เนื้อหาวันที่ : 2010-12-28 18:15:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7223 views

กลยุทธ์การบริหารความเครียดของพนักงานเพื่อเพิ่มผลประกอบการขององค์กรธุรกิจ

สภาพแวดล้อมในการทำงานในรอบสิบปีที่ผ่านมาขององค์กรธุรกิจเปลี่ยนไปเป็นอันมาก ผู้บริหารงานบุคคลต้องให้ความเอาใจใส่ต่อสุขภาพของคนทำงานมากขึ้น

สนั่น เถาชารี
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
nutphysics@hotmail.com

สภาพแวดล้อมในการทำงานในรอบสิบปีที่ผ่านมาขององค์กรธุรกิจเปลี่ยนไปเป็นอันมาก ผู้บริหารงานบุคคลต้องให้ความเอาใจใส่ต่อสุขภาพของคนทำงานมากขึ้น ที่จริงแล้วนับตั้งแต่เกิดสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในระยะห้าปีที่ผ่านมา มีคนงานจำนวนมากประสบกับโรคภัยไข้เจ็บสาเหตุอันเนื่องมาจากความเครียด

ในต่างประเทศมีผลงานวิจัยพบว่า หนึ่งในสี่ของคนทำงานต่างเจ็บป่วยและว้าวุ้นใจ อันเนื่องมาจากความเครียด ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งจึงมีแผนงานที่จะแก้ไขปัญหานี้

ความเครียดเป็นปฏิกิริยาต่อความต้องการของบุคคลที่ไม่อาจจะระบุให้ชัดเจนได้ เป็นผลที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ซึ่งความเครียดในการทำงาน หมายถึง การตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นที่ปรากฏอยู่ในการทำงาน ซึ่งทำให้เกิดผลต่อเนื่องทางด้านลบต่อสภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจ ทำให้พนักงานแสดงอาการเหล่านั้นออกมาได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งมีอาการผื่นแดงตามใบหน้า ลำตัว แขน และขา

อาจารย์คนหนึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาของวิทยาลัยอาชีวศึกษา เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ทั้งคู่ต้องหยุดงาน แพทย์ที่รักษาได้แต่ให้ยาลดอาการ เพราะไม่ใช่อาการที่เกิดจากโรค ในต่างประเทศ ได้มีการนำคดีไปสู่ศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท รวมถึงโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งเกิดจากความกดดัน ในการทำงาน ในประเทศไทยก็มีหน่วยงานของราชการที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลสุขภาพจิตโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ความจริงความเครียดเล็กน้อยช่วยส่งเสริมให้ผลิตภาพขององค์กร ธุรกิจสูงขึ้น และช่วยทำให้คนคิดค้นสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นด้วยซ้ำไป แต่คนรับความเครียดได้ไม่เท่ากัน และรับสภาวะความเครียดยืดเยื้อนานไม่เท่ากัน ถ้าความเครียดรุนแรงและเนิ่นนานก็จะเป็นอันตราย อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้ผลิตภาพขององค์กร ธุรกิจลดลง บางคนอาจเลือกระงับความเครียดด้วยการไม่เข้าทำงาน ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติด

ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง ในที่สุดก็นำไปสู่การเสียชีวิต ด้วยโรคความดันสูง เส้นโลหิตแตก หัวใจล้มเหลว เป็นแผลในกระเพาะ มะเร็ง โลหิตจาง จนบางรายอาจถึงขั้นกระทำอัตวินิบาตกรรม ปีหนึ่ง ๆ ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นค่าจ้าง (แต่ไม่ได้ผลงาน) และค่ารักษาพยาบาล ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาสูญเสียเงินงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

สถาบันความปลอดภัยการทำงาน และสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดลำดับงานที่มีความเครียดสูง 12 อันดับแรก ไว้ดังต่อไปนี้                           

1. กรรมกร 7.  ผู้บริหาร
2. เลขานุการ 8. พนักงานเสิร์ฟอาหาร
3. ผู้ตรวจการ 9. ผู้ควบคุมเครื่องจักร
4. เทคนิคการแพทย์   10. เจ้าของฟาร์ม
5. ผู้จัดการสำนักงาน 11. คนงานเหมืองแร่
6. หัวหน้างาน 12. ช่างทาสี

จากการจัดอันดับงานที่มีความเครียดสูงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่างานที่มีความเครียดสูงส่วนใหญ่เป็นงานทางด้านการบริหาร ซึ่งอันที่จริงแล้วลักษณะงานบางอย่างอาจทำให้เกิดความเครียดยิ่งกว่างานบริหารด้วยซ้ำไป เช่น ผู้จัดการฝ่ายบุคคลควรเอาใจใส่ในพนักงาน

เนื่องจากพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปเชื่อมโยงไปถึงสุขภาพ จึงต้องได้รับการเยียวยารักษา ที่สังเกตเห็นได้บ่อย ๆ เช่น การตัดสินใจช้าลง เกิดความลังเล พฤติกรรมแข็งกระด้าง หยุดงานบ่อย ๆ ความเชื่อมั่นในตนเองลดลง เป็นปัญหาที่ผู้จัดการฝ่ายบุคคลต้องแก้ไข เพราะมีผลกระทบต่อการพัฒนาอาชีพของพนักงานในสถานประกอบการ

แม้ว่าความเครียดจะเป็นปัญหาสำคัญที่ฝ่ายบุคคลต้องประสบ แต่ก็เป็นเรื่องที่แก้ไขได้หากมีความตื่นตัว และยอมรับว่าเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข

Burnout
Burnout เป็นสภาวะของความเหนื่อยล้า ความว้าวุ่นใจ ซึ่งเกิดจากวิถีชีวิตที่ไม่ได้คาดคิด คาดหวัง Burnout มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางชีวิตการทำงาน หรือวัยกลางคน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลายครั้งและแต่ละคนก็มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด Burnout ก็คือ ความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง

ซึ่งเมื่อคนทุ่มเทเพื่อเป้าหมายของชีวิตให้สมหวังจนเกินไป และเมื่อประสบกับความผิดหวังไม่ว่าจะทำอะไรสำเร็จแค่ไหนขึ้น ก็จะทำให้คนไม่มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป บางคนอาจจะพยายามซ่อนความรู้สึก แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม เนื่องจากความไม่สมหวัง บางคนอาจจะแสดงอาการ โดยการกระทำช้าลง ผัดวันประกันพรุ่ง ทำอะไรชุ่ย ๆ ให้จบ ๆ ไป คัดค้านทุกเรื่อง ย้ำคิดย้ำทำ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น กาญจนา เป็นหัวหน้าส่วนของธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง เธอต้องควบคุมดูแลงานที่สำคัญ มีพนักงานในสายงานการบังคับบัญชาอยู่ประมาณ 30 คน เธอรู้สึกสนุกอยู่กับงานที่เธอรับผิดชอบ มีผลงานดี และเงินเดือนขึ้นดีมาตลอด จนวันหนึ่งผู้อำนวยการฝ่ายได้เรียกเธอให้เข้าไปพบ และแจ้งว่าเธอกำลังจะได้ถูกย้าย ไปทำหน้าที่ผู้จัดการสาขาในไม่ช้า เพื่อให้เธอได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากงานในขณะนั้น

เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดไป เพื่อน ๆ ต่างพากันมาแสดงความยินดีกับเธอด้วยความจริงใจ แต่คำตอบของเธอทำให้หลายคนประหลาดใจ “มันคงจะเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะฉันคงทำงานนี้ไม่ได้ ฉันหาเงินฝากไม่เป็น” กาญจนาไม่รู้ตัวว่า อะไรทำให้เธอเหนื่อยล้า เธอเฝ้าแต่คิดถึงอนาคตด้วยความวิตก นอนไม่หลับจนต้องพึ่งยา สุขภาพของเธอทรุดลงทันที เธอรู้สึกว่าความสนุกเพลิดเพลินกับงานถึงเวลาที่สิ้นสุดแล้ว

บางอาชีพที่คนคาดหวังไว้มาก เช่น อาชีพครู หรือที่ปรึกษา อาจจะประสบกับอาการ Burnout ได้ง่าย เพราะลักษณะของงานต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เก่ง รอบรู้ มีพฤติกรรมดี นิสัยดี ช่วยแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง หรือแม้แต่บุคลิกภาพก็ต้องมีบุคลิกภาพดี Burnout อาจจะเกิดกับคนที่ต้องทำงานร่วมกับคนที่มีอาชีพที่มีความเครียดสูง เช่น พนักงานขาย พนักงานขายประกัน ที่มีเป้าหมายการทำงานที่ต้องทำให้ได้ ในบริษัทที่ประสบภาวะวิกฤตเมื่อไม่นานมานี้

อาการ Burnout เกิดขึ้นมากเพราะนโยบายการลดจำนวนพนักงานลง การเปลี่ยนตัวเจ้าของกิจการ การลดสวัสดิการ หรือการถูกตัดการทำงานล่วงเวลาทำให้รายได้ลดลง ลูกจ้างทั่วไปก็อาจจะประสบกับอาการ Burnout ได้โดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งผู้ที่ตกอยู่ในฐานะดังกล่าวมานั้น อาจทำให้เกิดความกดดันขึ้นแก่งานที่ทำงานร่วมกันทั้งกลุ่มได้ อาการนี้รุกรามเร็วมากและเมื่อเกิดแล้วยากที่จะหยุดยั้งได้

สัญญาณเตือนภัยของ Burnout คือ 1.แพ้อะไรได้ง่าย 2.ขี้ลืม 3.พะว้าพะวัง 4.เหนื่อยล้า 5.ผัดวันประกันพรุ่ง 6.ตึงเครียด 7.ดื่ม (สุรา) หรือใช้ยาเกินไป อาการนี้อาจรวมถึงปัญหาทางสุขภาพ เช่น ปวดหลัง ปวดศีรษะ ไมเกรน ผู้ที่อยู่ในอาการ Burnout อาจจะคลุ้มคลั่ง ฉุนเฉียว หรือทำอะไรที่คาดไม่ถึงได้ Burnout จึงเป็นปัญหาที่ต้องป้องกันและแก้ไข ผู้บริหารงานบุคคลต้องตระหนักถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด ทั้งภายในองค์กรนั้นเอง และสาเหตุจากภายนอกองค์กร

สาเหตุของความเครียด
ไม่ว่าความเครียดจะเกิดจากสาเหตุอะไร ที่ไหน ต้องระลึกไว้เสมอว่า สาเหตุบางอย่างไม่อาจป้องกันหรือแก้ไขได้ แต่สาเหตุบางอย่างสามารถป้องกัน หรือแก้ไขให้หมดไปหรือเบาบางลงได้ในระดับหนึ่ง

เรื่องภายในครอบครัว ความสุขและความมั่นคงในชีวิตครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญ มีผลการวิจัยพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตการแต่งงานจะจบลงด้วยการหย่าร้าง ซึ่งนำไปสู่ความเครียด ยิ่งเมื่อหย่าร้างแล้วยังมีลูกที่ต้องเลี้ยงดู ก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้น ลูกนั้นเป็นความรักความผูกพันของพ่อ-แม่ ที่สามารถสร้างความสุขให้แก่ครอบครัวได้ เมื่อเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุแก่ลูก พ่อแม่ก็ย่อมจะมีความทุกข์ใจ

ในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ชีวิตการทำงานก็จะต้องเปลี่ยนไป ถ้าใครคนใดคนหนึ่งสนุกอยู่กับงาน และอีกคนหนึ่งได้ย้ายไปทำงานต่างจังหวัด จะดูแลลูกอย่างไรเป็นปัญหาที่ทั้งพ่อแม่ต้องขบคิด ต้องชั่งใจระหว่างอนาคต อาชีพ การเงิน กับอนาคตการเติบโตของลูก

ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเงินเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน หลายคนควบคุมค่าใช้จ่ายของตนเองไม่ได้ ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย บางคนอาจประสบเคราะห์กรรมโดยอุบัติเหตุ ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเกินกว่าเงินที่ได้สะสมไว้แต่ละเดือนที่จะมีอยู่ หนี้สินนี้จะเร่งทำให้เกิดความเครียดได้มาก อาจนำไปสู่การหย่าร้าง และทำให้ผลงานตกต่ำ บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตายก็เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ

สภาพความเป็นอยู่ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ บางคนเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน อยู่ในสภาพที่แออัด มีมลพิษ ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคพื้นฐาน การเดินทางไปทำงานวันหนึ่งต้องทนอยู่ในรถที่มีผู้โดยสารแน่น และใช้เวลาเดินทางมาก จนถึงบ้านค่ำมืดดึกดื่น ต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดจากคนร้าย มิจฉาชีพ คนที่อยู่ในชนบทจะไม่ประสบปัญหานี้ แต่ก็ต้องแลกด้วยรายได้ที่ต่ำกว่า ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดได้

วัฒนธรรมขององค์กร วัฒนธรรมขององค์กรเป็นสิ่งที่ทำให้คนเครียดได้มาก ผู้บริหารระดับสูงสุดในองค์กรเป็นผู้กำหนดบรรยากาศการทำงานขององค์กร ซึ่งผู้บริหารระดับสูงสุดอาจจะกดดันผู้ใต้บังคับบัญชาโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น เขาไม่เคยให้โอกาสพนักงานในองค์กรได้มีส่วนร่วมในการบริหารเลย อำนาจทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้บริหารสูงสุดเพียงคนเดียว เรียกร้องแต่ผลงาน ซึ่งพนักงานจะถูกถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ได้เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความบีบคั้นทั่วทั้งองค์กร

แม้ว่าองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่เอื้ออารีต่อพนักงานในองค์กร พนักงานในองค์กรก็ยังไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงจากความเครียดได้ เนื่องจากสภาวะการแข่งขันในทางธุรกิจบีบบังคับ บุคลิกภาพของพนักงานแต่ละบุคคลก็แตกต่างกันเมื่อผสมผสานกับค่านิยมและความเชื่อที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดปัญหาในการสื่อความภายในองค์กรได้ ซึ่งนำไปสู่ความเครียดในท้ายที่สุด

การสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แก่พนักงาน เช่นการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เพิ่มเงินเดือนขึ้น และในทางตรงกันข้ามเมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้นในองค์กร การตัดลดสวัสดิการต่าง ๆ ตลอดจนการลดจำนวนพนักงาน ล้วนแล้วแต่ทำให้พนักงานเกิดความเครียดขึ้นได้ทั้งนั้น

บทบาทของพนักงาน บทบาทของพนักงานเกิดขึ้นเพราะพนักงานไม่เข้าใจขอบเขตของงานที่ต้องรับผิดชอบ คนทำงานจะเครียด เพราะไม่ได้ผลงานตามที่หัวหน้างานคาดหวัง หรืออาจจะต้องทำงานที่เป็นหน้าที่ของคนอื่น แต่หัวหน้างานยัดเยียดให้ทำ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเพราะต้องทำงานมากกว่าที่ควรจะทำ คนทำงานจะรู้สึกไม่มั่นคง และไม่รู้ว่าตนเองควรต้องทำอะไร เนื่องจากไม่มี Job Description ไม่มีระบบการประเมินผลงานที่โปร่งใส และเข้าใจได้

บทบาทที่ขัดแย้งกัน ความขัดแย้งของบทบาท เกิดขึ้นเมื่อพนักงานถูกบรรจุให้ทำงานในตำแหน่งที่ต้องมีเป้าหมายที่ขัดแย้งกัน เช่น ผู้จัดการต้องการเพิ่มผลผลิต และในขณะเดียวกันก็จะต้องการลดจำนวนบุคลากรลง ซึ่งในการที่จะทำให้บรรลุตามเป้าหมายทั้งสองอย่างพร้อมกันนั้น เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย จึงทำให้ผู้จัดการคนดังกล่าวเกิดความเครียดขึ้นได้

งานมากจนล้นมือ เมื่อพนักงานถูกใช้ให้ทำงานมากเกินกว่าที่จะทำได้นั้น ทำให้พนักงานคนดังกล่าวนั้น กลายเป็นผู้รับกรรมจากงานล้นมือ ปัญหาก็คือ คนที่ทำงานดี ทำงานเก่งในองค์กร ธุรกิจจะต้องประสบกับเหตุการณ์นี้ ถ้าพนักงานมีประวัติว่าเขาทำงานได้มากขึ้นและผลงานก็ดีตามด้วย ผู้บริหารก็มักจะใช้ให้ทำงานมากขึ้น เมื่องานมากขึ้นจนถึงที่สุด การมีงานทำจนล้นมือ จึงนำไปสู่ภาวะ Burnout

สภาพการทำงาน สภาพของสถานที่ทำงาน รวมถึงเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ เป็นต้นเหตุของความเครียดได้ การที่พนักงานต้องทำงานในที่แออัด เสียงดังจนเกินสมควร แสงสว่างไม่พอ หรือเครื่องจักรเก่าไม่มีการดูแลซ่อมบำรุงตามระยะ เป็นผลให้ขวัญกำลังใจของพนักงานตกต่ำ การที่เครื่องไม้เครื่องมือมีไม่พอ หรือไม่มีเครื่องมือที่ใช้เฉพาะงานอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทำให้พนักงานเครียดได้ เช่น ต้องส่งรายงานให้ผู้จัดการภายในกำหนดเวลา แต่เครื่องถ่ายสำเนาเสียเพราะเก่าและใช้งานมาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังปรากฏว่า คนที่ทำงานกับเครื่องจักรเก่า ๆ มักจะประสบกับอุบัติเหตุบ่อย ๆ ก็ยิ่งทำให้คนที่ทำงานอยู่กับเครื่องจักรรู้สึกเครียดที่ต้องทำงานเสี่ยงต่ออันตราย

งานที่เป็นปัญหาการจัดการ โดยธรรมชาติงานของผู้จัดการเป็นงานที่ทำให้เกิดความเครียดได้ง่ายซึ่งพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้จัดการต้องตกอยู่ในสภาวะเครียดโดยไม่สมควร เพราะเขาจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ได้ผลงานตามที่ถูกกำหนดโดยเป้าหมายขององค์กร ต้องรับผิดชอบต่อคนทำงาน ต้องประเมินผลงาน

ต้องประสานงานในการแจ้งให้ทราบถึงการลดจำนวนพนักงาน ต้องให้คำปรึกษาในการหางานข้างนอกให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้จัดการต้องตระหนักถึงที่มาของความเครียด และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ ต้องมีโปรแกรม ที่จะจัดการกับการกระทำที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างได้ผลจริงจัง

การประเมินและสำรวจความเครียดของพนักงาน
ตามปกติแล้วเมื่อเกิดความเครียดภายในจิตใจ มักจะส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมภายนอกที่สังเกตได้อย่างชัดเจน แต่ในบางคนไม่สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของอาการได้ชัดเจน และไม่ทราบว่าตนเองมีความเครียดหรือไม่ อาจใช้แบบประเมินสำรวจความเครียดของตนเอง ดังแสดงในตารางที่ 1

คำแนะนำในการกรอก: ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ท่านมีอาการ พฤติกรรม หรือความรู้สึกต่อไปนี้มากน้อยเพียงใด โปรดทำเครื่องหมายลงในช่องแสดงระดับอาการที่เกิดขึ้นกับตัวท่านในตารางที่ 1 ตามความเป็นจริงมากที่สุด


ที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

เมื่อทำแบบประเมินครบทั้ง 20 ข้อแล้ว ให้ใส่คะแนนของแต่ละข้อ ตามเกณฑ์การให้คะแนน
ดังนี้คือ ถ้าตอบว่า    -  ไม่เคยเลย  =  0 คะแนน
             -  เป็นบางครั้ง  =  1 คะแนน
             -  เป็นบ่อยครั้ง  =  2 คะแนน
             -  เป็นประจำ  =  3 คะแนน
หลังจากนั้นรวมคะแนนทั้ง 20 ข้อ ว่ามีคะแนนรวมเป็นเท่าไหร่ ให้ดูผลการประเมินและคำชี้แจงต่อไปนี้

ผลการประเมินความเครียด
     6-17 คะแนน แสดงว่า ปกติ/ไม่เครียด
     18-25 คะแนน แสดงว่า เครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย
     26-29 คะแนน แสดงว่า เครียดสูงกว่าปกติปานกลาง
     30-60 คะแนน แสดงว่า เครียดสูงกว่าปกติมาก/เครียดมาก

ระดับคะแนน 0-5 แสดงให้เห็นว่า ท่านมีความเครียดอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติอย่างมาก ซึ่งในความเป็นจริงมีความเป็นไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จะมีความเครียดในระดับต่ำมากเช่นนี้ กรณีของท่าน อาจมีความหมายว่า
     ท่านตอบคำถามไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือ
     ท่านอาจเข้าใจคำสั่งหรือข้อคำถามคลาดเคลื่อนไป หรือ
     ท่านอาจเป็นคนที่ขาดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต มีความเฉื่อยชา ชีวิตประจำวันซ้ำซากจำเจ น่าเบื่อ ปราศจากความตื่นเต้น
     หากท่านต้องการทราบผลการประเมินและวิเคราะห์ความเครียดของท่านว่าเป็นอย่างไรในความเป็นจริงโปรดเริ่มต้นทำใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ระดับคะแนน 6-17 แสดงให้เห็นว่า ท่านมีความเครียดอยู่ในเกณฑ์ปกติ นั่นหมายความว่า ท่านสามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมรู้สึกพึงพอใจเกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รู้สึกมีพลัง มีชีวิตชีวา กระตือรือร้นมองสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์รอบตัวว่าเป็นสิ่งท้าทายความสามารถ มีความสามารถในการจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ผลผลิตของการปฏิบัติงานอยู่ในระดับสูง

ความเครียดในระดับนี้ถือว่ามีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นแรงจูงใจที่นำไปสู่ ความสำเร็จในชีวิตได้

ระดับคะแนน 18-25 แสดงให้เห็นว่า ท่านมีความเครียดอยู่ในระดับสูงกว่าปกติเล็กน้อย นั่นหมายความว่าขณะนี้ท่านมีความไม่สบายใจอันเกิดจากปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาการเงิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคล เป็นต้น โดยที่ปัญหาหรือความขัดแย้งของท่านอาจจะยังไม่ได้รับการคลี่คลายหรือแก้ไขซึ่งถือว่าเป็นความเครียดที่พบได้ในชีวิตประจำวัน

ท่านอาจไม่รู้ตัวว่ามีความเครียดหรืออาจรู้สึกได้จากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรมบ้างเล็กน้อยแต่ไม่ชัดเจนและยังพอทนได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่านจะมีความยุ่งยากในการจัดการกับปัญหาอยู่บ้างและอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวมากขึ้นกว่าเดิม แต่ในที่สุดท่านก็สามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้และความเครียดในระดับนี้ไม่เป็นผลเสียต่อการดำเนินชีวิต

ระดับคะแนน 26-29 แสดงให้เห็นว่า ท่านมีความเครียดอยู่ในระดับสูงกว่าปกติปานกลาง นั่นหมายความว่า ขณะนี้ท่านเริ่มมีความตึงเครียดในระดับค่อนข้างสูงและได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จากปัญหาทางอารมณ์ที่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ในชีวิต โดยท่านอาจสังเกตได้จากการแสดงออกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม และการดำเนินชีวิต เช่น ระบบขับถ่ายผิดปกติ หงุดหงิด วิตกกังวล ท้อแท้ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนขั้นต้นว่าท่านกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตและความขัดแย้ง ซึ่งท่านจัดการหรือแก้ไขด้วยความยากลำบาก ความเครียดในระดับนี้มีผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้องรีบหาทางคลี่คลาย หรือแก้ไขข้อขัดแย้งต่าง ๆให้ลดน้อยหรือหมดไป ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง

ระดับคะแนน 30-60 แสดงให้เห็นว่า ท่านมีความเครียดอยู่ในระดับสูงกว่าปกติมาก นั่นหมายความว่าท่านกำลังตกอยู่ในสภาวะตึงเคียดหรือกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ในชีวิตอย่างรุนแรง เช่น การเจ็บป่วยที่รุนแรง และ/หรือเรื้อรัง ความพิการทางร่างกาย การสูญเสียหรือแยกจากบุคคลอันเป็นที่รัก ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการตกงานหรือถูกไล่ออกจากงาน ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น

ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างชัดเจน ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข ตัดสินใจผิดพลาด ขาดความยับยั้งชั่งใจ ความเครียดในระดับนี้ถือว่ามีความรุนแรงสูงมาก หากท่านปล่อยให้ความเครียดยังคงมีอยู่ต่อไปโดยไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสมและถูกวิธี อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตที่รุนแรง ซึ่งส่งผลเสียต่อตนเองและบุคคลใกล้เคียงต่อไปได้

การจัดการกับความเครียด
หากพนักงานในสถานประกอบการทราบแล้วว่าตนเองมีความเครียดมากน้อยระดับใด ให้ค้นหาสาเหตุของความเครียด เพื่อแก้ไขให้ตรงจุด ซึ่งอาการที่ปรากฏแก่พนักงาน เป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงาน ทำงานได้ผลผลิตตกต่ำลง หลายกรณีพบว่า พนักงานต้องหยุดงาน

ทำให้ชั่วโมงการทำงานของพนักงานคนนั้นลดลง ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษา แม้กระนั้นก็ตามกิจการหลายแห่งได้ให้ความเอาใจใส่กับเรื่องนี้น้อยมาก บางรายคิดว่าเป็นการเจ็บป่วยธรรมดา ก็ให้พนักงานหยุดงาน หรือรักษาพยาบาลตามอาการที่พบ ในปีหนึ่งจึงมีความสูญเสียเกิดขึ้นมหาศาล

หากฝ่ายบุคคลเข้าใจสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นแก่คนทำงาน ก็อาจป้องกันและบำบัดอาการได้ พนักงานก็ต้องช่วยเหลือตนเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองด้วย ได้มีการค้นหาเทคนิคและจัดแผนงานต่าง ๆ ในสถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันและระงับความเครียด แม้ว่าแผนงานโดยทั่วไปจะไม่จัดการกับความเครียดได้โดยตรง แต่ก็เป็นบทบาทที่สำคัญ โดยเฉพาะระบบการบริหารบุคคลที่มีประสิทธิผล แผนงานที่นำไปใช้ได้ผลดี ได้แก่

     1. สร้างวัฒนธรรมขององค์กรที่ช่วยสร้างความกระตือรือร้น และความตึงเครียดในระดับที่พอจะรับได้ โดยการยอมรับคุณค่าของผลงานของคนทำงาน พนักงานจะได้รับมอบหมายให้มีอำนาจในการควบคุมงานของตนเองมากขึ้น สนับสนุนและให้ความสำคัญแก่การปรึกษาหารือ ให้ข่าวสารแก่พนักงานมากขึ้น

     2. พนักงานแต่ละคนจะถูกกำหนดบทบาทของตนเองให้ชัดเจน ระมัดระวังไม่ให้เกิดการทำงานที่เสี่ยงอันตราย และเพิ่มความรับผิดชอบของพนักงานแต่ละคนให้มากพอ

     3. ให้การฝึกอบรมละพัฒนาบุคลากรแต่ละคนให้ทำงานให้ได้ผลดี และประสบความสำเร็จในการทำงานทั้งปัจจุบันและอนาคตให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของทั้งองค์กรและของพนักงาน คนทำงานแต่ละคนจะได้รับการฝึกอบรมให้สำนึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน และให้ตระหนักว่าจะทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างไร มีความรู้สึกเอื้ออาทรต่อกันดุจญาติมิตร

     4. พนักงานจะช่วยสานฝันให้เป็นจริง ด้วยการให้ความช่วยเหลือฝ่ายบุคคลในการวางแผนความก้าวหน้าในสายอาชีพที่เหมาะสมเป็นที่พอใจของตนเอง และองค์กร

     5. ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มีผลได้ผลเสีย หรือผลกระทบต่อตัวพนักงานเอง เขาจะรับแจ้งว่ามีอะไรเกิดขึ้นในบริษัท บทบาทของเขาคืออะไร เขาจะทำงานให้ดีได้อย่างไร

     6. จะไม่ละเลยที่จะสนองตอบความต้องการของพนักงาน ทั้งที่เป็นตัวเงิน และที่ไม่ใช่ตัวเงินซึ่งเป็นระบบการให้รางวัลที่เป็นธรรมและทั่วถึง

แผนงานบุคคลที่ช่วยให้พนักงานผ่อนคลายความเครียด ที่มีผู้นำมาใช้ให้ได้ผล โดยทั่วไปคือ
- การวิเคราะห์งาน
- การพัฒนาทรัพยากรบุคคล
- การสื่อความ การสร้างแรงจูงใจ และรูปแบบของภาวะผู้นำ (วัฒนธรรมขององค์กร)
- การพัฒนาองค์กร
- การวางแผนอาชีพ และการพัฒนาอาชีพ
- การประเมินผลงาน
- ระบบค่าตอบแทนการทำงาน

แผนงานเสริมพิเศษ เพื่อดูแลสุขภาพของพนักงาน ได้แก่
- การจัดสถานที่ออกกำลังกาย
- การบำบัดยาเสพติดและพิษสุรา
- แผนงานช่วยเหลือพนักงาน
 เทคนิคเฉพาะสำหรับบรรเทาความเครียด ที่ใช้กันแพร่หลาย ได้แก่
- การสะกดจิต (Hypnosis)
- การภาวนา หรือสมาธิ (Transcendental Meditation)
- การใช้เครื่องมือฝึกให้พนักงานควบคุมตนเอง (Biofeedback)

แผนงานช่วยพนักงาน (Employee Assistance Program: EAP)
แผนงานช่วยพนักงาน (EAP) เป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพื่อช่วยแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จครอบคลุมทุกปัญหา ตั้งแต่ การครองชีวิตคู่ ความยากลำบากของครอบครัว ปัญหาผลงาน ความเครียด อารมณ์และจิตใจ ปัญหาการเงิน การติดสุรา สารเสพติด ความซึมเศร้า เป็นต้น ในการดำเนินการแผนช่วยเหลือพนักงาน บริษัทอาจจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญประจำบริษัท หรือส่งพนักงานไปรับคำปรึกษาที่สำนักงานภายนอก

โดยบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ รวมถึงการต้องให้คำปรึกษาปัญหาอื่นทางจิตวิทยาด้วย ผลที่ปรากฏเห็นได้ชัดเจน ก็คือ จำนวนวันขาด มาสาย โรคภัยไข้เจ็บจนพนักงานมาทำงานไม่ได้ อุบัติเหตุ และการเรียกร้องเงินค่าทดแทนลดลง (ซึ่งหมายความว่า บริษัทประหยัดเงินสมทบกองทุนลงได้) ซึ่งปัจจุบันแผนงานช่วยพนักงานขององค์กร ส่วนใหญ่ได้ให้ความสนใจกับเรื่อง HIV AIDS มากขึ้น

AIDS (Acquired Immune Deficiency Syndrome) เป็นโรคที่บั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจของพนักงาน ทั้งคนที่มีเชื้อ HIV และเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ป่วย ทำให้เกิดความหวาดวิตกต่อการที่จะได้รับเชื้อ ไม่ใช่แค่จะสร้างความลำบากให้แก่ตนเอง

แต่ยังอาจจะถ่ายทอดแพร่เชื้อไปสู่คนในครอบครัวอีกด้วย แม้จะมีการรณรงค์ไม่ให้รังเกียจผู้ประสบเคราะห์กรรมแต่ก็ได้ผลน้อยมาก คนทำงานจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะพนักงานระดับล่าง จะปล่อยปละละเลยกับปัญหานี้จนอาการรุนแรงเห็นได้ชัด ทำให้ยากแก่การรักษา

* การสูบบุหรี่
ปัจจุบันปัญหาพนักงานที่สูบบุหรี่และติดบุหรี่ในสถานที่ทำงานได้ลดน้อยลงไปมาก เนื่องมาจากการกำหนดมาตรการไม่ให้ติดบุหรี่ สร้างความรำคาญ รบกวนเพื่อนร่วมงาน เพราะนอกจากจะทำให้พนักงานทีทำงานร่วมกันเกิดความเครียด ต้องทนควันบุหรี่ สุขภาพของพนักงานทรุดโทรมลงแล้ว ยังต้องได้รับโทษทางกฎหมายอีกด้วย บริษัทหลายแห่งจึงถือเป็นนโยบาย Smoke Free Office อย่างไรก็ตามเจ้าของกิจการที่ติดบุหรี่ก็ยังเอาใจใส่กับเรื่องนี้น้อยมาก จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลที่จะต้องกำหนดมาตรการควบคุมโดยเข้มงวด

* การดื่มสุรา
ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการดำรงชีพของคนทำงานเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะเรื่องการดื่ม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เบียร์ สุราที่ผสมเสร็จ (RTD = Ready to Drink) ซึ่งกำลังทำตลาดได้ดีในขณะนี้ เป็นผลให้การควบคุมการติดสุรา ไม่เป็นเรื่องที่ได้รับความเอาใจใส่มากนัก คนทำงานที่ติดสุราจนทำงานไม่ได้ ผลงานตกต่ำเป็นความสูญเสียทั้งแก่บริษัทและตัวพนักงานเอง บริษัทหลายแห่ง จึงเข้มงวดในเรื่องนี้ และพยายามแก้ไขปัญหา รักษาพนักงานให้พ้นจากการติดสุราเรื้อรัง

* ศูนย์สุขภาพ
พนักงานที่ออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอจนเหนื่อย จะช่วยลดความเครียดที่เกิดจากการทำงาน หรือสภาพแวดล้อม หรือปัญหาในที่ทำงานให้ลดลงได้ บริษัทจำนวนไม่น้อยเอาใจใส่กับสุขภาพของพนักงานอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าสุขภาพที่ดีของพนักงานจะทำให้ผลงานดี จึงจัดให้พนักงานออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอ

บางบริษัทมีความจำกัดเรื่องสถานที่ ก็ทำความตกลงกับสโมสรสุขภาพให้พนักงานได้ออกกำลังกาย โดยบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด บริษัทใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมาก มักจะจัดให้มีสโมสรสำหรับออกกำลังกายให้กับพนักงานโดยเฉพาะ

* Ergonomics
Ergonomics เป็นวิทยาศาสตร์ที่อธิบายว่าคนจะตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมการทำงานอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เก้าอี้หรือโต๊ะทำงานมีสัดส่วนไม่เหมาะสมกับสัดส่วนร่างกายของตัวพนักงานเอง ทำให้พนักงานงานปวดหลัง และยังทำให้เกิดความเครียดในการทำงานขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ เอาใจใส่ในเรื่อง Ergonomics นี้ โดยเฉพาะผู้บริหารเริ่มที่จะตระหนักถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อมการทำงานมากขั้น โดยต้องออกแบบสำนักงานให้เหมาะกับคน และเหมาะกับงานของเขา เพื่อช่วยให้ Productivity สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าคอมพิวเตอร์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนทำงานเจ็บป่วย เนื่องจากเกิดความเครียดซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะตำแหน่งการวางอุปกรณ์ไม่เหมาะสม

โดยหลักแล้ว Keyboard ควรจะอยู่ในระดับข้อศอก แสงสว่างในสำนักงานก็เช่นเดียวกัน แสงสว่างที่เหมาะสมจะประกอบด้วย Indirect Light ที่ไม่สว่างจ้าเกินไป ผสมกับแสงที่ส่องเฉพาะจุดที่ต้องทำงานทันทีทันใด ปัญหาที่พบในสำนักงานส่วนใหญ่ ก็คือ มีแสงสว่างจ้าเกินไป ต้องไม่มีแสงไฟส่องกระทบจอภาพคอมพิวเตอร์ตรง ๆ อุบัติเหตุจำนวนไม่น้อยเกิดจากความเข้มข้นของแสงสว่างในที่ทำงานไม่เหมาะสม

โดยหลักแล้วถ้าให้ผลิตภาพสูงถึงที่สุด และความเครียดมีน้อยที่สุด จะต้องออกแบบสำนักงานให้ถูกหลัก Ergonomics และให้พนักงานได้มีเวลาพักบ่อย ๆ

พนักงานจะบรรเทาความเครียดได้อย่างไร
ความเครียดไม่ใช่ว่าจะเลวร้ายไปทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น คนทำงานที่สบายเกินไปไม่เครียด Productivity จะต่ำ แต่ความเครียดที่พอจะรับได้ทำให้คนทำงาน ทำงานด้วยความกระตือรือร้นผลงานสูงทำให้คนต้องทำงานแข่งขันกัน อย่างไรก็ตามมีแนวทาง ข้อเสนอแนะที่จะช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้นกับพนักงานในสถานประกอบการ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

1) ต้องยอมรับว่า ความเครียดเป็นของธรรมดาที่เกิดในชีวิต ต้องใช้ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ตนเองให้มากที่สุด
2) ต้องรู้ว่าตนเองสนุกกับอะไร ทำงานอะไรจึงจะรู้สึกสนุก อย่าเอาใจใส่ต่อสิ่งที่ทำให้คุณเครียด จัดชีวิตประจำวัน ให้เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้
3) เมื่อถึงวันหยุดต้องหยุดจริง ๆ เพื่อให้กระปรี้กระเปร่าเมื่อกลับไปทำงาน อย่าเอาความกังวลไปสุมต่อที่อื่นนอกที่ทำงาน
4) หาทางออกำลังให้เหนื่อย ซึ่งการเล่นกีฬานอกจากจะทำให้สุขภาพดี แล้วยังทำให้สมองปลอดโปร่ง อย่ากลัวเหนื่อยเพราะการออกกำลังกาย
5) หาคนฟังเรื่องที่คุณต้องการระบาย เมื่อคุณอยู่ในสภาวะใกล้จะระเบิด การพูดจะช่วยระบายความกดดัน การสกัดกั้นตนเองจนเกินไปจะทำให้คุณเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
6) สวดมนต์เพื่อตนเอง ถ้าสถานการณ์นั้นคุณแก้ไขเองไม่ได้ เอาทางพระเข้าข่ม อย่ายึดมั่น เมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับ ไม่มีอะไรยั่งยืนถาวรตลอดไป “หลังฝนตก ท้องฟ้าก็จะสว่างไสว”
7) มองหาอะไรทำที่คุณสนใจหรืองานอดิเรก เพราะถ้าคุณทำอะไรที่เพลิอดเพลิน สมองของคุณจะได้พัก
8) คิดว่าอะไรเป็นอาหารที่ควรรับประทานและต้องถูกหลักโภชนาการด้วย หลีกเลี่ยงคาเฟอีนเพราะจะเพิ่มความตึงเครียด ก่อนนอนควรบริโภคอาหารว่างที่มีน้ำตาลจะทำให้หลับง่าย
9) จัดเวลาให้ดี อย่าเคร่งเครียดกับกำหนดเวลา เปลี่ยนชีวิตประจำวันให้คุณมีเวลาพักผ่อน และทำอะไรก็ได้ที่อยากจะทำ
10) อย่าใช้ยา ยาเสพติด หรือดื่มเพื่อให้ลืมปัญหา ซึ่งเป็นเพียงแต่ซ่อนปัญหาไว้ชั่วคราวเท่านั้น แต่ปัญหานั้นต้องแก้ที่สาเหตุ

11) ทำสมาธิวันละหนึ่งครั้ง หรือสองครั้ง ครั้งละ 10-20 นาที โดยการ
     - อย่ากังวลกับเทคนิคการทำสมาธิ
      - เพ่งสมาธิในสิ่งที่คุณชื่นชม หรือถ้อยคำที่ซึ้งใจ 
      - หายใจเข้าและออกช้า ๆ ในขณะที่เพ่งสิ่งที่คุณชื่นชม หรือถ้อยคำที่ซึ้งใจ
      - หลับตา นั่ง หรือนอนในท่าที่สบาย
      - ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยเพ่งที่กล้ามเนื้อตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า
      - ทำซ้ำ ๆ กันตลอดในใจของคุณ

12)  ต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธคนให้เป็น เพื่อไม่ให้เกิดภาวะงานล้นมือ และทำให้เวลาของคุณไม่มีเหลือ
13)  กระจายความรับผิดชอบ โดยการมอบหมายงานให้คนอื่นที่เขาก็ทำได้ ให้รับไปทำเสียบ้าง พนักงานในสายงานบังคับบัญชาของคุณจะทำงานเป็นได้อย่างไร ถ้าคุณไม่เคยมอบหมายให้เขาทำเสียเลย เพื่อที่ว่าคุณจะได้มีเวลาเผื่อจะติดต่อ และวางแผนเตรียมงานมากขึ้น งานที่คุณควรให้คนอื่นทำก็ได้ เช่น งานประจำวัน (Routine) งานเก็บข้อมูล การร่วมประชุมที่มีวาระการประชุมที่มีความสำคัญไม่มากนัก

* การใช้ยาระงับความเครียด
เนื่องจากความเครียดเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย นอกจากนั้นยังส่งผลให้พฤติกรรมของคนทำงานเปลี่ยนไป ตามที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น เช่น อาการหงุดหงิด อารมณ์เสีย ควบคุมตนเองไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำให้เกิดผลเสียแก่การทำงาน

ดังนั้น คนทำงานจำนวนไม่น้อยจึงระงับอาการด้วยการใช้ยากล่อมประสาท ซึ่งมีจำหน่ายแพร่หลายในเมืองไทยทั้ง Major และ Minor Tranquillizers เมื่อรับประทานยานี้แล้วจะทำให้อารมณ์เยือกเย็น ลดความตื่นเต้น ลดความเครียด หรือหงุดหงิด กล้ามเนื้อผ่อนคลาย อาจเกิดอาการง่วงนอนได้ แต่ไม่ใช่ยานอนหลับ บางคนอาจรับประทานยานี้ก่อนเข้าร่วมประชุม หรือเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด หรือรับประทานก่อนนอน

ซึ่งมีทั้งขนาด 5-10 มิลลิกรัมและควรรับประทานไม่เกินวันละสามครั้ง อย่างไรก็ตามยานี้ไม่เหมาะสำหรับสตรีผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคบางอย่าง ฉะนั้นเมื่อจะใช้จึงควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เสียก่อน แต่ควรระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยาระงับความเครียด เป็นการแก้ที่ปลายเหตุของปัญหาเท่านั้น

แง่มุมกฎหมาย
กฎหมายได้กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานขึ้น ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี มีผู้แทนสามฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ฝ่ายละเจ็ดคน เพื่อออกระเบียบเป็นกฎกระทรวงให้นายจ้างต้องปฏิบัติตาม (พรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 100-103) นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการตรวจสุขภาพทุกปี และส่งผลการตรวจสุขภาพให้แก่ พนักงานตรวจแรงงานอีกด้วย (พรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 107)

อย่างไรก็ตามการตรวจสุขภาพของคนทำงานนั้น ไม่มีรายละเอียดว่าจะต้องตรวจอะไรบ้าง โดยเฉพาะไม่รวมถึงความเครียดที่เป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุที่พบอยู่เนือง ๆ

สรุป
หากองค์กร ธุรกิจเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์และแผนงานในการคลายเครียดให้กับพนักงาน เพื่อลดความเครียดของพนักงานให้ลดน้อยลงแต่ไม่ใช่ว่าจะให้ความเครียดของพนักงานหมดไปเสียทั้งหมด ซึ่งมีสองแนวทางด้วยกัน ดังต่อไปนี้คือ

1) พนักงานแต่ละคนจะต้องเรียนรู้ว่าความเครียดคืออะไร ต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมความเครียดและบรรเทาความเครียดในการดำรงชีพ
2) องค์กรโดยเฉพาะฝ่ายบุคคล จะต้องทบทวนกระบวนการการบริหารบุคคล รูปแบบการจัดการ และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เพื่อที่จะลดความเครียดที่จะเกิดขึ้นแก่คนทำงาน

โดยที่แผนงานเหล่านี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น โดยฝ่ายบุคคลจะต้องแสดงให้ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร เล็งเห็นว่า ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น คุ้มค่า เมื่อเทียบกับความสูญเสีย อันเนื่องมาจากความเครียด

เอกสารอ้างอิง
1. กฤษณเนตร พันธุมโพธิ. (2550). การบริหารสุขภาพพนักงาน. ค้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2551, จาก http://www.siamhrm.com
2. กรมสุขภาพจิต.(2550). การบริหารสุขภาพในสถานประกอบการ. ค้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2551, จาก http://www.sut.ac.th/e-texts/Medicine/HSW/lesson8.pdf
3. สนั่น เถาชารี. กลยุทธ์การสร้างแรงจูงใจ กลไกที่ผู้บริหารองค์กรพึงพินิจ. Industrial Technology Review 2550; 13(173): 130-139.
4. สนั่น เถาชารี.กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน. ส่งเสริมเทคโนโลยี 2550; 34(196): 28-31.


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด