เนื้อหาวันที่ : 2007-03-21 12:56:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5825 views

ภัยเงียบท่อเย็น

การหุ้มฉนวนท่อร้อนซึ่งวัตถุประสงค์ของการหุ้มฉนวนคือ เพื่อป้องกันความร้อนสูญเสียสู่บรรยากาศรอบ ๆ ท่อ และเนื่องจากผิวท่อมีอุณหภูมิสูง ฉนวนจึงใช้รักษาความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน ส่วนท่อเย็นหรือท่อที่ใช้ลำเลียงของไหลที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ อุณหภูมิผิวท่อจะต่ำจึงไม่มีปัญหาเรื่องอันตรายจากการสัมผัสผิวท่อ

บทความเรื่องฉนวนในฉบับก่อน พูดถึงการหุ้มฉนวนท่อร้อนซึ่งวัตถุประสงค์ของการหุ้มฉนวนคือ เพื่อป้องกันความร้อนสูญเสียสู่บรรยากาศรอบ ๆ ท่อ และเนื่องจากผิวท่อมีอุณหภูมิสูง ฉนวนจึงใช้รักษาความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน ส่วนท่อเย็นหรือท่อที่ใช้ลำเลียงของไหลที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ อุณหภูมิผิวท่อจะต่ำจึงไม่มีปัญหาเรื่องอันตรายจากการสัมผัสผิวท่อ แต่ปัญหาของท่อเย็นก็ใช่ว่าจะไม่มี นอกจากการสูญเสียความเย็นซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานในการทำความเย็นแล้วยังมีปัญหาการควบแน่นของไอน้ำเป็นน้ำบริเวณผิวท่อทำให้เกิดการผุกร่อนของท่อ การผุกร่อนของท่อเปรียบเสมือนมะเร็งร้าย ที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ (มักถูกมองข้าม) จนลุกลามไปเรื่อย ๆ จนท่อทะลุ และการควบแน่นยังเป็นการสะสมของหยดน้ำบริเวณพื้นที่อับชื้นกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่าง ๆ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้ใช้งานบริเวณนั้น ๆ

.

สาเหตุของการผุกร่อนท่อเย็น

.

ถึงแม้ว่าท่อเย็นจะได้รับการหุ้มฉนวน แต่ก็ยังพบเห็นการผุกร่อนของท่อเย็นอยู่เสมอ สาเหตุของการผุกร่อนมีหลายสาเหตุดังนี้

1. ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศบริเวณรอบ ๆ ท่อ เนื่องจากสภาพอากาศของประเทศไทยเป็นแบบร้อนชื้น อุณหภูมิจุดน้ำค้าง (Dew Point Temperature) ค่อนข้างสูง (อุณหภูมิจุดน้ำค้าง คืออุณหภูมิที่ไอน้ำในอากาศอยู่ในสภาวะอิ่มตัว ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านี้ไอน้ำจะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ) ดังนั้นถ้าอุณหภูมิจุดน้ำค้างสูง ความสามารถในการดูดซึมไอน้ำของอากาศจึงน้อย ทำให้ไอน้ำควบแน่นกลายเป็นน้ำได้ง่าย ความชื้นจึงเป็นปัญหาใหญ่ต่อการผุกร่อนของท่อเย็น

.

ความชื้นบริเวณรอบ ๆ ท่อ จะทำให้ฉนวนเสื่อมสภาพ เนื่องจากเมื่อความร้อนถูกถ่ายเทผ่านช่องว่างอากาศภายในเนื้อฉนวน และถ้าฉนวนมีรอยขีดข่วน ทำให้ความชื้นแทรกอยู่ในโพรงอากาศ ซึ่งเนื่องมาจากค่าการนำความร้อน (k) ของน้ำเท่ากับ 0.6 W/mK เมื่อเปรียบเทียบกับอากาศซึ่งมีค่าการนำความร้อนเพียง 0.026 W/mK ดังนั้นเมื่อมีความชื้นแทรกสู่ผิวท่อได้มากก็จะทำให้ฉนวนป้องกันการถ่ายเทความร้อนได้ลดลง ดังนั้นควรหุ้มฉนวนหนาเพียงพอที่อุณหภูมิผิวด้านนอกของฉนวนไม่ต่ำกว่าอุณหภูมิจุดน้ำค้าง ดังตารางที่ 1 แสดงค่าความหนาของฉนวนท่อเย็นที่เหมาะสม ที่ความชื้นสัมพัทธ์และขนาดท่อต่าง ๆ จะเห็นว่าที่ขนาดท่อเท่ากัน ถ้าความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มขึ้นความหนาของฉนวนที่เหมาะสมก็จะมากขึ้น

.

.

ตารางที่ 1 ความหนาฉนวนที่เหมาะสมที่สภาวะความชื้นต่าง ๆ

.

หมายเหตุ     

- อุณหภูมิอากาศรอบ ๆ ท่อ 25 C
- อุณหภูมิของไหลในท่อ 5 C
ฉนวนมีค่า k = 0.02 W/mK    
ค่าสัมประสิทธิ์การพาความร้อนของอากาศรอบท่อ (ho) 30 W/m2K (ลมสงบ)

ถ้าความหนาของฉนวนไม่เหมาะสม จะเกิดการควบแน่นของไอน้ำในอากาศเป็นหยดน้ำบริเวณผิวท่อ

.

2. อุณหภูมิของไหลในท่อ ถ้าเป็นท่อเย็นระบบปรับอากาศหรือน้ำเย็นใช้ในกระบวนการผลิต อุณหภูมิน้ำเย็นด้านจ่ายประมาณ 5-6 C ในขณะที่น้ำเย็นด้านกลับมีอุณหภูมิ 12-15 C โดยทั่วไปท่อเย็นด้านจ่ายจะมีปัญหาการผุกร่อนผิวท่อมากกว่าท่อน้ำเย็นกลับ และยิ่งถ้าเป็นท่อสารทำความเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 C ฉนวนต้องหนาขึ้นเพื่อป้องกันการถ่ายเทความร้อน 

.

3. การหุ้มฉนวนท่อเย็น ฉนวนหุ้มท่อเย็นที่นิยมใช้คือ โฟมยืดหยุ่น (Elastomeric Foam) หรือโฟมยาง เป็นฉนวนเซลล์ปิดมีเซลล์ชิดกันมาก มีค่าการดูดซับความชื้นต่ำ ต้านทานการแทรกซึมความชื้นได้ดี แต่ฉนวนโฟมยืดหยุ่นชำรุดง่าย หากไม่มีการหุ้มผิวฉนวนให้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ลับตา เกิดรอยขีดข่วนจาก แมว ก็ทำให้เกิดช่องว่างอากาศ ความชื้นแทรกไปในโพรงอากาศ จึงควรหุ้มแจ็กเกต อะลูมิเนียม ซึ่งถึงแม้ว่ามีค่าการนำความร้อนสูงแต่มันมีค่า Emissivity สูง จึงช่วยลดความชื้นแทรกซึมสัมผัสผิวท่อ 

.

4. ขนาดท่อ ท่อใหญ่ขึ้น ที่ใช้งานในบริเวณเดียวกัน มีความชื้นสัมพัทธ์เท่ากัน ความหนาของฉนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ดังตารางที่ 1 แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ บริเวณข้อต่อ วาล์ว เกจวัดความดัน เกจวัดอุณหภูมิ และท่อขนาดเล็ก ซึ่งหุ้มฉนวนได้ยาก มักจะเป็นต้นเหตุของการผุกร่อนลุกลามไปที่ท่อ 

.

.

เราสามารถจัดการกับภัยเงียบของท่อเย็นได้อย่างไร

.

การผุกร่อนของผิวท่อด้านในส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุทางกายภาพและเคมีซึ่งมองไม่เห็น ในขณะที่การผุกร่อนท่อด้านนอกสามารถป้องกันและแก้ไขได้ไม่ยากดังนี้

1. หมั่นตรวจสอบจุดที่เริ่มเกิดการควบแน่น มีหยดน้ำ โดยเน้นบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องเครื่อง ห้องหม้อไอน้ำ ห้องชาร์ป ดาดฟ้าหลังคา ท่อน้ำเย็นด้านจ่าย รอยต่อ วาล์ว

2. หุ้มฉนวนทุกจุด ข้อต่อ ข้องอ วาล์ว เกจ สเตรนเนอร์ และเลือกความหนาฉนวนให้เพียงพอต่อการป้องกันการควบแน่นตามพื้นที่ ๆ ท่อพาดผ่าน เช่นท่อขนาด 3.5 นิ้ว (90 มม) ผ่านบริเวณที่มี RH 70% ควรใช้ฉนวนที่มีค่าk = 0.02 W/mK หนา 0.3 นิ้ว (7 มม) แต่ถ้า RH 80% ควรใช้ฉนวนหนา 0.5 นิ้ว (12มม) เป็นต้น

3. ป้องกันการเกิดสนิม โดยทาสีป้องกันสนิมรอบ ๆ ท่อก่อนที่จะหุ้มฉนวน

4. หุ้มฉนวนด้วยแจ็กเกตโลหะ อลูมิเนียม หรือ พีวีซี อีกชั้น เพื่อป้องกันความชื้นแทรกซึม ป้องกันการขีดข่วน ส่วนบริเวณรอยต่อซึ่งเป็นจุดสำคัญมาก ต้องซีลด้วยซิลิโคนหรือกาวกันน้ำอย่างดี

5. ป้องกันการชำรุดทางกายภาพ โดยการทำทางข้ามหรือสะพานข้ามท่อหุ้มฉนวนเพื่อไม่ให้ใครไปเยียบท่อ

.

เพียงเท่านี้ เราก็สามารถป้องกันการผุกร่อนอันเป็นภัยเงียบที่คุกคามท่อเย็น และแน่นอนว่า เราใช้พลังงานลดลง ในการผลิตน้ำเย็น

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด