เนื้อหาวันที่ : 2007-04-02 15:13:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 14063 views

การตรวจสอบอุปกรณ์ดักไอน้ำ

สตีมแทร็ปรั่ว หรือ Fail Open ไอน้ำจะรั่วไหล และถ้าโรงงานที่ไม่มีการนำคอนเดนเสทกลับมาใช้ สตีมแทร็ปรั่วทำให้สิ้นเปลืองน้ำด้วย ส่วนสตีมแทร็ปตัน หรือ Fail Closed ไม่มีผลต่อการสิ้นเปลืองพลังงานหรือน้ำ แต่มีผลต่อการลดความสามารถการให้ความร้อนของระบบลดลงและทำให้อุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ไอน้ำเสียหาย

อุปกรณ์ดักไอน้ำ หรือนิยมเรียกทับศัพท์ว่า สตีมแทร็ป (Steam Trap) คือ วาล์วอัตโนมัติที่ใช้สำหรับดักคอนเดนเสท อากาศ และก๊าซไม่ควบแน่น เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ออกจากระบบไอน้ำ เพื่อให้ไอน้ำเป็นไอน้ำแห้ง เพราะถ้ามีคอนเอนเสทปนทำให้ประสิทธิภาพการใช้ไอน้ำลดลง หากมีอากาศภายในท่อหลังจากเดินเครื่องจะทำให้ ความดันและอุณหภูมิไอน้ำลดลง เป็นผลทำให้ประสิทธิภาพการถ่ายเทความร้อนลดลง และหากมีออกซิเจน และ คาร์บอนไดออกไซด์อยู่ก็จะทำให้เกิดการผุกร่อน ดังนั้นการตรวจสอบว่าสตีมแทร็ป ใช้งานได้หรือไม่จึงมีความสำคัญไม่ควรมองข้าม การตรวจสอบสตีมแทร็ป เพื่อ

.

1.ต้องการทราบว่า สตีมแทร็ปเสียหรือไม่

2.และ ถ้าเสีย สตีมแทร็ปรั่วหรือตัน

..

.

สตีมแทร็ปรั่ว หรือ Fail Open ไอน้ำจะรั่วไหล และถ้าโรงงานที่ไม่มีการนำคอนเดนเสทกลับมาใช้ สตีมแทร็ปรั่วทำให้สิ้นเปลืองน้ำด้วย ส่วนสตีมแทร็ปตัน หรือ Fail Closed ไม่มีผลต่อการสิ้นเปลืองพลังงานหรือน้ำ แต่มีผลต่อการลดความสามารถการให้ความร้อนของระบบลดลงและทำให้อุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ไอน้ำเสียหาย

.

วิธีการตรวจสอบ

การตรวจสอบสตีมแทร็ป มี 3 วิธีหลักได้แก่ วิธี ดู (Sight) ฟัง (Sound) และสัมผัส (Temperature)

วิธีก ารตรวจสอบโดยการดู วิธีนี้จะสังเกตลักษณะของไอน้ำหลังจากผ่านสตีมแทร็ป ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับระบบที่ไม่มีการนำคอนเดนเสตกลับไปใช้เพราะจะได้ดูที่ปลายเปิดของท่อวิธีนี้ผู้ตรวจสอบควรสามารถแยกแยะลักษณะความแตกต่าง (โดยการดู) ระหว่างแฟลชสตีมและไอน้ำ ถ้าของไหลที่ปล่อยเป็นแฟลชสตีมแสดงว่าสตีมแทร็ปปกติ แต่ถ้าเป็นไอน้ำแสดงว่าสตีมแทร็ปรั่ว ลักษณะของแฟลชสตีมจะเป็นควันขาว ๆ ไม่พวยพุ่ง รุนแรง ในขณะที่ไอน้ำจะพวยพุ่ง รุนแรง ดังรูปที่ 1 และถ้าไม่มีของไหลออกมาแสดงว่าสตีมแทร็ปตันระบายทิ้งหลังจากผ่านสตีมแทร็ป หรือถ้าเป็นระบบที่มีคอนเดนเสตกลับ ต้องมีการติดตั้งวาล์วทดสอบ (Test Valve) เพื่อสามารถตรวจสอบโดยการดู เมื่อเปิดวาล์ว

.

.

วิธีตรวจสอบโดยการฟัง กลไกทางกลภายในสตีมแทร็ปและไอน้ำและคอนเดนเสตที่ไหลผ่านสตีมแทร็ป ทำให้เกิดเสียงทั้งที่หูคนเราสามารถฟังได้ชัดเจน (100Hz-3 kHz หรือ Sonic) และเสียงที่ความถี่สูง (20-200 kHz หรือ Supersonic) ในทางปฏิบัตินิยมใช้เครื่องมือช่วยฟังเสียงอัลตราโซนิกดังรูปที่ 2 เครื่องมือช่วยฟังนี้จะเปรียบเทียบเสียงที่วัดได้กับระดับเสียงที่เหมาะสมกรณีที่สตีมแทร็ปทำงานปกติ ในอดีตผู้ตรวจสอบต้องมีประสบการณ์ในการประเมินความแตกต่างของเสียง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เครื่องมือตรวจวัดรุ่นใหม่ ๆ สามารถประมวลผลระดับเสียงที่ตรวจวัดได้กับระดับเสียงที่เหมาะสมด้วยไมโครโปรเซสเซอร์ เครื่องมือตรวจวัดจะบอกผลว่ารั่ว หรือตัน หรือปกติ ทางหน้าจอ

.

.

วิธีตรวจสอบโดยการตรวจวัดอุณหภูมิ การวัดอุณหภูมิผิวท่อด้านเข้าและออกจากสตีมแทร็ปก็เป็นวิธีตรวจสอบวิธีหนึ่ง กล่าวคืออุณหภูมิควรลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าสตีมแทร็ปยังทำงานปกติ แต่ถ้าอุณหภูมิยังคงที่แสดงว่าสตีมแทร็ปรั่ว แต่วิธีนี้มีความถูกต้องน้อยกว่า 2 วิธีแรก เพราะไอน้ำและคอนเดนเสทอาจจะมีอุณหภูมิใกล้เคียงกัน ทำให้ยากที่จะแยกแยะความแตกต่าง ดังนั้นจึงควรใช้ร่วมกับวิธีที่ 1 หรือ 2 เครื่องมือที่เหมาะสมควรจะเป็นชนิดอินฟราเรดเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงที่จุดตรวจวัด เพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการใช้งาน ดังรูปที่ 3

.

.

การประเมินผล

สิ่งที่ต้องทราบเพื่อใช้ในการประเมินผลคือ

1. ขนาดออริฟิสของสตีมแทร็ป แต่ในหน้างานเราจะหาข้อมูลได้ค่อนข้างยาก เราจึงนิยมประมาณขนาดออริฟิสจากขนาดท่อที่สตีมแทร็ปติดตั้งดังต่อไปนี้

               0.5 นิ้ว/15 มม. แทร็ป             = ออริฟิสขนาด 3 มม.

               0.75 นิ้ว/20 มม. แทร็ป         = ออริฟิสขนาด 5 มม.

               1 นิ้ว/25 มม. แทร็ป                 = ออริฟิสขนาด 7.5 มม.

               1.5 นิ้ว/40 มม. แทร็ป            = ออริฟิสขนาด 10 มม

                2 นิ้ว/50 มม. แทร็ป                 = ออริฟิสขนาด 12.5 มม.

2. ความดันไอน้ำ เราต้องบันทึกความดันไอน้ำที่แต่ละสตีมแทร็ปขณะที่ตรวจสอบ

3. ประเมินพลังงานสูญเสีย (กรณีรั่ว) ทางอุดมคติ

            Q = 0.4 d2 (P+1.013)

โดย Q คือ ไอน้ำสูญเสีย (กิโลกรัม/ชั่วโมง)

          d คือ ขนาดรูรั่ว (มม

          P คือ ความดันเกจไอน้ำ (บาร์)

เช่น กรณีท่อ 0.5 นิ้ว จะมีขนาดออริฟิส 3 มม. ที่ความดันไอน้ำ 6 บาร์ จากสมการข้างต้นสามารถคำนวณไอน้ำสูญเสียได้ 25 กิโลกรัม/ชั่วโมง

4. ในความเป็นจริงจะมีคอนเดนเสทผสมอยู่กับไอน้ำด้วย และคงจะไม่รั่ว 100% ดังนั้นลดไอน้ำสูญเสียลง 50% จากข้อ 3 จะได้ไอน้ำสูญเสีย 12.5 กิโลกรัม/ชั่วโมง

5.  และในกรณีที่มีระบบนำคอนเดนเสตกลับไปใช้ ไอน้ำจะมีการควบแน่นก่อนที่จะระบายสู่บรรยากาศที่ถังเก็บคอนเดนเสท ไอน้ำสูญเสียในข้อ 4 จะลดลงอีก 50% ดังนั้นไอน้ำสูญเสียจริง = 6.25 กิโลกรัม/ชั่วโมง  ซึ่งสามารถคำนวณหาเชื้อเพลิงที่สูญเสีย (น้ำมันเตาความร้อน42.72เมกะจูล/ลิตร หม้อไอน้ำประสิทธิภาพ 80.5%ที่ 6 บาร์ น้ำป้อน 90C  24 ชั่วโมง 365วัน)

เชื้อเพลิงสูญเสีย   = 6.25 x (2773-300)/(0.805x 42,720) = 0.5 ลิตร/ชั่วโมง

คิดเป็นค่าเชื้อเพลิงสูญเสีย  0.5 x 24 x 365 x 10บาท/ลิตร = 43,800 บาท/ปี

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด