เนื้อหาวันที่ : 2011-08-30 09:27:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9152 views

อุตสาหกรรมล้อรถยนต์

การผลิตรถยนต์ในไทยถือได้ว่ามีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอุตสาหกรรมหนึ่งที่เกี่ยวข้องและเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคืออุตสาหกรรมล้อรถยนต์

ณัฐิกา กุลเกลี้ยง

ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์ถึง 9 แสนกว่าคัน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มากและมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างต่อเนื่อง แต่มีอุตสาหกรรมหนึ่งที่เป็นที่น่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมล้อรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งมีการเติบโตเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังพัฒนาไปสู่การเป็น "Detroit of Asia" ในอนาคต

อุตสาหกรรมล้อรถยนต์ในประเทศไทย มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างมาก โดยล้อรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ล้ออัลลอยด์ (Alloy Wheel) และล้อเหล็ก (Steel Wheel) ซึ่งล้ออัลลอยด์ (Alloy Wheel) จะนิยมใช้มากในรถยนต์นั่งและรถกระบะ ส่วนล้อเหล็ก (Steel Wheel) รถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะนิยมใช้เป็นส่วนใหญ่ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด ดังนี้ ล้ออัลลอยด์ (Alloy Wheel) ประมาณ ร้อยละ 80 และล้อเหล็ก (Steel Wheel) ประมาณ ร้อยละ 20 แนวโน้มต่อไปในอนาคต ล้อเหล็กจะมีสัดส่วนที่น้อยลง แต่ล้ออัลลอยด์จะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น

รูปที่ 1 แสดงส่วนแบ่งของตลาดล้อรถยนต์ในประเทศไทย

ผู้ผลิตล้อรถยนต์จะมีสัดส่วนการจำหน่ายล้อรถยนต์ ดังนี้ จำหน่ายให้กับผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง (OEM) ประมาณ ร้อยละ 50 จำหน่ายเป็นอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ (REM) ร้อยละ 10 และ ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ร้อยละ 40 โดยมีแนวโน้มที่จะส่งออกมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการยอมรับในคุณภาพของสินค้า ราคาที่ค่อนข้างต่ำ และการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มีอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละประเทศ

รูปที่ 2 สัดส่วนการจัดจำหน่ายล้อรถยนต์

ล้ออัลลอยด์ (Alloy Wheel)

โดยในที่นี้จะกล่าวถึงล้ออัลลอยด์ (Alloy wheel) เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะพัฒนาได้อีกมาก ล้ออัลลอยด์ (Alloy Wheel) หรือในอีกชื่อที่เราคุ้นเคย คือ ล้อแม็กซ์ ซึ่งเราเข้าใจว่า "แม็กซ์" นั้นย่อมาจากแมกนีเซียม (Magnesium) ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่ค่อยถูกต้องนักในการใช้อธิบายล้ออัลลอยด์ แต่ในปัจจุบัน ล้อแม็กซ์ผลิตมาจาก โลหะผสมอะลูมิเนียม (Aluminium Alloy) ที่มีส่วนผสมระหว่างอะลูมิเนียม (Aluminium) และซิลิกอน (Silicon)

โดยอาจมีแมกนีเซียมผสมเข้าไปด้วยซึ่งอาจมีราคาแพงขึ้น แมกนีเซียมได้ถูกมองว่าเป็นโลหะผสมที่ไม่ค่อยจะเหมาะสมนักในการนำมาใช้งานบนท้องถนน เนื่องจากความเปราะบาง แตกหักง่ายและการทนต่อการกัดกร่อนที่ไม่ค่อยจะดีนัก จึงเลือกใช้โลหะอัลลอยด์ซึ่งมีความแข็งแรงเป็นเยี่ยมและมีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษเหนือกว่าโลหะจำพวกเหล็ก และเป็นวัสดุในอุดมคติในการสร้างล้อที่ต้องการสมรรถนะสูง

ประโยชน์จากการใช้โลหะอัลลอยด์ทำล้อรถยนต์
* ลดน้ำหนักส่วนที่อยู่ใต้สปริง (Unsprung Weight)
  นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญทีมีผลต่อการเกาะถนนของรถยนต์ น้ำหนักส่วนนี้ คือ น้ำหนักส่วนที่ไม่ได้ถูกรองรับโดยระบบกันสะเทือน (เช่น ล้อ ยาง และระบบเบรก เนื่องจากอยู่ใต้ระบบกันสะเทือน) ซึ่งไวต่อการรับแรงกระแทกจากพื้นถนนและแรงเบียดเชิงมุม (Cornering Forces) ด้วยการลดน้ำหนักส่วนนี้ จะสามารถช่วยให้การบังคับเลี้ยวแม่นยำยิ่งขึ้น และลดการไถลออกนอกวงเลี้ยว

* การเร่งและการหยุดดีขึ้น
ล้ออัลลอยด์สามารถช่วยให้การตอบสนองต่อการเร่งและการหยุดของรถได้ดีขึ้น

* เพิ่มความแข็งแกร่ง
ความแข็งแรงที่เพิ่มเข้ามาของล้ออัลลอยด์ที่มีคุณภาพจะช่วยลดแรงเบียดเชิงมุมที่เกิดจากการบิดตัวของล้อกับยาง เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับรถยนต์ที่ติดตั้งยางสมรรถนะสูงที่อาจมีแรงเบียดด้านข้างสูงถึง 1.0 กรัม

* เพิ่มการระบายความร้อนของระบบเบรก
วัสดุที่ใช้ทำล้ออัลลอยด์มีคุณสมบัติในการนำความร้อนเป็นเยี่ยม ช่วยให้การระบายความร้อนจากระบบเบรกดีขึ้น ลดความเสี่ยงของการลื่นไถลของเบรก อีกทั้งล้ออัลลอยด์ยังสามารถถูกออกแบบให้อากาศสามารถไหลผ่านระบบเบรกได้มากขึ้นอีกด้วย

ประเภทของล้ออัลลอยด์ (Alloy Wheel)
1. ล้ออัลลอยด์ แบบชิ้นเดียว (One-Piece Cast Wheels)
เป็นล้ออะลูมิเนียมแบบที่นิยมใช้ทั่วไป การหล่อขึ้นรูปล้อสามารถทำได้โดยการเทอะลูมิเนียมที่ถูกหลอมเหลวลงในแบบหล่อเพื่อทำเป็นล้อ มีหลายวิธีที่สามารถกระทำได้ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ซับซ้อนเท่าใดนักแต่จริง ๆ แล้วเป็นศิลปะที่แท้จริงเมื่อชิ้นงานแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์โดยมีวิธีการทำหลายวิธีดังต่อไปนี้

* การหล่อแบบแรงโน้มถ่วง (Gravity Casting) เป็นการหล่ออย่างง่ายด้วยการเทอะลูมิเนียมหลอมเหลวลงในแบบหล่อจนเต็มโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก มีต้นทุนที่ไม่สูงมากนักและเป็นวิธีที่ดีในการออกแบบงานหล่อที่เน้นการตรวจสอบคุณภาพได้ด้วยสายตาหรือการลดน้ำหนักไม่ใช่ประเด็นหลัก ด้วยความที่กระบวนการหล่ออาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกเพื่อเติมน้ำโลหะให้เต็มแบบหล่อ ดังนั้นเนื้ออะลูมิเนียมที่ได้จึงไม่หนาแน่นนัก ล้ออะลูมิเนียมที่ได้จากการหล่อด้วยวิธีนี้จึงมีน้ำหนักมากหากจะให้ได้ความแข็งแรงตามที่ต้องการ

* การหล่อแบบแรงดันต่ำ (Low Pressure Casting) ใช้แรงดันในการฉีดอะลูมิเนียมเหลวลงในแบบหล่อได้เร็วกว่าและได้ชิ้นงานที่มีคุณสมบัติทางกลที่ดีกว่า(เนื้อแน่นกว่า) การหล่อแบบแรงโน้มถ่วง การหล่อแบบแรงดันต่ำนี้มีต้นทุนที่สูงกว่า และเป็นกรรมวิธีที่ใช้ทั่วไปที่ใช้ในการผลิตล้อล้ออะลูมิเนียมสำหรับป้อนตลาดอะไหล่แท้ (OEM) อีกทั้งยังมีราคาค่างวดที่ดีกว่าในตลาดอะไหล่ (After Market)อีกด้วย ผู้ผลิตบางรายมีผลิตภัณฑ์ล้ออะลูมิเนียมที่ผลิตภายใต้กรรมวิธีการหล่อแบบแรงดันสูงไว้ให้เลือก ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าและแข็งแรงกว่าแบบที่ผลิตด้วยกรรมวิธีการหล่อแบบแรงดันต่ำ แต่ทั้งนี้ หากต้องการล้อที่เบากว่าก็จะมีต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามกรรมวิธีการผลิตที่ใช้

* การหล่อแบบเหวี่ยงขอบล้อ (Spun-rim or Rim Rolling Technology) เป็นกรรมวิธีการผลิตแบบพิเศษที่เริ่มต้นจากการหล่อแบบแรงดันต่ำแต่ใช้เครื่องจักรชนิดพิเศษที่จะหมุนเหวี่ยงการหล่อในช่วงแรกเพื่อให้ได้ส่วนที่เป็นขอบล้อ ให้ความร้อนกับส่วนนอกสุดของชิ้นงานชิ้นขอบล้อ แล้วรีดด้วยลูกรีดเหล็กอีกเพื่อให้ได้ขอบล้อที่มีรูปร่างและความกว้างตามต้องการ เป็นการผสมผสานของการให้ความร้อน แรงดัน และการหมุนเหวี่ยงเพื่อให้ได้ชิ้นงานส่วนที่เป็นขอบล้อที่มีความแข็งแรงเทียบเท่ากับการอัดขึ้นรูป (Forging) แต่มีต้นทุนถูกกว่า ล้อบางชนิดที่ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษที่มีสมรรถนะสูงสำหรับติดตั้งรถที่ออกมาจากโรงงานหรือรถรุ่นพิเศษที่ผลิตจำนวนจำกัดต่างใช้เทคโนโลยีในการผลิตแบบนี้เพื่อให้ได้ล้ออะลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรงและราคาเหมาะสมกับคุณภาพ

* การอัดขึ้นรูปหรือการอัดขึ้นแบบรูปกึ่งแข็ง (Forged or Semi-Solid Forged) ถือเป็นสุดยอดของล้ออะลูมิเนียมแบบชิ้นเดียว การอัดขึ้นรูปเป็นกระบวนการอัดก้อนอะลูมิเนียมแข็งด้วยแม่พิมพ์อัดขึ้นรูปภายใต้แรงดันสูง ทำให้ได้ชิ้นงานที่เนื้อแน่น แข็งแรง และอาจมีน้ำหนักเบาอีกด้วย ด้วยต้นทุนของเครื่องมือ ขั้นตอนการออกแบบ อุปกรณ์และเครื่องจักร ส่งผลให้ล้อชนิดอะลูมิเนียมที่ผลิตด้วยกรรมวิธีนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะ และมีราคาแพงในท้องตลาด การขึ้นรูปแบบกึ่งแข็ง (Semi-solid Forging: SSF) เป็นกระบวนการที่มีการให้ความร้อนแท่งโลหะอะลูมิเนียมผสมพิเศษให้ร้อนและอ่อนตัวจนเกือบหลอมตัว

จากนั้นก็อัดเนื้ออะลูมิเนียมผสมดังกล่าวเข้าให้เต็มแม่พิมพ์ด้วยความรวดเร็วในขณะที่ยังร้อนอยู่ คุณสมบัติทางกลของล้ออะลูมิเนียมที่ผลิตด้วยกรรมวิธีนี้จะมีความแข็งแรงเทียบเท่ากับล้อที่ผลิตด้วยกรรมวิธีการอัดขึ้นรูปแต่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เมื่อความเบาและสมรรถนะเป็นปัจจัยหลัก การขึ้นรูปแบบกึ่งแข็งจะมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง และในปัจจุบัน มีเพียง Speed Star Racing (SSR) จากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่ได้ลิขสิทธิ์ในการใช้กรรมวิธีการผลิตแบบนี้ในการผลิตล้ออะลูมิเนียม

2. ล้ออัลลอยด์ แบบหลายชิ้น (Multi-Piece Wheels)
ล้ออะลูมิเนียมแบบนี้อาศัยการประกอบชิ้นส่วน 2-3 ชิ้นเข้าด้วยกันจนเป็นล้อสำเร็จรูป และสามารถใช้กรรมวิธีการผลิตต่าง ๆ กันออกไป ชิ้นที่เป็นดุมกลาง (Centers) สามารถหล่อขึ้นรูปด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมถึงการอัดขึ้นรูป ขอบล้อ (Rims) สำหรับล้ออะลูมิเนียมแบบ 3 ชิ้นสามารถรีดกลึงขึ้นรูปได้จากอะลูมิเนียมรูปทรงจานกลม (Disk)

โดยทั่วไปแล้วการรีดกลึงขึ้นรูปสามารถทำให้ล้อที่ได้มีรูปแบบการนำไปใช้งานแบบพิเศษเฉพาะอย่างซึ่งไม่สามารถหาได้จากล้อที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไป ขอบล้อและดุมกลางประกอบเข้าด้วยกันด้วยโบลต์และมีการซีลตามพื้นที่ที่เป็นรอยต่อจากการประกอบชิ้นส่วนหลายชิ้นเข้าด้วยกันจนเป็นล้อสำเร็จ โครงสร้างแบบ 3 ชิ้นนี้ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับการแข่งรถในช่วงทศวรรษที่ 1970 และได้นำมาใช้ในรถยนต์ทั่วไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาและเป็นที่นิยมสำหรับล้อที่มีขนาดตั้งแต่ 17 นิ้วขึ้นไป

ล้อแบบ 2 ชิ้นมีให้เลือกมากมายในท้องตลาด ล้อแบบ 2 ชิ้นนั้นไม่สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายเท่าใดนักเมื่อเทียบกับการล้อแบบ 3 ชิ้น อย่างไรก็ตาม ล้อแบบ 2 ชิ้นนี้สามารถหาได้ง่ายกว่าและมีราคาถูกกว่าในท้องตลาด ล้อแบบ 2 ชิ้นบางแบบมีการประกอบชิ้นดุมกลางกับขอบล้อเข้าด้วยกันด้วยโบลต์ และบางชนิดประกอบเข้าด้วยกันด้วยการอัดและเชื่อมสองชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน

สำหรับล้ออะลูมิเนียมแบบ 2 ชิ้นอย่างดีที่พบได้ในท้องตลาดนั้นจะประกอบขึ้นจากขอบล้อและดุมกลางที่ผลิตด้วยการอัดขึ้นรูป เนื่องจากปริมาณการขายที่ไม่มากนัก อีกทั้งต้นทุนในการพัฒนาและการผลิตที่สูงตามกระบวนการผลิตแบบอัดขึ้นรูป ดังนั้นล้อชนิดนี้จึงมีราคาค่อนข้างสูงเช่นกัน   


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด