เนื้อหาวันที่ : 2011-11-04 12:30:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5008 views

กลยุทธ์การบริหารความปลอดภัยรายบุคคล

การทำงานในโรงงานจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ บทความนี้จึงเสนอการบริหารความปลอดภัยรายบุคคล เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานที่ปลอดภัย

กลยุทธ์การบริหารความปลอดภัยรายบุคคล
เพื่อประสิทธิผลที่ดีขององค์กรธุรกิจ

สนั่น เถาชารี

          การทำงานในโรงงานจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ เช่น เสียง สารเคมี หรือฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายอยู่ในบรรยากาศ ความร้อน รังสี ความสั่นสะเทือน ดังนั้นในบทความนี้กระผมจึงนำเสนอการบริหารความปลอดภัยรายบุคคล เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริหาร พนักงานในสถานประกอบการใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการความปลอดภัย แนวทางการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย อันจะส่งผลให้พนักงานในสถานประกอบการมีสุขภาพกาย ใจที่ดีมีความพร้อมที่จะทุ่มเทให้กับการปฏิบัติงาน ทำให้องค์กร ธุรกิจมีประสิทธิผลของผลผลิตที่สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดองค์กร เพื่อความปลอดภัย และการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน

          1. การจัดองค์กรเพื่อความปลอดภัย (Safety Organization)
          เป็นการจัดสายงานด้านความปลอดภัยในองค์กร ซึ่งแต่ละโรงงานอาจจะมีลักษณะสายงานองค์กรเพื่อความปลอดภัย ดังแสดงในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 แสดงลักษณะสายงานขององค์กรเพื่อความปลอดภัย

          1.1 คณะกรรมการเพื่อความปลอดภัย (Safety Committee) มีหน้าที่และความรับผิดชอบ (Duty and Responsibility) ต่อการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยในโรงงาน

          1.2 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือผู้ตรวจสอบความปลอดภัย (Safety Inspection) หน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (Safety Officer) จะเป็นบุคคลที่ดูแลความปลอดภัยขณะที่มีการปฏิบัติงานตลอดเวลาที่มีการทำงาน โดยขึ้นตรงต่อผู้จัดการโรงงานหรือประธานคณะกรรมการเพื่อความปลอดภัย

          1.3 ผู้แทนระดับบังคับบัญชา (Supervisor) มีหน้าที่โดยตรงในการทำงานให้มีความปลอดภัยตลอดไป และให้ความช่วยเหลือและปรึกษา ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก่คนงาน

          1.4 ผู้แทนลูกจ้างระดับปฏิบัติการ (Workers) หน้าที่ความรับผิดชอบของคนงาน มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง และกฎของโรงงานที่ตนเองทำอยู่ ต้องรายงานหรือแจ้งอุบัติเหตุและความบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแผนก หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุแก่หัวหน้างานทันที

          2. สภาพแวดล้อมของการทำงานที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
          โดยสภาพแวดล้อมในการทำงาน สามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภทที่สำคัญคือ

          1. สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ เสียง แสงสว่าง ความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน รังสีต่าง ๆ และกระแสไฟฟ้า

          2. สภาพแวดล้อมทางเคมี ได้แก่ สารเคมี ฝุ่นละออง และฝุ่นฟูมของโลหะหนักที่ใช้ในกระบวนการผลิต

          3. สภาพแวดล้อมทางชีวภาพ ได้แก่ เชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และพยาธิ

          4. สภาพแวดล้อมด้านเออร์โกโนมิกส์ ได้แก่ การจัดสภาพสถานที่ทำงาน ท่าทางการทำงาน และความเครียดจากการทำงาน หรือเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน

          สภาพแวดล้อมในการทำงานดังกล่าว อาจทำให้คนงานเป็นโรคโดยตรง หรือทำให้โรคที่เป็นอยู่มีอาการมากขึ้น โดยโรคที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นทันทีหลังสัมผัสกับสภาพแวดล้อมการทำงาน เช่น สารเคมี ความร้อน เสียง หรือเกิดอาการแบบเรื้อรัง ค่อย ๆ สะสมทีละน้อยจนมีอาการรุนแรงขึ้น

          2.1 สภาพแวดล้อมทางกายภาพ
          (1) เสียง การทำงานในที่มีเสียงดังจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั่วไป และต่อการได้ยินที่สำคัญคือ

          ผลกระทบต่อสุขภาพโดยทั่วไป เสียงดังจะก่อให้เกิดความรำคาญทำให้หงุดหงิด โมโหง่าย เครียด ปวดศีรษะ นำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง ใจสั่น นอนไม่หลับ

          ผลกระทบต่อการได้ยิน ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินซึ่งถ้าเสียงดังมาก เช่น เสียงปืน เสียงประทัด หรือเสียงระเบิด อาจทำให้แก้วหูทะลุฉีกขาดได้ และถ้าได้รับฟังเสียงดังในโรงงานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะเกิดการสูญเสียการได้ยินทีละน้อย ซึ่งอาจเริ่มจากการฟังเสียงดนตรีแหลม ๆ ความถี่สูงไม่ได้แสดงถึงการสูญเสียการได้ยินในช่วงความถี่สูง

ต่อมาอาจพูดคุยเสียงดังกว่าคนอื่น ๆ หรือเวลาพูดคุยอาจจะต้องเงี่ยหูฟังหรือจ้องริมฝีปากผู้พูดแสดงถึงการสูญเสียการได้ยินที่ระดับความถี่พูดคุย หรืออาการหูตึงนั่นเอง ความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยินจะขึ้นอยู่กับความดังของเสียง ลักษณะของเสียง เช่น เสียงที่ดังติดต่อกันตลอดเวลา เสียงที่ดังเป็นระยะ หรือเสียงที่กระแทกนาน ๆ ครั้ง ระยะเวลาที่ได้รับฟังเสียงดังในแต่ละวัน และระยะเวลาที่ทำงานกับเสียงมาโดยตลอด ยิ่งทำงานนานหูจะมีโอกาสเสื่อมได้มาก

          แนวทางการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน สามารถประเมินได้จากแบบสอบถามดังแสดงในตารางที่ 1 ข้างล่างนี้

ตารางที่ 1 แบบสอบถามเพื่อประเมินภาวการณ์ได้ยินเบื้องต้น

          ถ้าตอบใช่ในคำถามใดคำถามหนึ่ง แสดงว่าท่านมีความเสี่ยงในการสูญเสียการได้ยินจากการทำงานแล้ว

          แนวทางการป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพของการได้ยินจากการทำงาน
          กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดมาตรฐาน เพื่อให้นายจ้างจัดสภาพแวดล้อมการทำงานเกี่ยวกับเสียงในสถานที่ทำงาน โดยระดับเสียงที่ดังที่สุดในสถานที่ทำงานจะต้องไม่ดังเกิน 140 เดซิเบล สำหรับพนักงานที่ทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง เสียงในสถานที่ทำงานไม่ควรดังเกิน 80 เดซิเบล และได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานเกี่ยวกับเสียงดัง

โดยให้นายจ้างปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดเสียงจากต้นกำเนิดหรือทางผ่านของเสียง และจัดให้พนักงานสวมใส่ปลั๊กลดเสียง หรือที่ครอบหูลดเสียงที่ได้มาตรฐาน สำหรับพนักงานแล้วการใส่ปลั๊กลดเสียงหรือที่ครอบหูลดเสียงอย่างถูกวิธี ก็จะเป็นการช่วยป้องกันอันตรายจากเสียงดังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          วิธีการสวมใส่ปลั๊กลดเสียง โดยที่จะต้องเลือกปลั๊กลดเสียงที่มีขนาดพอดีกับรูหูไม่แน่นจนเจ็บหู หรือหลวมจนเกินไป

          - ใช้มือข้างหนึ่งอ้อมมาด้านหลังศีรษะ ดึงใบหูไปด้านหลัง เพื่อช่วยให้การใส่ปลั๊กง่ายขึ้น

          - ถ้าเป็นปลั๊กลดเสียงชนิดโฟม ให้บี้ด้วยปลายนิ้วจนมีขนาดเล็กตลอดแนวยาวแล้วสอดเข้าในช่องหูคาไว้สักครู่จนปลั๊กขยายขนาดเต็มช่องหู

          - หากปลั๊กลดเสียงหลวมหรือชำรุดให้เปลี่ยนใหม่ทันที

          วิธีการสวมใส่ครอบหูลดเสียง
          - ถอดตุ้มหูออก และรวบผมไปให้พ้นจากบริเวณรอบใบหู (กรณีที่เป็นสุภาพสตรี)
          - ใส่ครอบหูลดเสียงครอบใบหูทั้ง 2 ข้างโดยมิให้ปิดทับใบหู
          - ลองใช้มือขยับเบา ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสวมใส่ได้กระชับดีแล้ว
          - ใช้นิ้วมือสำรวจรอบ ๆ บริเวณครอบหูกับผิวหนังว่าไม่มีรอยรั่ว หากสวมใส่ไม่กระชับให้ลองเปลี่ยนเป็นครอบหูแบบอื่น หรือใช้ปลั๊กลดเสียงแทน

          หลังจากการใช้ปลั๊กลดเสียงหรือครอบหูลดเสียงจนเคยชินประมาณ 3 สัปดาห์ พนักงานจะรู้สึกถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นโดยพนักงานจะรู้สึกว่าเครียดน้อยลงในระหว่างทำงาน พนักงานจะรู้สึกว่าเหนื่อยน้อยลงหลังเลิกงาน และพนักงานจะรู้สึกว่าสมรรถภาพการได้ยินของเขาปกติ

          (2) แสงสว่าง แสงสว่างที่ไม่เหมาะสม เช่น แสงที่จ้าเกินไปหรือแสงที่น้อยเกินไป เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน และอาจทำให้เกิดความผิดปกติทางสายตาจากการทำงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันการทำงานต่าง ๆ มีการใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างกว้างขวาง

การใช้จอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ทำให้สายตาได้รับแสงรบกวน ที่เกิดจากแสงสะท้อนและแสงกระพริบ ซึ่งทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้แก่ สายตาพร่ามัวเป็นพัก ๆ ปรับภาพมองใกล้ – ไกล ได้ไม่ดีต้องใช้เวลานานกว่าปกติ รู้สึกตาแห้ง แสบตา สู้แสงไม่ได้ หนังตากระตุก ลืมตาไม่ค่อยได้ ปวดตา ปวดศีรษะทั้ง 2 ข้าง และเห็นภาพซ้อน

          นอกจากแสงที่จ้าเกินไปแล้ว สภาพแวดล้อมการทำงานที่มืดเกินไปทำให้มีการใช้สายตามากกว่าปกติ เกิดอาการปวดตา เมื่อยตา ปวดศีรษะได้ การทำงานที่ต้องใช้สายตาเพ่งมาก เช่น งานเย็บผ้า ประกอบชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ เจียรระนัยเพชรพลอย จำเป็นจะต้องมีการจัดแสงสว่างให้เหมาะสม ซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (แสงสว่าง) ได้กำหนดระดับความสว่างที่เหมาะสมในการทำงานตามลักษณะงานต่าง ๆ ดังแสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 แสดงลักษณะงานที่สัมพันธ์กับความเข้มของแสงสว่าง

          นอกจากปริมาณแสงในที่ทำงานแล้ว ความแตกต่างของความสว่างบริเวณที่ทำงานกับบริเวณข้างเคียงก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สายตาเสื่อมได้ เช่น การทำงานกับจอคอมพิวเตอร์ในห้องมืด จะทำให้ปวดศีรษะและเสียสายตา แสงจากดวงไฟหรือแหล่งกำเนิดแสงอื่น และแสงสะท้อนจากวัตถุเข้าสู่ดวงตาโดยตรงก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรำคาญ ปวดศีรษะ และสายตาเสื่อมสมรรถภาพได้

          ดังนั้นในการจัดสถานที่ทำงานจึงควรจัดให้แหล่งกำเนิดแสง เช่น หลอดไฟ หรือ โลหะ กระจกที่ก่อให้เกิดการสะท้อนแสงอยู่นอกขอบเขตของสายตา หรือเปลี่ยนพื้นผิวของวัตถุโดยรวมให้เกิดการสะท้อนเข้าสู่ดวงตาน้อยที่สุด นอกจากแสงสว่างแล้ว ระยะของการทำงานและการใช้สายตาข้างหนึ่งข้างใดเพียงข้างเดียวก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สายตาเสื่อมสมรรถภาพ การทำงานในระยะใกล้เกินไปจะทำให้มีการใช้กล้ามเนื้อตามาก ทำให้เกิดอาการปวดตา และเกิดปัญหาการทำงานของกล้ามเนื้อดวงตาไม่ประสานกันทำให้เกิดปัญหาตาเขได้

          การดูแลสุขภาพสายตา
          1. จัดสถานที่ทำงานให้มีแสงสว่างเพียงพอและสบายตา

          2. ไม่มองของสีขาวกลางแดดหรือมองแสงสว่างจ้านาน ๆ เช่น ดวงอาทิตย์ หลอดไฟที่มีแสงจ้า หรือแสงจากการเชื่อมโลหะ

          3. ไม่เอามือหรือผ้าสกปรก เช็ด หรือขยี้ตา และไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น

          4. ไม่ไว้ผมยาวปรกหน้า เพราะจะทำให้มองไม่ถนัด และเป็นช่องทางให้ความสกปรกเข้าดวงตาได้

          5. เมื่อทำงานที่ต้องใช้สายตาติดต่อกันนาน ๆ ควรมีการพักสายตาเป็นระยะ ๆ โดยการ
          - หลับตาทั้งสองข้าง เป็นแบบหลับตานิ่ง
          - มองเหม่อ โดยการมองไปข้างหน้าให้สุดสายตา ไม่มองจุดใดจุดหนึ่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อรูม่านตาได้พักและได้ขยายเต็มที่
          - มองไกลเกิน 6 เมตร โดยการมองผ่านหน้าต่างดูภาพที่ไกลสุดสายตา กล้ามเนื้อตาจะได้พัก
          นอกจากนี้การมองไกลที่ได้ทัศนียภาพที่ดี ทำให้จิตใจแจ่มใสสดชื่น เป็นการพักสายตาที่ดียิ่งขึ้น

          6. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงสายตา เช่น ผักใบเขียวต่าง ๆ และผักผลไม้ที่มีสีเหลือง จะเป็นแหล่งของวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีนที่บำรุงสายตาได้ดี

          7. หลังจากเลิกงานในแต่ละวันไม่ควรมีกิจกรรมที่ต้องใช้สายตามาก ๆ เช่น การดูโทรทัศน์ใกล้ ๆ การเย็บปักถักร้อย การอ่านหนังสือ และควรมีเวลาพักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่เพราะตาจะได้พักแบบผ่อนคลายมากที่สุด

          8. ควรมีการนวดกล้ามเนื้อตาเพื่อเป็นการผ่อนคลายความเมื่อยล้า ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

          ท่าที่ 1 นวดมุมบนของเบ้าตา
          - วางหัวแม่มือบนเปลือกตาด้านบนบริเวณหัวตา
          - นิ้วทั้ง 4 ที่เหลือวางบริเวณหน้าผาก
          - ใช้หัวแม่มือกดคลึงนวดจากหัวตาไปให้รอบดวงตา
          - นวดรอบขอบตา 4-5 ครั้ง

          ท่าที่ 2 นวดแก้ม
          - แนบนิ้วชี้กับนิ้วกลางแตะบริเวณข้างรูจมูก หัวแม่มือวางบริเวณคาง
          - ลดนิ้วกลางลง แล้วใช้นิ้วชี้นวดบริเวณแก้มให้ทั่ว
          - นวดซ้ำ 4-5 ครั้ง

          ท่าที่ 3 นวดดั้งจมูก
          - ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ คีบดั้งจมูกบริเวณระหว่างตาทั้งสองข้าง
          - นวดบริเวณระหว่างตาทั้งสองข้างโดยนวดลงก่อน แล้วนวดขึ้น
          - ทำซ้ำ 4-5 ครั้ง

          ท่าที่ 4 นวดบริเวณรอบเบ้าตา
          - กำนิ้วมือทั้ง 4 หลวม ๆ แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกดเบา ๆ บริเวณขมับ
          - ใช้ข้อที่ 2 ของนิ้วชี้นวดบริเวณเบ้าตา
                    ด้านบน  เริ่มจากหัวคิ้วไปสิ้นสุดที่ปลายคิ้ว
                    ด้านล่าง  จากด้านหัวตาล่างไปสิ้นสุดด้านหางตาล่าง
          - ทำซ้ำ 4-5 ครั้ง

          9. สำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตา หรือมีอาการสายตาอื่น ๆ เช่น ตาเป็นต้อ ตาอักเสบ มีน้ำตาไหลตลอดเวลา หรือมีอาการปวดศีรษะมากขณะทำงาน ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

          (3) ความร้อน ความร้อนในบรรยากาศการทำงานในสถานที่ที่มีความร้อนสูง เช่น บริเวณเตาหลอมโลหะ หม้อนึ่ง หม้อต้ม หรือทำงานกลางแดด มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยจะทำให้ร่างกายสูญเสียเหงื่อมากขึ้น ทำให้น้ำในร่างกายลดลง และเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถทนต่อความร้อนได้และเกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปากแห้ง อ่อนเพลีย มีผดผื่นขึ้นตามตัว กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นตะคริว ผิวหนังแห้งร้อน และเป็นลมหมดสติ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุในการทำงานมากขึ้น

          นอกจากความร้อนที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแล้ว ปัจจัยเสริมที่ทำให้ความร้อนในบรรยากาศการทำงานสูง มีดังนี้

          - อุณหภูมิของบรรยากาศโดยรอบ เช่น ในฤดูร้อนอากาศภายนอกจะมีอุณหภูมิสูงมาก ทำให้เกิดอาการจากความร้อนได้ง่ายกว่าฤดูอื่น ๆ

          - ความชื้นในบรรยากาศ ถ้าในบรรยากาศการทำงานมีความชื้นสูงจะทำให้การระเหยของเหงื่อออกจากร่างกายไม่ดี ทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้น้อย และเกิดอาการจากความร้อนได้

          - การระบายอากาศในที่มีการระบายอากาศไม่ดี จะทำให้มีความร้อนสะสมในบรรยากาศการทำงานสูง

          - เสื้อผ้าที่สวมใส่ในการทำงาน หากเป็นผ้าที่มีการระบายความร้อนไม่ดี จะทำให้อุณหภูมิร่างกายผู้สวมใส่สูงมากขึ้น

          - ลักษณะงานที่ทำ ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้แรงหรือมีการเคลื่อนไหวจะทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น ทำให้เกิดความร้อนสะสมภายในร่างกายมากขึ้น

          สภาพร่างกายของแต่ละคนสามารถทนทานต่อความร้อนได้ไม่เท่ากัน ผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง มีน้ำหนักตัวมาก เป็นโรคหัวใจ หรือมีพฤติกรรมชอบดื่มสุรา จะทำให้ร่างกายมีโอกาสเกิดอาการจากความร้อนได้มากขึ้น

          แนวทางการป้องกันอันตรายจากความร้อน
          - จัดให้มีการระบายอากาศในสถานที่ทำงาน โดยติดตั้งพัดลมหรือท่อดูดอากาศร้อน

          - จัดให้ใส่ชุดทำงานที่เหมาะสม มีการระบายความร้อนได้ดี หรือสามารถป้องกันความร้อนจากภายนอกได้ดี

          - ผู้ที่ทำงานกับความร้อนควรดื่มน้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ครั้งละ 1 แก้ว บ่อย ๆ ในระหว่างการทำงานกับความร้อน เพื่อทดแทนเหงื่อที่สูญเสียไปในระหว่างการทำงาน

          - จัดให้มีที่พักในระหว่างการทำงานในสถานที่ที่ไม่ร้อน และมีการระบายอากาศที่ดี

          - ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

          ในกรณีที่มีอาการตะคริวเกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำอัดลม หรือน้ำหวาน 1 ขวดใส่เกลือ 1 ช้อนชา เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับเหงื่อในระหว่างทำงานจะช่วยลดอาการตะคริว หากมีผู้หมดสติ หรือเป็นลมจากความร้อนให้นำผู้ป่วยไปนอนพักในบริเวณที่เย็น และมีการระบายอากาศที่ดี นำผู้ป่วยส่งหน่วยพยาบาลหรือแพทย์ทันที

          2.2 สภาพแวดล้อมทางเคมี 
          (1) ฝุ่นและสารเคมี ในสถานประกอบการทุกแห่ง มีการใช้สารเคมีเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต โดยสารเคมีเหล่านี้ จะอยู่ในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น ของเหลว ของแข็ง ก๊าซ ฝุ่น ฟูม ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางปากโดยการกลืนกินสารเคมีเข้าไป การหายใจเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และซึมผ่านเข้าร่างกายทางผิวหนัง

โดยที่สารเคมีแต่ละชนิดจะส่งผลกระทบต่อร่างกายแตกต่างกันไป บางชนิดเกิดพิษแบบเฉียบพลัน บางชนิดทำให้เกิดโรคเรื้อรังเมื่อสัมผัสเป็นระยะเวลานาน บางชนิดเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ ซึ่งสามารถแสดงตัวอย่างของสารเคมีหรือฝุ่นในกระบวนการผลิต และผลกระทบต่อสุขภาพดังตารางที่ 3

ตารางที่ 3 แสดงตัวอย่างของสารเคมีหรือฝุ่นในกระบวนการผลิต และผลกระทบต่อสุขภาพ

          แนวทางการป้องกันอันตรายจากสารเคมี การที่จะป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่ใช้ในการทำงานได้นั้นจะต้องทำความรู้จักถึงคุณสมบัติและอันตรายของสารเคมีที่ใช้เสียก่อน โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถอ่านได้จากฉลากที่ปิดอยู่ข้างภาชนะบรรจุ และหากไม่สามารถอ่านฉลากดังกล่าวได้ หรือมีฉลากแต่อ่านไม่เข้าใจให้สอบถามได้จากเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานที่ดูแลโรงงาน โดยที่ก่อนที่จะใช้สารเคมีใด ๆ ในการทำงานจะต้องสามารถตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน คือ
          1. สารเคมีนั้นมีอันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?
          2. จะป้องกันอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีเหล่านั้นได้อย่างไร?
          3. ในกรณีที่เกิดอันตรายขึ้นจากการสัมผัสจะมีวิธีดูแลตนเองเบื้องต้นหรือปฐมพยาบาลอย่างไร?

          เมื่ออ่านฉลากที่บอกคุณลักษณะของสารเคมี หรือข้อมูลเคมีภัณฑ์จนเข้าใจแล้ว จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาที่ทำงานสัมผัสสารเคมี
   
   
          2.3 สภาพแวดล้อมทางชีวภาพ
          ในบรรยากาศการทำงานนั้นจะประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา พยาธิ และส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต เช่น ฝุ่นจากพืช ขนสัตว์ ละอองจากสัตว์ แต่ร่างกายคนเราก็มีกลไกที่จะต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านั้น เพื่อที่จะปรับร่างกายให้กลับคืนสู่สภาพสมดุลปราศจากโรค แต่ในบางกรณีที่กลไกการปรับสมดุลของร่างกายอ่อนแอจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ มีบาดแผลที่ผิวหนัง จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย เมื่อทำงานสัมผัสกับเชื้อโรค

          หนทางที่เชื้อโรคหรือฝุ่นจากสิ่งมีชีวิตจะเข้าสู่ร่างกาย  มี 4 ช่องทางด้วยกันคือ
          1. การสัมผัสโดยตรงกับเชื้อโรค หรือฝุ่นละอองจากสิ่งมีชีวิต
          2. การหายใจเอาบรรยากาศที่มีฝุ่นละออง หรือเชื้อโรคเข้าไป
          3. เชื้อโรคหรือฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำและอาหาร
          4. สัตว์พาหะนำโรค

          ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัจจัยสภาพแวดล้อมทางชีวภาพ จะเกิดขึ้นได้ 3 รูปแบบด้วยกันคือ
          1. เกิดโรคจากเชื้อโรคที่สัมผัส เช่น โรคปอดอักเสบจากฝุ่นชานอ้อย หรือฝุ่นใยมะพร้าวที่มีเชื้อรา ตาอักเสบจากการสัมผัสกล้องจุลทรรศน์ที่มีเชื้อโรคในอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์

          2. เกิดการระคายเคืองและกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เช่น การเกิดโรคหอบหืดในคนงานที่สัมผัสฝุ่นจากเครื่องเทศ พริก แป้ง กาแฟในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร

          3. การถูกสัตว์กัดแทะในระหว่างการทำงาน เช่น การถูกแมลง กัดต่อยในระหว่างทำงาน

          แนวทางการควบคุมอันตรายจากสภาพแวดล้อมทางชีวภาพ
          1. กำจัดสิ่งที่ก่อให้เกิดโรคจากกระบวนการผลิต โดยหันไปใช้วัตถุดิบอื่นที่มีอันตรายน้อยกว่าทดแทน

          2. การติดตั้งระบบระบายอากาศ ซึ่งระบบที่ดีจะทำให้ผู้ที่ทำงานสัมผัสกับปัจจัยก่อโรคทางชีวภาพน้อยลง

          3. การแยกกระบวนการผลิต ที่มีอันตรายจากปัจจัยทางชีวภาพออกจากกระบวนการผลิตอื่น ๆ เช่น การแยกกระบวนการผลิตที่มีฝุ่นอินทรีย์ออกจากกระบวนการผลิตอื่น ๆ

          4. การบริหารจัดการเพื่อควบคุมอันตรายทางชีวภาพ เช่น การจัดทำระบบการตรวจโรคให้แก่พนักงานเพื่อเป็นการเฝ้าระวังทางสุขภาพ

          5. การสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่จำเป็น เช่น การสวมหน้ากากกันฝุ่นเมื่อต้องทำงานสัมผัสกับฝุ่นอินทรีย์จากพืช การสวมถุงมือเมื่อต้องสัมผัสกับเนื้อสัตว์ดิบหรือเลือด 

          6. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิด A และชนิด B แก่พนักงานที่ต้องทำงานสัมผัสกับผู้ป่วย

2.4 สภาพแวดล้อมด้านเออร์โกโนมิกส์
          เออร์โกโนมิกส์ หรือการยศาสตร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบงานและลักษณะท่าทางการทำงานให้เหมาะสมกับคนงาน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น อาการปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดข้อมือ ปวดแขน  ปวดขา ปวดตา ความเครียดและความเบื่อหน่าย นอกจากนั้นการออกแบบงานที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย

          ผลกระทบต่อสุขภาพจากการออกแบบงานที่ไม่เหมาะสม การออกแบบงานที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องฝืนทำงานในท่าทางที่ไม่สะดวกสบายอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ ข้อมือ ข้อต่าง ๆ หลัง หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยการบาดเจ็บดังกล่าวมีสาเหตุมาจาก

          - การทำงานกับเครื่องมือที่มีความสั่นสะเทือน
          - การทำงานที่มีการเคลื่อนไหวของข้อมือซ้ำ ๆ
          - การทำงานในท่าทางที่ฝืนหรือผิดธรรมชาติ
          - การทำงานที่มือ หลัง ข้อมือหรือข้อต่าง ๆ ต้องใช้แรงหรือรับน้ำหนักมากจนเกินไป
          - การทำงานที่มีการเหยียดแขนจนสุด หรือการทำงานที่ต้องยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ
          - การทำงานที่มีการก้มหรืองอหลัง
          - การยกของหนัก
          ดังในตารางที่ 4 ซึ่งแสดงตัวอย่างความผิดปกติของกระดูก และข้อที่พบจากการทำงานในลักษณะต่าง ๆ

  
ตารางที่ 4 แสดงตัวอย่างความผิดปกติของกระดูก และข้อที่พบจากการทำงานในลักษณะต่าง ๆ

การมีส่วนร่วมของพนักงานในการปรับปรุงสภาพการทำงาน
          ผู้ปฏิบัติงานควรแสดงความคิดเห็นต่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยหัวหน้างาน (จป.หัวหน้างาน) หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) หากรู้สึกว่าท่าทางการทำงานนั้นไม่สะดวกสบาย ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยร่างกายขณะทำงานหรือหลังเลิกงาน เพราะผู้ปฏิบัติงานจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าการจัดสถานที่ทำงานนั้นเหมาะสม และทำให้ตนรู้สึกสบายขณะปฏิบัติงานหรือไม่

          หลักในการสังเกตเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงาน มีอยู่ 6 จุดที่สำคัญด้วยกันคือ 
          1.พื้นที่บริเวณปฏิบัติงาน
          2. ท่าทางการนั่งและเก้าอี้ปฏิบัติงาน 
          3. สถานที่ยืนปฏิบัติงาน
          4. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน
          5. การยกย้ายวัสดุในการปฏิบัติงาน
          6. การออกแบบงาน โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้

          1. พื้นที่บริเวณปฏิบัติงาน
          - พื้นที่บริเวณปฏิบัติงานจะต้องสูงพอที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้ โดยไม่ต้องก้มและจะต้องวางชิ้นงานให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา

          - ความสูงของปุ่มควบคุมควรอยู่ในระดับระหว่างเอวและหัวไหล่ และปุ่มควบคุมที่ใช้บ่อยไม่ควรวางไว้สูงเหนือระดับไหล่

          - ระยะเอื้อมเพื่อหยิบชิ้นงานควรออกแบบให้ผู้ที่มีแขนสั้นที่สุดสามารถหยิบชิ้นงานได้สบาย โดยไม่ต้องเอื้อมมากและควรออกแบบให้ผู้ที่สูงไม่ต้องก้มหลังมากขณะหยิบชิ้นงาน ควรวางอุปกรณ์ที่ใช้บ่อยไว้ด้านหน้าในบริเวณที่หยิบใช้ได้อย่างสะดวก

          - ชิ้นงานที่ทำบ่อยมากควรวางไว้ต่ำกว่าระดับศอก

          - ชิ้นงานที่ต้องมีการยกย้ายควรวางไว้ในความสูงระดับระหว่างเอวกับหัวไหล่

          - พื้นที่ทำงานควรเพียงพอให้พนักงานสามารถเหยียดขาได้อย่างสะดวก และควรจัดที่พักเท้าเพื่อให้พนักงานเปลี่ยนอิริยาบถได้

          - ด้ามจับควรมีขนาดเหมาะสมกับมือ

          - ควรมีพื้นที่ทำงานกว้างพอสำหรับผู้ที่อ้วน

          - ควรวางตำแหน่งของเครื่องมือให้เหมาะสมกับมือข้างที่ถนัดของผู้ปฏิบัติงาน

          - ไม่ควรมีแสงสะท้อนเข้าตา และควรมีแสงสว่างเพียงพอเพื่อให้ทำงานได้อย่างสะดวก

          2. ท่าทางการนั่งและเก้าอี้ปฏิบัติงาน
          ท่าทางการนั่ง
          - ควรวางเครื่องมือให้พนักงานหยิบได้โดยสะดวกไม่ต้องบิดหรือเอี้ยวตัวหยิบ
          - ท่าทางการนั่งทำงานที่ดีคือการนั่งหลังตรง ไหล่ไม่เกร็งและใกล้กับชิ้นงานมากที่สุด
          - โต๊ะและเก้าอี้ควรออกแบบให้ชิ้นงานมีความสูงระดับเดียวกับข้อศอก
          - หากเป็นไปได้ควรจัดให้มีที่พัก มือ แขน และข้อศอก ที่สามารถปรับระดับได้
     
     
          เก้าอี้ปฏิบัติงาน
          - เก้าอี้จะต้องมีความสูงเหมาะสมกับระดับงานที่อยู่บนโต๊ะทำงาน

          - ความสูงของเก้าอี้และระดับความสูงของพนักพิงควรปรับได้และพนักพิงจะต้องรองรับหลังส่วนล่างได้ดี

          - เก้าอี้ที่ดีจะต้องออกแบบให้คนงานโน้มตัวไปด้านหน้าขณะนั่งและพิงเอนมาด้านหลังได้โดยสะดวก

          - ใต้โต๊ะทำงานจะต้องมีช่องสำหรับสอดขาและเข่า มีเนื้อที่ภายใต้โต๊ะให้คนงานเปลี่ยนอิริยาบถได้โดยง่าย

          - ขณะทำงานเท้าควรวางราบอยู่บนพื้น หากเก้าอี้สูงมากจนเกินไปควรจัดทำที่พักเท้าเพื่อใช้วางเท้าขณะนั่งทำงาน เพื่อลดแรงกดที่ด้านหลังน่องและหัวเข่า

          - เก้าอี้ควรนั่งได้อย่างมั่นคง ที่นั่งและพนักพิงควรทำจากวัสดุที่ทำให้นั่งได้อย่างสบาย และสามารถระบายความร้อนได้ดี

          3. สถานที่ยืนปฏิบัติงาน
          การทำงานที่ต้องยืนปฏิบัติงานนาน ๆ จะทำให้เกิดอาการปวดหลัง ขาบวม มีปัญหาเรื่องการไหลเวียนโลหิต เส้นเลือดขอดที่ขา และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากมีความจำเป็นต้องยืนปฏิบัติงานนาน ๆ ควรปฏิบัติดังนี้

          - ควรจัดหาเก้าอี้ไว้ในบริเวณปฏิบัติงาน เพื่อให้พนักงานได้พักเป็นระยะตามต้องการ

          - ควรจัดวางเครื่องมือให้คนงานหยิบได้สะดวกทั้งด้านหน้า และด้านหลังเพื่อป้องกันการบิดเอี้ยวตัวขณะปฏิบัติงาน

          - ควรปรับความสูงของระดับงานให้เหมาะสมกับความสูงของคนงาน หากปรับระดับงานไม่ได้ควรปรับระดับพื้น เช่น การจัดให้คนงานที่ตัวเตี้ยยืนบนฐานที่ยกระดับขึ้นจากพื้น

          - ควรจัดให้มีที่พักเท้า และมีพื้นที่เพื่อให้คนงานวางเท้า และเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อลดแรงกดที่หลัง

          - ควรจัดแผ่นรองเท้าบริเวณที่คนงานยืนหรือให้คนงานใส่รองเท้าที่สามารถกระจายแรงกดที่ส้นเท้าได้

          - ระยะของหน้างานควรอยู่ห่างประมาณ 8-12 นิ้ว เพื่อมิให้คนงานต้องเมื่อยมากเกินไปในขณะทำงาน

          4. เครื่องมือและอุปกรณ์ควบคุมการปฏิบัติงาน
          เครื่องมือ
          - เครื่องมือควรออกแบบมาให้คนงานใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น กล้ามเนื้อหัวไหล่ แขนและขา แทนกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น ข้อมือและนิ้วมือ และไม่ควรออกแบบเครื่องมือให้คนงานงอข้อมือ หรือบิดข้อมือขณะจับ

          - ด้ามจับควรสะดวกสบายต่อการจับและมีความยาวพอที่จะจับได้ถนัดมือ และควรมีฉนวนหุ้มเพื่อป้องกันการนำไฟฟ้า และควรมีพลาสติกหุ้มบริเวณมือจับที่เป็นเหลี่ยมคม

          - ไม่ควรใช้เครื่องมือที่นิ้วมือหรือผิวหนังมีโอกาสถูกหนีบได้ขณะใช้งาน

          - เครื่องมือควรออกแบบให้เหมาะสมกับมือข้างที่ถนัด
     
          อุปกรณ์ควบคุมการปฏิบัติงาน
          - ปุ่มควบคุม ควรออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายในท่ายืน หรือท่านั่งปกติโดยไม่ต้องเอื้อม และควรออกแบบให้เหมาะสม เช่น ปุ่มควบคุม สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ความเร็วสูงควรใช้มือควบคุม และปุ่มควบคุมที่ต้องใช้แรงกดมากควรใช้เท้าควบคุม
          - ปุ่มควบคุมควรเป็นชนิดใช้ 2 มือควบคุม เพื่อป้องกันการถูกหนีบโดยเครื่องจักร
          - ปุ่มกดควรออกแบบให้ใช้นิ้วกดได้ทีละ 2-3 นิ้ว
          - ควรมีการระบุปุ่มที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน และปุ่มที่ใช้ในการปฏิบัติงานปกติอย่างชัดเจน โดยการติดป้าย/แยกสี
          - ปุ่มควบคุมควรออกแบบเพื่อป้องกันการเปิด/ปิด โดยบังเอิญ เช่น การทำฝาปิดครอบสวิตซ์

          5. การยกย้ายวัสดุในการปฏิบัติงาน
          - น้ำหนักที่ยกจะต้องเหมาะสมกับผู้ที่จะยก ในการยกของที่มีน้ำหนักมากควรจัดหีบห่อใหม่ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อลดน้ำหนักในการยก ลดจำนวนของที่จะยกในแต่ละเที่ยว และใช้ผู้ยกมากกว่า 1 คน 
          - ปรับระยะทางในการยกย้ายวัสดุให้ใกล้ขึ้น โดยปรับระดับพื้นที่ที่จะต้องยกของให้สูงขึ้น และเปลี่ยนแปลงที่เก็บวัสดุให้ใกล้ขึ้น
          - ลดการบิดเอี้ยวลำตัวขณะยกย้าย
          - จัดท่าทางการยก โดยให้ของที่จะยกอยู่ด้านหน้าของร่างกาย
          - จัดพื้นที่บริเวณยกย้ายให้กว้างพอที่จะหมุนตัว โดยมิต้องบิดเอี้ยวลำตัว
          - หันด้านข้าง โดยการเคลื่อนเท้าแทนการหมุนลำตัว
          - ใช้การลากหรือเข็นแทนการยก โดยการใช้รถเข็นช่วย
          - ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการออกแรงยก เช่น ใช้กล้ามเนื้อขาแทนกล้ามเนื้อหลังในการยกวัสดุจากพื้น

          6. การออกแบบงาน
          การออกแบบงานที่ดีจะต้องทำให้คนงานเกิดสุขภาพที่ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดย
          - จะต้องออกแบบให้คนงานที่ทำงานสามารถเปลี่ยนอิริยาบถได้โดยง่าย
          - จะต้องออกแบบให้คนงานมีส่วนร่วมในการคิดตัดสินใจ
           - จะต้องออกแบบให้คนงานรู้สึกภาคภูมิใจในผลสำเร็จของงานนั้น
          - มีการสอนงานให้คนงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจ
          - มีการจัดตารางเวลาการทำงานให้คนงานมีโอกาสได้พักอย่างเต็มที่
          - เมื่อมีการปรับเปลี่ยนงาน จะต้องมีช่วงเวลาให้คนงานทำความคุ้นเคยกับงานใหม่ในระยะเริ่มแรกก่อน

          ประเมินความเสี่ยงในงาน พนักงานสามารถประเมินความเสี่ยงในงานด้วยตนเองโดยใช้แบบประเมินดังตารางที่ 5 ข้างล่างนี้

ตารางที่ 5 แบบประเมินความเสี่ยงในงานด้วยตนเอง

          ซึ่งลักษณะงานดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะงานที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อต่อ หากพนักงานตอบว่าใช่ในข้อใดข้อหนึ่งควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานที่ดูแลบริษัท เพื่อการปรับปรุงสภาพงานที่เหมาะสมต่อไป

          ประโยชน์ของการบริหารความปลอดภัยรายบุคคลที่องค์กร ธุรกิจจะได้รับ
          1. องค์กรธุรกิจมีการจัดสายงานด้านความปลอดภัยที่มีการแบ่งหน้าที่ และบทบาทกันอย่างชัดเจน

          2. องค์กรธุรกิจมีแนวทางในการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินที่มีประสิทธิภาพเป็นรายบุคคล

          3. ทำให้สามารถประเมินผลกระทบของสารเคมีที่มีต่อสุขภาพได้อย่างเหมาะสม และทันท่วงทีต่อการรักษา

          4. สามารถระบุความผิดปกติของกระดูก และข้อที่เกิดจากสาเหตุการทำงานในลักษณะต่าง ๆ เพื่อประกอบการรักษาได้อย่างทันท่วงที

          5. ลดความเมื่อยล้า ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อผู้ปฏิบัติงานในองค์กร ธุรกิจ

          6. ลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับพนักงาน และเพิ่มความปลอดภัยในขณะปฏิบัติหน้าที่

          7. พนักงานมีส่วนร่วมในการปรับปรุงสภาพการทำงานที่ตรงกับความต้องการของพนักงานผู้ปฏิบัติงาน

          8. มีการจัดตารางการผลิตที่มีการคิดเวลาลดหย่อน ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ

          9. ลดความเครียดจากการปฏิบัติงานของพนักงานในองค์กร ธุรกิจลง

          10. พนักงานสามารถประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง และสามารถบอกระดับความเสี่ยงในงานด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสม

          11. ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลบุคลากรที่ได้รับอันตราย บาดเจ็บจากการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ

          12. องค์กร ธุรกิจมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเนื่องจากผลิตผลที่เพิ่มขึ้น


เอกสารอ้างอิง
          1. ทวีสิทธิ์ บุญธรรม และคณะ, คู่มือการดูแลสุขภาพของสตรีวัยทำงาน, สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน, กรุงเทพฯ

          2. ธีระ ศิริอาชาวัฒนา, คู่มือสุขภาพดีดูแลได้ด้วยตนเอง, ซีเอ็ดยูเคชั่น, กรุงเทพฯ

          3. สนั่น เถาชารี, “การบริหารความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรมเชิงรุก”, Industrial Technology Review 2551, 14(179): 127-134

          4. สนั่น เถาชารี, “กลยุทธ์การบริหารความเครียด”, Industrial Technology Review 2551, 14(177): 157-163

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด