เนื้อหาวันที่ : 2007-03-14 18:01:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 26586 views

มาตรฐานการจัดการคุณภาพ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมยานยนต์ในทุกวันนี้ จะพบว่ามีการขยายตัวกันอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์หลาย ๆ ค่ายตัดสินใจที่จะลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองไทย และเลือกใช้ชิ้นส่วนรถยนต์จากโรงงานในประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ติดตามมากับการตัดสินใจใช้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ

หากพูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ในทุกวันนี้ จะพบว่ามีการขยายตัวกันอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์หลาย ๆ ค่ายตัดสินใจที่จะลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองไทย และเลือกใช้ชิ้นส่วนรถยนต์จากโรงงานในประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ติดตามมากับการตัดสินใจใช้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ก็คือการกำหนดมาตรฐานระบบคุณภาพที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะต้องได้รับการรับรองเสียก่อน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในระบบการทำงานและการควบคุมคุณภาพที่เป็นที่เชื่อถือได้

.

มาตรฐานระบบคุณภาพที่ผู้ผลิตรถยนต์ ได้มีการกำหนดให้ปฏิบัติในช่วงแรก จะเป็นมาตรฐานที่เรียกว่า QS-9000 ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ที่มีบทบาทอย่างมากในการกำหนดให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องจัดทำ ได้แก่ General Motor และ Auto Alliance รวมถึงบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนชั้นนำที่มีโรงงานในเมืองไทย เช่น Visteon หรือ Delphi ต่างก็กำหนดให้ผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนส่งให้กับโรงงานดังกล่าวต้องได้รับการรับรองเช่นเดียวกัน ส่งผลให้การจัดทำและการขอการรับรองมาตรฐาน QS-9000 ในประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างมาก

.

พัฒนาการของระบบบริหารคุณภาพอุตสาหกรรมยานยนต์

พัฒนาการของมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ หากย้อนไปต้องเริ่มต้นกันที่ปี 1973 ซึ่งมีการออกมาตรฐานเพื่อใช้ในควบคุมการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการทหาร ที่เรียกว่า NATO Quality Control System ซึ่งต่อมาทาง Quality Panel ของ UK Society of Motor Manufacturers ได้มีการนำมาปรับใช้สำหรับอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่ทางการทหาร โดยกำหนดให้เป็นมาตรฐาน BS4891 มีการจัดพิมพ์ออกมาในปี 1972 และพัฒนามาเป็นมาตรฐาน BS5179 ที่เรียกว่า Operation and Evaluation of Quality Assurance Systems ในปี 1974 จนมาถึงปี 1979 จึงได้มีการออกมาตรฐาน BS5750

.

มาตรฐาน BS5750 ถือเป็นมาตรฐานที่ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนามาเป็นมาตรฐานในตระกูล ISO9000 โดย ISO หรือ International Organization of Standardization ซึ่งประกาศออกมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1987 และได้มีการทบทวนออกมาเป็นรุ่นที่ 2 ในปี 1994 จนกระทั่งในปี 2000 มาตรฐาน ISO9000 ก็ได้รับการทบทวนและปรับปรุงใหม่มาเป็นมาตรฐาน ISO9001:2000 (Quality Management System–Requirements) จากรูปที่ 1 จะเป็นพัฒนาการของมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ได้มีการออกมาตรฐานระบบคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นการเฉพาะ โดยผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในหลายประเทศ เพื่อให้ทางผู้ผลิตชิ้นส่วนได้ปฏิบัติตาม ทั้งนี้มาตรฐานที่เกิดขึ้นจะมีหลายมาตรฐานตามแต่ละบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะกำหนด ทั้งในฝั่งของอเมริกาและทางฝั่งยุโรป ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน QS-9000 ของอเมริกา มาตรฐาน VDA 6.1 ของเยอรมนี มาตรฐาน AVSQ ของอิตาลี และมาตรฐาน EAQF ของฝรั่งเศส

.

QS-9000

ในปี 1988 ผู้บริหารระดับสูงด้านจัดซื้อของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ ประกอบด้วย Chrysler (ในขณะนั้น) Ford และ General Motor ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อกำหนดมาตรฐานร่วม รวมถึงคู่มือในการอ้างอิง แบบฟอร์มบันทึกต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์ทั้งสามค่าย จนถึงในปี 1992 คณะทำงานของทั้งสามบริษัท ได้ร่วมกันออกคู่มือระบบคุณภาพสำหรับผู้ส่งมอบ และพัฒนามาเป็นมาตรฐาน QS-9000 ในเดือนสิงหาคมปี 1994 ซึ่งวางโครงสร้างของข้อกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO9000 โดยมีการเพิ่มเติมข้อกำหนดเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะนำมาจากเอกสารคู่มือของรถยนต์แต่ละบริษัท ประกอบด้วย Supplier Quality Assurance Manual ของ Chrysler เอกสาร Q101 ของ Ford และ Target for Excellence ของ General Motor รวมถึงข้อกำหนดบางส่วนจากผู้ผลิตรถบรรทุก ซึ่งในปี 1995 ได้มีการทบทวนมาตรฐานออกเป็นรุ่นที่ 2 และพัฒนาเป็นรุ่นที่ 3 ในเดือนมีนาคมปี 1998

.

VDA 6.1

ในปี 1991 หน่วยงานที่ดูแลด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศเยอรมนี ที่ชื่อ Verband der Automobilindustrie e.V. หรือ VDA ได้มีการออกมาตรฐานที่เรียกว่า VDA 6.1 : Quality System Audit ซึ่งจะมีรูปแบบเป็นคำถามสำหรับการประเมินระบบคุณภาพ โดยรายละเอียดของ VDA 6.1 จะไม่เหมือนกับ QS-9000 ที่กำหนดเนื้อหาสอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO9001 ชุดคำถามใน VDA 6.1 จะมีทั้งหมด 23 Elements (ในขณะที่ QS-9000 และ ISO9001:1994 จะมีทั้งหมด 20 Elements) และหัวข้อในแต่ละ Element ก็ไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO9001 ด้วย เช่นในส่วนที่ 3 ของ VDA6.1 จะกำหนดในเรื่องของ Internal Quality Audit (การตรวจติดตามคุณภาพภายใน) ในขณะที่มาตรฐาน ISO9001:1994 และ QS-9000 จะกำหนดเป็นเรื่องของ Contract Review (การทบทวนข้อตกลง) นอกจากนั้นใน VDA6.1 ยังมีการกำหนดเพิ่มเติมในเรื่องของกลยุทธ์ขององค์กร (Corporate Strategy) ไว้ด้วย ซึ่งจะครอบคลุมถึงการจัดทำแผนธุรกิจ (Business Planning) ทั้งนี้มาตรฐาน VDA6.1 ได้รับการทบทวนและเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง

.

AVSQ

มาตรฐาน AVSQ  ได้รับการจัดทำขึ้นเมื่อปี 1994 โดย ANFIA ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของอิตาลี ในชื่อ ANFIA Evaluation of Quality Systems–Guidance for use โดยจะประกอบด้วยชุดคำถาม (Checklist) และคู่มือการใช้งาน (User guide) ซึ่งในแต่ละคำถาม จะมีการระบุแนวทางการอธิบายความเพื่อให้เข้าใจได้มากขึ้น คำถามต่างๆ จะระบุในลักษณะคล้ายกับข้อกำหนด ทั้ง 20 ข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO9001 โดยมีการเพิ่มเข้าไปอีก 2 เรื่องประกอบด้วย การพิจารณาทางด้านการเงิน (Financial) และความปลอดภัยที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (Product Safety) การประเมินผลของแต่ละคำถาม จะเป็นลักษณะของการให้คะแนนตามความสอดคล้องของระบบ

.

EAQF

ในปี 1990 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของฝรั่งเศส ประกอบด้วย PSA Peugeot – Citroen และ Renault ได้ร่วมกันออกมาตรฐานที่เกี่ยวกับระบบการประกันคุณภาพสำหรับผู้ส่งมอบ (Supplier) ที่ชื่อว่า Référentiel d’Evaluation d’Aptitude Qualité Fournisseurs (EAQF) โดยเนื้อหาที่กำหนดไว้ของ EAQF จะคล้ายกันกับ AVSQ โดยเนื้อหาจะแบ่งเป็นข้อความของข้อกำหนด และคำถามสำหรับเป็นแนวทางในการตรวจประเมิน ในส่วนของเนื้อหาจะครอบคลุมทั้งในส่วนของมาตรฐาน ISO9001 และแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ จนถึงปี 1994 ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐาน ISO9001 รวมถึงยังได้มีการนำเนื้อหาบางส่วนของมาตรฐาน VDA ของเยอรมนี มาเพิ่มเติมในมาตรฐานฉบับปรับปรุงนี้ด้วย โดยเนื้อหาที่เพิ่มเติม จะครอบคลุมถึงส่วนของการพิจารณาด้านการเงิน (Financial) ที่เกี่ยวกับระบบคุณภาพ และการควบคุมความปลอดภัยที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (Product Safety) เข้าไปด้วย การประเมินผลจะเป็นลักษณะของการให้คะแนนเช่นเดียวกับมาตรฐาน AVSQ เพื่อประเมินระดับของความสอดคล้องตามข้อกำหนด

.

ผลจากการที่มีหลายมาตรฐานซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากผู้ผลิตรถยนต์หลายสัญชาติ ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ มีความสับสนต่อการจัดทำระบบมาตรฐานที่มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในยุโรป จนในปี 1996 บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำจึงได้มีการรวมกลุ่มเพื่อทำการกำหนดมาตรฐานใหม่ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงการพยายามผลักดันเพื่อให้เป็นมาตรฐานในระดับนานาชาติ เหมือนกับมาตรฐาน ISO 9001 โดยได้มีการจัดตั้งเป็นองค์กรความร่วมมือที่เรียกว่า International Automotive Task Force หรือ IATF มีสมาชิกมาจากทั้งผู้ผลิตรถยนต์ในค่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น BMW, DaimlerChrysler, FIAT, Ford Motor Company, General Motor Corporation, Renault, PSA (PeugeotCitroen), Volkswagen รวมถึงองค์กรความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย AIAG (North America), ANFIA (Italy), FIEV (France), SMMT (UK) และ VDA (Germany) โดยมีเป้าหมายในการจัดทำและควบคุมมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เรียกว่า ISO/TS 16949

.

ISO/TS 16949

มาตรฐาน ISO/TS 16949 ได้ถูกพัฒนาขึ้นและกำหนดให้มีการใช้ครั้งแรกในปี 1999 โดยเป็นการผสมผสานของข้อกำหนดจากมาตรฐานต่าง ๆ ประกอบด้วย QS-9000, VDA6.1, AVSQ และ EAQF และวางโครงสร้างของข้อกำหนดตามมาตรฐาน ISO 9001:1994 ในปัจจุบันได้มีการให้การรับรองในมาตรฐานนี้ไปแล้วทั่วโลกกว่า 2200 ราย โดยมีบริษัทที่ให้การรับรองหรือ Certification Body สำหรับมาตรฐาน ISO/TS 16949:1999 กว่า 49 บริษัท (ในขณะที่มาตรฐาน QS-9000 มีการให้การรับรองไปแล้วกว่า 24000 รายทั่วโลก โดยมีบริษัทให้การรับรองได้ทั้งหมดจำนวน 178 ราย: ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2002)

.

ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้มาตรฐาน ISO 9001 ฉบับปี 2000 ขึ้น จึงได้มีการพัฒนามาตรฐาน ISO/TS 16949 ฉบับใหม่ขึ้น โดยวางโครงสร้างของข้อกำหนดตามมาตรฐาน ISO 9001:2000 และมีการปรับปรุงเนื้อหาของข้อกำหนดในบางส่วน รวมถึงมุมมองของมาตรฐานและการจัดทำระบบที่เปลี่ยนไป ซึ่งมาตรฐานฉบับใหม่นี้ได้มีการประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2002 โดยกำหนดให้เป็น ISO/TS 16949:2002

.

ในมาตรฐานฉบับปี 2002 นี้ได้มีองค์กรที่เข้าร่วมในการพิจารณามาตรฐานเพิ่มอีกหน่วยงานหนึ่ง เรียกว่า JAMA (Japan Automobile Manufacturing Association Inc.) โดยการสนับสนุนของคณะทำงาน ISO/TC 176 ของ ISO (International Organization for Standardization) ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องของ Quality management and quality assurance

.

ข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 จะมีรายละเอียดที่มากกว่ามาตรฐาน ISO9001:2000 และมาตรฐาน QS-9000 โดยในการจัดทำระบบตามมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 นอกจากจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามข้อกำหนดต่าง ๆ แล้ว ยังต้องทำตามข้อกำหนดส่วนเพิ่มของลูกค้า หรือที่เรียกว่า ข้อกำหนดเฉพาะของลูกค้า (Customer Specific Requirements) ด้วย ซึ่งลูกค้าในแต่ละรายที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์จะมีการกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ที่อาจจะมีบางส่วนเหมือนกัน และบางส่วนที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้องค์กรจะต้องดำเนินการมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้า (ผู้ผลิตรถยนต์) ที่อยู่ในขอบเขต (Scope) ของการขอการรับรอง

.

ลักษณะสำคัญของมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002

ขอบเขต (Scope) การขอการรับรอง

มาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 เป็นมาตรฐานระบบการบริหารคุณภาพ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้นในเบื้องต้น องค์กรที่จะขอการรับรองได้จะต้องอยู่วงการอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่สามารถขอการรับรองได้ แต่ถึงแม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขอการรับรองได้ทั้งหมด การให้การรับรองจะทำได้เฉพาะผู้ผลิตยานยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงผู้ให้บริการที่ดำเนินการกับชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น การชุบแข็ง การพ่นสี การประกอบ เป็นต้น ส่วนผู้ให้บริการในลักษณะอื่น ๆ เช่น การขนส่ง การจัดเก็บ การออกแบบ การทดสอบ เป็นต้น ไม่สามารถขอการรับรองได้ นอกจากนั้นคำว่า ยานยนต์ ยังจำกัดเฉพาะยานยนต์เพื่อการพาณิชย์และการขนส่งเท่านั้น เช่น รถยนต์นั่งทั่วไป รถบรรทุก รถโดยสาร รถมอเตอร์ไซค์ สามารถขอการรับรองได้ แต่ถ้าเป็นยานยนต์ เพื่อกิจการเฉพาะด้าน เช่น สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม การเกษตร เหมืองแร่ การก่อสร้าง จะไม่สามารถขอการรับรองได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจจัดทำระบบเพื่อขอการรับรอง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนเสียก่อนถึงขอบเขตที่จะขอการรับรอง
.

แนวคิดเรื่อง Process Approach

แนวคิดเรื่อง Process Approach ได้รับการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่มาตรฐาน ISO9001:2000 ครั้นเมื่อมีการออกมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 แนวคิดดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดออกมาเป็น Automotive Process Approach ซึ่งสาระสำคัญของแนวคิดนี้มองว่า การดำเนินการต่าง ๆ ในองค์กร จะประกอบด้วยกระบวนการต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายของการจัดทำระบบอยู่ที่การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ซึ่งกระบวนการที่การทำงานมีผลโดยตรงต่อการทำให้ลูกค้าพอใจหรือไม่พอใจ จะถือว่ามีความสำคัญมาก เรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า Customer Oriented Process (COP) แต่การดำเนินการของ COP จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากกระบวนการย่อย ๆ ที่อยู่ภายในองค์กร เช่น การจัดซื้อ การบำรุงรักษา การฝึกอบรม เป็นต้น โดยเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า Support Process นอกจากนั้นในการบริหารระบบคุณภาพ บทบาทของฝ่ายบริหารถือได้ว่ามีความสำคัญมากต่อความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงกำหนดให้มีกระบวนการฝ่ายบริหาร เพื่อใช้ในการควบคุม ติดตาม และตัดสินใจดำเนินการต่อระบบบริหารคุณภาพ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

.

การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

เป้าหมายที่สำคัญสุดของการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพ คือการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า โดยการดำเนินการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า (Customer Specific Requirement) ดังนั้นขั้นตอนที่สำคัญของการจัดทำระบบนี้ คือการที่องค์กรจะต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าลูกค้าขององค์กร (ผู้ผลิตรถยนต์) มีความต้องการอะไรบ้างทั้งต่อผลิตภัณฑ์ และต่อระบบ  รวมถึงเป้าหมายต่าง ๆ ที่ลูกค้ากำหนดขึ้น เช่น เป้าหมายทางด้านระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เป้าหมายทางด้านการส่งมอบ หรือเป้าหมายทางด้านต้นทุน เป็นต้น จากนั้นทำการพิจารณาเพื่อวางแผนให้ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ใครรับผิดชอบในส่วนใด หรือมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการอย่างไร นอกจากนั้น องค์กรต้องมีการกำหนดวิธีการที่ชัดเจนในการวัดความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่องค์กรได้ส่งมอบไปด้วย  การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

.

นอกเหนือจากการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างความพึงพอใจจะเป็นประเด็นที่สำคัญของการจัดทำระบบแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องขององค์กร เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับองค์กรในการที่จะตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการตั้งเป้าหมายจากลูกค้าในการลดต้นทุนลงอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี หรือลดของเสียที่เกิดจากการส่งมอบในแต่ละปี รวมถึงการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มผลตอบแทนที่สูงขึ้นให้กับองค์กรด้วย ดังนั้นองค์กรจะต้องมีการกำหนดประเด็นที่จะทำการปรับปรุงให้ชัดเจน รวมถึงแนวทางที่จะใช้ในการปรับปรุง ซึ่งในบางกรณีลูกค้าบางราย จะมีการกำหนดแนวทางมาให้ด้วย

.

ความมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพของระบบ

ในการบริหารระบบ จากเดิมที่มุ่งเน้นเพียงแค่ให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อกำหนดเท่านั้นก็ถือว่าเพียงพอ แต่ในมาตรฐานนี้ยังได้เพิ่มเติมในส่วนของความมีประสิทธิผลและความมีประสิทธิภาพทั้งขององค์กรเองและของแต่ละกระบวนการด้วย เพราะความมีประสิทธิผลและความมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อความพึงพอใจของลูกค้าได้ หรือจะกล่าวได้อีกอย่างว่า เน้นที่ผลของการทำงานด้วย ไม่ใช่เพียงแค่สอดคล้องเท่านั้น โดยความมีประสิทธิผลจะหมายถึงการดำเนินการได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ หรือได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนความมีประสิทธิภาพ จะหมายถึงภายใต้ผลลัพธ์ที่ได้ตามที่ต้องการ (หรือมีประสิทธิผล) มีการใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น บุคลากร เครื่องจักร เวลา เงิน หรือวัตถุดิบ ได้น้อยที่สุด ดังนั้นองค์กรจะต้องมีการกำหนดตัววัดที่ชัดเจนทั้งขององค์กรและกระบวนการต่าง ๆ ในองค์กร ว่าอะไรคือความมีประสิทธิผลและอะไรคือความมีประสิทธิภาพ

.

การสร้างแรงจูงใจและความตระหนักในคุณภาพให้กับพนักงาน

การที่จะจัดทำและดูแลระบบได้เป็นอย่างดี ต้องได้รับความร่วมมือที่ดีจากพนักงานด้วย ระบบไม่สามารถรักษาได้ด้วยผู้บริหารเพียงอย่างเดียว ทุก ๆ คนในองค์กรต้องช่วยกัน ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดี ถึงบทบาทและความสำคัญของการมีส่วนร่วมต่อการดูแลรักษาระบบในองค์กร ทิศทางขององค์กรผ่านทางนโยบายคุณภาพและวัตถุประสงค์คุณภาพ รวมถึงการดำเนินการที่มีผลกระทบต่อความพึงพอใจของลูกค้า ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่พนักงานในทุกระดับจะต้องมีความเข้าใจและตั้งใจที่จะปฏิบัติด้วย ซึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างสิ่งเหล่านี้ ก็คือกระบวนการในการสร้างแรงจูงใจกับพนักงาน ให้เห็นถึงความสำคัญและผลที่จะได้เมื่อมีการปฏิบัติตาม รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อองค์กรและพนักงานเอง เมื่อลูกค้าเกิดความไม่พึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบไป

.

เน้นการป้องกันมากกว่าการตรวจเจอ

โดยแนวคิดหลักของการบริหารระบบคุณภาพที่ดี จะมุ่งเน้นที่การป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิด มากกว่าที่จะพยายามสร้างความสามารถในการตรวจจับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น เพราะการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิด จะช่วยลดความสูญเสียและความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความไม่พึงพอใจได้ แต่ถ้าเน้นที่การตรวจจับข้อบกพร่อง หากความสามารถในการตรวจจับทำได้ไม่ดี ก็จะสร้างความเสียหายอย่างมากต่อองค์กร ซึ่งเป็นระบบที่มีความเสี่ยงอย่างมาก ดังนั้นจึงมีข้อกำหนดต่าง ๆ ในมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 ที่เน้นการป้องกันอยู่หลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้มีการนำ FMEA (Failure Mode and Effect Analysis) หรือ เทคนิคการป้องกันความผิดพลาด (Mistake Proofing) มาใช้ หรือการมุ่งเน้นให้ใช้เวลาในการวิเคราะห์ปัญหาจากลูกค้าให้น้อยที่สุด หรือการดำเนินการปฏิบัติการป้องกัน (Preventive Action) หรือการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Action) และการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Action) หรือการวิเคราะห์ข้อมูลโดยพิจารณาจากแนวโน้ม (Trend) ที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมุ่งเน้นไปที่การป้องกันการเกิดของปัญหามากกว่าการจะปล่อยให้ปัญหาเกิด และทำการตรวจให้พบในภายหลัง

.

รูปแบบของข้อกำหนดมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002

.

ข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 จะแบ่งออกเป็น 8 ส่วน ประกอบด้วย

1. ขอบเขต (Scope) ของมาตรฐานฉบับนี้

2. มาตรฐานอ้างอิง (Normative Reference)

3. คำศัพท์และคำนิยาม (Terms and Definitions)

4. ระบบบริหารคุณภาพ (Quality Management System)
5. ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร (Quality Management System)
6. การบริหารทรัพยากร (Resource Management)
7. กระบวนการทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ (Product Realization) 

8. การวัด การวิเคราะห์และการปรับปรุง (Measurement Analysis and Improvement)

.

นอกจากรายละเอียดของข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในเอกสารมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 แล้ว ในการจัดทำระบบยังต้องมีการดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนด รวมถึงเป้าหมายที่กำหนดโดยลูกค้า หรือที่เราเรียกว่า ข้อกำหนดเฉพาะของลูกค้า (Customer Specific Requirements) ซึ่งลูกค้าแต่ละรายก็จะมีรายละเอียดของข้อกำหนดในส่วนนี้ที่แตกต่างกัน

.

ย้อนกลับมาในข้อกำหนดต่างๆ ของมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 ทั้งหมด 8 ข้อ ในส่วนของข้อที่ 1 ถึงข้อกำหนดที่ 3 จะเป็นบททั่วไป ที่ยังไม่มีการกำหนดไปถึงสิ่งที่จะต้องดำเนินการ เนื้อหาหลักของข้อกำหนดที่ระบุสิ่งที่แต่ละองค์กรจะต้องดำเนินการ จะเริ่มต้นที่ข้อกำหนดส่วนที่ 4 เรื่อยไปจนถึงข้อกำหนดที่ 8 โดยสรุปประเด็นสำคัญของแต่ละข้อกำหนดดังนี้

.

ระบบบริหารคุณภาพ

ในข้อกำหนดกลุ่มแรกของมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก กล่าวถึงภาพรวมของการบริหารระบบคุณภาพ การกำหนดกระบวนการต่าง ๆ ในระบบ รวมถึงดัชนีชี้วัดความมีประสิทธิผลของแต่ละกระบวนการ ซึ่งการควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ยังครอบคลุมไปถึงกระบวนการภายนอก (Outsourcing process) ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการดำเนินการขององค์กร ส่วนที่ 2 จะเป็นเรื่องของระบบเอกสาร (Documents) ในระบบบริหารคุณภาพ ข้อกำหนดเกี่ยวกับคู่มือคุณภาพ (Quality Manual) แนวทางในการควบคุมเอกสาร (Document Control) รวมถึงการควบคุมบันทึกต่าง ๆ (Record) ที่เกิดขึ้นด้วย

.

ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร

บทบาทของฝ่ายบริหาร ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการทำให้การบริหารระบบคุณภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 ได้กำหนดบทบาทของฝ่ายบริหารไว้ในข้อกำหนดกลุ่มที่ 5 ว่าด้วยความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร โดยครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดทิศทางขององค์กร ผ่านทางนโยบายคุณภาพ (Quality Policy) และวัตถุประสงค์คุณภาพ (Quality Objectives) ซึ่งการกำหนดทิศทางขององค์กร จะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าที่กำหนดไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป้าหมายของลูกค้า มาตรฐานการทำงานของลูกค้า การประชุมร่วมกันกับลูกค้า หรือจากการแจ้งกลับโดยลูกค้า (Customer Feedback) นอกจากนั้นผู้บริหารยังต้องมีหน้าที่ในการกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ (Authority and Responsibility) ของพนักงานในแต่ละตำแหน่งด้วย ข้อกำหนดในส่วนนี้ยังรวมไปถึงการกำหนดรูปแบบในการสื่อสารภายในองค์กร ถึงความมีประสิทธิผลของระบบและแนวทางในการตอบสนองความต้องการลูกค้า สุดท้ายผู้บริหารขององค์กรจะต้องทำการทบทวน (Management Review) เพื่อประเมินถึงความมีประสิทธิผลของระบบบริหารคุณภาพ โดยในข้อกำหนดจะมีการระบุถึงเรื่องต่าง ๆ ที่จะต้องการทบทวนโดยฝายบริหารไว้อย่างชัดเจน

.

การบริหารทรัพยากร

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จะทำให้ระบบบริหารคุณภาพเกิดขึ้นได้ รวมถึงสามารถดำรงรักษาไว้ได้ คือการที่ระบบจะต้องมีทรัพยากร (Resources) อย่างเพียงพอ ซึ่งคำว่าทรัพยากรในมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 จะครอบคลุมทั้งบุคลากรในองค์กร โครงสร้างพื้นฐานทั้งที่เป็นฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย ในส่วนของบุคลากร จะเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดความสามารถที่จำเป็น (Competence  Necessary) ของบุคลากรในแต่ละตำแหน่งในองค์กร การฝึกอบรม (Training) การสร้างแรงจูงใจ (Motivation) และจิตสำนึก (Awareness) ในเรื่องของคุณภาพ และความสำคัญในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ส่วนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จะครอบคลุมทั้ง อาคารสถานที่ปฏิบัติงาน อุปกรณ์เครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงการบริการต่าง ๆ เช่น การขนส่ง และการสื่อสาร ในส่วนสุดท้ายจะเป็นเรื่องของการจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Work Environment) ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงเรื่องของความปลอดภัยของบุคลากร และความสะอาดของพื้นที่ทำงาน   

.

กระบวนการทำให้เกิดผลิตภัณฑ์

ในข้อกำหนดส่วนที่ 7 จะเป็นข้อกำหนดหลักของมาตรฐาน เนื้อหาส่วนใหญ่ของมาตรฐานจะอยู่ในข้อกำหนดนี้ โดยจะประกอบด้วย 6 ข้อกำหนดย่อย เริ่มตั้งแต่ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการวางแผนการทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทบทวนความต้องการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ ข้อกำหนดการออกแบบและการพัฒนา ซึ่งครอบคลุมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product) และการออกแบบกระบวนการผลิต (Manufacturing Process) ข้อกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อและการพัฒนาผู้ส่งมอบ (Supplier) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการผลิตและการบริการ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องมือ การสอบเทียบเครื่องมือ และการวิเคราะห์ระบบการวัด (Measurement System Analysis)

.

การวัด การวิเคราะห์และการปรับปรุง

ข้อกำหนดในส่วนที่ 8 นี้จะกล่าวถึงข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการวัดในส่วนต่าง ๆ ของระบบบริหารคุณภาพ โดยครอบคลุมตั้งแต่การวัดความพึงพอใจของลูกค้า การวัดความมีประสิทธิผลของระบบ โดยการตรวจติดตามภายใน (Internal Audit) การวัดความมีประสิทธิผลของกระบวนการต่าง ๆ รวมทั้งกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลและการนำข้อมูลที่วิเคราะห์ไปใช้งาน และข้อกำหนดในส่วนของการปรับปรุง ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)  การปฏิบัติการแก้ไข (Corrective action) การแก้ปัญหา (Problem Solving) การป้องกันความผิดพลาด (Mistake Proofing) และการปฏิบัติการป้องกัน (Preventive action)

.

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการจัดทำมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ จะช่วยให้องค์กรได้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพึงพอใจอย่างมากให้กับลูกค้า รวมถึงการยอมรับจากลูกค้า อันจะเป็นผลดีต่อการแข่งขันและการเติบโตของธุรกิจต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด