เนื้อหาวันที่ : 2011-03-30 14:51:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4327 views

การปลดโหลดเกินแบบปรับเปลี่ยนของระบบส่งสำหรับระบบจำหน่าย

ในช่วงฤดูร้อน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าอาจมีการเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าเมื่อเทียบกับช่วงปกติอื่น ๆ เป็นที่แน่ชัดปริมาณโหลดที่เพิ่มเกิดจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็น ที่มีการเปิดใช้งานเพิ่ม หรือเครื่องทำความเย็นต้องทำงานหนักขึ้น

พิชิต จินตโกศลวิทย์ 
pichitor@yahoo.com

ในช่วงฤดูร้อน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าอาจมีการเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าเมื่อเทียบกับช่วงปกติอื่น ๆ เป็นที่แน่ชัดปริมาณโหลดที่เพิ่มเกิดจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็น เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ที่มีการเปิดใช้งานเพิ่ม หรือเครื่องทำความเย็นต้องทำงานหนักขึ้น

และโดยส่วนใหญ่แล้วในช่วงเวลาดังกล่าวการไฟฟ้ามักจำเป็นต้องทำการขนานหม้อแปลงส่ง (Transmission Transformer: 500kV/230kV/115kV/69kV) ซึ่งอาจจะทำการขนานที่ระบบจำหน่าย หรือที่ระบบส่งก็ได้ แล้วแต่รูปแบบของบัสบาร์ของระบบส่ง (Transmission System) และระบบจำหน่าย (Distribution System) จุดประสงค์หลักเพื่อให้หม้อแปลงส่งช่วยกันจ่ายไฟฟ้าโหลด

แต่อย่างไรก็ตามปริมาณโหลดที่เป็นระดับปกติเมื่อจ่ายด้วยหม้อแปลงส่งแบบขนานอาจจะเปลี่ยนเป็นระดับโหลดที่ผิดปกติหรือโหลดเกิน (Overload) ได้ ถ้ามีหม้อแปลงส่งลูกหนึ่งลูกใดเกิดปลดในระหว่างการจ่ายไฟฟ้าแบบขนานหม้อแปลงส่ง การเพิ่มขึ้นของโหลดแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือการเปลี่ยนสภาพของโหลดนั้นอาจจะเกินความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าของหม้อแปลงส่ง ทำให้เกิดการปลดของหม้อแปลงส่ง ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างได้

รูปแบบการปลดโหลดเกินแบบตัวตาย (Fixed Line Overload Shedding Scheme)
สืบเนื่องจากมีโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง จึงได้มีการคิดที่จะปลดโหลดที่ไม่สำคัญออกเพื่อรักษาโหลดส่วนใหญ่ หรือโหลดที่มีความสำคัญสูงเอาไว้ โดยแรกเริ่มได้ทำการติดตั้งรูปแบบการปลดโหลดเกินแบบกำหนดความสัมพันธ์ตายตัวของสายส่งย่อย (Subtransmission Line) แบบรับเข้า (Incoming Line) ที่สามารถใช้อ้างอิงถึงหม้อแปลงส่ง กับสายส่งย่อยแบบจ่ายออก (Out Going Line) บนข้อสมมุติฐานที่ว่ารูปแบบการจ่ายไฟของบัสบาร์ไม่มีการเปลี่ยน  หรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

จากรูปที่ 1 จะเห็นว่าหม้อแปลงส่ง Tr1 และ Tr2 ได้จ่ายไฟแบบขนานกันโดยการเชื่อมต่อของบัสคัปเปลอร์เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Bus Coupler CB: ใช้เชื่อมต่อบัสบนกับบัสล่าง) ที่ฝั่งระบบจำหน่าย และมีการกำหนดพิจารณาจากการเกาะบัสทั่วไป ว่าถ้าเกิดการโหลดเกินที่หม้อแปลงส่ง Tr1 ให้ปลดสายส่งย่อย Out1 และ Out2 และพิจารณาลำดับการปลดตามสเต็ป (Off, 2 และ 1 เรียงลำดับความสำคัญสูงไปต่ำ) ที่ได้ตั้งไว้ในแต่ละสายส่งย่อยแบบจ่ายออก เช่นเดียวกัน ถ้าเกิดการโหลดเกินที่หม้อแปลงส่ง Tr2 ให้ปลดสายส่งย่อย Out3 และ Out4 

จากลำดับเหตุการณ์ที่ 1 ได้เกิดการทริปหม้อแปลงส่ง Tr1 อันอาจเกิดจากการลัดวงจรในหม้อแปลงส่งเอง ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่ 2 ตามมาคือเกิดสภาวะโหลดเกินในหม้อแปลงส่ง Tr2 เนื่องจากต้องแบกรับโหลดของสายส่งย่อย Out1, Out2 , Out3 และ Out4 ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่ 3 คือการพยายามปลดโหลดให้หม้อแปลงส่งกลับสู่สภาวะปกติ ดังตัวอย่างได้ปลดโหลดสายส่งย่อย Out3 ออก จะพบว่าถ้าจำนวนโหลดที่ปลดเพียงพอก็สามารถรักษาโหลดที่เหลือและที่สำคัญเอาไว้ได้

รูปที่ 1 รูปแบบการปลดโหลดเกินแบบตายตัว

แต่เมื่อพิจารณาให้ดี จริง ๆ แล้วโหลดที่สมควรปลดได้ไม่ใช่แค่โหลดของสายส่งย่อย Out3 เนื่องจากโหลดสายส่งย่อย Out1 และ Out2 ก็รับไฟฟ้าจากหม้อแปลงส่ง Tr2 เหมือนกัน ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดเหตุการณ์ ดังรูปที่ 2 หลังจากการเกิดเหตุการณ์ที่ 1 ถึง 3 จากรูปที่ 1 ถ้าการปลดโหลดของสายส่งย่อย Out3 ไม่เพียงพอก็จะทำให้หม้อแปลงส่ง Tr2 ยังคงสภาวะโหลดเกินจนเกินระยะเวลาหน่วงจนปลดหม้อแปลงส่ง Tr2 ทั้งที่น่าจะปลดโหลดอื่น ๆ ต่อไป แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากรูปแบบกำหนดการปลดแบบตายตัวตามสายส่งย่อยแบบรับเข้า จนทำให้ให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างได้

รูปที่ 2 การปลดโหลดเกินแบบตายตัวอาจทำให้ปลดโหลดไม่เพียงพอ

รูปแบบการปลดโหลดเกินแบบตายตัวยังอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการเลือกปลดตามลำดับความสำคัญได้ ลำดับความสำคัญของสายส่งย่อยในระบบจำหน่ายสามารถเปลี่ยนแปลงตามการโอนย้ายโหลด หรือแม้กระทั่งเกิดมีเทศกาล หรือพิธีการพิเศษขึ้นตามแนวการจ่ายไฟฟ้าของสายส่งย่อยแบบจ่ายออก ดังรูปที่ 3

ลำดับความสำคัญของโหลดของสายส่งย่อย Out3 มีความสำคัญเพิ่มขึ้นและตั้งอยู่ในสเต็ปที่ 2 และลำดับความสำคัญของสายส่งย่อย Out1 และ Out2 มีความสำคัญลดลงและอยู่ในสเต็ปที่ 1 จากลำดับเหตุการณ์ในรูปที่ 3 จะเห็นสายส่งย่อย Out3 ถูกปลดทิ้งก่อนสายส่งย่อย Out1 และ Out2 ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานที่ไม่ถูกต้อง

รูปที่ 3 รูปแบบการปลดโหลดเกินแบบตายตัวอาจทำให้ปลดโหลดสำคัญก่อน

และยิ่งกว่านั้นอาจเกิดสถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่า ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเชื่อมต่อบัสบาร์ทั้งในระบบจำหน่ายและระบบส่งแล้วแต่รูปแบบการจ่ายไฟ การปลดโหลดเกินอาจจะทำการปลดสายส่งย่อยแบบจ่ายออก ผิดพลาดไม่ตรงกับโหลดที่ต้องการปลดจริง อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างหม้อแปลงส่ง หรือ สายส่งย่อยแบบรับเข้า กับสายส่งย่อยแบบจ่ายออก จากรูปที่ 4 จะเห็นว่าสายส่งย่อย Out3 ไม่ได้รับไฟฟ้าจากสายส่งย่อย Inc2 แต่ก็ยังถูกปลดโหลดซึ่งเป็นการทำงานที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง ทำให้หม้อแปลงส่ง Tr2 รักษาโหลดตนเองไม่ได้ และยังไปดับไฟของโหลดหม้อแปลงส่งตัวอื่น

รูปที่ 4 รูปแบบการปลดโหลดเกินแบบตายตัวอาจทำให้ปลดโหลดผิดพลาด

รูปแบบการปลดโหลดเกินแบบปรับเปลี่ยน (AOSS: Adaptive Overload Shedding Scheme)
สืบเนื่องจากปัญหาของการทำงานที่ไม่ถูกต้องของรูปแบบการปลดโหลดเกินแบบตายตัว จึงได้เกิดการนำเสนอรูปแบบการปลดโหลดเกินแบบใหม่ที่สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของหม้อแปลงส่งและสายส่งย่อยแบบอัตโนมัติตามรูปแบบการเชื่อมต่อของบัสบาร์ในลักษณะต่าง ๆ และจะทำการปลดโหลดเกินได้อย่างถูกต้องตามเงื่อนไขและความสัมพันธ์ ณ ขณะนั้น

การปลดโหลดเกินแบบปรับเปลี่ยนคือระบบที่ทำการประเมินการรับไฟฟ้าของสายส่งย่อยแบบจ่ายออกจากรูปแบบการจ่ายไฟของบัสบาร์ ดังรูปที่ 5 จากลำดับเหตุการณ์ เมื่อมีการทริปของหม้อแปลงส่ง Tr1 จะเกิด สภาวะโหลดเกินที่หม้อแปลงส่ง Tr2 สัญญาณโหลดเกินจะไม่สั่งปลดสายส่งย่อยโดยตรง แต่สัญญาณจะวิ่งผ่านวงจร AOSS เพื่อประมวลผลว่าสายส่งย่อยใดรับไฟฟ้าจากหม้อแปลงส่ง Tr2 โดยพิจารณาจากบัสบาร์ในด้านระบบจำหน่ายและประเมินลำดับความสำคัญในการปลด

รูปที่ 5 รูปแบบการปลดโหลดเกินแบบปรับเปลี่ยนกรณีการจ่ายไฟตรงของหม้อแปลงส่ง

แต่การปลดโหลดที่แท้จริงในบางสถานีไฟฟ้าแรงสูงต้องพิจารณาบัสบาร์ทางด้านระบบส่งด้วย เนื่องจากหม้อแปลงส่งไม่ได้จ่ายไฟฟ้าให้ระบบจำหน่ายโดยตรง แต่ผ่านบัสบาร์ ดังรูปที่ 6 หม้อแปลงส่ง Tr3 และ Tr4 ไม่ได้จ่ายตรงแต่จ่ายผ่านบัสบาร์ก่อนเข้าระบบจำหน่ายซึ่งได้ทำการขนานหม้อแปลงทางด้านระบบส่ง

จากลำดับเหตุการณ์ เมื่อมีการทริปของหม้อแปลงส่ง Tr3 จะทำให้เกิดสภาวะโหลดเกินที่หม้อแปลงส่ง Tr4 สัญญาณโหลดเกินจะผ่านวงจร AOSS ทางด้านระบบส่งเพื่อประเมินรูปแบบการจ่ายไฟว่า Tr4 จ่ายไฟฟ้าให้สายส่งย่อยแบบรับเข้าใดบ้าง และจะส่งสัญญาณต่อให้วงจร AOSS ทางด้านระบบจำหน่ายเพื่อประมวลผลว่าสายส่งย่อยแบบจ่ายออกใดรับไฟฟ้าจาก Tr4 โดยพิจารณาจากบัสบาร์ในด้านระบบจำหน่ายและประเมินลำดับความสำคัญในการปลดเพื่อปลดโหลด

รูปที่ 6 รูปแบบการปลดโหลดเกินแบบปรับเปลี่ยนกรณีการจ่ายไฟผ่านบัสบาร์ของหม้อแปลงส่ง

การติดตั้งรูปแบบการปลดโหลดเกินแบบปรับเปลี่ยน (Implementation of AOSS)
มี 2 วิธีการหลักนั้นคือการใช้ PLC (Programmable Logic Controller) และการใช้ฟังก์ชันของระบบ SAS (Substation Automation System) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับข้อจำกัด รูปแบบของสถานีต้นทางของระบบจำหน่ายนั้น ๆ

1. การติดตั้ง AOSS โดยใช้ระบบ SAS
ระบบ SAS ส่วนใหญ่มักจะติดตั้งในสถานีต้นทางรุ่นใหม่ ก่อนที่จะตัดสินใจใช้ระบบ SAS ในการติดตั้ง AOSS ต้องทำการศึกษาคุณสมบัติของระบบ SAS ในสถานีต้นทางนั้นต้องสนับสนุนการทำงานพื้นฐานของระบบ AOSS เช่น ระยะเวลาตอบสนองในการสั่งปลด รวมทั้งสนับสนุนการคอนโทรลในรูปแบบขนานคำสั่ง

อีกอย่างที่ต้องประเมินคือศักยภาพของระบบ SAS ว่ายังคงเหลือเพียงพอในการทำงานของระบบ AOSS หรือไม่ ดังนั้นสรุปคร่าว ๆ ได้ว่าระบบ SASต้องมีประสิทธิภาพสูงโดยมีข้อสมมุติฐานที่ว่าการเพิ่มฟังก์ชัน AOSS เข้าไปจะต้องไม่ส่งผลกระทบถึงฟังก์ชันอื่น ๆ ของระบบ SAS

ข้อดีของการติดตั้งระบบ AOSS ในระบบ SAS นั้นคือความสามารถที่จะใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วได้ดี เช่น สายคอนโทรล, ฟังก์ชัน MMI (Man Machine Interface) ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำการไวร์ริ่ง (Wiring) หรือ ทำการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการปิดเปิดใช้งานฟังก์ชัน รวมทั้งแสดงอะลาร์มและสถานะของระบบ AOSS ดังแสดงในรูปที่ 7

ดังนั้นการติดตั้งจึงใช้เวลาค่อนข้างสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น อีกอย่างเนื่องจากระบบ SAS มีการรับทุกสัญญาณในสถานีต้นทาง ดังนั้นฟังก์ชัน AOSS จึงสามารถทำงานได้อย่างซับซ้อนเพื่อสามารถจัดการทุกกรณีของการทำงานได้อย่างถูกต้อง

ดังนั้นวิธีการนี้จึงเป็นวิธีการลำดับแรกที่ถูกเลือกใช้ อย่างไรก็ตามการติดตั้งระบบ AOSS ในระบบ SAS ค่อนข้างยุ่งยากในการเขียนโปรแกรมเนื่องจากมักมีรูปแบบเฉพาะตัวโดยเฉพาะมือใหม่ และโดยทั่วไปแล้วระบบ SAS มักถูกออกแบบในรูปแบบเบย์โอเรียนเต็ด (Bay-oriented) ดังนั้นจึงเกิดหลายอินสแตนซ์ของโปรเซส (Instances) หรือ ทาส์ค (Task) ภายในระบบ SAS ส่งผลให้ทรัพยากรของ SAS ลดลงอย่างมาก และอาจจะเหลือไม่พอสำหรับระบบเพิ่มเติมในอนาคตได้

รูปที่ 7 ระบบ AOSS ในระบบ SAS
    

2. การติดตั้ง AOSS โดยใช้ PLC
ถึงแม้การติดตั้งใน  SAS อาจถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับสถานีต้นทางรุ่นใหม่ แต่อย่างไรก็ตามยังมีสถานีต้นทางที่ไม่มีระบบ SAS หรือมีแต่ประสิทธิภาพ และทรัพยากรเหลือไม่เพียงพอ หรือคุณสมบัติไม่สนับสนุนการทำงานของระบบ AOSS ในกรณีนี้อุปกรณ์ประเภท PLC (Programmable Logic Controller) จะถูกนำมาพิจารณาเพื่อลดงานทางด้านไวร์ริ่งและจำนวนอุปกรณ์ เช่น รีเลย์ช่วย จากการใช้วงจรฮาร์ดไวร์ริ่งแบบ 100%

การใช้ PLC ในการติดตั้งระบบ AOSS ถือว่าเป็นวิธีการที่ค่อนข้างยืดหยุ่นเนื่องจากระบบจะเป็นอิสระ และ PLC สามารถรับประกันเวลาการตอบสนองในการทำงานของระบบ AOSS ได้ดีเยี่ยม อย่างไรก็ตามการใช้ PLC นั้นใช้งานโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วได้ไม่ค่อยดี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องลากสายคอนโทรล และสร้างวงจรคอนโทรลสำหรับส่งอะลาร์มและควบคุมการปิดเปิดฟังก์ชัน ดังรูปที่ 8 ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมค่อนข้างสูง และอีกอย่างหนึ่งสำหรับข้อดี เนื่องจาก PLC ทำงานอย่างอิสระทำให้สามารถทำการบำรุงรักษาได้ง่าย และการทำงานไม่ส่งผลกระทบต่อระบบอื่น จึงเหมาะสมกับหน่วยงานที่มีงบประมาณ


รูปที่ 8 การใช้ PLC ในการสร้างวงจร AOSS

ขั้นตอนการทำงานของ AOSS
ฟังก์ชัน AOSS ได้ถูกออกแบบให้ทำงานเมื่อมีสัญญาณโหลดเกิน (Overload Signal) จากรีเลย์ป้องกันของสายส่งย่อยแบบรับเข้าใด ๆ เกิดขึ้น ระบบ AOSS จะทำงานตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ตรวจสอบตำแหน่งใบมีดหน้าหลังของ CB ทางด้านสายส่งย่อยแบบรับเข้า หรือหม้อแปลงส่งนั้น เพื่อป้องกันการทำงานผิดพลาดในกรณีทำการบำรุงรักษา

* ถ้าใบมีดทั้งสาม ไม่อยู่ในตำแหน่งสับพร้อมจ่ายไฟ ระบบจะไม่ทำสร้างสัญญาณตรวจพบโหลดเกิน (Overload Detected)

* ถ้าใบมีดเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถจ่ายไฟฟ้าพร้อมทั้งฟังก์ชัน AOSS ของ สายส่งย่อยอินคัมมิ่งหรือหม้อแปลงส่งนั้นอยู่ตำแหน่งเปิดใช้งานหรือ ON ระบบ AOSS จะสร้างสัญญาณ Overload Detected พร้อมที่จะปลดสายส่งย่อยแบบจ่ายออกที่รับไฟฟ้าจากสายส่งย่อยแบบรับเข้า รวมทั้งส่งอะลาร์ม Overload Detected ไปยัง MMI หรือ อะลาร์มพาเนล หรือ SCADA

2. ตรวจสอบ สายส่งย่อยแบบจ่ายออกใด ๆ ว่าอยู่ในลำดับการปลดที่ Step 1 หรือ Step 2 หรือไม่ถูกปลดทิ้ง (Off)
* กรณีสายส่งย่อยแบบจ่ายออกนั้นอยู่ที่ Step 1 และ CB อยู่ตำแหน่งสับ ระบบ AOSS จะตรวจสอบรูปแบบการจ่ายไฟของบัสบาร์ ว่าสายส่งย่อยแบบจ่ายออกนั้นรับไฟฟ้าจากสายส่งย่อยแบบรับเข้าหรือหม้อแปลงส่งที่มีสัญญาณ Overload Detected หรือไม่

- กรณีรับไฟฟ้าจะหน่วงเวลา 2 วินาที ถ้าสัญญาณ Overload Detected ยังอยู่ จะทำการปลดสายส่งย่อยแบบจ่ายออกนั้น รวมทั้งทำการยกเลิกฟังก์ชัน AR (Autorecloser) และส่งอะลาร์มไปยัง MMI หรืออะลาร์มพาเนล หรือ SCADA

- กรณีสั่งปลดแล้วไม่ปลดจะทำการยกเลิกลำดับการปลดของสายส่งย่อยแบบจ่ายออกนั้น รวมทั้งส่งอะลาร์ม Fail-to-Trip ไปยัง MMI หรือ อะลาร์มพาเนล หรือ SCADA

* กรณีสายส่งย่อยแบบจ่ายออกนั้นอยู่ที่ Step 2 และ CB อยู่ตำแหน่งสับ ระบบ AOSS จะตรวจสอบรูปแบบการจ่ายไฟของบัสบาร์ ว่าสายส่งย่อยแบบจ่ายออกนั้นรับไฟฟ้าจากสายส่งย่อยแบบรับเข้าหรือหม้อแปลงส่งที่มีสัญญาณ Overload Detected หรือไม่

- กรณีรับไฟฟ้าจะหน่วงเวลา 4 วินาที ถ้าสัญญาณ Overload Detected ยังอยู่ จะทำการปลดสายส่งย่อยแบบจ่ายออกนั้น รวมทั้งทำการยกเลิกฟังก์ชัน AR (Autorecloser) และส่งอะลาร์มไปยัง MMI หรือ อะลาร์มพาเนล หรือ SCADA

- กรณีสั่งปลดแล้วไม่ปลดจะทำการยกเลิกลำดับการปลดของสายส่งย่อยแบบจ่ายออกนั้น รวมทั้งส่งอะลาร์ม Fail-to-Trip ไปยัง MMI หรือ อะลาร์มพาเนล หรือ SCADA

เทคนิคการโปรแกรม AOSS
มีสองเทคนิคในการโปรแกรมที่ใช้ในการติดตั้งโดยแสดงด้วยตัวดำเนินการของ ANSI C เทคนิคแรกคือการโปรแกรมจากมุมมองของสายส่งย่อยแบบรับเข้าหรือหม้อแปลงส่ง และเทคนิคที่สองคือการโปรแกรมจากมุมมองของสายส่งย่อยแบบจ่ายออก

1. การโปรแกรมจากมุมมองของสายส่งย่อยแบบรับเข้า
จากมุมมองของสายส่งย่อยแบบรับเข้านั้นตัวสายส่งจะตรวจสอบว่าสายส่งย่อยแบบจ่ายออกใดรับไฟฟ้าจากมัน ดังนั้นโปรแกรมจะต้องตรวจสอบตำแหน่งของใบมีดและเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบจ่ายไฟฟ้าของบัสบาร์ จากรูปที่ 9 เป็นโครงสร้างของบัสบาร์ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสถานีต้นทางในระบบจำหน่ายคือมี 4 บัสบาร์, 4 สายส่งย่อยแบบรับเข้า, 2 บัสคัปเปลอร์เซอร์กิตเบรกเกอร์ และ 2 ใบมีดบัสเซคชั่น (Bussection Disconnecting Switch) ดังนั้นกรณีที่เป็นไปได้จะแสดงดังต่อไปนี้

  1.1 LABRAB: ทุกสายส่งย่อยแบบรับเข้าเชื่อมต่อกับทุกสายส่งย่อยแบบจ่ายออกที่จ่ายไฟเนื่องจากบัสบาร์ทั้ง 4 บัสบาร์เชื่อมต่อถึงกัน      
         BSA&&BSB&&(BC1||BC2)
         BC1&&BC2&&(BSA||BSB)

  1.2 LAB: ทุกสายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านซ้ายเชื่อมต่อทุกสายส่งแบบจ่ายออกทางด้านซ้าย
         BC1

  1.3 LABRA: ทุกสายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านซ้ายเชื่อมต่อทุกสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้าย และสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะกับบัสบาร์ A2
         BC1&&BSA

  1.4 LABRB: ทุกสายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านซ้ายเชื่อมต่อทุกสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้าย และสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาที่เกาะกับบัสบาร์ B2
        BC1&&BSB

  1.5 LARA: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านซ้ายเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะบัสบาร์ A1 และสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาที่เกาะกับบัสบาร์ A2
         SW1,2A&&BSA

  1.6 LARAB: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านซ้ายเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะบัสบาร์ A1 และสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาทั้งหมด
        SW1,2A &&BSA&&BC2

  1.7 LA: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านซ้ายเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะบัสบาร์ A1
        SW1,2A

  1.8 LBRB: ส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านซ้ายเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะบัสบาร์ B1 สายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาที่เกาะกับบัสบาร์ B2
         SW1,2B&&BSB

  1.9 LBRAB: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านซ้ายเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะบัสบาร์ B1 และสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาทั้งหมด
         SW1,2B&&BSB&&BC2

  1.10 LB: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านซ้ายเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะบัสบาร์ B1
           SW1,2B

  1.11 RAB: ทุกสายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านขวาเชื่อมต่อทุกสายส่งแบบจ่ายออกทางด้านขวา
           BC2

  1.12 RABLA: ทุกสายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านขวาเชื่อมต่อทุกสายส่งแบบจ่ายออกทางด้านขวา และสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะกับบัสบาร์ A1
           BC2&&BSA

  1.13 RABLB: ทุกสายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านขวาเชื่อมต่อทุกสายส่งแบบจ่ายออกทางด้านขวา และสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะกับบัสบาร์ B1
           BC2&&BSB

  1.14 RALA: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านขวาเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาที่เกาะบัสบาร์ A2 และ สายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะกับบัสบาร์ A1
           SW3,4A&&BSA

  1.15 RALAB: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านขวาเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาที่เกาะบัสบาร์ A2 และสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายทั้งหมด        
           SW3,4A&&BSA&&BC1

  1.16 RA: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านขวาเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาที่เกาะบัสบาร์ A2
           SW3,4A

  1.17 RBLB: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านขวาเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาที่เกาะบัสบาร์ B2 และ สายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายที่เกาะกับบัสบาร์ B1
           SW3,4B&&BSB

  1.18 RBLAB: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านขวาเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาที่เกาะบัสบาร์ B2 และสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายทั้งหมด      
           SW3,4B&&BSB&&BC1

  1.19 RB: สายส่งย่อยแบบรับเข้าทางด้านขวาเชื่อมต่อสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านขวาที่เกาะบัสบาร์ B2   SW3,4B

เทคนิคการโปรแกรมจากมุมมองของสายส่งย่อยแบบรับเข้าเป็นเทคนิคที่ง่าย และเหมาะสมกับ PLC หรือระบบ SAS ที่ไม่ใช่รูปแบบเบย์โอเรียนเต็ด

รูปที่ 9 รูปแบบการอ้างอิงบัสบาร์ของเทคนิคมุมมองจากสายส่งย่อยแบบรับเข้า

2. การโปรแกรมจากมุมมองของสายส่งย่อยแบบจ่ายออก
ลักษณะเดียวกัน จากมุมมองของสายส่งย่อยแบบจ่ายออกนั้น ตัวสายส่งย่อยแบบจ่ายออกจะตรวจสอบว่ารับไฟฟ้าจากสายส่งย่อยอินคัมมิ่งใดบ้าง ดังนั้นโปรแกรมจะต้องตรวจสอบตำแหน่งของใบมีดและเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบจ่ายไฟฟ้าของบัสบาร์

จากรูปที่ 10 เป็นโครงสร้างของบัสบาร์ที่กำหนดมุมมองสำหรับเทคนิคนี้ สำหรับสถานีต้นทางขนาดใหญ่สุดในระบบจำหน่าย คือมี 4 บัสบาร์, 4 สายส่งย่อยแบบรับเข้า, 2 บัสคัปเปลอร์เซอร์กิตเบรกเกอร์ และ 2 ใบมีดบัสเซคชั่น ดังนั้นกรณีที่เป็นไปได้แสดงดังต่อไปนี้

2.1 L1-L2-L3-L4: ทุกสายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับทุกสายส่งย่อยแบบรับเข้าที่จ่ายไฟเนื่องจากบัสบาร์ทั้ง 4 บัสบาร์เชื่อมต่อถึงกัน  
   BSA&&BSB&&(BC1||BC2)
   BC1&&BC2&&(BSA||BSB)
   SWA&&BSA&&SW1A&&SW2A&&SW3A&&SW4A
   SWB&&BSB&&SW1B&&SW2B&&SW3B&&SW4B
  2.2 L1-L2-L3: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า1, 2 และ 3
   BC1&&((BSA&&SW3A)||(BSB&&SW3B))
   SWA&&BSA&&SW1A&&SW2A&&SW3A
   SWB&&BSB&&SW1B&&SW2B&&SW3B
  2.3 L1-L2-L4: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า1, 2 และ 4
   BC1&&((BSA&&SW4A)||(BSB&&SW4B))
   SWA&&BSA&&SW1A&&SW2A&&SW4A
   SWB&&BSB&&SW1B&&SW2B&&SW4B
  2.4 L2-L3-L4: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 2, 3 และ 4
   BC2&&((BSA&&SW2A)||(BSB&&SW2B))
   SWA&&BSA&&SW2A&&SW3A&&SW4A
   SWB&&BSB&&SW2B&&SW3B&&SW4B
  2.5 L1-L3-L4: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 1, 2 และ 3
   BC2&&((BSA&&SW1A)||(BSB&&SW1B))
   SWA&&BSA&&SW1A&&SW3A&&SW4A
   SWB&&BSB&&SW1B&&SW3B&&SW4B
  2.6 L1-L2: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 1 และ 2
   BC1
   SWA&&SW1A&&SW2A
   SWB&&SW1B&&SW2B
  2.7 L1-L3: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 1 และ 3
   SWA&&BSA&&SW1A&&SW3A
   SWB&&BSB&&SW1B&&SW2B
  2.8 L1-L4: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 1 และ 4
   SWA&&BSA&&SW1A&&SW4A
   SWB&&BSB&&SW1B&&SW4B
  2.9 L2-L3: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 2 และ 3
   SWA&&BSA&&SW2A&&SW3A
   SWB&&BSB&&SW2B&&SW3B
  2.10 L2-L4: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 2 และ 4
   SWA&&BSA&&SW2A&&SW4A
   SWB&&BSB&&SW2B&&SW4B
  2.11 L3-L4: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 3 และ 4
   SWA&&BSA&&SW3A&&SW4A
   SWB&&BSB&&SW3B&&SW4B
  2.12 L1: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 1
   SWA&&SW1A
   SWB&&SW1B
  2.13 L2: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 2
   SWA&&SW2A
   SWB&&SW2B
  2.14 L3: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 3
   SWA&&BSA&&SW3A
   SWB&&BSB&&SW3B
  2.15 L4: สายส่งย่อยแบบจ่ายออกเชื่อมต่อกับสายส่งย่อยแบบรับเข้า 4
   SWA&&BSA&&SW4A
   SWB&&BSB&&SW4B

เทคนิคการโปรแกรมจากมุมมองของสายส่งย่อยเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างยุ่งยาก และเหมาะสมกับระบบ SAS ที่เป็นแบบเบย์โอเรียนเต็ด อย่างไรการโปรแกรมสามารถสร้างคลาสของโปรแกรม (Class) เพียงคลาสเดียวได้แต่แต่ละอินสแตนซ์ หรือ ทาส์ค อาจจะมีการใส่พารามิเตอร์ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่ว่าเป็นสายส่งย่อยแบบจ่ายออกทางด้านซ้ายหรือด้านขวา ดังแสดงในรูปที่ 10


รูปที่ 10 รูปแบบการอ้างอิงบัสบาร์ของเทคนิคมุมมองจากสายส่งย่อยแบบจ่ายออก

สรุป
ประโยชน์ของระบบ AOSS นั้นส่วนใหญ่จะประเมินค่าล่วงหน้าไม่ได้ เนื่องจากระบบมีไว้ในเชิงป้องกันเช่นเดียวกับระบบป้องกันระบบไฟฟ้า การทำงานระบบ AOSS เพียงแค่ครั้งเดียวอาจเกินจุดคุ้มทุนในการส่งเสริมให้พัฒนาและติดตั้ง ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

     1. เพิ่มระดับความเชื่อถือได้ของระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า ส่งผลต่อระดับความมั่นคงของประเทศ
     2. ลดการสูญเสียโอกาสในการขายไฟ และ การสูญเสียต่าง ๆ เนื่องจากไฟฟ้าดับ
     3. เพิ่มองค์ความรู้ให้กับพนักงานในการออกข้อกำหนดอุปกรณ์หรือระบบที่เกี่ยวกับระบบควบคุมและอัตโนมัติ

เอกสารอ้างอิง
[1] P.Jintagosonwit, K.Keratiwisitkul and T.Thasananutariya, 2010, “adaptive overload-shedding scheme”, The 18th Conference of the Electric Power Supply Industry, 24-28 October 2010, Taipei, Taiwan.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด