เนื้อหาวันที่ : 2007-03-27 14:47:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6345 views

ปัจจัยการวัดประสิทธิผลสำหรับผู้ประกอบการ

แนวคิดการวัดประสิทธิผล ในงานอุตสาหกรรมเป็นประเด็นหนึ่งที่กล่าวถึงบ่อยในแวดวงธุรกิจการผลิต โดยเฉพาะแนวคิดการวัดสมรรถนะโดยรวม ซึ่งมีองค์ประกอบหลักนั่นคือ ความพร้อมเดินเครื่องจักร ผลิตผลจากสายการผลิต และต้นทุนอายุการใช้งาน

ปัจจุบันแนวคิดการวัดประสิทธิผลโดยรวมในงานอุตสาหกรรม  เป็นประเด็นหนึ่งที่กล่าวถึงบ่อยในแวดวงธุรกิจการผลิต โดยเฉพาะแนวคิดการวัดสมรรถนะโดยรวม  มีองค์ประกอบหลักนั่นคือ ความพร้อมเดินเครื่องจักร ผลิตผลจากสายการผลิต และต้นทุนอายุการใช้งาน  จะมีความสำคัญต่อการประเมินประสิทธิผลและลำดับความสำคัญการจัดสรรทรัพยากร  ดังนั้นการดำเนินการจึงเริ่มจากการศึกษาสภาวะตลาดและวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เพื่อประเมินแนวทางเพิ่มความสามารถทำกำไร  เป็นปัจจัยในการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจและการตัดสินใจการลงทุนสินทรัพย์อย่างเหมาะสม  สำหรับปัจจัยต้นทุนการบำรุงรักษา  มักมีการประเมินเป็นสัดส่วนของมูลค่าสินทรัพย์การเปลี่ยนทดแทน (Replacement asset value:RAV)  ที่นิยมใช้เป็นตัวชี้วัดสมรรถนะ และการเทียบเคียงในงานอุตสาหกรรม  แต่มาตรวัดดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงปัจจัยอายุเครื่องจักรและสภาพการใช้งาน  ดังนั้นการวัดประสิทธิผลสำหรับผู้ประกอบการประกอบด้วยปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

.

การบริหารอายุการใช้งานเครื่องจักร

.

การบริหารอายุการใช้งานเครื่องจักรเป็นการวัดผลทางการเงิน  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรวัดความสำเร็จของธุรกิจ ดังนั้น ELM จึงประเมินปัจจัยที่มีผลกระทบต่อต้นทุนความเป็นเจ้าของ  ประกอบด้วย การออกแบบที่เหมาะสม การติดตั้ง และการปฏิบัติงาน เนื่องจากต้นทุนที่เกิดขึ้นประมาณ 60 % ของต้นทุนบำรุงรักษาอายุการใช้งาน  เกิดจากปัญหาความบกพร่องจากปัจจัยดังกล่าว  ซึ่งผลการศึกษาได้ยืนยันว่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุดจะเกิดต้นทุนอายุการใช้งานต่ำสุด  นั่นแสดงว่าสินทรัพย์เครื่องจักรมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความสามารถทำกำไร และสามารถประเมินด้วยแบบจำลองการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Added:EVA) เป็นการวัดกระบวนการสร้างคุณค่าที่มีประสิทธิผลกว่าผลตอบแทนจากการลงทุน และการวัดผลจากต้นทุนบำรุงรักษาตามสัดส่วนของมูลค่าสินทรัพย์การเปลี่ยนทดแทน

.

 

.

.

รูปที่ 1 แบบจำลองการวัดผลตอบแทนการลงทุน

.

ดังนั้น EVA จึงถูกใช้เป็นมาตรวัดทางการเงินเพื่อแสดงมูลค่าทางประสิทธิผลเครื่องจักร  ดังนั้น EVA  ทำให้ผู้บริหารสามารถวัดผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อใช้ตัดสินใจทางกลยุทธ์ธุรกิจ และการลงทุนในสินทรัพย์ทุน ดังเช่น เครื่องจักรและปัจจัยการผลิต  สอดคล้องกับแนวคิดการบริหารตามมูลค่า และการวิเคราะห์มูลค่าเพิ่มของผู้ถือหุ้น  

.

 

..

.

รูปที่ 2 การเชื่อมโยงระหว่างงบการเงินกับมูลค่าเพิ่มของผู้ถือหุ้น

 .
แบบจำลองมูลค่าผู้ประกอบการ

สำหรับแผนภูมิการไหล ดังรูปที่ 2 ได้แสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบมูลค่าผู้ประกอบการ  โดยเฉพาะทางด้านบนของรูปที่ 3 แสดงถึงปัจจัยที่จำเป็นในการประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์  คำนวณด้วยผลกำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี ลบด้วย ต้นทุนของทุน  หากค่า EVA ที่คำนวณได้มีค่าเป็นบวกนั่นแสดงถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้น  แต่หากผลลัพธ์มีค่าเป็นลบก็แสดงถึงมูลค่าที่ถดถอย  สำหรับผลการศึกษาองค์กรข้ามชาติ  ส่วนใหญ่พบว่าในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเติบโต  จะกำหนดเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าหรือ EVA สูงกว่า 20 % และในช่วงที่ภาวการณ์ลงทุนไม่อำนวย ได้ระบุมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่า 0 % ส่วนช่วงล่างของแผนภาพแสดงถึงฝ่ายปฏิบัติงานสนับสนุนที่มีการเชื่อมโยงระหว่างกันและช่วงกลางของแผนภาพแสดงแนวคิด OEE ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับยอดขาย

.

.

 

.

รูปที่ 3 แบบจำลองปัจจัยมูลค่าผู้ประกอบการกับมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์

 .

.

รูปที่ 4 องค์ประกอบประสิทธิผลเครื่องจักรโดยรวม(OEE)

.

ประสิทธิผลเวลาการผลิต

สำหรับประสิทธิผลเวลาการผลิต (Timed Production Effectiveness:TPE)  เป็นการขยายขอบเขตของ OEE ด้วยการรวมปัจจัยต้นทุนแปรสภาพที่มีบทบาทต่อความสามารถทำกำไรขององค์กร โดยแสดงด้วยความสัมพันธ์ดังนี้

.

TPE  = อัตราผลิตผลจากสายการผลิต x ความพร้อมทางเวลา x ประสิทธิผลการแปรสภาพ

.

อัตราผลิตผลจากสายการผลิต  คิดจากผลิตผลที่สอดคล้องตามข้อกำหนด  เทียบกับปริมาณผลิตผลตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังพิจารณาปัจจัยเวลาการผลิต  ที่สะท้อนถึงผลิตผลที่เกิดขึ้นมีความสอดคล้องกับกำหนดการ เนื่องจากผลิตผลที่เกิดขึ้นจริงอาจสูงกว่าที่ระบุไว้ในกำหนดการ นั่นคือ Production output อาจสูงกว่า 1  แต่หากผลิตผลที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับข้อกำหนด และต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาเป้าหมายก็จะส่งผลต่อรายได้ที่ลดลง  ผลคูณระหว่างอัตราผลิตผลจากสายการผลิตกับความพร้อมทางเวลาแสดงด้วยประสิทธิผลสินทรัพย์

.

ความพร้อมทางเวลา เป็นปริมาณเวลาของเครื่องจักรหรือองค์ประกอบของระบบ  สามารถดำเนินการสร้างผลิตผลเมื่อเทียบกับเวลาตามตารางการผลิต  ดังนั้นความพร้อมทางเวลาจึงสะท้อนถึงสภาพการเดินเครื่องและความพร้อมของสายการผลิต

.

ประสิทธิผลการแปรสภาพ  จะถูกใช้สำหรับวัดประสิทธิภาพของแต่ละองค์ประกอบของระบบหรือหน่วยการผลิต สามารถประเมินได้จากต้นทุนแปรสภาพตามแผนเทียบกับต้นทุนแปรสภาพที่เกิดขึ้นจริง นั่นคือ หากต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่างบประมาณหรือต้นทุนที่ระบุไว้ในแผนก็แสดงถึงประสิทธิผลสูงขึ้น โดยต้นทุนแปรสภาพจะต้องครอบคลุมถึง ค่าระบบสาธารณูปโภค ค่าเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษา  ค่าใช้จ่ายทางสำนักงาน และต้นทุนการกำจัด

.

.

รูปที่ 5

.

สำหรับองค์กรชั้นนำจะให้ความสำคัญต่อประสิทธิผลการแปรสภาพ  โดยมีการติดตามประเมินผลด้วยต้นทุนแปรสภาพที่ลดลงและการลดอัตราการเกิดของเสีย  ดังนั้นจึงได้มุ่งฝึกอบรมบุคลากรให้มีทักษะการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถลดความผิดพลาดในขณะปฏิบัติงาน  นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อใช้สำหรับการประเมินผลได้อย่างแม่นยำ

.
เอกสารอ้างอิง

- โกศล  ดีศีลธรรม, การจัดการบำรุงรักษาสำหรับงานอุตสาหกรรม, .เอ็มแอนด์อี จำกัด, 2547.

- โกศล  ดีศีลธรรม, เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยแนวคิดลีน, .ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด(มหาชน), 2547.

- โกศล  ดีศีลธรรม, การสร้างประสิทธิผลระบบบำรุงรักษา, .ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด(มหาชน), 2548.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด