เนื้อหาวันที่ : 2011-05-04 09:08:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 10883 views

มารู้จักวิธีคำนวณขนาดกล่องดึงสาย (Pull Box) กันเถอะ

การคำนวณขนาดของกล่องดึงสายที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้ฉนวนของสายไฟฟ้าเสียหาย โดยมาตรฐาน NEC Code 314.28 ได้กำหนดการดึงสายไว้เป็น 3 ประเภท

ขวัญชัย กุลสันติธำรงค์
kwanchai2002@hotmail.com

          การคำนวณขนาดของกล่องดึงสาย (Pull Box) ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้ฉนวนของสายไฟฟ้าเสียหาย โดยมาตรฐาน NEC Code 314.28 ได้กำหนดการดึงสายไว้เป็น 3 ประเภท คือ การดึงสายทางตรง (Straight Pulls) การดึงสายแบบหักเลี้ยว (Angle Pulls) และการดึงสายแบบวนกลับ (U Pulls) ตามรูปที่ 1 ซึ่งการดึงสายทั้ง 3 วิธีนี้มีผลต่อการคำนวณขนาดของกล่องดึงสายที่แตกต่างกัน

รูปที่ 1 แสดงการดึงสายประเภทต่าง ๆ

การดึงสายทางตรง (Straight Pulls) 
          ทำไมถึงต้องมีการติดตั้งกล่องดึงสายในการเดินสายทางตรง มีหลายเหตุผลด้วยกัน เช่น การเดินสายทางตรงเป็นระยะทางยาว ๆ ทำให้การดึงสายยากขึ้นต้องออกแรงมากขึ้น มีโอกาสทำให้ฉนวนของสายไฟฟ้าเสียหายได้ การติดตั้งกล่องดึงสายเป็นระยะ ๆ ตลอดทางจึงช่วยให้การดึงสายทำได้ง่ายขึ้น

กล่องดึงสายจึงทำหน้าที่เหมือนน้ำมันหล่อลื่นที่ช่วยลดแรงเสียดทาน และช่วยผ่อนแรงได้มาก ในการดึงสายทางตรงมาตรฐาน NEC Code 314.28 (A)(1) กำหนดให้ความยาวของกล่องดึงสายต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 8 เท่าของท่อร้อยสายที่ใหญ่ที่สุด นั่นคือคูณขนาดท่อร้อยสายที่ใหญ่ที่สุดด้วย 8 และกล่องดึงสายต้องมีความยาวอย่างน้อยเท่ากับผลคูณที่ได้

การดึงสายแบบหักเลี้ยว (Angle Pulls) และการดึงสายแบบวนกลับ (U Pulls)
          นอกจากใช้กล่องดึงสายในการดึงสายทางตรงแล้ว เรายังใช้กล่องดึงสายในการหักเลี้ยวเพื่อเปลี่ยนทิศทางในการคำนวณขนาดกล่องดึงสายสำหรับกรณีนี้มีขั้นตอนซับซ้อนเพิ่มขึ้นจากการดึงสายทางตรง โดยเริ่มต้นจากท่อร้อยสายขนาดใหญ่ที่สุดก่อนแบบเดียวกันกับการคำนวณในกรณีการเดินสายทางตรง กล่าวคือ

          1. คูณขนาดท่อร้อยสายที่ใหญ่ที่สุดด้วย 6
          2. บวกขนาดของท่อร้อยสายที่เหลือที่อยู่บนด้านเดียวกันหรือแถวเดียวกันเข้าด้วยกัน
          3. บวกผลลัพธ์ในข้อ 1 และข้อ 2
          4. ความยาวของกล่องดึงสายต้องไม่น้อยกว่าผลลัพธ์ในข้อ 3

          ในกรณีที่มีท่อร้อยสายติดตั้งมากกว่าหนึ่งแถว ให้คำนวณแต่ละแถวแยกกัน และใช้ค่าที่ยาวที่สุดที่คำนวณได้ในการกำหนดความยาวแนวนอนที่น้อยที่สุดของกล่องดึงสายตามตัวอย่างในรูปที่ 2 เมื่อต้องการหาความยาวตามแนวนอน (Horizontal Distance) ของการดึงสายแบบหักเลี้ยว (Angle Pull) จะเห็นว่ามีท่อร้อยสายที่ติดตั้งอยู่สองแถวทางด้านขวามือของกล่องดึงสาย ซึ่งต้องแยกคำนวณแต่ละแถวดังนี้
          แถวที่ 1 = 6 x 3 นิ้ว + 1 1/2 นิ้ว + 1 1/2 นิ้ว = 21 นิ้ว 
          แถวที่ 2 = 6 x 1 นิ้ว + 1 นิ้ว + 1 นิ้ว = 8 นิ้ว
          ดังนั้นกล่องดึงสายต้องมีความยาวในแนวนอนอย่างต่ำ 21 นิ้ว

          ในกรณีที่เดินสายไฟฟ้าในท่อร้อยสายท่อหนึ่งมายังกล่องดึงสายและเดินสายไฟฟ้าเส้นนั้นผ่านกล่องดึงสายเลี้ยวไปยังท่อร้อยสายอีกท่อหนึ่ง (ไม่ใช่การดึงสายทางตรง) ระยะห่างระหว่างท่อร้อยสายสองท่อที่ดึงสายแบบหักเลี้ยวต้องไม่น้อยกว่าผลคูณของ 6 กับขนาดของท่อที่ใหญ่กว่า 

รูปที่ 2 แสดงการคำนวณหาขนาดของกล่องดึงสาย

ฝาปิดที่เปิดออกได้ (Removable Covers) 
          เมื่อเดินสายไฟฟ้ามายังสิ่งห่อหุ้มที่มีฝาที่เปิดออกได้ (Removable Cover) เช่น กล่องดึงสาย กล่องต่อสาย ข้อต่อท่อ (Conduit Body) หรือรางเดินสาย (Wireway) ระยะห่างจากฝาปิดไปยังตำแหน่งที่สายเข้าต้องไม่น้อยกว่าที่ระยะโค้งของสาย

ขั้นตอนการคำนวณขนาดของกล่องดึงสาย
          ขั้นตอนที่ 1 วาดรูปกล่องดึงสายพร้อมท่อร้อยสายเพื่อสร้างความเข้าใจ
          ขั้นตอนที่ 2 คำนวณความยาวในแนวนอน (Horizontal Distance) แยกเป็น
          * การเดินสายทางตรงด้านซ้ายไปด้านขวา (Left to Right Straight Calculation)
          * การเดินสายทางตรงด้านขวาไปด้านซ้าย (Left to Right Straight Calculation)
          * การดึงสายแบบหักเลี้ยวหรือแบบวนกลับด้านซ้ายไปด้านขวา (Left to Right Angle or U Pull Calculation)
          * การดึงสายแบบหักเลี้ยวหรือแบบวนกลับด้านขวาไปด้านซ้าย (Right to Left Angle or U Pull Calculation)

          ขั้นตอนที่ 3 คำนวณความยาวในแนวดิ่ง (Vertical Distance) แยกเป็น
          * การดึงสายทางตรงจากบนลงล่าง (Top to Bottom Straight Calculation)
          * การดึงสายทางตรงจากล่างขึ้นบน (Bottom to Top Straight Calculation)
          * การดึงสายแบบหักเลี้ยวหรือแบบวนกลับจากบนลงล่าง (Top to Bottom Angle or U Pull Calculation)
          * การดึงสายแบบหักเลี้ยวหรือแบบวนกลับจากล่างขึ้นบน (Bottom to Top Angle or U Pull Calculation)
          มาดูตัวอย่างกันครับ

ตัวอย่างที่ 1 
          กล่องดึงสายใบหนึ่งประกอบด้วยท่อร้อยสายขนาด 3 นิ้วจำนวน 2 ท่ออยู่ด้านซ้ายของกล่อง และมีท่อร้อยสายขนาด 3 นิ้วจำนวน 1 ท่ออยู่ด้านขวาของกล่อง สายไฟฟ้าที่อยู่ในท่อร้อยสายท่อที่ 1 ทางด้านซ้ายถูกดึงผ่านไปยังท่อร้อยสายที่อยู่ทางด้านขวา (เป็นการดึงสายทางตรง) และสายไฟฟ้าที่อยู่ในท่อร้อยสายท่อที่เหลือทางด้านซ้ายถูกดึงเลี้ยวไปยังท่อร้อยสายขนาด 3 นิ้วที่อยู่ทางด้านล่างของกล่องดึงสาย จงหาความยาวในแนวนอน ความยาวในแนวดิ่ง และระยะห่างระหว่างท่อร้อยสายที่หักเลี้ยว

วิธีทำ เริ่มต้นวาดรูปเพื่อทำความเข้าใจจะได้ตามรูปที่ 3

รูปที่ 3 แสดงการคำนวณหาขนาดของกล่องดึงสายที่สัมพันธ์กับสายไฟและท่อร้อยสาย

(ก) คำนวณหาความยาวในแนวนอนของกล่องดึงสาย
          การเดินสายทางตรงด้านซ้ายไปด้านขวา (Left to Right Straight Calculation)
          = 8 x 3 นิ้ว = 24 นิ้ว
          การเดินสายทางตรงด้านขวาไปด้านซ้าย (Right to Left Straight Calculation)
          = 8 x 3 นิ้ว = 24 นิ้ว
          การดึงสายแบบหักเลี้ยวด้านซ้ายไปด้านขวา (Left to Right Angle Pull Calculation)
          = 6 x 3 นิ้ว + 3 นิ้ว = 21 นิ้ว
          การดึงสายแบบหักเลี้ยวด้านขวาไปด้านซ้าย (Right to Left Angle Pull Calculation)
          = ไม่มี 
          ดังนั้น ความยาวในแนวนอน = 24 นิ้ว

(ข) การคำนวณความยาวในแนวดิ่งของกล่องดึงสาย

รูปที่ 4 แสดงการคำนวณหาขนาดของกล่องดึงสายที่สัมพันธ์กับสายไฟและท่อร้อยสาย

          การดึงสายทางตรงจากบนลงล่าง (Top to Bottom Straight Calculation)
          = ไม่มี
          การดึงสายทางตรงจากล่างขึ้นบน (Bottom to Top Straight Calculation)
          = ไม่มี
          การดึงสายแบบหักเลี้ยวจากบนลงล่าง (Top to Bottom Angle Pull Calculation)
          = ไม่มี
          การดึงสายแบบหักเลี้ยวจากล่างขึ้นบน (Bottom to Top Angle Pull Calculation)
          = 6 x 3 นิ้ว = 18 นิ้ว
          ดังนั้นความยาวในแนวดิ่ง = 18 นิ้ว

(ค) ระยะห่างน้อยสุดของท่อร้อยสาย 2 เส้น ที่ดึงสายแบบหักเลี้ยว
          = 6 x 3 นิ้ว = 18 นิ้ว

รูปที่ 5 แสดงการคำนวณหาขนาดของกล่องดึงสายที่สัมพันธ์กับสายไฟและท่อร้อยสาย

ตัวอย่างที่ 2 
          กล่องดึงสายใบหนึ่งประกอบด้วยท่อร้อยสายขนาด 2 นิ้วจำนวน 1 ท่อ และท่อร้อยสายขนาด 3 นิ้วจำนวน 1 ท่ออยู่ที่ด้านซ้ายของกล่อง มีท่อร้อยสายขนาด 1 นิ้วจำนวน 1 ท่ออยู่ด้านบนของกล่อง และท่อร้อยสายขนาด 2 นิ้วจำนวน 1 ท่ออยู่ด้านขวาของกล่อง โดยท่อร้อยสายขนาด 2 นิ้วใช้ดึงสายทางตรง และท่อร้อยสายขนาด 3 นิ้ว ใช้ดึงสายแบบหักเลี้ยว จงหาความยาวในแนวนอน ความยาวในแนวดิ่งของกล่องดึงสาย และระยะห่างของท่อที่หักเลี้ยว

(ก) หาความยาวในแนวนอนของกล่องดึงสาย
          การเดินสายทางตรงด้านซ้ายไปด้านขวา (Left to Right Straight Calculation)
          = 8 x 2 นิ้ว = 16 นิ้ว
          การเดินสายทางตรงด้านขวาไปด้านซ้าย (Left to Right Straight Calculation)
          = 8 x 2 นิ้ว = 16 นิ้ว
          การดึงสายแบบหักเลี้ยวด้านซ้ายไปด้านขวา (Left to Right Angle Pull Calculation)
          = 6 x 3 นิ้ว + 2 นิ้ว = 20 นิ้ว
          การดึงสายแบบหักเลี้ยวด้านขวาไปด้านซ้าย (Right to Left Angle Pull Calculation)
          = ไม่มี 
          ดังนั้น ความยาวในแนวนอน = 20 นิ้ว

(ข) หาความยาวในแนวดิ่งของกล่องดึงสาย
          การดึงสายทางตรงจากบนลงล่าง (Top to Bottom Straight Calculation)
          = ไม่มี
          การดึงสายทางตรงจากล่างขึ้นบน (Bottom to Top Straight Calculation)
          = ไม่มี
          การดึงสายแบบหักเลี้ยวจากบนลงล่าง (Top to Bottom Angle Pull Calculation)
          = 6 x 3 นิ้ว = 18 นิ้ว
          การดึงสายแบบหักเลี้ยวจากล่างขึ้นบน (Bottom to Top Angle Pull Calculation)
          = ไม่มี
          ดังนั้นความยาวในแนวดิ่ง = 18 นิ้ว

(ค) ระยะห่างน้อยสุดของท่อร้อยสาย 2 เส้น ที่ดึงสายแบบหักเลี้ยว
          = 6 x 3 นิ้ว = 18 นิ้ว

เอกสารอ้างอิง
1. www.ecmweb.com
2. EC&M October 2008 Code Basic: Sizing Junction Box, Page 46–51
3. มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2545 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2551)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด