เนื้อหาวันที่ : 2011-09-02 10:59:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5552 views

ทำงานอย่างปลอดภัยในที่อับอากาศ ตอนที่ 2

ว่ากันต่อในเรื่องมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมหรือป้องกันความเสี่ยงในการทำงานในพื้นที่อับอากาศ

ทำงานอย่างปลอดภัยในที่อับอากาศ (Confined Space) ตอนที่ 2

ศิริพร วันฟั่น

           บทความตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึง ความหมายของที่อับอากาศ และแนวทางในการบริหารจัดการความปลอดภัยในส่วนของ การระบุพื้นที่อับอากาศ การประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการพิจารณาใช้มาตรการควบคุมหรือป้องกันความเสี่ยง โดยการตรวจสอบสภาพบรรยากาศ การระบายอากาศ การไล่อากาศ และการทำความสะอาด

          สำหรับตอนที่สองนี้ เราจะไปว่ากันต่อในเรื่องมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมหรือป้องกันความเสี่ยงในการทำงานในพื้นที่อับอากาศ

          3.4 การตัดแยกส่วน (Isolation) เป็นกระบวนการในการขัดขวางหรือตัดขาด/ไม่เชื่อมต่อท่อ สายและแหล่งให้พลังงานต่าง ๆ (Energy Sources = Electrical, Mechanical, Hydraulic, Pneumatic (Air), Chemical, Thermal, Radioactive, Gravity) จากที่อับอากาศ โดยระบบดังกล่าวจะต้องหยุดการดำเนินงานและมีการป้องกันอย่างสมบูรณ์จากการปลดปล่อยพลังงานหรือสารต่าง ๆ เข้าไปยังที่อับอากาศ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

          • Lockout/Tagout คือการล็อคและติดป้ายเตือนที่แหล่งให้พลังงานที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้จากการเคลื่อนไหวหรือปลดปล่อยพลังงาน เช่น ใช้กุญแจล็อคและติดป้ายที่กล่องสวิตซ์แหล่งจ่ายไฟ หรือที่คันโยกปล่อยสารหรือสิ่งที่เป็นอันตราย เป็นต้น (ดูรูป)

          • Blanking คือ การป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายโดยการทำให้แหล่งพลังงานภายใต้แรงอัดไม่สามารถไหลผ่านได้ เช่น การใช้สลักปิดคั่นระหว่างข้อต่อในระบบ Hydraulic และ Pneumatic เป็นต้น (ดูรูป)

          • Disconnecting คือ การป้องกันโดยไม่เชื่อมต่อตัวขับเคลื่อน เช่น สายพาน โซ่ และกลไกที่ติดอยู่กับเพลา เป็นต้น

          • Securing คือ การใช้โซ่คล้อง หรือล็อคด้วยสายยูที่ชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวได้ของเครื่องจักร เพื่อป้องกันการทำงานของเครื่องจักรโดยไม่ตั้งใจ
ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีใดในการตัดแยกส่วน ก็ควรคำนึงถึงหลักความปลอดภัยทางวิศวกรรมและมีการทดสอบถึงประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น มีการทดสอบการรั่วไหลของไอน้ำหรือสารเคมีจากท่อส่งจากการ Blanking เป็นต้น

          3.5 การป้องกันอันตรายจากเครื่องมือ/อุปกรณ์ไฟฟ้า และวัตถุ/สารที่เป็นอันตราย รวมถึงแหล่งจุดติดไฟ ควรมีการใช้ระบบสายดิน ฉนวน หรือ Ground Fault Circuit Interrupter และระบบความต่างศักย์ต่ำ (Low Voltage) สำหรับเครื่องมือ/อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งานในที่อับอากาศเพื่อลดหรือป้องกันอันตรายเพราะผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่จะสัมผัสกับพื้น สายไฟและอุปกรณ์ให้ความสว่างควรทำจากวัสดุที่ต้านทานต่อการกัดกร่อนและมีคุณภาพเพียงพอ นอกจากนี้ควรมีการเคลื่อนย้ายวัตถุหรือสารที่เป็นอันตรายรวมถึงแหล่งจุดติดไฟต่าง ๆ ออกไปจากที่อับอากาศ เช่น กระป๋องอัดความดัน เป็นต้น

          3.6 เครื่องกั้นแนวพื้นที่อับอากาศ เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปยังพื้นที่อับอากาศ โดยการใช้เครื่องกั้นต่าง ๆ เช่น รั้วเหล็ก

          3.7 การใช้สัญลักษณ์/ติดป้ายเตือน เพื่อบ่งบอกหรือเตือนผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่เกี่ยวข้องให้ได้ทราบ ทั้งนี้สัญลักษณ์/ป้ายเตือนถึงอันตรายควรที่จะอ่านและทำความเข้าใจได้ง่ายและสะดุดตา เช่น

          3.8 การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เมื่อพิจารณาแล้วว่าการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ช่วยเหลือ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมของอุปกรณ์ที่จะสามารถป้องกันอันตรายได้อย่างเหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงและลักษณะอันตรายที่ได้วิเคราะห์ออกมาแล้ว

          อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท คือ
          - อุปกรณ์ป้องกันส่วนศีรษะ (Head Protection) เช่น หมวกแข็ง เมื่อมีความเสี่ยงที่ศีรษะจะได้รับอันตราย จากวัตถุร่วงหล่นใส่ หรือศีรษะชนกับเพดาน/วัตถุที่อยู่เหนือศีรษะ

          - อุปกรณ์ป้องกันดวงตาและหน้า (Eye & Face Protection) เช่น แว่นตานิรภัย แว่นตาป้องกันการกระทบ แว่นตาป้องกันสารเคมี หรือกระบังครอบหน้าเมื่อมีความเสี่ยงที่ดวงตาหรือใบหน้าจะได้รับอันตราย เช่น ฝุ่น ไอ ฟูม ละอองที่ระคายเคือง/กัดกร่อน หรือวัตถุที่พุ่งไปมาในอากาศจากการขัดหรือเชื่อม

          - อุปกรณ์ป้องกันมือ (Hand Protection) เช่น ถุงมือที่ทอด้วยเส้นใยเหล็กหรือใยผ้าที่มีความเหนียว ใช้ป้องกันขอบเหลี่ยมแหลมคมหรือพื้นผิวที่สากมือ ถุงมือยางใส่เพื่อป้องกันสารที่ระคายเคืองหรือเป็นพิษ ในกรณีที่ต้องสัมผัสกับอุณหภูมิที่ร้อนหรือหนาวอาจต้องใช้ถุงมือที่ทำจากฉนวน และเมื่อมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้าก็อาจต้องใช้ถุงมือยาง นอกจากนั้นอาจต้องใช้ถุงมือในกรณีที่ต้องจับวัตถุหรือเครื่องมือที่ลื่นอีกด้วย

          - อุปกรณ์ป้องกันเท้า (Foot Protection) เช่น รองเท้าประเภทต่าง ๆ เมื่อมีความเสี่ยงที่เท้าจะได้รับอันตรายจากวัตถุที่ร่วงลงมาใส่ สารเคมี พื้นที่ลื่น ไฟฟ้าดูด

          - อุปกรณ์ป้องกันหู (Ear Protection) เช่น จุกอุดหู เมื่ออยู่ในที่มีเสียงดัง แต่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะจะมีผลกระทบต่อการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้วยกันเองหรือกับผู้ช่วยเหลือที่อยู่ด้านนอก

          - ชุดคลุมป้องกันร่างกาย (Protective Clothing) ใช้สวมใส่ป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากอุณหภูมิ ความชื้น สารเคมี ไอ เปลวไฟ ไฟฟ้าสถิต ฯลฯ

          - อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ (Respirator Protection) เครื่องช่วยหายใจเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถหายใจได้อย่างปลอดภัย โดยปราศจากการสูดดมก๊าซพิษหรืออนุภาคที่เป็นอันตราย ซึ่งเครื่องช่วยหายใจโดยพื้นฐานแล้วจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ

          Air–purifying Respirator เป็นเครื่องช่วยหายใจประเภทที่กรองอากาศให้บริสุทธิ์ในที่ซึ่งมีก๊าซหรืออนุภาคอันตรายในอากาศ มีทั้งแบบครอบเฉพาะครึ่งหน้าและแบบครอบเต็มหน้า

          ข้อควรระวัง เครื่องช่วยหายใจประเภทนี้ห้ามใช้ในสภาพบรรยากาศขาดออกซิเจน

          Air–supplying Respirator เป็นเครื่องช่วยหายใจที่ให้อากาศบริสุทธิ์จากแหล่งจ่ายอากาศบริสุทธิ์ สามารถแยกย่อยได้เป็น

          1. Self-contained Breathing Apparatus (SCBA) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีระดับการป้องกันสูงสุด ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันอันตรายจากสภาวะการขาดออกซิเจน หรือสภาวะที่อากาศเป็นพิษอย่างฉับพลัน (Immediately Dangerous to Life and Health: IDLH) ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมใช้กันมากในที่อับอากาศ

SCBA จะประกอบไปด้วยถังอากาศทรงกระบอกสำหรับให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่ ซึ่งถังอากาศนี้จะมีอากาศในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องมีการเติมอากาศเข้าไป และไม่มีสายเชื่อมต่อกับสิ่งใด ๆ ผู้ปฏิบัติงานจึงสามารถเคลื่อนไหวได้โดยสะดวก แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องความกว้างของพื้นที่ โดยบริเวณที่จะสามารถใช้ SCBA ได้นั้น ต้องมีความกว้างเพียงพอสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่สวมใส่ SCBA และถังอากาศแล้ว

          2. Combination-type dual-purpose SCBA เป็น SCBA ที่สามารถต่อเข้ากับเครื่องจ่ายอากาศเพื่อเติมอากาศเข้าไปในถังได้ ซึ่ง Combination-type dual-purpose SCBA นี้ จะมีสายต่อเข้ากับ Regulator 2 เส้น คือสายที่มาจากถังอากาศ และสายที่มาจากเครื่องจ่ายอากาศ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งกรณีที่ต่อ และไม่ต่อเข้ากับเครื่องจ่ายอากาศ ซึ่งหากไม่ต่อเข้ากับเครื่องจ่ายอากาศ ก็จะกลายเป็น SCBA เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในชนิดแรก

          3. Air-line Respirators with Escape Cylinder เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่มีลักษณะคล้ายกับ Combination-type dual-purpose SCBA คือสามารถเติมอากาศเข้าไปในถังได้ แต่มีข้อแตกต่างคือจะมีขนาดของถังอากาศที่เล็กกว่า SCBA โดยมีปริมาณอากาศสำหรับระยะเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 5–10 นาที ซึ่งอุปกรณ์ชนิดนี้มักจะใช้ขณะหนีจากเหตุการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น

          4. Escape Respirators เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ขณะหนีจากสภาวะ IDLH เช่นเดียวกับ Air-line Respirators with Escape Cylinder ในข้อ 3 แต่ไม่สามารถเติมอากาศเข้าไปในถังได้ มีน้ำหนักเบา โดยอุปกรณ์ชนิดนี้จะจ่ายอากาศจากถังมายังที่ครอบศีรษะ (Hood) เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 5-10 นาทีเท่านั้น

          ในการเลือกใช้เครื่องช่วยหายใจประเภทต่าง ๆ นั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับงาน ลักษณะอันตราย และผู้ใช้เป็นสำคัญ โดยต้องมีการฝึกอบรมในการใช้งาน การดูแลรักษา การตรวจความพร้อมก่อนใช้งาน และรับทราบข้อจำกัดของเครื่องช่วยหายใจที่เลือกใช้ และย้ำให้ตระหนักถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

          ข้อพึงระวัง ควรตรวจสภาพความพร้อมของร่างกาย จิตใจ และประสาทสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานก่อนโดยบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อความมั่นใจในยามที่ต้องปฏิบัติงาน โดยเฉพาะกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจหรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

          3.9 ระบบการติดต่อสื่อสารและเตือนภัย (Communication & Alarm Systems) ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะมีประโยชน์อย่างมากในการเฝ้าระวังความปลอดภัย/แจ้งเหตุหรือให้สัญญาณเตือนภัยระหว่างผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ด้านในที่อับอากาศกับผู้ช่วยเหลือที่อยู่ภายนอก ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของชนิดและข้อจำกัดของเครื่องมือสื่อสารและระบบเตือนภัยที่ใช้ (มีทั้งระบบอัตโนมัติและไม่อัตโนมัติ) และเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้น จากการขัดข้องของระบบสื่อสารและเตือนภัย เช่น ในกรณีใช้วิทยุสื่อสารเมื่ออยู่ในช่วงมุมอับในที่อับอากาศ อาจทำให้มีผลกระทบต่อคลื่นสัญญาณ เป็นต้น

บางครั้งมีความจำเป็นต้องใช้ PASS (Personnel Alert Safety Systems) ซึ่งใช้เตือนให้ผู้ช่วยเหลือได้ทราบถึงการหยุดนิ่งของร่างกายของผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในที่อับอากาศ โดยถ้ามีการหยุดนิ่งเกินเวลาที่ตั้งไว้เครื่องก็จะร้องเตือนผู้ปฏิบัติงาน ๆ ก็จะกดปุ่มที่ตัวเครื่องเพื่อปิดเสียงเตือน แต่ถ้าผู้ปฏิบัติงานประสบเหตุ เช่น สูดก๊าซพิษไม่ได้สติไม่สามารถกดปุ่มที่ตัวเครื่องได้เครื่องก็จะดังไม่หยุดทำให้ผู้ช่วยเหลือรับทราบว่าเกิดเหตุร้ายขึ้น

หรือบางครั้งที่ตัวเครื่องก็จะมีปุ่มกดเพื่อส่งหรือรับสัญญาณฉุกเฉินได้ เช่น เมื่อผู้ปฏิบัติงานประสบเหตุก็จะส่งสัญญาณฉุกเฉินไปยังเครื่องรับของผู้ช่วยเหลือได้ เช่นเดียวกันถ้ามีเหตุการณ์ภายนอกที่ส่อว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ภายในที่อับอากาศผู้ช่วยเหลือก็สามารถส่งสัญญาณเตือนไปที่ตัวเครื่องของผู้ปฏิบัติงานให้รับทราบได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีการสื่อสารและเตือนภัยแบบใด ก็ควรมีการทดสอบเครื่องมือและทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนนำไปใช้งานจริงทุกครั้ง

          ข้อควรพิจารณา ควรมีผู้ปฏิบัติงานอย่างน้อย 1 คน ที่อยู่ในรัศมีหรือระยะทางที่จะสามารถทำการสื่อสารและประสานงานกับผู้ช่วยเหลือด้านนอกได้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน

           - ควรใช้เครื่องมือสื่อสารและระบบเตือนภัยแบบที่ป้องกันการระเบิดได้ (Activated Explosion Proof Type)

          3.10 แผนรองรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Action Plans) ควรมีการเขียนแผนการอพยพ การปฐมพยาบาล การแพทย์ฉุกเฉิน การป้องกันและระงับอัคคีภัย การช่วยชีวิตและนำผู้ประสบเหตุออกมา ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ/เข้าใจ และตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และขั้นตอนในการปฏิบัติเมื่อยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้เพื่อลดความสับสนและสูญเสีย โดยอาศัยการฝึกอบรมปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอ ทั้งทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ มีการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งมีการจดบันทึก ประเมินผล ทบทวน แก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบุคลากร วิธีปฏิบัติ และเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ในสภาวะเตรียมพร้อมสูงสุด (A high state of readiness)

          3.11 การใช้ระบบขออนุญาตเข้าทำงานในที่อับอากาศ (Entry Permit System) และการฝึกอบรม (Training) หนึ่งในปัญหาที่พบเจอ คือ การป้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปในที่อับอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่งานที่มีพนักงานเป็นจำนวนมากหรือมีผู้รับเหมา ดังนั้นระบบนี้จะเป็นมาตรการป้องกันอันตรายโดยใช้การขออนุญาตก่อนที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ส่วนการฝึกอบรมจะเป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจ เพิ่มทักษะ ความชำนาญในการทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยทั่วไปแล้วระบบขออนุญาตเข้าทำงานในที่อับอากาศ จะมีลักษณะโครงสร้างดังนี้ คือ

          • ผู้อนุญาต จะเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง (เช่น Project Manager) และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้อนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อทำหน้าที่ในการกลั่นกรองคำขอในการเข้าไปปฏิบัติงานในที่อับอากาศ โดยนอกจากจะพิจารณาจากเนื้อหาในแบบฟอร์มขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศแล้ว ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นจริงในหลาย ๆ ด้านประกอบกันด้วย ก่อนที่จะทำการอนุญาต เป็นต้นว่า

          -    คุณสมบัติ ทักษะ ความรู้ ความชำนาญของผู้ปฏิบัติงานที่ขออนุญาต บนพื้นฐานการฝึกอบรม รวมถึงความเหมาะสมของจำนวนผู้ปฏิบัติงาน และวัตถุประสงค์ในการขออนุญาต

          - รายละเอียดวิธีการทำงาน

          - ลักษณะพื้นที่และความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากที่อับอากาศ

          - มาตรการและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการกำจัดหรือควบคุมหรือป้องกันอันตราย

          - ผลการตรวจวัดสภาพบรรยากาศในที่อับอากาศ และความปลอดภัยทางด้านเทคนิควิศวกรรม รวมถึงสภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดอันตราย

          - จำนวนวันและช่วงเวลาในการเข้าไปปฏิบัติงาน

          - เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้งานในที่อับอากาศ

          - ความพร้อมของผู้ช่วยเหลือ

          - ระบบการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงาน ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ

          - แผนงานรองรับและวิธีปฏิบัติในยามเกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น การอพยพ การปฐมพยาบาล การแพทย์ฉุกเฉิน การป้องกันและระงับอัคคีภัย การช่วยชีวิตและการนำผู้ประสบเหตุออกมา
เป็นต้น

          ซึ่งแบบฟอร์มขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศตามที่กฎหมายกำหนดนั้น อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
          1. ที่อับอากาศที่อนุญาตให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน
          2. วัน เวลาในการทำงาน
          3. งานที่ให้ลูกจ้างเข้าไปทำ
          4. ชื่อลูกจ้างที่อนุญาตให้เข้าไปทำงาน
          5. ชื่อผู้ควบคุมงาน
          6. ชื่อผู้ช่วยเหลือ
          7. มาตรการความปลอดภัยที่เตรียมไว้ก่อนการให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน
          8. ผลการตรวจสภาพอากาศและสภาวะที่อาจเกิดอันตราย
          9. อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิต
          10. อันตรายที่ลูกจ้างอาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย
          11. ชื่อและลายมือผู้ขออนุญาต ชื่อและลายมือชื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาต

          โดยแบบฟอร์มขออนุญาตนั้นควรที่จะมีการกรอกข้อมูลและลงลายมือชื่ออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างครบถ้วน และเมื่อมีการอนุญาตแล้วควรมีการนำสำเนาติดไว้ตรงทางเข้า-ออกที่อับอากาศ และห้ามเอาออกจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจหรือมีเหตุอันควรให้ยกเลิก ส่วนเอกสารตัวจริงเก็บไว้ในแฟ้มข้อมูลพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานรัฐตรวจสอบได้ ทั้งนี้ควรมีการแจ้งผู้รับเหมาให้ได้รับทราบ เข้าใจ และปฏิบัติตามระบบอย่างเคร่งครัด

          • ผู้ควบคุมงาน เป็นผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมงานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อทำหน้าที่ในการวางแผน ชี้แจง ซักซ้อมการทำงาน ควบคุม ดูแลการทำงานของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในพื้นที่งานของที่อับอากาศให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ปลอดภัย ตามกฎระเบียบและมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ นอกจากนั้นยังรวมถึง

          - การสั่งยกเลิกปฏิบัติการและถอนผู้ปฏิบัติงานออกจากพื้นที่ทันที เนื่องจากผลการตรวจสอบและการทดสอบสภาพบรรยากาศระบุว่าไม่ปลอดภัย หรือมีสถานการณ์ภายนอกที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในที่อับอากาศ รวมถึงการไม่สามารถหรือไม่พร้อมของผู้ช่วยเหลือที่จะปฏิบัติงานได้ ณ ขณะนั้นเนื่องจากเหตุผลใด ๆ ก็ตาม

ในสถานการณ์แบบนี้หลังจากมีการแก้ไขแล้ว ต้องมีการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานใหม่ก่อนที่จะกลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง รวมถึงมีการพิจารณาการออกใบอนุญาตใหม่หรือทบทวนใบอนุญาตเดิมเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานหรือกิจกรรมของงานที่จะนำไปสู่อันตรายแบบใหม่ในที่อับอากาศแห่งนั้น

          - ตรวจสอบให้มั่นใจว่า การฝึกอบรมรวมถึงการให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นมีความเพียงพอสำหรับผู้ปฏิบัติงาน และผู้ช่วยเหลือ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามภาระหน้าที่รับผิดชอบ

          - ตรวจสอบให้มั่นใจในความพร้อมและประสิทธิภาพของผู้ช่วยเหลือ

          - ตรวจสอบให้มั่นใจในมาตรการและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการกำจัดหรือควบคุมหรือป้องกันอันตราย เช่น การตรวจวัดสภาพบรรยากาศ การตัดแยกส่วน เป็นต้น

          - ตรวจสอบให้มั่นใจในความถูกต้องของผลการตรวจวัดสภาพบรรยากาศ และความปลอดภัยทางด้านเทคนิควิศวกรรม

          - ตรวจสอบให้มั่นใจในความพร้อมและความปลอดภัยของเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้งานในที่อับอากาศ

          - ตรวจสอบให้มั่นใจในแผนงานรองรับและวิธีปฏิบัติยามเกิดเหตุฉุกเฉิน

          • ผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ เป็นผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ มีความรู้ ทักษะ ความชำนาญเพียงพอในการที่จะปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ต้องผ่านการตรวจสภาพความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และประสาทสัมผัส ซึ่งโดยทั่วไปแล้วควรที่จะได้รับการฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ ดังนี้ คือ

          - ทราบถึงประเภทของที่อับอากาศทั้งหมดที่มีอยู่ในสถานที่ทำงาน ทั้งในส่วนของลักษณะทางกายภาพ ตำแหน่งที่ตั้ง ขนาด และรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องทราบ โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

          - ตระหนักและรับทราบถึงลักษณะอันตรายต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในที่อับอากาศ รวมถึงสัญญาณหรืออาการแรกเริ่มและผลของการสัมผัส เช่น ภาวะการขาดออกซิเจนในระยะเริ่มต้นมีลักษณะเช่นไร

          - รับทราบถึงมาตรการที่ใช้ในการกำจัด ควบคุม หรือป้องกันอันตราย เช่น การระบายอากาศ เทคนิคการตรวจวัดสภาพบรรยากาศ วิธีการใช้และข้อจำกัดของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เป็นต้น

          - วิธีและข้อจำกัดในการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย เช่น การใช้เครื่องมือไฟฟ้า การเชื่อม

          - วิธีหรือขั้นตอนปฏิบัติในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น การอพยพ การใช้เครื่องดับเพลิง การช่วยเหลือตัวเอง (Self Rescue)

          - วิธีในการใช้เครื่องมือสื่อสารที่ถูกต้องและรับทราบถึงลักษณะ ตลอดจนความหมายของสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉินทั้งในการส่งและรับสัญญาณ รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์ในกรณีที่การสื่อสารขัดข้อง

          - ระบบคู่หูในยามปฏิบัติงานเพื่อที่จะได้สังเกตอาการซึ่งกันและกัน โดยที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ควรทำงานเพียงลำพังในที่อับอากาศ

          • ผู้ช่วยเหลือ เป็นผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยเหลือตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อจะทำหน้าที่ในการเป็นผู้ที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ภายนอก คอยช่วยเหลือ-ส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ภายในที่อับอากาศ นอกจากนั้นยังเป็นทีมงานที่ได้รับการฝึกฝนถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องและปลอดภัย ในการช่วยชีวิตผู้ปฏิบัติงานที่ประสบเหตุในที่อับอากาศ โดยจะต้องอยู่ประจำตลอดเวลาที่มีผู้ปฏิบัติงานอยู่ในที่อับอากาศ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วควรที่จะได้รับการฝึกอบรมถึง

          - รับทราบแผนผัง ตำแหน่งที่ตั้ง โครงสร้าง ลักษณะทางกายภาพของที่อับอากาศ รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ

          - เข้าใจและรับทราบถึงลักษณะอันตรายต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในที่อับอากาศ รวมถึงสัญญาณ ลักษณะอาการ เริ่มแรกของอันตรายที่ผู้ปฏิบัติงานสัมผัส

          - การสอดส่องดูแลความปลอดภัยภายนอกที่อับอากาศที่อาจมีอันตรายไปถึงผู้ปฏิบัติงานภายใน

          - การใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อติดต่อและรับทราบสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในที่อับอากาศ

          - วิธีในการส่งสัญญาณเตือนภัยให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบ เมื่อมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น และรับทราบสัญญาณที่ส่งมาจากผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์ในกรณีที่การสื่อสารขัดข้อง

          - การห้ามผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่เกี่ยวข้องเข้าไปยังพื้นที่อับอากาศ

          - ตรวจเช็คจำนวนและความถูกต้องเป็นรายบุคคลของผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับอนุญาตทั้งก่อนเข้าและหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ รวมถึงการเซ็นต์ชื่อเข้า–ออกที่อับอากาศ

          - แผนงานช่วยเหลือผู้ประสบเหตุฉุกเฉิน (ให้ตระหนักว่าเหตุร้ายสามารถทวีความรุนแรงได้อย่างรวดเร็วในที่อับอากาศ ดังนั้นควรพิจารณาถึงระยะเวลาในการเข้าถึง เครื่องมือและการระงับเหตุ)

          - ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติยามเกิดเหตุฉุกเฉิน

          - การเลือกใช้อุปกรณ์และเทคนิคต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ เช่น อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล อุปกรณ์ช่วยชีวิตและนำผู้ประสบเหตุออกมา (Rescue & Retrieval Equipment) เป็นต้น รวมถึงการป้องกันตัวเองจากอันตราย (Self Rescue) ด้วย โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการนำตัวผู้ประสบเหตุออกมาควรคำนึงถึง โครงสร้างภายใน ขนาดของพื้นที่ ความกว้างของทางเข้า ตำแหน่งและสิ่งกีดขวางในที่อับอากาศ จำนวนผู้ปฏิบัติงาน ชนิดของอุปกรณ์และลักษณะแนวดิ่ง/แนวนอน

          - แผนงานปฐมพยาบาล เช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่สัมผัสก๊าซพิษ การใช้เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) ฯลฯ โดยเฉพาะการทำ CPR: Cardio Pulmonary Resuscitation (เป่าปาก – นวดหัวใจ) เนื่องจากในยามที่ขาดอากาศหายใจไป 4 นาที สมองจะได้รับความเสียหายจนฟื้นฟูกลับมาไม่ได้ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีบุคคลที่สามารถทำ CPR ให้ฟื้นภายใน 4 นาที

          - การแจ้งเหตุหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน/หน่วยกู้ภัยภายนอก

          - แผนงานป้องกันและระงับอัคคีภัย

          - ผู้ช่วยเหลือต้องไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างอื่นที่จะมีผลกระทบทำให้การเฝ้าระวังความปลอดภัยหรือการให้ความช่วยเหลือมีประสิทธิภาพลดลง

          โดยในการฝึกอบรมนั้นควรมีการจำลองสถานการณ์เหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ที่แตกต่างกันทั้งระดับความรุนแรงและประเภทของอันตราย และทำการประเมินประสิทธิภาพของการฝึกอบรม

          • วิศวกรความปลอดภัย (Safety Engineer) เป็นผู้ทำการตรวจสอบความปลอดภัยทางวิศวกรรม เช่น ระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้า ความแข็งแรงของโครงสร้างที่อับอากาศ ระบบระบายอากาศ ระบบการตัดแยกส่วน (Isolation) เป็นต้น รวมถึงรับทราบวิธีปฏิบัติยามเกิดเหตุฉุกเฉิน การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

          หมายเหตุ ก่อนที่ผู้ปฏิบัติงานจะเข้าไปทำงานในที่อับอากาศนั้น ผู้ควบคุมงานและวิศวกรความปลอดภัยควรเป็นผู้ที่เข้าไปตรวจสอบอีกครั้งก่อนเพื่อความมั่นใจหลังจากใช้มาตรการต่าง ๆ แล้ว (ควรใช้แบบฟอร์มตรวจสอบความปลอดภัย – Safety Checklist)

          - ก่อนเข้าทำงานในที่อับอากาศผู้ควบคุมงานควรทำการซักซ้อมความเข้าใจและย้ำเตือนผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนผู้ช่วยเหลือให้ทราบถึงภารกิจและขอบเขตหน้าที่ของแต่ละคน รวมถึงข้อควรระมัดระวังและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

          - ในการฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับการทำงานในที่อับอากาศนั้น ควรมีเนื้อหาคลอบคลุมด้วยกัน 5 หัวข้อ ดังต่อไปนี้ คือ
          (a) การปฐมนิเทศ (Orientation) เป็นการให้ความรู้พื้นฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมของโรงงานหรือบริษัท ลักษณะที่อับอากาศ ลักษณะงานและอันตรายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ โดยใช้ห้องประชุมและการเดินสำรวจแผนผังโรงงาน

          (b) การฝึกกับเนื้องานที่ทำ (On the job training) เป็นขั้นตอนต่อมาของการฝึกอบรม จะทำการฝึกในเนื้องานจริงร่วมกับผู้ที่ชำนาญการที่จะคอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และมีการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความชำนาญในการแก้ไขสถานการณ์

          (c) การประเมินผล (Evaluation) เพื่อวัดประสิทธิภาพของการฝึกอบรมว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจหรือไม่ ผ่านการสังเกตและการทดสอบถึงความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม หรือจากการปฏิบัติงานจริง

          (d) ทบทวนการฝึกอบรม (Retraining) เป็นการฝึกอบรมซ้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อย้ำเตือนให้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไข หรือพัฒนาระบบ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติงาน เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอันตรายที่มีอยู่ หรือเมื่อตรวจพบเจออันตรายใหม่ ๆ รวมถึงมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามาตรการที่ใช้ในการกำจัด ควบคุม / ป้องกันอันตรายเริ่มใช้ไม่ได้ผล และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องมีท่าทีหย่อนประสิทธิภาพลง

          (e) การเก็บบันทึกข้อมูลของการฝึกอบรม (Record Keeping) จะช่วยในการเปรียบเทียบหรือวัดถึงประสิทธิภาพ และพัฒนาการในการฝึกอบรมแต่ละครั้ง

          - ในการฝึกอบรมควรทำการฝึกก่อนได้รับภารกิจแรกหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่รับผิดชอบ  เมื่อมีการเปลี่ยนปฏิบัติการในที่อับอากาศ ซึ่งปรากฏอันตรายใหม่ ๆ ที่ผู้ปฏิบัติงานควรได้รับการฝึกฝน เมื่อนายจ้างมีเหตุผลอันน่าเชื่อถือได้ว่ามีการเบี่ยงเบนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่จำเป็น ต่อวิธีการอนุญาตเข้าในที่อับอากาศ และควรทำการฝึกอบรมเพิ่มเติมเมื่อสังเกตพบว่าความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและความชำนาญของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอ หรือระบบการขออนุญาตเข้าทำงานในที่อับอากาศและมาตรการป้องกันอันตรายต่าง ๆ มีประสิทธิภาพที่ลดลง

          กล่าวโดยสรุปแล้ว ปัจจัยสำคัญในการป้องกันอันตรายในที่อับอากาศ คือ การคัดเลือกตัวบุคคล การแจกแจงและประเมินอันตรายที่มีอยู่หรืออันตรายจากคาดการณ์ล่วงหน้าและอันตรายที่มีลักษณะเฉพาะ มาตรการต่าง ๆ ที่ใช้กำจัด ลด ควบคุมหรือป้องกันอันตรายนั้น ๆ แผนงานรองรับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ระบบการขออนุญาตเข้าทำงานในที่อับอากาศ การฝึกอบรม การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด การประเมินประสิทธิภาพ การทบทวนแก้ไขและพัฒนาแผนงานทั้งหมดอยู่เสมอ รวมถึงความจริงใจและการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งเต็มที่จากฝ่ายบริหาร

เอกสารอ้างอิง
          • A Guide to Safety in Confined Spaces, U.S.Department of Labor Occupation Safety & Health Administration (OSHA)

          • กฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. 2547

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด