เนื้อหาวันที่ : 2011-11-17 11:25:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 14626 views

การจัดการอันตรายจากการระเบิดของฝุ่น

ฝุ่น ในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถที่จะก่อให้เกิดอันตรายได้หลายระดับ ทำให้เกิดความรำคาญจากอาการคันตามเนื้อตัว หรือบดบังทัศนวิสัยในการปฏิบัติงาน

การจัดการอันตรายจากการระเบิดของฝุ่น
(Management of Dust Explosion Hazards)

ศิริพร วันฟั่น

          ฝุ่น (Dusts) ในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถที่จะก่อให้เกิดอันตรายได้หลายระดับ ทำให้เกิดความรำคาญจากอาการคันตามเนื้อตัว หรือบดบังทัศนวิสัยในการปฏิบัติงาน หรือเป็นสาเหตุให้ลื่นล้ม ไปจนถึงอันตรายขั้นรุนแรงจากการระเบิดของฝุ่นติดไฟ

ในขณะที่ฝุ่นบางชนิด เช่น แอสเบสตอส (Asbestos-แร่ใยหิน) และ ซิลิกา (Silica) สามารถที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรงและผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น โรคปอดฝุ่น (Pneumoconiosis-เป็นอาการป่วยจากภาวะฝุ่นจับปอด เนื่องจากหายใจสูดฝุ่นละอองเข้าไปทำให้ปอดแข็ง)

ซึ่งโดยปกติทั่วไปแล้ว เราจะพบว่ามีฝุ่นหลายชนิดที่เป็นผลจากกระบวนการต่าง ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรมที่ถูกจัดอยู่ในประเภท “ฝุ่นติดไฟได้ (Combustible Dusts)” และสามารถก่อให้เกิดการระเบิดตามมา ถ้าครบองค์ประกอบของสภาวะการระเบิด ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาอย่างใหญ่หลวง ทั้งสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจด้วย จากเหตุการณ์ระเบิดของฝุ่นติดไฟที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้งนั้น มักปรากฏว่าผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายที่มีอยู่

ดังนั้นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจากการระเบิดของฝุ่นจึงควรที่จะมีการพิจารณาว่าสถานประกอบการของตนเองนั้นเสี่ยงต่ออันตรายประเภทนี้หรือไม่ และถ้ามี ก็ต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสมเพียงพอที่จะป้องกันหรือลดโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นที่ว่านี้

          แม้แต่ในประเทศอุตสาหกรรมที่มีกฏหมายและระเบียบข้อบังคับด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่เข้มงวด และเป็นแม่แบบอย่างประเทศสหรัฐฯ ก็ยังมีเหตุการณ์ระเบิดของฝุ่นติดไฟเกิดขึ้นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากรายงานของคณะกรรมการสวบสวนอันตรายและความปลอดภัยสารเคมีของสหรัฐฯ (CSB) ที่เปิดเผยว่า

ในระหว่างปี ค.ศ. 1980-2005 (พ.ศ. 2523-2548) เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้นกว่า 281 กรณี ส่งผลให้มีผู้ปฏิบัติงานเสียชีวิตทั้งสิ้น 119 ราย และบาดเจ็บ 718 ราย และภายหลังปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) เป็นต้นมาก็ยังเกิดเหตุการณ์เช่นที่ว่านี้อีกกว่า 70 กรณี ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตยา (Pharmaceutical Plant) ในรัฐแคโรไลนาตอนเหนือ มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บ 12 ราย

จากเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้จากฝุ่นผงพลาสติกที่สะสมอยู่บนเพดาน หรือโรงงานผลิตยางเทียม (Rubber Fabricating Plant) ในรัฐมิซิสซิปปี มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บสาหัส 6 ราย จากการระเบิดที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการสะสมในปริมาณสูงของฝุ่นยางที่ระเบิดได้ หรือการระเบิดที่เกิดขึ้นกับโรงงานกลั่นน้ำตาล (Sugar Refinery) ในรัฐจอร์เจีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ที่เริ่มจากฝุ่นน้ำตาลที่จุดติดไฟแล้วตามมาด้วยการระเบิดและเพลิงไหม้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และบาดเจ็บ 38 ราย

ซึ่งผลจากกรณีที่เกิดขึ้นกับโรงงานกลั่นน้ำตาลนี้ ส่งผลให้ทางหน่วยงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของสหรัฐฯ (OSHA) ถึงกับต้องริเริ่ม “National Emphasis Program (NEP)” ที่นำไปสู่การดำเนินการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากขึ้น สำหรับโรงงานที่ฝ่าฝืนและมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดอันตรายจากการระเบิดของฝุ่นที่ติดไฟ

“ฝุ่นติดไฟได้ (Combustible Dusts)” ตามมาตรฐานของ NFPA 654 หมายถึง “วัสดุของแข็งใด ๆ (Solid Material) ที่ถูกดำเนินการแบ่งย่อยให้มีขนาดเล็กละเอียดมาก ๆ (Finely Divided) โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหรือน้อยกว่า 420 ไมครอนแล้วนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงอันตรายจากไฟหรือการระเบิด (Fire or Explosion) เมื่อแพร่กระจายและจุดติดไฟขึ้นในอากาศ”

การระเบิดของฝุ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร
          เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วกับสามเหลี่ยมพื้นฐานการก่อกำเนิดไฟ (The Basic Fire Triangle) (ดูรูปที่ 1 ประกอบ) ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบ (Elements) พื้นฐานที่จำเป็น 3 ประการในการก่อให้เกิดไฟขึ้นมา นั่นก็คือ ออกซิเจนในอากาศ (Oxygen) แหล่งจุดติดไฟ (Ignition Source) ซึ่งก็คือ ความร้อน (Heat) และเชื้อเพลิง (Fuel) ซึ่งก็คือ ฝุ่นที่ติดไฟได้ (Combustible Dust)

และเมื่อสภาวะแวดล้อมมีองค์ประกอบเพิ่มขึ้นมา 2 ประการคือ การแพร่กระจายของอนุภาคฝุ่น (Dispersion of Dust Particulates) ในปริมาณและความเข้มข้นที่มากเพียงพอก็จะสามารถที่จะก่อให้เกิดการเผาไหม้ (Combustion) อย่างรวดเร็วที่เรียกว่า “การปะทุ (Deflagration)” และถ้ากลุ่มฝุ่นขนาดใหญ่นี้อยู่ในสถานที่จำกัด (Confinement of Dust Cloud) เช่น อยู่ในตัวอาคาร ห้อง ท่อส่ง หรือภายในกระบวนการทำงานของอุปกรณ์ ก็จะส่งผลทำให้แรงดัน (Pressure) เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นเกิดการระเบิดได้

ทั้งนี้องค์ประกอบทั้ง 5 ประการนี้ ต้องครบสมบูรณ์เท่านั้นจึงจะทำให้เกิดการระเบิดของฝุ่นได้ จะขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไปไม่ได้ (ดูรูปที่ 2 ประกอบ) อย่างไรก็ตาม มี 2 องค์ประกอบที่ยากต่อการขจัดคือ ออกซิเจนในอากาศ และสถานที่จำกัดของกลุ่มฝุ่นขนาดใหญ่ ส่วนองค์ประกอบที่เหลืออีก 3 ประการ สามารถที่จะควบคุมให้อยู่ในขอบเขตที่ลดความเสี่ยงได้

รูปที่ 1 แสดงองค์ประกอบ (Elements) พื้นฐาน 3 ประการที่จำเป็นในการก่อให้เกิดไฟหรือที่เรียกกันว่า สามเหลี่ยมพื้นฐานการก่อกำเนิดไฟ (The Basic Fire Triangle)

รูปที่ 2 แสดงองค์ประกอบ (Elements) 5 ประการที่จำเป็นในการก่อให้เกิดการระเบิดของฝุ่นที่ติดไฟ

การระเบิดซ้ำซ้อน (Multiple Explosions)
          การระเบิดในขั้นแรก (Primary Explosion) (ดูรูปที่ 3 ประกอบ) ที่เกิดในกระบวนการทำงานของอุปกรณ์หรือในพื้นที่ใดที่มีฝุ่นสะสม (Dust Accumulation) กันอยู่ จะทำความเสียหายต่อระบบจำกัด (Containment Systems) ต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น ท่อนำอากาศ ท่อส่ง หรืออุปกรณ์กำจัดฝุ่น และทำให้เกิดคลื่นระเบิด (Blast Wave) ตามมาที่อาจก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนของฝุ่นสะสมจำนวนมากที่ทับถมกันอยู่อย่างหลวม ๆ แล้วเป็นผลให้เกิดการแพร่กระจายของฝุ่นนี้ขึ้นไปในอากาศ ในลักษณะของกลุ่มฝุ่นขนาดใหญ่ (Dust Cloud Formed) และอาจเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง

และเมื่อกลุ่มฝุ่นที่ว่านี้เกิดจุดติดไฟขึ้นมาจากความร้อนที่ปลดปล่อยออกมาจากการระเบิดในขั้นแรก ก็อาจก่อให้เกิดการระเบิดขั้นที่สอง (Secondary Explosion) หรือระเบิดระลอกอื่นตามมา (ดูรูปที่ 4 ประกอบ) ซึ่งจะสร้างความเสียหายที่รุนแรงมากกว่าการระเบิดในขั้นแรก อันเนื่องมาจากปริมาณและความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นของฝุ่นติดไฟได้ที่แพร่กระจายออกมา ประกอบกับแหล่งจุดติดไฟที่ใหญ่กว่าเดิมด้วย
 

รูปที่ 3  แสดงการระเบิดของฝุ่นในขั้นแรก (Primary Explosion)


รูปที่ 4 แสดงการระเบิดของฝุ่นในขั้นที่สอง (Secondary Explosion)

อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจากการระเบิดของฝุ่น
          The National Fire Protection Association (NFPA) ได้ระบุไว้ว่า  “อุตสาหกรรมใด ๆ ก็ตามที่มีกระบวนการต่าง ๆ ที่ใช้ดำเนินการกับวัสดุที่ติดไฟได้และวัสดุที่ไม่ติดไฟบางชนิด อันเป็นผลให้วัสดุที่ว่านี้อยู่ในสภาวะที่มีขนาดเล็กละเอียดมาก ๆ (Finely Divided State) แล้วนั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงจากไฟหรือการระเบิดได้”

ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ของวัตถุอินทรีย์ตามธรรมชาติและแบบสังเคราะห์ (Natural and Synthetic Organic Materials) เช่นเดียวกับโลหะบางชนิด สามารถที่จะก่อให้เกิดฝุ่นที่ติดไฟได้ อาจกล่าวง่าย ๆ ได้ว่า อุตสาหกรรมใด ๆ ที่มีกระบวนการผลิต ปฏิบัติการ จัดการ และจัดเก็บ ที่สามารถก่อกำเนิดฝุ่นขึ้นมา ก็อาจมีความเสี่ยงจากการระเบิดของฝุ่นได้

ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการเกษตร เคมี อาหาร (เช่น ลูกกวาด น้ำตาล เครื่องเทศ แป้ง อาหารเม็ด ผงนม) ไซไลเมล็ดธัญพืช ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยาสูบ สีย้อมผ้า ถ่าน พลาสติก เรซิน ยางและล้อยางรถ ไม้ กระดาษ เยื่อกระดาษ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ อุตสาหกรรมยา ถ่านหิน อุตสาหกรรมที่ดำเนินการและจัดเก็บผงโลหะ (เช่น โครเมี่ยม เหล็ก สังกะสี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมกนีเซียม และอลูมิเนียม) กระบวนการรีไซเคิล (โลหะ กระดาษ และพลาสติก) และการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นต้น

กรรมวิธีในการลดความเสี่ยงจากการระเบิดของฝุ่น
          การจัดการความเสี่ยงจากการระเบิดของฝุ่นที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องเข้าใจถึงคุณลักษณะของการระเบิดของฝุ่น (The Dust‘s Explosion Characteristics) เช่นเดียวกับการชี้บ่ง (Identify) ทั้งในส่วนของสถานที่ที่มีบรรยากาศที่สามารถติดไฟได้ (Combustible Atmospheres) และแหล่งจุดติดไฟที่มีศักยภาพ (Potential Ignition Sources) ที่ปรากฏอยู่ในสภาวะการทำงานทั้งปกติหรือไม่ปกติ

และรวมถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ กระบวนการ หรือระบบต่าง ๆ ก็ต้องได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีในการขจัด และ/หรือลดโอกาสในการเกิดระเบิดของฝุ่น สามารถที่จะปกป้องผู้คนและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ มีการบำรุงรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ กระบวนการ หรือระบบต่าง ๆ เหล่านี้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อที่จะลดการปลดปล่อยหรือการสะสมของฝุ่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ โดยกรรมวิธีในการลดความเสี่ยงจากการระเบิดของฝุ่น มีดังนี้คือ

1. การเข้าใจเงื่อนไขสำหรับการระเบิดของฝุ่น (Required Conditions for Explosion)
          โดยเราสามารถพิจารณาจากองค์ประกอบ 5 ประการ ที่ทำให้เกิดการระเบิดของฝุ่นได้คือ แหล่งจุดติดไฟ (Ignition Source) ได้แก่ พื้นผิวที่ร้อน อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือไฟฟ้าสถิต เชื้อเพลิง (Fuel) คือ ฝุ่นที่สะสมและแพร่กระจาย ตัวให้ออกซิเจน (Oxidizer) คือ ออกซิเจนที่อยู่ในอากาศโดยรอบ การแพร่กระจายของฝุ่น (Dust Dispersion) คือ กลไกที่จะแพร่กระจายฝุ่นที่สะสมอยู่ และสถานที่จำกัด (Confinement) โดยอุปกรณ์ ระบบ หรือตัวอาคาร

ซึ่งถ้าเราแจกแจงลงไปจะพบว่า มีหลายเงื่อนไขที่ต้องบังเกิดเกิดขึ้นพร้อมกันถึงจะทำให้มีการระเบิดของฝุ่นได้คือ ฝุ่นต้องสามารถติดไฟได้ ฝุ่นต้องแขวนลอยอยู่ในอากาศ ความเข้มข้นของฝุ่นต้องอยู่ในช่วงที่สามารถระเบิดได้ (Explosible Range) ฝุ่นต้องมีขนาดของอนุภาคที่ส่งเสริมการแพร่กระจายของเปลวไฟ บรรยากาศของกลุ่มฝุ่นขนาดใหญ่ (Dust Cloud) ต้องสามารถที่จะเอื้ออำนวยต่อการติดไฟได้ และแหล่งจุดติดไฟต้องมีพลังงานเพียงพอที่จะเริ่มการแพร่กระจายของเปลวไฟ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการประกอบกันขึ้นของเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันการระเบิดของฝุ่น

2. การประเมินโอกาสในการระเบิดของฝุ่นในพื้นที่งาน (Workplace Dust Explosion Assessment)
          ดำเนินการตรวจสอบเพื่อชี้บ่งปัจจัยต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการเอื้ออำนวยต่อการระเบิดของฝุ่น เช่น วัสดุ (Materials) ต่าง ๆ ที่ใช้ดำเนินการที่สามารถจะติดไฟได้เมื่อผ่านกระบวนการแบ่งย่อยให้มีขนาดเล็กละเอียดมาก ๆ กระบวนการต่าง ๆ ที่ใช้หรือผลิตฝุ่นที่ติดไฟได้ ซึ่งรวมถึงผลพลอยได้ (By-products) ด้วย

บริเวณที่ซึ่งอาจมีการสะสมของฝุ่นติดไฟทั้งในส่วนของพื้นที่เปิด เช่น พื้นหรือผนังห้อง และพื้นที่อับต่าง ๆ เช่น คานหรือเพดานของอาคาร บริเวณรอบ ๆ หรือภายในท่อของระบบกำจัดฝุ่น ตรวจสอบเครื่องมือหรือกลไกต่าง ๆ ที่อาจทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายไปในอากาศ และแหล่งจุดติดไฟที่มีศักยภาพ เช่น งานที่ก่อให้เกิดประกายไฟหรือความร้อน (งานเชื่อม การตัด การขัด) หรือแหล่งไฟฟ้าสถิต

3. การประเมินความสามารถในการเผาไหม้หรือติดไฟของฝุ่น (Dust Combustibility Assessment)
          ซึ่งแหล่งข้อมูลขั้นต้นที่อาจใช้ประโยชน์ได้คือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัยวัสดุ (Material Safety Data Sheet: MSDS) และข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ผลการทดสอบจากผู้ผลิตสารเคมี ก็อาจจำเป็นต้องใช้ ทั้งนี้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไฟและการระเบิด ไฟฟ้าสถิต และการไม่เสถียรของอุณหภูมิ ควรที่จะถูกระบุไว้ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยด้วย เพื่อที่จะเป็นการสร้างความเข้าใจและสามารถควบคุมอันตรายที่เชื่อมโยงกับฝุ่นที่ติดไฟได้อย่างเพียงพอ

ในบางครั้งแล้ว การที่จะทราบได้ว่าฝุ่นที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการนั้น ๆ มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นฝุ่นที่ก่อให้เกิดการระเบิดหรือไม่ ก็อาจมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งบริการจากห้องทดสอบ (Laboratory Testing) ซึ่งจะเป็นการทดสอบเพื่อประเมินคุณลักษณะของอนุภาคฝุ่นที่เชื่อมโยงกับโอกาสความเป็นไปได้ของการจุดติดไฟ และผลลัพท์หรือความรุนแรงของการระเบิด

ทั้งนี้ฝุ่นที่มีลักษณะแตกต่างกัน แม้จะมาจากวัสดุที่มีองค์ประกอบทางเคมีเหมือนกัน ก็จะมีคุณลักษณะของความสามารถในการจุดติดไฟ (Ignitability) และความสามารถในการระเบิด (Explosibility) แตกต่างกันไปด้วย โดยขึ้นอยู่กับหลากหลายตัวแปร เช่น ขนาดของอนุภาคฝุ่น (Particle Size) ที่เป็นตัวแปรหลักที่มีอิทธิพลในการเอื้ออำนวยต่อการจุดติดไฟ และความรุนแรงของการระเบิดของฝุ่น

ส่วนตัวแปรอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการระเบิดของฝุ่นจะรวมไปถึง ปริมาณความชุ่มชื้น (Moisture Content) ความชื้นในบรรยากาศโดยรอบ (Ambient Humidity) ออกซิเจนที่ส่งเสริมการเผาไหม้ รูปร่างของอนุภาคฝุ่น และความเข้มข้นของฝุ่นในอากาศ รวมถึงการที่ตัวแปรต่าง ๆ เหล่านี้ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกในช่วงของการผลิต ใช้ หรือระหว่างที่วัสดุอยู่ในกระบวนการ

และในบางกรณี ฝุ่นยังสามารถที่จะติดไฟได้แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่กว่า 420 ไมครอนก็ตาม (ตามมาตรฐานของ NFPA 654 ฝุ่นที่ติดไฟได้จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหรือน้อยกว่า 420 ไมครอน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัสดุที่เป็นเส้นใย ซึ่งคุณสมบัติทางกายภาพ (Physical Characteristics) ของฝุ่นจะถูกใช้ในการตรวจวัดและพิจารณาถึงความเป็นไปได้และระดับความรุนแรงของการระเบิด ตัวอย่างเช่น

3.1 การทดสอบความเป็นไปได้ของการระเบิด (Explosion Likelihood Tests)
          - การทดสอบเพื่อจัดจำพวกของการระเบิด (Explosion Classification Test) เป็นการทดสอบเพื่อประเมินว่ากลุ่มฝุ่นจะระเบิดหรือไม่เมื่อสัมผัสกับแหล่งจุดติดไฟที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ โดยผลที่ได้จากการทดสอบ จะทำให้ทราบว่าวัสดุที่ใช้ทดสอบจะถูกจัดจำพวกว่าอยู่ในกลุ่มวัสดุที่สามารถระเบิดได้ หรือไม่ได้

          - ความเข้มข้นน้อยสุดที่สามารถระเบิดได้ (Minimum Explosible Concentration: MEC) เป็นการทดสอบเพื่อวัดปริมาณความเข้มข้นน้อยสุดของฝุ่นที่ฟุ้งกระจายในอากาศที่สามารถแพร่กระจายเปลวไฟเมื่อจุดติดไฟ โดย MEC คล้ายคลึงกับขีดจำกัดต่ำสุดในการไวไฟ (Lower Flammable Limit: LFL) และขีดจำกัดต่ำสุดในการระเบิด (Lower Explosive Limit: LEL) ของก๊าซและไอในอากาศ ซึ่งค่า MEC นี้มีความจำเป็นถ้าวิธีเจือจาง (Dilution) ถูกเลือกใช้เป็นมาตรการความปลอดภัยพื้นฐานสำหรับการป้องกันการระเบิด

          - ขีดจำกัดความเข้มข้นของออกซิเจน (Limiting Oxygen Concentration: LOC) เป็นการพิจารณาความเข้มข้นน้อยสุดของออกซิเจน (เมื่อถูกแทนที่ด้วยก๊าซเฉื่อย เช่น ไนโตรเจน) ที่ช่วยในการติดไฟ ซึ่งถ้าบรรยากาศที่มีค่าความเข้มข้นของออกซิเจนต่ำกว่า LOC จะไม่สามารถเอื้ออำนวยในการติดไฟได้

          - อุณหภูมิน้อยสุดในการจุดติดไฟ (Minimum Ignition Temperature: MIT) เป็นการทดสอบเพื่อประเมินความไวในการตอบสนอง (Sensitivity) ของฝุ่นในการถูกจุดติดไฟขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ร้อน (Hot Environment) และพื้นผิวของอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการ (Process Equipment Surface)

          - พลังงานน้อยสุดในการจุดติดไฟ (Minimum Ignition Energy: MIE) ซึ่งจะใช้คาดการณ์ถึงความง่ายและความเป็นไปได้ในการจุดติดไฟของกลุ่มฝุ่นที่ฟุ้งกระจาย เช่น จากไฟฟ้าสถิต

          - อุณหภูมิน้อยสุดในการจุดติดไฟได้ด้วยตัวเอง (Minimum Autoignition Temperature: MAIT) เป็นการทดสอบเพื่อพิจารณาอุณหภูมิน้อยสุดที่กลุ่มฝุ่นสามารถจุดติดไฟได้ด้วยตัวเอง

          - ขีดความสามารถในการต้านทานไฟฟ้าสถิตและความสามารถในการปล่อยกระแสไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Volume Resistivity & Electrostatic Chargeability) เป็นการทดสอบเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการระเบิดอันเนื่องมาจากฝุ่นถูกจุดติดไฟขึ้นมาโดยไฟฟ้าสถิต ซึ่งผลจากการทดสอบจะช่วยในการพัฒนาวิธีดำเนินการกับวัสดุอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากไฟฟ้าสถิต

3.2 การทดสอบระดับความรุนแรงของการระเบิด (Explosion Severity Tests)
          - ค่าดัชนีการปะทุของฝุ่น (Deflagration Index: Kst) เป็นการวัดระดับความรุนแรงในการระเบิดของกลุ่มฝุ่น โดยเป็นการคำนวณจาก แรงดันมากสุดในการก่อให้เกิดระเบิด (Maximum Explosion Pressure: Pmax) และ อัตราแรงดันมากสุดที่เพิ่มขึ้น (Maximum Rate of Pressure Rise: (dp / dT)max)

 โดยถ้าค่าดัชนีการปะทุของฝุ่นมีค่ามากก็แสดงถึงระดับความรุนแรงของการระเบิดที่มากตามไปด้วย (ดูตารางประกอบ) ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้จะถูกนำไปใช้ในการออกแบบมาตรการป้องกันการระเบิด เช่น การระบายเพื่อลดการระเบิด (Explosion Relief Venting) การระงับ (Suppression) การจำกัด (Containment) และการแยกส่วน (Isolation) เป็นต้น

สำหรับฝุ่นที่ติดไฟได้ (Combustible Dust) ที่มีค่าดัชนีการปะทุของฝุ่น (Kst) มากกว่าศูนย์นั้น ตีความได้ว่าเป็นฝุ่นที่ก่อให้เกิดการปะทุแล้วนำไปสู่เพลิงไหม้หรือการระเบิดตามมาได้ และแม้ว่าจะอยู่ในระดับของการระเบิดแบบรุนแรงน้อย (Weak Explosion) ก็ตาม ก็ยังสามารถก่อให้เกิดความเสียหาย บาดเจ็บและเสียชีวิตได้

ดังตัวอย่างเช่น การระเบิดของฝุ่นที่เกิดขึ้นกับโรงงานกลั่นน้ำตาล (Sugar Refinery) ในรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 13 ราย บาดเจ็บกว่า 40 ราย ทั้ง ๆ ที่น้ำตาลมีค่าดัชนีการปะทุของฝุ่น (Kst) ค่อนข้างต่ำก็ตาม

ตาราง แสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่าดัชนีการปะทุของฝุ่นและระดับชั้นความรุนแรงสำหรับการระเบิดของฝุ่น

รูปที่ 5 แสดงถังทดสอบขนาด 20 ลิตร สำหรับใช้ในการตรวจวัดความสามารถในการระเบิดของฝุ่น (20-Liter Explosibility Test Chamber) ที่มีโครงสร้างประกอบไปด้วย Hinged Top, Sapphire Window, O-ring Gasket, Optical Dust Probe, Steel Window, Ignition Point, Support Ring, Dispersion Nozzle, Dust Reservoir และ Dispersion Air

4. มาตรการควบคุมฝุ่น (Dust Control Measures)
          อาจกล่าวได้ว่า หนึ่งในวิถีทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการระเบิดของฝุ่นก็คือ การลดการปริมาณสะสมของฝุ่น (Dust Accumulations) ให้ได้มากที่สุด ซึ่งรายงานการสอบสวนอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงของการระเบิดของฝุ่น โดยมากแล้วมีสาเหตุหลักมาจากการจัดการดูแลพื้นที่งานที่ต่ำกว่าหรือไม่ได้มาตรฐาน

ดังนั้นการดำเนินการและคงรักษาไว้ของโปรแกรมการจัดการดูแลพื้นที่งาน (Housekeeping Program) ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยป้องกันหรือขจัดการเพิ่มจำนวนของฝุ่นที่สะสมบนขอบคิ้วหน้าต่าง ประตู ระบบงานท่อ และพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งถ้ามีการสะสมของฝุ่นแม้ในปริมาณไม่มากนัก (หนาประมาณ 1/32 นิ้ว) ก็ยังสามารถที่จะก่อให้เกิดอันตรายจากการระเบิดของฝุ่นได้ ถ้ามีการแพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ผิวเพียงพอ โดยโปรแกรมการจัดการดูแลพื้นที่งาน จะประกอบไปด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

          - การลดการเล็ดลอดของฝุ่นจากอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการทำงาน หรือระบบระบายอากาศ (Ventilation Systems)

          - การใช้ระบบกำจัดฝุ่น (Dust Collection Systems) พร้อมกับแผ่นกรองฝุ่น (Filters) ที่มีประสิทธิภาพ

          - การออกแบบพื้นผิวสถานที่ปฏิบัติงานที่ลดการสะสมของฝุ่นและง่ายต่อการทำความสะอาด

          - ออกแบบหนทางที่ง่ายต่อการเข้าไปตรวจสอบบริเวณที่เป็นจุดอับ ที่อาจเป็นพื้นที่ที่มีการสะสมของฝุ่น ซึ่งอาจถูกมองข้ามหรือละเลยในการทำความสะอาด

          - ตรวจสอบพื้นที่เปิดและพื้นที่อับอยู่เป็นประจำเพื่อตรวจดูการสะสมของฝุ่น รวมทั้งมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

          - ใช้วิธีทำความสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดกลุ่มฝุ่น (Dust Clouds) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีแหล่งจุดติดไฟอยู่ ซึ่งควรใช้เครื่องดูดฝุ่นชนิดที่ใช้งานกับฝุ่นที่ติดไฟได้ (Spark and Explosion Proof) แทนการทำความสะอาดโดยใช้เครื่องเป่าลมอัดอากาศ (Compressed Air Blowers) หรือการกวาดแบบแห้ง

          - ติดตั้งวาล์วลด (Relief Valves) ให้ห่างจากพื้นที่ที่มีอันตรายจากฝุ่น

          - พัฒนาและดำเนินการสำหรับโปรแกรมการตรวจสอบ ทดสอบ การจัดการดูแลพื้นที่งาน และควบคุมอันตรายจากฝุ่น

5. มาตรการควบคุมการจุดติดไฟ (Ignition Control Measures)
          ก็อาศัยการควบคุมแหล่งที่ให้ความร้อน (Heat Sources) ดังเช่น พื้นผิวภายนอกที่ร้อนของอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการ (เช่น เครื่องทำความร้อน เครื่องเป่าให้แห้ง ท่อไอน้ำ และอุปกรณ์ไฟฟ้า) หรือกลไกที่บกพร่องของอุปกรณ์ (เช่น แบริ่ง เครื่องเป่าลม สายพาน เครื่องปั่น เครื่องผสม และหลอดไฟที่ไม่มีสิ่งคลุมป้องกันความร้อน) และงานที่มีความร้อน (งานเชื่อม งานเผา และงานตัด) โดยมีวิธีการควบคุมดังนี้คือ

          - ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดที่ใช้งานกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีฝุ่นติดไฟได้ (Spark and Explosion Proof) และมีวิธีเดินสายไฟได้อย่างเหมาะสม

          - ควบคุมการเกิดไฟฟ้าสถิตจากอุปกรณ์ของระบบงานท่อ ระบบกำจัดฝุ่น และเครื่องจักรที่ผลิตฝุ่นออกมา เช่น ใช้วิธีการต่อสายดิน (Grounding) หรือต่อพ่วง (Bonding) จำกัดการใช้วัสดุฉนวน (Insulate Materials) ลดประจุไฟฟ้าสถิตโดยการเพิ่มความชื้น (Humidification) และการก่อให้เกิดไอออน (Ionization)

          - ป้องกันการเสียดสีและการกระทบของเครื่องมือหรือวัตถุที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟออกมา

          - ป้องกันความร้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานเกินอัตรา (Overload) ของอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการทำงาน เช่น เครื่องปั่น เครื่องป้อน หรือสายพาน เป็นต้น โดยอาจพิจารณาติดตั้งเครื่องวัดความแตกต่างของระดับความร้อน (Thermocouple) และ/หรืออุปกรณ์ป้องกันการใช้งานเกินอัตรา (Overload Protection Devices) ไว้ที่ตัวมอเตอร์ขับเคลื่อน (Drive Motors) และมีการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) อย่างสม่ำเสมอ

          - ควบคุมการสูบบุหรี่ เปลวไฟ และประกายไฟ โดยอาจใช้ป้ายสัญลักษณ์หรือข้อความในการห้ามหรือเตือน

          - ใช้อุปกรณ์แยกส่วน (Separator Devices) เพื่อเคลื่อนย้ายวัสดุแปลกปลอมที่มีศักยภาพในการจุดติดไฟให้กับวัสดุในกระบวนการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นที่งานที่มีการบดหรือลับ) เช่น เครื่องกำบัง (Screens) แม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnets) หรืออุปกรณ์แยกส่วนแบบใช้แรงลม (Pneumatic Separators)

          - แยกพื้นผิวที่ร้อนและระบบที่ก่อให้เกิดความร้อนให้ออกห่างจากฝุ่น

          - ระมัดระวังการใช้หรือเลือกใช้รถโฟล์กลิฟต์ที่ใช้งานได้ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีฝุ่นติดไฟ

          - ควรมีการใช้โปรแกรมอนุญาตทำงานในสภาพการทำงานร้อน (Hot Work Permit Program)

รูปที่ 6 แสดงเครื่องจักรที่ผลิตฝุ่นติดไฟได้ออกมาจากการทำงาน รวมถึงระบบลำเลียง (Conveying Systems) เช่น สายพาน และรวมไปถึงชิ้นส่วนโลหะ (Metal Parts) ของกระบวนการเหล่านี้ ต้องได้รับการต่อสายไฟลงดิน (Electrical Grounded) เพื่อป้องกันการสปาร์ก (Sparks) จากไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เครื่องจักรและชิ้นส่วนโลหะสามารถที่จะแยกต่อสายไฟลงดินแบบเดี่ยว ๆ หรือใช้วิธีการต่อพ่วงกัน (Bonding) โดยใช้สายเคเบิลทองแดง (Copper Cable) เป็นตัวเชื่อมก็ได้

รูปที่ 7 แสดงอุปกรณ์แยกส่วนแบบแม่เหล็ก (Magnetic Separators) และอุปกรณ์แยกส่วนแบบแรงลม (Pneumatic Separators) ที่อาจติดตั้งเพื่อใช้ดักเก็บสารประกอบของเหล็ก (Ferrous Metals) ที่สามารถก่อให้เกิดการสปาร์กในอุปกรณ์ที่ผลิตฝุ่นติดไฟได้ โดยอุปกรณ์แยกส่วนแบบแม่เหล็ก ตัวแม่เหล็กจะดึงดูดและแยกวัตถุที่เป็นโลหะแปลกปลอมออกจากวัสดุที่ต้องการ ส่วนะอุปกรณ์แยกส่วนแบบแรงลม จะใช้กระแสลมในทางเข้า (Air Intake) ที่ถูกปรับใช้เพื่อให้กระแสลมเคลื่อนย้ายวัตถุที่ต้องการและขจัดทิ้งวัสดุที่ไม่ต้องการที่มีน้ำหนักมากกว่า

6. การจำกัดการใช้เชื้อเพลิง (Limiting the Availability of Fuel)
          ในบรรยากาศที่สามารถเกิดการระเบิดของฝุ่นได้นั้น กลุ่มฝุ่น (Dust Clouds) จะเป็นเสมือนเชื้อเพลิง ดังนั้นในการควบคุมเชื้อเพลิงก็อาจอาศัยการระบายอากาศ (Ventilation) เพื่อป้องกันการก่อตัวหรือการแพร่กระจายของบรรยากาศที่สามารถเกิดการระเบิดของฝุ่น โดยมี 2 รูปแบบคือ

          - การระบายอากาศแบบเจือจาง (Dilution Ventilation) เป็นการทำให้มีการไหลเวียนของอากาศบริสุทธิ์เข้าและออกจากตัวอาคาร วิธีนี้จะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการควบคุมความเข้มข้นของบรรยากาศกลุ่มฝุ่น แต่มักใช้กันเพื่อลดความเข้มข้นของบรรยากาศไอที่ไวไฟในพื้นที่งานมากกว่า

          - การระบายอากาศเฉพาะที่ (Local Exhaust Ventilation: LEV) เป็นการออกแบบมาเพื่อใช้ตัดตอนเชื้อเพลิง ณ ที่จุดที่ปล่อยออกมา เจือจางบรรยากาศแล้วนำตรงเข้าสู่ระบบในที่ซึ่งวัสดุถูกนำกลับมาใช้หรือขจัดไป ซึ่งระบบการระบายอากาศเฉพาะที่ที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี จะมีประสิทธิภาพอย่างมากในการจำกัดการแพร่กระจายของกลุ่มฝุ่นได้

7. การจำกัดการใช้ออกซิเจน (Limiting the Availability of Oxidant)
          การเติมก๊าซเฉื่อย (Inert Gas) สามารถที่จะช่วยลดความเข้มข้นของออกซิเจนให้ต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการเผาไหม้หรือจุดติดไฟได้ โดยก๊าซเฉื่อยที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ ไนโตรเจน นอกเหนือจากนี้ก็เป็น คาร์บอนไดออกไซด์ อาร์กอน ฮีเลียม ไอน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ออกซิเจนสามารถกำจัดได้โดยการทำงานภายใต้สภาวะสูญญากาศ (Vacuum Conditions)

ทั้งนี้ขีดจำกัดความเข้มข้นของออกซิเจน (Limiting Oxygen Concentration: LOC) สำหรับการเผาไหม้หรือจุดติดไฟ จะขึ้นอยู่กับชนิดของฝุ่นและก๊าซเฉื่อยที่ใช้ ซึ่งก๊าซเฉื่อยที่จะนำมาใช้ใส่เข้าไปในท่อส่ง (Vessel) ก็จะใช้การพิจารณาขีดจำกัดความเข้มข้นของออกซิเจนประกอบกันด้วย ทั้งนี้ความสำเร็จในการแพร่กระจายครอบคลุมของก๊าซเฉื่อยจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อปริมาตรภายในท่อส่งทั้งหมดกลายเป็นก๊าซเฉื่อย และบรรยากาศเฉื่อยนี้ยังคงสภาพไว้ได้ตลอดเวลาเท่านั้น และแม้แต่ในยามที่ท่อส่งถูกเปิดออกเพื่อเติมของแข็ง และ/หรือของเหลวก็ตาม

8. วิธีควบคุมการบาดเจ็บและความเสียหาย (Injury and Damage Control Methods)
          - ใช้อุปกรณ์แยกส่วนอันตรายออกจากผู้ปฏิบัติงาน อาจเป็นแบบใช้ระยะห่าง (Distance) หรือใช้เครื่องกั้น (Barrier) ก็ได้

          - ระบบกำจัดฝุ่น (Dust Collector Systems) ควรติดตั้งอยู่ด้านนอกตัวอาคาร (ยกเว้นในบางกรณีอาจอยู่ด้านใน)

          - ใช้ระบบกำจัดฝุ่น (Dust Collector Systems) ชนิดที่มีระบบตรวจจับประกายไฟและระบบระงับการระเบิด/การปะทุ

          - ห้อง ตัวอาคาร หรือระบบกำจัดฝุ่นต้องมีรูระบายลดการระเบิด (Explosion Relief Venting) ต่อตรงออกนอกตัวอาคารไปสู่พื้นที่ปลอดภัยห่างจากตัวผู้ปฏิบัติงาน

          - ใช้รูระบายสำหรับการปะทุ (Deflagration Venting) ออกจากตัวอาคาร ห้องหรือพื้นที่งาน

          - ใช้รูระบายลดแรงดัน (Pressure Relief Venting) สำหรับอุปกรณ์

          - ระบบป้องกันการระเบิด (Explosion Protection Systems)

          - ระบบตรวจจับประกายไฟ ระบบดับเพลิงและระบบสปริงเกอร์ (Sprinkler Systems)

          - เส้นทางออกฉุกเฉิน (Emergency Exit Routes) ต้องมีการบำรุงรักษาให้คงอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

          - มีแผนงานเตรียมความพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Action Plan: EAP)

          - ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) เช่น สวมใส่ชุดทำงานที่ไม่ก่อเกิดการสปาร์ก (ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย) หรือสวมใส่ชุดทำงานที่ต้านทานเปลวไฟ (Flam-resistant Clothing)


รูปที่ 8 แสดงระบบกำจัดฝุ่น (Dust Collector System) ที่มีท่อดูด (Suction Ducts) ฝุ่นจากกระบวนการทำงานของเครื่องจักร แล้วลำเลียงฝุ่นออกตามท่อออกนอกตัวอาคารไปสู่ไซโคลน (Cyclone) แล้วเข้าสู่ที่อุปกรณ์กักเก็บฝุ่น (Bag House Dust Collector)

รูปที่ 9 แสดงอุปกรณ์กำจัดฝุ่นที่อยู่ภายในตัวอาคาร ต้องมีรูระบายลดการระเบิด (Explosion Relief Venting) ออกไปนอกตัวคาร โดยรูระบายนี้ต้องติดตั้งอยู่ใกล้ชิดกับผนังด้านนอก และสามารถระบายผ่านทางท่อที่สั้นและตรงสู่ด้านนอกตัวอาคาร

 รูปที่ 10 แสดงระบบกำจัดฝุ่นควรมีระบบอินเตอร์ล็อค (Interlock System) เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าระบบการทำงานที่ก่อให้เกิดฝุ่นจะไม่ทำงานจนกว่าระบบระบายอากาศที่มีฝุ่นจะเริ่มทำงานก่อน จากรูปแสดงให้เห็นถึงการทำงานของระบบอินเตอร์ล็อค โดยสวิตช์ตัวที่ 1 ต้องเริ่มการทำงานของระบบระบายอากาศที่มีฝุ่น (Dust Exhaust Systems) เสียก่อน แล้วสวิตช์ตัวที่ 2 ถึงจะเริ่มการทำงานของเครื่องจักรที่ก่อให้เกิดฝุ่น (Dust Producing Machinery)


 
รูปที่ 11 แสดงระบบกำจัดฝุ่น (Dust Collector System) ควรที่จะออกแบบท่อที่อยู่ในระบบให้มีความเร็วอากาศ (Air Velocity) ในท่ออย่างน้อย 1,068 เมตร/นาที เพื่อให้อนุภาคฝุ่นที่อยู่ในท่อสามารถแขวนลอยในอากาศและถูกแรงลมดูดในท่อพัดพาออกไปตามท่อได้ แต่ถ้าความเร็วอากาศในท่อน้อยกว่า 1,068 เมตร/นาที ก็จะทำให้อนุภาคฝุ่นที่อยู่ในท่อไม่สามารถแขวนลอยในอากาศได้แล้วตกค้างสะสมอยู่ภายในท่อ แล้วนำไปสู่การอุดตันในท่อซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการระเบิดของฝุ่นได้

9. การฝึกอบรม (Training)
          ผู้ปฏิบัติงานเป็นแนวป้องกันชั้นแรก (First Line of Defense) ในการป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงจากไฟและการระเบิด โดยถ้าผู้ที่ทำงานในบริเวณที่ใกล้ชิดแหล่งต้นกำเนิดของอันตราย ได้รับการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจและรับรู้อันตรายและคุณลักษณะที่ก่อกำเนิดการระเบิดของฝุ่น รวมถึงวิธีป้องกันอันตรายที่เชื่อมโยงกับฝุ่นที่ติดไฟ (Combustible Dust Hazard) ในสถานที่ปฏิบัติงานแล้ว

พวกเขาเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการตระหนักถึงสภาวะที่ไม่ปลอดภัย มีการดำเนินการในเชิงป้องกันล่วงหน้า (Preventive Action) และ/หรือแจ้งเตือนให้ผู้บริหารได้รับทราบแต่เนิ่น ๆ ซึ่งในการอบรมนั้น ผู้ปฏิบัติงานควรได้รับรู้ถึงวิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย (Safe Work Practices) เพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย

เช่นเดียวกันกับโปรแกรมสำหรับวิธีการควบคุมฝุ่นและแหล่งจุดติดไฟที่จะใช้ทั่วทั้งโรงงาน โดยควรได้รับการฝึกอบรมก่อนที่จะเริ่มทำงาน และมีการฝึกอบรมเพื่อรื้อฟื้น (Refresh Training) ความรู้ ความเข้าใจอยู่เป็นระยะเมื่อได้รับมอบหมายงานใหม่ และเมื่ออันตรายหรือกระบวนทำงานมีการเปลี่ยนแปลง

          นายจ้างที่ดำเนินการกับสารเคมีอันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน (รวมถึงฝุ่นที่ติดไฟได้) ควรมีการใช้มาตรฐานการสื่อสารถึงอันตราย (Hazard Communication Standard) เช่น การมีฉลากติดอยู่บนภาชนะบรรจุสารเคมีอันตราย มีการใช้เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (MSDS) และการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น

ในส่วนของผู้บริหารเองก็ควรที่จะรับผิดชอบในการสรรหาทีมผู้ชำนาญการในการประเมินและวิเคราะห์เครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบและกระบวนการต่าง ๆ ทั่วทั้งโรงงาน เพื่อประเมินโอกาสในการเกิดอันตรายจากฝุ่นที่ติดไฟ ให้เสร็จสิ้นก่อนที่อันตรายจะมาถึง และพัฒนาแผนงานในการป้องกันและปกป้อง (Prevention & Protection) ที่ปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับปฏิบัติการที่ใช้ในโรงงาน

ส่วนหัวหน้างานและผู้จัดการควรที่จะมีความตระหนักและให้การสนับสนุนแผนงานการควบคุมฝุ่นและการจุดติดไฟในโรงงาน และรวมไปถึงสามารถที่จะพิจารณาตัดสินใจอย่างถูกต้องได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อได้รับรายงานถึงสภาวะการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เพื่อที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้บรรเทาเบาบางลงได้อย่างทันท่วงที


 
รูปที่ 12 แสดงความเสียหายจากการระเบิดของฝุ่นที่เกิดขึ้นกับ Imperial Sugar Plant ที่ Port Wentworth รัฐจอร์เจีย สหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นโรงงานกลั่นน้ำตาล (Sugar Refinery Plant) สาเหตุของการระเบิดมาจากการสะสมจำนวนมากของฝุ่นน้ำตาลแล้วจุดติดไฟ นำไปสู่การระเบิดของฝุ่นติดไฟ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และบาดเจ็บ 38 ราย


รูปที่ 13 แสดงส่วนบนของหลังคาโรงงานไม้แห่งหนึ่งในรัฐโอเรกอน สหรัฐฯ ถูกแรงระเบิดของฝุ่นไม้จนได้รับความเสียหาย

เอกสารอ้างอิง
          1. “Managing Dust Explosion Hazards”; Vahid Ebadat, Chilworth Technology, INC., August 2009

          2. “Hazard Communication Guidance for Combustible Dusts”; U.S. Department of Labor, Occupational Safety and Health Administration (OSHA 3371-08 2009)

          3. “Combustible Dust National Emphasis Program (Reissued)”; Directives CPL 03 -00-008, OSHA INSTRUCTION

          4. “Hazard Alert: Combustible Dust Explosions”; OSHA FactSheet., March 2008

          5. “Combustible Dust in Industry: Preventing and Mitigating the Effects of Fire and Explosions”; Safety and Health Information Bulletin (SHIB 07-31-2005)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด