เนื้อหาวันที่ : 2010-12-14 11:34:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4770 views

กลไกการพัฒนาที่สะอาดกับการพัฒนาพลังงานและสิ่งแวดล้อมโลก

จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันที่เชื้อเพลิงพลังงาน (น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ) มีราคาสูงขึ้นมากและความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความใส่ใจกับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันประเทศเข้าสู่สภาวะขาดแคลนพลังงาน

กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) กับการพัฒนาพลังงานและสิ่งแวดล้อมโลก

 .

บูรณะศักดิ์ มาดหมาย
buranasak_madmaiy@yahoo.com

.

.

จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันที่เชื้อเพลิงพลังงาน (น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ) มีราคาสูงขึ้นมากและความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความใส่ใจกับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันประเทศเข้าสู่สภาวะขาดแคลนพลังงาน

.

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ประชาชนมากกว่าร้อยละ 50 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลพลอยได้ที่สำคัญนอกเหนือจากผลผลิตการเกษตรก็คือ วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว แกลบ กากอ้อย กาก ใย และทะลายปาล์ม เป็นต้น

 .

ชีวมวล (Biomass) หมายถึง วัสดุหรือสารอินทรีย์ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานได้ ชีวมวลนับรวมถึงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เศษไม้ ปลายไม้จากอุตสาหกรรมไม้ มูลสัตว์ ของเสียจากโรงงานแปรรูปทางการเกษตร และของเสียจากชุมชน ปริมาณชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่ผลิตภายในประเทศจะแปรผันและขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ ตารางข้างล่างแสดงรายละเอียดพื้นที่ปลูก ผลผลิตพืชหลัก และไม้ยางพารา ปี2543/2544 และ 2544/2545

 .

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2544/45 

 .

พลังงานชีวมวลปัจจุบันนับได้ว่ามีความต้องการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายกันมากทั้ง การนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร การนำมาใช้สำหรับภาคที่อยู่อาศัย และการนำมาใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 .
การนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร
 .

ประโยชน์ทางด้านการเกษตรนั้นได้มีกันมานับตั้งแต่ในอดีตมานานแล้ว เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมด้วย ตัวอย่างในอดีตที่เราสามารถพบได้นั้นได้มีการนำมาคลุมดิน ฯลฯ ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องการนำเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้นำมาใช้กัน โดยจากข้อมูลการศึกษาพบว่า  

 .

* ฟางข้าว มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเพื่อการคลุมดิน ทำปุ๋ยและอื่น ๆ ถึงปีละประมาณ 18 ล้านตัน 
* ยอดและใบอ้อย มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในการเพื่อการคลุมดินและอื่น ๆ ถึงปีละประมาณ 4 ล้านตัน
* ตอซังสัปปะรด มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในการเพื่อการคลุมดินและทำปุ๋ย ถึงปีละประมาณ 1 ล้านตัน
* ลำต้นมัน มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเพื่อการทำต้นพันธ์ ถึงปีละประมาณ 1.5 ล้านตัน  

 .

นับได้ว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรที่สามารถนำไปใช้ให้ก่อเกิดประโยชน์ทางการเกษตรได้อีกต่อ โดยไม่มีความสูญเปล่า นับได้ว่าเป็นการใช้ที่คุ้มค่ามาก

 .

การนำมาใช้สำหรับภาคที่อยู่อาศัย
เศษวัสดุเหลือใช้ที่นำมาใช้ในบ้านที่อยู่อาศัยจะเป็นเพียงการนำมาใช้ในการนำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้ม ดังต่อไปนี้
* ไม้ฟืน มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิง ถึงปีละประมาณ 291,410 ตัน 
* ถ่านไม้ มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิง ถึงปีละประมาณ 422,980 ตัน 
* เปลือกและกะลามะพร้าว มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิง ถึงปีละประมาณ  29,010 ตัน 
* แกลบ มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิง ถึงปีละประมาณ 291,410 ตัน 

 .

การนำมาใช้ด้านอื่น ๆ
เศษวัสดุเหลือใช้ที่นำมาประโยชน์ในด้านอื่น ๆ แต่เมื่อมองโดยภาพรวมก็ยังมีไม่มากนักแต่สามารถนำมาคิดเป็นอุปสงค์ในภาครวมของการนำเศษวัสดุเหลือมาใช้ก็นับได้ว่าเป็นจำนวนมากทีเดียว ดังต่อไปนี้
* เปลือกมะพร้าว มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการทำเป็นเส้นใยและทำเป็นวัสดุปลูกพืช ถึงปีละประมาณ 350,000 ตัน 
* แกลบ มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นวัสดุรองกันความชื้นในการเลี้ยงไก่ ถึงปีละประมาณ 50,000 ตัน

 .
การนำมาใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม

ที่นำมากล่าวไว้ตอนท้ายนับได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันความต้องการของการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลมีมากที่สุดกับการนำมาใช้ประโยชน์กว่าด้านอื่นที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะประเภทที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน เพื่อสามารถนำมาทดแทนกับการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันที่นับวันจะมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ     

 .

จนปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมพยายามที่จะหาทางในการจัดหาพลังงานด้านอื่น ๆ นำมาทดแทน บางโรงงานถึงกับลงทุนงบประมาณที่มากในการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าชธรรมชาติไว้ใช้เป็นของตนเอง เนื่องจากมองถึงความสามารถในการเป็นไปได้ในการลงทุน และเป็นการทดแทนกับค่าพลังงานที่แพงขึ้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้      

 .

ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ต้องรับภาระทุก ๆ เดือน และยังโรงงานอุตสาหกรรมแห่งนั้น มีการขยายฐานการผลิตโดยการสร้างโรงงานผลิตเพิ่มขึ้น ฉะนั้นถ้าไม่สามารถจัดหาแหล่งพลังงานที่เป็นไปได้มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ถึงอาจกับรับภาระไว้ไม่ไหว

 .

ดังแสดงในตารางปริมาณการใช้พลังงานชีวมวล มีการนำประเภทชีวมวลต่าง ๆ มาใช้ เพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อนถึง 15.18 ล้านตันต่อปี เพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อนถึง 13.19 ล้านตันต่อปี รวมมีการนำประเภทชีวมวลต่าง ๆ มาใช้ เพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อน และเพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อนถึง 28.37 ล้านตันต่อปี นับได้ว่าเป็นการหาทางเลือกใหม่ของนักอุตสาหกรรม ผู้บริหารที่จะหาหนทางในแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่เพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการของโรงงาน

 .
ตาราง แสดงการใช้ประเภทชีวมวลในภาคอุตสาหกรรม           หน่วย: 1,000 ตัน

 .

อีกทั้ง ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม มีการใช้พลังงานทั้งไฟฟ้าและความร้อนในสายการผลิตในโรงงาน และมีการใช้อุปกรณ์ เครื่องจักรอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต ที่ต้องมีเครื่องจักรในกระบวนการผลิตมากมายหลายชนิด ทำให้อุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบ ณ ปัจจุบัน จะต้องมีการสั่งซื้อเพื่อที่จะนำมาปรับเปลี่ยนในตัวเครื่องจักร ให้สามารถทำงานได้เหมือนเดิม  

 .

ตัวอย่างของชิ้นส่วนของอุปกรณ์ที่โรงงานอุตสาหกรรม มีการใช้อยู่มากในโรงงานอุตสาหกรรม อาทิเช่น อุปกรณ์ความคุมภาระการใช้งานของมอเตอร์ (Motor Load Control) เครื่องทำความร้อนโดยใช้พลังงานความร้อนที่เหลือจากระบบปรับอากาศ (Water Heater Using Waste Heat From A/C) เครื่องเชื่อมประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Welding Machine) แผ่นแลกเปลี่ยนความร้อน (Plate Heat Exchanger) มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง (High Efficient Motor: HEM)  

 .

อุปกรณ์ควบคุมดีมานด์ (Demand Controller)อุปกรณ์ปรับระดับแรงดันไฟฟ้า (Voltage Regulator)อุปกรณ์ควบคุมการใช้พลังงานในระบบแสงสว่างสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent Lighting Control) บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Ballast) ฯลฯ ที่เรามักพบกันอยู่บ่อยครั้ง โดยอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถนำเอาเทคโนโลยีประหยัดพลังงานมาปรับใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อป้องกันประเทศเข้าสู่สภาวะขาดแคลนพลังงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศ        

 .

การดำเนินงานโครงการ CDM จะเป็นโครงการที่จะจุดประกายให้กับภาคเอกชนในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการประกอบกิจการ จากการศึกษาและหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน สรุปได้ว่า ควรให้ความสำคัญกับดำเนินโครงการ CDM ในภาคพลังงานเป็นลำดับแรก เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน และเพื่อเป็นแรงกระตุ้น ให้กับภาคเอกชนในการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก

 .
กลไกการพัฒนาที่สะอาด Clean Development Mechanism (CDM)

กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ Clean Development Mechanism (CDM) คือหนึ่งในสามมาตรการยืดหยุ่น (Flexible Mechanisms) ที่อนุญาตให้ประเทศ ต่าง ๆ สามารถลงทุนพัฒนาโครงการในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 .

รัฐบาลของทั้งสองประเทศจะต้องให้ความยินยอม โดยทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน นั่นคือ เกิดโครงการพลังงานสะอาด โครงการปลูกป่า โครงการอนุรักษ์พลังงาน หรือโครงการเปลี่ยนประเภทการใช้สารเคมี ขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างสะอาดและยั่งยืนขึ้นในประเทศนั้น ๆ     

 .

โดยประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับเม็ดเงินช่วยเหลือโครงการ ในรูปของเงินลงทุนหรือ เงินที่ได้จากการขายเครดิตของปริมาณก๊าซที่ลดได้ หรือ Certified Emission Reductions (CERs) ซึ่งสามารถนำไปนับรวมกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ตามเป้าหมายของประเทศตน

 .

กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) เป็นกลไกที่กำหนดขึ้นภายใต้พิธีสารเกียวโต เพื่อช่วยให้ประเทศอุตสาหกรรมที่มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกสามารถบรรลุพันธกรณีได้ และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศกำลังพัฒนา แนวความคิดของกลไกการพัฒนาที่สะอาดคือ โครงการที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

 .

ผู้ดำเนินโครงการจะได้รับ Certified Emission Reduction (CERs) จากหน่วยงานที่เรียกว่า CDM Executive Board (CDM EB) และ CERs ที่ผู้ดำเนินโครงการได้รับนี้ สามารถนำไปขายให้กับประเทศอุตสาหกรรม ที่สามารถใช้ CERs ในการบรรลุถึงพันธกรณีตามพิธีสารเกียวโตได้การดำเนินโครงการ CDM นั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศเจ้าบ้าน (Host Country) ว่าโครงการที่เสนอนั้น เป็นโครงการที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศเจ้าบ้าน

 .

รูปที่ 1 ความสัมพันธ์และผลประโยชน์ที่ผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายจะได้รับในการดำเนินโครงการ CDM 

 .

กลไกการพัฒนาที่สะอาดเปรียบเสมือนแรงจูงใจให้ประเทศกำลังพัฒนา หันมาใช้เทคโนโลยีสะอาดเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ซึ่งหากไม่มีแรงจูงใจจากกลไกการพัฒนาที่สะอาดแล้ว ประเทศนั้น ๆ จะยังคงใช้เทคโนโลยีแบบเดิมที่มีต้นทุนต่ำและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก โดยแรงจูงใจที่กล่าวถึงคือ CERs ที่ผู้ดำเนินโครงการจะได้รับ และสามารถนำไปขายให้กับประเทศอุตสาหกรรมได้นั่นเอง ส่วนประเทศเจ้าบ้าน จะได้รับผลประโยชน์คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน

 .
พิธีสารเกียวโตกับกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)

เนื่องจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งได้กำหนดกรอบในการดำเนินการเพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2543 โดยที่หลังจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องมีการจัดประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา (Conference of the Parties: COP) ขึ้นทุกปีในการประชุมสมัยแรก ที่จัดขึ้น ณ กรุงเบอร์ลิน ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม–7 เมษายน 2538 ประเทศภาคีสมาชิกได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการกำหนดพันธกรณีภายหลัง พ.ศ. 2543 และได้ตกลงใน Berlin Mandate เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจา

 .

และภายใต้ข้อตกลง ได้มีการจัดตั้ง Ad Hoc Group on the Berlin Mandate (AGBM) เพื่อทำหน้าที่ในการบรรลุถึงข้อตกลงดังกล่าว AGBM จัดประชุม 8 ครั้งระหว่างเดือนสิงหาคม 2538 และเดือนธันวาคม 2540 ในการประชุมสมัชชาฯ สมัยที่ 3 โดยการประชุมครั้ง 4 ซึ่งตรงกับการประชุมสมัชชาฯ สมัยที่ 2 ณ กรุงเจนีวา พอดี ได้มีการตกลงในหลักการสำคัญของพิธีสารและยกร่างเป็น “Geneva Declaration” การประชุมของ AGBM ครั้งต่อมาได้ร่างเนื้อหาของพิธีสาร

 .

โดยมีแนวทางตามข้อเสนอของสหภาพยุโรปให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ให้ได้ร้อยละ 15 ภายในปี พ.ศ.2553 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2533 แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อประธานาธิบดีบิล คลินตันได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก

 .

แต่กลุ่มประเทศ G77 และประเทศจีนต่างอ้างว่าประเทศอุตสาหกรรมควรเป็นผู้รับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจก  ต่อมาในการประชุมสมัชชาฯ ครั้งที่ 3 ณ กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 1-11 ธันวาคม 2540 การประชุมที่ประกอบด้วยผู้ร่วมประชุมกว่า 10,000 คน รวมถึงรัฐมนตรีกว่า 125 ท่าน ได้มีการตกลงยกร่างพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2540

 .
วัตถุประสงค์ของพิธีสารเกียวโต
พิธีสารเกียวโต มีหลักการสำคัญ 5 ประการ ดังนี้ 

1. พันธกรณี (Commitments) หัวใจของพิธีสารเกียวโตอยู่ที่การกำหนดพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นข้อผูกมัดทางกฎหมายสำหรับประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 และมีพันธกรณีทั่วไปร่วมกันระหว่างประเทศภาคีสมาชิกทั้งหมด

 .

2.  การดำเนินการ (Implementation) เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของพิธีสาร ประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 จะต้องจัดทำนโยบายและมาตรการในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และเสริมด้วยกลไกอื่น ๆ ได้แก่ Joint Implementation, The Clean Development Mechanism และ Emissions Trading เพื่อให้ได้มาซึ่งเครดิตที่มีต้นทุนกว่าการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ 

 .

3. การลดผลกระทบในประเทศกำลังพัฒนา (Minimizing Impacts on Developing Countries) ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Fund) 

 .

4. การจัดทำบัญชี การรายงานผล และการตรวจสอบ (Accounting, Reporting and Review) เพื่อให้การดำเนินการตามพิธีสารเกียวโต เป็นไปอย่างรัดกุม จึงได้มีการจัดทำกระบวนการติดตามตรวจสอบต่าง ๆ ขึ้น 

 .

5. การปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพิธีสาร (Compliance) ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพิธีสาร (Compliance Committee) ขึ้น เพื่อจัดการกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพิธีสาร

 .
พันธกรณีของพิธีสารเกียวโต

การกำหนดพันธกรณีที่มีข้อผูกพันทางกฎหมายเป็นหัวใจสำคัญของพิธีสารเกียวโต พิธีสารเกียวโตได้กำหนดให้ประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs)

 .

เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PCFs) และซัลเฟอร์เฮกซาฟลูโอไรด์ (SF6) ก๊าซเรือนกระจกทั้ง 6 ชนิด มีประสิทธิภาพในการแผ่รังสีความร้อน (Radiative Efficiency) ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจก ให้คำนวณเป็นปริมาณเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 .

โดยใช้ศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ของก๊าซแต่ละชนิดเป็นตัวคูณ สำหรับศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในพันธกรณีแรก จะเป็นไปตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) IPCC Second Assessment Report 1995 ดังแสดงในตาราง 

 .
ตาราง แสดงก๊าซเรือนกระจกและศักยภาพในการทำให้โลกร้อน

ที่มา: Climate Change 1995 , IPCC Second Assessment Report

 .

สำหรับก๊าซ CFC ซึ่งเป็นสารทำลายโอโซน และอยู่ภายใต้การจำกัดการใช้ของพิธีสารมอนทรีออลแล้ว จึงไม่รวมอยู่ในบัญชีก๊าซเรือนกระจกของพิธีสารเกียวโต ระดับพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจก จะต้องลดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี พ.ศ.2533 โดยเฉลี่ยร้อยละ 5 เป็นอย่างน้อย โดยแต่ละประเทศมีสัดส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน ตามที่ระบุในภาคผนวก B ของพิธีสาร ดังนี้

 .
ตาราง แสดงสัดส่วนของการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ

 .

ระยะเวลาในการประเมินผลการลดก๊าซคือปี พ.ศ. 2551–2555 หรือที่รู้จักกันว่า ช่วงพันธกรณีแรก (Fist Commitment Period) สาเหตุที่มีการขยายเวลาของพันธกรณีเป็นช่วงเวลา 5 ปี แทนที่จะเป็นปีเดียวนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบของปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น สภาพอากาศ หรือวัฏจักรเศรษฐกิจ

 .

พิธีสารเกียวโตมีผลบังคับเมื่อประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตไม่น้อยกว่า 55 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนั้นต้องมีประเทศ ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของกลุ่มประเทศที่ปล่อยในปี พ.ศ. 2533 ปัจจุบันได้มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมในพิธีสารเกียวโตรวมทั้งสิ้นกว่า 150 ประเทศ

 .

และหลังจากการให้สัตยาบันของสหพันธรัฐรัสเซีย ทำให้มีประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ I ที่ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโต มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี พ.ศ. 2533 คิดเป็นร้อยละ 61.6 ส่งผลให้พิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป พิธีสารเกียวโตไม่ได้กำหนดพันธกรณีสำหรับประเทศนอกภาคผนวกที่ I เพิ่มเติมจากกรอบของอนุสัญญาฯ

 .

ดังนั้น ถึงแม้ประเทศไทยจะได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตแล้วก็ตาม แต่ประเทศไทยก็ไม่มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด แต่การเป็นประเทศสมาชิกของพิธีสารเกียวโต ได้เปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถร่วมในกลไกยืดหยุ่นของพิธีสารเกียวโตที่ช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจก คือ กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ Clean Development Mechanism (CDM)

 .

ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อะไรจากโครงการ CDM

 .
กลไกของพิธีสารเกียวโต

การดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของพิธีสารเกียวโตในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น พิธีสารเกียวโตเน้นการดำเนินการในประเทศที่มีพันธกรณีเองเป็นหลัก อย่างไรก็ดี พิธีสารเกียวโตได้นิยามกลไกยืดหยุ่น (Flexibility Mechanisms) ไว้อีก 3 กลไก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในกลุ่ม ได้แก่

 .

1. การซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading: ET) เป็นการซื้อขายใบอนุญาตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศในกลุ่ม ได้รับ โดยใบอนุญาตนี้เรียกว่า Assigned Amount Unit (AAU) การซื้อขายก๊าซเรือนกระจกนี้ จำกัดอยู่เฉพาะประเทศในกลุ่ม เท่านั้น

 .

2. การดำเนินการร่วม (Joint Implementation: JI) เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศในกลุ่ม ด้วยกันเองเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมจากมาตรการที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้วในสภาวะธุรกิจปกติ (เนื่องจากประเทศดังกล่าวคาดว่าจะมีการปล่อยก๊าซน้อยกว่าปริมาณที่กำหนดตามพันธกรณี

 .

เช่น ประเทศที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสู่ระบบเสรีหลายประเทศ ซึ่งไม่มีความจำเป็นในการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายตามพันธกรณี) โดยผู้ดำเนินโครงการจะได้รับ Emission Reduction Unit (ERU) สำหรับก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้และผ่านการตรวจวัดแล้ว

 .

3. กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศในกลุ่ม และประเทศนอกกลุ่ม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมจากมาตรการที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้วในสภาวะธุรกิจปกติ โดยผู้ดำเนินโครงการจะได้รับ Certified Emission Reduction (CER)     

 .

สำหรับก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้และผ่านการตรวจวัดแล้วประเทศไทยให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตแล้ว แต่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 จึงไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ประเทศไทยสามารถร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จากการดำเนินโครงการภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 12 ของพิธีสารเกียวโต

 .
การดำเนินการในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รัฐบาลให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งเป็นในนามของนิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย สถานการณ์ของประเทศไทยด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ณ ปี 2541 มีปริมาณ 298 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Mt CO2) ปริมาณการปล่อยก๊าซจากภาคพลังงานของไทยเทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซที่ร้อยละ 0.6 ของโลก ดังแสดงในตาราง

 .

 .

ภายใต้พิธีสารเกียวโตนั้น ประเทศไทยสามารถร่วมดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ผ่านกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) โดยในขณะนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินโครงการ CDM ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะอนุกรรมการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานแล้วเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2548

 .

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานดังกล่าวและจะได้จัดตั้งองค์กรพิเศษที่มีประสิทธิภาพในการพิจารณาโครงการและส่งเสริมการดำเนินงานด้านนี้ ในขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ในระหว่างการหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในการจัดตั้งองค์กรดังกล่าว และจะได้นำเสนอเพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 .
โครงสร้างองค์กร CDM

 .

รอบเวลาคิดเครดิต (Crediting Period)
ผู้ดำเนินโครงการสามารถเลือกช่วงเวลาในการคิดเครดิตได้จากสองแนวทาง คือ
1. ช่วงเวลาแบบต่ออายุได้ (Renewable Crediting Period) เป็นเวลาสูงสุด 7 ปี แต่สามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง หาก Baselineของโครงการยังคงใช้ได้อยู่หรือได้มีการปรับปรุงให้เข้ากับข้อมูลใหม่ หรือ
2. ช่วงเวลาแบบตายตัว (Fixed Crediting Period) เป็นเวลาสูงสุด 10 ปี และไม่สามารถต่ออายุได้

 .

ที่มา: IGES, CDM and JI in CHARTS Ver. 5.0, January 2006

 .

สำหรับการต่ออายุโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดระยะที่ 2 และระยะที่ 3 จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่ากรณีฐานที่ใช้ในการคำนวณปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังใช้ได้หรือไม่ โดยมีประเด็นต่าง ๆ ที่จะต้องพิจารณา เช่น โครงการจะยังคงส่งผลให้ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงหรือไม่ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และหากมีการเปลี่ยนแปลงจะมีผลกับการกำหนดกรณีฐานอย่างไร   

 .

ซึ่งวิธีการในการคำนวณปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกกรณีฐานของช่วงเวลาในการคิดเครดิตระยะที่ 2/ระยะที่ 3 ควรจะเป็นวิธีเดียวกับการประเมินปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะแรก ซึ่งหน่วยงานที่จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการประเมินเหล่านี้ คือ DOE  ช่วงเวลาในการคิดเครดิตของโครงการประเภทป่าไม้ จะแตกต่างกับโครงการ CDM ทั่วไป โดยผู้ดำเนินโครงการสามารถเลือกช่วงเวลาในการคิดเครดิตจากสองทางเลือก คือ

 .

* ช่วงเวลาแบบต่ออายุได้ (Renewable Crediting Period) เป็นเวลาสูงสุด 20 ปี แต่สามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง หาก Baseline ของโครงการยังคงใช้ได้อยู่หรือได้มีการปรับปรุงให้เข้ากับข้อมูลใหม่ หรือ
* ช่วงเวลาแบบตายตัว (Fixed Crediting Period) เป็นเวลาสูงสุด 30 ปี และไม่สามารถต่ออายุได้
* เครดิตที่ได้รับจากการดำเนินโครงการด้านป่าไม้ จะแตกต่างจากโครงการ CDM ทั่วไป โดยจะสามารถเลือกรับได้หนึ่งในสองแนวทาง คือ
* tCERs (Temporary CER) จะคิดปริมาณคาร์บอนเครดิตไปจนถึงสิ้นสุดพันธกรณีในแต่ละช่วง (the end of the Commitment Period)
* lCERs (Long-term CER) จะคิดปริมาณคาร์บอนเครดิตไปจนถึงเวลาที่สิ้นสุดช่วงเวลาในการคิดเครดิต (the end of the Crediting Period) 

 .

โดยประเด็นในส่วนของไทยนั้น มีนโยบายที่จะดำเนินการโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ในแต่ละด้านดังนี้

 .

1. ด้านพลังงาน
การผลิตพลังงาน
- โครงการพลังงานทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ชีวมวล เชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอลและไบโอดีเซล) และก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม
- โครงการแปลงกากของเสียอุตสาหกรรมเป็นพลังงาน
- โครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำขนาดเล็ก

 .

การปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน
- โครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้และหม้อต้มไอน้ำ
- โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบทำความเย็น
- โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในอาคาร
- โครงการเปลี่ยนแปลงชนิดเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน    

 .

 .

2. ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการแปลงขยะชุมชนเป็นพลังงาน, โครงการแปลงน้ำเสียชุมชนเป็นพลังงาน
3. หลักการโดยทั่วไปของโครงการ CDM ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการคมนาคมขนส่ง
4. ด้านอุตสาหกรรม โครงการอื่น ๆ ที่สามารถลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

 .

จากภาพรวมของโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) พบว่า โครงการ CDM มีประโยชน์และมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยได้รับทั้งทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม และยังสิ่งผลต่อภาพรวมของโลกในการลดภาวะโลกร้อนด้วย

 .

การที่โครงการจะสำเร็จได้ภาครัฐจะต้องเป็นแกนนำที่สำคัญในการดำเนินการและก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการอย่างต่อเนื่อง และอีกทั้งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย จึงจะสามารถดำเนินการโครงการได้ประสบผลสำเร็จ

 .

ข้อมูลอ้างอิง

* http://www.nedo.go.jp/informations/other/180510_1/180510_htm
* รายงาน APERC, APEC Energy Overview, POLICY OVERVIEW (Thailand)
* รายงานสถานการณ์พลังงานในประเทศไทยโดยรวม,Yoshimi Matsubara JICA Senior Volunteer, ธันวาคม 2550
* พลังงานชีวมวล (Biomass) แหล่งพลังงานทางเลือกใหม่สำหรับคนไทย, บูรณะศักดิ์ มาดหมาย, วารสาร Industrial Technology Review
*
http://www.onep.go.th

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด