เนื้อหาวันที่ : 2007-04-04 15:22:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 12568 views

การจัดการพลังงานในอุตสาหกรรมผลิตเส้นใย

อุตสาหกรรมผลิตเส้นใย เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีโรงงานไม่มากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ (20 แห่ง) จ้างแรงงานกว่า 10,000 คน เนื่องจากต้องลงทุนเทคโนโลยีสูง จึงต้องติดตั้งกำลังการผลิตมากเพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้กำลังผลิตในประเทศและภูมิภาคเอเชียมีกำลังการผลิตส่วนเกินจากความต้องการมาก ต้นทุนการผลิตสูง

อุตสาหกรรมสิ่งทอมีโครงสร้างอุตสาหกรรมค่อนข้างใหญ่ดังแสดงในรูปที่ 1 ดังนั้นเพื่อให้การจัดการพลังงานสามารถทำได้อย่างเป็นระบบเราจึงต้องแยกเจาะลงไปในแต่ละกลุ่ม

.

.

อุตสาหกรรมผลิตเส้นใย เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีโรงงานไม่มากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ (20 แห่ง) จ้างแรงงานกว่า 10,000 คน เนื่องจากต้องลงทุนเทคโนโลยีสูง จึงต้องติดตั้งกำลังการผลิตมากเพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้กำลังผลิตในประเทศและภูมิภาคเอเชียมีกำลังการผลิตส่วนเกินจากความต้องการมาก ต้นทุนการผลิตสูง วัตถุดิบกว่าร้อยละ 90 นำเข้า การจัดการพลังงานจึงสำคัญ เพื่อความอยู่รอดในการแข่งขัน 

.

เส้นใยประดิษฐ์ คือ เส้นใยที่แปลงจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ เรยอน เป็นต้น และเส้นใยสังเคราะห์ (Synthetic Fiber) ได้แก่ โพลีเอสเตอร์ ไนลอน อะคริลิก โอลิฟิน โดยโพลีเอสเตอร์ใช้มากที่สุดสัดส่วน 48 % ตามด้วย ไนลอน 42 % ที่เหลือคืออะคริลิกและโอลิฟิน

.

เส้นใยประดิษฐ์ (Man Made Fiber)

ชื่อทั่วไปของเส้นด้ายฟิลาเมนต์ เส้นใยสั้น ฟิลาเมนต์เดี่ยว  

ฟิลาเมนต์ (Filament)

เส้นใยประดิษฐ์ที่มีความยาวมาก ๆ หลายกิโลเมตร  

เส้นใยสั้น (Staple Fiber)

เส้นใยประดิษฐ์ที่มีความยาวจำกัด  

เรยอน (Rayon)

เซลลูโลสแปรรูป โดยใช้สารเคมีทำละลาย ดูดซึมสีดีกว่าฝ้าย

ดูดความชื้นดีกว่าเซลลูโลสธรรมชาติ ทนด่างแต่ไม่ทนกรด

ทนต่อแมลง ความเหนียวลดลงถ้าเปียก โดดแสงแดดนานจะเหนียวลดลง ใช้ทำเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้านวม ผ้าม่าน เป็นต้น  

ไนลอน

ใช้คาโปแลคตัม เป็นวัตถุดิบ มีความยืดหยุ่นดี คืนตัวได้ดีมาก ไม่ยับ  

โพลีเอสเตอร์

ใช้กรดเทเรฟทาลิก (Terepthalic) กับ เอทิลีนไกลคอล (Etyleneglycol) ใช้ทำเสื้อผ้า ดอกไม้ประดิษฐ์  พรม คืนตัวดี

ไม่ต้องรีด ดูดความชื้นต่ำ 

เม็ดชิพ (PET)  

บรรจุถุงจำหน่ายนำไปหลอมเหลวใหม่เพื่ออัดเป็นเส้นใย  

Polyester Staple Fiber (PSF)

ผลิตภัณฑ์เส้นใยสั้น ป้อนโรงงานปั่นด้าย อาจจะใช้ผสมกับ

เส้นใยธรรมชาติ  

Partial Oriented Yarn (POY)

เส้นใยยาวกึ่งสำเร็จรูปมีการจัดเรียงโมเลกุลยังไม่สมบูรณ์ส่งโรงทอผ้า  

Draw Texture Yarn (DTY)

นำ POY มาดึง ยืด เพิ่มความนุ่ม สำหรับส่งโรงทอผ้าผืนเพื่อตัดเย็บ  

.

กระบวนการผลิต

.

กระบวนการผลิตเส้นใยเป็นการทำปฏิกิริยาเคมี มีเครื่องปฏิกรณ์สูง 12 เมตร (ราวตึก 5 ชั้น) ควบคุมการทำงาน อุณหภูมิ ความดัน อัตโนมัติด้วยระบบคอมพิวเตอร์จากห้องควบคุม กระบวนการผลิตของแต่ละประเภทเส้นใย จะมีการใช้สารเคมีแตกต่างกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงกระบวนการผลิตโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้งานมากที่สุด

.

1.ผสมกรดเทเรฟทาลิก (ผงสีขาว) กับเอทิลีนไกลคอล (ของเหลวใสไม่มีสี)

2.ทำปฏิกิริยาเคมี Esterification ที่ อุณหภูมิ 245 C เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นของเหลวใสไม่มีสี

 

3.เติมสาร TiO2 แล้วแต่ความขุ่นที่ต้องการ และตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ได้แก่โค บอล ต์อะซิเตต แอมโมเนียอะซิเตต กรดฟอสฟอริก

 

4.ควบอณู (Polymerization) ที่ความดัน 0.05 mmปรอท 295 C และ ทำการเผาเอทิลีนไกลคอลและนำกลับมาใช้ใหม่ ได้โพลิเมอร์เหลวนำไปใช้ในกระบวนการผลิต เม็ดชิพ PSY และ POY

5.   

5.1 ผลิตเม็ดชิพ ใช้น้ำ Deminerized ทำให้เย็นเพื่อทำให้เป็นแผ่น (Casting) แล้วจึงตัดเป็นเม็ด เก็บในถังเก็บ เม็ดชิพจะถูกอากาศอัดส่งไปยัง Silo เพื่อรอบรรจุใส่ถุง

5.2   ถ้าผลิตเส้นใยสั้น PSF โพลิเมอร์เหลวจะถูกส่งไปปั่นและเพิ่มความร้อน เพื่อให้เป็นเนื้อเดียว ไม่ตกตะกอน ทำให้เส้นใยไม่ขาดง่ายจากนั้น Metering pump ฉีดโพลิเมอร์เหลวผ่านรูเล็ก ๆ เพื่อทำให้เป็นเส้นใย เครื่องผลิต PSF จะถูกทำให้ร้อนด้วยไอความร้อนจากน้ำมันร้อน ส่วนเส้นใยที่ออกจากรูเล็ก ๆ จะผ่านลมเย็นเพื่อ ให้เส้นใยแข็งตัว  

5.3   ผลิต POY คล้ายกับ PSF แต่ POY โพลิเมอร์เหลวผ่านเข้า Spin pack ทำให้ได้เส้นใยฟิลาเมนต์
.

การใช้พลังงาน

ต้นทุนพลังงานมีสัดส่วนประมาณ 12% ของต้นทุนการผลิต ส่วนต้นทุนอื่น ๆ ประกอบด้วยค่าวัตถุดิบ (95 % นำเข้า) 53 % ค่าแรง 6 %ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร ค่าใช้จ่ายในการขายและอื่น ๆ 29 % ค่าใช้จ่ายพลังงานความร้อนคิดเป็น 52 % ของการใช้พลังงานทั้งหมดส่วนไฟฟ้ามีสัดส่วน 48 %

.

ความร้อนแบ่งเป็น หม้อน้ำมันร้อน 48 % ของพลังงานความร้อนทั้งหมด หม้อไอน้ำสำหรับเครื่องทำน้ำเย็นแบบดูดซึม 29 % หม้อไอน้ำสำหรับกระบวนการผลิต 23 % การใช้ไฟฟ้าแบ่งเป็น เครื่องจักรในกระบวนการผลิตขนาด 35-75 kW มอเตอร์เครื่องกวนสารละลาย และปั๊มส่งจ่ายสารละลาย 55 % ปั๊มน้ำและหอผึ่งเย็น 15% ระบบอากาศอัด 12 % และ ที่เหลือ 18 % สำหรับระบบอื่น ๆ ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสีย แสงสว่าง อินเวอร์เตอร์ 

.

การจัดการพลังงาน

เนื่องจากกระบวนการผลิตเป็นกระบวนการทางเคมีมีการควบคุมอัตโนมัติด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้าจากมอเตอร์เครื่องกวนสารละลายและปั๊มสารละลาย การจัดการพลังงานจึงมุ่งเน้นที่ระบบสาธารณูปโภค

.

การใช้อุปกรณ์ควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ ปั๊มน้ำมันร้อน

น้ำมันเตาร้อนจะถูกปั๊มเพื่อทำความร้อนอุณหภูมิสูง 350 C ถ่ายเทให้กับเครื่องจักรกระบวนการผลิต มอเตอร์ปั๊มน้ำมันร้อนมีขนาดใหญ่ เช่น 130 kW และหลายแห่งใช้วิธีการหรี่วาล์วในการควบคุมอัตราการไหล ซึ่งหากมอเตอร์ขนาด 130 kW หรี่วาล์วเพื่อลดอัตราการไหล 20% มอเตอร์ไฟฟ้าลดลง 10% หรือ 13 kW แต่ถ้าใช้อินเวอร์เตอร์จะลดลง 50 % ที่อัตราการไหลเดียวกัน หรือ 65 kW ประหยัดได้ปีละกว่า 1 ล้านบาท คืนทุนไม่เกิน 2 ปี

.

การนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้จากหม้อน้ำมันร้อน

ความร้อนจากไอเสียของหม้อน้ำมันร้อนจะถูกนำมาอุ่นอากาศ จาก 30 C เป็น 180 C อุณหภูมิไอเสียลดลงเหลือ 260 C แต่ยังมีความร้อนเหลืออยู่ สามารถนำมาอุ่นน้ำป้อนหม้อไอน้ำสำหรับกระบวนการผลิตและหม้อไอน้ำสำหรับเครื่องทำน้ำเย็นแบบดูดซึม ถ้าน้ำป้อน 6 ตัน/ชั่วโมง อุณหภูมิ 90 C จะสามารถเพิ่มอุณหภูมิได้เป็น 165 C จะประหยัดเชื้อเพลิงน้ำมันเตาในการผลิตไอน้ำไ192,000 ลิตร/ปี คิดเป็น 1.5 ล้านบาท/ปี คืนทุน 2 ปี

.

.

การใช้ระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อน/ความเย็น ร่วมโดยใช้เชื้อเพลิงแข็ง

ถ้าใช้เครื่องทำน้ำเย็นใช้ไฟฟ้าจะทำให้สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของโรงงานเพิ่มจาก 48 % เป็น 63 % ต้นทุนการผลิตน้ำเย็น 2.5 บาท/RT ในขณะที่ใช้เครื่องทำน้ำเย็นแบบดูดซึมโดยใช้น้ำมันเตาจะมีต้นทุนผลิตน้ำเย็น 2 บาท/RT แต่ถ้าใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจะมีต้นทุน 1.5 บาท/RT  

.

การลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า ความร้อนและความเย็นร่วมโดยใช้หม้อไอน้ำชนิด Circulating Fluidize Bed ขนาด 70 ตัน/ชั่วโมง ความดัน 40 Bar ผลิตไฟฟ้าได้ 6 MW และไอน้ำที่ 12 ตัน/ชั่วโมง สำหรับผลิตความเย็น 2000 RT และ ไอน้ำ 10 ตัน/ชั่วโมง ความดัน 25 Bar สำหรับกระบวนการผลิต จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 75 ล้านบาท/ปี คืนทุนภายใน 4 ปี เป็นต้น

.

เอกสารอ้างอิง

- การอนุรักษ์พลังงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ, เอกสารประกอบการอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์พลังงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ, ศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด