เนื้อหาวันที่ : 2011-06-20 14:56:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3495 views

การวัด การวิเคราะห์และการจัดการความรู้

การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ จะเป็นกระบวนการที่สำคัญในการจัดการกับสารสนเทศที่สำคัญทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com

           การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ จะเป็นกระบวนการที่สำคัญในการจัดการกับสารสนเทศที่สำคัญทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กร รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการทำให้เกิดความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันของการปฏิบัติการกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ขององค์กร โดยในหมวดนี้จะประกอบด้วย 2 หัวข้อหลัก ได้แก่
           * การวัด การวิเคราะห์ และการปรับปรุงผลการดำเนินการขององค์กร
           * การจัดการสารสนเทศ ความรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศ

1. การวัด การวิเคราะห์ และการปรับปรุงผลการดำเนินการขององค์กร
           ในหัวข้อนี้ต้องการให้องค์กรดำเนินการวัด วิเคราะห์ ทบทวน และปรับปรุงผลการดำเนินการ โดยการใช้ข้อมูลและสารสนเทศที่เกิดขึ้นในทุกระดับ และทุกส่วนงานขององค์กร เพื่อการจัดการกระบวนการขององค์กรให้บรรลุผลลัพธ์ และวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ตามที่กำหนดไว้ รวมถึงเพื่อการคาดการณ์ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว หรือไม่ได้คาดคิดทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยจะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อย่อย ได้แก่
           * การวัดผลการดำเนินการ
           * การวิเคราะห์และทบทวนผลการดำเนินการ
           * การปรับปรุงผลการดำเนินการ

           1.1 การวัดผลการดำเนินการ
           องค์กรจะต้องมีการดำเนินการ ในการคัดเลือก รวบรวม ปรับให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน และบูรณาการข้อมูลและสารสนเทศต่าง ๆ เพื่อติดตามการปฏิบัติการประจำวัน และผลการดำเนินการโดยรวมขององค์กร รวมถึงการติดตามความก้าวหน้าเทียบกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการที่ได้กำหนดไว้ โดยจะต้องมีการกำหนดดัชนีวัดผลการดำเนินการ ซึ่งครอบคลุมถึงดัชนีวัดทางด้านการเงินที่สำคัญทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย

           ทั้งนี้ องค์กรจะต้องมีการนำข้อมูลและสารสนเทศเหล่านี้มาใช้สนับสนุนการตัดสินใจในระดับองค์กร เพื่อกำหนดและปรับทิศทางขององค์กร รวมถึงนำมาจัดสรรทรัพยากรที่จะใช้ทั้งในระดับหน่วยงาน ในกระบวนการที่สำคัญ ในระดับฝ่าย และในระดับองค์กร ให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับทิศทางขององค์กร รวมถึงนำมาใช้ในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กรด้วย

           นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมีการเลือก และใช้ข้อมูลสารสนเทศเชิงเปรียบเทียบที่สำคัญ เพื่อนำมาสนับสนุนการตัดสินใจทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับกลยุทธ์ รวมถึงในการสร้างนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิผล โดยข้อมูลสารสนเทศเชิงเปรียบเทียบ จะได้มาจากการเทียบเคียงกับองค์กรอื่นด้วยกระบวนการเทียบเคียง (Benchmarking) และการค้นหาตัวเปรียบเทียบในเชิงการแข่งขัน ทั้งนี้ กระบวนการเทียบเคียง จะหมายถึง การค้นหาวิธีปฏิบัติ และผลการดำเนินการที่เป็นเลิศในกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ทั้งภายในกลุ่มหรือนอกกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนการเปรียบเทียบในเชิงการแข่งขัน เป็นการเปรียบเทียบผลการดำเนินการระหว่างองค์กรกับคู่แข่ง และองค์กรอื่นที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่คล้ายคลึงกัน

           การใช้ข้อมูลและสารสนเทศเชิงเปรียบเทียบ จะช่วย 
           * ให้องค์กรได้ทราบถึงระดับของตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ
           * ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
           * ทำให้เข้าใจกระบวนการ และผลการดำเนินการของกระบวนการดังกล่าวได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยสนับสนุนการวิเคราะห์และการตัดสินใจทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความสามารถพิเศษขององค์กร การสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการ และการตัดสินใจว่าจ้างให้องค์กรภายนอกดำเนินการแทน

           ดังนั้น การเลือกและใช้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบและสารสนเทศให้ได้อย่างมีประสิทธิผล องค์กรจะต้อง
           * กำหนดความจำเป็น และลำดับความสำคัญ 
           * กำหนดเกณฑ์ในการหาแหล่งเปรียบเทียบที่เหมาะสม ทั้งจากภายในและภายนอกอุตสาหกรรม และตลาด
           * ใช้ข้อมูลและสารสนเทศที่ได้ เพื่อมากำหนดเป้าประสงค์ที่ท้าทาย และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงแบบก้าวกระโดดในเรื่องที่สำคัญต่อกลยุทธ์เชิงแข่งขันขององค์กร

           นอกจากนั้น องค์กรยังต้องมีการดูแล เพื่อให้ระบบการวัดผลการดำเนินการ ทันกับความต้องการและทิศทางของธุรกิจอยู่เสมอ รวมถึงมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งภายในหรือภายนอกองค์กร หรือที่ไม่ได้คาดคิดไว้

           1.2 การวิเคราะห์ และทบทวนผลการดำเนินการ 
           องค์กรจะต้องมีการทบทวนผลการดำเนินการ และขีดความสามารถขององค์กร โดยจะต้องมีการกำหนดถึงสิ่งที่จะต้องทำการวิเคราะห์ เพื่อนำมาใช้ในการทบทวน และประเมินผลสำเร็จขององค์กร รวมถึงผลการดำเนินการในเชิงแข่งขัน และความก้าวหน้าเทียบกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนั้นยังนำมาใช้ในการประเมินความสามารถขององค์กรในการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านความต้องการขององค์กร และความท้าทายต่อสภาพแวดล้อมที่องค์กรดำเนินงานอยู่

           ในการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ จะประกอบด้วย การประเมินแนวโน้ม (Trend) ของผลการดำเนินการ การคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระดับองค์กร อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี รวมถึงการเปรียบเทียบผลการดำเนินการที่เกิดขึ้นกับคู่เปรียบเทียบ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล และการหาค่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อนำมาใช้สนับสนุนในการทบทวนผลการดำเนินการ รวมถึงช่วยให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหา และจัดลำดับความสำคัญของการใช้ทรัพยากร

           การทบทวนในระดับองค์กร จะครอบคลุมถึงผลการดำเนินการในทุกเรื่อง ทั้งในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อระบุถึงโอกาสในการปรับปรุง และการสร้างนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ ความสามารถพิเศษขององค์กร ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และตัววัดที่สำคัญขององค์กร ดังนั้น องค์ประกอบที่สำคัญของการทบทวนในระดับองค์กรคือ การแปลงผลการทบทวนไปเป็นนโยบายในเชิงปฏิบัติ ในระดับที่เพียงพอสำหรับการถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร และถ่ายทอดไปยังผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการที่เหมาะสม รวมถึงลูกค้าที่สำคัญด้วย

           ส่วนการวิเคราะห์ จะเป็นการดำเนินการเพื่อให้เข้าใจในผลการดำเนินการ และการปฏิบัติการที่จำเป็น ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด สภาพแวดล้อมด้านการแข่งขัน และปัจจัยอื่น ๆ ตัวอย่างของการวิเคราะห์ ได้แก่
           • การหาความสัมพันธ์ระหว่างการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์กับดัชนีชี้วัดที่สำคัญด้านลูกค้า เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า การรักษาลูกค้าไว้ และส่วนแบ่งตลาด
           • ต้นทุนและรายได้ที่เกิดขึ้นจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า และประสิทธิผลของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
           • การแปลความหมายของการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาดจากการได้และเสียลูกค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านความผูกพันของลูกค้า
           • แนวโน้มการปรับปรุงของดัชนีชี้วัดผลการดำเนินการที่สำคัญ เช่น ผลิตภาพ รอบเวลา การลดความสูญเสีย การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และระดับของเสีย
           • ความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้ระดับบุคคลและระดับองค์กร กับมูลค่าเพิ่มต่อพนักงาน
           • ผลประโยชน์ด้านการเงินที่เป็นผลมาจากการปรับปรุงความปลอดภัย การขาดงาน และการลาออกของบุคลากร
           • ผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาและฝึกอบรม ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ และโอกาสในการเรียนรู้ทางไกลแบบอื่น
           • ผลประโยชน์ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการปรับปรุงการจัดการ และการแบ่งปันความรู้ขององค์กร
           • ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการความรู้และนวัตกรรม
           • ความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการระบุ และตอบสนองความต้องการด้านขีดความสามารถ และอัตรากำลังบุคลากร กับการรักษาให้บุคลากรอยู่กับองค์กร การจูงใจ และผลิตภาพ
           • ต้นทุน และรายได้ที่เป็นผลมาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร และความมีประสิทธิผลของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
           • ดัชนีวัดของผลิตภาพและคุณภาพเปรียบเทียบกับผลการดำเนินการของคู่แข่ง
           • แนวโน้มของต้นทุนเปรียบเทียบกับแนวโน้มของคู่แข่ง
           • ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินการด้านการปฏิบัติการกับแนวโน้มผลการดำเนินการด้านการเงินโดยรวมที่สะท้อนให้เห็นในดัชนีชี้วัดต่าง ๆ เช่น ต้นทุนการดำเนินงาน รายได้ ประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ และมูลค่าเพิ่มต่อพนักงาน
           • การจัดสรรทรัพยากรระหว่างแผนงานปรับปรุงแบบต่าง ๆ โดยพิจารณาถึงต้นทุน/ประโยชน์ หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในภาพใหญ่
           • กำไรหรือการลดต้นทุนที่เป็นผลมาจากการปรับปรุงผลการดำเนินการด้านคุณภาพ ด้านการปฏิบัติการ และด้านบุคลากร
           • การเปรียบเทียบระหว่างหน่วยธุรกิจต่าง ๆ เพื่อแสดงผลของการปรับปรุงผลการดำเนินการด้านคุณภาพ และด้านการปฏิบัติการต่อผลลัพธ์ด้านการเงิน
           • ผลที่ได้รับจากกิจกรรมการปรับปรุงต่อกระแสเงินสด เงินทุนหมุนเวียน และคุณค่าต่อผู้ถือหุ้น
           • ผลกระทบด้านกำไรที่เกิดจากความภักดีของลูกค้า
           • ต้นทุนและรายได้ที่มาจากการเจาะตลาดใหม่ รวมทั้งการขยายสู่ตลาดโลก
           • ส่วนแบ่งตลาดเทียบกับกำไร
           • แนวโน้มทางเศรษฐกิจ ตลาด รวมทั้งดัชนีชี้วัดด้านคุณค่าต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผลกระทบของแนวโน้มดังกล่าวต่อความยั่งยืนขององค์กร

           1.3 การปรับปรุงผลการดำเนินการ 
           องค์กรจะต้องทำการแปลงผลการทบทวนผลการดำเนินการ เพื่อนำใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องทำการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และอย่างก้าวกระโดด รวมถึงโอกาสในการสร้างนวัตกรรม โดยจะต้องมีการถ่ายทอดเรื่องที่จัดลำดับความสำคัญไว้ และโอกาสในการสร้างนวัตกรรมไปยังกลุ่มงานและระดับปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร รวมถึงให้การสนับสนุนกับบุคคลเหล่านั้นในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้การถ่ายทอดดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการขององค์กร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีการนำไปปฏิบัติอย่างสอดคล้องไปแนวทางเดียวกันกับองค์กรด้วย

           ความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันและการบูรณาการ จะเป็นหลักการที่สำคัญของความสำเร็จในการนำระบบการวัดผลการดำเนินการมาใช้ โดยจะต้องพิจารณาถึงขอบเขตและความมีประสิทธิผลของการใช้งาน เพื่อให้ตรงกับความจำเป็นในการตรวจประเมิน และปรับปรุงผลการดำเนินการ

นอกจากนั้น ความสอดคล้องไปในทางเดียวกันและการบูรณาการ ยังครอบคลุมถึงวิธีการที่ทำให้ดัชนีวัดสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร และการบูรณาการเพื่อให้ได้ข้อมูลและสารสนเทศจากทั่วทั้งองค์กร รวมถึงวิธีการที่ผู้นำระดับสูงขององค์กร จะนำข้อกำหนดด้านการวัดผลการดำเนินการไปใช้ในการติดตามผลการดำเนินการทั้งในระดับกลุ่มงาน และกระบวนการในดัชนีวัดที่สำคัญ ที่กำหนดไว้ว่ามีความสำคัญต่อองค์กรโดยรวมหรือต่อการปรับปรุงต่อไป

2. การจัดการสารสนเทศ ความรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
           ในหัวข้อนี้ ต้องการให้องค์กรมีการดำเนินการในการดูแลให้ข้อมูล สารสนเทศ ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นสำหรับบุคลากร ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และลูกค้า โดยจะต้องมีคุณภาพและพร้อมใช้งาน รวมถึงการสร้างและจัดการกับสินทรัพย์ทางความรู้ขององค์กร ทั้งนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อย่อย ได้แก่
           * การจัดการข้อมูล สารสนเทศ และการจัดการความรู้
           * การจัดการทรัพยากรสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศ

           2.1 การจัดการข้อมูล สารสนเทศ และการจัดการความรู้
           องค์กรจะต้องมีการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ขององค์กร มีความแม่นยำ ถูกต้องและเชื่อถือได้ ทันเวลา ปลอดภัยและเป็นความลับ เนื่องจากแหล่งข้อมูลและสารสนเทศที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการใช้สารสนเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ในการปฏิบัติงานขององค์กร ดังนั้น องค์กรจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลให้ระบบดังกล่าว มีความน่าเชื่อถือ และพร้อมใช้งานในรูปแบบที่ง่าย และสะดวกต่อการนำมาใช้ รวมถึง จะต้องมีการดูแล เพื่อให้ข้อมูลและสารสนเทศที่จำเป็นมีความพร้อมใช้งาน และบุคลากร ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมถึงลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ตามที่ต้องการ

           นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมีการดำเนินการในการจัดการความรู้ขององค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อ
           • การรวบรวมและถ่ายทอดความรู้ของบุคลากร
           • การถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร ระหว่างองค์กรกับลูกค้า ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
           • ความรวดเร็วในการค้นหาและระบุ การแบ่งปัน และการนำวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศไปดำเนินการ
           • การรวบรวมความรู้และถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องไปใช้ในกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์

           ทั้งนี้ การจัดการความรู้ขององค์กร จะต้องมุ่งเน้นที่ความรู้ที่บุคลากรต้องนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน การปรับปรุงกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ และบริการ รวมถึงการทำให้ทันกับความต้องการและทิศทางของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ และการพัฒนาการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์

           ดังนั้น การจัดการ การใช้ การประเมิน และการแบ่งปันความรู้ขององค์กร ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่องค์กรต้องเผชิญในปัจจุบัน ทั้งนี้ องค์กรจะได้ประโยชน์จากสินทรัพย์ทางความรู้ของบุคลากร ลูกค้า ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อนำมาขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ระดับองค์กร และปรับปรุงผลการดำเนินการ

           2.2 การจัดการทรัพยากรสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
           องค์กรจะต้องดูแลให้มั่นใจได้ว่าฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในองค์กร มีความเชื่อถือได้ ปลอดภัย และใช้งานง่าย รวมถึงมีความพร้อมใช้งาน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น นอกจากนั้น จะต้องมีการดูแลให้ข้อมูลและสารสนเทศมีความพร้อมใช้งาน รวมถึงการดูแลให้ระบบฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์มีการปรับปรุงให้ทันกับความต้องการและทิศทางของธุรกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในสภาพแวดล้อมที่องค์กรดำเนินงานอยู่เสมอ

           ดังนั้น องค์กรควรมีการวางแผนในการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูล และสารสนเทศ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติหรือจากมนุษย์ โดยการวางแผน ควรจะคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดขององค์กร รวมทั้งบุคลากร ลูกค้า ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ ควรมีการประสานงานกัน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานโดยรวมขององค์กรด้วย

           จะเห็นได้ว่าทั้งการวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ จะช่วยให้องค์กรได้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถวางแผน และดำเนินการตามแผนงานได้อย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งในตอนต่อไป จะอธิบายถึงองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างของการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศได้อย่างยั่งยืน นั่นคือ ทรัพยากรบุคคล

เอกสารอ้างอิง
           * TQA Criteria for Performance Excellence 2553-2554, สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, 2553

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด