เนื้อหาวันที่ : 2010-12-10 11:53:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4157 views

การสร้างผลิตภาพด้วยการบริหารแบบมีส่วนร่วม

ปัจจุบันองค์กรทั้งภาคการผลิตและบริการประสบปัญหาอันหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อผลิตภาพการดำเนินงานซึ่งปัญหาต่าง ๆ มักเกิดจากสาเหตุหลัก ดังเช่น ขาดระบบการวางแผน ฝ่ายบริหารไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม ขาดประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กร ขาดการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ได้เชื่อมโยงทุกระดับขององค์กร

โกศล ดีศีลธรรม
koishi2001@yahoo.com

.

.

ปัจจุบันองค์กรทั้งภาคการผลิตและบริการประสบปัญหาอันหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อผลิตภาพการดำเนินงานซึ่งปัญหาต่าง ๆ มักเกิดจากสาเหตุหลัก ดังเช่น ขาดระบบการวางแผน ฝ่ายบริหารไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม ขาดประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กร ขาดการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน เป็นต้น

.

ปัญหาเหล่านี้ได้เชื่อมโยงทุกระดับขององค์กร ดังนั้นเพื่อสร้างประสิทธิผลการบริหารองค์กรจึงได้มีแนวคิดการกำหนดเป้าหมายร่วมกันระหว่างหัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างกันเพื่อใช้เป็นแนวทางประเมินผล สำหรับการดำเนินการกำหนดเป้าหมายร่วมกันประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้

.

รูปที่ 1 ปัญหาการบริหารองค์กร

.

* การกำหนดเป้าหมายทุกระดับขององค์กร โดยเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงกำหนดนโยบายและเป้าหมายหลักขององค์กร เช่น ผลประกอบการโดยรวมของธุรกิจ หลังจากนั้นจะต้องถ่ายทอดนโยบายตามลำดับชั้นให้กับผู้บริหารทุกฝ่ายทั่วทั้งองค์กรเพื่อให้แต่ละฝ่ายงานได้ร่วมกำหนดแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายระดับองค์กร

.

* การร่วมกำหนดเป้าหมายระหว่างหัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยมีผู้จัดการหรือหัวหน้างานในแต่ละส่วนกำหนดเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้ร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาและการจัดสรรทรัพยากรหรือกำหนดงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานบรรลุผล ซึ่งพนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานการประเมินผล

.

โดยผลลัพธ์จากการร่วมกำหนดเป้าหมายคือการร่างข้อตกลงในเอกสาร (Document Work Objectives) สำหรับผู้ใต้บังคับบัญชาโดยระบุรายละเอียด เช่น กรอบเวลาดำเนินงาน เกณฑ์การวัดผล (ดัชนีชี้วัดการปฏิบัติงาน) ซึ่งจะมีการยอมรับในข้อตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย

.

รูปที่ 2 การเชื่อมโยงข้อมูลอย่างทั่วถึง

.

* การติดตามทบทวนผลการดำเนินงานตามรอบเวลา โดยกำหนดวันและเวลาการประชุมเพื่อประเมินผลความคืบหน้าของงานซึ่งมีหัวหน้างานและผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าร่วม โดยนำข้อมูลผลลัพธ์จากการประเมินเชื่อมโยงกับระบบการให้รางวัล (Reward System) เช่น การขึ้นเงินเดือน โบนัส หรือการเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น เพื่อเป็นการจูงใจให้พนักงานทั้งในระดับหัวหน้างานและผู้ปฏิบัติการ 

.

สำหรับแนวทางกำหนดเป้าหมายประกอบด้วย
* แนวทางดำเนินการไม่มีรูปแบบตายตัวแต่ขึ้นอยู่กับลักษณะและความเหมาะสมแต่ละองค์กร
* เป้าหมายที่กำหนดไว้ต้องสามารถวัดผลและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติซึ่งมีการแสดงในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของแต่ละคนตามบทบาทหน้าที่ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลง
* ควรมีการทบทวนเป้าหมายร่วมกันระหว่างหัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชา
* หัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชาควรมีการพบปะอย่างต่อเนื่องเพื่อทบทวนความคืบหน้าและทำการแก้ไขหรือปรับปรุงเป้าหมายตามความจำเป็น
* ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนควรมีการจัดเตรียมรายงานผลการดำเนินงานเพื่อแสดงความคืบหน้าการดำเนินงานเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
* ใช้ผลลัพธ์จากการประเมินผลเป็นข้อมูลสำหรับกำหนดนโยบายและเป้าหมายในรอบหน้าโดยจะต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกัน

.

นอกจากนี้การบริหารแบบมีส่วนร่วมยังถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) ทั่วทั้งองค์กรซึ่งแต่ละฝ่ายงานจะกำหนดเป้าหมายและระบุแผนที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายองค์กรตามวงจรเดมมิง (PDCA) ดังนี้

.

* Plan: โดยผู้บริหารระดับสูงกำหนดเป้าหมายและถ่ายทอดไปในตามลำดับชั้นหรือฝ่ายงาน ซึ่งแต่ละฝ่ายงานจะกำหนดรายละเอียดแนวทางดำเนินงานและทรัพยากรที่จำเป็น รวมทั้งตัวชี้วัดสำหรับใช้ติดตามประเมินผลความคืบหน้า
* Do: ดำเนินการตามแผนที่ระบุไว้
* Check: ทบทวนการดำเนินงานเพื่อทำการปรับเป้าหมายให้เหมาะสม
* Act: ดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากการประเมินผลเพื่อเป็นข้อมูลฐานสำหรับกำหนดเป้าหมายใหม่ในรอบหน้า ซึ่งการหมุนรอบซ้ำของวงจร PDCA นั่นคือความพยายามปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

.

.

แต่ในทางปฏิบัติองค์กรจะทำอย่างไรให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งที่จริงแล้วการสนับสนุนองค์กรให้ดำเนินตามแผนธุรกิจจะต้องทำการเรียนรู้การวางแผนอย่างมีประสิทธิผลที่มุ่ง 3 ปัจจัยหลัก คือกระบวนการ การวัดผลและความรับผิดชอบ ปัจจัยหลักทั้งสามที่สนับสนุนการดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิผลประกอบด้วยรายละเอียดขั้นตอน ดังนี้

.

รูปที่ 3 กระบวนการเชื่อมโยงกลยุทธ์

.

1.  การศึกษากระบวนการหลัก สำหรับการรักษาความได้เปรียบการแข่งขันธุรกิจอย่างยั่งยืนองค์กรจะต้องสามารถบรรลุการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Operational Excellence) โดยทั่วไปมักเลือกปรับปรุงแนวทางดำเนินงานที่ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการลดรอบเวลาทำงานหรือต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ถ้าไม่ศึกษาวิเคราะห์กระบวนการหลักของธุรกิจก็อาจทำให้เกิดความสูญเปล่าทางทรัพยากร

.

ดังนั้นการวางแผนกลยุทธ์อย่างมีประสิทธิผลจึงมุ่งปรับปรุงกระบวนการหลักของธุรกิจ (Core Competency) และประเมินผลได้เสียการจัดสรรทรัพยากรเพื่อปรับปรุงผลิตภาพการดำเนินงานซึ่งมีการประเมินวัดผลสำเร็จด้วยการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติการด้วยรูปแบบข้ามสายงานที่มุ่งส่งมอบคุณค่า (Value Delivery) ซึ่งมีการประสานการทำงานจากบุคลากรจากฝ่ายงานต่าง ๆ สำหรับองค์กรธุรกิจทั่วไปจะประกอบด้วย 3-6 กระบวนการหลักและธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันจะมีกระบวนการหลักใกล้เคียงกัน     

.

ดังนั้นความสามารถกระบวนการ (Process Capability)และความสามารถหลักของธุรกิจจึงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลตัดสินการแพ้-ชนะในสนามการแข่งขัน ดังนั้นการเรียนรู้เพื่อนิยามและมองภาพกระบวนการอย่างชัดเจนจึงเป็นก้าวแรกที่สร้างความรับรู้เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินกลยุทธ์ที่สามารถลำดับความสำคัญในกิจกรรมและสร้างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินกิจกรรมปรับปรุงผลิตภาพในขอบเขตกลยุทธ์หลัก

.

หลายกรณีที่ผลลัพธ์การปรับปรุงการดำเนินงานได้ส่งผลให้เกิดการเพิ่มความสามารถในกระบวนการหลักแต่อาจเกี่ยวข้องต่อการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการสนับสนุน ได้แก่ รายงานทางการเงิน การฝึกอบรมและงานธุรการ     

.

ซึ่งกระบวนการสนับสนุนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับลูกค้าภายนอกแต่จะมีส่วนให้ข้อมูลสำคัญรวมทั้งทรัพยากรสนับสนุนกระบวนการหลักที่ควรถูกประเมินอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสอบว่ากระบวนการมีประสิทธิผลที่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้า ดังนั้นความได้เปรียบการแข่งขันที่แท้จริงจะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อองค์กรสามารถรักษาความเป็นเลิศในกระบวนการหลัก

.

2. การจัดทำมาตรวัดอย่างเหมาะสม ตามที่ W.Edward Deming เคยกล่าวว่า "การประเมินวัดผลกระบวนการไม่เพียงแค่มีความเป็นไปได้แต่มันมีความจำเป็น" ซึ่งคำกล่าวนี้เป็นจริง เนื่องจากการวัดผลจะให้สารสนเทศที่มีความหมายต่อการแสดงสมรรถนะกระบวนการที่เป็นเสมือนเครื่องมือสำหรับเทียบเคียงความสามารถกระบวนการหลักกับระดับสมรรถนะที่ระบุไว้ในแผนกลยุทธ์ซึ่งแสดงถึงช่องว่างความแตกต่าง (Gap)

.

โดยองค์ประกอบที่ควรถูกพิจารณาเมื่อได้กำหนดสมรรถนะเป้าหมายดังกล่าวนี้ คือ เป้าหมายกลยุทธ์ (Strategic Goal) เพื่อใช้ประเมินสมรรถนะโดยรวมของกระบวนการอย่างมีประสิทธิผล แต่โดยทั่วไปองค์กรจะใช้เครื่องมืออย่าง Balance Scorecard

.

ซึ่งประกอบด้วย Financial และ Non-financial เพื่อวัดผลประกอบการทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วยรูปแบบรายงานที่จะลดความเอนเอียงของผู้บริหารที่มักใช้ข้อมูลผลประกอบการทางการเงินตัดสินใจระยะสั้น ดังเช่น ผลประกอบรายไตรมาส โดยข้อมูลทาง Non-financial และตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานเป็นมาตรวัดแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เช่น การเพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้าอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงยอดขายและรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งกระบวนการจัดทำมาตรวัดประกอบด้วย

.

รูปที่ 4 แนวคิดการวัดประสิทธิผล

.

* การระบุวัตถุประสงค์แต่ละมุมมองว่าจะวัดผลด้วยอะไร
* กำหนดตัวชี้วัดผลแต่ละวัตถุประสงค์หรือ KPIs โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้
- มีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์และกลยุทธ์องค์กร ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดทาง Financial และ Non-financial
- ตัวชี้วัดสามารถควบคุมและตรวจสอบผลการดำเนินงานแต่ละบุคคลหรือหน่วยงานได้อย่างชัดเจน
- ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เครื่องมือควบคุมหรือวัดผลท่านั้นแต่สามารถตรวจติดตามความเปลี่ยนแปลงตามรอบเวลาได้ดีและสามารถสื่อสารให้เป็นที่เข้าใจกับทุกคน

.

* จัดทำตัวชี้วัดให้แสดงในรูปเชิงปริมาณหรือตัวเลข
* ตรวจสอบดูว่าตัวชี้วัดแต่ละตัวมีความเชื่อมโยงกันอย่างไรและเลือกตัวชี้วัดที่เหมาะสม
* ดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานด้วยตัวชี้วัดและเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงกับเกณฑ์หรือตัวชี้วัดที่ระบุไว้ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่

.

.

.

สำหรับการจัดทำเป้าหมายผลลัพธ์โดยทีมงานสามารถเริ่มด้วยการพัฒนาความสามารถกระบวนการหลักที่จำเป็นสำหรับระบุเป้าหมายใหม่ ซึ่งเป้าหมายกระบวนการควรมีความสอดคล้องและมีความน่าเชื่อถือได้ด้วยการระบุประเมินวัดผลความสามารถกระบวนการซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อกลยุทธ์และหลีกเลี่ยงความสูญเปล่าทางทรัพยากรในกิจกรรมไคเซ็น ดังกรณีธุรกิจเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรหนักแห่งหนึ่งได้มุ่งเป้าหมายการเพิ่มรายได้สุทธิ

.

โดยทีมงานได้ประเมินองค์ประกอบกลยุทธ์หลักคือการขยายส่วนแบ่งตลาดและผลิตภาพที่สามารถพัฒนาด้วยการลดรอบเวลาตั้งแต่การเริ่มรับคำสั่งจากลูกค้าจนถึงการส่งมอบอุปกรณ์ด้วยระยะเวลาน้อยกว่า 60 วัน ดังนั้นการบรรลุเป้าหมายในสมรรถนะกระบวนการจึงขึ้นกับปัจจัยความเร็ว โดยเฉพาะกระบวนการอนุมัติสัญญาที่เป็นหนึ่งในความสามารถกระบวนการซึ่งทีมงานติดตามวัดผลเพื่อดำเนินการปรับปรุงผลิตภาพการทำงาน

.

ดังนั้นจะมีแนวทางใดที่จะประเมินรอบเวลากระบวนการอนุมัติสัญญาที่เป็นปัจจัยความสำเร็จทางกลยุทธ์ ซึ่งแนวทางหนึ่งสำหรับประเมินหรือกำหนดความเร็วคือการใช้ข้อมูลเก่าและติดตามผลการดำเนินงานก็จะทำให้ทีมงานสามารถประเมินรอบเวลารวมในกระบวนการส่งมอบเครื่องจักรและรอบเวลาการอนุมัติสัญญาเช่าซื้อ

.

รูปที่ 5 ตัวอย่างปัจจัยกลยุทธ์ (การขยายส่วนแบ่งตลาด)

.

ส่วนแนวทางปัจจุบันในการอนุมัติสัญญามีผลอย่างมากต่อระยะเวลาการส่งมอบเครื่องจักร ดังนั้นการอนุมัติสัญญาจึงเป็นตัวขับสำคัญเนื่องจากความได้เปรียบในการแข่งขันสามารถบรรลุได้หากสามารถส่งมอบอุปกรณ์ได้เร็วกว่าคู่แข่งและปัจจัยผลิตภาพที่ทางทีมงานพบว่าเกิดกิจกรรมที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มในกระบวนการอนุมัติ

.

ดังนั้นความเร็วในกระบวนการอนุมัติสัญญาจึงเป็นความสามารถกระบวนการที่เป็นขอบเขตเป้าหมายในการปรับปรุงผลิตภาพ โดยที่การวัดผลิตภาพกระบวนการจะแสดงถึงตัวชี้วัดนำ (Leading Indicator) แต่โดยทั่วไปหลายองค์กรได้มุ่งใช้ตัวชี้วัดทางการเงินเมื่อมีการจัดทำแผนกลยุทธ์เช่น การเพิ่มขึ้นของยอดขาย 20%

.

จากรูปที่ 6 จุดควบคุม (Control Point) แต่ละระดับกลยุทธ์แสดงถึงเป้าหมายหลักและขอบเขตการปรับปรุงผลิตภาพหรือเรียกว่าจุดตรวจสอบ (Check Point) โดยแต่ละระดับควรเลือกเป้าหมายที่ชัดเจนเพียงบางหัวข้อเพื่อดำเนินกิจกรรมไคเซ็น ซึ่งองค์กรสามารถวัดประสิทธิผลแผนปฏิบัติการด้วยการประเมินเป้าหมายสมรรถนะกระบวนการที่บรรลุได้ด้วยการใช้ตัวชี้วัดนำซึ่งแสดงด้วยความสัมพันธ์แบบเหตุและผล (Cause & Effect)

.

รูปที่ 6 การควบคุมเพื่อติดตามตรวจสอบ

.

3. กำหนดความรับผิดชอบสำหรับความเปลี่ยนแปลง สำหรับการเชื่อมโยงปัจจัยกลยุทธ์สู่กระบวนการหลักด้วยเป้าหมายกระบวนการและความสามารถที่สนับสนุนธุรกิจในการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติการซึ่งมีความสำคัญมากต่อผู้บริหารโดยเฉพาะการสื่อสารกลยุทธ์ให้ทุกคนได้เข้าใจถึงเป้าหมายกลยุทธ์และทราบบทบาทความรับผิดชอบในการดำเนินงาน

.

รวมทั้งการมองผลกระทบต่อผลลัพธ์ระดับถัดไป ซึ่งเป้าหมายสูงสุดช่วงนี้คือทุกคนร่วมรับผิดชอบต่อผลิตภาพกระบวนการและมุ่งปรับปรุงกระบวนการหลัก   ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องในการวัดผลและจัดเก็บข้อมูลกระบวนการจึงมีบทบาทผลักดันให้ทุกคนมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อภารกิจ

.

.

สำหรับแนวทางอื่นที่ผู้บริหารสามารถผลักดันให้เกิดความมีส่วนร่วมรับผิดชอบและสร้างความเชื่อมั่นในประสิทธิผลการดำเนินงาน ซึ่งแนวทางหนึ่งคือการบริหารกระบวนการ (Process Management) อย่างมีประสิทธิผลที่เชื่อมโยงกับผลตอบแทนและการให้ผลตอบแทนด้วยเงินรางวัล

.

รวมทั้งไม่ใช่เงินรางวัล (Non-financial Reward) เช่น คำชมเชย การประกาศเกียรติคุณ ซึ่งควรมีการประเมินผลการทำงานแต่ละคนในทุกระดับว่าเกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายอย่างไรหรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกลยุทธ์

.

.

ปัจจุบันองค์กรชั้นนำหลายแห่งได้จัดเตรียมเครื่องมือทางสถิติและแนวคิดบริหารคุณภาพอย่าง TQM เพื่อสนับสนุนการบริหารกระบวนการอย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการฝึกอบรมให้กับบุคลากรเพื่อพัฒนาทักษะติดตามวัดผลและวิเคราะห์ความสามารถกระบวนการแต่สิ่งสำคัญที่พึงระลึกเสมอว่าการนิยามและระบุกลยุทธ์ธุรกิจเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของผู้จัดการอาวุโส

.

ส่วนความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์จะต้องฝึกอบรมและมอบหมายให้ผู้เหมาะสม แม้ว่าองค์กรจะมุ่งมั่นในการดำเนินกลยุทธ์แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าทุกกลยุทธ์จะประสบความสำเร็จดังที่คาดไว้ แต่การมุ่งมั่นรับผิดชอบและติดตามวัดผลจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพการดำเนินงานอย่างเป็นระบบซึ่งเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด