เนื้อหาวันที่ : 2011-09-08 16:51:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 11204 views

Impulse Line สำหรับเครื่องมือวัดการไหลแบบความดันแตกต่าง

เครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรมที่นำมาใช้วัดการไหลในอุตสาหกรรมกระบวนการผลิตมีให้เลือกใช้ได้หลายประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ทวิช ชูเมือง

          เครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรมที่นำมาใช้วัดการไหลในอุตสาหกรรมกระบวนการผลิตมีให้เลือกใช้ได้หลายประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน การไหลเป็นตัวที่ต้องมีการวัดและควบคุมในกระบวนการผลิตเกือบทุกประเภท เครื่องมือวัดการไหลที่มีความนิยมใช้กันมาตั้งแต่อดีตและในปัจจุบันก็ยังคงเป็นทางเลือกแรกสำหรับวัดการไหลจะเป็นเครื่องมือวัดการไหลที่ใช้ Primary Element ที่เป็น Orifice Plate, Nozzle หรือ Venturi ซึ่งจะต้องถูกใช้งานร่วมกับ Secondary Element ที่เป็นเครื่องมือวัดความดันแตกต่าง (Differential Pressure Transmitter) อยู่ด้วยเสมอ ในการใช้งานเครื่องมือวัดการไหลชนิดนี้จะต้องมีส่วนที่เชื่อมต่อกับ Primary Element ทั้งด้านหน้าและด้านหลังที่เรียกว่า Impulse Line ซึ่งเป็นท่อขนาดเล็กเพื่อเป็นทางเดินความดันที่ไปยังเครื่องมือวัดความดันแตกต่าง

          เป็นที่ทราบกันดีว่า ในการติดตั้งหรือใช้งาน Impulse Line จะมีปัญหาเกิดขึ้นได้หลายแบบในทางปฏิบัติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เองสามารถส่งผลกระทบต่อค่าความแม่นยำของค่าการไหลที่อ่านได้จากเครื่องมือวัด ปัญหาทั่วไปที่พบกันได้บ่อยครั้งจะเป็นดังนี้
          * การหน่วงสัญญาณความดัน (Damping)
          * การอุดตัน (Blockage)
          * การรั่วบริเวณจุดต่อ (Leakage)
          * อุณหภูมิที่แตกต่างระหว่าง Impulse Line (และเป็นผลทำให้ความหนาแน่นแตกต่างกัน)
          * ความแตกต่างขององค์ประกอบของไหลใน Impulse Line (Different Composition)
          * มีการกลั่นตัวใน Impulse Line (Condensate)
          * การเกิดฟองอากาศหรือการเดือดใน Impulse Line

          โดยจากปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นสามารถแสดงให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนขึ้นดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 ปัญหาต่าง ๆ ของ Impulse Line

          สำหรับในบทความนี้จะแสดงแนวทางเบื้องต้นในการออกแบบและติดตั้ง Impulse Line โดยการใช้งานจะครอบคลุมกับการวัดของไหลที่เป็นสภาวะต่าง ๆ ดังนี้
          * ของเหลว (Liquid)
          * ก๊าซ (Gas or Vapor)
          * สองสถานะ (Two Phase)
          * การไหลนิ่ง (Steady Flow)
          * การไหลกระเพื่อม (Pulsating Flow)

          ในการออกแบบหรือการเลือกใช้เครื่องมือวัดการไหลแบบความดันแตกต่างนี้ ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะใช้มาตรฐานสากลหลักที่ใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการออกแบบหรือเลือกใช้ Primary Element จะเป็น ISO 5167 ส่วนมาตรฐานสากลสำหรับการใช้งานและออกแบบระบบ Impulse Line จะเป็น ISO 2186

หลักการทำงานและแนวทางทั่วไป
          การออกแบบเครื่องมือวัดการไหลที่ใช้เครื่องมือวัดความดันแตกต่าง พร้อมกับระบบ Impulse Line จะต้องมีการพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้ง Impulse Line ตั้งแต่ขั้นตอนในการเริ่มออกแบบและทำรายละเอียดสำหรับการติดตั้ง โดยตัวแปรหลักที่ต้องมีการพิจารณาเป็นดังนี้

          * ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางและความยาว
          * ตำแหน่งของเครื่องมือวัดความดันแตกต่าง
          * เส้นทางเดินของ Impulse Line จากตัว Primary Element ไปยัง เครื่องมือวัดความดันแตกต่าง
          * ตำแหน่งของจุดต่อความดันจากท่อกระบวนการผลิต
          * ผลกระทบจากอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม, อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงหรือขึ้น ๆ ลง ๆ และความต้องการที่เกี่ยวข้องกับการให้ความร้อนหรือการหุ้มฉนวน
          * สถานะของไหลใน Impulse Line 
          * วาล์วและจุดต่อสำหรับช่องระบาย (Venting and Draining)
          * วาล์วสำหรับแยกส่วน (Isolation Valve)
          * หลีกเลี่ยงการอุดตันใน Impulse Line

ลักษณะการติดตั้ง Impulse Line 
          ปัญหาต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมดข้างต้น สามารถทำให้ลดลง หรือหลีกเลี่ยงได้โดยการใช้ Impulse Line ให้มีระยะความยาวที่สั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ข้อจำกัดหลักของการใช้งานจะเป็นการแยกอุปกรณ์ตัวที่สอง (Secondary Device) หรือเครื่องมือวัดความดันแตกต่าง ให้แยกออกจากของไหลที่มีอุณหภูมิสูงจากท่อกระบวนการผลิตและต้องมีการติดตั้งวาล์วแยกส่วนระหว่างอุปกรณ์ตัวแรก (Primary Element) และอุปกรณ์ตัวที่สอง (Secondary Device) และต้องสามารถทำการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ เมื่อเกิดการชำรุดเสียหาย และต้องสามารถเป็นทางเชื่อมต่อกันระหว่างด้านความดันสูงและด้านความดันต่ำ เพื่อทำให้ไม่เกิดความดันแตกต่าง ตัวอย่างการติดตั้งดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2 ตัวอย่างการติดตั้ง

          ถ้าเป็นไปได้ในทางที่ดีแล้ว ในการใช้งานควรจะเลือกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Impulse Line ให้เล็กที่สุด แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะมีข้อจำกัดในการนำไปใช้งานอาทิเช่น เนื่องจากมีขนาดที่เล็กมีความแข็งแรงน้อยจึงต้องหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการติดตั้งและการอุดตัน, ผลกระทบในการทำงานเนื่องจากขนาดรูที่เล็กและต้องมีการหลีกเลี่ยงการเกิดฟองอากาศในของเหลวหรือการเกิดกลั่นตัวเป็นของเหลวในการใช้งานกับก๊าซ

โดยทั่วไปขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Impulse Line ที่ใช้งานกันในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม จะมีขนาดอยู่ระหว่าง 4 - 25 มิลลิเมตร สำหรับรูขนาดเล็ก ๆ จะถูกใช้กับการไหลที่ไม่นิ่งหรือขึ้น ๆ ลง ๆ และในห้องทดลอง มาตรฐาน ISO 2186 ให้ข้อแนะนำว่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 6 มิลลิเมตร และต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 10 มิลลิเมตร สำหรับการใช้งานที่มีโอกาสเกิดการกลั่นตัวหรืออาจมีฟองอากาศเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังมีข้อแนะนำสำหรับการใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสูงสุดเป็น 6 มิลลิเมตร

          ตารางที่ถูกแสดงอยู่ในมาตรฐาน ISO 2186:1993 ยังคงมีการใช้งานกันอยู่ โดยได้แสดงความยาวและขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Impulse Line ได้ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ความยาวและขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Impulse Line (ISO 2186:1993)

          ส่วนตารางที่ถูกแสดงอยู่ในมาตรฐาน ISO 2186:2004 ได้มีการตัดส่วนของ Impulse Line ที่มีขนาดใหญ่ ๆ ออกไป แสดงได้ดังตารางที่ 2


 ตารางที่ 2 ความยาวและขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Impulse Line (ISO/CD 2186:2004)

          ถึงอย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจากตารางทั้งสอง ควรจะอยู่บนพื้นฐาน ในการออกแบบให้มีความยาวสั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ให้ใช้แนวทางตามตารางที่ 2

          ถ้ามีการใช้ Impulse Line ที่มีระยะยาว ๆ สิ่งสำคัญต้องแน่ใจว่ามีการจัดเตรียมการจับยึดให้แน่น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายเนื่องจากการสั่น

ของไหล (Fluid)
          ในการใช้งานหลาย ๆ ประเภท ดังเช่น การวัดการไหลของก๊าซ ที่ไม่มีการกลั่นตัวที่อุณหภูมิสิ่งแวดล้อม ดังนั้นของไหลใน Impulse Line จะเป็นของไหลตัวเดียวกับที่ต้องการวัด ส่วนในกรณีอื่น ๆ ถ้าเป็นการวัดไอน้ำที่อุณหภูมิอิ่มตัวของไอน้ำมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม ทางที่ดีควรจะต้องมีการเติมของเหลวลงไปใน Impulse Line เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการหลีกเลี่ยงฟองอากาศที่อาจเกิดขึ้นในของไหลที่อยู่ใน Impulse Line และของเหลวในของไหลที่เป็นก๊าซ

          ในการใช้งานบางประเภทเช่น ไอน้ำที่มีการกลั่นตัวใน Impulse Line จะต้องมีการเติมของเหลวลงไปใน Impulse Line ด้วยเสมอก่อนการใช้งาน

ผลกระทบจากอุณหภูมิ
          เนื่องจากความดันที่เกิดขึ้นใน Impulse Line จะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของไหล ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงจากอุณหภูมิการไหล ดังนั้นการใช้งานหรือการติดตั้งที่ดีต้องแน่ใจว่า Impulse Line ทั้งสองด้านที่ต่อไปยังเครื่องมือวัดความดันแตกต่างถูกติดตั้งอยู่ในอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมที่เหมือนกัน ดังตัวอย่างการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง โดยถ้าให้การติดตั้ง Impulse Line ด้านหนึ่งโดนแสงแดดโดยตรง แต่อีกด้านหนึ่งอยู่ภายใต้สิ่งกำบัง สำหรับในบางการใช้งานต้องมีการหุ้มฉนวน ด้วยเหตุผลเรื่องอุณหภูมิดังกล่าวที่กล่าวไปแล้ว จึงแนะนำให้ยึดหรือมัด Impulse Line ทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน

          การหุ้มฉนวนและการป้องกันอุณหภูมิจากแสงแดด เป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าของเหลวใน Impulse Line มีค่าอุณหภูมิใกล้จุดเดือด นอกจากนั้นการพิจารณาใช้การหุ้มฉนวนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงและอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของความดันใน Impulse Line แสดงตัวอย่างการหุ้มฉนวนของ Impulse Line ได้ดังรูปที่ 3

รูปที่ 3 การหุ้มฉนวนของ Impulse Line

          สามารถแสดงตัวอย่างผลกระทบเนื่องจากการติดตั้ง Impulse Line ที่มีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ถ้า Impulse Line ทั้งสองด้านมีของไหลที่เป็นน้ำและมีอุณหภูมิเป็น 20 องศาเซลเซียส และ 30 องศาเซลเซียส ความยาวระหว่างจุดต่อและตัวเครื่องมือวัดความดันแตกต่างมีระยะเป็น 2 เมตรจะทำให้เกิดความไม่ถูกต้องของความดันแตกต่างที่วัดเป็น 49 Pascal

ตำแหน่งของเครื่องมือวัดความดันแตกต่าง
          สำหรับ Impulse Line ที่ใช้งานกับการวัดก๊าซ เครื่องมือวัดความดันแตกต่างควรจะอยู่ในตำแหน่งที่เหนือจุดที่ต้องการวัดเพื่อให้มีการระบายของเหลวที่อาจเกิดขึ้นใน Impulse Line ในทำนองเดียวกันการใช้งานกับการวัดของเหลวเครื่องมือวัดความดันแตกต่างควรจะอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าจุดที่ต้องการวัดเพื่อให้มีการระบายฟองอากาศที่อาจเกิดขึ้นใน Impulse Line

          ถ้ามีการนำไปใช้วัดการไหลของน้ำมันที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีน้ำผสมเข้ามาด้วย การติดตั้งตามปกติจะเป็นการติดตั้งตัวเครื่องมือวัดให้ต่ำกว่าจุดที่ต้องการวัด ซึ่งอาจจะไม่สามารถทำงานได้ดีนักในกรณีนี้ เนื่องจากน้ำอาจจะเข้ามาใน Impulse Line ในกรณีนี้ทางที่ดีอาจจะติดตั้งตัวเครื่องมือวัดให้อยู่เหนือจุดวัด ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับการวัดน้ำหรือน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดขึ้นในการใช้งานกับของเหลวใน Impulse Line ที่ไม่สามารถผสมกันได้

ตำแหน่งของจุดต่อวัดความดัน
          มาตรฐาน ISO/CD 2186:2004 ได้แนะนำตำแหน่งของจุดต่อวัดความดันที่จะใช้งานสำหรับเครื่องมือวัดการไหลแบบความดันแตกต่าง แสดงได้ดังตารางที่ 3

ตารางที่ 3 จุดต่อวัดความดัน

          ท่อ Impulse Line สำหรับการวัดก๊าซหรือไอ ควรจะต้องมีการติดตั้งให้เอียงขึ้น เพื่อให้มีการระบายของเหลวที่อาจเกิดการกลั่นตัวขึ้นใน Impulse Line ให้ไหลกลับลงไปยังท่อหลัก สำหรับการวัดของไหลที่เป็นของเหลว การวางตำแหน่งจุดต่อวัดความดันที่ต่ำกว่า เส้นกึ่งกลางท่อ อาจทำให้เกิดการอุดตันจากสิ่งสกปรกที่สะสมอยู่บริเวณท่อ ส่วนการวางตำแหน่งจุดต่อที่เหนือกว่าเส้นกึ่งกลางท่ออาจทำให้เกิดการสะสมของก๊าซที่ไม่กลั่นตัว
 สำหรับการวัดไอน้ำในท่อแนวนอนการวางตำแหน่งจุดต่อความดัน ตรงเส้นกึ่งกลางท่อหรือต่ำลงมา 45 องศาเป็นที่ยอมรับได้

การติดตั้ง Impulse Line
          สำหรับข้อแนะนำจากหัวข้อที่ผ่านมาเป็นตำแหน่งของเครื่องมือวัดความดันแตกต่างจาก Primary Element สำหรับวัดของไหลที่เป็น ก๊าซ ให้มีการติดตั้ง Impulse Line ในลักษณะที่มีการเอียงขึ้นและสำหรับของเหลวให้มีการติดตั้ง Impulse Line ในลักษณะที่มีการเอียงลง นอกจากนั้น ISO/CD 2186:2004 ได้แสดงไว้ว่าลักษณะการเอียงของ Impulse Line จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันและถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเอียงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สามารถเปลี่ยนทิศทางได้หนึ่งครั้ง สำหรับในการใช้งานกับของเหลวจะต้องมีการจัดเตรียมจุดปล่อยทิ้งที่บริเวณต่ำสุดและจุดระบายก๊าซที่บริเวณสูงสุด

          ข้อแนะนำความเอียงของ Impulse Line ที่ใช้สำหรับท่อแนวตั้ง โดยทั่วไปจะเหมือนกับท่อแนวนอน ถ้ามีการใช้งานกับการวัดการไหลที่เป็นของเหลวจะมีความแตกต่างของความดันระหว่างจุดต่อ ดังนั้นความดันแตกต่างในสภาวะความดันซึ่งไม่เคลื่อนไหว (Static) สามารถชดเชยได้ 2 ทางดังนี้

          1. เดิน Impulse Line ด้านล่างขึ้นไปให้เท่ากับ Impulse Line ด้านบน จากนั้นจึงเอียงลงไปยังเครื่องมือวัดความดันแตกต่าง การติดตั้งแบบนี้ทำให้ความดันมีความสมดุลในท่อ Impulse Line ทั้งสองและหลีกเลี่ยงการปรับเทียบเครื่องมือวัดใหม่

          2. เดิน Impulse Line ทั้งสองจากจุดต่อวัดความดันไปยังตัวเครื่องมือวัดความดันแตกต่างโดยตรง ซึ่งต้องมีการปรับจุดศูนย์ (Zero) ของเครื่องมือวัด เพื่อให้ชดเชยค่าความดันแตกต่าง เนื่องจากความแตกต่างระดับของ Impulse Line ทั้งสอง

รูปที่ 4 การติดตั้ง Impulse Line กับท่อแนวตั้ง

          ISO/CD 2186:2004 ได้แสดงข้อแนะนำรูปแบบในการติดตั้ง Impulse Line ที่เป็นประโยชน์อย่างมากและควรจะถูกพิจารณาเป็นที่ใช้ในการอ้างอิงเป็นลำดับแรก มาตรฐานดังกล่าวได้มีการพิมพ์ครั้งใหม่ออกมาอีกครั้งซึ่งจะเป็นการปรับปรุงจากการพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 ในมาตรฐานมีส่วนที่เป็นประโยชน์ ในส่วนวาล์วแยกส่วน (Isolation Valve) ซึ่งมีความต้องการในทางปฏิบัติ ถึงแม้ว่าจะมีข้อขัดแย้งกันกับการออกแบบที่ต้องทำให้มีจุดต่อน้อยที่สุดในระบบ Impulse Line และไม่ให้มีการเปลี่ยนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง

บางครั้งของการใช้วาล์วจะมีข้อดีกว่าแบบอื่น ๆ Globe Valve ที่มีแกนในแนวตั้ง อาจทำให้เกิดหลุมหรือแอ่งของก๊าซหรือของเหลวที่ควรจะหลีกเลี่ยง บ่อยครั้งที่ต้องพิจารณาให้มีการติดตั้งวาล์วเพื่อการเชื่อมต่อทางด้านความดันสูง (High Pressure Side) และด้านความดันต่ำ (Low Pressure Side) ของเครื่องมือวัดความดันแตกต่าง ดังนั้นสัญญาณที่ได้จากเครื่องมือวัดสามารถแสดงค่าไม่มีความดันแต่มีความดันที่ท่อ เนื่องจากวาล์วตัวนี้ถูกเปิดอยู่ ดังรูปที่ 2 ซึ่งจะเรียกว่าการทำ Zero Check

          ในทางปฏิบัติแล้วการออกแบบและการติดตั้ง Impulse Line สามารถทำได้ นอกเหนือจากคำแนะนำที่มีอยู่ในมาตรฐาน แต่อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นในการใช้งานอาจต้องมีการซ่อมบำรุงบ่อยครั้งขึ้น ถ้าทำการติดตั้งเครื่องมือวัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าจุดที่ต้องการวัดสำหรับในกรณีที่ของไหลเป็นก๊าซ อาจต้องมีการจัดเตรียมวาล์วปล่อยทิ้ง (Drain Valve) และต้องมีการเปิดวาล์วทิ้งเป็นระยะเมื่อเกิดค่าที่อ่านได้ผิดปกติอันเนื่องมาจากของเหลวที่สะสมอยู่ใน  Impulse Line 

ถ้าเครื่องมือวัดถูกติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าจุดที่ต้องการวัดสำหรับในกรณีที่ของไหลเป็นของเหลว อาจต้องมีการจัดเตรียมติดตั้งวาล์วระบาย (Vent Valve) และต้องมีการไล่อากาศทุกครั้งที่กระบวนการผลิตหยุดทำงานหรือการใช้งานใหม่ทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอากาศตกค้างอยู่ใน Impulse Line สำหรับการวัดการไหลไอน้ำ ต้องมีการติดตั้งข้อต่อตัวทีใน Impulse Line เพื่อใช้ในการเติมของเหลวในช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่อง สำหรับความแน่ใจว่ามีของเหลวอยู่ในท่อ Impulse Line ทั้งสองมีค่าเท่ากัน

ข้อกำหนดของการใช้งานกับก๊าซเปียก (Wet Gas Applications)
          ในการใช้งานกับของไหลที่เป็นก๊าซเปียก จะมีความเกี่ยวข้องกับผลกระทบของการเกิดของเหลวในท่อ Impulse Line ที่สามารถเกิดขึ้นจากอุณหภูมิ เนื่องจากก๊าซมีการระบายความร้อนไปยังอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม เมื่อก๊าซไหลออกจากจุดต่อความดัน ในกรณีรุนแรงมากอาจเกิดการเป็นน้ำแข็งได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการวัดเนื่องจากการเกิดของเหลวหรือน้ำแข็งใน Impulse Line ข้อแนะนำทั่วไปได้กำหนดให้

การติดตั้ง Impulse Line ต้องมีระยะที่สั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และพุ่งขึ้นตั้งฉากจากจุดวัด เพื่อให้เป็นการให้ของเหลวใน Impulse Line ไหลลงสู่ด้านล่าง นอกจากนั้นแนะนำให้มีการหุ้มฉนวนหรือใช้ Heat Tracing เพื่อป้องกันการสะสมของเหลวหรือการเกิดน้ำแข็ง สามารถแสดงตัวอย่างได้ดังรูปที่ 5

รูปที่ 5 Steam Tracing ของ Impulse Line

          สำหรับการใช้งานในบริเวณที่มีโอกาสเกิดของเหลวใน Impulse Line บ่อยครั้ง ต้องมีการจัดเตรียมวาล์วปล่อยทิ้งเพื่อปล่อยของเหลวทิ้งบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการสะสมของเหลวใน Impulse Line ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอาจจะมีปัญหากับการใช้งานบางประเภทที่ไม่ต้องการมีผู้ปฏิบัติงานอยู่ประจำ

ข้อกำหนดของการใช้งานกับไอน้ำ (Steam Applications)
          ข้อกำหนดของการใช้งานกับไอน้ำจะต้องมีการเติม Impulse Line ด้วยของเหลวตลอดเวลา เพื่อป้องกันไอน้ำใน Impulse Line เกิดการกลั่นตัวเป็นของเหลวใน Impulse Line ในขณะใช้งานซึ่งอาจทำให้เกิดมีระดับของเหลวที่ไม่เท่ากันใน Impulse Line ทั้งสองข้างในตอนเริ่มต้นใช้งานใหม่ ซึ่งผลกระทบที่ได้จะทำให้ค่าการไหลที่อ่านได้จากเครื่องมือวัดมีความผันแปรสูง โดยปกติการเติมของเหลวสามารถทำได้โดยการติดตั้ง Condensate Pot หรือ Seal Pot แสดงตัวอย่างได้ดังรูปที่ 6

รูปที่ 6 การใช้ Seal Pots

          สำหรับในการใช้งานที่อุณหภูมิแวดล้อมมีความเย็น ควรจะมีการหุ้มฉนวนที่ Impulse Line เพื่อป้องกันของเหลวใน Impulse Line แข็งตัวเนื่องจากการแลกเปลี่ยนความร้อนกับอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม ในบางครั้งมีการผสมด้วย Glycol เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว การเกิดฟองอากาศใน Impulse Line อาจทำให้เกิดการกระแทกอย่างรุนแรงที่เครื่องมือวัด ดังนั้น Impulse Line ต้องมีการกำจัดออกเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีฟองอากาศติดอยู่กับของไหล สำหรับการติดตั้งระบบ Impulse Line ในการวัดการไหลไอน้ำ แสดงตัวอย่างได้ดังรูปที่ 7

รูปที่ 7 แสดงตัวอย่างการติดตั้งเครื่องมือวัดการไหลไอน้ำกับท่อแนวตั้งและแนวนอน

ของเหลวมีการกลั่นตัวหรือระเหย (Condensing or Evaporating Fluids)
          ในการวัดการไหลสำหรับของไหลที่มีโอกาสเกิดฟองอากาศหรือใกล้กับจุด Dew Point การออกแบบและติดตั้งโดยทั่วไปต้องทำให้แน่ใจว่า Impulse Line มีการบรรจุด้วยของเหลวหรือก๊าซทั้งสองด้าน ตลอดการทำงานและในสภาวะสิ่งแวดล้อมใช้งาน

          ถ้าอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมมีค่าสูงกว่าจุด Dew Point ควรจะใช้การวัดการไหลของก๊าซแทนการวัดการไหลของเหลว การวัดการไหลของเหลวที่มีการระเหยที่อุณหภูมิสิ่งแวดล้อม อาจทำให้เกิดปัญหาในการอ่านค่าได้ ซึ่งอาจจำเป็นจะต้องมีการหุ้มฉนวน เพื่อป้องกันจุดเดือดของเหลวใน Impulse Line หรืออีกทางเลือกหนึ่งถ้าอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมสูงกว่าจุดเดือด อาจจะดีกว่าถ้าทำให้เป็นไอใน Impulse Line ทั้งสองด้าน

การไหลเป็นจังหวะ (Pulsating Flow)
          การไหลเป็นจังหวะหรือการไหลที่เป็นช่วง ๆ นั้น มาตรฐาน ISO 5167-1:2003 ได้มีการพิจารณาการไหลที่ไม่เป็นจังหวะ (None Pulsating flow) ก็ต่อเมื่อ

         

          การวัดการไหลเป็นจังหวะอาจต้องมีการวัดทั้งแบบการไหลต่อเวลา (Time-dependent) หรือ การไหลต่อเวลาเฉลี่ย (Time-average)

          สำหรับการวัดการไหลเป็นจังหวะเป็นไปได้ที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการวัดเพิ่มมากขึ้น

          สำหรับ Impulse Line อย่างง่าย ๆ ที่ประกอบด้วยท่อทางตรงที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากันตลอด ความถี่เรโซแนนซ์ (Resonant Frequencies) ใน Impulse Line จะถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นจากจังหวะการไหล ค่าความถี่ใน Impulse Line จะเป็นค่าความถี่ของจังหวะการไหลที่ตรงกับหนึ่งในสี่ส่วนของคลื่นความถี่เรโซแนนซ์ หรือการคูณด้วยจำนวนคี่ของความถี่นั้น ความถี่เรโซแนนซ์ทางเสียง (fn) แสดงได้โดย

         
      
          ถ้า n = Mode Number (1, 2, 3, ..…..) 
                c = Speed of Sound in Fluid
                L = Impulse Pipe Length

          จากผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองแสดงให้เห็นว่าที่ตำแหน่งเรโซแนนซ์ สามารถทำให้ความกว้างของจังหวะการไหลใน Impulse Line มีค่ามากกว่าความกว้างของจังหวะการไหลในท่อหลัก

          นอกเหนือจากนั้นแล้วจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลการไหลเป็นจังหวะจาก Impulse Line ไม่มีความจำเป็นในการพิจารณา ถ้าระยะความยาวของ Impulse Line ที่ใช้มีระยะที่สั้นกว่าหนึ่งในสี่ส่วนความยาวคลื่นของความถี่สูงสุดที่เกิดในท่อหลัก และหลังจากนั้นถ้าไม่มีส่วนที่บีบให้เล็กลงหรือปริมาณใน Impulse Line ความถี่ควรจะต่ำกว่าความถี่เรโซแนนซ์

          อย่างไรก็ดี การไหลเป็นจังหวะสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดความดันเคลื่อนย้ายใน Impulse Line ค่าเฉลี่ยความดันที่ถูกส่งออกไปโดย Impulse Line ไม่จำเป็นต้องมีค่าเท่ากับความดันเฉลี่ยในระบบท่อ เมื่อ Impulse Line ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเรโซแนนซ์ สาเหตุเบื้องต้นของการเคลื่อนถูกแสดงได้เป็นการไหลแกว่งไปมาผ่านอุปกรณ์ความต้านทานที่ไม่เป็นเชิงเส้น ดังเช่น ท่อบีบตัว (Contractions), ท่อขยายตัว (Enlargements), วาล์ว และปริมาณในทรานสดิวเซอร์

อุปกรณ์เหล่านี้อาจจะมีการสูญเสียสัมประสิทธิ์สำหรับการไหลไปยัง Impulse Line ที่มีความแตกต่างจากสัมประสิทธิ์สำหรับการไหลที่มองเห็นได้ การไหลที่แกว่งไปมาถูกปรับปรุงในบางส่วนและทำให้เกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงความดันโดยรวมใน Impulse Line การปรับปรุงการไหลถูกขยายอย่างมากถ้าความถี่เรโซแนนซ์ทางเสียงใน Impulse Line ตรงกับความถี่ของจังหวะการไหล

          สิ่งหลัก ๆ ที่ได้จากผลกระทบความดันในท่อจะเป็นดังนี้
          * การตอบสนองทางเสียงของ Impulse Line สามารถเป็นสาเหตุจังหวะการไหลใน Impulse Line จะสูงกว่าหรือต่ำกว่าหลายเท่าในท่อหลักขึ้นอยู่กับการตอบสนองทางเสียงของ Impulse Line

          * Impulse Line สามารถทำให้ความดันบิดเบือนไป เมื่อมีการไหลเป็นจังหวะในท่อหลัก ความดันบิดเบือนสามารถเป็นไปได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ และจะมีความรุนแรงเมื่อถูกกระตุ้นให้เกิดเรโซแนนซ์ทางเสียงใน Impulse Line

          * สิ่งขัดขวางในวาล์ว, ปริมาณ และการกรองใน Impulse Line สามารถถูกนำมาใช้เตรียมการยับยั้งและทำให้จังหวะการไหลเล็กลง แต่ไม่สามารถกำจัดความดันบิดเบือนได้ทั้งหมด

          * การวัดความดันแตกต่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีความไวจากผลกระทบของ Impulse Line ถ้ามีค่าความดันบิดเบือนทางบวกใน Impulse Line ด้านหนึ่งและมีค่าความดันบิดเบือนทางลบใน Impulse Line ด้านหนึ่งสามารถทำให้เกิดความดันแตกต่างที่มีค่ามากได้

          ข้อแนะนำหลักสำหรับการใช้งานในลักษณะนี้ควรจะต้องติดตั้ง Impulse Line ให้มีระยะสั้นที่สุดเพื่อให้มีความถี่ทางเสียงสูง กว่าความถี่จังหวะการไหลในท่อหลัก ระบบท่อ Impulse Line ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากันและไม่มีการบีบตัวในส่วนใดส่วนหนึ่ง

          ISO/TR 3313 ได้แนะนำแนวทางของผลกระทบจากการไหลเป็นจังหวะ ๆ ในเครื่องมือวัดการไหล มันเป็นแนวทางเพิ่มเติมในการออกแบบ Impulse Line ดังที่แสดงไปแล้วข้างต้น แต่จะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างทรานสดิวเซอร์ที่มีการตอบสนองช้า (Slow-response) และการตอบสนองเร็ว (High-response) ทรานสดิวเซอร์ที่ตอบสนองช้าถูกออกแบบมาในการแสดงค่าความดันแตกต่างที่ค่าเวลาเฉลี่ย (Mean-time) ขณะที่ทรานสดิวเซอร์มีการตอบสนองเร็วจะถูกออกแบบมาเพื่อแสดงค่าความดันแตกต่างที่ขึ้นอยู่กับเวลา (Time-dependant) ดังนั้นค่ารากที่สอง (Square-root) ของค่าที่วัดได้สามารถเป็นค่าเฉลี่ย ไปยังผลลัพธ์ของค่าเฉลี่ยอัตราการไหลจริง

          แนวทางการออกแบบ Impulse Line สำหรับทรานสดิวเซอร์ที่มีการตอบสนองช้าในการวัดอัตราการไหลต่อเวลาเฉลี่ย (Time-mean Flow Rate) เป็นดังนี้

          * ไม่ควรเลือกใช้ทรานสดิวเซอร์แบบ Piezometer Ring หรือมีการจัดวางที่ถูกเรียกว่า “Triple-T” และ

          * ระยะความยาวระหว่างจุดต่อวัดความดันควรจะมีระยะสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับความยาวคลื่นจังหวะการไหล

          * Impulse Line ควรจะสั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับจุดต่อ ซึ่งควรจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 3  มิลลิเมตร

          * ความยาวของ Impulse Line ไม่ควรมีความยาวใกล้กับหนึ่งในสี่ส่วนของความยาวคลื่นจังหวะการไหล

          * สำหรับการใช้งานกับก๊าซ ต้องมีหลุมหรือความจุในทรานสดิวเซอร์ให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

          * ต้องมีจุดระบายฟองอากาศสำหรับการใช้งานกับของเหลว

          * ความต้านทานในการหน่วงของ Impulse Line และอุปกรณ์ควรจะเป็นแบบเชิงเส้น ไม่ควรใช้วาล์วชนิดที่ปรับค่าได้

          * เวลาคงที่ของอุปกรณ์ควรจะประมาณ 10 เท่าของช่วงเวลาของวงรอบจังหวะการไหล

          * ถ้าข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถเตรียมการได้ ระบบการวัดที่สองต้องสามารถถูกแยกส่วนจากการไหลเป็นจังหวะ โดยการใส่การหน่วงที่เป็นตัวต้านทานแบบเชิงเส้นลักษณะเหมือนกันทั้งสองด้าน และอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้จุดต่อให้มากที่สุด

          แนวทางการออกแบบ Impulse Line สำหรับทรานสดิวเซอร์ที่มีการตอบสนองเร็วในการวัดอัตราการไหลต่อการเปลี่ยนแปลงเวลา (Time-varying Flow Rate) เป็นดังนี้

          * ข้อจำกัดความถี่ทางกลและทางอิเล็กทรอนิกส์ของระบบการวัดตำแหน่งที่สองอย่างน้อยควรจะมากกว่า 10 เท่าของความถี่จังหวะการไหล

          * ความยาวของ Impulse Line ควรจะมีระยะสั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของหนึ่งในสี่ส่วนความยาวคลื่นของจังหวะการไหล

          * ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง Impulse Line สำหรับของเหลวควรจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 5  มิลลิเมตร

          * ข้อต่อและวาล์วควรจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ Impulse Line

          * เครื่องมือวัดที่สองต้องมีความสมดุลระหว่างด้านหน้าและด้านหลัง

          * ต้องมีจุดระบายฟองอากาศสำหรับการใช้งานกับของเหลว

การอุดตันใน Impulse Line 
          การอุดตันใน Impulse Line จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้อมูลการไหลสูญเสียไปจากระบบควบคุม อาจจะเป็นผลกระทบที่รุนแรงต่อการควบคุมกระบวนการผลิตบางประเภทหรือถ้านำสัญญาณนี้ไปใช้ในระบบนิรภัย การหลีกเลี่ยงการอุดตันที่อาจเกิดขึ้นใน Impulse Line เป็นตัวแปรที่ใช้พิจารณาในการกำหนดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Impulse Line

          จากข้อมูลการใช้งานจะพบได้ว่า สาเหตุของการอุดตันใน Impulse Line ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการแข็งตัวมีมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นจากการไม่ทำงานของระบบ Heat Tracing จำนวนปัญหาในการติดตั้งและการแก้ปัญหาสามารถทำได้เป็นดังนี้

          1. เตรียมการระบบ Heat Tracing (โดยทั่วไปจะเป็นแบบไฟฟ้าหรือไอน้ำ) ให้กับเครื่องมือวัดการไหล เมื่อไรก็ตามที่อาจมีโอกาสเกิดสภาวะแข็งตัวขึ้นใน Impulse Line
          2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ระบบ Heat Tracing สัมผัสกับบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงเกิน
          3. หลีกเลี่ยงการจับยึดหรือรัด Impulse Line กับส่วนรองรับที่แน่นเกินไป ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุให้ฉนวนถูกบีบอัดและทำให้ระบบ Heat Tracing ไม่สามารถทำงานได้
          4. ในการติดตั้งต้องไม่ดัด Impulse Line ให้โค้งงอเกินข้อจำกัด
          5. ติดตั้งระบบ Heat Tracing และฉนวนที่มีประสิทธิภาพ
          6. เตรียมการลาดเอียงของ Impulse Line ให้ถูกต้อง
          7. เตรียมการวัดสุอุปกรณ์หุ้มห่อเครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ
          8. จัดเตรียมส่วนป้องกันอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ

          นอกจากนั้นในปัจจุบันยังสามารถใช้เครื่องมือวัดความดันแตกต่างแบบ Smart เพื่อนำความสามารถเพิ่มเติมในการตรวจจับและคาดคะเนการอุดตันหรือการแข็งตัวใน Impulse Line มาเป็นการเตือนให้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นใน Impulse Line สำหรับกรณีที่ไม่มีการอุดตันหรือการแข็งตัวใน Impulse Line จะทำให้เกิดการรบกวนความดันสูงหรือมีความผันแปรของความดันที่วัดได้ เนื่องจากการไหลวนของไหลในท่อหลัก แต่ถ้ามีการอุดตันขึ้นใน Impulse Line สัญญาณความดันที่ได้จะมีความราบเรียบหรือนิ่งกว่าในสภาวะปกติ

ซึ่งเครื่องมือวัดความดันแตกต่างแบบ Smart สามารถเรียนรู้คุณลักษณะความความดันที่ได้จาก Impulse Line ที่ไม่มีการอุดตันและจะนำไปใช้ในการแสดงสภาวะปกติ ถ้าคุณลักษณะของความดันแตกต่างออกไปจากสภาวะปกติเนื่องจากการอุดตันในท่อ ทำให้เครื่องมือวัดความดันแตกต่างสามารถตรวจจับได้และแสดงรายงานผลลัพธ์ทางโปรแกรมได้ ในการใช้งานจริงมีความเป็นไปได้ที่จะใช้การตรวจจับการอุดตันของ Impulse Line เพียงด้านเดียวหรือทั้งสองด้าน การใช้เทคนิคนี้ต้องการเครื่องมือวัดที่มีการตอบสนองเร็วมาก

การไหลแบบสองสถานะ (Two-Phase Flow)
          การใช้งานกับการไหลแบบสองสถานะ การออกแบบจะให้ Impulse Line มีของไหลทั้งสองสถานะ ของเหลวและก๊าซ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของการไหล ดังนั้นข้อแนะนำจากข้างบน สามารถนำไปใช้งานกับของไหลสองสถานะได้
 ตำแหน่งของจุดต่อความดันควรจะต้องมีการพิจารณาในการวัดการไหลแบบสองสถานะ ดังตัวอย่างเช่น การวัดก๊าซจุดต่อควรจะอยู่ที่ตำแหน่งด้านบนท่อ

          ข้อสำคัญต้องมีการหลีกเลียงการกลั่นตัวในการใช้งานกับของไหลที่เป็นก๊าซและการเดือดในของเหลว ดังนั้นอาจมีความต้องการระบบ Heat Tracing และการหุ้มฉนวน

          การไหลเป็นจังหวะสำหรับของไหลสองสถานะจะมีความยากในการวัด ดังตัวอย่าง มีการปั๊มฟองอากาศเข้าไปใน Impulse Line สำหรับวัดของเหลวเป็นช่วงเวลา

          ตำแหน่งของเครื่องมือวัดในท่อแนวตั้งจะต้องมีการระมัดระวังเพราะว่าของไหลในตัวเครื่องมือวัดระหว่างจุดต่อทั้งสองมีความหนาแน่นที่แตกต่างกัน การแก้ไขสำหรับความแตกต่างในความสูงระหว่างจุดต่อทั้งสองต้องมีการคำนวณค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของไหลทั้งสองสถานะในท่อ ซึ่งจะมีความไม่แน่นอน ถึงแม้ว่ามีความตั้งใจที่ต้องการรู้สถานะของไหลใน Impulse Line เพียงสถานะเดียว ในการใช้งานจริงบางครั้งของไหลใน Impulse Line จะเป็นแบบสองสถานะ เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดของไหลสถานะเดียวใน Impulse Line สำหรับการใช้งานกับของไหลสองสถานะ

Impulse Line Purging
          สำหรับการวัดของไหลที่มีโอกาสเกิดการอุดตันขึ้นได้ การแก้ปัญหาการอุดตันใน Impulse Line ที่เป็นแบบฟองอากาศในของเหลวหรือของเหลวในก๊าซ สามารถทำได้โดยการใช้การชะล้างหรือไล่อย่างต่อเนื่อง (Purging) ตลอดทั้ง Impulse Line สามารถชะล้างอย่างต่อเนื่องด้วยก๊าซแห้งเพื่อให้ของเหลวหรือก๊าซออกไป และชะล้างด้วยของเหลวที่ไม่แข็งตัวเพื่อไล่ของไหลจากกระบวนการผลิตออกไป สิ่งสำคัญต้องชะล้างทั้งสองด้านให้เท่ากันหรือมีอัตราการไหลของการชะล้างที่เท่ากัน ดังแสดงในรูปที่ 8

รูปที่ 8 Impulse Line Purging

          อย่างไรก็ดีการใช้วิธีการรูปแบบนี้จะมีข้อเสียในการจัดเตรียมอุปกรณ์และระบบท่อเพิ่มเติมในการติดตั้งและต้องมีการควบคุมอัตราการไหลของการชะล้างให้มีค่าคงที่และมีค่าเท่ากัน จำเป็นต้องมีความแน่ใจว่าความดันสูญเสียไปเนื่องจากการไหลของการชะล้าง สามารถตัดทิ้งได้และอาจหมายความว่าต้องมีการเลือกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Impulse Line ให้ใหญ่ขึ้น มีข้อแนะนำว่าการชะล้างด้วยของเหลวอย่างต่อเนื่อง เป็นวิธีการหลีกเลี่ยงผลกระทบการปั๊มฟองอากาศเข้าไปยังของเหลวในการวัดการไหลสำหรับของไหลสองสถานะ

การต่อโดยตรง Close Coupling
          ในปัจจุบันมีผู้ผลิตเครื่องมือวัดบางรายได้ทำการพัฒนาเครื่องมือวัดที่สามารถต่อเข้ากับจุดต่อความดันบนท่อโดยตรง ดังนั้นจึงเป็นการลดความต้องการ Impulse Line และความยาวจากจุดต่อวัดความดันไปยังเครื่องมือวัดได้ การจัดรูปแบบนี้มีข้อดีอย่างมากทำให้ระบบท่อหรือการติดตั้งมีความง่ายขึ้นและที่สำคัญ ช่วยลดจำนวนจุดต่อและลดจำนวนของจุดรั่วไหลตามข้อต่อเกลียวและข้อต่อต่าง ๆ

และยังลดความต้องการระบบ Heat Tracing และการหุ้มฉนวน และความผิดพลาดเนื่องจากความแตกต่างของความหนาแน่นของไหลใน Impulse Line ลดปัญหาการเกิดฟองอากาศหรือการกลั่นตัวเป็นของเหลวเมื่ออุณหภูมิสิ่งแวดล้อมภายนอกมีการเปลี่ยนแปลง การติดตั้งแบบนี้จะเหมาะสมกับการไหลเป็นจังหวะที่มีความต้องการระยะ Impulse Line ให้สั้นที่สุด

การติดตั้งโดยตรงยังช่วยให้มีความเร็วในการตอบสนอง อย่างไรก็ตามการติดตั้งรูปแบบมีความต้องการเครื่องมือวัดต้องมีขนาดเล็ก, อาจทำให้ไม่สะดวกในการปรับเทียบและไม่สะดวกสำหรับผู้ควบคุมกระบวนการผลิตในการอ่านค่าการวัด และอาจยังมีปัญหาเรื่องอุณหภูมิจากการไหลไปยังเครื่องมือวัด ซึ่งในปัจจุบันเครื่องมือวัดมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิต่ำกว่าสมัยก่อน การใช้ Impulse Line อาจเป็นสิ่งจำเป็น เมื่ออุณหภูมิในท่อมีค่าสูง แสดงการติดตั้งเครื่องมือวัดโดยตรงกับท่อดังรูปที่ 9 และ 10

รูปที่ 9 ตัวอย่างการติดตั้งโดยตรงกับท่อ [1]

รูปที่ 10 ตัวอย่างการติดตั้งโดยตรงกับท่อ [1]

สรุป
          ข้อแนะนำทั่วไปในการใช้ Impulse Line จะต้องออกแบบให้มีระยะความยาวสั้นที่สุด และมีความยาวเท่ากัน เพื่อให้แน่ใจว่าอุณหภูมิใน Impulse Line ทั้งสองด้านมีค่าเท่ากัน ควรพิจารณาการใช้ระบบ Heat Tracing หรือการหุ้มฉนวน ต้องมีการติดตั้งจุดปล่อยทิ้งสำหรับการใช้งานทั้งของเหลวและจุดระบายสำหรับการใช้งานกับก๊าซ ถ้ามีการใช้งานกับของไหลที่ไหลเป็นจังหวะ ต้องหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางและเป็นสิ่งจำเป็นในการหลีกเลี่ยงการตรงกันระหว่างความถี่ของ Impulse Line และความถี่จังหวะการไหล

เอกสารอ้างอิง
          [1] Nel, “Best Practice Guide Impulse Lines for Differential-Pressure Flowmeter

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด