เนื้อหาวันที่ : 2011-07-20 09:23:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5166 views

การวางแผนเชิงกลยุทธ์ ความสำเร็จที่ได้ มาจากการวางแผนที่ดี

ขณะที่องค์กรส่วนใหญ่ จะมีความเชี่ยวชาญในการวางแผนเชิงกลยุทธ์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความท้าทายที่สำคัญยังคงเป็นเรื่องการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่องค์กรจะต้องมีความคล่องตัว

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com


          คำว่า “กลยุทธ์” หากจะอธิบายความหมายอย่างกว้าง ๆ จะได้ว่า เป็นผลที่ได้มาจากหรือนำไปสู่สิ่งต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ใหม่ การกำหนดกลุ่มลูกค้าหรือส่วนตลาดที่สำคัญใหม่ ความสามารถพิเศษใหม่ รายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมถึงการครอบครองกิจการ การให้เงินอุดหนุนและเงินบริจาค การขายธุรกิจ การสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการและการหาพันธมิตรใหม่ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับพนักงาน

          นอกจากนั้น กลยุทธ์ขององค์กร ยังอาจรวมไปถึงการเป็นผู้ส่งมอบที่เป็นที่ต้องการของลูกค้า การเป็นผู้ส่งมอบในตลาดของลูกค้าหลัก หรือของคู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการ การเป็นผู้ผลิตต้นทุนต่ำ การเป็นผู้สร้างนวัตกรรม หรือการเป็นผู้ผลิตหรือบริการแก่ลูกค้าระดับบนหรือตามความต้องการของลูกค้าเฉพาะราย รวมถึงการมุ่งตอบสนองความต้องการของชุมชนหรือสาธารณะ

          ในขณะที่องค์กรส่วนใหญ่ จะมีความเชี่ยวชาญในการวางแผนเชิงกลยุทธ์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความท้าทายที่สำคัญยังคงเป็นเรื่องการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่องค์กรจะต้องมีความคล่องตัว พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และไม่ได้คาดหมายไว้ เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ดังนั้น ในหมวดการวางแผนเชิงกลยุทธ์ตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) นี้จะอธิบายถึงประเด็นที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย
          • การวางแผนเชิงกลยุทธ์และการวางแผนปฏิบัติการ
          • การถ่ายทอดเพื่อนำแผนไปปฏิบัติ
          • วิธีการทำให้มั่นใจว่ามีทรัพยากรเพียงพอที่จะบรรลุผลสำเร็จตามแผน
          • วิธีการปรับเปลี่ยนแผนเมื่อสถานการณ์บังคับ และ
          • วิธีการวัดความสำเร็จและรักษาความยั่งยืน

          นอกจากนั้น การวางแผนเชิงกลยุทธ์นี้ ยังมุ่งเน้นถึงการสร้างความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาวด้วย โดยจะต้องมีการพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมด้านการแข่งขันขององค์กร ซึ่งประเด็นด้านกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะต้องอยู่ในการวางแผนภาพรวมขององค์กรเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ องค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นเลิศขององค์กร ที่จะเป็นส่วนสำคัญสำหรับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ขององค์กร จะประกอบด้วย

          1. ความเป็นเลิศที่มุ่งเน้นลูกค้า โดยจะเป็นมุมมองความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ ที่มุ่งเน้นไปยังตัวขับเคลื่อนที่มีผลต่อความผูกพันของลูกค้า ตลาดใหม่ และส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสามารถในการแข่งขัน การสร้างผลกำไร และความยั่งยืนขององค์กร

          2. การปรับปรุงผลการดำเนินการและนวัตกรรม โดยจะมีส่วนช่วยเพิ่มผลิตภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนหรือราคา การสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติการ รวมถึงความรวดเร็วในการตอบสนอง และความยืดหยุ่น

          3. ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน องค์กรจะต้องมีการดำเนินการเชิงกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล โดยจะต้องปลูกฝังการปรับปรุงและการเรียนรู้ไว้ในกระบวนการทำงาน รวมถึงการทำให้กระบวนการทำงาน และโครงการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับทิศทางเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการปรับปรุงและการเรียนรู้ได้เตรียมความพร้อมให้กับองค์กรสำหรับการจัดลำดับความสำคัญ และนำสิ่งที่จัดลำดับความสำคัญไว้ไปสู่การปฏิบัติต่อไป

          การวางแผนเชิงกลยุทธ์ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิดและปฏิบัติอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความเป็นผู้นำที่โดดเด่นในตลาด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีฝ่ายวางแผนหรือรอบเวลาการวางแผนอย่างเป็นทางการ รวมถึงไม่ได้หมายความว่าองค์กรจะสามารถปรับปรุงหรือวางแผนล่วงหน้าได้ทั้งหมด ระบบการปรับปรุงที่มีประสิทธิผลจะเกิดขึ้นจากการผสมผสานในหลากหลายรูปแบบ และหลายระดับของความร่วมมือ ซึ่งจะต้องมีแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแผนการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลง หรือการสร้างนวัตกรรมใหญ่ ๆ นั้นต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่ การจัดลำดับความสำคัญมักเน้นเหตุผลด้านต้นทุนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม องค์กรอาจมีปัจจัยพิจารณาสำคัญด้านอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว เช่น ความรับผิดชอบต่อสังคมในภาพใหญ่ มาประกอบการพิจารณาด้วย

ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาตินี้ จะแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย
          1. การจัดทำกลยุทธ์ จะประกอบด้วยหัวข้อย่อย ได้แก่ การจัดทำกลยุทธ์ และวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์
          2. การถ่ายทอดกลยุทธ์ เพื่อนำไปปฏิบัติ จะประกอบด้วยหัวข้อย่อย ได้แก่ การจัดทำแผนปฏิบัติการและการถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติ และ การคาดการณ์ผลการดำเนินงาน

1. การจัดทำกลยุทธ์
          การจัดทำกลยุทธ์ จะหมายถึง แนวทางขององค์กร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต โดยการจัดทำกลยุทธ์จะใช้รูปแบบต่าง ๆ ของการพยากรณ์ การคาดคะเน การกำหนดทางเลือก การสร้างสถานการณ์จำลอง การจัดการความรู้ หรือแนวทางอื่น ๆ ที่จะช่วยองค์กรให้เห็นภาพในอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ เพื่อการตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล โดยการจัดทำกลยุทธ์ อาจเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย คู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการ และลูกค้าที่สำคัญด้วย ทั้งนี้การจัดทำกลยุทธ์ในหัวข้อหลักนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อย่อย ประกอบด้วย
          • การจัดทำกลยุทธ์
          • วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์

1.1 การจัดทำกลยุทธ์
          องค์กรจะต้องมีกระบวนการในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ โดยมีการกำหนดขั้นตอนที่สำคัญของกระบวนการจัดทำกลยุทธ์ และผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะต้องสามารถระบุจุดบอดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมถึงองค์กรควรจะมีการดำเนินการในการกำหนดความสามารถพิเศษ ความท้าทายและความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ รวมถึงกรอบเวลาของการวางแผนทั้งระยะสั้น และระยะยาวไว้อย่างชัดเจนด้วย

          นอกจากนั้น องค์กรควรจะมีการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่าได้มีการนำปัจจัยที่สำคัญต่าง ๆ มาประกอบการวางแผนเชิงกลยุทธ์ โดยมีการรวบรวม และวิเคราะห์ ข้อมูลและสารสนเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเหล่านี้ มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ โดยปัจจัยที่สำคัญนี้ จะประกอบด้วย
          • จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคขององค์กร
          • สัญญาณบ่งชี้ ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางด้านเทคโนโลยี ตลาด ผลิตภัณฑ์ ความชอบของลูกค้า การแข่งขัน หรือสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบข้อบังคับ
          • ความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว รวมถึงความสามารถพิเศษที่จำเป็นขององค์กร
          • ความสามารถขององค์กรในการนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติ

ทั้งนี้ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคขององค์กร ควรจะครอบคลุมถึงปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตขององค์กร ได้แก่
          • ความต้องการ ความคาดหวัง และโอกาสทางด้านลูกค้าและตลาด
          • โอกาสขององค์กรในการสร้างนวัตกรรม และมีผลการดำเนินการที่เป็นแบบอย่างที่ดี
          • ความสามารถพิเศษขององค์กร
          • สภาพแวดล้อมด้านการแข่งขัน และผลการดำเนินงานขององค์กร เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งและองค์กรที่เทียบเคียงกันได้
          • วัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
          • นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สำคัญอื่น ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ และบริการขององค์กร รวมถึงด้านการปฏิบัติการ
          • ความจำเป็นทางด้านทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรอื่น ๆ
          • ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากความหลากหลาย
          • โอกาสในการเปลี่ยนทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้กับผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความสำคัญกว่า
          • ความเสี่ยงและโอกาสทางด้านการเงิน สังคมในภาพใหญ่ จริยธรรม กฎข้อบังคับ เทคโนโลยี ความมั่นคง และความเสี่ยงและโอกาสอื่นที่อาจเกิดขึ้น
          • ความสามารถขององค์กรในการป้องกัน และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ
          • การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ หรือระดับโลก
          • ข้อกำหนด จุดแข็ง และจุดอ่อนของคู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการและห่วงโซ่อุปทาน
          • การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นขององค์กรแม่
          • ปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะองค์กร

1.2 วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์
          องค์กรจะต้องมีการจัดทำวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กร โดยมีการระบุถึงตารางเวลาที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้น รวมถึงเป้าประสงค์ที่สำคัญที่สุดของวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์

          ทั้งนี้ วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ขององค์กรจะต้องตอบสนองต่อความท้าทายและความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ รวมถึง โอกาสในการสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ การปฏิบัติการ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ นอกจากนั้น วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์จะต้องให้ความสำคัญต่อความสามารถพิเศษขององค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย

          วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่ตอบสนองความท้าทายและความได้เปรียบที่สำคัญ จะรวมไปถึงการตอบสนองที่รวดเร็ว การผลิตหรือบริการตรงตามความต้องการของลูกค้าเฉพาะราย การใช้สถานที่ร่วมกับลูกค้าหลักหรือคู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการ ขีดความสามารถและอัตรากำลังของบุคลากร การร่วมทุน การผลิตเสมือนจริง การสร้างนวัตกรรมที่รวดเร็ว การได้รับการรับรองในระบบคุณภาพหรือระบบสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐาน ISO การจัดการความสัมพันธ์กับผู้ส่งมอบและลูกค้าผ่านเว็บ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ

          นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมีความสามารถในการนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติ โดยคำนึงถึงความสามารถขององค์กรในการรวบรวมทรัพยากรและความรู้ที่จำเป็น และความคล่องตัวขององค์กรตามแผนฉุกเฉิน หรือกรณีที่สถานการณ์บังคับให้มีการปรับเปลี่ยนแผน และการนำแผนใหม่หรือแผนที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว

2. การถ่ายทอดกลยุทธ์เพื่อนำไปปฏิบัติ
          เมื่อมีการจัดทำแผนกลยุทธ์ในองค์กรขึ้นมาแล้ว ขั้นตอนถัดไปจะเป็นการนำแผนกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้น มาทำการถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป โดยในแนวทางหลักของการถ่ายทอดกลยุทธ์ จะประกอบด้วย 2 หัวข้อหลัก ได้แก่
          • การจัดทำแผนปฏิบัติการ และการถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติ
          • การคาดการณ์ผลการดำเนินงาน

2.1 การจัดทำแผนปฏิบัติการและการถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติ
          องค์กรจะต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยจะต้องพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ ลูกค้าและตลาด ตามที่ได้วางแผนไว้ รวมถึงมีการดำเนินการในการถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กรไปยังบุคลากร ผู้ส่งมอบและคู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่าผลการดำเนินการที่สำคัญตามแผนปฏิบัติการนี้จะมีความยั่งยืน ทั้งนี้ ในกรณีที่สถานการณ์บังคับ จะต้องมีการดำเนินการในการปรับเปลี่ยนแผนและถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว

          องค์กรจะต้องมีการดูแล เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีทรัพยากรด้านการเงินและด้านอื่น ๆ พร้อมใช้ในการสนับสนุนแผนปฏิบัติการจนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมินและจัดการความเสี่ยงด้านการเงินและด้านอื่นที่เกี่ยวกับแผนดังกล่าวด้วย โดยองค์กรอาจจะใช้วิธีการวิเคราะห์ได้หลายรูปแบบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีทรัพยากรทางการเงินที่เพียงพอ ต่อการทำให้แผนปฏิบัติการบรรลุผลสำเร็จ ในส่วนของการดำเนินงานในปัจจุบัน อาจจะใช้การวิเคราะห์กระแสเงินสด รายได้รับสุทธิ และหนี้สินหมุนเวียนต่อทรัพย์สินหมุนเวียน ส่วนเรื่องของการลงทุนที่จะทำให้แผนปฏิบัติการบรรลุผล อาจจะวิเคราะห์จากมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดด้วยส่วนลดเงินสด การวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุน (Return On Investment - ROI) หรือผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Return On Invested Capital - ROIC) เป็นต้น

          นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมีการจัดทำแผนด้านทรัพยากรบุคคล ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยแผนดังกล่าวได้มีการคำนึงถึงผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับความต้องการด้านขีดความสามารถ และอัตรากำลังบุคลากรด้วย

ตัวอย่างองค์ประกอบของแผนด้านทรัพยากรบุคคล เช่น
          • การจัดโครงสร้างใหม่ของงาน และภาระงาน เพื่อเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจของบุคลากร
          • การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้บริหาร และพนักงานมากขึ้น
          • การว่าจ้างให้องค์กรภายนอกดำเนินการแทน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อบุคลากรที่มีอยู่ และการริเริ่มใหม่ ๆ
          • การเตรียมความพร้อมสำหรับความจำเป็นในด้านอัตรากำลัง และขีดความสามารถของบุคลากรในอนาคต
          • การส่งเสริมให้มีการแบ่งปันความรู้และการเรียนรู้ระดับองค์กร
          • การปรับเปลี่ยนระบบการบริหารค่าตอบแทนและการยกย่องชมเชย
          • การให้การศึกษาและฝึกอบรม เช่น โครงการพัฒนาผู้นำในอนาคต ความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อช่วยทำให้มั่นใจว่าจะมีบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเพียงพอ และการจัดโปรแกรมการฝึกอบรมเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญต่อความสำเร็จในอนาคต

          องค์กรจะต้องมีการกำหนดดัชนีชี้วัดผลการดำเนินการที่สำคัญ ที่จะนำมาใช้ในการติดตามผลลัพธ์ และความมีประสิทธิผลของแผนปฏิบัติการ รวมถึงมีการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการวัดผลโดยรวมของแผนปฏิบัติการได้สนับสนุนให้องค์กรมีการดำเนินการสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน และครอบคลุมเรื่องที่จะถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ ๆ ทั้งหมด

          ทั้งนี้ การจัดทำกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ รวมทั้งการถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติ จะมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับหัวข้ออื่นในเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เช่น
          • การดำเนินการของผู้นำระดับสูงในการกำหนดและสื่อสารทิศทางขององค์กร

          • การรวบรวมความรู้เกี่ยวกับลูกค้าและตลาด เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการขององค์กร รวมถึงการถ่ายทอดแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

          • การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ เพื่อสนับสนุนสารสนเทศที่สำคัญ สำหรับการจัดทำกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อเป็นพื้นฐานที่มีประสิทธิผล ในการวัดผลการดำเนินการ และเพื่อติดตามต่อไป

          • ความก้าวหน้าเทียบกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ

          • การตอบสนองความจำเป็นขององค์กรด้านขีดความสามารถและอัตรากำลังบุคลากร การออกแบบและความจำเป็นของระบบการพัฒนาและการเรียนรู้ และการปรับเปลี่ยนที่เกี่ยวกับบุคลากรตามแผนปฏิบัติการ

          • การปรับเปลี่ยนความสามารถพิเศษ ระบบงาน และข้อกำหนดของกระบวนการทำงาน ตามแผนปฏิบัติการ

          • การบรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการขององค์กร

2.2 การคาดการณ์ผลการดำเนินงาน
          องค์กรจะต้องมีการคาดการณ์ผลการดำเนินการตามกรอบเวลาของการวางแผนทั้งระยะสั้น และระยะยาว ตามดัชนีชี้วัดผลการดำเนินการที่สำคัญตามที่ได้กำหนดไว้ โดยจะต้องมีการเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ของคู่แข่ง หรือขององค์กรในระดับที่เทียบเคียงกันได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับระดับเทียบเคียงที่สำคัญ เป้าประสงค์ และผลการดำเนินการที่ผ่านมาแล้ว องค์กรจะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการมีความก้าวหน้าตามที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการดำเนินการหากพบว่ามีความแตกต่างระหว่างผลการดำเนินการปัจจุบันหรือที่คาดการณ์ไว้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง หรือกับองค์กรในระดับที่เทียบเคียงกันได้

          ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินการที่คาดการณ์ไว้ จะรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลจากการลงทุนใหม่ การเข้าถือสิทธิ์หรือควบรวมกิจการ การสร้างคุณค่าใหม่ การเข้าสู่ตลาดและการเปลี่ยนตลาด คำสั่งตามกฎหมายใหม่ ข้อกำหนดตามกฎหมาย หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม และนวัตกรรมที่สำคัญในอนาคตในด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีด้วย

          จากที่ได้อธิบายมาทั้งหมด จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างมากสำหรับความสำเร็จอย่างยั่งยืนขององค์กร ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงเสียงหนึ่งที่องค์กรจะต้องรับฟัง นั่นคือ เสียงของลูกค้า

เอกสารอ้างอิง
          1. TQA Criteria for Performance Excellence 2553-2554, สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, 2553

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด