เนื้อหาวันที่ : 2011-08-04 16:04:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5000 views

เริ่มต้นเขียนแผนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานกันอย่างไรดี

จะเริ่มเขียนแผนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นควรจะทำอย่างไรหรือคิดกันอย่างไรดี สิ่งที่ต้องถามตัวเองอันดับแรกเลยคือ องค์กรของคุณสร้างสรรค์คุณค่าอะไรให้กับลูกค้า

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

           มีหลายท่านถามผมว่าจะเริ่มเขียนแผนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นควรจะทำอย่างไรหรือคิดกันอย่างไรดี อธิบายกันลำบากครับ แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย ลำพังคนเดียวคงจะทำไม่ได้หรอกครับ และที่สำคัญผู้เขียนแผนและผู้ร่วมเขียนแผนนั้นรู้จักตัวเองหรือธุรกิจของตัวเองดีขนาดไหน และที่สำคัญที่สุดคุณมีความเข้าใจในลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน และความสัมพันธ์ของแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานกับแผนธุรกิจที่มีอยู่หรือจะที่เขียนมาขนาดไหน ระยะนี้มีกระแสของการเขียนแผนลอจิสติกส์กันอยู่ในทุกหน่วยงานทั้งราชการและเอกชน

สิ่งที่แตกต่างกันในการตอบสนองต่อกระแสลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาครัฐและเอกชน คือ ถ้าเป็นเอกชนก็จะหาความรู้กันเสียก่อนว่า ลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน คือ อะไร นำมาใช้แล้วได้ประโยชน์อะไรบ้างแล้วค่อยนำเสนอผู้บริหาร หรือไม่ก็เป็นตัวผู้บริหารเองที่สั่งการดำเนินโครงการมาเอง หรือถ้าเป็นบริษัทข้ามชาติก็อาจจะนำโครงการจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการได้เลย แต่ของราชการเราผมรู้สึกว่าจะตอบสนองได้อย่างรวดเร็วทันควันยิ่งกว่าภาคเอกชนเสียอีก ไม่ต้องพูดมาก รับเรื่องมา เขียนแผนได้ทันที ไม่งั้น ไม่ทันงบประมาณ เพราะถ้าใครทำอะไรเกี่ยวกับลอจิสติกส์ตอนนี้ได้เงินงบประมาณแน่นนอน แต่อย่าเขียนคำว่า โซ่อุปทานไปมาก เดี่ยวอาจจะทำให้ผู้อนุมัติงบประมาณเข้าใจผิดเลยพาลชวดงบประมาณไปง่าย ๆ นี่แหละครับวิถีแห่งลอจิสติกส์แบบไทย ๆ ที่ทุกวันนี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก มีหน้าที่สนองนโยบายให้ตรงที่สุดเป็นใช้ได้ แต่จะใช้ได้หรือไม่นั้น ไม่ต้องคิดกัน

           แม้ว่ากิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจะมีมานานแล้วก็ตาม แต่แนวคิดในเชิงบูรณาการนั้นเพิ่งจะมีมาเร็ว ๆ นี้เอง ตามการพัฒนาการของสังคมและธุรกิจ ผมเองก็ยังต้องตอกย้ำอยู่เสมอว่า ลอจิสติกส์ไม่ใช่แค่การขนส่งจนบางคนอาจจะเบื่อและคิดว่าผมเขียนวนไปมา ผมตั้งใจจะเขียนอย่างนี้ไปอีกสัก 4-5 ปีกว่าคนไทยและคนทั้งโลกจะเข้าใจตรงกัน เพราะถ้าคนใดคนหนึ่งมีความเข้าใจแค่การขนส่งแล้วแผนลอจิสติกส์ที่ได้ออกมาก็เป็นแค่แผนการขนส่งแบบเดิมเท่านั้นเอง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะการขนส่งก็ยังพอที่จะช่วยให้ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานดำเนินการไปได้ แต่ยังคงไม่เต็มที่หรือไม่คุ้มค่าที่สุด

คิดอันดับแรก : องค์กรของคุณสร้างคุณค่าอะไร  
           สิ่งที่ต้องถามตัวเองอันดับแรกเลยคือ องค์กรของคุณสร้างสรรค์คุณค่า (Value) อะไรให้กับลูกค้า และลูกค้าของคุณคือใครบ้าง ไม่ว่าองค์กรของคุณจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชนล้วนแต่ทำธุรกิจทั้งสิ้น เพียงแต่รัฐนั้นไม่ได้มุ่งเน้นหากำไรแต่เน้นในการบริการลูกค้าซึ่งคือประชาชน และรัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น รัฐก็จะได้เก็บรายได้ที่เป็นภาษีกลับคืนมาพัฒนาประเทศต่ออีกขั้นหนึ่ง ถ้าภาครัฐหรือคนของภาครัฐที่เราเรียกว่า ข้าราชการคิดได้แค่นี้ คุณเอ๊ย ! ประเทศไทยของเราไปไกลกว่านี้แน่นอน ! ยิ่งภาคเอกชนเราก็ยังไม่สามารถเกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน เอาแค่คนไทยเราไม่กล้าอ่านภาษาอังกฤษหรือหาความรู้อ่านจากแหล่งความรู้ภาษาอังกฤษก็ปิดประตูแพ้ประเทศอย่างเวียดนามได้เลย แบบแพ้โดยไม่ต้องแข่งขันกันเลย ไม่เชื่อก็คอยดู

           โดยปกติทุกองค์กรจะต้องตอบสุดยอดโจทย์ที่ผมได้กล่าวมานี้ให้ได้ ถ้าผู้บริหารคนใดและพนักงานในองค์กรตอบไม่ได้ แสดงว่าองค์กรของคุณเริ่มถดถอยเสียแล้ว นั่นแสดงว่าคุณไม่รู้จักธุรกิจที่คุณกำลังทำหรือกำลังจะทำเอาเสียเลย ในทุก ๆ แผนธุรกิจที่เขียนกันจะมีกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานสอดแทรกอยู่เสมอ แต่ในอดีตเราไม่เข้าใจในแนวคิดนี้ เราจึงไม่รู้จักว่าอะไรคือ ลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน เราจึงเขียนแต่ละแผนแบบแยกส่วนกันและให้ความสำคัญไม่ถูกที่ถูกตำแหน่ง โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์ของส่วนสร้างสรรค์คุณค่า (Value Creation) ให้กับลูกค้า ส่วนการเงิน ส่วนการตลาด และส่วนทรัพยากรมนุษย์

ดังนั้นใครถามผมว่าเราเริ่มแผนลอจิสติกส์ได้อย่างไร คือ จะต้องเริ่มที่ตอบโจทย์ที่ว่าสร้างสรรค์คุณค่าอะไรให้กับลูกค้า และลูกค้าคือใคร นี่เป็นโจทย์เดียวกับการเขียนแผนธุรกิจเลยก็ว่าได้ แผนลอจิสติกส์นั้นผมคิดว่ากินเนื้อหาส่วนใหญ่ของแผนธุรกิจก็ว่าได้ หรือถือว่าเป็นแกนกลาง (Core) ของแผนธุรกิจ แผนธุรกิจส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับแผนการเงิน การตลาด และการขาย ผมกลับไม่เห็นด้วยเพราะทำให้แผนดูนิ่งเกินไป หรือไม่มีความยืดหยุ่น ซึ่งผมคิดว่าประเด็นสำคัญจะต้องอยู่ที่แผนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่จะเป็นคำตอบและเป็นวิถีทางในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น

           ลองมาดูตัวอย่างใกล้ตัวกันบ้าง ถ้าคุณเป็นผู้บริหารจังหวัดหรือเมือง คุณก็ต้องมีหน้าที่ให้พลเมืองอยู่ดีกินดี มาตรฐานชีวิตที่ดีมีความสะดวกปลอดภัยและมีความเจริญตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นและโลก นั่นเป็นคุณค่าของเมืองหรือจังหวัดที่จะต้องจัดหาและจัดเตรียมไว้ลูกค้าซึ่งก็คือ ประชาชน หน้าที่ของการบริหารเมือง คือ การอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนของเมืองหรือจังหวัด ในการประกอบอาชีพและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้น แต่ผู้บริหารก็ต้องมีความเข้าใจในลักษณะของการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นแนวคิดแรกของการทำแผนลอจิสติกส์ของจังหวัด คือ การทำความเข้าใจในตัวลูกค้าหรือประชาชนเสียก่อน ผลลัพธ์หรือผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอให้กับประชาชน คือ การทำให้การอยู่ดี กินดี เศรษฐกิจดี ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอะไร โครงสร้างพื้นฐานอะไรบ้างที่จะช่วยสนับสนุนการประกอบอาชีพนั้น ไม่ใช่เอาแต่เก็บภาษีอย่างเดียว อยากได้ภาษีเขาก็ต้องลงมาเป็นหุ้นส่วนกับเขา แผนลอจิสติกส์ของจังหวัดในภาพใหญ่จึงควรจะออกมาในลักษณะนี้

           ส่วนแผนลอจิสติกส์ของธุรกิจทั่วไปก็อาจจะมองได้ง่ายกว่าภาครัฐ เพราะเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชัดเจน เห็นกระบวนการผลิตชัดเจน เห็นการไหลของวัตถุดิบได้ชัดเจนเช่นกัน มีขอบข่ายที่เล็กกว่าระดับจังหวัดมาก มีแผนธุรกิจที่เขียนกันขึ้นแบบเก่า ๆ นำเอามาปรับมุมมองและเชื่อมต่อความคิดระหว่างแผนย่อยก็สามารถกลายเป็นแผนลอจิสติกส์ได้ เพียงแต่ปรับมุมมองของแผนที่ต้องบูรณาการทุกส่วนเข้าด้วยกันให้มากขึ้น ไม่ว่าแผนลอจิสติกส์จะอยู่ในวงการใดก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันเสมอ ซึ่งก็คือ การจัดการไหลของทรัพยากรทุกอย่างในองค์กร ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มทรัพยากรที่มีส่วนในการสร้างสรรค์คุณค่า และกลุ่มทรัพยากรที่มีส่วนในการสนับสนุนการสร้างสรรค์คุณค่า

ผมคิดตามแบบจำลองโซ่คุณค่า (Value Chain) ของ ไมเคิล พอร์เตอร์เลยก็ว่าได้ แต่คำนิยามของ Value ของผมนั้นไม่เหมือนของ ไมเคิล พอร์เตอร์ ที่มองเป็นมูลค่า แต่ผมมองเป็นคุณค่าหรือการนำไปใช้งานมากกว่า ผมเชื่อว่าในภาครัฐนั้นมีการนำเอาคำเหล่านี้ที่ท่านนายกพูดให้ฟังมาแปรรูปเป็นนโยบายไปปฏิบัติในหลายหน่วยงาน แต่ผมไม่ทราบว่าหน่วยงานเหล่านั้นจะสามารถบูรณาการหรือบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ของแนวคิดต่าง ๆ ลงไปในกระบวนการสร้างคุณค่าหรือโซ่คุณค่า (Value Chain) ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ 

คิดถึงลอจิสติกส์ ให้ถึงการไหล
           แผนลอจิสติกส์ของประเทศไทยเองก็คล้ายกับแผนลอจิสติกส์ของประเทศอื่น ๆ ที่เน้นไปในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งโดยประเทศไทยนั้นมีกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพ ถ้ามองกันแค่นี้ก็คงจะใช้ได้ แต่จะเป็นมาตรฐานไหน แต่ไม่ใช่มาตรฐานของผมเป็นแน่ ผมว่าคนเขียนแผนลอจิสติกส์ของประเทศไม่ได้แตะลึกลงไปถึงรากหญ้าอย่างที่รัฐบาลได้วาดฝัน ทำได้แค่แผนลอจิสติกส์ของการขนส่งในระดับประเทศเท่านั้น แต่ไม่ได้เชื่อมโยงหรือต่อยอดนโยบายให้ถึงการปฏิบัติที่ตอบสนองความต้องการประชาชนที่เป็นลูกค้าตัวจริงได้อย่างแท้จริง ถ้าไม่เช่นนั้นทุกหน่วยงานต่าง ๆ น่าจะเขียนแผนลอจิสติกส์ที่ควรจะออกมาในแนวเดียวกันโดยมีความเข้าใจพื้นฐานที่เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงก็ต่างคนต่างเขียนกันอยู่ดี

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเข้าเหมือนกันหรือลึกซึ้งขนาดไหนในหลาย ๆ โอกาสเพื่อนอาจารย์นักวิจัยของผมกล่าว เราไม่ควรจะมาพูดถึงว่า อะไรคือลอจิสติกส์กันแล้ว เราน่าจะพูดถึงการพัฒนาหรือปรับปรุงกันเลย ด้วยความเคารพต่ออาจารย์ท่านนั้นเลยว่า ที่แผนและนโยบายต่าง ๆ (มันมั่ว) หรือมีความสับสนกันก็เพราะพวกเรากันเองเข้าใจไม่ตรงกัน เข้าใจมันไม่หมดว่าอะไรคือ ลอจิสติกส์ ผมเองทุกวันยังยืนยันในการสร้างพื้นฐานความคิดให้ตรงกันให้มากที่สุดแล้วพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน จะดีกว่าให้มีใครบางส่วนที่เข้าใจ ส่วนอีกกลุ่มก็ยังไม่เข้า ลักษณะนี้เป็นการบั่นทอนการพัฒนาอย่างยิ่ง

           ถ้าถามผมแล้วว่า อะไรที่เราควรจะคิดถึง เมื่อพูดถึงลอจิสติกส์ ผมก็จะตอบว่า ให้คิดถึง การไหลของทรัพยากรที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ถ้าเป็นแผนลอจิสติกส์ของประเทศไทย ก็ต้องคำนึงการไหลของทรัพยากรของประเทศไทยที่ตอบสนองความต้องของลูกค้า คำถามต่อไป คือ แล้วใครเป็นลูกค้าของประเทศไทยล่ะ แผนลอจิสติกส์ของประเทศไทยที่เขียนออกมานั้นก็คำนึงถึงการไหลเช่นกัน แต่เป็นการไหลในระดับมหภาค คือ มองในระดับประเทศเป็นหลัก แผนลอจิสติกส์จึงกลายเป็นแผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งเสียส่วนใหญ่   แต่จะต้องไม่ลืมว่า ถ้าไม่ปลูกเกษตรกรรม ถ้าไม่ขุดแร่ ถ้าไม่ผลิตหรือแปรรูป ก็คงไม่สินค้าให้นำส่งถึงลูกค้าแน่นอน 

การที่มีแนวคิดเชิงลอจิสติกส์นั้นจะต้องมีมุมมองเชิงบูรณาการทรัพยากรต่างในวิสาหกิจตลอดช่วงวัฏจักรของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เพราะคิดอย่างลอจิสติกส์นั้นต้องแตกต่างจากแนวคิดในอดีตที่อยู่บนพื้นฐานของการควบคุมทรัพยากรต่าง ๆ แต่ปัจจุบันนอกจากการควบคุมที่เป็นพื้นฐานแล้วยังต้องการจัดการการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งกลายเป็นประเด็นเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญมากในปัจจุบัน

           การจัดการลอจิสติกส์จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องสอดประสานกับภาวะผู้นำขององค์กร ทรัพยากรบุคคล กระบวนการธุรกิจและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการไหลของสินค้าและวัตถุดิบ การมองแค่โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและบุคลากรคงจะไม่ช่วยให้ธุรกิจหรือการดำเนินงานประสบผลสำเร็จได้ การจัดการความสัมพันธ์ของทรัพยากรทั้งหมดขององค์กรหรือในอีกมุมหนึ่งก็คือ แผนลอจิสติกส์ก็จะต้องถูกเขียนขึ้นมาจากแผนผังกระบวนการธุรกิจนั่นเอง

แต่เมื่อมามองแผนใหญ่ ๆ ในระดับชาติแล้ว มีข้อน่าเป็นห่วงว่า ผมเองยังมองไม่เห็นแผนธุรกิจของชาติเลย หรือจะเหมาเอาโครงสินค้าหลักที่ไมเคิล พอร์เตอร์มาเขียนให้ไว้ แต่ดูแล้วก็ยังไม่เห็นมีอะไรให้เป็นรูปธรรมเลยในมุมมองของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมหมายถึงรูปธรรมของแนวคิดที่จะเอาไปดำเนินงาน ผมว่าแนวคิดยังไม่นิ่งเลย แต่ก็ต้องมีแผนลอจิสติกส์ออกมาก่อนแล้ว นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่แผนลอจิสติกส์ของประเทศดูแล้วไม่ค่อยจะสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ของกระบวนการธุรกิจของชาติเท่าไรนัก นอกจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้ แต่ตอบได้หรือไม่ว่าจะพอเพียงหรือเกินความต้องการหรือไม่

           จุดที่สำคัญของแผนลอจิสติกส์อาจจะไม่ได้กำหนดลงลึกไปถึงในรายละเอียดในระดับจุลภาค แต่ก็ต้องมีจุดเชื่อมต่อถึงการไหลของจุลภาคทั้งในมุมของการไหลของทรัพยากรในการผลิตและบริการและตัวบุคคลหรือลูกค้าตัวจริงของประเทศไทยเลย จากหน่วยงานสูงสุดจนถึงล่างสุดที่บุคคลธรรมดาจะได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิตประจำวัน  ถ้าแผนนั้นไม่สามารถให้รายละเอียดหรือแสดงให้เห็นเส้นทางของความสัมพันธ์ได้ก็คงจะขาดความสมบูรณ์และทำให้แผนนั้นขาดประสิทธิภาพไป

สร้างกลไกตัวแปรในการปรับเปลี่ยน   
           ที่สุดของการจัดการ คือ การตัดสินใจเพื่อให้เกิดการตอบสนองที่สร้างประโยชน์ต่อตนเองหรือองค์กร ในเมื่อโจทย์ธุรกิจในยุคปัจจุบันกลายเป็นเรื่องความเป็นพลวัตรของธุรกิจ สมรรถนะของการตัดสินก็ต้องแปรเปลี่ยนไปตามภาวะแวดล้อม การเขียนแผนธุรกิจต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่การอธิบายเรื่องราวในอดีตถึงปัจจุบัน แต่ในทางตรงกันข้ามแผนธุรกิจที่เขียนไม่ว่าในมุมมองใด ๆ ก็ตามจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลและนำเสนอแนวทางเลือกในอนาคตไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้วย แผนต่าง ๆ จึงต้องเสนอตัวแปรไว้เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและความคล่องตัว

แต่ถ้าแผนไม่สามารถมีรายละเอียดดังกล่าวได้แล้วก็เหมือนกับสร้างกรอบทางเลือกแคบ ๆ ให้กับการเดินขององค์กรตัวเอง เพราะไม่มีแผนงานใดในโลกที่ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่ถ้าไม่วางแผนเอาเสียเลยก็ไม่ได้เพราะเราจะไม่มีวันถึงที่หมายได้ตามที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะควบคุมแผนงานต่าง ๆ ไม่ได้เลย แต่การควบคุมและการปรับเปลี่ยนก็ต้องใช้ข้อมูลความสัมพันธ์ของทรัพยากรที่เราสนใจ

           สำหรับลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นเป้าหมายที่สำคัญ คือ มุ่งสร้างสรรค์คุณค่าให้กับลูกค้า ความสัมพันธ์ของทรัพยากรต่าง ๆ มีอะไรบ้าง การไหลของสินค้าและวัตถุดิบต้องการทรัพยากรอะไรบ้างและมีผลกระทบกับทรัพยากรและสมรรถนะโดยรวมขององค์กรอย่างไรบ้าง การตัดสินในกลไกหรือตัวแปรเหล่านี้ก็เพื่อให้เกิดจุดที่เหมาะสมหรือคุ้มค่าที่สุด

สร้างแผนการประเมินผลลัพธ์ (Outcome)
           แผนงานทุกแผนสามารถบรรลุผลสำเร็จของการดำเนินงานได้ คือ มีปัจจัยขาออก (Output) ได้ หมายความว่า ตั้งใจไว้จะทำอะไรก็ได้ทำออกมาตามแผน นั่นไม่ใช่ประสิทธิผลของแผน แต่เป็นแค่ประสิทธิผลของการดำเนินการตามแผนงาน ผลลัพธ์ (Outcome) ของแผนจะต้องวัดผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในแผนงาน แผนงานบางส่วนเป็นแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic) ต้องการการวัดประเมินในระยะยาว บางส่วนของแผนอาจจะเป็นแผนในระยะสั้นสามารถวัดผลได้บ่อย ๆ ครั้ง บ่อยครั้งแผนงานที่เขียนกันบอกแต่เฉพาะงานที่จะต้องทำ แต่ขาดส่วนสำคัญ คือ การวัดประเมินผลลัพธ์ของการดำเนินงาน

           แผนงานของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีกิจกรรมมากมายทั้งกิจกรรมขาเข้าจนถึงกิจกรรมขาออก แต่ละกิจกรรมก็มีลักษณะการดำเนินงานที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของกระบวนการธุรกิจล้วนมีผลต่อสมรรถนะขององค์กรในมุมกว้าง ดังนั้นการประเมินผลลัพธ์ของแผนจะต้องอยู่บนการวัดสมรรถนะที่เป็นมาตรฐานที่สามารถสื่อสารได้กันทั้งองค์กรหรือในชุมชนธุรกิจ การสร้างระบบและมาตรฐานของการเก็บข้อมูลการวัดอย่างต่อเนื่อง การกำหนดมาตรวัดเหล่านั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่สามารถประเมินได้จริงและมีความถูกต้องของข้อมูล เพราะผลของการประเมินสมรรถนะสามารถที่จะชี้ให้ถึงผลสำเร็จหรือความล้มเหลวของการดำเนินแผนงานได้

แผนงานนั้น สะท้อนฝันของผู้นำหรือไม่
           การเขียนแผนธุรกิจหรือแผนอะไรก็ตามไม่ยากสับสนหรือวุ่นวายอย่างที่คิด แต่ถ้ามีความเข้าใจในกระบวนการและจุดประสงค์ของแผนงานก็จะทำให้งานเขียนแผนนั้นง่ายขึ้น ข้อสังเกตหนึ่ง คือ แผนงานในระดับใหญ่ของประเทศ หรือองค์กรใหญ่ ผู้นำประเทศหรือองค์กรใหญ่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของผู้นำในการพาองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะแผนธุรกิจหรือแผนลอจิสติกส์นั้นคือ ภาพสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรนั้น ถึงแม้ว่าผู้นำนั้นจะไม่ได้เป็นคนที่เขียนแผนนั้นก็ตาม แต่จะต้องถ่ายทอดฝันของตนเองที่มีต่อองค์กรให้ทุกคนที่ร่วมเขียนแผนนั้นได้รับรู้ได้ และแปรออกมาเป็นแผนที่ใช้สื่อสารกันทั่วทั้งองค์หรือทั่วประเทศ

วันนี้แผนธุรกิจหรือแผนลอจิสติกส์ของท่านสะท้อนฝันของผู้นำของท่านหรือไม่!

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด