เนื้อหาวันที่ : 2011-07-14 10:02:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5061 views

ความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อผลิตภาพยั่งยืน (ตอนที่ 1)

การพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนเป็นประเด็นที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความรู้

โกศล ดีศีลธรรม
koishi2001@yahoo.com

          การพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนเป็นประเด็นที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไม่ได้เป็นแนวทางขัดขวางการพัฒนาองค์กรหรือท้าทายต่อความอยู่รอดของธุรกิจ แต่เป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคที่เพิ่มอย่างรวดเร็วทั้งนี้เพื่อความกินดีอยู่ดีและมาตรฐานชีวิตที่พึงได้รับจากสภาพแวดล้อมที่ดี ทางภาคธุรกิจควรคำนึงว่าสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัจจัยต้นทุนที่สร้างผลิตผล แม้ว่าจะไม่ใช่ต้นทุนทางตรงที่แสดงตัวเลขอย่างชัดเจนก็ตามแต่ก็เป็นต้นทุนที่องค์กรธุรกิจและผู้บริโภคทุกคนต้องชดใช้ต่อไปในอนาคตเมื่อเกิดปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ความเป็นผู้นำธุรกิจยุคใหม่ไม่ได้ประเมินจากผลการดำเนินงานที่มุ่งอัตราการเติบโตและผลกำไรของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบและตอบแทนให้สังคมส่วนรวมด้วย

โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ธุรกิจมุ่งความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สวัสดิภาพแรงงาน แรงงานเด็กและสตรี สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และดำเนินการตามหลักธรรมภิบาล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมต้องตอบสนองต่อประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งการให้ประโยชน์กับชุมชนและคำนึงถึงบทบาทองค์กรที่ควรทำด้วยความสมัครใจและบุคลากรทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ตอบแทนในสิ่งที่ดีงามสู่สังคมอย่างจริงจัง รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกรับผิดชอบให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามขององค์กรในที่สุด

อย่างกรณีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ทำให้ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ประสบภัยได้รับความเดือดร้อน ผลกระทบและเกิดความเสียหายทั้งในแง่ชีวิตและทรัพย์สินของส่วนราชการและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปในวงกว้าง พื้นที่หรือทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายนั้น แม้ว่าไม่สามารถประเมินตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไร แต่ก็ได้มีการประเมินในเบื้องต้นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นน่าจะมีไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท เพราะปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งครอบคลุมพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายกว่า 2 ล้านไร่

เหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าวได้เรียกร้องให้ภาครัฐและเอกชนเกิดความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หลายท่านคงคิดว่าไม่ใช่ปัญหาขององค์กรธุรกิจและภาครัฐต้องดูแลแก้ไขเองซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง แต่ควรเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนร่วมรับผิดชอบเพราะปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากคนในสังคมมุ่งแนวคิดการบริโภคนิยมและละเลยแนวคิดความพอเพียงจนทำให้เกิดความเสียสมดุล การดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดประสิทธิผลจะต้องมีการวางแผนและดำเนินการอย่างเต็มที่ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกรับผิดชอบให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามขององค์กรในที่สุด ดัวยเหตุนี้แนวความคิดและหลักปฏิบัติ CSR ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งที่สนับสนุนการพัฒนาองค์กรสู่ยั่งยืน (Sustainable Development) แม้ว่าแนวคิดความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งแง่มุมทางสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม

แต่ภาพหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องความยั่งยืนขององค์กรว่าทำอย่างไรจึงจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ความยั่งยืนที่กล่าวถึงไม่ได้เจาะจงเฉพาะผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น แต่เป็นความเอาใจใส่ต่อปัจจัยที่มีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจระยะยาว คือ กำไร สิ่งแวดล้อม และคนทั้งภายในและนอกองค์กรหรือเรียกว่า Triple Bottom Line ความเข้าใจภาพรวมจะทำให้ธุรกิจต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ทุกมิติที่ไม่สามารถละเลยปัจจัยใดได้ ทำให้หลายองค์กรมีการตั้งหน่วยงานดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นการเฉพาะ บางแห่งได้แต่งตั้งผู้รับผิดชอบงานซีเอสอาร์ระดับองค์กร เรียกว่า เจ้าหน้าที่บริหารความรับผิดชอบประจำองค์กร (Corporate Responsibility Officer) หรือ CRO เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจเต็มเวลา

เหตุที่ธุรกิจต้องทำเรื่องซีเอสอาร์กันอย่างแพร่หลาย ประการแรกเกิดจากความตระหนักในปัญหาสังคมที่ไม่อาจดูดายหรือปล่อยให้เป็นหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยลำพัง อันเนื่องมาจากความซับซ้อนและปัญหาเพิ่มขึ้น ประการต่อมาเกิดจากความสำนึกรับผิดชอบว่าตนเองมีส่วนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการประกอบธุรกิจจึงต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบด้วย ประการที่สาม เกิดจากข้อกำหนดทางกฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ที่ได้บรรจุเรื่องซีเอสอาร์ไว้เป็นข้อปฏิบัติทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น องค์กรธุรกิจต้องปฏิบัติตามในฐานะพลเมืองดีเพื่อให้กิจการเป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถดำเนินงานได้ด้วยความราบรื่น

          ดังนั้นการดำเนินงานขององค์กรต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งระดับจุลภาค เช่น พนักงาน ลูกค้า ชุมชน และสังคมโดยรวม อย่างประเด็น สภาพแวดล้อม เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับพันธกิจและวิสัยทัศน์ขององค์กร โดยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่จากภายในองค์กรออกสู่สังคมวงกว้าง เป็นไปตามกฏหมายที่บังคับใช้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญ ทำให้มาตรฐาน ISO 26000 เป็นกระแสมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้ก่อตัวในประเทศไทยระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เป็นทางการ หลังจากได้มีการยกร่างมาตรฐาน โดยกำหนดหัวข้อบ่งชี้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ 7 เรื่อง ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร (Organizational Governance) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour Practices) สิ่งแวดล้อม (Environment) การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (Fair Operation Practices) ประเด็นด้านผู้บริโภค (Consumer Issue) ความมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (Community Involvement and Development ) โดยมุ่งเป็นมาตรฐานสมัครใจที่ไม่ใช่ทำเพื่อการรับรอง

วัตถุประสงค์มาตรฐาน ISO 26000 ได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและสามารถใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท หากองค์กรนำไปประยุกต์ใช้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ช่วยลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการจัดการพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมทั้งช่วยเสริมสร้างชุมชน และสังคมให้เข้มแข็งส่งผลให้นักวิเคราะห์การเงินและนักลงทุนยังให้ความสนใจในการลงทุนมากกว่าองค์กรที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานนี้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ISO 26000 เป็นเพียงมาตรฐานแนะนำ (Guidance Standard) ไม่ใช่มาตรฐานระบบบริหาร เพื่อใช้รับรองหรือเป็นข้อบังคับและข้อตกลง


          สำหรับสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเล็กที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรปได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานการครองชีพสูงมาก ทำให้ผู้บริโภคชาวสวิสส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าแต่ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่น ในการผลิตและจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะปัจจัยทางสังคม เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าบริษัทในสวิสหรือบริษัทคู่ค้าของสวิสจะประสบความสำเร็จได้นั้นมิได้ขื้นกับการตลาดและความรู้ทางสินค้าและเทคนิคอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เช่น สัญญาจ้างงานสภาพแวดล้อมของที่ทำงาน การแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรม ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ต่อบริษัทคู่ค้า เป็นต้น นอกจากมาตรฐาน CSR แล้วบริษัทต่าง ๆ ยังให้ความสำคัญกับแนวคิดความยั่งยืนควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้การวางยุทธศาสตร์ทางธุรกิจเป็นไปอย่างสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน มาตรฐาน CSR ที่สำคัญในสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบด้วย

          1. SA8000 (Social Accountability 8000) เป็นระบบการจัดการที่เป็นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดโดยเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ก่อตั้งโดยองค์กร Social Accountability International (SAI) มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อลูกจ้างหรือคนทำงานทั่วโลก อย่างไรก็ตามหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ออกใบรับรองมาตรฐาน SA8000 ได้แก่ IQNet Ltd. มีเครือข่ายกว่า 150 ประเทศทั่วโลก หลักเกณฑ์สำคัญของ SA8000 เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลเกี่ยวกับสถานที่ทำงานตามข้อตกลงของ ILO (International Labour Organisation) กฎบัตรว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติและข้อตกลงว่าด้วยสิทธิของเด็ก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บริษัทและองค์กรปรับปรุง รวมทั้งแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการทำงาน

          2. มาตรฐาน ISO 26000 เป็นมาตรฐานการจัดการองค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมและสรุปในขั้นตอนสุดท้าย คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในระยะเวลาอันใกล้ ดังที่กล่าวข้างต้น โดยระบุหลักการ ตัวชี้วัดด้านความรับผิดชอบด้านสังคม และแนวทางปฏิบัติ

          3. Swiss Social Label เป็นประกาศนียบัตรซึ่งออกโดยมูลนิธิ Socially Responsible Business Conduct (SSW) เป็นมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของสวิตเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ประกาศนียบัตรดังกล่าวมีอายุ 3 ปี โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ ดังนี้ ความรับผิดชอบของนายจ้าง การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในมุมมองลูกจ้างและนายจ้าง รวมทั้งกิจกรรมต่อสาธารณะ

องค์ประกอบความรับผิดชอบต่อสังคม

          หน่วยงานรับผิดชอบในการขอใบรับรองมาตรฐานดังกล่าว ได้แก่ SQS (The Swiss Association for Quality and Management Systems) คือ องค์กรชั้นนำในธุรกิจบริการด้านการประเมินและการรับรองของสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากมาตรฐานด้าน CSR และองค์กรที่กล่าวข้างต้น สวิตเซอร์แลนด์ยังมีองค์กรที่มีบทบาทด้านการค้าระหว่างประเทศและอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวสวิส ได้แก่ Swiss Fairtrade ก่อตั้งในเดือนตุลาคม 2007 โดยใช้หลักเกณฑ์พื้นฐานเดียวกับองค์กร Fairtrade ทั่วโลกที่เน้นการส่งเสริมธุรกิจการค้าอย่างเป็นธรรมทั้งด้านราคา ข้อตกลงการค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้ค้า รวมถึงสภาพแวดล้อมการผลิตสินค้า  การตรวจสอบเป็นไปโดยใช้รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทที่ต้องการขอใช้เครื่องหมายและเอกสารที่ใช้เผยแพร่ต่อสาธารณะแล้วยื่นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาว่าตรงตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมีอายุการใช้งาน 1 ปี หลังจากนั้นบริษัทสามารถยื่นเอกสารเพื่อขอต่ออายุได้ โดยมีองค์กรนานาชาติ เป็นผู้สนับสนุนหลัก ได้แก่
          • F-Fairtrade Labelling Organizations International FLO
          • I-International Fair Trade Association IFAT
          • N-Network of European Worldshops NEWS!
          • E-European Fair Trade Association EFTA

          ส่วน Terrafair เป็นองค์กรที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เริ่มจากกระแสประชาสังคมในปี 1973 จากความพยายามของชาวสวิสที่จะช่วยเกษตรกรสวนกล้วยชาวนิการากัวซึ่งถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตร โดยการซื้อกล้วยในราคาที่แพงขึ้นกว่าเดิมและนำเงินส่วนนั้นไปบริจาคให้แก่เกษตรที่ยากจน กล่าวได้ว่ากระแสแนวคิดความรับผิดชอบสังคมและการค้าอย่างเป็นธรรมได้หยั่งรากลึกในสวิสตั้งแต่นั้น จนกระทั่งในปี 1998 ได้มีการก่อตั้งองค์กรเพื่อการค้าอย่างเป็นธรรมสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตร โดยเฉพาะกล้วยและถั่วเหลือง ในปี 2002 ได้มีการตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาชนบทขึ้น (www.ruraldevelopment.ch) เพื่อสนับสนุนการทำงานดังกล่าว

กระแสแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้มีการก่อตั้งองค์กร Terrafair ขึ้นในปี 2006 เป็นการขยายผลการดำเนินงานเพื่อการค้าอย่างเป็นธรรมที่มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมความเป็นธรรมของสังคมและพัฒนาระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืนทั่วโลก โดยเน้นการให้ความสำคัญการผลิต การแลกเปลี่ยนสินค้า การซื้อขายและการบริโภค การดำเนินงานของ Terrafairประกอบด้วยการประชาสัมพันธ์องค์กรและเผยแพร่แนวคิดหลักขององค์กรผ่านทางนิตยสาร Terrafair-Magazinsและเว็บไซต์ www.terrafair.org สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับการค้าอย่างเป็นธรรม ดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านการใช้แรงงานเด็ก

ปัจจุบันองค์กรธุรกิจของไทยหลายรายที่เริ่มขยายฐานการลงทุนไปต่างประเทศต่างมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เห็นเป็นรูปธรรมเพื่อแสดงให้ประเทศที่ตนเองจะทำการค้าด้วยเห็นว่าองค์กรมิได้มีเจตนาเพียงเพื่อแสวงหากำไรจากประเทศตน แต่ยังมีความตั้งใจร่วมพัฒนาท้องถิ่นและช่วยปกป้องพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมชุมชนสัมพันธ์ร่วมกันพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะกระแสสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตากลุ่มประเทศพัฒนา

OECD จัดทำแนวทางสำหรับบริษัทข้ามชาติ (Guideline for Multinational Enterprises)เพื่อเป็นแนวทางลงทุนระหว่างประเทศให้ดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการตอบรับจากองค์กรต่าง ๆ แต่ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นำไปสู่การปรับปรุง Guideline อีกครั้งในปี ค.ศ. 2000 (Guidelines for MNE"s Revision 2000) เกิดเป็นกระแสการทำ CSR ระหว่างประเทศเพราะเน้นการนำไปปฏิบัติจริงในทุกประเทศไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD ทำให้บริษัทข้ามชาติติดต่อค้าขายกับคู่ค้าทั่วโลกที่ทำ CSR ถ้าธุรกิจใดสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจใดยังใช้แรงงานเด็กหรือปัญหาด้านแรงงานก็จะมีปัญหาการค้ากับประเทศในกลุ่ม OECD โดย OECD Concensus ระบุลักษณะธุรกิจที่ดี ประกอบด้วย การจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม

ขณะที่ธนาคารโลก (World Bank) ระบุขอบเขตของ CSR ว่าควรมีองค์ประกอบที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน ความมีส่วนร่วมกับชุมชน มาตรฐานการดำเนินธุรกิจ ตลาด การพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ สุขอนามัย การศึกษาและการพัฒนาภาวะผู้นำ การบรรเทาสาธารณภัย การประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายโคฟี อานัน เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ธุรกิจแสดงความเป็นพลเมืองที่ดีของโลก (Good Global Citizenship) ในทุกประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่ ด้วยการเคารพต่อหลักที่เป็นข้อตกลงนานาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม

ท่านเลขาฯ ได้เสนอบัญญัติ 9 ประการ เรียกว่า “The UN Global Compact” แบ่งเป็น 3 หมวดหลัก คือ หมวดสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม หลักการทั้ง 9 นี้ได้รวมแนวคิดเรื่อง Corporate Citizenship, สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นบรรทัดฐานการทำ CSR ขององค์กรธุรกิจที่ชัดเจนที่สุด ต่อมา OEDC ได้ปรับแผนการดำเนินงานในกลุ่มประเทศสมาชิกของตนให้สอบคล้องกับ “UN Global Compact”  ปี ค.ศ.2002 UN World Summit on Sustainable Development ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กเป็นจุดที่เกิดความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนในความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ต่อมาได้เพิ่มบัญญัติข้อ 10 คือ หมวดการต่อต้านคอร์รัปชัน

หากจำแนกแนวคิดการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร เราอาจแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญกับ CSR ที่ตระหนักความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยจิตวิญญาณที่องค์กรคำนึงถึงการตอบแทนกลับต่อสังคมอย่างแท้จริง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งลงมือทำ CSR หรือโครงการเพื่อสังคม เพียงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการประชาสัมพันธ์และสื่อสารการตลาด เพียงเพื่อบอกกับลูกค้าว่า "เราเป็นองค์กรที่ดี" ไม่มีใครตอบได้ว่าแนวคิดทั้ง 2 กลุ่มนั้นใครถูกใครผิด หากตอบได้แต่เพียงว่า การทำ CSR กลุ่มแรกนั้นจะสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจระยะยาวมากกว่ากลุ่มหลังเท่านั้นเอง

น่าสนใจว่าแล้วกระแส CSR ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ องค์กรธุรกิจมีแนวคิดการทำ CSR แบบไหนมากกว่ากัน เป็นการทำเพื่อสร้างความยั่งยืนในสังคมซึ่งจะส่งผลการสร้างความยั่งยืนขององค์กรหรือเป็นเพียงการสร้างภาพเพื่อประชาสัมพันธ์เท่านั้น ทำให้การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมยังมีข้อถกเถียงเพิ่มเติมอีกว่าควรเป็นการดำเนินตามหน้าที่และกฎระเบียบที่ไม่สร้างความเดือดร้อนกับสังคมก็เพียงพอแล้วหรือว่าต้องเกิดจากจิตอาสาและสมัครใจยินดีดำเนินกิจกรรมดูแลรับผิดชอบสังคมที่อยู่เหนือการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น

ดังนั้นการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ไม่ว่าจะเกิดจากการปฏิบัติตามความจำเป็นหรือความสมัครใจถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งสองกรณี แต่ต่างกันที่ระดับความเข้มข้นการดำเนินกิจกรรมและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น กิจกรรมซีเอสอาร์ที่เกิดจากความจำเป็นตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายจัดอยู่ในระดับซีเอสอาร์พื้นฐาน ขณะที่กิจกรรมซีเอสอาร์ที่เกิดจากความสมัครใจยินดีดำเนินกิจกรรมด้วยตัวเองมิใช่เกิดจากความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่หรือกฎหมาย เรียกว่า ซีเอสอาร์ระดับก้าวหน้า

กิจกรรมซีเอสอาร์ยังแบ่งตามทรัพยากรที่ใช้ดำเนินกิจกรรม หากเป็นการดำเนินกิจกรรมโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเป็นหลัก เรียกว่า Corporate-Driven CSR เช่น องค์กรบริจาคเงินที่ได้จากผลกำไรจากการดำเนินงาน หรือบริจาคสินค้าและบริการขององค์กรเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยถือเป็นการเสียสละทรัพยากรเงินทุนหรืองค์กรนำพนักงานลงพื้นที่เพื่อเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยถือเป็นการเสียสละทรัพยากรเวลาและแรงงาน  แต่หากเป็นการดำเนินกิจกรรมโดยใช้ทรัพยากรนอกองค์กรเป็นหลัก เรียกว่า Social-Driven CSR เช่น การเชิญชวนให้ลูกค้าซื้อสินค้าและบริการในช่วงการรณรงค์โดยบริจาครายได้จากการขายสินค้าและบริการส่วนหนึ่งของการซื้อแต่ละครั้งให้หน่วยงานหรือมูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยถือเป็นการระดมเงินบริจาคจากการซื้อของลูกค้า โดยมอบหมายให้ผู้อื่นที่มิใช่พนักงานลงพื้นที่ช่วยเหลือ

          ตามที่ไมเคิล อี พอร์เตอร์ (Michael E. Porter) ได้กล่าวถึงประเด็นความเชื่อมโยงระหว่าง CSR กับความได้เปรียบการแข่งขันไว้ในบทความ Competitive Advantage of Corporate Philanthropy  ตีพิมพ์ลงวารสาร Havard Business Review ปี ค.ศ. 2006 อย่างประเด็น ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรแบบตอบสนอง (Responsive CSR) ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ คือ การปฏิบัติตัวเป็นองค์กรพลเมืองที่ดี (Good Corporate Citizen) และการบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจของตน เรียกว่าเป็นการทำ CSR เชิงรับ กิจกรรม CSR ภายใต้รูปแบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาหรือผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจไปสู่สังคม สังคมมีการเรียกร้องให้ธุรกิจดำเนินความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมต่อผลกระทบเหล่านั้น เป็นการผลักดันให้มีการริเริ่มดำเนินงาน CSR จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ภายนอกองค์กร (Outside-In)

วิธีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในขั้นนี้ องค์กรธุรกิจมักจะศึกษาข้อกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐานหรือข้อกำหนดแล้วนำมาปฏิบัติเพื่อปรับให้เข้ากับมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับทั่วไป ผลลัพธ์การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจได้ชื่อว่าเป็นองค์กรพลเมืองที่มีความรับผิดชอบแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจและได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม แม้ว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกิจกรรม CSR เป็นบุคคลที่อยู่ภายนอกองค์กร แต่องค์กรกิจยังคงมุ่งรักษาไว้ซึ่งคุณค่าองค์กร (Corporate Value) เป็นสำคัญ

นอกจากนี้พอร์เตอร์ได้เสนอรูปแบบของ CSR เรียกว่าซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ (Strategic CSR) ที่ยกระดับจากการเป็นเพียงองค์กรพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อการบรรเทาปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดจากธุรกิจสู่การทำ CSR เชิงรุกที่องค์กรสามารถดำเนินกิจกรรม CSR ด้วยตนเองให้แก่สังคมภายนอก (Inside-Out) เชื่อมโยงสัมพันธ์กับความต้องการหรือกิจกรรมจากภายนอก (Outside-In) แนวทางดังกล่าวแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบที่เป็น CSR เชิงกลยุทธ์นี้ องค์กรไม่เพียงแต่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับเท่านั้น แต่ยังกำหนดจุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากแนวปฏิบัติขององค์กรอื่นที่มีการสร้างความแตกต่างในวิธีการ โดยมีอิสรภาพคัดเลือกประเด็นทางสังคมและปลอดจากข้อเรียกร้อง

เช่นใน Responsive CSR ด้วยวิธีการที่แตกต่างและกิจกรรม CSR ที่เหมาะสม ผลลัพธ์จากการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบที่เป็น CSR เชิงกลยุทธ์นี้ ทำให้เอื้อต่อการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันขององค์กรระยะยาว ดังนั้นแนวคิด CSR เชิงกลยุทธ์ที่ผสมผสานการดำเนินกิจกรรมทั้งภายในและการเชื่อมโยงจากภายนอกจะก่อให้เกิดคุณค่าร่วมกัน(Shared Value)ระหว่างธุรกิจและสังคม ทำให้ CSR เชิงกลยุทธ์ ดูจะเป็นคำตอบของธุรกิจที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีประสิทธิผล

          บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง Arther D Little ได้ศึกษาพบว่า การทำ CSR เกิดประสิทธิผลต่อองค์กรธุรกิจ ดังนี้
          1. การสร้างความน่าเชื่อถือ ผลสำรวจการทำ CSR หลายประเทศพบว่า CSR เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ นับจากทศวรรษ 1980-1990 พบว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนมูลค่าบริษัทจาก 17% ในทศวรรษ 80 เพิ่มขึ้นเป็น 71% ในทศวรรษ 90 ความน่าเชื่อถือของบริษัทถูกกำหนดด้วยความคาดหวังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยังมีการศึกษาอีกมากมายทั้งในกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดใช้เวลากว่า 40 ปี ค้นพบว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างความน่าเชื่อถือและความสามารถประกอบการของธุรกิจ

บริษัทที่สามารถจัดการความสัมพันธ์และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นองค์รวมจะส่งผลต่อยอดขายสูงขึ้น 4 เท่าและขยายการจ้างงานมากถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับบริษัทที่มุ่งตอบสนองความต้องการผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว นิตยสาร Fortune พบว่าความน่าเชื่อถือของบริษัทช่วยเพิ่มระยะเวลาที่สามารถสร้างผลตอบแทนทางการเงินสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ดังกรณีบริษัทเสื้อผ้าชื่อดังในสหรัฐอเมริกาที่ถูกประท้วงเรื่องการกดค่าแรงและใช้แรงงานเด็กในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ CEO ของบริษัท ทำการ Re-brand และพัฒนากิจกรรมที่เน้น CSR อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาภาพลักษณ์

          2. การจัดการความเสี่ยง ความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่นำไปสู่ปัจจัยความเสี่ยงที่ยากจะคาดเดา ดังนั้นการจัดการสังคมสิ่งแวดล้อมและธรรมมาภิบาลมีความสำคัญมากในการป้องกันปัญหาอันอาจเกิดจากความเสี่ยงที่ควบคุมได้ยาก  ผลสำรวจบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกากว่า 300 แห่งที่ประกอบการด้านอุตสาหกรรม พบว่าบริษัทที่ได้ลงทุนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมสามารถลดความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดจากการคาดการณ์ของนักลงทุน ทำให้มูลค่าในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นถึง 5% แสดงว่าบริษัทที่ทำ CSR จะได้กำไรสูงกว่าบริษัทที่ไม่ได้ทำ

          3. การคัดเลือกและสร้างแรงจูงใจทำงานเพื่อรักษาบุคลากร ผลการวิจัยปี ค.ศ.1997 ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะพิจารณาประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมในการเลือกสมัครเข้าทำงานและพนักงานบริษัทก็ให้ความสนใจความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทเป็นตัวตัดสินใจในการเลือกที่จะทำหรือเปลี่ยนไปร่วมงานกับบริษัทอื่นที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า ดังที่เห็นได้จากบริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลกที่เสียชื่อเสียงจากการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ดี หลังจากเกิดวิกฤติปรากฎว่าบริษัทไม่สามารถดึงดูดให้ผู้จบการศึกษาใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาทำงานได้ เนื่องจากความผิดพลาดในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทเอง

          4. ความสัมพันธ์กับนักลงทุนและความสามารถเข้าถึงแหล่งทุน แต่เดิมนักลงทุนจะถูกมองว่าไม่มีศีลธรรม ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่ผลการวิจัยพบว่าไม่จริงเสียทั้งหมด งานเขียน “Built to Last” ของ James C. Collins. & Jerry J. Porras. พบว่าเมื่อเทียบ 18 บริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นปัจจัยหลักในการแยกความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ประสบความสำเร็จสูงต่อเนื่องยาวนานกับบริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งคราว คือ การที่บริษัทเหล่านี้มีเป้าหมายที่ไกลกว่าการมุ่งแสวงหากำไรอย่างเป็นรูปธรรมหรือมีนโยบายที่ชัดเจนในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถเปรียบเทียบเชิงมูลค่าได้ คือ มูลค่าเงิน 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ปี ค.ศ.1926 ในธุรกิจที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้ผลตอบแทนถึง 6,356 ดอลล่าร์สหรัฐ ในปี ค.ศ.1990 ขณะที่บริษัทที่มุ่งผลกำไรเป็นหลักจะมีสถิติความสำเร็จไม่แน่นอนและไม่ประสบผลสำเร็จสูงเท่ากับบริษัทกลุ่มแรก คือ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ในปี ค.ศ.1926 สร้างผลตอบแทน 955 ดอลล่าร์สหรัฐ ในปีค.ศ.1990

นอกจากนี้การที่ตลาดหลักทรัพย์เข้ามาสร้างมาตรฐานทางการเงินอย่างการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investment) หรือ SRI ทำให้นักลงทุนทั่วไปตื่นตัวและเห็นประโยชน์การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมทั้งประโยชน์ทางสังคมที่จะเกิดขึ้นและทางการเงินเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น อย่างกรณี Dow Jones Group Sustainability Index (DJGSI) เป็นการรวมดัชนีการลงทุนของบริษัทที่มีมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในอังกฤษและอเมริกา พบว่ากลุ่มบริษัทใน DJGSI มีผลประกอบการสูงกว่าบริษัทอื่นถึง 36.1% ถ้ามองแค่กลุ่มธุรกิจพลังงานที่อยู่ในดัชนี DJGSI เทียบกับกลุ่มพลังงานที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม พบว่ากลุ่มที่อยู่ในดัชนี DJGSI มีผลประกอบการสูงกว่า 45.3% ดังนั้น SRI จึงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นที่สนใจในหมู่นักลงทุนที่เห็นความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคม

          5. การเรียนรู้และนวัตกรรม บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถใช้เป้าหมายดังกล่าวส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในแนวทางที่ยั่งยืนอย่าง กลุ่มธุรกิจเคมีร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาไฟเบอร์ที่เกิดจากการใช้พลังงานที่ถูกนำมาใช้ใหม่ (Renewable)นำไปสู่การพัฒนาโพลีเมอร์ ตลอดจนจนการผลิตเส้นใยและเฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถลดการใช้พลังงานฟอสซิลและการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม 20-50% เมื่อเทียบกับวิธีการผลิตแบบเดิม นอกจากนี้ยังถลดต้นทุนการผลิตสินค้าประเภท ขณะที่คุณภาพสินค้าเพิ่มขึ้นนำไปสู่ความสามารถการแข่งขันและผลกำไรเพิ่มขึ้น

          6. ความสามารถการแข่งขันและจุดยืนในตลาด ราว 92% ของผู้บริโภคในประเทศอังกฤษเชื่อว่าบริษัทควรมีมาตรฐานแรงงานสำหรับผู้ส่งมอบ (Supplier) และ 14% เชื่อว่าความรับผิดชอบต่อสังคมจะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้า แนวคิดนี้กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลกในการวิจัยทัศนคติผู้บริโภคต่อความรับผิดชอบต่อสังคมได้ทำการวิจัยกลุ่มคนกว่า 25,000 คน ใน 26 ประเทศ พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความคาดหวังและความประทับใจต่อบริษัทจากปัจจัยความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าการสร้างตราสินค้าหรือความสำเร็จทางการเงิน

          7. ประสิทธิภาพการดำเนินงาน คือ การมุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทางการเงินด้วยการลดการใช้วัตถุดิบ ลดการเกิดของเสียในกระบวนการผลิตซึ่งนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

          8. การยอมรับของสังคมต่อการดำเนินงาน บริษัทที่ดำเนินการโดยไม่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมมักจะพบปัญหาความขัดแย้งจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เมื่อบริษัทยอมรับฟังเสียงจากประชาชนอันนำไปสู่การเจรจาและปรับปรุงนโยบายของบริษัทก็จะได้การตอบรับจากประชาชน ขณะที่บริษัทดำเนินการโดยใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมเสมอมาแต่ประสบภาวะวิกฤตร้ายแรง บริษัทยังคงได้รับโอกาสจากประชาชนเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
          1.  Joel Makower, Strategies for the Green Economy: Opportunities and Challenges in the New World of Business, McGraw-Hill, 2009.
          2.  Philip Kotler, Nancy Lee, Corporate Social Responsibility, John Wiley & Sons, 2005.
          3.  Thorne, Debbie M., O.C. Ferrell, and Linda Ferrell, Business and Society: A Strategic Approach to Social Responsibility, Houghton Mifflin Company, 2008.
          4.  Toyota Motor Corporation, Green Purchasing Guideline, March 2006.
          5.  ดนัย จันทร์เจ้าฉาย, กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว (White Ocean Strategy), สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี, 2553.
          6.  บมจ. โทเทิล แอ็คเซส คอมมูนิเคชัน, เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร, สถาบันไทยพัฒน์, 2553.
          7.  วรัญญา ศรีเสวก, ถอดรหัส สร้างแบรนด์ให้ยั่งยืนด้วย CSR, สำนักพิมพ์มติชน, 2551.
          8.  http://www.bangkokbiznews.com
          9.  http://www.brandage.com
          10. http://www.businessthai.co.th
          11. http://www.csri.or.th
          12. http://www.csrthailand.net
          13. ttp://www.depthai.go.th
          14. http://www.green.in.th
          15. http://www.manager.co.th
          16. http://www.positioningmag.com
          17. http://www.prachachat.net
          18. http://www.scg.co.th
          19. http://www.thailca.com
          20. http://www.toyota.co.jp/en/csr/principle/policy.html
          21. http://www.toyota.co.jp/en/environment/vision/green/pdf/all.pdf
          22. http://www.toyota.co.th/sustainable_plant/sustainable.html
          23. http://www.toyotasupplier.com/

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด