เนื้อหาวันที่ : 2011-06-17 14:52:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6276 views

ต้นทุน แนวคิดและการจัดประเภทต้นทุน (ตอนที่ 1)

ต้นทุนคือจำนวนที่จ่ายไป ทั้งที่เป็นการจ่ายจริง หรือต้นทุนในทางความคิดว่ามีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรม หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ต้นทุน
          ต้นทุนคือจำนวนที่จ่ายไป ทั้งที่เป็นการจ่ายจริง หรือต้นทุนในทางความคิดว่ามีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรม หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ โดยกิจกรรมหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะอาจจะเป็นได้ทั้งผลิตภัณฑ์ หน้าที่งาน การบริการ กระบวนการ หรือกิจกรรมอื่น ๆ

          ต้นทุนเป็นจำนวนของทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือการบริการในลักษณะต่าง ๆ ทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้อาจจะเป็นเงิน หรือสิ่งอื่นใด ที่วัดค่าเป็นหน่วยเงินตรา คำว่า “ต้นทุน” สั้น ๆ เพียงอย่างเดียวนั้นไม่มีความหมายที่มีนัยสำคัญสักเท่าใดนัก ด้วยเหตุนี้จึงมักจะมีคำอื่น ๆ มาใช้ร่วมด้วย หรือมีคำต่อพ่วงในการขยายความ เพื่อให้คำว่าต้นทุนนั้นมีความหมายที่มีนัยสำคัญต่อการนำไปประยุกต์ในกรณีต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ขั้นต้น (Prime) ทางตรง (Direct) ทางอ้อม (Indirect) คงที่ (Fixed) ผันแปร (Variable) ควบคุมได้ (Controllable) โอกาส (Opportunity) แตกต่าง (Differential) และอื่น ๆ คำที่ถูกนำมาใช้เพื่อการขยายในลักษณะต่าง ๆ นั้นจะได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ตามลักษณะเฉพาะของรายการต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความหมายสำคัญในการคำนวณต้นทุน การวัดค่าต้นทุนและการวิเคราะห์ต้นทุน

          โดยพื้นฐานแล้ว เมื่อมีรายการต้นทุนเกิดขึ้น ต้นทุนรายการนั้นจะถูกจัดอยู่ว่าควรจะอยู่ในส่วนของประโยชน์ที่พึงได้รับต่อไปในอนาคต (สินทรัพย์) หรือกลุ่มที่หมดประโยชน์แล้ว (ค่าใช้จ่าย) ต้นทุนส่วนที่ยังให้ประโยชน์ได้นั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ต้นทุนที่ยังไม่หมดประโยชน์ ต้นทุนการจ่ายลงทุน ซึ่งจะได้รับประโยชน์ในอนาคตต่อไปได้ รายการต้นทุนกลุ่มนี้จะรายงานให้เห็นได้ในงบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล) ตัวอย่างรายการต้นทุนในกลุ่มนี้ เช่น ต้นทุนของอาคาร โรงงาน สำนักงาน เครื่องจักร สินค้าคงเหลือ ค่าเช่า หรือค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายล่วงหน้า เมื่อทรัพยากรดังกล่าวถูกนำมาใช้งาน

หรือเมื่อเวลาผ่านไป การสึกหรอตามสภาพ หรือปัจจัยแวดล้อม รายการต้นทุนเหล่านั้นจะถูกรับรู้ส่วนที่สูญเสียไปเป็นค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อการคำนวณกำไรขาดทุนของกิจการในแต่ละรอบระยะเวลาต่อไป โดยการนำไปหักออกจากรายได้ของกิจการ ส่วนต้นทุนที่หมดประโยชน์แล้วเป็นต้นทุนที่ได้รับประโยชน์ไปเรียบร้อยแล้วรอบระยะเวลาที่มีรายการต้นทุนเหล่านั้นเกิดขึ้น โดยจะเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือมีความสัมพันธ์กัน เกี่ยวข้องกันกับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาเดียวกัน รายการต้นทุนที่ถูกรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะถูกนำไปหักออกจากรายได้ ทำให้ทราบว่ารอบระยะเวลาหนึ่ง ๆ มีผลการดำเนินงานเป็นกำไร หรือขาดทุน จำนวนมากน้อยเท่าใด

ค่าใช้จ่าย
          ค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนที่หมดประโยชน์แล้ว และเป็นส่วนที่ช่วยก่อให้เกิดรายได้ ตัวอย่างรายการต้นทุนที่หมดประโยชน์ เช่น ต้นทุนสินค้าขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารงาน รายการที่เป็นค่าใช้จ่ายนั้นไม่จำเป็นว่าต้องมีการจ่ายเงินไปในทันทีที่มีรายการเกิดขึ้น เพียงว่าจะต้องมีการจ่ายชำระให้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคตเท่านั้นก็สามารถรับรู้รายการต้นทุนนั้นเป็นค่าใช้จ่ายได้ทันที ต้นทุนการผลิตเป็นการจ่ายเพื่อการลงทุนในรูปของสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือและเมื่อขายสินค้าสำเร็จรูปดังกล่าวได้ ต้นทุนการผลิตที่สะสมไว้ในสินค้าสำเร็จรูปจะหมดประโยชน์ไป จึงรับรู้ต้นทุนในสินค้าสำเร็จรูปส่วนที่ขายได้เป็นค่าใช้จ่ายได้ทันที

โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะรายงานในบัญชีต้นทุนสินค้าขาย ต้นทุนสินค้าที่ขายเป็นค่าใช้จ่ายที่จะนำไปแสดงเป็นรายการหักออกจากรายได้จากการขาย หรือยอดขาย เนื่องจากต้นทุนที่สะสมในสินค้าสำเร็จรูปที่ขายไปได้นั้นเป็นส่วนที่มีผลต่อการก่อให้เกิดรายได้ของกิจการส่วนต้นทุนการผลิตในสินค้าสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้ขายออกไปนั้น จะยังคงเป็นสินทรัพย์ของกิจการต่อไปจนกว่าจะขายได้ เนื่องจากในอนาคตจะยังได้รับประโยชน์จากต้นทุนส่วนนี้ในรอบระยะเวลาที่การขายสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือนี้ออกไป

          ค่าใช้จ่ายในการผลิต หรือค่าใช้จ่ายในโรงงานเป็นต้นทุนที่ถูกจัดประเภทเป็นสินทรัพย์ เนื่องจากต้นทุนในส่วนนี้ได้ถูกรวมไว้ในสินค้าสำเร็จรูปด้วยเช่นกัน ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารจะไม่ถูกจัดรวมอยู่ในสินค้าสำเร็จรูปซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาใด เมื่อไหร่ก็ตามจะถูกจัดประเภทเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่หมดประโยชน์แล้วเท่านั้น จึงต้องนำไปแสดงในการคำนวณกำไร (ขาดทุน) ประจำรอบระยะเวลานั้น ๆ

          ค่าใช้จ่ายในการผลิต หรือค่าใช้จ่ายในโรงงานเป็นสินทรัพย์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้กระบวนการผลิตดำเนินการต่อไปได้ จนกระทั่งได้เป็นสินค้าสำเร็จรูปออกมา ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ทำให้เกิดคุณค่าของสินค้าที่ได้มา ตัวอย่างรายการค่าใช้จ่ายในการผลิต หรือค่าใช้จ่ายในโรงงาน เช่น ค่าเสื่อมราคาของอาคาร โรงงาน หรือเครื่องจักร ค่าสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต เงินเดือนผู้ควบคุมงาน ค่าใช้จ่ายดังที่ได้กล่าวถึงนั้นจะถูกสะสมรวมไว้ในบัญชีงานระหว่างทำ หรือสินค้าระหว่างผลิต เมื่อกระบวนการผลิตเสร็จเรียบร้อยต้นทุนที่อยู่ในงานระหว่างทำ หรือสินค้าระหว่างผลิตจะถูกโอนต่อไปยังบัญชีสินค้าสำเร็จรูป

แต่ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารนั้นไม่ได้มีส่วนที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้าสำเร็จรูปแต่อย่างใด เมื่อใดที่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นจึงต้องรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในทันที ทั้งนี้เพื่อจะได้นำไปหักออกจากรายได้ที่เกิดขึ้นในงวดเวลาเดียวกันกับการเกิดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร กล่าวได้ในลักษณะทำนองเดียวกันว่า ค่าเสื่อมราคาอาคารโรงงานในส่วนการผลิตเป็นต้นทุน แต่ค่าเสื่อมราคาอาคารสำนักงานเป็นค่าใช้จ่าย

ขาดทุน
          ขาดทุนเป็นต้นทุนส่วนที่สูญไป คำว่า “ขาดทุน” ถูกนำมาใช้ในการอธิบายเหตุการณ์หลัก ๆ ในทางบัญชี 2 เหตุการณ์คือ ในทางบัญชีการเงินแต่ดั้งเดิม ขาดทุนถูกนำไปใช้เพื่อแสดงว่า เป็นสถานการณ์ที่ค่าใช้จ่ายมีจำนวนมากกว่ารายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาเดียวกันนั้น ส่วนต่างของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่มากเกินกว่ารายได้เรียกว่า ผลขาดทุน ดังนั้นในทางตรงกันข้าม “กำไร” จะถูกนำมาใช้เพื่อแสดงให้ทราบว่า เป็นสถานการณ์ที่ค่าใช้จ่ายมีจำนวนน้อยกว่ารายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาเดียวกัน ส่วนต่างของรายได้ที่มากกว่าค่าใช้จ่ายจึงเรียกว่าเป็นผลกำไร

          ประการที่สอง ผลขาดทุนเกิดขึ้นเนื่องจาก ต้นทุนของสินทรัพย์มีจำนวนมากกว่ารายได้จากการขาย เมื่อมีการขายสินทรัพย์นั้นออกไป เหตุการณ์ที่กล่าวถึงผลขาดทุนนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะพึงพอใจให้เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมการดำเนินงานโดยปกติของกิจการใด ความหมายของผลขาดทุนถูกใช้เพื่ออธิบายผลในทางตรงกันข้ามกับการเกิดขึ้นของผลกำไร กล่าวคือ ไม่มีผลประโยชน์ใดที่ได้รับกลับคืนมาจากรายการ หรือเหตุการณ์ที่มีต้นทุน หรือจากการเปลี่ยนสภาพเป็นค่าใช้จ่ายตามคำนิยามข้างต้น ต้นทุนส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปในครั้งนั้น ๆ

          ผลขาดทุนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับการก่อให้เกิดรายได้ และเป็นสิ่งที่ไม่นำไปชดเชยกับรายได้ของรอบระยะเวลาที่มีผลขาดทุนเกิดขึ้นนั้น ตัวอย่างเช่น ผลขาดทุนอันเนื่องจากการขายสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

การจัดประเภทต้นทุน
          การจัดประเภทต้นทุนอาจจะนิยามได้ว่า เป็นการอธิบายถึงกระบวนการของการจัดกลุ่มต้นทุนโดยพิจารณาจากลักษณะโดยเฉพาะของต้นทุนแต่ละรายการ การจัดประเภทต้นทุนนั้นมีวัตถุประสงค์หลายประการ ขึ้นอยู่กับความต้องการของฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตามการจัดประเภทต้นทุนต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งที่มีการนำไปใช้ประโยชน์กันโดยทั่วไป และเป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญต่อการนำไปประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์ทางธุรกิจหลาย ๆ กรณี
          1. การประมาณการต้นทุนผลิตภัณฑ์สำหรับมูลค่าสินค้าคงเหลือและการวัดผลกำไร
          2. การวางแผนการดำเนินงาน
          3. การตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ 
          4. การควบคุมการปฏิบัติงาน
          การจัดประเภทต้นทุนทำได้แตกต่างกันไปในแต่ละกรณี ดังนี้
          1.ลักษณะโดยธรรมชาติของต้นทุน 
          1.1 วัตถุดิบทางตรง
          1.2 แรงงานทางตรง
          1.3 ค่าใช้จ่ายทางตรง
          1.4 ค่าใช้จ่ายโรงงาน หรือค่าใช้จ่ายในการผลิต
          1.5 ค่าใช้จ่ายในการขายและการจัดจำหน่าย การบริหารงาน
          2. พฤติกรรมต้นทุน (พิจารณาความเกี่ยวข้องกันที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในผลผลิต กิจกรรม หรือปริมาณ)
          2.1 ต้นทุนคงที่
          2.2 ต้นทุนผันแปร
          2.3 ต้นทุนผสม (ต้นทุนกึ่งผันแปรและต้นทุนกึ่งคงที่)
          3. ระดับการตรวจสอบต้นทุนย้อนกลับเข้าสู่หน่วยผลิตภัณฑ์
          3.1 ต้นทุนทางตรง
          3.2 ต้นทุนทางอ้อม
          4. ระดับการเชื่อมโยงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์
          4.1 ต้นทุนผลิตภัณฑ์
          4.2 ต้นทุนงวดเวลา
          5. การจำแนกต้นทุนตามหน้าที่
          5.1 ต้นทุนการผลิต
          5.2 ต้นทุนในการขายและการจัดจำหน่าย
          5.3 ต้นทุนในการบริหารงาน
          6. การจำแนกต้นทุนตามความเกี่ยวข้องกับรอบระยะเวลาบัญชี
          6.1 ต้นทุนเพื่อการจ่ายลงทุน
          6.2 ต้นทุนเพื่อก่อให้เกิดรายได้
          7. ต้นทุนสำหรับการวางแผนและการตัดสินใจ
          7.1 ต้นทุนเสียโอกาส
          7.2 ต้นทุนจม
          7.3 ต้นทุนที่เกี่ยวข้อง
          7.4 ต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เกิดจากการประมาณการ
          7.5 ต้นทุนส่วนที่แตกต่าง
          7.6 ต้นทุนจ่ายจริงเป็นเงินสด
          7.7 ต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปรและต้นทุนผสม
          7.8 ต้นทุนปิดโรงงานชั่วคราว
          8. ต้นทุนเพื่อการควบคุม
          8.1 ต้นทุนที่ควบคุมได้และต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้
          8.2 ต้นทุนมาตรฐาน
          8.3 ต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปรและต้นทุนผสม
          9. ต้นทุนอื่น ๆ 
          9.1 ต้นทุนร่วม
          9.2 ต้นทุนทั่วไป

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด