เนื้อหาวันที่ : 2011-09-27 17:32:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4262 views

เลือกหมวกและแว่นตานิรภัยสำหรับงานระบบไฟฟ้าอย่างไรให้เหมาะสม

การปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมในสาขาต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ

ดร.ยุทธพงศ์ ทัพผดุง

          เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมในสาขาต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ และสำหรับอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐานประจำตัวของช่างเทคนิค และวิศวกรที่จำเป็นต้องใช้เพื่อเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ หมวกและแว่นตานิรภัยนั่นเอง แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าได้มีการแบ่งระดับการใช้งานของอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างไร และมีมาตรฐานอะไรมารองรับ

จากเหตุผลข้างต้น หลายท่านอาจสงสัยว่าราคาของหมวกและแว่นตานิรภัยที่ท่านเลือกซื้อในท้องตลาดหรือในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทำไมราคามีความแตกต่างกันเสียเหลือเกิน บทความนี้จะนำเสนอวิธีการเลือกใช้หมวกและแว่นตานิรภัยให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการใช้งาน อีกทั้งยังแนะนำวิธีการใช้และบำรุงรักษาได้อย่างถูกต้อง

หมวกนิรภัย
          โครงสร้างและมาตรฐานของหมวกนิรภัยนั้น มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันวัตถุใด ๆ หล่นหรือถูกพัดพาจากที่สูงมาถูกผู้สวมใส่จนทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือได้รับอันตรายถึงชีวิต อีกทั้งยังรวมถึงการป้องกันด้านการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้าอีกด้วย ดังนั้น หมวกนิรภัยไม่เพียงแต่ป้องกันสิ่งของหรือวัตถุหล่นลงมาจากที่สูงเท่านั้น แต่หมวกนิรภัยจะต้องมีคุณสมบัติที่เป็นฉนวนทางไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายบุคคลที่สวมใส่เมื่อขณะปฏิบัติงานด้านระบบไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งหมวกนิรภัยโดยทั่วไปจะอ้างอิงมาตรฐาน ANSI Z89.1 (American National Standard Institute) ซึ่งได้แบ่งระดับชั้น (Class) ของหมวกนิรภัยดังนี้

1. Class G* จะเป็นหมวกนิรภัยที่ออกแบบเพื่อลดแรงกระแทกของที่วัตถุหล่นมาถูกผู้สวมใส่ และลดอันตรายจากการสัมผัสกับตัวนำไฟฟ้าแรงดันต่ำ ซึ่งจะถูกทดสอบจากผู้ผลิตที่แรงดันไฟฟ้า 2200 Volt (Phase to Ground)

2. Class E* จะเป็นหมวกนิรภัยที่ออกแบบเพื่อลดแรงกระแทกของที่วัตถุหล่นมาถูกผู้สวมใส่ และลดอันตรายจากการสัมผัสกับตัวนำไฟฟ้าแรงดันสูง ซึ่งจะถูกทดสอบจากผู้ผลิตที่แรงดันไฟฟ้า 20000 Volt (Phase to Ground)

3. Class C จะเป็นหมวกนิรภัยที่ออกแบบเพื่อลดแรงกระแทกของที่วัตถุหล่นมาถูกผู้สวมใส่เท่านั้น ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับปฏิบัติงานด้านระบบไฟฟ้า

หมายเหตุ "*" ก่อนปี 1998 Class G นั้นได้ถูกระบุเป็น Class A สำหรับ Class E ได้ถูกระบุเป็น Class B

        รูปที่ 1 ได้แสดงตัวอย่างของหมวกนิรภัย Class E (หรือ Class B) ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าควรระลึกอยู่เสมอว่า จะต้องเลือกหมวกนิรภัยเป็น Class G หรือ Class E เท่านั้น สำหรับปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร, อาร์กหรือระเบิดเนื่องจากระบบไฟฟ้า ซึ่งป้ายบ่งชี้สำหรับ Class B (ปัจจุบันเป็น Class E) นั้นได้แสดงในรูปที่ 2

 รูปที่ 1 หมวกนิรภัยสำหรับใช้งานด้านติดตั้งและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า

รูปที่ 2 ป้ายบ่งชี้ของหมวกนิรภัย Class E (หรือ Class B)

การใช้งานและดูแลบำรุงรักษา
          จากรายละเอียดข้างต้นเราจะเห็นความแตกต่างของการเลือกใช้งานหมวกนิรภัยแล้วใช่ไหมครับ ว่ามีความแตกต่างในเรื่องการแบ่งประเภทของการใช้งานอย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติงานกับระบบไฟฟ้าก็ควรพิจารณาใช้หมวกนิรภัยที่เป็น Class G หรือ E เพื่อป้องกันการเกิดลัดวงจร, การอาร์ค, การระเบิด และการเกิดอันตรายแรงดันทางกลเนื่องจากการระเบิด ดังตารางที่ 1 ได้แสดงรายการสภาพการทำงานที่พนักงานที่เกี่ยวข้องด้านระบบไฟฟ้า จำเป็นต้องใส่หมวกและแว่นตานิรภัย

          สำหรับการตรวจสอบและบำรุงรักษาหมวกนิรภัยนั้น ผู้ใช้งานควรมีการตรวจสอบทุกวันก่อนนำไปใช้งาน ซึ่งการตรวจสอบควรรวมไปถึงการตรวจสอบปลอกหมวกพร้อมที่รองด้านในและสายรัดต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ ดังแสดงในรูปที่ 3 ซึ่งถ้าพบว่าอุปกรณ์ส่วนประกอบชิ้นใดชำรุดเสียหายนั้น ก็ควรรีบดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน สำหรับการทำความสะอาดหมวกนิรภัย Class G และ E นั้น เราอาจจะใช้น้ำอุ่นและสบู่ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทำละลาย (Solvent) ต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด และควรปฏิบัติตามข้อแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด

ตารางที่ 1 สภาพปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องใช้หมวก และแว่นตานิรภัยที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า

   รูปที่ 3 อุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของหมวกนิรภัย

แว่นตานิรภัย
          การเกิดหมอกควันของพลาสมา (Plasma Cloud) และไอของเหลวจากโลหะ (Molten Metal) เนื่องจากการเกิดการลัดวงจรไฟฟ้าหรือการอาร์กและระเบิดอย่างรวดเร็วนั้น ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น และหมอกควันของพลาสมาและไอของเหลวจากโลหะเข้าดวงตาของผู้ปฏิบัติงาน ผลที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้ดวงตาของผู้ปฏิบัติงานบอดถาวรได้ เนื่องจากหมอกควันของพลาสมาและไอของเหลวจากโลหะนั้นจะมีอุณหภูมิสูงมาก

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานด้านการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้ามีโอกาสประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ป้องกันดวงตาของตนเอง ซึ่งแว่นตานิรภัยที่ใช้ในปัจจุบันจะอ้างอิงมาตรฐานสากลคือ มาตรฐาน ANSI Z87.1 และแว่นตานิรภัยควรจะเป็นฉนวนไฟฟ้า เมื่อมีการใช้งานในบริเวณพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดการลัดวงจรไฟฟ้าหรือการอาร์กและระเบิดจากระบบไฟฟ้า

          ชุดป้องกันการวาบไฟ (Flash Suit) และหมวกครอบศีรษะป้องกันใบหน้า (Face Shield) ดังรูปที่ 4 และ 5 จะเป็นอุปกรณ์ที่ดีเยี่ยมสำหรับป้องกันหมอกควันของพลาสมาและไอของเหลวจากโลหะ สำหรับแว่นตานิรภัยชนิดกันลมกันฝุ่น (Goggles) นั้นจะช่วยลดความเข้มของรังสีอัลตราไวโอเลตได้ ดังรูปที่ 6 ควรใส่ในการปฏิบัตงานด้านติดตั้งและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าด้วย และรูปที่ 7 ได้แสดงรูปถ่ายผู้ปฏิบัติงานที่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลพื้นฐานซึ่งประกอบด้วยหมวก และแว่นตานิรภัย


รูปที่ 4 ชุดป้องกันการวาบไฟ (Flash Suit)

รูปที่ 5 หมวกครอบศีรษะป้องกันใบหน้า (Face Shield)

 รูปที่ 6 แว่นตานิรภัยลดรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต

 รูปที่ 7 ผู้ปฏิบัติงานที่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล

การใช้งานและการดูแลบำรุงรักษา
          การป้องกันดวงตาและใบหน้านั้น ผู้ปฏิบัติงานด้านการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ควรคำนึงถึงในขณะปฏิบัติงานเสมอว่า มีโอกาสเกิดการอาร์กและระเบิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยอ้างอิงสภาพการทำงานในตารางที่ 1 สำหรับการทำความสะอาดแว่นตานิรภัยนั้น ควรมีการทำความสะอาดก่อนใช้งาน โดยใช้ผ้าเช็ดที่อ่อนนุ่มไม่มีขนกับน้ำอุ่น แต่ถึงอย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จะให้ผ้าหรือวัสดุที่เหมาะสมสำหรับทำความสะอาดแว่นตานิรภัยมาให้ด้วยแล้ว หรืออาจะสั่งซื้อวัสดุและอุปกรณ์ทำความสะอาดเฉพาะจากผู้ผลิตก็ได้ ดังแสดงในรูปที่ 8


รูปที่ 8 น้ำยาและวัสดุทำความสะอาดแว่นตานิรภัย

สรุป
          สุดท้ายผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านคงทราบและมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นในการเลือกใช้หมวกและแว่นตานิรภัย เพื่อใช้งานด้านระบบไฟฟ้าอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดคุ้มค่าในด้านราคาและคุณภาพสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว อีกทั้งยังทำให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและพนักงานในองค์กรของท่านด้วย ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านและสร้างจิตสำนึกในเรื่องของความปลอดภัยมากขึ้นกับตนเองและพนักงานในองค์กร เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยให้มีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เอกสารอ้างอิง
          - John Cadick, Mary Capelli-Schellpfeffer and Dennis Neitzel, "Electrical Safety Handbook", McGraw-Hill, 2005
          - http://www.msanorthamerica.com
          - http://www.bulwark.com

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด