เนื้อหาวันที่ : 2011-05-12 09:17:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5424 views

การฟื้นฟูระบบไฟฟ้ากำลัง อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรหลังน้ำท่วม

เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม การแก้ไขและฟื้นฟูระบบไฟฟ้ากำลังและเครื่องจักรในกระบวนการผลิตจึงมีรายละเอียดและขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเพื่อทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้ตามเดิม

การฟื้นฟูระบบไฟฟ้ากำลัง อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรหลังน้ำท่วม
(Flood Repair of Electrical Equipment)

ขวัญชัย กุลสันติธำรงค์
kwanchai2002@hotmail.com


 
          ในสถานการณ์ที่น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายสิบปี เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม การแก้ไขและฟื้นฟูระบบไฟฟ้ากำลังและเครื่องจักรในกระบวนการผลิตจึงมีรายละเอียดและขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเพื่อทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้ตามเดิม

โดยต้องมีการวิเคราะห์ ตรวจสอบ ซ่อมแซม รวมถึงต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่หรืออุปกรณ์ใหม่เพื่อทำให้ระบบไฟฟ้ากำลังและกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและถูกต้อง
 
การประเมินความเสียหายขั้นต้น (Initial Damage Assessment)
          ขั้นตอนแรกของการประเมินความเสียหายของอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรจากภัยน้ำท่วม คือการรวบรวมแบบและเอกสารที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่และสำรวจ (Walkthrough) ระบบไฟฟ้ากำลังที่ติดตั้งอยู่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในสภาพหลังน้ำลด แบบและเอกสารที่ต้องการอาจจะเสียหายหรือสูญหายจนใช้การไม่ได้

รูปที่ 1 ภาพตัวอย่างแสดงขยะหรือสิ่งตกค้างที่อยู่ภายในบริเวณสถานีไฟฟ้าย่อยหลังน้ำลด

          การตรวจดูสภาพความเสียหายต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และประสบการณ์ของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ต้องจำไว้ว่าการตรวจดูสภาพความเสียหายในขั้นตอนนี้เป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้น (Preliminary) เท่านั้น การเข้าใจความเสียหายรวมทั้งหมดได้ ต้องรวมถึงการถอดประกอบ (Disassemble) อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม

          ในการสำรวจความเสียหายขั้นต้น สิ่งที่ได้ก็คือรายการอุปกรณ์ที่ถูกน้ำท่วมซึ่งจะช่วยในการวางแผนกำลังคน (Man–power) และกำหนดแผนงานเบื้องต้น (Preliminary Schedule) ของงานซ่อมบำรุง ก่อนการนำเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงเข้าทำงาน สถานที่ปฏิบัติงานต้องมีความปลอดภัยเพียงพอ มาตรการด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงานทางไฟฟ้าได้แก่ ขั้นตอนติดป้าย และล็อก (Lockout/Tagout) ทดสอบก่อนสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือจุดที่มีไฟฟ้า (Test Before Touch) และการต่อลงดินก่อนทำงาน (Applying Safety Ground)

ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจของการทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้ากำลังมีความปลอดภัยก่อนการปฏิบัติงาน แต่ก็ยังมีมาตรการความปลอดภัยอื่น ๆ อีกเมื่อต้องทำงานกับสถานที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่น คุณภาพอากาศได้มาตรฐานเพียงใด โครงสร้างอาคารเป็นอย่างไร และมีสารเคมีรั่วไหลออกมาหรือไม่

เจ้าของสถานประกอบการหรือเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) เช่น รองเท้ายาง เครื่องช่วยหายใจ หน้ากากกันฝุ่น ถุงมือยาง หมวกนิรภัย อุปกรณ์ตรวจสอบก๊าซรั่วชนิดพกพา เป็นต้น

เนื่องจากพื้นที่ในการปฏิบัติงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้จัดการด้านความปลอดภัยต้องจัดให้มีการประชุมด้านความปลอดภัย (Safety Meeting) อย่างสม่ำเสมอเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานที่ปฏิบัติงานได้อย่างทันท่วงที

          การจ่ายไฟชั่วคราวเป็นอีกกรณีที่มีความสำคัญมากในการกู้ภัย เมื่ออุทกภัยผ่านไปแล้วสิ่งแรกที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องการก็คือไฟแสงสว่างและเครื่องสูบน้ำ อุปกรณ์ทั้งสองอย่างนี้ต้องการไฟฟ้ากำลังจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองและระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าชั่วคราว มีข้อแนะนำที่สำคัญก็คือห้ามจ่ายไฟผ่านระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าถาวรของโรงงานอุตสาหกรรมในทันที

ในกรณีที่ต้องใช้มอเตอร์ในการขับเครื่องสูบน้ำ ก็ให้จ่ายไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองผ่านตู้ควบคุมมอเตอร์แบบชั่วคราวติดตั้งอยู่ใกล้กับมอเตอร์พร้อมติดป้ายระบุว่ามอเตอร์ชุดนี้รับไฟชั่วคราว “This Equipment is Supplied by Temporary Power”.

การจัดทำรายละเอียดของอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นเอกสาร 
          การรวบรวมรายละเอียดของอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายที่ติดตั้งอยู่ในโรงงานเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของการซ่อมคืนสภาพ รายละเอียดของอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชิ้นต้องถูกจัดทำเป็นเอกสารก่อนที่จะถูกถอดประกอบ รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายออกจากสถานที่ติดตั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อนำกลับมาติดตั้งใหม่อีกครั้งจะติดตั้งได้อย่างถูกต้อง การจัดทำเป็นเอกสารมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

          * ติดป้ายหมายเลข (Tagging) ชิ้นส่วนทุกชิ้นของอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักร 
          * ทำเครื่องหมาย (Labeling) สายคอนโทรล และสายไฟฟ้ากำลังทุกเส้น ในกรณีที่เป็นสายหลายแกนให้ทำเครื่องหมายทุกแกน
          * ถ่ายรูปดิจิตอลของอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชิ้น
          * สเกตไดอะแกรมไฟฟ้าของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ถูกต้องลงในแบบไฟฟ้าของอุปกรณ์นั้น ๆ 
          * กรอกรายละเอียดของอุปกรณ์ไฟฟ้าลงในแบบฟอร์มเพื่อเป็นหลักฐานในการติดตามหรือตามหา (Tracking Form) 
          * จัดเก็บไฟล์รูปภาพดิจิตอลลงในแหล่งเก็บข้อมูลกลาง
          * จัดทำระบบจัดเก็บเอกสารเพื่อจัดเก็บแบบไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เป็นระบบเพื่อสามารถค้นหาและนำมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
          * รวบรวม Electrical Equipment Tracking Form ที่กรอกรายละเอียดแล้ว และจัดทำเป็นเอกสารควบคุม (Controlled Copy)
          * บริหารและจัดการเอกสารส่งออก (Shipping Document) ให้เป็นระบบ

          การติดป้ายหมายเลขกับอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชิ้นและกรอกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมถึง Sequence Number, รายละเอียดของอุปกรณ์, Plant Identification Number, วันที่, หมายเลขห้อง (ที่อุปกรณ์ติดตั้งอยู่), รับไฟจากแหล่งจ่ายไฟใด กรอกข้อมูลดังกล่าวให้อ่านออกและติดป้ายเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้าให้แน่นหนาด้วย Tie Wrap (ไม่ใช้เชือกนะครับ)

          การทำสัญลักษณ์สายคอนโทรลทั้งหมดด้วยหมายเลข (Wire Number) และสายไฟฟ้ากำลังทั้งหมดด้วยเทปสีแสดงเฟส (ประเทศไทยใช้ สีดำ แดง น้ำเงิน ขาว แทน เฟส A, เฟส B, เฟส C และสายนิวตรอล) ต้องมั่นใจว่าได้ทำสัญลักษณ์ไว้ที่ปลายสายทั้งสองด้านเพื่อจะได้เข้าสายได้ถูกต้องในภายหลัง

          เมื่อติดป้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและทำสัญลักษณ์สายไฟฟ้าทุกเส้นครบถ้วนแล้ว ก็ให้ถ่ายรูปชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชิ้นจำนวนสองรูป รูปแรกให้ถ่ายติดป้ายหมายเลข (Identification Tag) ไว้ด้วย ต้องถ่ายรูปให้เห็นรายละเอียดบนป้ายอย่างชัดเจนและอ่านได้ รูปที่ถ่ายได้ต้องชัดเจน รูปถ่ายรูปที่สอง ต้องการถ่ายเจาะให้เห็นรายละเอียดการเข้าสายพร้อมทั้งเห็นสัญลักษณ์ที่ทำบนสายไฟฟ้าได้อย่างชัดเจนด้วย รูปถ่ายรูปที่สองนี้ไม่ต้องมีป้ายหมายเลขเพราะจะไปบังรายละเอียดของสายและการเข้าสายที่ต้องการเห็น

          ขั้นตอนต่อไปก็คือการสเกตอุปกรณ์ไฟฟ้าพร้อมไดอะแกรมไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องลงบนแบบไฟฟ้า (Electrical Drawing Sheet) พร้อมทั้งใส่รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น หมายเลขงาน, ชื่องาน, แหล่งจ่ายไฟ, หมายเลขวงจรไฟฟ้า, Sequence Number, หมายเลขเครื่องจักร, ชื่อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า, ช่างเทคนิคที่จดรายละเอียดนี้ และวันที่ที่บันทึก

          หลังจากได้บันทึกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของอุปกรณ์ไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว ผู้จัดการนโยบายคุณภาพ (QA /QC Manager) หรือผู้จัดการโครงการต้องทำการตรวจสอบรายละเอียดที่บันทึกได้ในเอกสารต่าง ๆ ทั้งหมดว่าถูกต้องแม่นยำหรือไม่ หากพบข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจ ต้องตรวจสอบ แก้ไขให้ถูกต้องทันที เมื่อเอกสารบันทึกข้อมูลได้รับการรับรองแล้ว เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าก็พร้อมที่จะถูกถอดประกอบ รื้อถอน เคลื่อนย้ายเพื่อทำการซ่อมบำรุงในขั้นตอนต่อไป

รูปที่ 2 ถ่ายรูปอุปกรณ์พร้อมป้ายหมายเลขเพื่อจัดทำรายละเอียดของอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นเอกสาร ถ่ายรูปออกมาให้อ่านรายละเอียดบนป้ายได้อย่างชัดเจนด้วย

รูปที่ 3 เป็นการถ่ายภาพเพิ่มเติมโดยไม่มีป้ายหมายเลขเพื่อต้องการถ่ายเจาะรายละเอียดและต้องการเห็นการเข้าสายไฟฟ้ารวมถึงสามารถใช้ภาพนี้เป็นภาพอ้างอิงภายหลังได้


การรื้อถอนและเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้า (Equipment Removal)
          การรื้อถอน เคลื่อนย้าย และถอดประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นขั้นตอนของการนำอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรออกจากสถานที่ติดตั้งเพื่อทำการซ่อมบำรุง รวมถึงเตรียมสถานที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ ชิ้นส่วนใหม่ หรือเครื่องจักรใหม่ด้วย ในแต่ละวันผู้ปฏิบัติงานต้องนำส่งข้อมูลหน้างาน (Field Data) เพื่อรายงานกับผู้จัดการโครงการ หรือผู้รับผิดชอบ เพื่อจัดทำรายละเอียดของอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นเอกสาร

เป็นการบันทึกความก้าวหน้าของงานซ่อมบำรุงและซ่อมคืนสภาพ ข้อมูลหน้างานต้องประกอบด้วยรูปภาพดิจิตอลของอุปกรณ์ไฟฟ้า, แบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องของอุปกรณ์ไฟฟ้า และเอกสารบันทึกรายละเอียดอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อการตรวจติดตามผล (Electrical Equipment Tracking Form)

รูปที่ 4 ช่างเทคนิคกำลังรวบรวมรายละเอียดข้อมูลของตู้ไฟฟ้า 415/240 VAC ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเพื่อจัดทำเป็นเอกสาร
 

          ต้องจัดเก็บรูปภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลซึ่งเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของโครงการที่มีความมั่นคงและปลอดภัย รูปภาพทุกรูปต้องถูกเปิดดูว่าเสียหรือไม่ ต้องมีความชัดเจน ต่อจากนั้นจึงบันทึกไฟล์รูปภาพลงในโฟลเดอร์ที่อ้างอิงไปยังแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่อุปกรณ์ไฟฟ้ารับไฟอยู่ หรือหมายเลขห้องที่อุปกรณ์ไฟฟ้านั้นติดตั้งอยู่

อุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชิ้นต้องมีรูปภาพที่เกี่ยวข้องสองรูปโดยมีสัญลักษณ์ที่เป็นหมายเลขเครื่องจักรหรืออุปกรณ์อยู่ด้วย ต่อจากนั้นจับคู่รูปภาพกับแบบไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้า จัดเก็บรูปภาพและไดอะแกรมไว้ด้วยกัน ข้อมูลที่ได้นี้เป็นข้อมูลติดตั้งทั้งหมดก่อนที่ขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรกลับเข้าที่จะเริ่มขึ้น

          ในฐานะที่เป็นผู้จัดการโครงการจึงต้องตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมว่า อุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรไฟฟ้าเหล่านั้นสมควรที่จะเปลี่ยนใหม่ หรือซ่อมแซม การซ่อมแซมนั้นทำได้ที่โรงงานเลยหรือไม่ หรือต้องเคลื่อนย้ายออกเพื่อนำไปซ่อมแซมที่หน่วยงานของผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ทั้งหมดนี้เป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของผู้จัดการโครงการที่ต้องรับผิดชอบ

          มาตรฐาน National Electrical Manufacturers Association: NEMA ได้พิมพ์เอกสารแนะนำที่ชื่อว่า “Evaluating Water–Damaged Electrical Equipment” ซึ่งได้ให้รายละเอียดในการประเมินอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างเหมาะสมตามรายละเอียดที่สรุปในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 คำแนะนำของ NEMA ในการจัดการกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วม

          หลังจากได้ปรึกษากับผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้ว อาจจะพบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรขนาดใหญ่สามารถที่จะซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดหรือสึกหรอโดยช่างที่มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตามก็ควรที่จะพิจารณาความเป็นได้ที่จะซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่จากปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปนี้ได้แก่ หน้าที่ของอุปกรณ์นั้น, ความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้น, อายุของอุปกรณ์, ระยะเวลาที่อุปกรณ์ใช้งานมาแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้การซ่อมแซมแล้วใช้งานต่อไปได้อีกไม่นาน หรือ ซื้อใหม่คุ้มกว่าที่จะซ่อม

การซ่อมแซมแก้ไขมอเตอร์ (Motor Repair) 
          น้ำท่วมอาจจะทำให้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของมอเตอร์ได้รับความเสียหาย ได้แก่ฉนวน, สวิตช์, คอนแทกเตอร์, คาปาซิเตอร์ และรีเลย์ป้องกัน รวมถึงการผุกร่อนของส่วนที่เป็นโลหะ และการปนเปื้อนของสารหล่อลื่นของมอเตอร์ การซ่อมมอเตอร์เป็นงานหลักของการฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม

การรวบรวมรายละเอียดของมอเตอร์ที่ต้องซ่อมแซมเพื่อจัดทำเป็นเอกสารมีขั้นตอนเช่นเดียวกันกับอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ แต่ก็มีข้อมูลบางรายการที่ต้องเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ในการติดตามความคืบหน้าของงานซ่อมแซม ได้แก่

          * บันทึกข้อมูลบน Nameplate และข้อมูลแสดงตำแหน่งของมอเตอร์
          * ติดป้ายหมายเลขแท่นเครื่องและมอเตอร์ให้มีหมายเลขเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายในการจับคู่และนำมอเตอร์มาวางลงบนตำแหน่งที่ถูกต้อง
          * ทำเครื่องหมายและบันทึกข้อมูลของจุดต่อสาย
          * บันทึกข้อมูลการ Coupling และเงื่อนไขของการ Coupling
          * รวบรวมชิ้นส่วนสำหรับติดตั้งมอเตอร์ เช่น Mounting Hardware, Coupling and Shim เก็บชิ้นส่วนเหล่านี้ของมอเตอร์แต่ละตัวในถุงพลาสติก ซีลให้เรียบร้อยแล้ว อาจใช้ถุงพลาสติกแบบมีซิปล็อกก็ได้

รูปที่ 5 ช่างเทคนิคกำลังเตรียมงานติดตั้งมอเตอร์ใหม่เพื่อทดแทนมอเตอร์ที่เสียหาย

          ตามมาตรฐานของ NEMA ได้ยอมรับให้ซ่อมมอเตอร์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมได้ แต่ก็ไม่เสมอไปที่จะช่วยประหยัดเงินด้วยการซ่อมมอเตอร์ ดังนั้นการวิเคราะห์ต้นทุน (Cost Analysis) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยการตัดสินใจว่าจะซ่อมมอเตอร์ดีหรือเปลี่ยนมอเตอร์ใหม่ดี

ข้อควรพิจารณาเพิ่มเติม (Additional Considerations) 
          ในกรณีที่เกิดความเสียหายจากน้ำท่วม เมื่อหลังน้ำลดแล้วเป็นการดีที่ควรจะเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าต่อไปนี้ใหม่มากกว่าพยายามที่จะซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้ ได้แก่ เต้ารับไฟฟ้า, สวิตช์ไฟฟ้า ,หลอดไฟฟ้า,และอุปกรณ์ประกอบ, แผงควบคุมระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ และเครื่องมือวัดต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงต้องทำการวัดค่าความเป็นฉนวนของสายไฟฟ้าและสายคอนโทรลทั้งหมดและต้องเปลี่ยนสายใหม่หมดในกรณีที่ค่าความต้านทานของฉนวนที่วัดได้มีค่าน้อย

สรุป
          การฟื้นฟูระบบไฟฟ้ากำลัง อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรมให้สามารถทำงานและใช้งานได้เหมือนเดิม จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับความมีอยู่ของข้อมูล ความแม่นยำและความถูกต้องของเอกสารที่รวบรวมรายละเอียดของระบบไฟฟ้ากำลัง อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรที่ติดตั้งในโรงงาน การจัดเก็บแบบไฟฟ้าต่าง ๆ และเอกสารอย่างเป็นระบบและปลอดภัยรวมถึงสามารถเข้าถึงได้ช่วยทำให้การฟื้นฟูระบบฯและอุปกรณ์ทำได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว

เอกสารอ้างอิง
1. Flood Repair of Electrical equipment: EC&M February 2010 page 8–14
2. www.ecmweb.com
3. Evaluating Water–Damaged Electrical Equipment: NEMA publication
4. www.nema.org

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด