เนื้อหาวันที่ : 2011-09-19 18:17:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5959 views

แผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (ตอนที่ 1)

ในหลาย ๆ กิจกรรมของการทำงานและในหลากหลายสถานที่ปฏิบัติงาน มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์จากการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย

แผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (ตอนที่ 1)
(Hazardous Materials Spill/Leak Prevention and Control Plans)

 ศิริพร วันฟั่น

ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวการรั่วไหลของสารเคมีหรือก๊าซพิษอยู่บ่อยครั้ง เช่น เหตุการณ์สารฟอกขาว “โซเดียมเปอร์ซัลเฟต” รั่วไหลจากโกดังที่ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งทำปฏิกิริยากับความชื้นภายนอกแล้วลุกไหม้ก่อให้เกิดก๊าซพิษที่เรียกว่า “ซัลเฟอร์ไดออกไซด์” หรือกรณีการเกิดก๊าซพิษล่องหนที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่จนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบว่าบริษัทใดเป็นตัวการปล่อยออกมา หรือกรณีก๊าซพิษที่รั่วไหลออกมาของโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี จนทำให้วิศวกรความปลอดภัยโรงงานเสียชีวิตไป 1 คนและบาดเจ็บสาหัสจำนวนหนึ่ง

รวมถึงเหตุการณ์น่าหวาดเสียวที่เกิดขึ้นที่คาร์โกสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเกิดข่าวการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี IR–192 ซึ่งนับว่าโชคยังดีที่พนักงานตาไวสังเกตเห็นความผิดปกติของบรรจุภัณฑ์ และรีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบให้รับทราบและควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่หยิบยกมานี้ เราก็พอจะมองเห็นแล้วว่า ในหลาย ๆ กิจกรรมของการทำงานและในหลากหลายสถานที่ปฏิบัติงาน มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์จากการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผลิตสารเคมีอันตราย หรือสถานที่ปฏิบัติงานที่ใช้งาน ขนย้าย จัดเก็บ สารอันตรายต่าง ๆ หรือสถานที่ปฏิบัติงานที่มีกระบวนการเกี่ยวข้องกับท่อส่งก๊าซ สารอันตราย รวมไปถึง ห้องทดลองที่ใช้สารเคมี สารชีวภาพ สารกัมมันตรังสี หรือแม้กระทั่งในระหว่างการขนส่งหรือขนถ่ายวัตถุอันตรายจากยานพาหนะ เหล่านี้เป็นต้น

          วัตถุอันตราย หรือสารอันตราย (Hazardous Materials or Hazardous Substances) สามารถที่จะแบ่งประเภทออกได้เป็น 9 กลุ่ม คือ (1.) วัตถุระเบิด (2.) ก๊าซ (ก๊าซไวไฟ/ก๊าซไม่ไวไฟ/ก๊าซพิษ) (3.) ของเหลวไวไฟ (4.) ของแข็งไวไฟ (ของแข็งไวไฟ/สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง/สารเมื่อสัมผัสน้ำให้ก๊าซไวไฟ) (5.) สารออกซิไดซ์และสารเปอร์ออกไซด์ (6.) สารพิษและสารที่ทำให้ติดเชื้อ (7.) สารกัมมันตรังสี (8.) สารกัดกร่อน และ (9.) สารอันตรายเบ็ดเตล็ด

          การหกเลอะ หรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (Spillage & Leakage of Hazardous Materials) สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยมีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย เช่น ภาชนะบรรจุไม่ได้มาตรฐานหรือเสื่อมสภาพ ระบบการจัดเก็บไม่เหมาะสม เกิดความผิดพลาดขึ้นกับระบบกลไกการทำงานของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ขาดการบำรุงรักษาและตรวจสอบอย่างเพียงพอ ขาดความระมัดระวังหรือไม่เข้าใจในการใช้งาน ฯลฯ ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ก็อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ ความเป็นพิษ และขอบเขตการหกรั่วไหลของวัตถุอันตราย รวมไปจนถึงปัจจัยร่วมของสภาพแวดล้อมที่อยู่โดยรอบประกอบกันด้วย

ซึ่งถ้าหากมีการรับมือและควบคุมอย่างทันท่วงที ก็อาจเกิดการบาดเจ็บไม่มากหรือทรัพย์สินเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจนำมาซึ่งการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก นอกจากนี้ การหกเลอะ หรือรั่วไหลของวัตถุอันตรายก็ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน (เช่น ไหลลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ หรือปนเปื้อนไปบนพื้นดิน และแหล่งน้ำธรรมชาติ)

ดังนั้น จึงควรมีการเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เหล่านี้ โดยพิจารณาบรรจุแผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (Hazardous Materials Spill/Leak Prevention and Control Plans) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการป้องกันและรับมือในยามที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง รวมทั้งเป็นการขจัดและลดโอกาสในการเกิดเหตุการณ์หกเลอะหรือรั่วไหล แล้วยังมีส่วนช่วยในการบรรเทาความเสียหายจากผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแผนงานฯ ที่ว่านี้ก็เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติคร่าว ๆ เท่านั้น

ดังนั้นผู้อ่านจึงควรพิจารณานำไปปรับใช้ให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของพื้นที่งาน เช่น ในห้องทดลองปฏิบัติการ โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับสารเคมีหลากหลายชนิดแต่จะมีปริมาณน้อยในแต่ละชนิด ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ จะเกี่ยวข้องกับสารเคมีไม่กี่ชนิด แต่จะมีปริมาณที่มากกว่า หรือบางสถานที่ปฏิบัติงานมีการใช้ระบบท่อส่งสารอันตราย เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงเงื่อนไขหรือข้อจำกัดพิเศษบางประการของสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นด้วย

องค์ประกอบของแผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย
1. มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสำหรับการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย
(Hazardous Materials Spill/Leak Prevention and Precaution Measures)
          โดยทั่วไปแล้ว การหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตรายมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในระหว่างช่วงเวลาของกิจกรรม 5 ประการ คือ การจัดเก็บ (Storage) การขนส่ง (Transportation) การเคลื่อนย้าย (Transfers) การดำเนินการและใช้งาน (Handling & Usage) และการกำจัด (Disposal) ดังนั้นจึงต้องมีการชี้บ่ง (Identification) และการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ของแต่ละพื้นที่หรือขั้นตอนการปฏิบัติงาน ถึงโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย รวมไปถึงมีการตรวจสอบ (Inspections) และเฝ้าติดตาม (Monitoing) อยู่เป็นระยะ ๆ โดยให้ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ คือ

1.1 การจัดเก็บ (Storage)
          - ควรมีการวาดแผนผังสถานที่ปฏิบัติงานโดยรวมทั้งหมด (Plant Layout) ที่ระบุถึงตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งต่าง ๆ เช่น สาธารณูปโภค ท่อระบายน้ำ พื้นที่งาน พื้นที่ทั่วไปและบริเวณโดยรอบสถานที่ปฏิบัติงาน ทรัพย์สินต่าง ๆ เส้นทางเข้า-ออก กระบวนการทำงานที่ใช้หรือผลิตวัตถุอันตราย พื้นที่และอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บ จัดการ และบำบัดของเสีย รวมถึงพื้นที่สำหรับการขนถ่ายวัตถุอันตราย เป็นต้น และวาดแผนผังที่ได้มาตราส่วนสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย เช่น บริเวณพื้นที่จัดเก็บ (Storage Area Layout) ที่ระบุถึงตำแหน่งที่ตั้ง ชนิด ปริมาณ ของแต่ละกลุ่มของวัตถุอันตรายที่จัดเก็บไว้

          - ควรมีการออกแบบอาคารและพื้นที่จัดเก็บ ชั้นวาง ให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย และเหมาะสมกับชนิดของวัตถุอันตราย รวมถึงจัดเก็บอย่างเป็นสัดเป็นส่วน โดยคำนึงถึงการเข้ากันได้ (Chemical Compatibility) ของสารเคมีอันตราย (ไม่ควรจัดเรียงตามตัวอักษร ยกเว้นในกลุ่มเดียวกัน) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีสิ่งของอื่นระเกะระกะ และมีพื้นที่ว่างเพียงพอต่อการเคลื่อนที่หรือหมุนตัวของผู้ปฏิบัติงาน

          - สถานที่จัดเก็บ มีหลังคาปกคลุม แสงสว่างที่เพียงพอ มีการระบายอากาศและควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสม มีระบบป้องกันหรือระงับไฟไหม้แบบอัตโนมัติ และระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

          - พื้นผิวและผนังห้องของสถานที่จัดเก็บ ควรปูลาดด้วยวัสดุชนิดที่ไม่สามารถซึมผ่านได้ (Impermeable Material) เช่น ปูนซีเมนต์ปอร์ทแลนด์ (Portland Cement Concrete) ไม่ควรมีรอยปริแยกหรือแตกร้าว ทั้งนี้ไม่ควรจัดเก็บถังบรรจุให้สัมผัสพื้นผิวหรือพื้นดินโดยตรง ควรจัดวางอยู่บนแท่นรองพื้นแบบทั่วไป หรืออาจใช้ระบบการบรรจุลำดับสอง (Secoundary Containment Systems) ก็ได้ เช่น ใช้ชั้นวาง แท่นรองพื้น หรือถาดรองพื้นชนิดที่สามารถรองรับการรั่วไหลได้ หรือทำอ่างขังมีคันกั้นโดยรอบ เพื่อรองรับการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย ทั้งแบบของแข็งหรือของเหลวจากภาชนะบรรจุดั้งเดิมหรือลำดับแรก

โดยอ่างขังนี้จะควรมีความจุ (Capacity) รองรับได้อย่างน้อย 10 % ของปริมาณวัตถุอันตรายที่จัดเก็บไว้ทั้งหมด หรือมีปริมาณเท่ากับภาชนะบรรจุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่จัดเก็บไว้ ทั้งนี้เพื่อให้มีระยะเวลาที่เผื่อไว้อย่างเพียงพอสำหรับการกู้ภัยของทีมงานรับมือเหตุรั่วไหลของวัตถุอันตราย (HazMat Spill Response Team) และเป็นการป้องกันไม่ให้รั่วไหลออกนอกพื้นที่หรือปนเปื้อนลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ โดยต้องมีการตรวจเช็กวาล์วระบายของอ่างขังนี้ให้อยู่ในสภาพที่ปิดแน่นอยู่เสมอ

แท่นรองพื้นชนิดที่สามารถรองรับการรั่วไหลของภาชนะบรรจุได้ (Spill Containment Pallets)

ถาดรองพื้นชนิดที่สามารถรองรับการรั่วไหลของภาชนะบรรจุได้ (Drum Spill Trays)

          - ภาชนะบรรจุที่จัดเก็บหรือตัวท่อส่งต้องมีความแข็งแรง ใช้วัสดุหรือมีโครงสร้างที่สามารถต้านทานวัตถุอันตรายที่บรรจุหรือลำเลียงข้างในได้ เช่น ถังบรรจุหรือท่อส่งที่มีผนัง 2 ชั้น (Double Wall Tank or Pipe) หรือใช้วิธีเคลือบกันการผุกร่อน (Cathodic Protection) เป็นต้น

          - ภาชนะบรรจุที่จัดเก็บต้องมีฝาปิดสนิทและมีฉลากติดอยู่อย่างครบถ้วน แน่นหนา โดยเนื้อหาในฉลากนั้นอย่างน้อย ๆ ต้องบ่งบอกชื่อของสารอันตรายและแผนภาพ (Pictograms) ที่แสดงถึงความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับสารอันตราย ซึ่งรวมไปถึงข้อแนะนำในการป้องกันและการดำเนินการกับการหกเลอะหรือรั่วไหลด้วย พร้อมกันนี้ก็ต้องมีเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมีจากผู้ผลิต (Material Safety Data Sheet: MSDS) ที่ถูกจัดเก็บไว้ในสถานที่พร้อมใช้งานและเข้าถึงได้สะดวก รวมถึงมีป้ายแขวนหรือติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจนเพื่อบ่งบอกชนิดของกลุ่มวัตถุอันตรายที่จัดเก็บและป้ายเตือน (Warning Signs)

          - ดำเนินการตรวจสอบ (Inspection) และเฝ้าติดตาม (Monitoing) บริเวณพื้นที่จัดเก็บอยู่เป็นระยะ เพื่อค้นหาสิ่งบอกเหตุของการหกเลอะหรือรั่วไหล โดยใช้สายตาหรือประสาทสัมผัส (Visual or Sense Inspection) ซึ่งเป็นการตรวจสอบสิ่งผิดปกติภายนอกทั่วไป เช่น กลิ่นฉุน กลุ่มควัน ตรวจสอบภาชนะบรรจุว่าเสื่อมสภาพ บิดเบี้ยวผิดรูป ผุกร่อน มีรอยปริร้าว ฝาปิดไม่สนิทหรือเป็นสนิมหรือไม่ ตรวจสอบอุปกรณ์ในระบบท่อส่ง (Piping Systems) (เช่น ท่อ วาล์ว ปั๊ม ข้อต่อ ประเก็น) ว่ามีการออกแบบที่ไม่เหมาะสมหรือพบข้อบกพร่องบ้างหรือไม่

นอกจากนี้ก็อาจมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจจับก๊าซ ที่อาจรั่วไหลออกมาแบบไม่ทันสังเกต เช่น Gas Monitor, Semiconductor Sensor, Electrochemical Gas Sensor รวมทั้งมีการทดสอบความเที่ยงตรงของถังบรรจุ (Test for Integrity) อยู่เป็นระยะ โดยใช้เทคนิควิธีทดสอบต่าง ๆ เช่น Hydrostatic Testing, Cathode Protection Tests

          - สถานที่จัดเก็บบางแห่ง อาจมีความจำเป็นต้องใช้วิธีตรวจจับการรั่วไหล (Leak Detection Methods) ของวัตถุอันตราย ซึ่งมีเทคนิควิธีหลายประการ ตัวอย่างเช่น

          * อุปกรณ์ป้องกันการล้นสำหรับถังบรรจุเหนือพื้นดิน (Above Storage Tank Overfill Protection) เช่น สัญญาณเตือนระดับของเหลว (Liquid Level Alarm) หรือมีเครื่องวัดระดับของเหลวในถังบรรจุ (Liquid Level Gauge) หรืออุปกรณ์ตัดอัตโนมัติเมื่อของเหลวเกินระดับที่ตั้งไว้ (Automatic Liquid Level Shutoff Device)

          * วิธีตรวจจับการรั่วไหลสำหรับถังบรรจุเหนือพื้นดิน (Leak Detection Methods for Above Storage Tank) เช่น Gas Pressure Decay, Gas Pressure Soap Bubble Testing, Gas Tracers, Soil Tracers, Mass Measurement, Level Measurement and Hydrostatic Testing

          * วิธีตรวจจับการรั่วไหลสำหรับถังบรรจุใต้พื้นดิน (Leak Detection Methods for Underground Storage Tank) เช่น Secondary Containment and Insterstitial Monitoring, Automatic Tank Gauging (ATG) Systems, Vapour Monitoring, Groundwater Monitoring, Statistical Inventory Reconcillation (SIR), Tank Tightness Testing, Manual Tank Gauging

          * วิธีตรวจจับการรั่วไหลสำหรับระบบท่อ (Leak Detection Methods for Piping System) เช่น Automatic Line Leak Detectors, Electronic Line Leak Detectors, Vapour Monitoring, Tightness Testing, Double-walled Piping with Sump Sensor

ตำแหน่งของเซนเซอร์ (Sensors) ที่จะใช้ตรวจจับการรั่วไหลจากถังปิโตรเลียมแบบมีผนัง 2 ชั้น

1.2 การขนส่ง (Transportation)
          - ในระหว่างขั้นตอนการขนส่งวัตถุหรือสารอันตราย ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดการหกเลอะหรือรั่วไหลได้ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงระหว่างการขนย้ายภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายขึ้นและลงจากยานพาหนะที่ใช้สำหรับการขนส่ง (เช่น รถบรรทุก เรือ หรือตู้รถไฟ) หรือในช่วงของการบรรจุและขนถ่าย (Loading & Unloading) วัตถุอันตรายจากรถที่มีถังบรรจุในตัว (Tank Truck) หรือในระหว่างการลำเลียงสารอันตรายทางท่อส่ง ดังนั้นจึงต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ทางราชการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

          - ก่อนการขนส่งต้องมีการตรวจเช็กสภาพความพร้อมทั้งยานพาหนะ ภาชนะบรรจุ และพนักงานขับ โดยยานพาหนะ เช่นรถที่มีถังบรรจุในตัว ต้องไม่มีอุปกรณ์ที่บกพร่องในการขนถ่ายอันจะนำไปสู่การหกเลอะหรือรั่วไหลได้ (เช่น วาล์ว หัวจ่าย) ส่วนภาชนะบรรจุต้องมีความสมบูรณ์ มีฉลากปิดอย่างถูกต้อง จัดวางเรียงอย่างเหมาะสม และผูกมัดอย่างแน่นหนาไม่ให้มีการโยกย้ายไปมาในระหว่างช่วงของการขนส่ง

ในขณะที่พนักงานขับต้องมีความพร้อมทางด้านร่างกาย และได้รับการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจเป็นอย่างดีในขั้นตอนการรับเหตุหกเลอะหรือรั่วไหล และมีอุปกรณ์จำเป็นติดไปกับยานพาหนะด้วย เช่น อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ถังดับเพลิง ชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (Material Safety Data Sheet: MSDS)

          - เมื่อมีความจำเป็นต้องขนย้ายภาชนะบรรจุสารอันตรายที่มีน้ำหนักหรือปริมาณมาก หรือต้องขนย้ายเป็นระยะทางไกล เช่น จากสถานที่จัดเก็บไปสู่พื้นที่กระบวนการทำงานอีกอาคารหนึ่ง ควรใช้เครื่องผ่อนแรง เช่น รถเข็น แต่ก็ต้องมีการใช้สายรัดภาชนะบรรจุกับรถเข็นให้แน่นหนา และถ้าเป็นไปได้ก็ควรเป็นรถเข็นชนิดที่มีขอบด้านข้างเว้าสูงหรือมีถาดรอง (Spill Trays) ที่ด้านล่างเพื่อรองรับการหกรั่วไหลได้ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น

ส่วนกรณีที่ใช้รถโฟล์กลิฟต์ยกพาเลตพร้อมกับภาชนะบรรจุสารอันตราย ก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการขนย้าย เพราะอาจทำให้เกิดการพลิกคว่ำของภาชนะบรรจุได้ หากจัดวางบนงารถไม่สมดุลและไม่มีการรัดอย่างแน่นหนาพอ ส่วนการขนย้ายถังก๊าซก็ควรมีฝาครอบป้องกันวาล์วไว้เสมอ

การใช้รถเข็นขนย้ายภาชนะบรรจุที่มีน้ำหนักมาก ต้องใช้สายรัดภาชนะบรรจุกับรถเข็นให้แน่นหนา

          - ในสถานที่ปฏิบัติงานควรมีลิฟต์ขนส่งไว้โดยเฉพาะสำหรับภาชนะบรรจุสารเคมีอันตรายหรือถังก๊าซความดันสูง ที่ไม่อนุญาตให้มีคนโดยสารขึ้นไปพร้อมลิฟต์ และไม่ควรขนส่งขึ้นลงทางบันได

          - ควรจัดบริเวณพื้นที่เฉพาะสำหรับการขนถ่ายสารเคมีจากรถบรรทุก เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีการหกรั่วไหล โดยจัดเตรียมชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) ไว้ให้พร้อม และอาจใช้ถาดรอง (Spill Tray) ป้องกันการหกเลอะจากหัวจ่าย หรือมีอ่างขังที่มีคันกั้นโดยรอบเพื่อใช้รองรับการหกรั่วไหลของวัตถุอันตรายจำนวนมาก เพื่อป้องกันการไหลล้นออกนอกพื้นที่ หรือลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ทั้งนี้ก็ต้องมีการตรวจเช็กวาล์วระบายของอ่างขังนี้ให้อยู่ในสภาพที่ปิดแน่นอยู่เสมอ

ชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits)

เอกสารอ้างอิง
          1. Spill or Leak-Emergency Preparedness; Canada Center for Occupational Health and Safety (CCOHS) 2008

          2. Leak Detection Methods for Underground Storage Tanks by Gerald Musy, Jul 2008

          3. Storage Tank Spill Prevention; Mott Tank Inspection, INC., March 2008

          4. Chemical Spill Response Guideline; Office of Environmental Health & Safety, Ocupational Hygiene & Chemical Safety Division, 2004

          5. การจัดการความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี โดย รศ.ดร. ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2543

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด