Fine Particle) โดยเปรียบเทียบอยู่บนพื้นฐานของมวลที่เท่ากัน ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ได้เชื่อมโยงกับภาวะการมีอนุมูลอิสระมาก (Oxidant Stress) และการชักนำสื่อกลางที่ทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้นได้

ดังนั้น ตัวบ่งชี้ (Markers) ของภาวะการมีอนุมูลอิสระมากและการอักเสบควรที่จะถูกพิจารณาว่าเป็นเสมือนสัญญาณบอกเหตุแรกเริ่มของการสัมผัส หรือการตอบสนองในมนุษย์ ซึ่งตัวบ่งชี้สำหรับภาวะการมีอนุมูลอิสระมากได้ถูกพิจารณาว่าเป็นเสมือนเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเป็นพิษของอนุภาคนาโนของโลหะออกไซด์ได้ด้วย [ที่มา: Nel et al. 2006] ดังเช่นตัวบ่งชี้ที่เป็น Nitrous Oxide หรือ Isoprostanes ที่ใช้บอกเหตุในลมหายใจออก หรือตัวบ่งชี้ในเลือด (Blood Markers) ที่ใช้บอกเหตุถึงภาวะการมีอนุมูลอิสระมาก

          อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงของของตัวบ่งชี้เหล่านี้ ยังไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในการคัดกรองผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanoparticles) และนอกจากนี้ ในงานวิจัยบางชิ้นได้แสดงให้เห็นว่าไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) ในระดับนาโนสเกล ได้ถูกเชื่อมโยงว่าก่อให้เกิดมะเร็งปอด และสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (The International Agency for Research on Cancer: IARC) ได้จัดให้ไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) อยู่ในหมวดหมู่ของสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ที่มีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดมะเร็งขึ้นในมนุษย์ [ที่มา: IARC 2006]

แต่ถึงกระนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดที่จะแสดงให้เห็นว่าการคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening) เหล่านั้นในผู้ปฏิบัติงานที่ไม่แสดงอาการป่วยออกมา (Asymptomatic Workers) จากการสัมผัสกับสารก่อมะเร็งในปอดจะลดโอกาสการตายจากมะเร็งได้ [ที่มา: NCI 2007; Marcus et al. 2006]

แคดเมียมที่มีขนาดในระดับนาโนสเกล (Nanoscale Cadmium)
          แคดเมียมเป็นสารที่ถูกแนะนำให้มีการคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening) สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสเพื่อที่จะป้องกันหรือประเมินความเป็นพิษในปอดและไต โดยอย่างน้อย ๆ ข้อแนะนำเหล่านี้ควรที่จะเกี่ยวข้องกับแคดเมียมที่มีขนาดในระดับนาโนสเกล (เช่น ที่ถูกใช้ในการผลิตของควอนตัมดอท-Quantum Dots)

ซึ่งการคัดกรองทางการแพทย์เป็นแบบอย่างอันมีชนวนเหตุมาจากความเข้มข้นของสารในอากาศ (Airborne Concentration) ที่อยู่ในสถานที่ปฏิบัติงาน (เช่น ความเข้มข้นที่ระดับกระทำการ หรือ “Action Level”) โดยความเข้มข้นที่ระดับกระทำการนั้นเป็นแค่เพียงเศษส่วนหนึ่ง

ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นครึ่งหนึ่งของขีดจำกัดในการสัมผัสทางด้านอาชีวอนามัย (Occupational Exposure Limit: OEL) แต่การใช้ข้อแนะนำที่ระดับกระทำการ ของอนุภาคแคดเมียมที่ไม่ใช่ระดับนาโนสเกลจะเพียงพอสำหรับอนุภาคแคดเมียมที่ระดับนาโนสเกลหรือไม่ก็ยังไม่มีข้อปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด

          ในปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการหรือผู้เชี่ยวชาญทางอาชีวอนามัยได้มีการใช้วิธีการติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์ (Medical Surveillance) กันอย่างหลากหลาย ซึ่งวิธีการเหล่านี้อาจประยุกต์ใช้กับผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanoparticles) แต่ก็ยังไม่เฉพาะเจาะจงลงไป

ทั้งนี้ผู้ประกอบการเองควรที่จะมีความต่อเนื่องในการใช้วิธีนี้ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ในอนาคตเพื่อดูว่า “มีการเพิ่มขึ้นของความถี่ของผลกระทบที่เลวร้ายต่อสุขภาพอันเชื่อมโยงกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมหรือไม่”

แต่อย่างไรก็ตาม มีสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่พึงพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในกรณีการทดสอบทางการแพทย์ (Medical Testing) เนื่องจากสามารถที่จะให้ผลลัพท์ในด้านลบได้ เช่น ผลกระทบที่อาจเลวร้ายต่อสุขภาพอันเป็นผลจากการทดสอบทางการแพทย์ (เช่น การฉายรังสีที่ทรวงอก) ซึ่งจะเป็นการสร้างความกังวลโดยไม่จำเป็นให้กับผู้ปฏิบัติงานหรือนายจ้างจากการทดสอบที่อาจผิดพลาดได้ และนอกจากนี้ยังรวมถึงงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากการประเมินวินิจฉัยเพิ่มเติมอีกด้วย

การติดตามเฝ้าระวังอันตราย (Hazard surveillance)
          เป็นพื้นฐานสำหรับการควบคุมอันตราย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการชี้บ่ง (Identification) ถึงปฏิบัติการ กิจกรรมในงาน หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และการใช้อนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ หรือการสัมผัสในสถานที่ปฏิบัติงาน และการประเมินขอบเขตที่สามารถที่จะเชื่อมโยงได้กับผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงประสิทธิภาพในการควบคุม และความน่าเชื่อถือของมาตรการป้องกันการสัมผัส

โดยการติดตามเฝ้าระวังอันตรายสำหรับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanoparticles) นั้น เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จำเป็นสำหรับความพยายามในการติดตามเฝ้าระวังทางอาชีวอนามัย (Occupational Health Surveillance) แม้ว่าในกรณีของอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมจะเกิดการขาดข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับอันตรายที่อาจมีต่อสุขภาพ แต่การเข้าใจถึงโอกาสในการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานจะสามารถเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Program) ได้

          โปรแกรมการติดตามเฝ้าระวังอันตราย (Hazardous Surveillance Program) ควรที่จะถูกออกแบบมาเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามหรือข้อสงสัยต่าง ๆ เหล่านี้
          - ตัวกระทำสัมผัส (Exposure Agents) ใด ที่พบในสถานที่ปฏิบัติงาน

          - ตัวกระทำสัมผัสใด ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานมากที่สุด

          - มีกรรมวิธีใด ที่เป็นมาตรฐาน น่าเชื่อถือ และปฏิบัติได้จริงที่เป็นประโยชน์สำหรับการตรวจวัดในการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานกับตัวกระทำสัมผัสนั้น

          - มาตรวัดการสัมผัส (Exposure Metric) ใด (เช่น มวล จำนวนอนุภาค พื้นผิวสัมผัสของอนุภาค) ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นความกังวลที่มีต่อสุขภาพมากที่สุด

          - ขอบเขตของการสัมผัสเป็นการเฉพาะใด (เช่น อนุภาคนาโน) ที่สามารถถูกเชื่อมโยงกับผู้ปฏิบัติงานได้

          - การกระทำใด ที่จะถูกนำมาใช้ควบคุมอันตรายที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

          - ประสิทธิภาพของการควบคุมนั้นเป็นอย่างไร (เช่น การควบคุมทางวิศวกรรม)

          - งานหรืออุตสาหกรรมใด ที่มักจะก่อให้เกิดการสัมผัสกับผู้ปฏิบัติงานมากที่สุด

          - ผลกระทบต่อสุขภาพใด ที่ถูกเชื่อมโยงกับการสัมผัสมากที่สุด

          - การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของการสัมผัสทางอาชีวอนามัยที่เป็นการเฉพาะ มีลักษณะเช่นไร

          อย่างไรก็ตาม เมื่อโปรแกรมการติดตามเฝ้าระวังทางอาชีวอนามัย (Occupational Health Surveillance Program) ได้ถูกจัดตั้งขึ้น ก็มีความจำเป็นที่ต้องมีความเข้าใจถึงการเทียบเคียง ความแน่นอน และปริมาณอันเชื่อได้ว่ามาจากความเสี่ยงที่ผู้ปฏิบัติงานที่ได้ดำเนินการกับวัสดุนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanomaterials) ซึ่งจะรวมไปถึง ความเข้าใจถึงอันตรายเช่นเดียวกับขอบเขตของการสัมผัส และความเสี่ยงในที่สุด โดยการศึกษาทางระบาดวิทยา (Epidemiological Studies) ในผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสและการตอบสนอง

ถึงแม้ว่าการศึกษาด้านนี้จะมีความยากในการดำเนินการ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้มากกว่าการคัดกรองทางการแพทย์ (Medical Screening) ในการที่จะทำความกระจ่างให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างการสัมผัส และผลกระทบที่เลวร้ายในช่วงเวลานี้ ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะสามารถพิจารณาจัดหมวดหมู่ของอันตรายที่อยู่บนปัจจัยต่าง ๆ ทางเคมีกายภาพ (Physicochemical) และถึงแม้ว่าผลการศึกษาในขั้นต้นจะบ่งชี้ว่าการคัดกรองทางการแพทย์ที่เป็นการเฉพาะ (Specific Medical Screening) นั้นอาจมีความจำเป็นในอนาคต

 แต่ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ในการให้คำแนะนำได้มากกว่าการติดตามเฝ้าระวังอันตราย (Hazard Surveillance) อย่างไรก็ตาม ทาง NIOSH ยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการประเมินหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการปรับปรุงข้อแนะนำสำหรับการคัดกรองทางการแพทย์ให้มีความทันสมัยอยู่เป็นระยะ ๆ

          ณ ช่วงเวลานี้ มีอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมเพียงไม่กี่ชนิดที่ถูกศึกษา ความกระจ่างชัดและความสม่ำเสมอของภาพความเชื่อมโยงที่เป็นข้อยุติสำหรับผู้ปฏิบัติงานก็ยังไม่ปรากฏ แม้ว่าตัวแปรทางเคมีกายภาพ (Physicochemical) อันหลากหลายของอนุภาคนาโนได้ปรากฏว่ามีอิทธิพลต่อความเป็นพิษ เช่น องค์ประกอบ ขนาด รูปร่าง คุณลักษณะของพื้นผิวสัมผัส ประจุ กลุ่มหน้าที่การทำงาน โครงสร้างผลึก และความสามารถในการละลาย [ที่มา: Oberdorster et al. 2005 a; Borm et al. 2006; Warheit et al. 2007 b; IRSST 2006] แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ขนาดเป็นตัวแปรที่สำคัญกว่าสิ่งใดหรือไม่

จากการศึกษาโดยมากแล้วได้แสดงให้เห็นว่า ขนาดเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มพูนความเป็นพิษของอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม เมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นพิษของอนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่าโดยที่มีองค์ประกอบเหมือนกัน ในขณะที่ผลจากการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัดเกี่ยวกับสัตว์ทดลองที่สัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม ได้บ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบหายใจและการไหลเวียนโลหิต [ที่มา: Aitken et al. 2004; Borm et al. 2006; ASCC 2006; IRRST 2006]

อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ชัดเจนว่าผลกระทบใดที่สำคัญที่สุด ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับหรือไม่ หรือผลกระทบนี้เชื่อมโยงกับการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานหรือไม่ ดังนั้นการศึกษาเพิ่มเติมมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาผลกระทบทางชีวภาพ (Biological) อย่างมีนัยสำคัญของตัวแปรที่มีความแตกต่างกันทางด้านคุณลักษณะทางเคมีกายภาพ (Physicochemical Characteristics) และพิจาณาว่าตัวแปรเหล่านี้สามารถที่จะถูกใช้ในการคาดการณ์ถึงความเป็นพิษที่เป็นไปได้ของอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมได้หรือไม่

          การประเมินความเป็นพิษที่เป็นไปได้ของอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม (Engineered Nanoparticles) นั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มแรก เราพบว่าองค์รวมของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มขึ้นจากการศึกษาพิษวิทยา (Toxicology) ของอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมบางชนิด และจากการศึกษาทางระบาดวิทยา (Epidemiology) ในบุคคลที่สัมผัสกับอนุภาคขนาดเล็กมาก (Ultrafine Particles) ได้ให้ข้อแนะนำที่ดีว่าอนุภาคในขนาดระดับนาโนสเกลบางชนิดอาจจะก่อให้เกิดอันตรายขึ้นมาได้เช่นกัน

ซึ่งหลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้ได้สร้างความตระหนักและให้ข้อคิดที่ดีว่า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยควรที่จะพิจารณาใช้ ”วิธีบริหารการเฝ้าระวัง (Precautionary Management Approaches)” ในสถานที่ปฏิบัติงานที่ซึ่งมีความเป็นไปได้ของการสัมผัสกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม

          NIOSH ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยจากสถานที่ปฏิบัติงานที่ลงทะเบียนไว้เพื่อการศึกษาการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นในการสัมผัสทางอาชีวอนามัยกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม การพัฒนาข้อมูลของการสัมผัสจากสถานที่ปฏิบัติงานที่ลงทะเบียนไว้นี้ อาจมีความจำเป็นในการใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในงานวิจัยทางระบาดวิทยา (Epidemiologic Research) ในอนาคตได้

ซึ่งการลงทะเบียนเช่นนี้มีความจำเป็นที่จะต้องครอบคลุมผู้ปฏิบัติงานจากบริษัทที่ใช้นาโนเทคโนโลยีหลากหลาย ที่จะสามารถสะท้อนความแตกต่างในการสัมผัส เพื่อที่จะสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนเพิ่มขึ้นและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพที่เรื้อรังได้

ความกังวลถึงอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้านาโน (Potential Consumer/User Hazards)
          เนื่องจากมีการคาดการณ์กันว่า ตลาดการค้าในส่วนของผลิตภัณฑ์นาโนในปัจจุบันยังสามารถที่จะเติบโตได้อีกมาก จึงทำให้มีการแข่งขันกันสูงในระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อที่จะผลิตสินค้านาโนเชิงพาณิชย์ออกมาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกัน จึงส่งผลให้ในปัจจุบันมีสินค้าอุปโภคบริโภคนาโนอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งแบบวางจำหน่ายแล้วและกำลังเปิดตัวใหม่ และมีการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้ยินกันบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์นาโนสำหรับคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย

โดยผลจากการสำรวจพบว่าวัสดุนาโน (Nanomaterials) ที่มีการนำมาใช้กับสินค้านาโนมากที่สุด คือ ซิลเวอร์ และคาร์บอน (ทั้งแบบท่อนาโนและฟลูเลอร์รีน) รองลงมา คือ ซิลิกา ซิงก์ออกไซด์ ไททาเนียมไดออกไซด์ และซีเรียมออกไซด์ ทั้งนี้ เราสามารถจำแนกสินค้านาโน โดยจัดเป็นหมวดหมู่หลัก (Categories) และหมวดหมู่ย่อย (Sub Categories) ได้คร่าว ๆ ดังนี้ คือ

          • กลุ่มสินค้าสุขภาพและการออกกำลังกาย (Health & Fitness) เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ เครื่องกรองน้ำ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ อุปกรณ์กีฬา และครีมกันแดด เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากลุ่มสินค้านี้มีการวางขายในตลาดมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องสำอางค์

          • กลุ่มสินค้าสำหรับใช้ในบ้านและสวน (Home & Garden) เช่น สินค้ากลุ่มทำความสะอาด วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และสีทาบ้าน เป็นต้น

          • กลุ่มอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Appliances) เช่น สินค้าประเภทเครื่องทำความร้อน เครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวขนาดใหญ่ และอุปกรณ์ซักรีด เป็นต้น

          • กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เช่น การเตรียมและทำอาหาร สารเติมแต่งอาหาร บรรจุภัณฑ์จัดเก็บอาหาร และอาหารเสริม เป็นต้น

          • กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (Electronics & Computers) เช่น เครื่องเสียง กล้องและฟิลม์ ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ จอแสดงผล อุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่ โทรทัศน์ และเครื่องเล่นวีดีโอ เป็นต้น

          • กลุ่มอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ (Automotive) เช่น ตัวถังภายนอกรถยนต์ อุปกรณ์ซ่อมบำรุง และอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ เป็นต้น

          • กลุ่มสินค้าสำหรับเด็ก (Goods for Children) เช่น ของเล่น เกมส์ และจุกดูดนมหลอกเด็ก เป็นต้น

          • กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ (Others) เช่น ผลิตภัณฑ์เคลือบต่าง ๆ เป็นต้น

          การประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีที่มักจะก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า อาจจะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้ามากที่สุด (ทั้งแบบที่เป็นความจริงหรือจากการสังเกต) คือ ประเภทการใช้ที่ตั้งใจให้อยู่บนผิวหนังหรือเข้าสู่ร่างกายคนเรา เช่น เครื่องสำอางค์ สารเติมแต่งอาหาร (Food Additives) ระบบนำส่งยา (Pharmaceutical-delivery Systems) วิธีเยียวยารักษาโรคแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน (Novel Therapeutics) และการเคลือบสิ่งทอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงประเด็นที่ว่า “ความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสารเหล่านี้เมื่อถึงจุดสุดท้ายของวงจรชีวิต (The End of Lives)”

          ปัจจุบันมีการนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้กับอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น เช่น อยู่ในรูปแบบของ "แคปซูลนาโน" ที่ช่วยเก็บสารอาหารหรือวิตามินสำหรับผสมลงในเครื่องดื่ม เช่น วิตามินบางชนิดที่ละลายในน้ำมัน เมื่อนำไปผสมลงเครื่องดื่มโดยตรง ก็จะได้เครื่องดื่มที่ขุ่นดูไม่น่าบริโภค

แต่หากบรรจุลงแคปซูลนาโนก่อน ก็จะได้เครื่องดื่มที่ใส หรือบางครั้งใช้เก็บรักษาสารอาหารที่สลายตัวได้ง่ายอย่างวิตามินซี หรือใช้แคปซูลนาโนเพื่อกลบกลิ่น เช่น เคลือบน้ำมันปลาเพื่อกลบกลิ่นคาว หรือกลิ่นเหม็นเขียวของมะระขี้นก ซึ่งก็จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เหมือนอาหารเสริมเหล่านี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดีสินค้าที่ใช้กับอาหารต้องเป็นสารชีวภาพที่กินได้ทั้งหมดเท่านั้น ไม่เติมสารที่ไม่ใช้กับอาหาร อย่างน้ำนาโนหรือน้ำแร่ที่อ้างว่าเติม "ซิลเวอร์นาโน" (Nanosilver) ซึ่งไม่ใช่สารชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งแม้จะผ่านกระบวนการนาโนเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ปลอดภัย เพราะการนำสารจำพวกเงินมาผสมลงไปในน้ำดื่ม หากรับประทานเข้าไปอาจก่ออันตรายต่อร่างกายได้

นอกจากนาโนเทคโนโลยีจะมีบทบาทในการบรรจุสารอาหารลงแคปซูลเพื่อลดข้อจำกัดของอาหารในหลาย ๆ ด้านแล้ว ยังมีการประยุกต์ใช้กับบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจจะพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ฉลาดที่สามารถระบุสถานภาพของอาหารและผัก-ผลไม้ต่าง ๆ ได้ว่าอยู่ในสภาพที่รับประทานได้หรือไม่ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ร่วมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะตรวจจับสารตกค้างในอาหารได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีความเป็นห่วงจากนักวิชาการว่า การใช้นาโนเทคโนโลยีกับอาหารอาจเป็นอันตรายได้ เนื่องจากมีข้อมูลเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าวัสดุนาโนบางชนิดผลิตอนุมูลอิสระที่จะทำลายหรือเลียนแบบดีเอ็นเอ และสามารถสร้างความเสียหายให้แก่ตับและไตได้

          ส่วนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอางค์ ก็ได้มีการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของเครื่องสำอางค์ ตัวอย่างเช่น การสังเคราะห์อนุภาคนาโนเพื่อใช้เป็นสารกันแดดในกลุ่มโลหะออกไซด์ เช่น ซิงก์ออกไซด์ (ZnO) ไททาเนียมไดออกไซด์ (TiO2)

โดยทั่วไปสารเหล่านี้เมื่อทาบนผิวสามารถดูดกลืนและสะท้อนแสงได้เป็นอย่างดี ยอมให้แสงขาวที่ตามองเห็นทะลุผ่านได้ แต่ไม่ยอมให้รังสี UVA และ UVB ผ่านได้ ดังนั้นเมื่อสามารถสังเคราะห์สารดังกล่าวให้มีขนาดที่เล็กลงในระดับนาโนเมตรได้จะทำให้มีพื้นที่ผิวที่มากขึ้น และด้วยอนุภาคที่เล็กละเอียดเมื่อทาบนผิวจะทำให้ไม่เกิดเป็นคราบขาว

          หรือจะเป็นการเตรียมในรูปแบบที่เป็นของเหลวกระจายตัวที่มีสารออกฤทธิ์เก็บกักภายในถุงหุ้ม (Nanodispersed System) ซึ่งสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น ไลโปโซม (Liposomes) อิมัลชัน (Nanoemulsions) อนุภาคนาโนชนิดไขมันแข็ง (Solid Lipid Nanoparticles) ซึ่งการเตรียมสารออกฤทธิ์ในรูปแบบดังกล่าวนี้ จะช่วยในด้านการเพิ่มความคงตัวของสารออกฤทธิ์จากการสัมผัสแสงและออกซิเจน สามารถควบคุมการปลดปล่อยได้ตามต้องการ รวมทั้งอาจมีผลในการซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น

ในปัจจุบันได้มีการใช้เทคนิคการเตรียมอนุภาคนาโนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อการบรรจุและนำส่งสาร โดยผสมอนุภาคเหล่านี้กับเนื้อของเครื่องสำอางค์ นอกจากนี้ก็ยังมีการใช้อนุภาคนาโนที่ไม่ได้มีการบรรจุสารสำคัญใด ๆ เช่น ไลโปโซมแบบเปล่าเพื่อเป็นส่วนผสมในครีมบำรุงผิวสามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นแก่ผิวได้เช่นกัน

          โดยเครื่องสำอางค์นาโนที่มีการวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ มีหลากหลายแบบด้วยกัน เช่น 
          - โลชั่นและครีมบำรุงผิวที่มีอนุภาคบรรจุสารอุ้มความชื้น (Hemectants) สารทำให้ขาว (Whitening Agent) สารชะลอความแก่ (Anti-aging) เอนไซม์ หรือวิตามินต่าง ๆ
          - ครีมกันแดดที่มีสารกันแดด (Sunscreen) หรือสารอุ้มความชื้น
          - ครีมรองพื้นที่มีสารปรับสีผิว หรือสารทำให้ผิวสีเข้มขึ้น (Tanning Agents)
          - ลิปสติกที่มีอนุภาคนาโนบรรจุน้ำมันเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นที่สามารถออกฤทธิ์ได้เมื่ออนุภาคแตกออก
          - แป้งแข็งและอายแชโดว์ที่มีอนุภาคบรรจุสารสี (Pigment) และหัวน้ำหอม

          นอกจากนี้ ยังรวมถึงสารสกัดสมุนไพรเพื่อผลิตเวชสำอางค์และผลิตภัณฑ์สปา หรือโรลออนและแป้งทาตัวสูตรยับยั้งแบคทีเรีย เป็นต้น

          ปัจจุบันยังไม่มีหลักในการสังเกตว่าเครื่องสำอางค์ชนิดใดผลิตด้วยนาโนเทคโนโลยี การเลือกซื้อจึงทำได้เพียงแค่ดูฉลากที่ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์นาโน (Nanotech Products) ควบคู่กับเครื่องหมายรับรองสินค้าจากองค์การอาหารและยา (อย.) ส่วนการจะพิจารณาว่าเครื่องสำอางค์นาโนนั้น ๆ มีความปลอดภัยหรือไม่ ต้องดูจากสารที่ถูกย่อขนาด

หากเป็นสมุนไพรหรือวิตามินที่ร่างกายมีอยู่ตามธรรมชาติ ก็หมดกังวลเรื่องพิษหรือการแพ้ได้ระดับหนึ่ง แต่หากเป็นเครื่องสำอางค์นาโนประเภทที่ผสมสารสังเคราะห์หรือสารเคมี เช่น สีในเมคอัพ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้

 ส่วนประเด็นความห่วงใยอีกข้อหนึ่งที่อาจมีผลกระทบต่อผู้ใช้ ก็คือการที่ผู้ผลิตได้นำนวัตกรรมนาโนมาใช้กับเครื่องสำอางค์เพื่อช่วยให้สีเกาะติดผิวได้ดียิ่งขึ้นนั้น อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องที่เกินความจำเป็น เพราะมีความเป็นไปได้ที่อนุภาคที่เล็กมาก ๆ ในระดับนาโนสเกลของสารเคมี อาจซึมลึกเข้าสู่เซลล์ผิวและกระแสเลือดแล้วเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน รวมถึงเมื่อสะสมมาก ๆ เข้าก็อาจทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้

          สำหรับประเทศไทยนั้น ขณะที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้านาโนโดยเฉพาะเครื่องสำอางค์กันอย่างมากมาย ทาง ดร. สิรินมาส คัชมาตย์ นักวิชาการกลุ่มเครื่องสำอางค์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยว่า อย. ยังไม่มีกฎหมายหรือห้องแล็บทดสอบผลิตภัณฑ์นาโนเพื่อรองรับตลาดผลิตภัณฑ์หรืออาหารนาโนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

และในระยะอันใกล้นี้ อย. ก็ยังไม่มีแผนสร้างตราสัญลักษณ์เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองสินค้านาโน ดังนั้นนาทีนี้ สิ่งที่ผู้บริโภคจะทำได้ก็คือ ยึดหลักการ "ปลอดภัยไว้ก่อน" และไม่ใช่แค่เพียง "รอคอยและเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ" เท่านั้น แต่ต้องมีบทบาทในการช่วยกันกระตุ้นให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของคนไทยวิ่งตามเทคโนโลยีให้ทันท่วงที อย่างน้อยขอแค่มีกฎหมายติดฉลากสินค้านาโนเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกก็ยังดี

          ส่วนทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ก็ได้มีการนำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เช่น การพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์ หรือหัวตรวจวัดสารชีวภาพและสารวินิจฉัยโรคโดยใช้วัสดุชีวโมเลกุล เครื่องมือแพทย์ขนาดเล็กที่ใช้ในร่างกายผู้ป่วย เวชภัณฑ์เคลือบที่ปลอดเชื้อ หรือการปรับโครงสร้างโมเลกุลของยาที่สามารถหวังผลในการทำลายชีวโมเลกุลที่เป็นเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง (เช่น เซลล์มะเร็ง) เป็นต้น

อย่างไรก็ตามก็ยังมีความเป็นห่วงในบางประเด็นสำหรับความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เพราะเมื่อมีการนำวัสดุนาโนที่มีความสลับซับซ้อนมาใช้งาน ผลพลอยได้จากนาโน (Nano-byproduct) จำเป็นต้องได้รับการจัดการด้วย

ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันที่ยังไม่ทราบว่า อนุภาคนาโนที่จะถูกใช้ในการรักษาโรคมะเร็งจะสามารถหลงเหลืออยู่ในร่างกายผู้ป่วยหรือถูกขับออกได้อย่างไม่มีผลข้างเคียง ซึ่งวัสดุนาโนบางอย่างที่เราเห็นว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้และไม่มีพิษสงนั้น อาจปลอดภัยสำหรับสิ่งหนึ่งแต่ก็อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งอื่นก็เป็นได้

          ส่วนสิ่งทอที่เคลือบด้วยอนุภาคนาโนนั้น เช่น เสื้อนาโน ถุงเท้านาโน หรือกระเป๋านาโน ฯลฯ ส่วนมากจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดจำนวนการเกิดแบคทีเรีย กลิ่นอับชื้น และลดการเปียกชื้นจากเหงื่อ โดยการใช้เทคโนโลยีเคลือบอนุภาคซิลเวอร์นาโนกับเส้นใยสิ่งทอ ดู ๆ แล้วก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้สวมใส่เพราะอนุภาคนาโนเหล่านี้ก็ถูกเคลือบลงบนผิวฟิล์มก่อน โอกาสที่จะซึมผ่านผิวหนังก็น่าจะน้อย แต่ผู้ที่แพ้ง่ายอาจเกิดอาการระคายเคืองหรือคันตามผิวหนังที่สัมผัสก็เป็นไปได้

          ณ เวลานี้ อาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาหลักสำหรับผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้านาโน ก็คือ การพิจารณาว่าสินค้านาโนใดที่จะปลอดภัยเพียงพอสำหรับการใช้งานได้อย่างมั่นใจ เพราะการที่จะเชื่อใจหรือวางใจในฉลากผลิตภัณฑ์นาโนแค่นั้นก็อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตัวฉลากผลิตภัณฑ์นาโนก็เพียงแค่บ่งบอกว่าเป็นหรืออ้างว่าเป็นสินค้านาโน ทั้ง ๆ ที่สินค้าบางตัวอาจจะมีเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีโดยที่ไม่ใช่วัสดุนาโนทั้งหมด

นอกจากนี้ยังรวมถึงจะรับประกันความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ได้ 100 % หรือไม่ เพราะลำพังตัวผู้ประกอบการเองก็ยังสับสนว่า การทดสอบอะไรกันแน่ที่มีความจำเป็นต่อการที่จะมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์นาโนนั้นปลอดภัยอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการใช้วิจารณญาณส่วนตัวของผู้บริโภคแต่ละท่าน ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องใช้สินค้านาโน และไว้เนื้อเชื่อใจในความปลอดภัยของตัวผลิตภัณฑ์นั้น ๆ หรือไม่ รวมถึงพร้อมที่จะรับความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ด้วยหรือไม่ เช่นกัน

ความกังวลถึงอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสินค้านาโน (Potential Environment Hazards)
          ตัวอย่างของความกังวลถึงผลกระทบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมที่พูดถึงกันมาก ก็คือ ผลกระทบที่ตามมาจากการใช้ประโยชน์จากอนุภาคนาโนของโลหะเงินหรือที่เรียกกันติดปากว่า “อนุภาคซิลเวอร์นาโน (Silver Nanoparticles)” ซึ่งเป็นอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติพิเศษในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและป้องกันกลิ่นอับชื้น จึงพบว่ามักมีการนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ต้องการคุณสมบัติเช่นที่ว่านี้

ดังเช่นผลิตภัณฑ์นาโนหลากหลายที่วางขายในท้องตลาด เช่น เสื้อยืด เสื้อชั้นใน ถุงเท้า ผลิตภัณฑ์ซับในรองเท้าที่ขจัดกลิ่น ภาชนะเก็บอาหาร อุปกรณ์ปรับอากาศให้สดชื่น เครื่องซักผ้า หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ของใช้ในบ้าน น้ำยาซักผ้า เครื่องครัว ของเล่นเด็ก เครื่องนอน สีทาบ้านและสารเคลือบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

          และก็เหตุเนื่องจากอนุภาคซิลเวอร์นาโนเป็นตัวต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีอยู่ตามธรรมชาติ (Naturally Antibacterial) ประกอบกับผลการทดสอบของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท (Arizona State University) สหรัฐฯ ที่พบว่าอนุภาคนาโนที่เคลือบเส้นใยสิ่งทอหรือผสมในสินค้าต่าง ๆ บางส่วนสามารถหลุดร่อนออกมาได้ จึงทำให้เป็นที่กังวลกันว่า เมื่อมีปริมาณของอนุภาคซิลเวอร์นาโนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ถูกชะล้างปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ

เช่น น้ำทิ้งที่มีอนุภาคซิลเวอร์นาโนปะปนอยู่จากการซักล้างถุงเท้า หรือเสื้อผ้านาโนที่เคลือบอนุภาคซิลเวอร์นาโน ก็จะสามารถซึมลงสู่ใต้ดินหรือไหลไปรวมกับแหล่งน้ำธรรมชาติได้ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่อนุภาคซิลเวอร์นาโนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อจุลชีพที่มีประโยชน์ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินและน้ำ หรือซิลเวอร์นาโนอาจไปเพิ่มความต้านทานในการฆ่าเชื้อของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย หรือแม้กระทั่งสะสมจนเป็นอันตรายและอาจถึงขั้นทำลายสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ (เช่น ปลา สาหร่าย สัตว์น้ำพวกกุ้ง ปู เป็นต้น) รวมไปถึงอาจรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในแหล่งน้ำได้

ทั้งนี้เพราะว่า เงินที่อยู่ในรูปไอออนที่ละลายอยู่ในแหล่งน้ำอาจไปรบกวนกระบวนการทางเคมีในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินที่อยู่ในรูปไอออนจะเป็นพิษต่อมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้มข้นสูงในระดับหนึ่ง แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามความเป็นพิษของอนุภาคซิลเวอร์นาโนเช่นกัน เนื่องจากซิลเวอร์มีความเป็นพิษสูงกว่าโลหะอื่นที่อยู่ในรูปของอนุภาคนาโนเหมือนกัน

และจากเหตุผลความกังวลข้างต้นจึงทำให้องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศถอนการรับรองรายการสินค้าในตลาดอเมริกาที่มีส่วนผสมของซิลเวอร์นาโนไปหลายรายการ เช่น ห้ามใช้อนุภาคซิลเวอร์นาโนกับเครื่องซักผ้า ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจทำให้มีอนุภาคซิลเวอร์นาโนปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่

          นอกจากอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่นิยมใช้กันมากในอุตสาหกรรมนาโนแล้ว ยังมีพระเอกอีกตัวหนึ่งที่สร้างความกังวลถึงอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน นั่นก็คือ “ท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes)” ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เนื่องด้วยมีคุณสมบัติพิเศษคือ ด้วยน้ำหนักเท่ากันมีความแข็งแรงกว่าเหล็กถึง 100 เท่า ส่งผลให้สินค้ามีน้ำหนักเบาและแข็งแรง เช่น ไม้เทนนิส แฮนด์จักรยาน เป็นต้น

ปัญหาสำหรับผู้บริโภคก็คือขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่ามีการใช้ท่อนาโนคาร์บอนในสินค้าใดแล้วบ้าง รวมถึงจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อสินค้าที่มีท่อนาโนคาร์บอนเป็นส่วนผสมอยู่ด้วยนี้ออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น แล้วถูกกองทิ้งไว้หรือแตกหักเสียหายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และกลายเป็นขยะนาโน หรืออาจตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งได้ก่อให้เกิดคำถามว่า จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้กันอย่างไร

          เนื่องจากวัสดุนาโนมีความคงทนสูงกว่าวัสดุแบบดั้งเดิม และอนุภาคนาโนที่ใช้ก็ไม่ได้ติดอยู่คงทนถาวรกับสินค้าเหล่านั้นตลอดไป แต่จะหลุดร่อนไปตามกาลเวลา จึงทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยาวนานกว่าเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วกลายเป็นขยะนาโน ซึ่งก็ก่อให้เกิดปัญหาแบบเดิม ๆ ที่ประสบกันมาที่พอจะมองเห็น ก็คือ การสะสมของขยะผลิตภัณฑ์นาโนเพิ่มขึ้นเป็นหลาย ๆ เท่าตัว ซึ่งก็อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความสมดุลทางนิเวศวิทยา

ยกตัวอย่างเช่น อนุภาคนาโนของเงินหรืออนุภาคซิลเวอร์นาโน (Silver Nanoparticles) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ อาจส่งผลเสียต่อเชื้อจุลชีพที่มีประโยชน์ในสิ่งแวดล้อมได้ถ้าถูกปลดปล่อยหรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ผลที่ตามคือส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตโดยรวม ซึ่งเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ทราบกันเป็นอย่างดีว่า ถ้าส่วนล่างสุดของห่วงโซ่อาหารได้รับความกระทบกระเทือน ก็จะส่งผลถึงด้านบนสุดของห่วงโซ่อาหารก็คือมนุษย์นั่นเอง

ทั้งนี้มีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายว่า อนุภาคนาโนที่จะแสดงผลว่าเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมนั้น น่าจะต้องเกิดจากการสะสมในปริมาณมากและอาจจะขึ้นอยู่กับขนาดหรือรูปร่างของอนุภาคนาโนนั้น ๆ ประกอบกันด้วย และที่สำคัญ มีปัญหาที่ท้าทายและรอคอยคำตอบในลำดับถัดไปก็คือ ถึงแม้เรารู้ว่ามีการปนเปื้อนของอนุภาคนาโนในสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น (เช่น ในแหล่งน้ำธรรมชาติ) แต่ว่าเราจะมีวิธีขจัดอนุภาคนาโนนั้นออกจากแหล่งปนเปื้อนหรือควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้อย่างไรกัน

          ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากอนุภาคนาโนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จึงควรที่จะต้องทำการศึกษาข้อมูลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านพิษวิทยา หรือด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้แน่ชัดเสียก่อน รวมถึงต้องมีการประเมินความปลอดภัยทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก่อนออกสู่ท้องตลาด และติดฉลากผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อมูล

ซึ่งผู้บริโภคเองก็มีสิทธิ์ในการที่จะรับรู้ข้อมูลในส่วนของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของอนุภาคนาโนนั้น เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรเลือกใช้หรือไม่ ด้วยเหตุผลใด นอกจากนี้ยังต้องมีการจุดประกายและสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของวัสดุระดับนาโนต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ให้ทัดเทียมกับความตื่นตัวในเรื่องของนาโนเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นทุกขณะ

เอกสารอ้างอิง
- “Oversight of Next-Generation Nanotecchnology”; J.Charance Davis, Project on Emerging Nanotechnology (PEN), April 2009

- “Approach to Safe Nanotechnology” Managing the Health and Safety Concerns Associated with Engineered Nano Materials; Department of Health and Human Services, Centers for Disease Control and Prevention, National Institute for Occupation Safety and Health; DHHS (NIOSH) Publication No.2009-125, March 2009

- Current Intelligence Bulletin 60 “Interim Guidance for Medical Screening and Hazard Surveillance for Workers Potentially Exposed to Engineered Nanoparticles”; Department of Health and Human Services, Centers for Disease Control and Prevention, National Institute for Occupation Safety and Health; DHHS (NIOSH) Publication No.2009-116, Feb 2009

- “Principles for the Oversight of Nanotechnologies and Nanomaterials”; Joint Declaration of Nanotechnology-46 Organizations, Executed on July 31, 2007

- รายงานข้อมูลสิทธิบัตร ความก้าวหน้าและสถานะด้านนาโนเทคโนโลยีและกฎหมาย มาตรฐานในประเทศสหรัฐอเมริกาประจำปีงบประมาณ 2550 สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.11 โดย น.ส .ศันสนีย์ สันติสุขวงศ์โชติ ที่ปรึกษาโครงการ (28 กันยายน 2550)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด