เนื้อหาวันที่ : 2010-12-23 16:20:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5938 views

เทคนิคเชิงปริมาณเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ (ตอนจบ)

แนวคิดพื้นฐานของปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดนั้นสมมติให้ไม่มีส่วนลดเนื่องจากปริมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง ในความเป็นจริงปัจจัยเกี่ยวกับส่วนลดเนื่องจากปริมาณเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา,
wiwatapi@gmail.com

 .

 .
รูปแบบส่วนลดเนื่องจากปริมาณ (Quantity Discount Model)

แนวคิดพื้นฐานของปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดนั้นสมมติให้ไม่มีส่วนลดเนื่องจากปริมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง ในความเป็นจริงปัจจัยเกี่ยวกับส่วนลดเนื่องจากปริมาณเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับปรุงรูปแบบของแนวคิดเกี่ยวกับปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าว     

 .

ส่วนลดเนื่องจากปริมาณเป็นระดับราคาของสินค้าที่ได้รับอิทธิพลจากการที่กิจการซื้อสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น เช่น ผู้ขายจะขายสินค้าให้ในราคาหน่วยละ 15 บาทถ้าสั่งซื้อสินค้าน้อยกว่า 500 หน่วย ถ้าสั่งซื้อสินค้า 500–999 หน่วยจะขายสินค้าให้ในราคาหน่วยละ 13.80 บาท และถ้าสั่งซื้อสินค้า 1,000 หน่วยหรือมากกว่าจะขายสินค้าให้ในราคาหน่วยละ 12.40 บาท เป็นต้น

 .

เมื่อใดก็ตามที่ราคาขายต่อหน่วยไม่คงที่อีกต่อไปแต่จะผันแปรไปตามขนาดของปริมาณการสั่งซื้อ การคำนวณหาต้นทุนรวมรายปีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงเหลือจะต้องคำนวณราคาหรือต้นทุนของวัตถุดิบรวมเข้าไปด้วย แสดงการคำนวณต้นทุนรวมได้ดังนี้

 .
                       
 .

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับปริมาณการสั่งซื้อเมื่อมีส่วนลดเนื่องจากปริมาณ
1.คำนวณหาปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดโดยใช้หลักการพื้นฐานของ EOQ ที่ระดับราคาที่ถูกที่สุดที่สามารถเป็นไปได้
2.ประเมินความเป็นไปได้ของค่าที่คำนวณได้ในข้อที่ 1 ว่าถ้ากิจการทำการสั่งซื้อเท่ากับปริมาณที่คำนวณได้ ผู้ขายจะขายในราคาที่ใช้ในการคำนวณได้หรือไม่
3.ถ้าปริมาณที่คำนวณได้ในข้อที่ 1 ไม่สามารถเป็นไปได้ ให้ทำการคำนวณ EOQ ที่ระดับราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม
4.ตรวจสอบความเป็นไปได้อีกครั้ง ถ้าไม่สามารถเป็นไปได้ให้ทำข้อที่ 3 ใหม่อีกครั้ง ถ้าเป็นไปได้ให้ไปทำข้อ 5
5.คำนวณต้นทุนรวมที่ปริมาณการสั่งซื้อที่เป็นไปได้ โดยต้นทุนรวมมีความหมายรวมถึงต้นทุนการสั่งซื้อ ต้นทุนการถือครองและเก็บรักษา และต้นทุนของวัตถุดิบ
6.คำนวณต้นทุนรวมที่ปริมาณการซื้อที่ต่ำที่สุดของระดับราคาอื่น ๆ ที่ต่ำกว่า
7.เปรียบเทียบต้นทุนรวมข้อที่ 5 และข้อที่ 6
8.เลือกปริมาณการสั่งซื้อที่จะทำให้มีต้นทุนรวมน้อยที่สุด

 .
ตัวอย่าง

กิจการแห่งหนึ่งทำการสั่งซื้อวัตถุดิบมาเพื่อใช้ในการผลิตครั้งละ 200 หน่วย ความต้องการสินค้าสำหรับปีเท่ากับ 5,200 ปอนด์ ต้นทุนในการสั่งซื้อครั้งละ 100 บาท สินค้าดังกล่าวมีราคาหน่วยละ 15 บาท ต้นทุนรวมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบเท่ากับเท่าใดถ้าต้นทุนในการถือครองและเก็บรักษาเท่ากับ 30% ของราคาวัตถุดิบ

 .
                              
 .
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขราคาสินค้าเนื่องจากส่วนลดเกี่ยวกับปริมาณมีดังนี้

ถ้าสั่งซื้อสินค้า 500–999 หน่วยจะขายสินค้าให้ในราคาหน่วยละ 13.80 บาท และถ้าสั่งซื้อสินค้า 1,000 หน่วยหรือมากกว่าจะขายสินค้าให้ในราคาหน่วยละ 12.40 บาท ต้นทุนในการเก็บรักษาเท่ากับ 30% ของราคาวัตถุดิบ

 .

จากข้อมูลเพิ่มเติมสามารถนำดำเนินการตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับปริมาณการสั่งซื้อเมื่อมีส่วนลดเนื่องจากปริมาณ ได้ดังนี้

1.คำนวณหาปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดโดยใช้หลักการพื้นฐานของ EOQ ที่ระดับราคาที่ถูกที่สุดที่สามารถเป็นไปได้

                        
 .

2.ประเมินความเป็นไปได้ของค่าที่คำนวณได้ในข้อที่ 1 ว่าถ้ากิจการทำการสั่งซื้อเท่ากับปริมาณที่คำนวณได้ ผู้ขายจะขายในราคาที่ใช้ในการคำนวณได้หรือไม่

 .

เมื่อพิจารณาจากค่าที่คำนวณได้แล้ว จะเห็นได้ว่าปริมาณที่คำนวณได้นั้นไม่สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากถ้ากิจการทำการสั่งซื้อวัตถุดิบด้วยปริมาณ 529 หน่วย ผู้ขายจะขายให้ในราคาหน่วยละ 13.80 บาทไม่ใช่ราคา 12.40 บาท 

 .

3.ถ้าปริมาณที่คำนวณได้ในข้อที่ 1 ไม่สามารถเป็นไปได้ ให้ทำการคำนวณ EOQ ที่ระดับราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจึงต้องทำการคำนวณปริมาณการสั่งซื้อใหม่ที่ระดับราคาที่สูงกว่าเดิมคือ 13.80 บาท จะได้ว่า

                              

 .

4.ตรวจสอบความเป็นไปได้อีกครั้ง ถ้าไม่สามารถเป็นไปได้ให้ทำข้อที่ 3 ใหม่อีกครั้ง ถ้าเป็นไปได้ให้ไปทำข้อ 5 เมื่อพิจารณาจากค่าที่คำนวณได้แล้วจะเห็นได้ว่าปริมาณการสั่งซื้อดังกล่าวมีความเป็นไปได้ กล่าวคือถ้ากิจการทำการสั่งซื้อสินค้าที่ปริมาณ 501 หน่วย ผู้ขายสามารถขายสินค้าดังกล่าวให้ในราคาขายหน่วยละ 13.80 บาทได้

 .

5.คำนวณต้นทุนรวมที่ระดับของปริมาณการสั่งซื้อที่เป็นไปได้ ณ ระดับราคาที่ได้ส่วนลดปริมาณ โดยต้นทุนรวมมีความหมายรวมถึงต้นทุนการสั่งซื้อ ต้นทุนการถือครองและเก็บรักษา และต้นทุนของวัตถุดิบ ดังนั้นจึงคำนวณหาต้นทุนรวมที่ปริมาณการสั่งซื้อ 501 หน่วยโดยประมาณ จะได้ว่า

 .

 .

6.คำนวณต้นทุนรวมที่ปริมาณการซื้อที่ต่ำที่สุดของระดับราคาอื่น ๆ ที่ต่ำกว่า การคำนวณหาต้นทุนรวมของปริมาณการสั่งซื้อที่เป็นไปได้ที่ระดับราคาที่ต่ำกว่าคือ 13.80 บาท ในที่นี้ปริมาณการสั่งซื้อที่ต่ำที่สุดที่สามารถเป็นไปได้ ณ ระดับราคาดังกล่าวคือ 1,000 หน่วย จะได้ต้นทุนรวมดังนี้

 .

 .

7.เปรียบเทียบต้นทุนรวมข้อที่ 5 และข้อที่ 6 จากการคำนวณจะเห็นได้ว่าต้นทุนรวมที่ได้ในข้อที่ 6 มีค่าเท่ากับ 66,860 บาทซึ่งมีมูลค่าที่ต่ำกว่าที่คำนวณได้ในข้อที่ 5 ที่คำนวณได้เท่ากับ 73,834.99 บาท

 .

8.เลือกปริมาณการสั่งซื้อที่จะทำให้มีต้นทุนรวมน้อยที่สุด ในที่นี้เลือกปริมาณการสั่งซื้อที่เหมาะสมได้เท่ากับ 1,000 หน่วย

 .

จากเงื่อนไขราคาวัตถุดิบข้างต้นสามารถนำมาแสดงเส้นกราฟต้นทุนรวมที่ระดับราคาวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ได้รับส่วนลดเนื่องจากปริมาณได้ดังรูปที่ 5 ต่อไปนี้

รูปที่ 5 เส้นกราฟต้นทุนรวมที่ระดับราคาต่าง ๆ

 .
การประเมินค่าระดับสินค้าคงเหลือ

กิจการมีโอกาสที่จะได้รับความสูญเสียเนื่องจากการขาดแคลนสินค้าได้ในระหว่างช่วงเวลาของการรอคอยสินค้าที่จะนำมาทดแทนสินค้าที่กำลังจะหมดไป ดังนั้นการมีสินค้าคงเหลือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องดำเนินการทั้งนี้เพื่อทำให้ได้มาซึ่งสินค้าคงคลังเพื่อความปลอดภัยที่จะสามารถคุ้มครองหรือตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าส่วนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้              

 .

ในกรณีที่ไม่มีปัจจัยเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของความต้องการของลูกค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง จุดของการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาทดแทนจะเท่ากับความต้องการสินค้าโดยเฉลี่ยในช่วงระยะเวลาการรอคอย เขียนเป็นสูตรได้ว่า
              R = dL

 .

แต่ในกรณีที่มีความไม่แน่นอนใด ๆ ที่จะส่งผลต่อความต้องการสินค้าในช่วงระยะเวลาการรอคอย เช่น ซัพพลายเออร์ไม่สามารถกำหนดระยะการจัดส่งสินค้าที่แน่นอนได้ในทุกครั้ง เนื่องจากความความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสินค้าที่มีในแต่ละช่วงเวลา 

 .

หรือความไม่แน่นอนที่มีสาเหตุมาจากความต้องการของกิจการหรือความต้องการของลูกค้าที่ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย เป็นต้น ในกรณีที่มีความไม่แน่นอนเข้ามาเกี่ยวข้องกิจการจำเป็นต้องมีนโยบายเกี่ยวสินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัยจากปัจจัยที่คาดไม่ถึง ดังนั้นจุดของการสั่งซื้อในกรณีดังกล่าวจะเขียนเป็นสูตรใหม่ได้ว่า

 .

                        R = dL + SS
     กำหนดให้
                        SS = ปริมาณสินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัย

 .
ตัวอย่าง

ถ้าความต้องการสินค้าโดยเฉลี่ยในแต่ละวันเท่ากับ 20 หน่วย ระยะเวลาการรอคอยสินค้าส่งมอบเท่ากับ 5 วัน จุดการสั่งซื้อสินค้าใหม่ในแต่ละรอบจะได้ว่า
     R  = dL + SS
          = (20 หน่วย x 5 วัน) + 0 หน่วย
          = 100 หน่วย

 .

ถ้ากิจการมีนโยบายในการสำรองสินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัยไว้เท่ากับ 50 หน่วย จุดการสั่งซื้อสินค้าใหม่ในแต่ละรอบจะคำนวณใหม่ได้ว่า
     R = dL + SS
         = (20 หน่วย x 5 วัน) + 50 หน่วย
         = 150 หน่วย

 .

จากการคำนวณข้างต้นจะเห็นได้ว่า เมื่อมีสินค้าคงเหลือเข้ามาเกี่ยวข้อง จุดของการสั่งซื้อใหม่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเท่ากับปริมาณสินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัยที่กิจการมีความต้องการสำรองไว้ในแต่ละช่วงเวลา แสดงผลกระทบของปริมาณสินค้าคงเหลือที่มีต่อจุดของการสั่งซื้อได้ดังรูปที่ 6 ต่อไปนี้

 .

รูปที่ 6ก แสดงจุดสั่งซื้อที่ 100 ความต้องการเท่ากับ 500 หน่วย ไม่มีสินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัย

 .

ถ้าความต้องการระหว่างช่วงเวลาการรอคอยเท่ากับความต้องการเฉลี่ย ดังนั้นสินค้าที่ซื้อมาทดแทนจะมาถึงเมื่อระดับสินค้าคงเหลือที่มีอยู่ในคลังสินค้าเท่ากับปริมาณสินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัย

 .

รูปที่ 6ข แสดงจุดสั่งซื้อที่ 150 ความต้องการเท่ากับ 550 หน่วย สินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัยเท่ากับ 50 หน่วย

รูปที่ 6ข การเปลี่ยนแปลงปริมาณสินค้าคงเหลือที่มีผลต่อจุดของการสั่งซื้อ

 .

ถ้าความต้องการใช้สินค้าเท่ากับปริมาณความต้องการสินค้าโดยเฉลี่ยหรือเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ นั่นหมายความว่าสินค้าที่สั่งซื้อไปจะมาถึงเมื่อระดับสินค้าคงเหลือในคลังเท่ากับปริมาณสินค้าเพื่อความปลอดภัย ถ้าความต้องการใช้สินค้ามากกว่าที่คาดหมายไว้     

 .

สินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัยที่เก็บอยู่ในคลังสินค้าจะถูกนำมาใช้ก่อนที่สินค้าที่สั่งซื้อไปจะมาถึง และถ้าความต้องการสินค้าน้อยกว่าที่คาดหมายไว้ สินค้าที่สั่งซื้อมาทดแทนจะมาถึงก่อนที่ปริมาณสินค้าเหลือจะลดระดับถึงปริมาณสินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัย แสดงเหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้นได้ดังรูปที่ 7 ต่อไปนี้

 .

รูปที่ 7 ความต้องการที่ไม่แน่นอน

 .
ทฤษฏี EOQ กับความน่าจะเป็นของปริมาณความต้องการ

โอกาสของการเกิดสินค้าขาดมือจะเกิดขึ้นได้เมื่อเวลาใด ๆ ก็ตามที่ปริมาณความต้องการสินค้าในช่วงเวลาการรอคอยมีมากเกินกว่าปริมาณสินค้าที่จุดสั่งซื้อภายใต้สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อความต้องการเป็นความน่าจะเป็นว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นการใช้ปริมาณความต้องการเฉลี่ยภายใต้แนวคิดพื้นฐานของ EOQ แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นจะส่งผลทำให้มีความน่าจะเป็นที่จะเกิดสินค้าขาดมือสูงมาก     

 .

แนวทางอย่างหนึ่งเพื่อจะลดความเสี่ยงคือ การเพิ่มระดับของจุดการสั่งซื้อให้มากขึ้นเพื่อทำให้ได้มาซึ่งปริมาณสินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัย ในการประเมินค่าจุดการสั่งซื้อที่เหมาะสมนั้นในเบื้องต้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบค่าการแจกแจงความน่าจะเป็นของความต้องการในช่วงเวลาการรอคอย โดยปกติแล้วความต้องการในช่วงเวลาการรอคอยนั้นจะถูกสมมติให้เป็นค่าการแจกแจงปกติ ซึ่งประเด็นส่วนนี้สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการที่เกิดขึ้นจริงสำหรับช่วงระยะเวลาการรอคอยในอดีต

 .

จุดการสั่งซื้อที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับความต้องการดำเนินการควบคุมระดับความเสี่ยงที่จะเกิดโอกาสสินค้าขาดแคลนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งนโยบายการตัดสินใจในประเด็นนี้ไม่มีคำตอบที่เหมาะสม ระดับการให้การบริการหนึ่ง ๆ (A Service Level) เป็นความน่าจะเป็นที่ความต้องการสินค้าในช่วงเวลาการรอคอยไม่เกินกว่าสินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัยที่มีอยู่ในมือ   

 .

นั่นคือสินค้าคงเหลือจะต้องมีจำนวนที่พอเพียงเท่ากับความต้องการสินค้าพอดี ถ้าระดับการบริการเท่ากับ 95% หมายความว่าความน่าจะเป็นของการเกิดสินค้าขาดมือในช่วงระยะเวลาการรอคอยคือ 5% หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่ามีความน่าจะเป็นประมาณ 5% ที่กิจการจะประสบกับเหตุการณ์สินค้าขาดมือ          

 .

ความพยายามที่จะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์สินค้าขาดมือคือ จุดการสั่งซื้อสินค้าในรอบต่อ ๆ ไปจะต้องสูงมากขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้วิธีการดังกล่าวจะส่งผลทำให้ระดับสินค้าคงเหลือโดยเฉลี่ยมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นด้วยและองค์ประกอบที่เกี่ยวกับต้นทุนการถือครองสินค้าหรือการเก็บรักษาสินค้าจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน        

 .

ดังนั้นการมีปริมาณสินค้าคงเหลือจำนวนมากน้อยเท่าใดจึงถือว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยทั่วไปวิธีการอย่างหนึ่งที่จะช่วยในการกำหนดจุดสั่งซื้อที่เหมาะสมภายใต้เงื่อนไขความแปรปรวนของปริมาณความต้องการสินค้าในช่วงระยะเวลาการรอคอยหนึ่ง ๆ ที่มีลักษณะการกระจายตัวแบบปกติคือการใช้วิธีการทางสถิติ ค่าความน่าจะเป็นของการแจกแจงหรือการกระจายแบบปกตินั้นทำให้ได้มาซึ่งปริมาณความต้องการโดยประมาณการที่เหมาะสมสำหรับช่วงระยะเวลาการรอคอยหนึ่ง ๆ สามารถแสดงสูตรการคำนวณจุดสั่งซื้อได้ว่า

 .
        R = +Z

กำหนดให้
        =  ค่าปริมาณความต้องการโดยเฉลี่ยในช่วงระยะเวลาการรอคอย
        Z   =  จำนวนของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของระดับการบริการที่สามารถยอมรับได้
        = ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของปริมาณความต้องการจากค่าเฉลี่ยของการแจกแจงแบบปกติ

 .

สำหรับความหมายของค่า Z แสดงถึงสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะต้องถือครองไว้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของระดับการบริการนั่นก็คือ สินค้าคงเหลือเพื่อความปลอดภัย (Safety Stock)  

 .

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือจะต้องเข้าใจว่าค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของความต้องการในช่วงระยะเวลาการรอคอยนั้นมีการคำนวณหาได้อย่างไร การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานจะทำให้ทราบถึงค่าการแจกแจงความน่าจะเป็นของปริมาณความต้องการในระหว่างช่วงเวลาการรอคอยหนึ่ง ๆ (t) ซึ่งอาจจะเป็นวัน หรือสัปดาห์ โดยที่ แสดงถึงค่าเฉลี่ยและ แสดงถึงค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสมมติให้ระยะเวลารอคอย L ที่อธิบายถึงนั้นเป็นหน่วยเวลาเดียวกัน 

 .

ถ้าการกระจายหรือค่าการแจกแจงของความต้องการสำหรับช่วงเวลาทั้งหมดที่ถูกระบุถึงมีความเป็นอิสระจากช่วงเวลาอื่น ๆ ในกรณีนี้สามารถใช้สูตรพื้นฐานทางสถิติเพื่อการคำนวณหาค่า   และ จากฐานข้อมูล และ ซึ่งเป็นค่าเฉพาะระหว่างช่วงระยะเวลาการรอคอย L ค่าความต้องการเฉลี่ยจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับค่า L และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของความต้องการเป็นสัดส่วนโดยตรงกับรากที่สองของค่า L ทำให้ได้สูตรการคำนวณดังต่อไปนี้        

 .
 .
ตัวอย่าง

ร้านเบญจาเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทนิวัต โดยมีต้นทุนการสั่งซื้อสินค้าแต่ละครั้งเท่ากับ 45 บาท ต้นทุนของสินค้าที่ซื้อมีราคาหน่วยละ 3.80 บาท ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้าเท่ากับ 20% ของราคาทุนสินค้า ข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าความต้องการสินค้าโดยเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 15,600 หน่วย หรือประมาณการเป็นความต้องการสินค้าโดยเฉลี่ยรายสัปดาห์ได้เท่ากับ 300 หน่วย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากค่าเฉลี่ยเท่ากับ 60 หน่วย โดยประมาณ 

 .

จากข้อมูลข้างต้นสามารถนำปริมาณความต้องการโดยเฉลี่ยมาใช้ในการคำนวณปริมาณการสั่งซื้อที่เหมาะสมภายใต้แนวคิดของทฤษฎี EOQ จะได้ว่า

ถ้าใช้ปริมาณการสั่งซื้อตามที่คำนวณได้ข้างต้น สามารถคาดการณ์ได้ต่อไปว่าจะต้องทำการสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวประมาณ 12 ครั้งต่อปี (15,600/1,360) 

 .

ในการสั่งซื้อสินค้าในแต่ละครั้งนั้นพบว่าระยะเวลาในการรอคอยสินค้ามาส่งมอบให้ประมาณ 2 สัปดาห์ ดังนั้นสามารถคำนวณหาปริมาณความต้องการเฉลี่ยในช่วงระยะเวลาการรอคอยได้ดังนี้

 .

จากข้อมูลและการคำนวณข้างต้นนั้นสามารถนำมาแสดงค่าการแจกแจงหรือการกระจายความต้องการสินค้าในช่วงระยะเวลาการรอคอยได้ดังรูปที่ 8 ต่อไปนี้

รูปที่ 8 ความต้องการสินค้าในช่วงเวลาการรอคอย

 .

เมื่อพิจารณาจากรูปที่ 8 ในเบื้องต้นอาจจะบอกได้ว่าจุดการสั่งซื้อควรจะเท่ากับ 600 หน่วย อย่างไรก็ตามถ้าความต้องการในช่วงระยะเวลาการรอคอยคือ ตำแหน่งของค่าการกระจายในลักษณะที่มีความสมมาตรกัน ดังนั้นความต้องการสินค้าที่มากกว่า 600 หน่วยมีโอกาสของการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวประมาณ 50% ซึ่งหมายความว่ากิจการมีโอกาสจะประสบกับเหตุการณ์ของสินค้าขาดมือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนรอบที่ทำการสั่งซื้อทั้งหมด ในสถานการณ์นี้ผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่สามารถจะยอมรับได้ 

 .

ถ้าสมติว่าผู้บริหารต้องการระดับความสามารถในการให้การบริการแก่ลูกค้าได้ประมาณ 95% นั้นคือโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์สินค้าขาดมือในช่วงระยะเวลาการรอคอยจะเท่ากับ 5% เท่านั้น จากการคำนวณข้างต้นกิจการทำการสั่งซื้อสินค้าประมาณ 12 ครั้งต่อปี ซึ่งมีโอกาสจะเกิดสินค้าขาดมือประมาณ 5% หมายความว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดสินค้าขาดมือประมาณทุก ๆ 2 ปีครั้งซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารสามารถยอมรับได้

 .

รูปที่ 9 ต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่าจุดการสั่งซื้อคำนวณได้อย่างไรจากค่าการแจกแจงความน่าจะเป็นภายใต้พื้นที่ใต้โค้งปกติ

รูปที่ 9 จุดการสั่งซื้อที่ยอมให้สำหรับโอกาสในการเกิดสินค้าขาดมือเท่ากับ 5%

 .

ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์สินค้าขาดมือที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นคือ 0.05 (5%) ค่านี้จะถูกนำไปตรวจสอบในตารางค่าการแจกแจงภายใต้พื้นที่ใต้โค้งปกติว่าตรงกับค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากค่าเฉลี่ยที่เท่าใด ในที่นี้จะเห็นได้ว่าค่า 0.05 อยู่ในช่วงค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากค่าเฉลี่ยที่ 1.64 ซึ่งแสดงค่าการแจกแจงค่าความน่าจะเป็นเท่ากับ 0.0505 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากค่าเฉลี่ยที่ 1.65   

 .

ซึ่งแสดงค่าการแจกแจงค่าความน่าจะเป็นเท่ากับ 0.0495 ดังนั้นค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากค่าเฉลี่ยของค่าการแจกแจงความน่าจะเป็นที่ 0.05 จึงเท่ากับ 1.645 ((1.64 + 1.65)/2) โดยประมาณ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากค่าเฉลี่ยที่คำนวณได้ข้างต้นสามารถนำมาจุดการสั่งซื้อใหม่ได้ดังนี้

 .
 .

จากการคำนวณข้างต้นได้ข้อสรุปว่านโยบายการสั่งซื้อสินค้าที่ปริมาณการสั่งซื้อที่ทำให้เกิดความประหยัดคือ การสั่งซื้อครั้งละ 1,360 หน่วย และจะทำการสั่งซื้อเมื่อปริมาณสินค้าคงเหลือในมือลดลงถึงระดับ 740 หน่วย จะทำให้มีต้นทุนเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือต่ำที่สุด และมีความน่าจะเป็นที่จะมีความเสี่ยงอันเนื่องมาจากเหตุการณ์สินค้าขาดมือในช่วงเวลารอคอยมากที่สุดเพียง 5% เท่านั้น

 .

นอกจากนี้ยังสามารถทำการพยากรณ์ต้นทุนรวมรายปีทั้งในส่วนของต้นทุนการสั่งซื้อ ต้นทุนการถือครองและเก็บรักษาสินค้าคงเหลือ และต้นทุนการถือครองและเก็บรักษาสินค้าเพื่อความปลอดภัย แสดงการคำนวณได้ดังนี้

 .

การคำนวณข้างต้นได้ข้อสรุปว่า ถ้าปริมาณความต้องการสินค้าคงเหลือมีอัตราคงที่แน่นอนที่ 15,600 หน่วยต่อปี ในขณะเดียวกันใช้ทฤษฎี EOQ เพื่อการคำนวณหาปริมาณการสั่งซื้อสินค้าที่ประหยัดจะได้ปริมาณสินค้าที่สั่งซื้อในแต่ละครั้งเท่ากับ 1,360 หน่วย จุดสั่งซื้อที่เหมาะสมเท่ากับ 600 หน่วย ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนรวมรายปีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงเหลือเท่ากับ 1,032.98 บาท (516.18 + 516.80)

 .

แต่ถ้าปริมาณความต้องการสินค้าเป็นลักษณะความน่าจะเป็นจากการสุ่มทดลอง ปริมาณการสั่งซื้อสินค้าที่ประหยัดเท่ากับ 1,360 หน่วย จุดสั่งซื้อที่เหมาะสมเท่ากับ 740 หน่วย ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนรวมรายปีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงเหลือเท่ากับ 1,139.38 บาท จะสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อเพิ่มปริมาณสินค้าคงเพื่อความปลอดภัยเข้าไปอีก 140 หน่วย จะทำให้ความเสี่ยงของการเกิดสินค้าขาดแคลนจะมีเพียง 5% แต่จะมีต้นทุนรวมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นอีกเท่ากับ 106.40 บาทต่อปี

 .
ระบบการตรวจสอบสิ้นงวด (Periodic Review System)

เนื่องจากกระบวนการของระบบการตรวจสอบสิ้นงวดจะทำการตรวจสอบปริมาณของรายการสินค้าต่าง ๆ ที่กิจการมีอยู่ในมือ ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่งโดยเฉพาะที่แน่นอน เช่น ทุก 2 สัปดาห์ หรือทุก ๆ สิ้นเดือน เป็นต้น เพื่อทำการสั่งซื้อสินค้าจำนวนหนึ่งซึ่งมีปริมาณเท่ากับระดับสินค้าคงเหลือตามเป้าหมายที่ต้องการหักออกด้วยปริมาณสินค้าคงเหลือที่มีอยู่ในมือ          

 .

ข้อดีของกระบวนการระบบสิ้นงวดคือ สินค้าคงเหลือจะถูกนับที่เฉพาะจุดสิ้นสุดเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ต้องทำการตรวจสอบสินค้าคงเหลือในระหว่างงวดเวลา ระบบนี้เหมาะสมกับกิจการที่ต้องทำการสั่งซื้อสินค้าหลากหลายรายการที่มีความแตกต่างกันไปกับผู้ขายสินค้ารายเดียว เช่น ถ้ากิจการแห่งหนึ่งมีสินค้าที่แตกต่างกันไป 12 รายการที่ต้องสั่งซื้อผู้ขายเพียงรายเดียว กิจการสามารถทำการสั่งซื้อสินค้าทั้งหมด 12 รายการในครั้งเดียวได้แทนที่จะทำการสั่งซื้อสินค้า 1 รายการต่อ 1 ครั้ง เป็นต้น

 .

ข้อเสียของกระบวนการนี้เป็นผลมาจากความแตกต่างของระดับสินค้าที่สั่งมาทดแทนสินค้าคงเหลือที่ลดลงไป ประการแรกคือ จะต้องมีพื้นที่คลังสินค้าที่ว่างเพียงพอจะรองรับสินค้าที่ระดับการสั่งซื้อสินค้าแต่ละรายการที่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งบ่อยครั้งมักจะมีพื้นที่ว่างเมื่อทำการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาทดแทนในปริมาณที่น้อยกว่า ประการที่สองเนื่องจากปริมาณสินค้ามีความแตกต่างกันจึงอาจจะทำให้ไม่สามารถได้รับประโยชน์ในเรื่องของส่วนลดเกี่ยวกับปริมาณ

 .

ผลลัพธ์อย่างหนึ่งจากการใช้ระบบการตรวจสอบสิ้นงวดคือ ระดับสินค้าคงเหลือเฉลี่ยจะมีจำนวนมาก เนื่องจากกิจการจะต้องเก็บรักษาสินค้าให้มีจำนวนที่เพียงพอจะป้องกันการเกิดสินค้าขาดแคลนสำหรับช่วงเวลาการรอคอยสินค้าที่สั่งซื้อเข้ามาทดแทนบวกกับช่วงเวลาของการตรวจสอบสินค้าคงคลัง ประเด็นหลัก 2 ประการที่ต้องทำการตัดสินใจเมื่อใช้ระบบการตรวจสอบสิ้นงวดจะเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่จะทำการสั่งซื้อและระดับสินค้าคงเหลือตามเป้าหมายที่ต้องการ

 .

ช่วงเวลาที่จะทำการสั่งซื้ออาจจะเลือกด้วยเหตุผลของความสะดวก เช่น อาจจะเป็นการง่ายที่จะเลือกทำการตรวจสอบสินค้าคงเหลือ ณ วันสุดท้ายแต่ละสัปดาห์เพื่อที่จะเตรียมการสั่งซื้อสินค้าในทันที เป็นต้น อีกทางเลือกหนึ่งของการกำหนดช่วงเวลาของการสั่งซื้อคือคำนวณจากฐานของปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัด

 .

เช่น ถ้าทำการคำนวณค่าปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดได้เท่ากับ 1,500 หน่วย ปริมาณความต้องการเฉลี่ยรายสัปดาห์เท่ากับ 500 หน่วย มีความเป็นไปได้ที่จะต้องทำการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาทดแทนสินค้าที่ใช้ไปในทุก ๆ 3 สัปดาห์ (1,500 หน่วย/500 หน่วย) ซึ่งคำนวณหาได้โดยนำปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดหารด้วยปริมาณความต้องการสินค้าโดยเฉลี่ยนั่นเอง

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด