เนื้อหาวันที่ : 2011-07-20 15:36:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4928 views

การวิเคราะห์ผลต่างต้นทุน (ตอนจบ)

ค่าผลต่างแรงงานทางตรงเป็นส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินค่าแรงงานทางตรงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับจำนวนเงินค่าแรงงานทางตรงที่จ่ายจริง

ผศ. วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ค่าผลต่างแรงงานทางตรง
          ค่าผลต่างแรงงานทางตรงเป็นส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินค่าแรงงานทางตรงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับจำนวนเงินค่าแรงงานทางตรงที่จ่ายจริง แสดงการคำนวณค่าผลต่างรวมแรงงานทางตรงได้ดังนี้

          ค่าผลต่างแรงงานทางตรงที่ไม่น่าพึงพอใจข้างต้นอาจเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองประการดังนี้
          - ชั่วโมงการทำงานจริงแตกต่างไปจากชั่วโมงการทำงานที่คาดการณ์ตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน
          - อัตราค่าจ้างแรงงานที่จ่ายจริงมีความแตกต่างไปจากอัตราค่าจ้างแรงงานที่คาดการณ์ว่าจะจ่ายได้ตามแผนงบประมาณ
          ผลต่างประสิทธิภาพแรงงานทางตรง
          = (SQ - AQ) x SR
          = (3,600 - 3,644) x 7.30
          = 321.20 บาท ไม่น่าพึงพอใจ ต้นทุนจริงสูงกว่าที่คาดการณ์ว่าควรจะจ่ายได้
          ผลต่างอัตราแรงงานทางตรง
          = (SR - AR) x AQ
          = (7.30 - 7.25) x 3,644
          = 182.20 บาท น่าพึงพอใจ ต้นทุนจ่ายจริงต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าควรจะจ่าย

          ค่าผลต่างของอัตราแรงงานทางตรงที่ประหยัดได้มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลต่างที่เกิดขึ้นจากชั่วโมงการทำงานที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าที่คาดการณ์ ผลต่างที่เกิดขึ้นทั้งสองรายการมีความเป็นไปได้ที่จะมีความเกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ การจ้างแรงงานในอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าแต่อาจจะทำให้ต้องใช้ชั่วโมงการทำงานที่นานกว่าเพื่อให้ได้ผลผลิตในจำนวนที่ต้องการ หรือผลต่างทั้งสองรายการอาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยสิ้นเชิงก็เป็นไปได้เช่นกัน เช่น ในบางท้องถิ่นอาจมีอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในจำนวนที่ต่ำกว่าที่กิจการได้กำหนดไว้เป็นอัตรามาตรฐาน

ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้จะต้องทำการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานของกิจการในอนาคตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอัตราค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ต่อไป และถ้ามีเหตุผลของผลต่างที่ไม่น่าพึงพอใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพแรงงานเนื่องจากสาเหตุในกรณีหลังนี้ ผู้จัดการแผนกผลิตจะต้องทำการตรวจสอบหาสาเหตุของการใช้ชั่วโมงการทำงานจริงสูงกว่าที่สามารถยอมให้ใช้ได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ถ้ามีความจำเป็นต้องแก้ไขจะได้หาแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้นต่อไป

ค่าผลต่างค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปร
          ผลต่างรวมของค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปรเป็นส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปรที่คาดการณ์กับค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปรจริง

          ค่าผลต่างรวมของค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปรที่ไม่น่าพึงพอใจข้างต้นอาจเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองประการดังนี้
          - ความแตกต่างระหว่างชั่วโมงเครื่องจักรจริงกับชั่วโมงเครื่องจักรที่คาดการณ์ตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน
          - ความแตกต่างระหว่างการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงเครื่องจักรจริงกับการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงเครื่องจักรที่คาดการณ์ไว้
          ผลต่างประสิทธิภาพค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปร
          = (SQ - AQ) x SR
          = (2,400 - 2,450) x 5.00
          = 250 บาท ไม่น่าพึงพอใจ ต้นทุนจริงสูงกว่าที่คาดการณ์ว่าควรจะจ่ายได้
          ผลต่างการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปร
          = (SR - AR) x AQ
          = (5.00 - 5.10) x 2,450
          = 245 บาท ไม่น่าพึงพอใจ ต้นทุนจ่ายจริงสูงกว่าที่คาดการณ์ว่าควรจะจ่าย

          ผลต่างค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปรที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้ชั่วโมงเครื่องจักรในการทำงานจริงสูงกว่าที่คาดการณ์ว่าควรจะใช้ตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน และต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการทำงานของชั่วโมงเครื่องจักร เช่น ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าวัสดุสิ้นเปลือง จึงมีจำนวนที่สูงเกินกว่าที่คาดการณ์ว่าควรจะเกิดขึ้นด้วย ผู้จัดการแผนกงานจะต้องตรวจสอบหาสาเหตุว่าทำไมจึงมีการใช้ชั่วโมงเครื่องเกินกว่าจำนวนที่คาดว่าควรจะใช้ ผลต่างการจ่ายเงินของค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปรเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารายการค่าใช้จ่ายผันแปรที่เกิดขึ้นจริงมีจำนวนสูงเกินกว่าค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปรที่คาดว่าควรจะเกิดขึ้น

ค่าผลต่างค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่
          ผลต่างรวมของค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่เป็นส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่ที่อัตรามาตรฐาน (ถ้าสมมติว่าค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่ต่อหน่วยยังคงมีจำนวนเท่าเดิม) กับค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่ที่เกิดขึ้นจริง

          ค่าผลต่างรวมของค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่น่าพึงพอใจที่มีจำนวนมากถึง 7,000 บาท ข้างต้นนั้น จะเห็นว่าได้ทำการคำนวณหาค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่ที่อัตรามาตรฐานในลักษณะที่ว่าถ้าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นต้นทุนผันแปร อย่างไรก็ตามลักษณะโดยธรรมชาติของพฤติกรรมต้นทุนคงที่นั้นไม่เหมือนกับต้นทุนผันแปร ดังนั้นการคำนวณค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่เช่นเดียวกันกับการคำนวณค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปรจึงต้องขยายองค์ประกอบย่อยของผลต่างเพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ที่แท้จริงของการเกิดผลต่างรวมในลักษณะดังกล่าว ผลต่างรวมของค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่อาจเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองประการดังนี้

          - ความแตกต่างระหว่างจำนวนหน่วยผลิตที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นกับจำนวนหน่วยผลิตตามแผนงบประมาณหลัก
          - ความแตกต่างระหว่างการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่จริงกับแผนงบประมาณหลักของการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่
          ผลต่างค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่เนื่องจากปริมาณ
          = (AQ - BQ) x SR
          = (1,200 - 1,000) x 40.00
          = 8,000 บาท น่าพึงพอใจ ต้นทุนที่คิดเข้างานสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามแผนงบประมาณ
          ผลต่างการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่
          = (BC - AC)
          = (40,000 - 41,000)
          = 10,000 บาท ไม่น่าพึงพอใจ ต้นทุนจ่ายจริงสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามแผนงบประมาณ

          ผลต่างค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่เนื่องจากปริมาณเป็นผลต่างที่น่าพึงพอใจของผู้บริหารที่รับผิดชอบในการควบคุมการทำงาน เนื่องจากผลต่างดังกล่าวบอกให้ทราบว่าหน่วยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกระบวนการผลิตจริงมีจำนวนสูงกว่าที่คาดการณ์จากการจัดทำงบประมาณหลัก ค่าใช้จ่ายในโรงงานคงที่ถูกโอนเข้างานในจำนวนที่สูงกว่าเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ได้มีจำนวนสูงกว่าปริมาณผลผลิตที่ควรจะเกิดขึ้นถ้างบประมาณค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่ที่ อัตรามาตรฐานเท่ากับ 40 บาทต่อหน่วย

          ผลต่างการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายโรงงานคงที่เป็นผลต่างที่ไม่น่าพึงพอใจ ผู้บริหารต้องทำการตรวจสอบหาสาเหตุว่าทำไมต้นทุนที่จ่ายจริงจึงมีจำนวนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อครั้งจัดทำงบประมาณหลัก

          จากการคำนวณค่าผลต่างองค์ประกอบของต้นทุนการผลิตทั้ง 4 กลุ่มหลักข้างต้นแล้วนั้น สามารถนำมาสรุปเป็นรายงานผลต่างโดยรวมได้ดังนี้

ผลต่างกำไรเนื่องจากการขาย
          นอกจากจะนำข้อมูลต้นทุนมาตรฐานมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ผลต่างต้นทุนข้างต้นแล้ว ข้อมูลต้นทุนมาตรฐานสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการประมาณการกำไรอันเนื่องจากผลต่างการขายได้ด้วย โดยการเปรียบเทียบผลคูณของส่วนต่างระหว่างราคาขายตามมาตรฐานกับต้นทุนมาตรฐานกับปริมาณการขายตามแผนงบประมาณกับผลคูณของส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนมาตรฐานกับปริมาณการขายจริง ข้อมูลเพิ่มเติม
          1. ราคาขายตามแผนงบประมาณหลักเท่ากับ 200 บาทต่อหน่วย
          2. ปริมาณการขายตามแผนงบประมาณเท่ากับ 1,000 หน่วย
          3. ราคาขายจริงเท่ากับ 190 บาทต่อหน่วย
          4. ปริมาณการขายจริงเท่ากับ 1,200 หน่วย

          ค่าผลต่างเนื่องจากปริมาณการขายเป็นจำนวนเงินส่วนที่เกินกว่าต้นทุนมาตรฐานการผลิตที่จะทำให้มีกำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้นจากปริมาณการขายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากแผนงบประมาณหลัก ต้นทุนมาตรฐานการผลิตต่อหน่วยจะถูกนำมาใช้เพื่อการประเมินค่าหาผลต่างต้นทุนเสมอ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของต้นทุนการผลิตนั้นจะถูกสมมติให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้จัดการฝ่ายผลิต

          ค่าผลต่างเนื่องจากการขายที่น่าพอใจข้างต้นนั้น อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุ 2 ประการดังนี้
          - ความแตกต่างระหว่างปริมาณการขายจริงกับปริมาณการขายตามแผนงบประมาณ
          - ราคาขายต่อหน่วย
          ผลต่างกำไรเนื่องจากปริมาณการขาย
          = (AQ - BQ) x BGM
          = (1,200 - 1,000) x (200-103.90)
          = 19,220 บาท น่าพึงพอใจ ปริมาณการขายจริงสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามแผนงบประมาณ
          ผลต่างกำไรเนื่องจากราคาขาย
          = (BP - AP) x AQ
          = (200 - 190) x 1,200
          = 12,000 บาท ไม่น่าพึงพอใจ ราคาขายจริงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามแผนงบประมาณ

          ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าราคาขายจริงมีมูลค่าต่ำกว่าแผนงบประมาณ ในขณะที่ปริมาณการขายจริงสูงกว่าแผนงบประมาณ ดังนั้นผลต่างกำไรที่น่าพอใจจึงเป็นผลมาจากผลต่างกำไรเนื่องจากปริมาณการขายที่มีจำนวนสูงเพียงพอที่จะชดเชยผลต่างกำไรเนื่องจากราคาขาย

          จากการวิเคราะห์ค่าผลต่างในลักษณะต่าง ๆ ข้างต้นนั้นสามารถนำมาจัดทำรายงานแสดงการปรับกระทบยอดค่ากำไรโดยประมาณเป็นกำไรที่เกิดขึ้นจริงที่เกิดขึ้นได้ดังนี้

เมื่อไหร่ต้องตรวจสอบค่าผลต่าง
          บ่อยครั้งที่ผู้บริหารพบค่าผลต่างมากมายในรายงานที่นักบัญชีบริหารนำเสนอ แต่เวลาที่มีอย่างจำกัดกับหน้าที่งานหลายอย่างที่ต้องดำเนินการ ผู้บริหารจึงไม่สามารถจะทำการตรวจสอบหาสาเหตุของการเกิดผลต่างได้ครบทุกรายการ วิธีการหนึ่งที่ผู้บริหารมักจะนำมาใช้เพื่อการกำหนดว่าเมื่อใดที่ผู้บริหารไม่สามารถรอช้าได้อีกต่อไปในการตรวจสอบค่าผลต่างรายการใดนั้น คือ กำหนดค่าเป้าหมายเปอร์เซ็นต์ว่าต้องไม่เกินจำนวนเท่าใดเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนมาตรฐาน เช่น ไม่เกิน 5% ดังนั้นถ้าผลต่างรายการใดมีจำนวน 5% ต้องให้ความสนใจในการสาเหตุที่ทำให้เกิดผลต่างจำนวนนั้นอย่างเร่งด่วนไม่ว่าผลต่างนั้นจะเป็นผลต่างที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด