เนื้อหาวันที่ : 2007-03-16 10:42:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9728 views

สมรรถนะของเครื่องจักรและความสามารถของเครื่องมือตัด ในงานตัดปาดผิวสอดคล้องกันอย่างไร

การผลิตแม่พิมพ์ในอุตสาหกรรม สนับสนุนกระบวนการตัดปาดผิว มีเป้าหมายเพื่อขึ้นรูปโลหะให้มีรูปร่างตามต้องการหรือตรงตามแบบ เป็นการผลิตชิ้นงานที่มีความละเอียดและเที่ยงตรงสูง ด้วยคมตัดของเครื่องมือตัด และเครื่องจักรกลที่มีสมรรถนะสูง

กระบวนการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลและการผลิตแม่พิมพ์ในอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ด้านกระบวนการตัดปาดผิว (Metal Removal Process) มีเป้าหมายเพื่อขึ้นรูปโลหะให้มีรูปร่างตามต้องการหรือตรงตามแบบ (Drawing) เป็นการผลิตชิ้นงานที่มีความละเอียดและเที่ยงตรงสูง (High Precision) การตัดปาดผิวชิ้นงานด้วยคมตัดของเครื่องมือตัด (Cutting Tools) และเครื่องจักรกลที่มีสมรรถนะสูง  ทั้งในด้านความสามารถใช้ความเร็วรอบการตัดสูง ถึง 8,000, 10,000 หรือสูงกว่า 20,000 – 100,000 รอบต่อนาที  ความเสถียรของโครงสร้างโดยรวมของเครื่องจักรที่สามารถรองรับรอบสูงๆ ได้  มีหลายรูปแบบหลายลักษณะ ขึ้นกับรูปร่างชิ้นงานที่ต้องการผลิตหรือตามแบบงานที่วิศวกรออกแบบไว้  และเป็นไปตามมาตรฐานของเครื่องมือตัดและเครื่องจักรกล โดยผู้ผลิต  มีหลายประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมัน สวีเดน อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา เป็นต้น

.

เครื่องจักรกลงานตัดปาดผิวและเครื่องมือตัดที่ใช้งานในอุตสาหกรรมประเทศไทยจะนำเข้าเป็นส่วนใหญ่  ผลจากการศึกษาข้อมูลขั้นต้นจากเอกสาร และสื่อชนิดต่างๆ เช่น หนังสือ แผ่นพับ มากกว่า 30 รายการ รวมถึงข้อมูลจากตัวแทนจำหน่ายภายในประเทศ กว่า 8 ราย   พบว่า เครื่องมือตัดที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่  แผ่นมีดคาร์ไบด์,  แผ่นมีดคาร์ไบด์เคลือบ (Coating Carbide), เซอร์เมท (Cermet), ซรามิกส์ (Ceramics) และ เครื่องมือตัดประเภทเหล็กกล้ารอบสูง (High speed steels) ที่อยู่ในรูปของ Solid High Speed Steels ทั้งเคลือบผิวและไม่เคลือบผิวแข็ง ส่วนตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรกลสำหรับงานเครื่องมือกล (Machine Tool) เช่น เครื่องกลึง กัด เจียระไน แบบธรรมดา(Manual machine) และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (CNC), Machining Center, CNC Lathe, CNC Milling  นำเข้าและจำหน่ายในประเทศ นานมากกว่า 15-20 ปี  บางบริษัทจำหน่ายเครื่องจักรได้มากกว่า 1,000 เครื่อง  พบว่าเครื่องกลึงธรรมดา (Manual Lathe) และ CNC Lathe มียอดขายมากกว่าเครื่องจักรชนิดอื่นๆ รองลงมา ได้แก่ เครื่องกัด (Milling) Machining Center และ CNC Milling สำหรับเครื่องกลึงในงานผลิตจำนวนมาก ส่วนใหญ่ใช้กับงานที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ในช่วง 4.0 – 34.0 มิลลิเมตร (หรืองานขนาด ไม่เกิน 1.5 นิ้ว)  พบว่าเครื่องกลึงอัตโนมัติที่จำหน่ายในเมืองไทยส่วนใหญ่ กำลังมอเตอร์ที่ใช้งานอยู่ในช่วง 5 – 20 Hp (โดยเฉลี่ย)   ความเร็วรอบ อยู่ในช่วง 10 – 3,500 รอบ/นาที   ส่วนเครื่องกลึงธรรมดา (Lathe) กำลังมอเตอร์อยู่ในช่วง 5 – 20 Hp  ความเร็วรอบอยู่ในช่วง 25 – 2,000 รอบ/นาที

.

.

รูปที่ 1 เทคโนโลยีเพื่อการผลิตเครื่องมือตัด แบบ Solid Cutting toolsโดยผู้ผลิตเครื่องมือตัด บริษัท ทูลพาร์ทโมลด์ จำกัด

.

 

.

รูปที่ 2  เอ็นมิลล์เหล็กกล้ารอบสูง (High speed steel) ผลิตด้วยเครื่อง 5-Axis CNC Grinding machine

.

เมื่อพิจารณาในส่วนของเครื่องมือตัดพบว่าเครื่องมือตัดแต่ละชนิดมีความสามารถในการตัดเฉือนได้แตกต่างกัน ได้แก่ แผ่นมีดคาร์ไบด์ สำหรับตัดเฉือนเหล็กหล่อ เหล็กกล้าไร้สนิม เหล็กเครื่องมือ สามารถใช้ความเร็วตัดได้สูงถึง 150 เมตร/นาที (500 ฟุต/นาที) แผ่นมีดคาร์ไบด์เคลือบ (Coated Carbide) ด้วย TiN, TiC, Al2O3 สำหรับตัดเฉือนเหล็กหล่อ เหล็กกล้าไร้สนิม เหล็กเครื่องมือ ใช้ความเร็วตัดได้ สูงถึง 275 เมตร/นาที  เซอร์เมท (Cermet) มีส่วนผสมของ Ni, Co, ผสม TiCN สูง สามารถตัดเฉือนได้ด้วยความเร็วตัด 365 เมตร/นาที (1,200 ฟุต/นาที) เซรามิกส์ (Ceramics) สามารถตัดเฉือนที่ความเร็วตัด 1,220 เมตร/นาที (4,000 ฟุต/นาที) และเครื่องมือตัดประเภทเหล็กกล้ารอบสูง (High Speed Steels) จะใช้ความเร็วตัดต่ำกว่าชนิดอื่นๆ โดยใช้งานได้ประมาณ 30-60 เมตร/นาที เป็นต้น [2]   เมื่อพิจารณาความสามารถในการตัดเฉือนชิ้นงานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 มิลลิเมตรแล้ว เครื่องจักรแบบ Manual ที่ความเร็วรอบสูงสุด 2,000 รอบ/นาที สามารถตัดเฉือนได้ที่ความเร็วตัด 157 เมตร/นาที  สามารถใช้ได้กับเครื่องมือตัดชนิดคาร์ไบด์ที่ไม่เคลือบผิวเท่านั้น   และการผลิตในอุตสาหกรรมมีน้อยรายที่จะเลือกใช้ความเร็วตัดสูงสุด ด้วยสาเหตุ ปัญหาของสมรรถนะเครื่องกลึงด้านความทนทาน การเกิด Vibration หรือความเสถียรของเครื่องเมื่อใช้งานที่รอบสูงๆ เป็นสาเหตุสำคัญให้ไม่สามารถใช้รอบสูงได้  เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว   จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีของการผลิตเครื่องจักรกลกับเทคโนโลยีของการผลิตเครื่องมือตัดและวัสดุเครื่องมือตัด   มีความแตกต่างกันด้านการใช้งานโดยสิ้นเชิง ในด้านความสามารถในการตัด หมายถึง รอบการทำงานสูงสุดของเครื่องกลึงเมื่อเทียบกับรอบการทำงานสูงสุดของเครื่องมือตัดไม่สัมพันธ์กัน   ผู้ใช้ต้องพิจารณาความคุ้มค่าด้านต้นทุน ก่อนการตัดสินใจเลือกใช้ให้เหมาะสม   แน่นอนว่าเครื่องรุ่นเก่ามากกว่า 5 – 10 ปี ย่อมใช้รอบการตัดได้ต่ำกว่าเครื่องที่จำหน่ายในปัจจุบัน

.

.

รูปที่ 3  รูปร่างของแผ่นมีดกลึง (Insert tools) รูปทรง S, W และ D เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

.

.

รูปที่ 4  เครื่องจักรกลอัตโนมัติแนวตั้ง (Vertical spindle) สามารถใช้รอบสูง ตามข้อกำหนดหรือคุณสมบัติของแผ่นมีด

.

อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยเป็นผู้นำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้  ถือได้ว่าความสอดคล้องด้านสมรรถนะด้านประสิทธิภาพการใช้งาน  ภายใต้เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในแต่ละรูปแบบระหว่างเครื่องจักรและเครื่องมือตัดแล้ว สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ   อุตสาหกรรมไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาเชิงลึกถึงเทคนิคต่างๆ ในการผลิต   เทคโนโลยีที่นำเข้าจะเกิดช่องวางในการใช้งาน   เมื่อพิจารณาความคุ้มค่าเป็นช่องว่างที่ก่อให้เกิดความสูญเสียโดยไม่ทันรู้ตัวและมีโอกาสเกิดขึ้นหลายด้าน เช่น สูญเสียโอกาสด้านกำลังการการผลิต  เนื่องจากทำการผลิตที่กำลังการผลิตต่ำกว่าด้วยปัญหาข้างต้น สูญเสียโอกาสในการทำกำไรหรือเป็นสาเหตุของต้นทุนการผลิตสูง  ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดราคาขายสินค้าอีกทอดหนึ่งและสูญเสียอำนาจต่อรองทางธุรกิจโดยเฉพาะชิ้นส่วนโลหะและแม่พิมพ์  สำหรับบ้านเราแล้วถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญมากและเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในแผนการพัฒนาของประเทศ

.

สำหรับเทคนิคการผลิตด้วยการตัดปาดผิวให้คุ้มค่า  นำไปสู่การลดความสูญเสีย  เพิ่มศักยภาพในการผลิต  และการแข่งขัน สามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างเหมาะสมจะนำเสนอในคราวต่อไป

.

เอกสารอ้างอิง

1.Amitabga, B.and Inyyong, H. “Design of cutting tools” Michigan, America Society of Tool and Manufacturing Engineering, 1970.

2.J.R. Davis & Associates “ASM Specialty Handbook Tool Materials” first Printing, Printed in the United States of America, April 1995.

3.Haldon J. Swinestein “Cutting tool Material Selection” America Society of Tool and Manufacturing Engineering, 1968.

4. John Wiley & Sons “Machine Tool Practices” Third Edition

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด