เนื้อหาวันที่ : 2011-07-07 10:50:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4961 views

ซีเรียส กับการทำงาน แปลว่า เครียด หรือ จริงจัง ?

บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคนที่กำลังทำงานอยู่แล้วมีคนทำตัวไม่เหมาะสมเข้ามายุ่งกับงานแล้วจะโดนดุว่า “นี่ซีเรียสนะ” แล้วคำว่า "ซีเรียส" มีอิทธิพลได้อย่างไร

พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

          บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคนที่กำลังทำงานอยู่แล้วมีคนทำตัวไม่เหมาะสมเข้ามายุ่งกับงานแล้วจะโดนดุว่า “นี่ซีเรียสนะ” หรือ “เจ้านายซีเรียสนะสำหรับงานนี้ ตั้งใจทำกันหน่อย” หรือ “พวกเขาฝึกซ้อมกันอย่างซีเรียส” โอ้..แล้วเจ้าคำว่า “ซีเรียส” มีอิทธิพลอย่างไรกันจึงสามารถสร้างความมุ่งมั่นในการทำงานได้ เรียกสมาธิในการทำงานได้ สรุปว่ามันแปลว่าอะไรกัน

          อันเนื่องด้วยผู้เขียนเองก็ทำงานอีกด้านหนึ่งเป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬาฟุตบอล ซึ่งมันก็จำเป็นจะต้องใช้ทั้งพระเดช พระคุณในการควบคุมนักกีฬาที่มารวมตัวกันกว่ายี่สิบคน อีกทั้งในบางวันก็ต้องทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนเด็ก ๆ เพื่อให้พัฒนาขึ้นสู่การเป็นนักกีฬาระดับอาชีพ คำว่า “ซีเรียส” จึงต้องนำมาใช้บ่อยกับเด็ก ๆ ใช้มากกว่าผู้ใหญ่ แปลกเหมือนกันที่จริง ๆ คำว่า “ซีเรียส” เราน่าจะใช้กับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่กับผมและเชื่อว่าอีกหลายท่านที่ทำงานก็คงจะเข้าใจว่า สำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว คำว่า ซีเรียส คงต้องใช้กันเกือบทุกวัน เราลองย้อนกลับมาตีความคำว่า “ซีเรียส–Serious” กัน

          จริงแล้ว แปลง่าย ๆ เข้าใจเร็ว ก็คือ การทำด้วยความจริงจัง มีสติ มุ่งมั่นที่จะทำโดยไม่วอกแวก แล้วมันก็เป็นคำที่ควรนำมาเตือนพนักงานระดับมืออาชีพทุกคนว่าควรจะทำงานอย่าง ซีเรียส ทว่า หลายท่านยังสวมวิญญาณ “ติสท์” หรือศิลปินอย่างเข้าธาตุ อันหมายถึงวันใดที่ท่านตื่นนอนมาด้วยสมองที่ปลอดโปร่งท่านจะอารมณ์ดีและทำงานอย่างสนุกสนาน ขยันอย่างไร้ที่ติ ในทางตรงกันข้ามกับวันที่เลวร้าย นอนไม่ค่อยหลับ หงุดหงิดกับหลายเรื่อง วันนั้นอยากจะกลับบ้านไปนอนเล่น หรือดื่มหนัก ๆ จะได้หลับสบาย อืม..น่าคิดนะ แล้วงานที่ทำ รวมถึงเพื่อนร่วมงานเขาต้องมารองรับอารมณ์คุณด้วยหรือ แล้วนี่มันซีเรียสกับการทำงานโดยต้องมีอารมณ์ร่วมขนาดไหนจึงจะพาทีมงานไปสู่ความสำเร็จได้

เริ่มด้วยการฝึกซ้อมอย่างซีเรียส
          ในฐานะที่ผมทำงานกับคนกับงานที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม และคนในทีมแต่ละท่านก็ล้วนแล้วแต่มีความหลากหลาย ทั้งด้านอารมณ์ บุคลิกภาพ แต่ดีตรงที่ทุกคนเข้าใจและรับรู้ว่าเราจะไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ในองค์กร ก็จะมีคอนเซปต์ของแต่ละองค์กร เพราะในการจัดตั้งก็ได้ระบุชัดเจนถึงเจตจำนงในการรวมคนที่มีความสามารถพร้อมที่จะมาช่วยกันสร้างงานให้ประสบความสำเร็จในเวลาที่กำหนดได้ สำหรับงานหรือเจตจำนงของแต่ละองค์กรนี้เองที่เราต้องมาแยกคุยกันเป็นลักษณะไป แต่จริง ๆ แล้วคำว่า ซีเรียสมันก็คือลักษณะการทำงานที่ดีแต่เรามักมองมันเป็นเรื่องที่ดูมากเกินไป ไม่ได้เลยกับการทำงานที่ซีเรียสเพราะอาจทำให้องค์กรเครียดกัน บางทีอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ไปกันใหญ่ครับ

          ผมยกตัวอย่างทีมฟุตบอลอาชีพทีมหนึ่ง พวกเขาทำงานอย่างมืออาชีพ เริ่มด้วยการสร้างทีมขึ้นมา มีฝ่ายต่าง ๆ ครบครัน คือ ส่วนของการฝึกซ้อม โค้ช สตาฟ แพทย์ประจำทีม เลขานุการทีม ประธานสโมสร ฝ่ายสิทธิประโยชน์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่สนาม กองเชียร์ แล้วก็ยังมีทีมสำรอง สถาบันฝึกซ้อมเยาวชน หรืออะคาเดมี่อีก ซึ่งช่วยให้ทุกอย่างสอดคล้องในการทำงานร่วมกัน เป็นระบบอาชีพที่เกื้อหนุนกันทุกส่วน มันก็เลยมีเงินเข้ามาในระบบ ความเป็นมืออาชีพจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่ตัดสินใจเข้ามาในระบบ นักกีฬาทุกคนต้องตั้งใจซ้อมเพื่อให้ผลงานออกมาดี เพื่อให้ทางฝ่ายสิทธิประโยชน์และประชาสัมพันธ์ช่วยกันหาผู้สนับสนุนทีมได้ มีกองเชียร์ตามมาดูและซื้อตั๋ว ซื้อของที่ระลึกต่าง ๆ 

          ถ้าเราดูข่าวหรือดูการฝึกซ้อมของทีมชั้นนำต่าง ๆ ไม่ว่าจะต่างประเทศ หรือทีมบ้านเรา เขาจะจริงจังในการซ้อม ไม่มาหัวร่อหยอกกัน สำหรับภาพข่าวทีมต่างประเทศที่เห็นอาจจะมีหัวเราะหยอกกันบ้าง อันนั้นเป็นช่วงที่เขาเริ่มวอร์มกันเบา ๆ สื่อมวลชนจะทำการบันทึกภาพได้ประมาณไม่เกินสิบห้านาทีครับ พอเริ่มซ้อมจริงเขาจะหยุดการบันทึกภาพ และจะซ้อมกันอย่างจริงจัง ไม่มีสื่อมวลชนมารบกวนเขา บางครั้งเดวิด เบ็คแฮม ยังต้องมาฝึกแปบอลกับเพื่อน มาส่งบอลกันที่ดูเหมือนไม่ต้องมาซ้อมแล้วกับนักเตะโลก แต่นี่คืออาชีพของเขา นักฟุตบอลก็ต้องซ้อมทุกอย่างที่เป็นทักษะ เป็นความชำนาญที่ต้องฝึกกันตามโปรแกรม

          กลับมาที่สำนักงานบ้านเรากันบ้าง หลายคนทำงานด้านเอกสารก็ยังคงนั่งงงกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือบางคนยังนั่งจิ้มดีดงานเอกสารอยู่ หนักขึ้นเรื่อย ๆ กับงานด้านภาษาที่ไม่ถนัดในการอ่าน พูดยิ่งไปกันใหญ่ หลาย ๆ อย่างที่จำเป็นต้องฝึกเราก็ต้องฝึกเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนผมคนหนึ่งทำงานกับบริษัทผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถือว่าเป็นแถวหน้าของเมืองไทย ในช่วงฟองสบู่แตก ทุกบริษัทในสายเดียวกันพากันระส่ำ มีการปลดพนักงาน มีการยุบแผนก แต่บริษัทเพื่อนผมยึดหลักการความพอเพียง ประหยัด และช่วยกัน แล้วเพื่อนผมก็เก่งขึ้นจากสถานการณ์ครั้งนั้น เริ่มจากพนักงานออกแบบจัดหน้าวารสาร มีการฝึกพิสูจน์อักษร พิมพ์งาน แก้ไข เรียนรู้ซอฟต์แวร์ในการทำงาน ปรับขั้นตอนในการทำงานให้กระชับ เร็วขึ้น ศึกษาขั้นตอนที่สิ้นเปลือง คนที่มีอยู่ทำอะไรทดแทนกันได้บ้างก็ทำเลย แล้วบริษัทแห่งนี้ก็ผ่านเหตุการณ์แย่ ๆ มาได้แบบราบรื่น

          ถามว่าเมื่อเราต้องทำงานท่ามกลางสถานการณ์แย่ ๆ ต้องกังวลเรื่องความมั่นคงของบริษัท ต้องศึกษางานใหม่ ๆ หรืองานบางอย่างที่ต้องมาทำการฝึกฝนเพิ่มเติม เราจะเครียดไหม แน่นอนครับ ทุกคนรู้สึกเครียด และขยับเป็นซีเรียส เพราะต้องทำงานกันจริง ๆ จัง ๆ เล่นมาก เดินเล่นมาก งานก็เสร็จช้า ส่งผลต่อการวางแผงของวารสารรายเดือน เก็บเงินค่าโฆษณาไม่ได้ ก็จึงต้องทำงานกันอย่างจริงจัง หรือซีเรียสกับการทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องทำงานกันด้วยความเครียด เพราะมันเป็นเรื่องของการทำงานด้วยสมาธิ ศึกษางานแล้วทำอย่างรอบคอบ ลักษณะงานที่แต่ละคนรับผิดชอบมันก็ตรงกับความชำนาญอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มส่วนที่แต่ละคนพอจะยื่นมือเข้ามาช่วยกัน คิดในทางบวกก็คือเราได้เรียนรู้งานใหม่ และเพิ่มศักยภาพในการทำงานของตัวเราเอง ฝึกให้ชินกับการทำงานเพื่อความอยู่รอด เราก็จะทำงานยาก ๆ ได้สบายขึ้นในอนาคต ทำงานปกติให้คิดว่ามันเป็นการซ้อม เราก็ลดความกดดัน แต่จะได้ทักษะในการทำงานเพิ่มขึ้น เพราะเราผ่านเงื่อนไขบางเรื่องในการทำงานได้บ่อยครั้ง

          เป็นอย่างไรครับตัวอย่างที่ยกมา พอเห็นความต่างของการทำงานแบบซีเรียส กับทำงานแบบเครียดบ้างหรือยังครับ เอาอีกตัวอย่างนะครับ บริษัทนี้ก็เป็นบริษัททำสื่อสิ่งพิมพ์เหมือนกัน เพื่อนผมอีกคนทำงานเป็นบรรณาธิการ จากเดิมที่ทำงาน สบาย ๆ อ่านต้นฉบับแล้วก็เซ็นต์อนุมัติไป แต่ละเดือนก็มีหนังสือที่ยอดขายดีบ้าง น้อยบ้าง ไม่เป็นไร เฉลี่ยแล้วบริษัทก็มีเงินกำไรอยู่ พอเศรษฐกิจเข้ายุคฟองสบู่แตก ทุกอย่างต้องกำไร ต้องลดความเสี่ยงเหลือศูนย์ จึงต้องทำงานกันแบบเครียด และซีเรียส เพราะหมายถึงสถานภาพความมั่นคงทางการเงินของบริษัท เจอหน้ากันก็มองออกครับว่าเครียดเหลือเกิน เอาต้นฉบับไปให้อ่านก็ต้องเป็นฝ่ายปลอบบรรณาธิการว่า “ไม่เป็นไรนะ ค่อยๆ ดู อ่านแล้วดีค่อยเอาไปจัดพิมพ์ ไม่ต้องเครียด ผมเขียนให้อ่านแบบสบาย ๆ แล้ว” มันเป็นอย่างนี้จริง ๆ ครับ ในตอนนั้น

ทำงานแบบจริงจัง ต้องเครียดด้วยไหม
          บางคนเป็นไปตามอัตโนมัติ บางคนบอกว่าไม่เกี่ยวกันเลย ก็คงเป็นอย่างนี้จริง ๆ ครับ การทำงานที่จริงจัง ตั้งใจ กับคนบางคนที่ทำเป็นปกติเขาจะไม่ค่อยเดือดร้อนอะไรกับคำสั่ง หรือสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ต้องทำงานอย่างมีคุณภาพ มากขึ้น เวลาน้อยลง แต่กับคนที่ทำงานแบบสบาย ๆ ไม่ค่อยหาอะไรมาเสริมประโยชน์ให้กับตัวเองในการทำงาน ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ บางคนยอมลาออกด้วยความเครียด บางคนขอเงินเดือนเพิ่ม บางคนอดทนทำแบบไร้ความสุข ก็ต้องลองคิดบวกอย่างที่ผมกล่าวมาช่วงแรก เราเรียนเราฝึกเพิ่มเราก็เก่งขึ้น บริษัทอยู่ได้เราก็อยู่ได้ มันไปด้วยกันอยู่แล้ว ทีมเวิร์กดี จะต้องไปกลัวอะไร ว่ามั้ยครับ

          ผ่านไปหลายปีกับภาวะเศรษฐกิจ  “ฟองสบู่แตก” แต่มันจะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้เราท่านทำได้ดีในตอนนี้ก็คือ การฝึกซ้อมทำงานกันอย่างจริงจัง และมีสติ พอเจอสถานการณ์จริง เราก็สบายเพราะซ้อมหนักกันมาตลอด ปีกระต่ายจะร้ายกว่าปีเสือหรือไม่ ก็ขอให้คนทำงาน และเจ้านายทุกท่านทำงานกันอย่างไม่เครียดแต่ซีเรียสแล้วกันนะครับ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด