เนื้อหาวันที่ : 2011-10-18 12:53:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3399 views

ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 6)

การตัดสินใจ และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม
(ตอนที่ 6)

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์

4. การดูแลสิ่งแวดล้อม 
           การตัดสินใจ และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ขององค์กร สถานที่ดำเนินกิจกรรมขององค์กร การสร้างมลพิษและของเสียในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงผลกระทบในด้านอื่น ๆ ที่มีต่อแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และระบบนิเวศ ดังนั้น องค์กรควรจะใช้แนวทางเชิงบูรณาการ ที่มีการคำนึงถึงผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม มาประกอบในการตัดสินใจ และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นด้วย

           ในปัจจุบัน สังคมกำลังเผชิญกับความท้าทายทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทั้งปัญหาจากการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ การเกิดมลพิษ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ การสูญพันธุ์ การพังทลายของระบบนิเวศโดยรวม รวมถึงการเสื่อมสภาพของแหล่งที่ตั้งทั้งชุมชนเมืองและชนบท ผลจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นภัยคุกคามอย่างมากต่อความมั่นคงปลอดภัยของมนุษย์ รวมถึงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสังคม

           ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับความอยู่รอด และความรุ่งเรืองของชีวิตมนุษย์ ซึ่งจะเป็นลักษณะที่สำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางด้านสิ่งแวดล้อมจะเชื่อมโยงกันกับหัวข้อหลัก และประเด็นสำคัญอื่น ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นการให้ความรู้และการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาสังคมและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

           ในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม จะประกอบด้วยหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ 
           *  ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการปฏิบัติตามข้อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว องค์กรควรจะมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินกิจกรรมขององค์กร นอกจากนั้น องค์กรควรจะมีการดำเนินการปรับปรุงสมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อมของตนเอง และขององค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ในขอบเขตอิทธิพลด้วย

           *  การแจ้งเตือนเบื้องต้น จากปฏิญญาริโอที่ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา รวมถึงปฏิญญาและข้อตกลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า หากพบว่าเกิดภัยคุกคามที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์อย่างร้ายแรง และไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้ หรือการขาดข้อมูลสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ที่แน่นอน จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุผลข้ออ้างในการละเว้นการวัดความคุ้มค่า เพื่อป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการทำลายสุขภาพอนามัยของประชาชน เมื่อมีการพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการดำเนินการ ดังนั้น องค์กรควรมีการพิจารณาถึงค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ของการดำเนินการนั้น ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย  

           *  การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ขององค์กร ควรจะมีการคำนึงถึงความเสี่ยง และความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ โดยจะต้องมีการประเมิน การหลีกเลี่ยง การลด และการบรรเทาความเสี่ยงและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร นอกจากนั้น องค์กรควรจะมีการจัดทำ และดำเนินกิจกรรมในการสร้างจิตสำนึก และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดและบรรเทาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัย รวมถึงการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้กับหน่วยงานของรัฐ และชุมชนท้องถิ่นอย่างเหมาะสมด้วย

           *  ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย โดยองค์กรควรจะรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร ที่เกี่ยวกับการแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสังคม หรือค่าใช้จ่ายของมลพิษที่เกินกว่าระดับที่สามารถยอมรับได้ ทั้งนี้ องค์กรควรยอมรับถึงแนวความคิดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของมลพิษ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในการป้องกันมลพิษ มากกว่าการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

           ในการดำเนินการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรควรจะมีการประเมิน และดำเนินการตามแนวทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้

           *  แนวทางวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Approach) เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ รวมถึงเป็นการปรับปรุงสมรรถนะทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ และแหล่งพลังงาน ไปจนถึงการผลิต การใช้งาน และการทำลายหรือการนำกลับมาใช้ใหม่เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน (End-of-life)

           *  การประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) โดยจะเป็นการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะมีการเริ่มต้นดำเนินกิจกรรมใหม่ ๆ หรือโครงการใหม่ ๆ และใช้ผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมิน มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจ

           *  การผลิตที่สะอาด (Cleaner Production) และประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) เป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดมลพิษและของเสียน้อยที่สุด ซึ่งจะให้ความสำคัญที่การปรับปรุงแหล่งกำเนิด มากกว่ากระบวนการหรือกิจกรรมในขั้นตอนสุดท้าย

ทั้งนี้ แนวทางการผลิตที่สะอาดและปลอดภัย รวมถึงแนวทางประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ จะประกอบด้วย การปรับปรุงแนวทางการบำรุงรักษา การยกระดับหรือการนำเสนอเทคโนโลยีหรือกระบวนการใหม่ การลดปริมาณการใช้วัสดุและพลังงาน การใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ การใช้น้ำอย่างเหมาะสม การกำจัดหรือจัดการวัตถุที่เป็นอันตรายหรือเป็นพิษอย่างปลอดภัย และการปรับปรุงกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์และการบริการ

           *  ระบบผลิตภัณฑ์และการบริการ (Product-service System Approach) จะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อตลาด จากการขายหรือการจัดหาผลิตภัณฑ์ มาเป็นการขาย หรือการจัดหาที่ใช้ระบบผลิตภัณฑ์และการบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการที่ควบคู่กันไปของผู้บริโภค

นอกจากนั้น ยังครอบคลุมถึงการให้เช่าผลิตภัณฑ์ การให้ยืมหรือการใช้งานร่วมกัน การจัดเป็นกองกลางและการจ่ายค่าบริการ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากร สามารถแยกแยะรายได้จากผังการไหลของวัสดุ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ผู้ผลิตขยายความรับผิดชอบให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และการบริการ

           *  การใช้เทคโนโลยีและการปฏิบัติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำมาใช้ ส่งเสริมการพัฒนา และเผยแพร่เทคโนโลยี และการบริการที่มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

           *  การจัดซื้ออย่างยั่งยืน (Sustainable Procurement) โดยในการตัดสินใจจัดซื้อ ควรมีการคำนึงถึงประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และจริยธรรมของผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่จัดหามา ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วย และควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

           *  การเรียนรู้ และการสร้างจิตสำนึก โดยองค์กรควรจะมีการสร้างจิตสำนึก และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร และภายใต้ขอบเขตอิทธิพล ขององค์กร

           ในหมวดของสิ่งแวดล้อม จะประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่ 
           1. การป้องกันมลพิษ 
           2. การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
           3. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 
           4. การปกป้องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และการฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ทางธรรมชาติ

           4.1 การป้องกันมลพิษ 
           องค์กรสามารถปรับปรุงสมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยการป้องกันมลพิษ ซึ่งประกอบด้วย
           *  การปล่อยออกสู่อากาศ เช่น ตะกั่ว ปรอท สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ไดออกซิน อนุภาคต่าง ๆ และสารทำลายชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อคนที่แตกต่างกัน โดยการปล่อยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะมาจากสิ่งอำนวยความสะดวก และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง หรือจากการใช้และดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ และการบริการที่สิ้นอายุการใช้งานแล้ว หรือจากการสร้างพลังงานที่จะนำมาใช้งานโดยองค์กรเอง 

           *  การปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ ทั้งที่เป็นโดยตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือจากอุบัติเหตุก็ตาม การลงสู่แหล่งน้ำผิวดินต่าง ๆ รวมทั้งการปล่อยลงสู่ทะเล การไหลลงสู่แม่น้ำ หรือซึมลงไปยังแหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ โดยตรงอาจเกิดจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ขององค์กร หรือโดยอ้อมจากการใช้ผลิตภัณฑ์ และบริการขององค์กร

           *  การจัดการกากของเสีย โดยกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร อาจจะนำไปสู่การทำให้เกิดของเสียที่อยู่ในรูปของของเหลว หรือของแข็ง หากได้รับการจัดการที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่อากาศ น้ำ ผิวดิน และพื้นที่ภายนอก นอกจากนั้น การจัดการกากของเสีย ควรจะรวมไปถึงการหาแนวทางในการหลีกเลี่ยงการเกิดกากของเสียด้วย

ซึ่งขั้นตอนการปฏิบัติงานในการลดกากของเสียตามลำดับชั้น จะประกอบด้วย การลดที่แหล่งกำเนิด การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการนำกลับเข้ากระบวนการผลิตใหม่ การบำบัดหรือการกำจัดกากของเสีย โดยการใช้วิธีการลดกากของเสียตามลำดับชั้นนี้ ควรคำนึงถึงอายุของการใช้งานของวัสดุ หรือผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ด้วย นอกจากนั้น กากของเสียอันตราย รวมถึงกากกัมมันตภาพรังสี ควรได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม และมีความโปร่งใส

           *  การใช้งาน และการกำจัดสารพิษ และสารเคมีอันตรายอย่างเหมาะสม สำหรับองค์กรที่มีการใช้ หรือผลิตสารพิษ หรือสารเคมีที่เป็นอันตราย (ทั้งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือจากการจัดทำขึ้น) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบนิเวศน์ และสุขภาพของมนุษย์ ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยทันที (Acute) และสะสมยาวนาน (Chronic) จากการปล่อยหรือระบายออกไป ทั้งนี้ ผลกระทบอาจจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุ และเพศ

           *  รูปแบบของมลพิษอื่น ๆ โดยกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ขององค์กร อาจทำให้เกิดมลพิษในรูปแบบต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ซึ่งมลพิษเหล่านี้ จะรวมไปถึง เสียง กลิ่น สิ่งที่มองเห็น มลพิษจากแสง การสั่นสะเทือน การปล่อยคลื่นแม่เหล็ก การแผ่รังสี ของเสียติดเชื้อ การปล่อยมลพิษจากแหล่งที่สามารถแพร่กระจายได้ และอันตรายทางชีววิทยา 

           ในการปรับปรุงเพื่อเป็นการป้องกันมลพิษจากกิจกรรมต่าง ๆ องค์กรควรจะ  
           *  ระบุถึงคุณลักษณะ และผลกระทบของการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

           *  ระบุถึงแหล่งกำเนิดของมลพิษ และกากของเสียที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ

           *  ทำการวัด บันทึก และจัดทำรายงานแสดงถึงแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญ และการลดมลพิษ การบริโภคน้ำ การเกิดของเสีย และการใช้พลังงาน

           *  ดำเนินมาตรการในการป้องกันมลพิษและกากของเสีย โดยใช้การจัดการกากของเสียตามลำดับชั้น และการจัดการอย่างเหมาะสมกับมลพิษ และกากของเสียที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

           *  มีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษ และกากของเสียที่เกิดขึ้น และที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่มีต่อสุขภาพ และการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการบรรเทาทั้งที่เป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นแล้ว และที่จะเกิดขึ้นด้วย

           *  ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการติดตามความก้าวหน้าในการลดลงของมลพิษ และการทำให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้อยู่ภายใต้ระดับที่ควบคุม โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

           *  เปิดเผยต่อสาธารณะถึงปริมาณ ประเภทของการใช้ การปล่อยสารพิษและวัสดุอันตรายที่สำคัญ รวมถึงความเสี่ยงที่มีต่อกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของวัสดุเหล่านั้น จากการนำมาใช้ในสภาพปกติของการทำงาน และเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น

           *  ชี้บ่งอย่างเป็นระบบ  และหลีกเลี่ยงการใช้งาน เกี่ยวกับ
                      o สารเคมีที่ถูกห้ามโดยกฎหมายระดับชาติ หรือจากรายการของสารเคมีต้องห้ามตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ

                      o สารเคมีที่ได้รับการระบุจากหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ จากข้อกังวลที่สมเหตุสมผล และสามารถสอบกลับได้ โดยองค์กรจะต้องหาวิธีการในการป้องกันการใช้สารเคมีต่าง ๆ รวมถึงในองค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิพล

ทั้งนี้ สารเคมีต้องห้าม ไม่จำกัดเฉพาะสารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง สารอินทรีย์ที่คงสภาพยาวนาน (POPs) สารเคมีภายใต้อนุสัญญารอตเตอร์ดัม (Rotterdam Convention) สารเคมีอันตรายและสารกำจัดศัตรูพืช (ตามที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก)

สารเคมีที่ระบุว่าสามารถก่อมะเร็งหรือทำให้กลายพันธุ์ และสารเคมีที่มีผลต่อการสืบพันธุ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ หรือเกิดการตกค้างของสารพิษ และสะสมในสิ่งมีชีวิต (PBTs) รวมถึงสารตกค้างยาวนานมากและสะสมในสิ่งมีชีวิตได้ดีมาก (vPvBs)

           *  ดำเนินการป้องกันอุบัติเหตุทางด้านสิ่งแวดล้อม และการเตรียมความพร้อม รวมถึงการจัดทำแผนฉุกเฉินที่ครอบคลุมถึงอุบัติเหตุ และอุบัติการณ์ต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยจะครอบคลุมไปถึงลูกจ้าง หุ้นส่วน หน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย ชุมชนท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การดำเนินการจะประกอบด้วย การชี้บ่งถึงอันตรายและการประเมินความเสี่ยง ขั้นตอนดำเนินการในการแจ้งเหตุและการยกเลิก ระบบการสื่อสาร รวมถึงการให้ความรู้ และข้อมูลสารสนเทศกับสาธารณะ 

           4.2 การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน 
           รูปแบบและปริมาณการบริโภคและการผลิตในปัจจุบัน จำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในอนาคต จะมีทรัพยากรอย่างเพียงพอ และพร้อมใช้งาน ทั้งนี้ การปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จะแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนประกอบด้วย

           *  ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยองค์กรควรจะมีการดำเนินโปรแกรมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดความต้องการทางด้านพลังงานสำหรับอาคารสถานที่ การขนส่ง กระบวนการผลิต เครื่องมือและอุปกรณ์ทางไฟฟ้า การบริการ หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ ทั้งนี้ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จะรวมไปถึงการใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อน การใช้น้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า พลังงานคลื่น พลังงานจากลม และชีวมวล

           *  การอนุรักษ์น้ำ การใช้งาน และการเข้าถึงแหล่งน้ำ โดยการเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ รวมถึงการบริการด้านสุขศาสตร์ จะเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในเป้าหมายของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ The Millennium Development Goals ได้ระบุถึงการเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มที่ปลอดภัยไว้ด้วย ดังนั้นองค์กรควรจะมีการอนุรักษ์ ลดการใช้และการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ สำหรับการปฏิบัติงานขององค์กร รวมถึงมีการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์น้ำในขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบขององค์กรด้วย  

           *  ประสิทธิภาพในการใช้วัสดุ โดยองค์กรควรจะมีการดำเนินโปรแกรมประสิทธิภาพของการใช้วัสดุ (Material efficiency program) เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม จากการใช้วัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิต หรือจากผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป หรือในการส่งมอบการบริการต่าง ๆ ขององค์กร ทั้งนี้ การใช้วัสดุต่าง ๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศจากการทำเหมืองและป่าไม้ หรือการปล่อยสิ่งต่างๆ ออกมาจากการขนส่ง หรือการแปรรูปวัสดุต่าง ๆ เป็นต้น

           *  ความต้องการทรัพยากรที่น้อยที่สุดของผลิตภัณฑ์ โดยพิจารณาถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรสำหรับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในการนำไปใช้งาน

           ในการดำเนินการที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน องค์กรควรจะ 
           *  ระบุถึงแหล่งกำเนิดของพลังงาน น้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ  
           *  ตรวจวัด บันทึก และจัดทำรายงานการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ ที่สำคัญ 
           *  ดำเนินมาตรการในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ โดยพิจารณาถึงดัชนีวัดของแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และตัวเปรียบเทียบอื่น ๆ 
           *  เติมเต็ม หรือทดแทนทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ด้วยแหล่งทรัพยากรที่มีผลกระทบต่ำ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และยั่งยืน
           *  ใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ 
           *  จัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้อย่างเท่าเทียมกัน  
           *  ส่งเสริมการจัดซื้ออย่างยั่งยืน 
           *  ขยายการใช้ผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบ
           *  ส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน 
     
           4.3 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 
           ในปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHG) จากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) จะเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและมนุษย์

จากแนวโน้มเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงของฤดูฝน การเกิดสภาวะอากาศที่รุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรง และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเกษตร และการประมง

           ทุก ๆ องค์กรถือว่ามีความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั้งทางตรงและทางอ้อม และจะได้รับผลกระทบในทางใดทางหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นองค์กรควรจะมีการดำเนินการทั้งในรูปแบบของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นโดยองค์กรเอง (การบรรเทา) และการวางแผนสำหรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (การปรับตัว)

           การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
           ในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ องค์กรควรจะ 
           * ระบุถึงแหล่งกำเนิดทั้งทางตรงและทางอ้อมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกำหนดถึงขอบเขตของความรับผิดชอบขององค์กร 

           * ตรวจวัด บันทึก และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการใช้วิธีการที่เป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับระหว่างประเทศ

           * ดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ในการลดหรือทำให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายใต้การควบคุมขององค์กร รวมถึงส่งเสริมให้มีการดำเนินการที่คล้าย ๆ กันภายในขอบเขตอิทธิพลขององค์กร

           * ทบทวนปริมาณ และประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ที่สำคัญภายในองค์กร และการปรับปรุงความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงการนำแนวทางวัฏจักรชีวิตมาใช้ เพื่อให้มั่นใจได้ถึงการลดลงสุทธิของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถึงแม้ว่าจะมีการพิจารณาถึงการใช้เทคโนโลยีในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ หรือการใช้พลังงานทดแทนแล้วก็ตาม 

           * ป้องกัน หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (โดยเฉพาะที่ทำให้เกิดการลดลงของชั้นโอโซนในบรรยากาศ) จากการใช้ที่ดิน และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน กระบวนการหรืออุปกรณ์ รวมไปถึงเครื่องทำความร้อน เครื่องระบายอากาศ และเครื่องปรับอากาศ

           * ประหยัดการใช้พลังงานภายในองค์กรเท่าที่เป็นไปได้ รวมถึงการจัดซื้อสินค้าที่มีประสิทธิภาพทางด้านพลังงาน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

           * กำหนดเป้าหมายในการสร้างความสมดุลของคาร์บอน โดยการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Offset) เช่น การใช้โปรแกรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น่าเชื่อถือ มีการดำเนินการที่โปร่งใส การตรวจจับและจัดเก็บคาร์บอน หรือการกักเก็บคาร์บอน 

           การปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 
           ในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ องค์กรควรจะมีการ 
           * พิจารณาถึงแนวโน้มในอนาคตของสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก โดยการระบุถึงความเสี่ยงต่าง ๆ และบูรณาการการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไว้เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ

           * ระบุถึงโอกาสในการหลีกเลี่ยง หรือลดความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และได้รับประโยชน์จากโอกาสต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับสภาพของการเปลี่ยนแปลง

           * ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในขอบเขตอิทธิพลขององค์กร เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร มีความสามารถในการปรับตัวด้วย

           4.4 การปกป้องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และการฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ทางธรรมชาติ 
           นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 กิจกรรมของมนุษย์ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศอย่างรวดเร็ว และรุนแรงมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ การเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความต้องการทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัย และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ และไม่สามารถที่จะฟื้นฟูสิ่งที่สูญเสียไปแล้วได้ 

           ดังนั้น องค์กรสามารถแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมได้มากขึ้น โดยการปกป้องสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูแหล่งธรรมชาติ รวมถึงประโยชน์ใช้สอยและคุณค่าของระบบนิเวศ ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาที่มีนัยสำคัญ จะประกอบด้วย

           *  การให้คุณค่า และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยความหลากหลายทางชีวภาพ จะเป็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทุกรูปแบบ ทุกระดับ และทุกการผสมผสาน รวมไปถึงความหลากหลายของระบบนิเวศ ความหลากหลายของสายพันธุ์ และโครงสร้างทางพันธุกรรม ซึ่งวัตถุประสงค์ของการปกป้องความหลากหลายทางชีวิต เพื่อให้สิ่งมีชีวิตที่มีสายพันธุ์ทั้งบนบกและในน้ำ ความหลากหลายทางพันธุกรรม และระบบนิเวศทางธรรมชาติสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป

           *  การเห็นคุณค่า การปกป้อง และการฟื้นฟูการบริการของระบบนิเวศ ทั้งนี้ ระบบนิเวศ (Ecosystems) จะช่วยให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีกับสังคม ช่วยให้มีสิ่งที่สำคัญต่าง ๆ เช่น อาหาร น้ำ เชื้อเพลิง การควบคุมอุทกภัย ผืนดิน แมลงผสมเกสร เส้นใยธรรมชาติ สถานที่พักผ่อน และการดูดซับมลพิษและของเสีย

           *  การใช้ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการที่มีการใช้ที่ดินขององค์กร อาจจะเป็นได้ทั้งการปกป้อง หรือทำลายสิ่งมีชีวิต น้ำ ดิน และระบบนิเวศต่าง ๆ

           * การพัฒนาพื้นที่ทั้งเขตเมือง และชนบทโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งการตัดสินใจและการดำเนินการต่างๆ ขององค์กร อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศต่าง ๆ ทั้งในเขตเมือง และชนบท โดยผลกระทบต่าง ๆ อาจมาจากการวางผังเมือง สิ่งปลูกสร้างและการก่อสร้าง ระบบขนส่งต่าง ๆ การจัดการน้ำเสียและของเสีย รวมถึงเทคโนโลยีทางการเกษตรที่นำมาใช้

           ในการดำเนินการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ทางธรรมชาติ องค์กรควรจะ 

           *  ระบุถึงผลกระทบในทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ และกำหนดมาตรการในการขจัด หรือทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

           *  มีส่วนร่วมในกลไกการตลาดในการยอมรับค่าใช้จ่ายของการทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขององค์กร และสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจในการปกป้องระบบนิเวศอย่างเหมาะสม

           *  ให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงความสูญเสียของระบบนิเวศทางธรรมชาติเป็นลำดับแรก และการฟื้นฟูระบบนิเวศเป็นลำดับถัดมา หากไม่สามารถดำเนินการตามทั้งสองแนวทางนี้ได้ ให้มีการดำเนินการชดเชยความเสียหายจากการดำเนินการ เพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศต่อไป 

           *  กำหนดและดำเนินกลยุทธ์เชิงบูรณาการ สำหรับการบริหารจัดการที่ดิน น้ำ และระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ และการใช้แบบเท่าเทียมกันทางสังคมอย่างยั่งยืน

           *  ดำเนินมาตรการ เพื่ออนุรักษ์สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เฉพาะถิ่น หรือสายพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคาม หรือมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ หรือถิ่นที่อยู่อาศัยที่อาจได้รับผลกระทบ

           *  ดำเนินการวางแผน ออกแบบ และปฏิบัติการ ในแนวทางในการทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจใช้ที่ดิน รวมถึงการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการเกษตรและชุมชนเมือง

           *  รวมเรื่องของการป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าไม้ ทางเดินสัตว์ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่เพื่อการเกษตร ไว้ในแผนพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง และงานก่อสร้าง

           *  ใช้แนวทางการเกษตร การทำประมง และการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงแนวทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าต่าง ๆ

           *  เพิ่มสัดส่วนของการใช้ผลิตภัณฑ์จากผู้ส่งมอบที่ใช้เทคโนโลยี และกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน

           *  คำนึงเสมอว่าสัตว์ป่า และถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศตามธรรมชาติ และควรได้รับการปกป้อง และดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์ป่าเหล่านั้นด้วย

           *  หลีกเลี่ยงการดำเนินการที่เป็นการคุกคามต่อความอยู่รอด หรือนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการยอมให้มีการแจกจ่าย หรือขยายสายพันธุ์ที่รุกราน
    

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด