เนื้อหาวันที่ : 2011-11-04 09:27:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3111 views

มอก.18012 มาตรฐานคุณสมบัติผู้ตรวจประเมินระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย

มอก.18012 เป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงคุณสมบัติของผู้ตรวจประเมินระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย

มอก.18012 มาตรฐานคุณสมบัติผู้ตรวจประเมิน
ระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์ 

          หลักการที่สำคัญของการตรวจประเมินให้เกิดประสิทธิภาพ จะมาจาก 2 ส่วน ประกอบด้วยแนวทางในการตรวจประเมินที่มีความเป็นอิสระ และเป็นระบบ และผู้ตรวจประเมินที่ต้องมีความสามารถอย่างเพียงพอ ซึ่งในเรื่องของแนวทางในการตรวจประเมินสำหรับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้มีการระบุไว้ในมาตรฐาน มอก.18011 แล้ว

ส่วนในมาตรฐาน มอก.18012 นี้ จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงคุณสมบัติของผู้ตรวจประเมินระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย โดยข้อกำหนดที่เกี่ยวกับผู้ตรวจประเมินในมาตรฐาน มอก.18012 จะประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่
          • ความสามารถที่จำเป็น
          • การรักษาสภาพ และการพัฒนาความสามารถ
          • การประเมินความสามารถ

ความสามารถที่จำเป็น
ความสามารถที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะเป็นผู้ตรวจประเมิน จะประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
          • ลักษณะเฉพาะส่วนบุคคล
          • ความรู้และทักษะทั่วไปของผู้ตรวจประเมิน และหัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมิน
          • ความรู้และทักษะเฉพาะด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัย
          • การศึกษา ประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรมเป็นผู้ตรวจประเมิน และประสบการณ์การตรวจประเมิน

1 ลักษณะเฉพาะส่วนบุคคล
ผู้ตรวจประเมินควรมีลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลที่จะทำให้สามารถปฏิบัติตามหลักการของการตรวจประเมินได้ ดังนี้
          1) จรรยาบรรณ (Ethical) เช่น มีความยุติธรรม พูดความจริง มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ และสุขุม

          2) การเปิดใจกว้าง (Open Minded) ยินดีที่จะพิจารณาความเห็น หรือมุมมองที่แตกต่างกัน

          3) ศิลปะในการเจรจา (Diplomatic) มีไหวพริบในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ๆ

          4) การช่างสังเกต (Observant) สามารถใส่ใจสิ่งรอบตัวและกิจกรรมตลอดเวลา

          5) การรับรู้และเข้าใจ (Perceptive) มีสัญชาตญาณในการรับรู้และสามารถเข้าใจสถานการณ์

          6) การปรับตัว (Versatile) พร้อมที่จะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

          7) ความมุ่งมั่น (Tenacious) สู่วัตถุประสงค์ของความสำเร็จ

          8) การตัดสิน (Decisive) สามารถสรุปผลตามเวลาอันควรโดยใช้ตรรกะของเหตุผลและการวิเคราะห์

          9) ความเชื่อมั่นในตัวเอง (Self-reliant) สามารถปฏิบัติและทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระขณะที่มีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) อย่างดีกับบุคคลอื่น

2 ความรู้และทักษะทั่วไปของผู้ตรวจประเมิน และหัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมิน
ผู้ตรวจประเมินควรมีความรู้และทักษะในเรื่องต่าง ๆ ต่อไปนี้
          1) หลักการ ขั้นตอน และเทคนิคการตรวจประเมินระบบ เพื่อให้ผู้ตรวจประเมินสามารถประยุกต์หลักการตรวจประเมินขั้นตอน และเทคนิคสำหรับการตรวจประเมินได้อย่างเหมาะสม และมั่นใจได้ว่าการตรวจประเมินเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ โดยผู้ตรวจประเมินสามารถ

          - ประยุกต์หลักการ ขั้นตอน และเทคนิคการตรวจประเมิน
          - วางแผนการทำงานและการจัดการอย่างมีประสิทธิผล
          - ดำเนินการตรวจประเมินตามเวลาที่กำหนด
          - จัดลำดับและเน้นในเนื้อหาที่มีความสำคัญ
          - รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ การฟัง การสังเกต และการทบทวนเอกสาร บันทึกและข้อมูลต่าง ๆ
          - เข้าใจถึงความเหมาะสม และผลที่ตามมาของการใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างสำหรับการตรวจประเมิน
          - ทวนสอบความถูกต้องของข้อมูลที่รวบรวม
          - ยืนยันความเพียงพอ และความเหมาะสมของหลักฐานการตรวจประเมิน เพื่อสนับสนุนสิ่งที่พบจากการตรวจประเมิน และการสรุปผลการตรวจประเมิน
          - ประเมินปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสิ่งที่พบจากการตรวจประเมินและการสรุปผลการตรวจประเมิน
          - ใช้เอกสารการตรวจประเมินสำหรับบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ของการตรวจประเมิน
          - จัดทำรายงานการตรวจประเมิน
          - รักษาความลับและป้องกันการรั่วไหลหรือสูญหายของข้อมูล
          - สื่อสารอย่างมีประสิทธิผลโดยใช้ทักษะทางภาษาของแต่ละบุคคลหรือโดยการใช้ล่าม

          2) ระบบการจัดการ และเอกสารอ้างอิง เพื่อให้ผู้ตรวจประเมินได้เข้าใจขอบข่ายของการตรวจประเมิน และนำเกณฑ์การตรวจประเมินไปใช้ โดยความรู้และทักษะในส่วนนี้ จะประกอบด้วย

          - การประยุกต์ระบบการจัดการในองค์กรที่แตกต่างกัน
          - ปฏิสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบของระบบการจัดการ
          - มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เอกสารขั้นตอนการดำเนินงาน หรือเอกสารระบบการจัดการอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเกณฑ์การตรวจประเมิน
          - การยอมรับถึงความแตกต่าง และการจัดลำดับความสำคัญของเอกสารอ้างอิง
          - การนำเอกสารอ้างอิงไปใช้ในการตรวจประเมินในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
          - ระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีสำหรับการอนุมัติ การรักษาความปลอดภัย การแจกจ่าย และการควบคุมเอกสาร ข้อมูลและบันทึก

          3) สถานภาพขององค์กร เพื่อให้ผู้ตรวจประเมินเข้าใจรายละเอียดการดำเนินงานขององค์กร ความรู้และทักษะในส่วนนี้จะประกอบด้วย ขนาดขององค์กร โครงสร้าง หน้าที่และความสัมพันธ์กัน กระบวนการธุรกิจทั่วไป และนิยามที่เกี่ยวข้องรวมถึง วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมทางสังคมของผู้รับการตรวจประเมิน

          4) กฎหมาย กฎระเบียบและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ตรวจประเมินมีความเข้าใจในข้อกำหนดต่าง ๆ ที่มีการนำไปใช้กับองค์กรที่ตรวจประเมิน โดยความรู้และทักษะในส่วนนี้จะประกอบด้วย กฎหมายและกฎระเบียบ สัญญาและข้อตกลง สนธิสัญญาและอนุสัญญาระหว่างประเทศ และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรเอง

          ในส่วนของหัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมิน ควรจะมีความรู้และทักษะเพิ่มเติมสำหรับการเป็นผู้นำการตรวจประเมิน เพื่อให้การตรวจประเมินมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยหัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมิน จะต้องมีความสามารถในการ
          - วางแผนการตรวจประเมิน และใช้ทรัพยากรระหว่างการตรวจประเมินได้อย่างมีประสิทธิผล
          - เป็นผู้แทนของทีมผู้ตรวจประเมินในการสื่อสารกับผู้ขอให้มีการตรวจประเมิน และผู้รับการตรวจประเมิน
          - จัดการ และกำกับดูแลสมาชิกในทีมผู้ตรวจประเมิน
          - กำกับดูแล และให้คำแนะนำแก่ผู้ตรวจประเมินฝึกหัด
          - นำทีมผู้ตรวจประเมินไปสู่การสรุปผลการตรวจประเมิน
          - ป้องกัน และแก้ไขข้อขัดแย้ง
          - เตรียมการ และจัดทำรายงานการตรวจประเมิน

3 ความรู้และทักษะเฉพาะด้านระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ผู้ตรวจประเมินควรมีความรู้และทักษะเฉพาะในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
          1) วิธีการและเทคนิคการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ตรวจประเมินสามารถรวบรวมสิ่งที่พบจากการตรวจประเมิน และนำมาสรุปผลการตรวจประเมินได้อย่างเหมาะสม โดยความรู้และทักษะเฉพาะในส่วนนี้ ประกอบด้วย
          - นิยามด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
          - หลักการจัดการระบบอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการนำไปประยุกต์ใช้
          - วิธีการต่าง ๆ ในการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการนำไปใช้ (เช่น การชี้บ่งอันตราย วิธีการประเมินความเสี่ยง การประเมินผลการปฏิบัติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย)

          2) วิชาการและเทคโนโลยีทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ตรวจเข้าใจถึงความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างกิจกรรมในการปฏิบัติงาน กับงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยความรู้และทักษะในส่วนนี้ จะประกอบด้วย

          - ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงานในด้านต่าง ๆ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ไฟฟ้า เครื่องกล ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้อง

          - วิธีการในการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้อง

          - ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เช่น ด้านการยศาสตร์ ด้านสุขศาสตร์ อุตสาหกรรมและความปลอดภัย ด้านการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน

          - วิธีการในการป้องกันการเกิดอันตราย

          3) อันตรายจากการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้ตรวจได้เข้าใจถึงปฏิสัมพันธ์ของกิจกรรม ผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมถึงการดำเนินงานของผู้รับการตรวจประเมินที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยความรู้และทักษะในส่วนนี้จะประกอบด้วย
          - นิยามเฉพาะด้านในสาขาอุตสาหกรรม
          - อันตรายของกิจกรรม ผลิตภัณฑ์และการบริการ
          - วิธีการประเมินความเสี่ยง
          - ลักษณะที่วิกฤตของกระบวนการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์และการบริการ
          - เทคนิคในการตรวจติดตามและการวัดผล
          - เทคโนโลยีในการป้องกันการเกิดอันตราย

4 การศึกษา ประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรม และประสบการณ์การตรวจประเมิน
ผู้ตรวจประเมินควร
          1) มีการศึกษาเพียงพอที่จะสามารถรับความรู้ และทักษะตามที่ระบุไว้ได้

          2) มีประสบการณ์ในการทำงานซึ่งนำไปสู่การพัฒนาความรู้ และทักษะตามที่กำหนด และควรเป็นประสบการณ์การทำงานด้านเทคนิค การจัดการ หรือตำแหน่งในวิชาชีพที่เกี่ยวกับกิจกรรมด้านการตัดสินการแก้ไขปัญหา และการสื่อสารกับบุคคลในระดับจัดการ หรือบุคคลในวิชาชีพอื่น เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งของประสบการณ์การทำงาน ควรอยู่ในตำแหน่งที่มีกิจกรรมซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะในด้านการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

          3) ได้รับการฝึกอบรมเป็นผู้ตรวจประเมิน เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะ

          4) มีประสบการณ์ในการตรวจประเมินระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยตลอดทั้งกระบวนการภายใต้การกำกับดูแล และการให้คำแนะนำของหัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมินด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

          ส่วนหัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมิน ควรจะมีประสบการณ์ในการตรวจประเมินเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ โดยประสบการณ์ที่ได้รับเพิ่มเติมควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และการให้คำแนะนำของผู้ตรวจประเมินอีกผู้หนึ่งซึ่งมีความสามารถเป็นหัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมิน

          นอกจากนั้น องค์กรหรือหน่วยรับรองระบบควรมีการกำหนดระดับการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรมเป็นผู้ตรวจประเมิน และประสบการณ์การตรวจประเมินของผู้ตรวจประเมิน เพื่อให้มีความรู้และทักษะที่เหมาะสม ดังแสดงในตารางที่ 1 จะเป็นแนวทางการกำหนดคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ตามมาตรฐาน มอก.18012 ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้สูงขึ้นหรือต่ำลงตามความเหมาะสมของการนำไปใช้งานต่อไป

ตารางที่ 1 ตัวอย่างระดับการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรมเป็นผู้ตรวจประเมินและประสบการณ์

การรักษาสถานภาพ และการพัฒนาความสามารถ
          ผู้ตรวจประเมิน ควรจะมีการรักษาสถานภาพ และความสามารถการตรวจประเมิน โดยการเข้าร่วมการตรวจประเมินระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนของการพัฒนาความสามารถทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง จะเกี่ยวข้องกับการรักษาสถานภาพ และการพัฒนาความรู้ทักษะและลักษณะเฉพาะบุคคล

ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธี เช่น การมีประสบการณ์การทำงานที่เพิ่มขึ้น การฝึกอบรม การศึกษาด้วยตัวเอง การได้รับคำแนะนำช่วยเหลือ การเข้าร่วมประชุม หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่ผู้ตรวจประเมินควรแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

การประเมินผลความสามารถ
          องค์กรควรจัดให้มีการประเมินผู้ตรวจประเมินและหัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมิน โดยดำเนินการ และบันทึกผล ตามโปรแกรมการตรวจประเมิน เพื่อให้ได้ผลที่ถูกต้อง เกิดความสม่ำเสมอ เป็นธรรม และน่าเชื่อถือ ผลจากกระบวนการประเมิน ควรระบุถึงความต้องการในการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะอื่นเพิ่มเติมด้วย โดยการประเมินผู้ตรวจประเมินควรเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ ดังนี้
          - การประเมินเบื้องต้นของบุคคลที่ต้องการจะเป็นผู้ตรวจประเมิน
          - การประเมินความสามารถของผู้ตรวจประเมินในกระบวนการคัดเลือกทีมผู้ตรวจประเมิน
          - การประเมินผลการปฏิบัติของผู้ตรวจประเมินอย่างต่อเนื่อง เพื่อชี้บ่งความต้องการในการรักษาสถานภาพ การพัฒนาความรู้และทักษะ

กระบวนการประเมินผู้ตรวจประเมินประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก คือ

ขั้นตอนที่ 1 ชี้บ่งลักษณะเฉพาะบุคคล ความรู้และทักษะเพื่อเป็นไปตามความต้องการของโปรแกรมการตรวจประเมิน
          สิ่งที่จะนำมาใช้ในการประเมินถึงความเหมาะสมของความรู้และทักษะ ประกอบด้วย
          - ขนาด ลักษณะและความซับซ้อนขององค์กรที่รับการตรวจประเมิน
          - วัตถุประสงค์และขอบเขตของโปรแกรมการตรวจประเมิน
          - ข้อกำหนดในการให้การรับรองหรือการจดทะเบียน และการรับรองความสามารถของระบบงาน
          - บทบาทของกระบวนการตรวจประเมินต่อการจัดการขององค์กรที่รับการตรวจประเมิน
          - ระดับของความเชื่อมั่นที่ต้องการในโปรแกรมการตรวจประเมิน
          - ความซับซ้อนของระบบการจัดการที่ตรวจประเมิน

ขั้นตอนที่ 2 กำหนดเกณฑ์การประเมิน
          เกณฑ์ที่กำหนดอาจเป็นเชิงปริมาณ เช่น จำนวนปีของประสบการณ์การทำงาน จำนวนครั้งของการตรวจประเมิน จำนวนชั่วโมงของการฝึกอบรม หรืออาจเป็นเชิงคุณภาพ เช่น ระดับการศึกษา การแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะบุคคล ความรู้หรือทักษะที่แสดงออกในระหว่างการฝึกอบรมหรือในสถานที่ทำงาน

ขั้นตอนที่ 3 เลือกวิธีการประเมินที่เหมาะสม
          การประเมินควรดำเนินการโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งอาจจะเลือกใช้วิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีจากตัวอย่างวิธีที่แสดงไว้ในตารางที่ 2 ซึ่งการใช้วิธีการประเมิน ควรพิจารณาถึง
          - วิธีการที่ระบุไว้แสดงถึงขอบเขตของทางเลือกและไม่สามารถนำมาประยุกต์ได้ในบางสถานการณ์

          - วิธีการต่าง ๆ ที่ระบุไว้อาจมีระดับความน่าเชื่อถือที่แตกต่างกัน

          - ตามปกติควรนำวิธีการต่าง ๆ มาใช้ร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจถึงผลลัพธ์ที่ได้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์มีความสม่ำเสมอ ยุติธรรมและน่าเชื่อถือ

ตารางที่ 2 ตัวอย่างวิธีการประเมิน

ขั้นตอนที่ 4 วิธีดำเนินการประเมิน
          ในขั้นตอนนี้ จะเป็นการนำข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมไว้ของแต่ละบุคคล มาเทียบกับเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ สำหรับบุคคลที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ควรจัดให้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติม หรือเพิ่มประสบการณ์การตรวจประเมิน หรือประสบการณ์การทำงาน หลังจากนั้นจะต้องจัดให้มีการประเมินซ้ำ ในตารางที่ 3 จะแสดงถึงขั้นตอนของการประเมินตามลักษณะของความสามารถ

ตารางที่ 3 ตัวอย่างกระบวนการประเมินผู้ตรวจประเมินในโปรแกรมการตรวจประเมินภายใน

          จากที่ได้อธิบายมาทั้งหมด จะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ตรวจประเมิน และหัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมิน ที่จะช่วยให้ผู้ตรวจประเมินสามารถดำเนินการตรวจได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ นอกจากนั้น เพื่อให้เกิดความมีประสิทธิผลกับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กรอย่างต่อเนื่อง จำเป็นที่จะต้องมีการรักษาสถานภาพ และพัฒนาความสามารถในการตรวจประเมินอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีกระบวนการในการประเมินผลความสามารถของผู้ตรวจประเมินอย่างเป็นระบบด้วย 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด