เนื้อหาวันที่ : 2007-04-04 11:20:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9039 views

Biomass พลังงานชีวมวลทางเลือกใหม่ของการใช้พลังงาน

พลังงานชีวมวล เป็นพลังงานที่สะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตที่สามารถนำมาใช้ทำงานได้ เช่น ต้นไม้ กิ่งไม้ หรือเศษวัสดุจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรม เช่น แกลบ ฟาง ชานอ้อย ขี้เลื่อย เศษไม้ เปลือกไม้ มูลสัตว์ รวมทั้งของเหลือหรือขยะจากครัวเรือนมนุษย์ พลังงานชีวมวล ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานที่ภาครัฐกำลังมีการศึกษาในการนำมาใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการใช้พลังงานของคนไทย

จากที่เคยกล่าวไว้ พลังงานชีวมวล เป็นพลังงานที่สะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตที่สามารถนำมาใช้ทำงานได้ เช่น ต้นไม้ กิ่งไม้ หรือเศษวัสดุจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรม เช่น แกลบ ฟาง ชานอ้อย ขี้เลื่อย เศษไม้ เปลือกไม้ มูลสัตว์ รวมทั้งของเหลือหรือขยะจากครัวเรือนมนุษย์ พลังงานชีวมวล ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานที่ภาครัฐกำลังมีการศึกษาในการนำมาใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการใช้พลังงานของคนไทย

.

การใช้ชีวมวลในประเทศไทยระหว่างปี 2540–2545

.

.

จากข้อมูลการใช้ชีวมวลของประเทศไทยปี 2540–2545 จะมีปริมาณการใช้ชีวมวลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เล็กน้อย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำให้มีเศษวัสดุเหลือใช้จำนวนมากที่สามารถนำมาเป็นกากชีวมวลในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อ อดีตเราคงจะเห็นว่าเกษตรกรนั้น จะนำมาใช้เป็นปุ๋ยหรือการเผาให้ไหม้เป็นเถ้า และใช้กลบหน้าดินเพื่อให้เป็นสารอาหารของพืชผลทางการเกษตร ปัจจุบันได้มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนำมาใช้เป็นพลังงาน ที่สามารถนำมาทดแทนพลังงานอื่นที่เรามีการนำเข้ามาได้ เพียงแต่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการศึกษาให้รอบคอบก่อนที่จะมีการนำมาใช้ว่า ต้องใช้เทคนิคหรือเทคโนโลยีชนิดใด ลงทุนสูงหรือไม่ และท้ายสุดชีวมวลสามารถที่จะสร้างผลกระทบให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ประเด็นนี้ภาครัฐก็ได้พยายามที่จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ของการนำชีวมวลมาใช้ประโยชน์แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก

.

ศักยภาพชีวมวลในประเทศไทย

ประเทศไทยนับเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ประชาชนมากกว่าร้อยละ 50 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลพลอยได้ที่สำคัญนอกเหนือจากผลผลิตการเกษตรก็คือ วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว แกลบ กากอ้อย กาก ใย และทะลายปาล์ม เป็นต้น ชีวมวล (Biomass) หมายถึง วัสดุหรือสารอินทรีย์ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานได้ ชีวมวลนับรวมถึงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เศษไม้ ปลายไม้จากอุตสาหกรรมไม้ มูลสัตว์ ของเสียจากโรงงานแปรรูปทางการเกษตร และของเสียจากชุมชน ปริมาณชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ผลิตภายในประเทศ จะแปรผันและขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ ตารางข้างล่างแสดงรายละเอียดพื้นที่ปลูก ผลผลิตพืชหลัก และไม้ยางพารา ปี 2543/2544 และ 2544/2545  

.

อุปทานด้านชีวมวล

.

.

สำหรับศักยภาพของการผลิตชีวมวลในประเทศไทยจะประเมินจากผลคูณของปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ก่อให้เกิดชีวมวลนั้น ๆ กับสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงปริมาณผลผลิตเป็นปริมาณชีวมวล

.

ตารางข้างล่างแสดงศักยภาพชีวมวลของประเทศไทยปี 2544/2545 จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลดิบที่แสดงตารางปริมาณวัสดุเหลือใช้ยอดและใบของอ้อยมีปริมาณมากที่สุดถึง 17,870.19 (106kg) สามารถให้กำลังไฟฟ้า 4,105.92 MW รวมเศษวัสดุเหลือใช้ทั้งหมด 48,293.26 (106kg) สามารถให้กำลังไฟฟ้ารวมทั้งหมด 9,630.18 MW นับได้ว่ามีศักยภาพอย่างยิ่งที่สามารถนำเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาแปรสภาพเป็นพลังงาน และประเทศไทยสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

 

.

.

อุปสงค์ชีวมวล

พลังงานชีวมวลปัจจุบันนับได้ว่ามีความต้องการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร การนำมาใช้สำหรับภาคที่อยู่อาศัย และการนำมาใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

.

1. การนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร

ประโยชน์ทางด้านการเกษตรนั้นได้มีมานับแต่อดีตแล้ว เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมด้วย ตัวอย่างในอดีตที่เราสามารถพบได้นั้นได้มีการนำมาคลุมดิน ฯลฯ ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องการนำเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้นำมาใช้กัน เช่น ฟางข้าว มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในการเพื่อการคลุมดินและทำปุ๋ยและอื่น ๆ ปีละประมาณ 18 ล้านตัน ยอดและใบอ้อย นำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในการเพื่อการคลุมดินและอื่น ๆ ปีละประมาณ 4 ล้านตัน ตอซังสัปปะรด นำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในการเพื่อการคลุมดินและทำปุ๋ย ปีละประมาณ 1 ล้านตัน เป็นต้น

.

2. การนำมาใช้สำหรับภาคที่อยู่อาศัย

เศษวัสดุเหลือใช้ที่นำมาใช้ในบ้านที่อยู่อาศัย จะเป็นเพียงการนำมาใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับในการหุงต้ม เช่น ไม้ฟืน นำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิง ปีละประมาณ 291,410 ตัน ถ่านไม้ มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิง ปีละประมาณ 422,980 ตัน เปลือกและกะลามะพร้าว นำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิง ปีละประมาณ 29,010 ตัน แกลบ นำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิง ปีละประมาณ 291,410 ตัน 

.

3. การนำมาใช้ด้านอื่น ๆ

เศษวัสดุเหลือใช้ที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ แต่เมื่อมองโดยภาพรวมก็ยังมีไม่มากนัก แต่สามารถนำมาคิดเป็นอุปสงค์ในภาครวมของการนำเศษวัสดุเหลือมาใช้ ก็นับได้ว่าเป็นจำนวนมากทีเดียว ดังเช่น เปลือกมะพร้าว นำมาใช้ประโยชน์ในการทำเป็นเส้นใยและทำเป็นวัสดุปลูกพืช ปีละประมาณ 350,000 ตัน แกลบ มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นวัสดุรองกันความชื้นในการเลี้ยงไก่ ปีละประมาณ 50,000 ตัน

.

4. การนำมาใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม

ปัจจุบันความต้องการของการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับภาคอุตสาหกรรม มีมากกว่าการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะประเภทที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน เพื่อนำมาทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันที่นับทุกวันจะมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมพยายามที่จะหาทางในการจัดหาพลังงานด้านอื่น ๆ มาทดแทน บางโรงงานถึงกับลงทุนงบประมาณที่มากในการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าชธรรมชาติไว้ใช้เป็นของตนเอง เนื่องจากมองถึงความสามารถในการเป็นไปได้ของการลงทุน และเป็นการทดแทนกับค่าพลังงานที่แพงขึ้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ต้องรับภาระทุก ๆ เดือน และโรงงานอุตสาหกรรมแห่งนั้น ยังมีการขยายฐานการผลิตโดยการสร้างโรงงานผลิตเพิ่มขึ้น ฉะนั้นถ้าไม่สามารถจัดหาแหล่งพลังงานที่เป็นไปได้มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ถึงอาจจะต้องรับภาระไว้ไม่ไหว

.

ดังแสดงในตารางปริมาณการใช้พลังงานชีวมวล มีการนำประเภทชีวมวลต่าง ๆ มาใช้ เพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อนถึง 15.18 ล้านตันต่อปี เพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อนถึง 13.19 ล้านตันต่อปี รวมมีการนำประเภทชีวมวลต่าง ๆ มาใช้ เพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อนและเพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อนถึง 28.37 ล้านตันต่อปี นับได้ว่าเป็นการหาทางเลือกใหม่ของนักอุตสาหกรรม ผู้บริหารที่จะหาหนทางในแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่เพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการของโรงงาน

.

ตารางแสดงการใช้ประเภทชีวมวลในภาคอุตสาหกรรม

.

.

จากข้อมูลการศึกษาและประเมินศักยภาพแหล่งชีวมวลของกระทรวงพลังงาน พบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท มีการนำพลังงานชีวมวลมาใช้ในเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรม ดังตัวอย่าง

.

.

จากผลการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมจากนม ยังมีการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตาปริมาณที่มากถึงร้อยละ 68.56 มีการนำเศษวัสดุเหลือใช้ มาในใช้ในกระบวนการผลิตที่เห็นได้ชัดเจนก็มีเพียงไม้ฟืน ที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อสร้างพลังงานความร้อนในกระบวนการผลิตเท่านั้น นับได้ว่าในอุตสาหกรรมนี้ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากนัก ยังใช้เชื้อเพลิงอย่างน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงหลักในโรงงาน ซึ่งผลิตภัณฑ์จากนมจำเป็นต้องใช้ความร้อนที่มีความคงที่ต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้เมื่อค่าความร้อนที่เชื้อเพลิงผลิตขึ้นมาไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ ฉะนั้นยังต้องพึ่งแหล่งพลังงานที่ต้องนำเข้าอยู่

.

.

จากผลการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมผลิตผลไม้กระป๋องและผักกระป๋อง ยังมีการใช้เชื้อเพลิงไม้ฟืนปริมาณที่มากถึงร้อยละ 86.34 มีการนำเศษวัสดุเหลือใช้ มาในใช้ในกระบวนการผลิต นอกจากนั้นก็เป็นน้ำมันเตา ก๊าช LPG และอื่น ๆ มีปริมาณการใช้ที่ใกล้เคียงกัน

.

.

ในอุตสาหกรรมน้ำตาลและการทำน้ำตาลให้บริสุทธิ์ ถือเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเท่านั้นในการสร้างเป็นพลังงานความร้อน เพื่อการผลิตน้ำตาลและการทำน้ำตาลให้บริสุทธิ์ เป็นการนำเศษวัสดุจากต้นอ้อยที่ผ่านการหีบเอาน้ำอ้อยออกมาแล้ว มาใช้ประโยชน์ในการสันดาปเพื่อสร้างพลังงานความร้อนให้กับกระบวนการผลิตได้ จากผลการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลและการทำน้ำตาลให้บริสุทธิ์ มีเพียงการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เพียง 2 ชนิดเท่านั้น นั่นคือ การใช้เชื้อเพลิงกากอ้อยซึ่งมีปริมาณมากถึงร้อยละ 99.92 และที่เหลือก็เป็นไม้ฟืน นับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ควรจะมีการส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงานอุตสาหกรรมประเภทนี้ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง 

.

.

ในอุตสาหกรรมผลิต ผลิตภัณฑ์อาหาร น้ำมันเตายังใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการสร้างเป็นพลังงานความร้อน และการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอย่างฟืนซึ่งมีปริมาณถึงร้อยละ 43.01 ดังภาพ

.

.

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์กระดาษและเยื่อกระดาษ ที่มีการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมากที่สุดถึง ร้อยละ 84.39 ซึ่งปกติแล้ว เมื่อมีการจัดการที่ดีก็ต่อให้เกิดมลภาวะได้เช่นกัน และที่เหลือก็จะใช้น้ำมันเตามีปริมาณร้อยละ 12.00 และเชื้อเพลิงชีวมวลไม้ฟืนเพียงร้อยละ 3.61

.

.

เชื้อเพลิงชีวมวลยังมีการใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตเป็นพลังงานความร้อนอย่างไม้ฟืนมีปริมาณการใช้ถึงร้อยละ 50.31 และแกลบมีปริมาณการใช้ถึงร้อยละ 49.00 ภาพแสดง จะเห็นได้ชัดว่าเชื้อเพลิงชีวมวลเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องด้วยปริมาณความร้อนที่ให้และการประหยัดต้นทุนมีมากว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ

.

จากแผนภูมิที่แสดงดังตัวอย่างของการผลิตตามอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นคงพิจารณาได้ว่า เชื้อเพลิงชีวมวล ทั้งหมดนั้น มีศักยภาพที่ดีในการได้รับความไว้วางใจนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการสร้างพลังงานความร้อนในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม โดยจากผลการศึกษามีปริมาณมากถึง15.18 ล้านตัน/ปี ภาครัฐต้องให้การส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานชีวมวลดังกล่าวข้างต้นอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จึงจะสามารถสร้างแรงผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลกันมากขึ้น เกี่ยวกับกระบวนการนำพลังงานชีวมวลมาใช้เพื่อให้เกิดพลังงาน ปัจจุบันเราสามารถใช้เทคโนโลยีและที่นำมาใช้ในการสร้างพลังงานให้เกิดขึ้นจากพลังงานชีวมวล พอสังเขป ดังต่อไปนี้

.

เทคโนโลยีพลังงานชีวมวล

.

การสันดาป (Combustion Technology)

การสันดาปเป็นปฏิกิริยาการรวมตัวกันของเชื้อเพลิงกับออกซิเจนอย่างรวดเร็วพร้อมเกิดการลุกไหม้และคายความร้อน ในการเผาไหม้ส่วนใหญ่จะไม่ใช้ออกซิเจนล้วน ๆ แต่จะใช้อากาศแทนเนื่องจากอากาศมีออกซิเจนอยู่ 21% โดยปริมาณ หรือ 23% โดยน้ำหนัก เมื่อนำเชื้อเพลิงชีวมวลมาสันดาป ก็จะทำให้ได้พลังงานความร้อนที่ดีเกิดขึ้น เนื่องด้วยคุณสมบัติที่ดีของเชื้อเพลิงชีวมวลที่เป็นเศษวัสดุแห้งและติดไฟง่าย

.

การผลิตเชื้อเพลิงเหลว (Liquidification Technology)

การผลิตก๊าซเชื้อเพลิง (Gasification Technology)

กระบวนการ Gasification เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพลังงานที่มีอยู่ในชีวมวลที่สำคัญกระบวนการ หนึ่ง ของการเปลี่ยนแปลงแบบ Thermal Conversion โดยมีส่วนประกอบของ Producer Gas ที่สำคัญได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ไฮโดรเจน (H2) และมีเทน (CH4)

.

การผลิตก๊าซโดยการหมัก (Anaerobic Digestion Technology)

การผลิตก๊าซจากชีวมวลทางเคมีด้วยการย่อยสลายสารอินทรีย์ในที่ไม่มีอากาศหรือไม่มีออกซิเจนซึ่งเรียกว่า ก๊าซชีวภาพ (Bio Gas) ได้ก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นหลัก 

.

การผลิตไฟฟ้าโดยใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง

การนำเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตเป็นความร้อนและนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้

.

เตาแก๊สชีวมวล

เตาแก๊สชีวมวล เป็นเตาที่จัดสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการหุงต้มอาหารในครัวเรือน โดยใช้เศษไม้และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง โดยมีหลักการทำงานแบบการผลิตแก๊สเชื้อเพลิงจากชีวมวล แบบอากาศไหลขึ้น เป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงในที่ที่จำกัดปริมาณอากาศให้เกิดความร้อนบางส่วนแล้วไปเร่งปฏิกิริยาต่อเนื่องอื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงแข็งให้กลายเป็นแก๊สเชื้อเพลิง ที่สามารถติดไฟได้ ได้แก่ แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) แก๊สไฮโดรเจน (H2) และแก๊สมีเทน (CH2) เป็นต้น

.

แนวทางการส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวล

1. การส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลในการผลิตไฟฟ้า

แนวทางการส่งเสริมเพื่อก่อให้เกิดการใช้พลังงานชีวมวล เพื่อสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้านั้น เป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับแหล่งอุปทานของแหล่งชีวมวล เมื่อพิจารณาถึงเชื้อเพลิงชีวมวลจากข้างต้นที่แสดงแล้ว ภาครัฐต้องมีโครงการนำร่องในการส่งเสริมด้านความรู้และความเข้าใจให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกชนิดเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีศักยภาพอย่างเช่น ฟางข้าว ยอดและใบอ้อย ลำต้นและใบข้าวโพด ยอดลำต้นและเหง้ามัน ของการนำไปใช้ประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เคยทิ้งหรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ที่ยังสร้างมูลค่าได้ไม่มากนัก

.

ส่งเสริมและสร้างความรู้เกี่ยวกับการจัดจำหน่ายและจัดหาชีวมวลที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อที่จะสร้างกลไกด้านการตลาดการซื้อขายของชีวมวลให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของประเทศขึ้น การประชาสัมพันธ์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานความร้อนให้กับนักลงทุนให้ความสนใจในการลงทุนทั้งการับซื้อหรือการลงทุนติดตั้งเทคโนโลยี จัดทำเป็นโครงการนำร่องของอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าให้เกิดขึ้น และนำผลมาขยายผลให้ประชาชนนั้นได้รับทราบ และท้ายสุดภาครัฐ ต้องมีการส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมและจูงใจแก่ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้า

.

2. การส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลในการผลิตพลังงานความร้อน

การนำพลังงานชีวมวลมาผลิตพลังงานความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม คงใช้เป็นแนวทางเดียวกันควบคู่กันไป ในการที่ภาครัฐต้องมีโครงการนำร่องในการส่งเสริมด้านความรู้และความเข้าใจให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูก รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ส่งเสริมและสร้างความรู้เกี่ยวกับการจัดจำหน่ายและจัดหาชีวมวลที่มีอยู่ในประเทศไทย มีการส่งเสริมทางด้านการลงทุนในการดำเนินการจัดหาเทคนิคและเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับการผลิตพลังงานความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การลดภาษีให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการนำชีวมวลมาใช้ในการผลิตพลังงาน การยกเว้นภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ รวมถึงการผลักดันให้เกิดกิจกรรมของการปรับปรุง

กระบวนการใช้ชีวมวลด้วยตนเองด้วยวิธีการบริหารจัดการพลังงาน ตัวอย่างเช่น พิจารณาถึงการลดต้นทุนสูญเสียที่เกิดจากการออกแบบและการผลิต จากการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ หรือการดัดแปลงปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เหมาะสม สามารถสร้างจิตสำนึกและทัศนคติเรื่องการประหยัดพลังงานให้เกิดขึ้น โดยมุ่งให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วม เป็นต้น ลำดับสุดท้ายก็คือ ภาครัฐจะต้องสร้างเครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรมโดยใช้พลังงานชีวมวลให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อเป็นการสร้างฐานตัวอย่างให้เกิดขึ้นในประเทศว่า ภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสนใจในเรื่องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อเป็นแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมทั่วไปหันมาให้ความสนใจของการใช้พลังงานชีวมวลกันมากขึ้น

.

จะเห็นได้ว่าอย่างที่ผมเคยกล่าวไว้แล้วในเรื่องของการเลือกใช้พลังงานชีวมวลเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยังเกิดขึ้นไม่แพร่หลายมากนัก อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตที่ยังไม่ทันสมัย จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาให้มีความทันสมัยและสามารถผลิตพลังงานให้ได้ปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการและเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความเหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์ เมื่อลงทุนไปแล้วมีความคุ้มค่า

.

ดังนั้น การเลือกใช้พลังงานชีวมวลจากข้อมูลที่ผู้เขียนได้นำเสนอข้างต้นคงพิจารณาได้เบื้องต้นกลไกทางสังคมเท่านั้นที่จะตัดสินให้การมีใช้เชื้อเพลิงพลังงานชีวมวลเกิดขึ้นหรือไม่ และอาจจะต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยด้านความมั่นคงของประเทศประกอบอีกด้วยครับ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด