เนื้อหาวันที่ : 2007-03-21 10:02:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3703 views

การอนุรักษ์พลังงานเพื่ออุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรม

ภาพรวมการอนุรักษ์พลังงานของภาคอุตสาหกรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้การใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน การให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมในระดับมหภาค หรือจุลภาค เพียงด้านเดียวจะไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

ภาพรวมการอนุรักษ์พลังงานของภาคอุตสาหกรรม

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้การใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน การดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมในระดับ มหภาค หรือจุลภาค เพียงด้านเดียวจะไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องมีการวางนโยบายที่มีความชัดเจน และเอื้อต่อสภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และมีการกระจายองค์ความรู้ไปสู่ผู้ประกอบการ ให้เกิดความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยตนเอง โดยองค์ความรู้ดังกล่าวต้องเป็นการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดกรณีศึกษาด้านการประหยัดพลังงานในแต่ละสาขาอุตสาหกรรม

.

โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแบ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีความพร้อมทั้งด้านความรู้, บุคลากร และทุน ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มที่ขาดความพร้อมด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลาย ๆ ด้าน ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง ดังนั้นการกระตุ้นอุตสาหกรรม 2 กลุ่มนี้ต้องใช้มาตรการที่แตกต่างกันในการดำเนินการ

.

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม นั้นมักมีสาเหตุของความล่าช้าในการดำเนินการด้านประหยัดพลังงานเนื่องจากการคืนทุนด้านการประหยัดพลังงานนั้นช้ากว่าการลงทุนด้านการผลิต ดังนั้นการวางนโยบายด้านภาษีจะช่วยให้มีการคืนทุนเร็วขึ้น

.

ส่วนกลุ่มที่ขาดความพร้อมนั้น เป็นกลุ่มใหญ่ในอุตสาหกรรมไทย โดยมักจะขาดความพร้อมหลาย ๆ ด้านพร้อมกัน แต่สาเหตุใหญ่คือการขาดความรู้ด้านการประหยัดพลังงาน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาความรู้ที่สามารถนำมาใช้ได้โดยง่าย

.

ดังนั้น การพัฒนาโครงการอนุรักษ์พลังงานที่ได้ผลดีที่สุดคือการสนับสนุนให้เจ้าของกิจการเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน เห็นว่าการลงทุนโครงการอนุรักษ์พลังงานนั้นคุ้มค่า เห็นว่าการอนุรักษ์พลังงานสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว 

.

การวางแผนโครงการอนุรักษ์พลังงาน ต้องมองภาพรวม (Comprehensive) เพราะการลดพลังงานสำหรับการปรับอากาศ ไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ แต่อยู่ที่การลดภาระการทำความเย็น หรือ การลดการใช้ไฟฟ้า ไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนอุปกรณ์ แต่อยู่ที่ระบบการใช้ไฟฟ้า โดยมีการจัดระดับของ Comprehensive ให้สอดคล้องกับขนาดและความซับซ้อนของอุตสาหกรรม ไม่ขี่ช้างจับตั๊กแตน

.

ฉะนั้น โครงการอนุรักษ์พลังงาน จะเป็นโครงการของเจ้าของกิจการเอง ไม่ใช่โครงการที่ผู้อื่นมาหยิบยื่นหรือยัดเหยียดให้เพื่อให้เป็นโครงการอนุรักษ์พลังงานเพื่ออุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมให้อุตสาหกรรมดำเนินโครงการบนหลักการของอาสาสมัคร (Voluntary) การลงทุน

.

ฉะนั้น การอนุรักษ์พลังงานเพื่ออุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรม จึงต้องตั้งวัตถุประสงค์ไว้ดังนี้

- เพื่อวางนโยบายด้านภาษีที่เอื้อต่อการดำเนินงานด้านการประหยัดพลังงานซึ่งจะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจโดยรวม ให้การลงทุนด้านการประหยัดพลังงานมีความคุ้มค่าด้านการลงทุนโดยอาศัยมาตรการที่เหมาะสม

- พัฒนาองค์ความรู้และการประหยัดพลังงาน ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทันทีในอุตสาหกรรมแต่ละสาขา ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญด้านการประหยัดพลังงาน และอาสาที่จะดำเนินโครงการด้วยตนเอง (Voluntary)

.

โดยการตั้งเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ จะต้องมองถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก เมื่อดำเนินการประหยัดพลังงานแล้ว ผลที่เกิดขึ้นย่อมมีความคุ้มค่าอย่างแน่นอน สามารถสร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมกลุ่มอื่น ๆ เข้าร่วมดำเนินการอนุรักษ์ด้วยความสมัครใจและมุ่งมั่นที่จะให้มีการอนุรักษ์พลังงานกันเอง โดยภาครัฐไม่ต้องบังคับ เพียงแต่คอยกระตุ้น ให้แรงจูงใจที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินการ ฉะนั้น การตั้งเป้าหมาย ควรจะต้องมีการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงานและลงมือดำเนินการอย่างกว้างขวาง ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมสามารถปรับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจให้เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงาน และยังสร้างความยั่งยืนในการประหยัดพลังงานของอุตสาหกรรมไทย

.

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

กลุ่มอุตสาหกรรมทุกกลุ่มล้วนแล้วแต่มีการใช้พลังงานทั้งสิ้น และมีศักยภาพในการดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสามารถนำมาพิจารณาจากสภาอุตสาหกรรม ซึ่งได้มีการจัดแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมไว้ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป, กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น  อะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี, กลุ่มวัตถุดิบ เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นต้น

.
บทบาทหน้าที่ขององค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการกระตุ้น

องค์กรภาครัฐ ถือว่าเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้โรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ในการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานให้เกิดขึ้น องค์กรภาครัฐอย่างเช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม สถาบันการเงิน จะต้องสร้างบทบาทของรัฐภายใต้การอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่

.

1.สร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ ระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ผ่านมานั้นการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์พลังงาน เรามักจะเห็นว่าต่างคนต่างทำ ซึ่งบางครั้งเมื่อพิจารณาแล้วก็จะเป็นโครงการที่มีลักษณะเดียวกันเลย ฉะนั้น เมื่อสามารถสร้างความร่วมมือ ทั้งหน่วยงาน บุคลากร ตลอดจน งบประมาณ ก็จะสามารถทำให้การช่วยเหลือกับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

2. ส่งเสริมให้สถาบันการเงินสนับสนุนโครงการอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนด้านเงินลงทุนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานจะเห็นได้ว่า ยังไม่ได้รับบริการอย่างเต็มที่ หรือไม่สามารถขอรับการสนับสนุนได้จริง ๆ ฉะนั้น ภาครัฐคงจะต้องตั้งกองทุนสำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะหามาตรการที่เอื้ออำนวยต่อภาคอุตสาหกรรมในการขอรับการสนับสนุน

.

3. สร้างระบบประกันความเสี่ยง เมื่อพิจารณาแล้วคงจะมี 2 ประเด็นด้วยกันคือ ประการแรก เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าได้จริง หรือไม่สามารถลดได้ตามผลการวิเคราะห์ที่นำมาพิจารณา กับ ประการที่สอง การกู้เงินเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือการได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากภาครัฐ ไม่จบลงด้วยการชำระค่าอุปกรณ์หรือ การหยุดกลางคันในเรื่องการใช้อุปกรณ์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถาบันภาคเอกชน ซึ่งคงต้องมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น

.

ในประเด็นการประกันความเสี่ยงภาครัฐจะต้องสร้างมาตรฐานการประกันความเสียงที่มีการจูงใจและชัดเจนให้เกิดขึ้น กับการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้

.

4.จัดที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำและติดตามผลการดำเนินโครงการ ปัจจุบันที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของเรามีอยู่มากมาย อย่างเช่นที่ปรึกษาด้านพลังงาน (Registered Consultant: RC) ที่ขึ้นทะเบียนการเป็นที่ปรึกษาไว้กับกรมพัฒนาและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งภาครัฐจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติของที่ปรึกษาที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้

.

5. กำหนดมาตรการวัดผลที่เป็นธรรมและง่ายต่อการปฏิบัติ

.

6.จัดโครงการให้ความรู้และฝึกอบรม การสร้างความเข้าใจของภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องคำนึงถึงอย่างมากในการดำเนินโครงการพลังงาน การสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหาร จะนำไปสู่ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการประหยัดพลังงาน

.

7.จัดทำโครงการนำร่องและโครงการตัวอย่าง รัฐควรจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนของโครงการนำร่องและโครงการตัวอย่าง เพื่อนำไปใช้เป็น Model และเพื่อให้อุตสาหกรรมมองเห็นการนำเทคโนโลยีไปใช้ที่ได้ผล โดยจัดแบ่งโครงการตามภาคอุตสาหกกรม ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและ SME

.

8.สร้างระบบแรงจูงใจทางภาษี (Tax Incentive) เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถเกิดอาสาสมัครของภาคอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาร่วมการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยให้กลุ่มอุตสาหกรรมนำเสนอผลการดำเนินโครงการที่สามารถทำการประหยัดพลังงานได้มาขอรับการลดหย่อนภาษีได้

.

บทบาทหน้าที่ของภาคอุตสาหกรรม

บทบาทของภาคอุตสาหกรรม ที่จะเสริมสร้างการสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ จะต้องร่วมมือและดำเนินการ ดังต่อไปนี้
.

1. ศึกษาและวิเคราะห์การลงทุนโครงการอนุรักษ์พลังงาน แนวคิดการอนุรักษ์พลังงานเพื่ออุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรม จะเป็นเรื่องที่ภาคอุตสาหกรรมจะอาสาสมัครเข้ามาร่วมเองโดยภาครัฐมิได้เข้าไปบังคับแต่อย่างใด ฉะนั้น เจ้าของธุรกิจจะต้องมีการประเมินศักยภาพการประหยัดพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรมของตนว่า มีศักยภาพการประหยัดพลังงาน และการลงทุนนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ ตัวอย่างของ กิจการศูนย์บริการรถยนต์และอะไหล่รถยนต์ภายใต้โครงการชุบชีวิตธุรกิจไทย โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยสภาพปัญหา ได้แก่

1.1 ไม่มีผู้รับผิดชอบดูแลด้านพลังงานในสถานประกอบการ

1.2 บุคลากรในสถานประกอบการขาดความรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน และจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน

1.3 ไม่มีการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย แผนงานในการอนุรักษ์พลังงาน
1.4 ไม่ได้นำเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานมาใช้  
1.5 การซ่อมบำรุงเครื่องจักร และอุปกรณ์เป็นแบบให้เกิดความเสียหาย แล้วจึงซ่อมแทนที่จะเป็นแบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน
1.6 ไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลการใช้พลังงาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์การใช้พลังงาน 
.

ซึ่งจากผลการวิเคราะห์จึงมีมาตรการในการนำเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน สถานประกอบการสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ 77,134.48 KWh/ปี ค่าใช้จ่าย

.
พลังงานได้ 253,051.84 บาท/ปี คิดเป็น 16.77 % โดยมีมาตรการที่นำเสนอดังนี้
-  มาตรการใช้บัลลาสต์การสูญเสียต่ำ (บัลลาสต์โลลอสต์)

-  มาตรการใช้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง

-  มาตรการติดฟิล์มกรองแสงที่ผนังโปร่งแสงเพื่อลดการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศ

-  มาตรการใช้หลังคาโปร่งแสงเพื่อลดการใช้พลังงานในระบบแสงสว่าง

-  มาตรการใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูงในเครื่องอัดอากาศ

.

และนอกเหนือจากสถานประกอบการมีแผนการจัดการพลังงาน 1-3ปี และในช่วงของการให้คำปรึกษาได้นำเสนอมาตรการและจัดทำแผน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 70,066.22 บาท/ปี โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

.

-  การกำหนดการใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ในอนาคตเมื่อมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ทดแทนของเดิมหรือติดตั้งใหม่ทางอาคารจะพิจารณาใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงแทน

- การควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศอย่างเหมาะสม สถานประกอบการได้มีการกำหนดเวลาการเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ลดการใช้พลังงานลงได้ และควบคุมค่า Peak Demand ด้วย

-  การจัดทำแผนผังระบุตำแหน่งและการเปิดใช้งานระบบแสงสว่าง เพื่อให้การเปิด-ปิดสวิตซ์ที่ควบคุมโคมไฟฟ้าอย่างถูกต้อง

-  การใช้แสงสว่างจากธรรมชาติ สำหรับดวงโคมที่ติดตั้งในบริเวณที่มีแสงธรรมชาติ สามารถใช้แสงธรรมชาติแทนได้ ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบแสงสว่างได้

-  การปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 24-25 ๐C

การบริหารค่ากำลังไฟฟ้าสูงสุด เป็นการควบคุมการเปิดใช้เครื่องจักรอุปกรณ์เหมาะสมและสถานประกอบการได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์พลังงานขึ้นในองค์กร โดยกลุ่มสามารถเสนอมาตรการประหยัดพลังงานได้ 3 กรณี คือ

-  การควบคุมการเปิดใช้งานและการรั่วของท่อและข้อต่อของเครื่องอัดอากาศ การลดการรั่วไหลของอากาศอัดจะเป็นการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและการควบคุมการเปิด-ปิด  เครื่องอัดอากาศก็สามารถลดค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดได้

-  การปลดหลอดฟลูออเรสเซนต์ การปลดหลอดฟลูออเรสเซนต์ในบริเวณที่มีค่าความสว่างสูง ๆ

-  การปรับปรุงการระบายอากาศ การปรับปรุงระบบระบายอากาศให้ดีขึ้นจะช่วยลดการเปิดใช้พัดลมลง

.

ฉะนั้น การศึกษาโครงการลงทุนทั้งเป็นมาตรการที่ต้องลงทุน (InvestmentMeasurement)และมาตรการที่ไม่ต้องลงทุน (Non-Investment Measurement) ข้างต้นก็จะเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมเอง

.

2.นำเสนอโครงการเพื่อขอสนับสนุนจากรัฐ ภาคอุตสาหกรรมต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์โครงการประหยัดพลังงาน ที่ทั้ง บุคลากร ผู้บริหาร ที่ปรึกษาได้เข้ามาช่วยจัดทำในความเป็นไปได้ของการขอสนับสนุนจากภาครัฐ

.

3.ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการ ปกติที่ปรึกษาที่เข้าไปศึกษาวิเคราะห์ในประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานอุตสาหกรรมนั้นๆ มักจะเป็นผู้นำเสนอ ข้อเสนอโครงการดำเนินการให้กับเจ้าของโรงงานเอง ทำให้การทำงานลดขั้นตอนยิ่งขึ้น

.

4.ลงทุนก่อสร้างหรือปรับปรุงระบบการผลิต การใช้งาน การบริการ จากการศึกษาวิเคราะห์ในข้างต้น คงจะไม่สำเร็จลงได้ถ้าผู้ประกอบการไมได้ดำเนินมาตรการใด ๆ หรือไม่สมบูรณ์ตามที่ได้นำเสนอในเบื้องต้น  จึงต้องมีการดำเนินการอย่างทันทีเมื่อมีโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

.

5.ดำเนินการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความมุ่งมันและเอาจริงเอาจัง สร้างเป็นนโยบายให้มีความชัดเจน มีกิจกรรมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในระหว่างการดำเนินโครงการ

.

6.รายงานผลเป็นระยะ การายงานผลการดำเนินโครงการถือว่าเป็นสิ่งสำคัญทีเดียวที่จะทำให้เราทราบถึงความก้าวหน้า ปัญหาและอุปสรรค์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างโครงการ  โดยทั่วไปภาครัฐ เมื่อให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมจะให้ที่ปรึกษาที่ทำงานให้กับบริษัท รายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของโรงงานทุกครั้งที่มีการรายงานผลความก้าวหน้า โดยทั่วไป การรายงานจะเป็นเป็น 3 ระยะ ได้แก่ รายงานขั้นต้น, ขั้นกลาง และขั้นสุดท้าย

.

7.ประสานงานกับรัฐในการส่งเสริมและขยายผลการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อสิ้นสุดโครงการและเกิดผลสำเร็จในการดำเนินโครงการพลังงาน ก็มักจะนำโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้มาเป็นกรณีตัวอย่าง ของการดำเนินโครงการในปีต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ประกอบการ  ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวคงจะต้องประสานความร่วมมืออย่างแนบแน่นต่อการขยายผล เพื่อให้ภาพรวมของการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมลดต่ำลง

.

ขั้นตอนการดำเนินการการอนุรักษ์พลังงานเพื่ออุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรม

.

ตัวอย่างโครงสร้างการดำเนินการของภาครัฐ

.

.

.

คณะกรรมการกำกับ

1. กระทรวงพลังงาน
2. กระทรวงอุตสาหกรรม
3. กระทรวงการคลัง
4. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
5. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
6. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

7. สถาบันการเงิน ฯลฯ

.

บทบาทและหน้าที่คณะกรรมการกำกับ

1. กำกับ ติดตาม การดำเนินโครงการและหาแนวทางการพัฒนาโครงการ

2. หาแนวทางสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐในการอนุรักษ์พลังงาน ระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ

3. หาแนวทางสร้างมาตรการทางภาษี (Tax Incentive) เพื่อจูงใจให้โรงงานอุตสาหกรรมอาสาสมัครใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อที่จะสามารถกำหนดเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินโครงการระยะต่อไป

4. สร้างส่งเสริมให้สถาบันการเงินสนับสนุนโครงการอนุรักษ์พลังงาน สร้างระบบประกันความเสี่ยง

5. กำหนดมาตรการวัดผลที่เป็นธรรมและง่ายต่อการปฏิบัติ และสร้างโครงการให้ความรู้และฝึกอบรม

6. สร้างโครงการนำร่องและโครงการตัวอย่าง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการระยะต่อไป

.

บทบาทและหน้าที่หน่วยบริหารกลาง

.

1. ทำหน้าที่ในหน่วยงานการบริหารโครงการกลางโดยภาพรวม

2. จัดทีมงานบริหารในการดูแลการทำงานของที่ปรึกษา และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการทำงาน ติดตามโครงการ

3. จัดทำฐานข้อมูลกลางของโครงการ เช่น ที่ปรึกษาโรงงานอุตสาหกรรม

4. จัดประชุมเพื่อหารือการทำงานและผลความคืบหน้าการทำงาน

5. จัดสัมมนาและประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมของโครงการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ให้สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ

6. จัดทีมที่ปรึกษา พร้อมทั้ง กำกับ ติดตาม และบริหารประสานงาน  การปฏิบัติงานของที่ปรึกษา

7. จัดประชุมเตรียมความพร้อมให้แก่ ทีมที่ปรึกษาก่อนเริ่มให้บริการปรึกษาแนะนำแก่ สถานประกอบการ และขณะที่ทีมที่ปรึกษาปฏิบัติงาน

8.ตรวจสอบการทำรายงานผลการดำเนินงานโครงการติดตามผลการปฏิบัติงานของทีมที่ปรึกษาเป็นระยะๆ และจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์และจัดส่งให้กระทรวงพลังงาน

9. จัดประชุมและติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงานของทีมที่ปรึกษาเป็นระยะ ๆ ระหว่างโครงการ

10. จัดทำการพัฒนาระบบสารสนเทศและประยุกต์ใช้ในโครงการ

11. จัดจ้างทำระบบติดตามประเมินผลโครงการ

12. จัดทำโครงการนำร่องและโครงการตัวอย่าง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการระยะต่อไป

.

บทบาทและหน้าที่หน่วยร่วมดำเนิน

1. ร่วมประชุมกับหน่วยร่วมดำเนินการ

2. ประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการ รับสมัคร สรรหา และคัดเลือกให้โรงงานที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ

3. ดำเนินการรับสมัคร สรรหา และคัดเลือกสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ

4. จัดทีมที่ปรึกษา พร้อมทั้งกำกับ ติดตาม และบริหารประสานงานการปฏิบัติงานของที่ปรึกษา

5. ตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานของทีมที่ปรึกษา

6. จัดทำรายงานการดำเนินงานโครงการ ติดตามผลการปฏิบัติงานของทีมที่ปรึกษาเป็นระยะ ๆ และจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์และเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของโครงการ

.

อย่างไรก็ดี การดำเนินโครงการพลังงาน ตามแนวทางนี้อาศัยความสมัครใจของกลุ่มผู้ประกอบการเองที่จะเข้ามาร่วม  ทำให้ภาครัฐต้องดำเนินการในเรื่องการใช้มาตรการกระตุ้นให้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ทำให้เราต้องสร้างการจูงใจ ซึ่งเมื่อมองไปที่ตัวโรงงานอุตสาหกรรมหรือบริษัท จะมีบุคลากรอยู่ 6 กลุ่มที่ต้องจูงใจ โดยแต่ละกลุ่มจะมีความสนใจด้านพลังงานที่แตกต่างกัน และจะต้องจูงใจในแนวทางที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้

.

1. ผู้จัดการอาวุโส (Senior Managers)

-  แรงจูงใจของผู้จัดการอาวุโส คือ การปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์กร โดยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร

-  แสดงให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายของเชื้อเพลิงที่ควรจะเป็นในขณะนี้ หากมีมาตรการประหยัดพลังงาน

- แสดงที่มาการประหยัดเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ไม่ว่าโดยวิธีการเจรจาเรื่องค่าเชื้อเพลิง การลงทุนในมาตรการประสิทธิภาพพลังงานโดยเฉพาะ หรือโดยการจัดการที่ดีขึ้น

-ใช้ระบบบัญชีเพื่อประมาณผลการประหยัดออกเป็นตัวเลข เนื่องจากระบบบัญชีจะเป็นเครื่องมือที่มีอำนาจที่ใช้เจรจาเพื่อหาแหล่งทุนสำหรับกิจกรรมการจัดการด้านพลังงานและขยายการลงทุนต่อไป

.

2. ผู้จัดการแผนก (Department Managers)

-  ชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่ำกว่าที่ตั้งไว้และจะกำหนดงบประมาณในปีต่อมาอย่างไร

-  ชี้ให้เห็นว่าหากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ จะสามารถโอนไปใช้ในงบประมาณส่วนอื่นที่เป็นประโยชน์ได้

.

3. บุคลากรหลัก (Key Personnel)

-  มีหน้าที่ควบคุมอาคารและโรงงานโดยตรง
-  รายงานการใช้พลังงานที่ถูกต้องและตรงเวลา  
.

4. ทีมงานการจัดการด้านพลังงาน (Energy Management Staff)

- หากท่านไม่จูงใจตัวท่านเองแล้ว ท่านจะไม่สามารถจูงใจทีมงานของท่านและบุคลากรอื่นในองค์กรได้ ทีมงานมักถูกกระตุ้นโดยแรงผลักพื้นฐาน 3 ประการ คือ ความสำเร็จ ความผูกพัน และอำนาจ ท่านจะพบว่าหนึ่งในนั้นครอบงำท่านอยู่  

-  เป้าหมายที่ชัดเจน การมอบหมายงานที่รอบคอบและผลลัพธ์ของมาตรการที่สามารถวัดได้  

-  การเปิดรับความหลากหลายเพื่อรักษาความท้าทาย และรู้สึกเมื่อมีความสุขเมื่อผู้จัดการอาวุโสระลึกถึงท่าน คือจูงใจด้วยความสำเร็จ

-  แรงจูงใจของท่านจะขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของบุคคลอื่น ในการออกแบบและการดำเนินการการจัดการด้านพลังงาน

-  การจูงใจโดยความผูกพันของทีมงาน

.

5. ผู้แทนด้านพลังงาน (Energy Representations)  

-  ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจากแผนก

-  ได้รับการติดอาวุธทางปัญญา
-  ได้รับคำชมเชยและผลตอบแทนจากงานที่ทำ

-  ได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารในระดับบริหาร

.

6. ทีมงานทั่วไป (General Staff) 

-  คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
-  ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลดต้นทุน และแข่งขันได้

-  ความมั่นคงของชีวิต

.

ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอนุรักษ์พลังงาน

เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

-  สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

-  สามารถอยู่ในตลาดสากล

.

เพื่อความมั่นคงของชีวิต

- ธุรกิจ/การผลิต สามารถอยู่ได้

- การคาดหวังสิ่งที่ต้องการในอนาคต

.
เพื่อประเทศชาติและสังคมโลก
- มีพลังงานใช้สอยอีกนาน

- สิ่งแวดล้อมโลก เอื้อต่อการมีชีวิตสืบไป

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด