เนื้อหาวันที่ : 2010-12-07 18:31:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 21280 views

ระบบควบคุมการระบายน้ำสำหรับหม้อต้มไอน้ำ (Boiler)

เพื่อลดปริมาณของสารแขวนลอย และตะกอนของแข็งในหม้อต้มไอน้ำ จะต้องมีการปล่อยน้ำออกจากหม้อต้มเป็นช่วง ๆ เรียกว่าการ “Blowdown” ทั้งนี้เพราะการสะสมอย่างหนาแน่นของตะกอนของแข็งจะทำให้กระบวนการผลิตไอน้ำเกิดการขาดช่วง และยังก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบท่อส่งไอน้ำ วาล์ว และอุปกรณ์อื่น ๆ ในระบบได้

สุภัทรชัย สิงห์บาง
engineer2000@engineer.com

.

.

เพื่อลดปริมาณของสารแขวนลอย และตะกอนของแข็งในหม้อต้มไอน้ำ จะต้องมีการปล่อยน้ำออกจากหม้อต้มเป็นช่วง ๆ เรียกว่าการ “Blowdown” ทั้งนี้เพราะการสะสมอย่างหนาแน่นของตะกอนของแข็งจะทำให้กระบวนการผลิตไอน้ำเกิดการขาดช่วง และยังก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบท่อส่งไอน้ำ วาล์ว และอุปกรณ์อื่น ๆ ในระบบได้ 

.

การปล่อยน้ำออกจากหม้อต้มที่ระดับผิวน้ำ “Surface Blowdown” จะสามารถขจัดตะกอนที่ลอยอยู่ระดับผิวน้ำได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสะสม จึงอาจต้องทำการปล่อยน้ำออกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สารแขวนลอย หรือตะกอนที่จับตัวกันอยู่ในรูปของสลัดจ์ (Sludge) จะต้องทำการขจัดออกเช่นเดียวกัน

.

แต่เนื่องจากสลัดจ์จับตัวอยู่ที่ระดับผิวล่าง หรือก้นถัง การขจัดออกจึงต้องระบายออกทางด้านล่างถัง เรียกว่า “Bottom Blowdown” การทำ Surface Blowdown เป็นกระบวนการที่ต้องควบคุมปริมาณของน้ำในหม้อต้ม และควบคุมปริมาณการระบายน้ำที่มีตะกอนปนอยู่ออกลงสู่ท่อระบายน้ำ พร้อม ๆ กันกับการเติมน้ำและสารเคมีกลับเข้าไปในหม้อต้มเพื่อให้ระดับน้ำมีความสมดุล

 .

แต่เนื่องจากน้ำที่ปล่อยออกนั้นมีอุณหภูมิเท่ากับระดับที่ทำให้เกิดไอน้ำความดันสูง ซึ่งมีค่าประมาณ 366?F ที่ค่าความดัน 150 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (Psig) จึงทำเกิดการสูญเสียความร้อนในหม้อต้ม ซึ่งจะต้องใช้ตัวแลกเปลี่ยนความร้อน หรือ Flash Tank เชื่อมต่อกับระบบป้อนกลับความร้อนเพื่อชดเชยอุณหภูมิในหม้อต้ม

.
การลดปริมาณการระบายน้ำ (Blowdown)

การระบายน้ำออกจากหม้อน้ำ โดยปกติจะคำนวณค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ด้วยการนำเอาปริมาณน้ำที่ระบายออก หารด้วยปริมาณน้ำที่เติม แล้วคูณด้วย 100% ก็จะได้เป็นค่าเปอร์เซ็นต์ของการระบายน้ำ (% Blowdown)

.

การลดปริมาณการระบายน้ำเท่ากับเป็นการลดพลังงานที่สูญเสียไป เนื่องจากน้ำที่ระบายออกนั้นมีอุณหภูมิสูงเท่ากับไอน้ำที่หม้อต้มผลิตขึ้น เมื่อระบายน้ำออกน้อยลง จึงช่วยลดต้นทุนของน้ำที่จะต้องเติมเข้าหม้อน้ำ และสารเคมีที่ใช้สำหรับปรับสภาพน้ำใหม่ด้วย  

.

การระบายน้ำออกจากหม้อต้มน้อยไปจะส่งผลให้เกิดการสะสมของตะกอน และสารแขวนลอย ทำให้เกิดผลต่อการผลิตไอน้ำได้ไม่เพียงพอเนื่องจากมีน้ำปะปนไปกับไอน้ำ ซึ่งเรียกว่า Carry Over ในขณะที่การระบายน้ำออกมากไปส่งผลให้เกิดการสูญเสียความร้อน และเกิดความสิ้นเปลือง เพราะต้องทำการเติมน้ำกลับเข้าไปชดเชย และต้องทำการปรับสภาพน้ำใหม่ด้วยสารเคมีอยู่ตลอดเวลา

.

อย่างไรก็ตามเราสามารถคำนวณระดับการระบายน้ำที่เหมาะสมได้ โดยอาศัยตัวแปรต่าง ๆ คือ ชนิดของ Boiler, ความดันในหม้อต้มขณะใช้งาน, อัตราการปรับสภาพน้ำ และคุณภาพของน้ำที่เติมกลับเข้าไป ทั้งนี้อัตราที่คำนวณได้จะอยู่ที่ระดับ 4% ถึง 8% ของอัตราการเติมน้ำเข้า Boiler หรืออาจเพิ่มขึ้นเป็น 10% หากน้ำที่เติมมีของแข็งเจือปนสูง

.

ตัวอย่าง Boiler ตัวหนึ่งผลิตไอน้ำได้ 100,000 ปอนด์ต่อชั่วโมง ความดัน 150 psig ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติ ใช้น้ำเติมอุณหภูมิ 60 ๐F และกำหนดให้หม้อต้มไอน้ำนี้มีประสิทธิภาพที่ระดับ 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อได้ทำการติดตั้งระบบควบคุมการ Blowdown อัตโนมัติ เพื่อลดอัตราการ Blowdown จาก 8% ลงเหลือ 6% โดยกำหนดให้มีต้นทุนเชื้อเพลิงอยู่ที่ 8.00 $/MMBtu รวมทั้งต้นทุนอื่น ๆ เช่น น้ำที่ใช้เติม และสารเคมี อยู่ที่ 0.004$/Gallon จะสามารถคำนวณการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดังนี้

.
Boiler Feeder เริ่มต้นที่ 8% = 100,000/(1-0.08) = 108,695 ปอนด์ต่อชั่วโมง
สิ้นสุดที่ 6 % = 100,000/(1-0.06) = 106,383 ปอนด์ต่อชั่วโมง
.

ตัวเลขดังกล่าวหมายถึงสามารถประหยัดน้ำได้เท่ากับ 108,695-106,383 = 2,312 ปอนด์ต่อชั่วโมง
Enthalpy of Boiler Water = 338.5 บีทียู/ปอนด์; เมื่อน้ำเติมที่มีอุณหภูมิ 60 ๐F จะใช้ความร้อนเท่ากับ = 28 บีทียู/ปอนด์ ดังนั้นจะสามารถประหยัดพลังงานความร้อนไปได้เท่ากับ 338.5-28 = 310.5 บีทียู/ปอนด์

.

คำนวณเป็นการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ต่อปีได้เท่ากับ
(2,312 Ib/hr) x (8,760 hr/year) x (310.5 Btu/lb) x (8.00 $/MMBTU)/(0.80x10^6 Btu/MMBTU) = $62,886  

คำนวณการประหยัดน้ำและสารเคมี ต่อปีได้เท่ากับ 
(2,312 Ib/hr) x (8,760 hr/year) x (0.004 $/gal)/(8.34Lb/gal) = $9,714
ประหยัดต้นทุนทั้งสิ้น ต่อปีได้เท่ากับ $62,886 + $9,714 = $72,600

.

จะเห็นได้ว่าตัวเลขของการประหยัดต้นทุนที่นั้นมีค่าสูง ทำให้การควบคุมการระบายน้ำเป็นเรื่องสำคัญกับการใช้งานหม้อต้มไอน้ำเป็นอย่างยิ่ง โดยการควบคุมการระบายน้ำแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ การระบายน้ำแบบ Manual และการระบายน้ำแบบ Automation

.
การควบคุมการระบายน้ำ

การระบายน้ำออกจากหม้อต้มไอน้ำ ด้วยการควบคุมพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของน้ำในหม้อต้มให้อยู่ในระดับที่กำหนดเอาไว้ จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาต่อการผลิตไอน้ำ โดยระดับของการระบายน้ำที่เหมาะสมนั้น สามารถคำนวณด้วยสมการอย่างง่ายคือ 

                      % Blowdown = (ปริมาณของน้ำที่ระบายออก/ปริมาณของน้ำที่เติมให้หม้อต้ม) x 100
.

ค่าที่ได้จะอยู่ในช่วง 1% ถึง 20% ขึ้นอยู่กับว่าน้ำที่ป้อนเติมให้กับหม้อน้ำมีคุณภาพดีเท่าใด หากมีสิ่งเจือปนมาก โดยเฉพาะของแข็งประเภทโลหะ ก็จะต้องระบายน้ำออกมาก ยกตัวอย่างหม้อต้มที่มีการเติมสารโซเดียมซีโอไลต์ (Sodium-Zeolite) ในน้ำจะสามารถปรับระดับการระบายน้ำได้ด้วยการทดสอบคลอไรด์ในน้ำ   

.

สำหรับหม้อต้มไอน้ำความดันสูง ๆ จะต้องมีการเติมสารละลาย ประเภท Inert-Material ลงในน้ำเพื่อหาระดับของการระบายน้ำที่เหมาะสม ทั้งนี้มีสูตรการคำนวณการระบายน้ำที่เหมาะสมสำหรับหม้อต้มด้วยการทดสอบสารคลอไรด์ในหม้อต้ม ดังนี้

.
% Blowdown = 100Y/X
โดย   X = ปริมาณของน้ำที่เติมเข้าหม้อน้ำ
           Y = ปริมาณของน้ำที่ระบายออก
           a = ความเข้มข้นของคลอไรด์ในน้ำที่เติมเข้าหม้อต้ม
           b = ความเข้มข้นของคลอไรด์ในหม้อต้ม
.

และเนื่องจากคลอไรด์เติมเข้าไปในหม้อต้ม จะต้องเท่ากับคลอไรด์ที่ระบายออกจากหม้อต้ม เพื่อรักษาสมดุล ดังนั้น
               xa = xb
เมื่อคูณ 2 ข้างสมการด้วย 100/xb จะได้ว่า (100a/b) = (100y/x)
เนื่องจาก 100y/x = %Blowdown ตามสมการข้างต้น
ดังนั้น %Blowdown = 100a/b
              หรือเท่ากับ (ปริมาณคลอไรด์ในน้ำที่เติมเข้าหม้อต้ม/ปริมาณคลอไรด์ในหม้อต้ม) x 100

.
ตัวแปรที่ส่งผลต่อการระบายน้ำ

นอกจากที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว อัตราการระบายน้ำออกจากหม้อต้มยังขึ้นอยู่กับการออกแบบหม้อต้ม, สภาวะการทำงานของหม้อต้มไอน้ำ และระดับความเข้มข้นของน้ำที่เติมใส่ในหม้อต้ม ในหลายๆ ระบบ อัตราการระบายน้ำจะถูกกำหนดตามระดับของสารเจือปนในน้ำ ยกตัวอย่างเช่นระดับของอัลคาไลน์ (Alkaline) หรือซิลิก้า (Silica) เป็นต้น

.

อย่างไรก็ตามหลายปีที่ผ่านมานี้ระดับของการระบายน้ำของหม้อต้มไอน้ำถูกกำหนดโดยระดับการเจือปนของสารต่าง ๆ ในหม้อน้ำ ซึ่งกำหนดตามมาตรฐานของสมาคมผู้ผลิตหม้อต้มไอน้ำสหรัฐ ฯ (American Boiler Manufacturer's Association: ABMA) นอกจากนี้แล้วการควบคุมการระบายน้ำในระบบหม้อน้ำเฉพาะอย่าง อาจใช้หลักการควบคุมตามประสบการณ์ทำงานของผู้ควบคุม, ควบคุมตามอุปกรณ์ตรวจสอบระบบ หรืออาศัยการตรวจสอบคุณลักษณะของไอน้ำที่ผลิตขึ้นได้ว่ามีการเจือปนมากน้อยเท่าใด ดังแสดงในรูปที่ 2

.

รูปที่ 1 แสดงผลกระทบของ Antifoam กับปริมาณของแข็งในไอน้ำ

.
การระบายน้ำแบบ Manual 

การระบายน้ำแบบ Manual เป็นวิธีการแบบง่าย และธรรมดาที่สุด โดยจะใช้วาล์วระบายน้ำด้วยมือหมุน เพื่อระบายเอาสารแขวนลอย และของแข็งที่ปะปนอยู่ในน้ำออกไปพร้อมกับน้ำ การระบายน้ำแบบ Manual มีข้อดีตรงที่สามารถทำได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องทำการติดตั้งเซนเซอร์ ทำให้การลงทุนต่ำ แต่มีข้อเสียที่ต้องอาศัยคนทำการเปิด/ปิดวาล์ว และไม่สามารถแก้ปัญหาของความร้อนสูญเสียได้ ทำให้ลดประสิทธิภาพของหม้อต้มไอน้ำลง  

.

โดยปกติของระบบหม้อต้มไอน้ำทั่วไปจะมีการติดตั้งระบบการระบายน้ำแบบ Manual ร่วมกันกับระบบการระบายแบบต่อเนื่อง (Continuous Blowdown) ทั้งนี้ในทางปฏิบัติจะมีการเปิดวาล์วระบายน้ำมือหมุนเป็นช่วง ๆ ตามตารางการทำงาน การติดตั้งระบบแบบนี้จำเป็นต้องมีการทดสอบหม้อต้มเพื่อปรับเปลี่ยนตารางการควบคุมตอบสนองต่อการเปลี่ยนของหม้อต้ม และระบบการจ่ายไอน้ำ

.

รูปที่ 2 ลักษณะของการระบายน้ำแบบ Manual

 .

ระบบการระบายน้ำแบบ Semi-Automation ถ้ามีการเพิ่มอุปกรณ์ตรวจสอบสารแขวนลอยในน้ำ เข้าไปในระบบดังแสดงในรูปที่ 3 จะกลายเป็นระบบการระบายน้ำแบบ Automatic ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงกว่า เนื่องจากระบบสามารถตรวจสอบปริมาณของสารแขวนลอยเพื่อปรับวาล์วระบายน้ำได้อย่างเหมาะสม

 .

รูปที่ 3 ระบบการระบายน้ำแบบ Automatic

 .

การลดความเข้มข้นของสารแขวนลอยในหม้อไอน้ำ สามารถลดลงได้โดยวิธีการระบายน้ำแบบต่อเนื่อง (Continuous Blowdown) ซึ่งจะค่อย ๆ ลดปริมาณสารแขวนลอยอย่างต่อเนื่อง หรือการระบายน้ำแบบ Bottom Blowdown ซึ่งจะสามารถลดปริมาณสารแขวนลอยในน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถตรวจสอบความเข้มข้นสูงสุดของสารแขวนลอย ที่เหมาะสมของน้ำในหม้อไอน้ำได้จากผลการวิจัยของ American Boiler Manufacturers Association (ABMA) ดังข้อมูลที่แสดงในตารางที่ 1

 .

ตารางที่ 1 แสดงความเข้มข้นสูงสุดของสารแขวนลอยที่เหมาะสมของน้ำในหม้อไอน้ำจากผลการวิจัยของ American Boiler Manufacturers Association

หมายเหตุ : psig x 6.895 = kPa
 .

หากมีค่า conductivity สูง หรือมีสารปนเปื้อนมากก็จะสร้างปัญหาให้กับระบบหม้อต้มไอน้ำ โดยจะทำให้ระดับความดันน้ำมีปัญหา และเกิดฟองขึ้นซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่การทำให้ระบบวัดระดับน้ำในหม้อไอน้ำทำงานผิดพลาดมีการเตือนว่าน้ำอยู่ในระดับต่ำบ่อยครั้ง, เกิดความชื้นในไอน้ำมาก และไอน้ำมีความสกปรกสูง

 .

การออกแบบระบบการระบายน้ำแบบต่อเนื่อง จะต้องมีการควบคุมค่าความนำของน้ำในหม้อต้ม (Conductivity) ให้คงที่อยู่ตลอดเวลา และต้องมีการปรับปริมาณการระบายน้ำให้อยู่ในระบบการควบคุมที่แน่นอน ส่วนการระบายน้ำแบบ Intermittent Bottom นั้นเป็นการกำจัดปริมาณโคลนหรือสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ที่มีขนาดใหญ่ที่อยู่ในหม้อไอน้ำ

 .

แต่การระบายน้ำแบบดังกล่าวนี้ หากทำการในขณะที่ยังมีการเผาไหม้ จะทำให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากการไหลเวียนของน้ำตามธรรมชาติในหม้อไอน้ำจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้การถ่ายเทความร้อนจากห้องเผาไหม้สู่น้ำในหม้อไอน้ำไม่ดีพอ จึงทำให้เกิดความร้อนสูงเกินพิกัด สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานก็คือ จะต้องระบายน้ำเมื่อหม้อไอน้ำหยุดการทำงาน และทำก่อนที่ความดันในหม้อไอน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าความดันบรรยากาศ

 .
การควบคุมแบบต่อเนื่อง (Continuous Control)

การควบคุมการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดข้อดีกว่าการระบายน้ำแบบ Manual เพียงอย่างเดียว เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าจะสามารถรักษาคุณภาพของน้ำในหม้อต้มได้ตลอดเวลาของการทำงาน

 .

อย่างไรก็ตามจะต้องมีการติดตั้ง Flash Tank และตัวแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger) เพื่อป้อนกลับความร้อนไปยังหม้อต้มไอน้ำให้อุณหภูมิสูญเสียน้อยที่สุด ระบบการระบายน้ำแบบต่อเนื่องดังแสดงในรูปที่ 4 จะใช้สำหรับกรณีที่ต้องทำการตรวจจับความร้อน แต่มีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนมากนัก 

 .

เพราะประกอบไปด้วยวาล์ว และชุดควบคุมที่ใช้เพื่อตรวจสอบโดยอาศัยสัญญาณอินพุตที่มาจากอุปกรณ์ตรวจจับสารแขวนลอย ระบบการควบคุมแบบต่อเนื่องจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมีการระบายน้ำผ่านอุปกรณ์ตรวจจับอย่างต่อเนื่อง และประโยชน์ของการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องก็คือมีขนาดเล็ก ทำให้มีราคาถูกกว่าระบบ Heat Recovery และสามารถป้อนกลับความร้อนจากการระบายน้ำได้ถึง 50%

 .

รูปที่ 4 แสดงลักษณะของการระบายน้ำแบบ ต่อเนื่องด้วยชุดควบคุม

 .
การควบคุมการระบายน้ำแบบ Automatic

เนื่องจากการควบคุมการระบายน้ำแบบ Manual นั้น เราจะไม่สามารถรู้ถึงระดับความเข้มข้น และปริมาณของสารแขวนลอยในน้ำได้เลย การปรับระดับการระบายน้ำจึงไม่สามารถทำได้อย่างถูกต้อง ผู้ปฏิบัติงานจะไม่รู้ว่าเมื่อใดควรระบายน้ำออกเท่าไหร่ และต้องระบายน้ำออกนานแค่ไหน ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้ระบบการระบายน้ำแบบอัตโนมัติเพื่อที่จะสามารถปรับอัตราการระบายน้ำทิ้งแปรผันตามระดับความเข้มข้นของสารแขวนลอยในหม้อต้ม รวมทั้งยังช่วยลดพลังงานสูญเสียได้อีกด้วย 

 .

การทำงานของระบบควบคุมอัตโนมัติจะใช้โพรบความดันต่ำ หรือโพรบความดันสูง ทำหน้าที่วัดค่าความนำในหม้อต้มไอน้ำ ค่าที่ได้จะถูกป้อนกลับมายังอุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ดังแสดงในรูปที่ 5 เป็นตัวอย่างของชุดควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากหม้อต้มไอน้ำโดยมีการทำงานของชุดควบคุม (BCS3) ทำหน้าที่สั่งเปิดวาล์วระบายน้ำเพื่อเริ่มต้นระบายน้ำพร้อม ๆ กับตรวจสอบสัญญาณจากเซนเซอร์วัดค่าความเหนี่ยวนำของน้ำในหม้อต้ม

 .

ค่าที่วัดได้จากเซนเซอร์จะระบุถึงระดับความเข้มข้นของสารแขวนลอย และจะถูกนำเทียบกับค่า Setpoint ของชุดควบคุม หากค่าที่ได้ต่ำกว่าค่า Setpoint ของชุดควบคุม วาล์วระบายน้ำจะปิด จนกระทั่งค่าที่ได้สูงกว่าค่า Setpoint วาล์วควบคุมการระบายน้ำก็จะถูกสั่งเปิดจนกว่าค่าความนำจะลดลงถึงค่า Setpoint อีกครั้ง

 .

รูปที่ 5 ลักษณะของระบบควบคุมอัตโนมัติ

 .

ข้อดีของการใช้งานระบบควบคุมแบบอัตโนมัติ พิจารณาได้จากตัวอย่างหม้อต้มไอน้ำขนาด 100,000 ปอนด์ต่อชั่วโมง หากสามารถลดอัตราการระบายน้ำจาก 8% ลงเหลือเพียง 6% ของอัตราการเติมน้ำเข้าหม้อต้ม จะช่วยลดปริมาณน้ำได้ประมาณ 2,300 ปอนด์ต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถประหยัดทั้งพลังงานเชื้อเพลิง และสารเคมีที่ใช้ปรับสภาพน้ำด้วย โดยสรุปแล้วการลงทุนกับระบบควบคุมอัตโนมัติจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 1-3 ปี และข้อมูลใน

 .

ตารางที่ 2 การประหยัดต้นทุนต่อปี จากการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ

 .

หมายเหตุ ข้อมูลในตารางที่ 2 ได้จากหม้อต้มไอน้ำที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ขนาด 150 Psig ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนเชื้อเพลิง $8.00/MMBTU อุณหภูมิของน้ำเติมเท่ากับ 60 องศาฟาเรนไฮต์ และประสิทธิภาพของหม้อต้มไอน้ำเท่ากับ 80% ต้นทุนสารเคมี และต้นทุนอื่น ๆ อยู่ที่ 0.004$/Gallon

 .

การจัดซื้อ และติดตั้งระบบควบคุมการระบายน้ำแบบอัตโนมัติ มีต้นทุนอยู่ราว ๆ 200,000 ถึง 300,000 บาท ทั้งนี้ระบบที่สมบูรณ์จะต้องประกอบไปด้วย โพรบความนำ (Conductivity Probe), อุปกรณ์ชดเชยอุณหภูมิ, อุปกรณ์แปลงสัญญาณ และวาล์วไฟฟ้าระบายน้ำ นอกจากนี้บางระบบอาจเชื่อมต่อโพรบวัดค่าความนำกับหม้อต้มหลาย ๆ ใบ และยังสามารถบันทึกค่าความนำไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องได้ ราคาของระบบยังขึ้นอยู่กับระดับความดันใช้งาน และสมรรถนะของระบบที่ต้องการ

 .
ระบบนำกลับความร้อนมาใช้ใหม่ (Heat Recovery Unit)

หม้อต้มไอน้ำซึ่งไม่มีระบบนำกลับความร้อนมาใช้ และมีอัตราการระบายน้ำออกสูง จะส่งผลต่อการประหยัดพลังงานเป็นอย่างมาก ทั้งนี้อัตราการการะบายน้ำที่เหมาะสมมีผลมาจากหลายตัวแปรตามที่ได้กล่าวมานี้ การประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งานหม้อต้มไอน้ำมีผลมาจากความสามารถที่จะชดเชยความสูญเสียได้มากน้อยเพียงใด

 .

ในทางปฏิบัตินั้นจะสามารถทำการระบายน้ำทิ้งได้อย่างเหมาะสมด้วยการใช้ระบบควบคุมแบบอัตโนมัติ เพื่อลดต้นทุนพลังงาน และลดการสูญเสียความร้อน จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้อนกลับความร้อนมาใช้ใหม่ซึ่งประกอบไปด้วย Flash Tank และตัวแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger) ทั้งนี้หม้อต้มไอน้ำที่มีการระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่องเกิน 5% ของอัตราการผลิตไอน้ำ ถือว่าอยู่ในระดับความต้องการของการใช้อุปกรณ์ป้อนกลับความร้อน 

 .

ระบบ Flash Tank ระบบนี้จะส่งผ่านน้ำที่ระบายออกจากหม้อต้มไปยังถัง Flash เพื่อปรับให้เป็นไอน้ำความดันต่ำ ใช้เพื่ออุ่นน้ำดิบก่อนที่จะใช้เติมลงในหม้อน้ำต่อไป ดังแสดงในรูปที่ 6

 .

รูปที่ 6 แสดงโครงสร้างของระบบ Flash Tank

 .

ระบบ Flash Tank ร่วมกับระบบแลกเปลี่ยนความร้อน ระบบนี้มีโครงสร้างดังแสดงในรูปที่ 7 ทั้งนี้อุณหภูมิของการระบายไอน้ำออกจาก Flash Tank จะสูงกว่า 220 องศาฟาเรนไฮต์ ความร้อนนี้จะถูกใช้เพื่ออุ่นน้ำให้ร้อน (Makeup Water) ด้วยการส่งผ่านตัวแลกเปลี่ยนความร้อน

 .

ในขณะที่จะเป็นการลดความร้อนของน้ำที่ระบายทิ้งด้วยในเวลาเดียวกัน และเมื่อน้ำที่จะใช้เติมลงหม้อน้ำได้รับการอุ่นให้อุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว เชื้อเพลิงหลักที่ใช้เพื่อต้มน้ำก็จะใช้น้อยลง ทั้งนี้การลดความร้อนของน้ำที่ระบายออกจากหม้อน้ำก่อนระบายออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะถือเป็นสิ่งที่ดีต่อสภาพแวดล้อม

 .

รูปที่ 7 ระบบ Flash Tank ร่วมกับ Heat Exchanger

 .

การติดตั้งระบบนำกลับความร้อนมาใช้นั้น ช่วยให้เกิดการประหยัดต้นทุนได้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น หากต้นทุนเชื้อเพลิงอยู่ที่ระดับ $8.00/MMBTU อัตราการระบายน้ำต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 3,200 ปอนด์ต่อชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของสารแขวนลอยต่าง ๆ ในหม้อต้มไอน้ำ

 .

เมื่อติดตั้งระบบนำกลับความร้อนมาใช้ร่วมกันกับระบบการระบายน้ำทิ้ง จะสามารถลดพลังงานสูญเสียได้ถึง 90% ทั้งนี้ถ้าประสิทธิภาพของหม้อต้มไอน้ำอยู่ที่ระดับ 80% ผลิตไอน้ำได้ 50,000 ปอนด์ต่อชั่วโมง ด้วยค่าความดันไอน้ำ 150 psig และมีการเดินเครื่อง 8,000 ชั่วโมงต่อปี จะได้ผลสรุปว่า
                     อัตราการระบายน้ำทิ้ง = 3,200/(2300+50,000) = 6.0%

 .

ตารางที่ 3 แสดงถึงค่าความร้อนที่นำกลับมาใช้ได้จากการระบายความร้อนที่ระดับต่าง ๆ

 .

จากข้อมูลในตารางที่ 3 ซึ่งแสดงถึงค่าความร้อนที่นำกลับมาใช้ได้จากการระบายความร้อนที่ระดับต่าง ๆ และที่ระดับ 6% ความดัน 150 psig จะได้ความร้อนเท่ากับ 1.7 MMBTU/hr แต่เนื่องจากตารางที่ 3 คำนวณจากหม้อต้มไอน้ำขนาด 100,000 ปอนด์ต่อชั่วโมง  

 .

ดังนั้น ระดับของการประหยัดพลังงานต่อมี จะมีค่าเท่ากับ
  Annual Energy Saving = [1.7 MMBtu/hr x (50,000 lb/hr/100,000 lb/hr) x 8,000 hr/yr]/0.80
                                           =  8,500 MMBtu
 คิดเป็นการประหยัดต้นทุนต่อปีได้เท่ากับ
  Annual Cost Saving      = 8,500 MMBtu/yr x $8.00/MMBtu   
                                            =  $68,000

 .
บทสรุป

การควบคุมการระบายน้ำทิ้ง (Blowdown) ได้อย่างเหมาะสมนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไอน้ำ ยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนเชื้อเพลิงซึ่งในปัจจุบันนี้มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ และการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติก็จะช่วยลดความผิดพลาดอันเกิดจากมนุษย์ได้

 .

ทั้งนี้เพราะหากเกิดความผิดพลาดในระบบการผลิตไอน้ำความดันสูง ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจเกินที่เราจะคาดคิด และไม่สามารถรับได้ นอกจากนี้แล้วเมื่อระบบอยู่ในรูปแบบการควบคุมที่สมบูรณ์ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะต้องหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงได้อีกด้วย

 .

ข้อมูลอ้างอิง
1. Boiler Blowdown, April 2004, NC Division of Pollution Prevention and Environmental Assistance
2. Energy tips-Stream, Stream Tip Sheet #9, #10, #23, Industrial Technologies Program Energy Efficiency and Renewable Energy U.S. Department of Energy
3. GE Water and Process Technologies, Boiler Blowdown Control

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด