เนื้อหาวันที่ : 2010-12-03 16:01:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5984 views

กิจการอุตสาหกรรมขนาดย่อม (Small Manufacturing Business)

ในกรณีของกิจการซื้อมาขายไป ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการกำหนดต้นทุนสินค้าที่ขายคือมูลค่าที่ปรากฏในใบกำกับสินค้าที่ผู้ขายสินค้าเป็นผู้ออกเอกสารกำกับมาพร้อมกับการส่งมอบ ซึ่งข้อมูลของราคาสินค้าที่รายงานในเอกสารดังกล่าวจะได้ถูกนำไปทำการจดบันทึกเข้าบัญชีซื้อสินค้าหรือบัญชีสินค้าตั้งแต่แรกเมื่อรับสินค้าเข้ามาแล้ว

กิจการอุตสาหกรรมขนาดย่อม (Small Manufacturing Business)

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา,
wiwatapi@gmail.com

.

.

ในกรณีของกิจการซื้อมาขายไป ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการกำหนดต้นทุนสินค้าที่ขายคือมูลค่าที่ปรากฏในใบกำกับสินค้าที่ผู้ขายสินค้าเป็นผู้ออกเอกสารกำกับมาพร้อมกับการส่งมอบ ซึ่งข้อมูลของราคาสินค้าที่รายงานในเอกสารดังกล่าวจะได้ถูกนำไปทำการจดบันทึกเข้าบัญชีซื้อสินค้าหรือบัญชีสินค้าตั้งแต่แรกเมื่อรับสินค้าเข้ามาแล้ว

.

แต่สำหรับในกิจการอุตสาหกรรม การค้นหามูลค่าเพื่อการกำหนดต้นทุนของสินค้าที่ขายไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายเหมือนกิจการซื้อมาขายไป โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีเครื่องมือเครื่องจักร และทรัพยากรที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน

.

ประกอบกับแรงงานคนจะทำการแปรสภาพวัตถุดิบเพื่อทำให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาขายเพื่อก่อให้เกิดรายได้แก่กิจการต่อไป เอกสารซึ่งมีลักษณะเสมือนกับเป็นใบกำกับสินค้าของผลิตภัณฑ์ที่ทำการผลิตขึ้นเองในกิจการอุตสาหกรรมจึงอาจกล่าวได้ว่าคือ “รายงานต้นทุนการผลิต” ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการกำหนดต้นทุนสินค้าที่ขาย เนื่องจากเป็นเอกสารที่ทำการรวบรวมเกี่ยวกับข้อมูลต้นทุนของสินค้าที่ได้มาจากกระบวนการผลิต

.

องค์ประกอบของต้นทุน (Cost Elements)

ภายใต้สภาพแวดล้อมของกระบวนการผลิตเกี่ยวกับการบัญชีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ต้นทุนของการผลิตผลิตภัณฑ์หนึ่งคือ ต้นทุนทั้งหมดในโรงงานไม่ว่าจะมีความเกี่ยวข้องโดยทางตรงหรือมีความเกี่ยวข้องโดยทางอ้อมกับการผลิตก็ตาม เมื่อกล่าวถึงต้นทุนของการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกทำขึ้นจากวัตถุดิบต่าง ๆ (เช่น ผ้า ด้าย กระดุม)

.

แรงงานคนที่ต้องการเพื่อให้การผลิตทำได้เสร็จสมบูรณ์ (เช่น การออกแบบ การตัดตามแบบ การเย็บ-สอย การตรวจสอบ) และต้นทุนอื่น ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตซึ่งอาจจะมีความสำคัญไม่เท่ากับต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงงาน (ต้นทุนที่เกี่ยวกับพื้นที่โรงงาน วัสดุสิ้นเปลืองในโรงงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์ ค่าพลังงาน ค่าจ้างที่จ่ายให้กับผู้ควบคุมการผลิต หรือเสมียนโรงงาน)

.

โดยปกติต้นทุนการผลิตสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทคือ วัตถุดิบทางตรง (Direct Material) ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor) และต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตทางอ้อม (Indirect Manufacturing Costs)

.

ต้นทุนทางตรง (Direct Costs)

วัตถุดิบทางตรง ซึ่งมีชื่อที่บอกเป็นนัยให้ทราบได้ว่าเป็นต้นทุนทางตรง วัตถุดิบทางตรงของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะมีวัตถุดิบทางตรงที่มีลักษณะโดยเฉพาะแตกต่างกันไปเมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมา เช่น ชุดเฟอร์นิเจอร์อาจจะมีเหล็ก ไม้ เป็นวัตถุดิบทางตรง กระเป๋าอาจจะมีผ้า หนังสัตว์ หรือเม็ดพลาสติกเป็นวัตถุดิบทางตรง พัดลมจะมีเหล็ก มอเตอร์ ชิ้นส่วนใบพัดเป็นวัตถุดิบทางตรง เป็นต้น

.

จากที่กล่าวมาอาจจะสรุปได้ว่าวัตถุดิบทางตรงเป็นต้นทุนของวัตถุดิบซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญอย่างมากหรือมีสาระสำคัญคิดเป็นมูลค่าต้นทุนในจำนวนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตรวม

.

ค่าแรงงานทางตรง คือแรงงานที่ทำการเปลี่ยนสภาพวัตถุดิบทางตรงเพื่อให้กลายเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น คนงานที่อยู่ในสายการผลิตของแผนกตัด แผนกขึ้นรูปชิ้นส่วน แผนกประกอบ แผนกหลอม แผนกตกแต่ง เป็นต้น

.

เมื่อพิจารณารวมกันเฉพาะวัตถุดิบทางตรงและค่าแรงงานทางตรงจะถูกกล่าวถึงในชื่อว่า ต้นทุนขั้นต้น (Prime Cost) ของผลิตภัณฑ์ ทั้งในส่วนของต้นทุนวัตถุดิบทางตรงและต้นทุนค่าแรงงานทางตรงสามารถจะทำการรับรู้เพื่อการวัดค่าต้นทุนที่เกิดขึ้นในกระบวนการได้อย่างชัดเจนด้วยลักษณะการใช้ไปของต้นทุนแต่ละรายการเหล่านั้นเอง

.

ภายใต้ระบบการบัญชีสินค้าคงเหลือแบบต่อเนื่องวัตถุดิบที่ถูกใช้ไปเพื่อการผลิตจะถูกจดบันทึกการใช้ไปในลักษณะวันต่อวันจากฐานข้อมูลคลังวัตถุดิบ กล่าวคือเมื่อมีการซื้อวัตถุดิบเข้าจะมีการจดบันทึกการรับเข้าในบัตรวัตถุดิบ และเมื่อมีการเบิกใช้จะมีการจดบันทึกการใช้ไปเช่นเดียวกัน

.

พนักงานผู้ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลิตภัณฑ์สามารถจะจับเวลาการทำงานและคำนวณค่าแรงงานที่เกิดขึ้นจากการใช้เวลาไปเพื่อการทำงานในแต่ละส่วนงานได้อย่างชัดเจนเช่นกัน ต้นทุนทั้งสองรายการที่กล่าวถึงจึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องทำการคาดเดาหรือประมาณการต้นทุนที่เกิดขึ้น

.

ต้นทุนการผลิตทางอ้อม (Indirect Manufacturing Costs)

ต้นทุนการดำเนินงานในโรงงานหลาย ๆ รายการรวมกันบ่อยครั้งที่มักจะถูกพิจารณาว่ามีความสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตทั้งหมดซึ่งในส่วนนี้คือ ต้นทุนทางอ้อม เป็นต้นทุนพื้นฐานทั่วไปที่มักจะเกิดขึ้นกับทุก ๆ หน่วยการผลิตที่ทำการผลิตขึ้นมาและไม่สามารถจะทำการระบุการใช้ไปของทรัพยากรกลุ่มนี้ให้กับหน่วยการผลิตใดได้โดยเฉพาะ

.

เนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำการระบุต้นทุนการผลิตทางอ้อมว่าใช้ไปอย่างไรเท่าใด เพื่อให้ได้อะไรมาอย่างชัดเจน ต้นทุนการผลิตทางอ้อมประกอบด้วยต้นทุนหลายชนิดแตกต่างกันไปซึ่งจะถูกรวมไว้ในต้นทุนของค่าใช้จ่ายในการผลิตทางอ้อม โดยปกติแล้วจะประกอบด้วย

.

1.วัตถุดิบทางอ้อม (Indirect Material) หรือวัสดุสิ้นเปลืองในโรงงาน (Factory Supplies) เช่น น้ำมันเครื่องหล่อลื่นเครื่องจักร วัสดุทำความสะอาด วัสดุสิ้นเปลืองในสำนักงานของโรงงาน เป็นต้น
2.ค่าแรงงานทางอ้อม (Indirect Labor) เช่น หัวหน้าคนงาน พนักงานตรวจสอบ ผู้ควบคุมโรงงาน เสมียนในโรงงาน พนักงานทำความสะอาด พนักงานคลังวัตถุดิบ พนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
3.ต้นทุนการครอบครองพื้นที่โรงงาน เช่น ค่าเช่า ค่าภาษี ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าเสื่อมราคา และค่าซ่อมบำรุง เป็นต้น
4.ค่าเสื่อมราคาเครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงาน
5.ต้นทุนของเครื่องมือขนาดเล็กที่ใช้ในโรงงาน
6.ผลประโยชน์ที่เป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน เช่น วันหยุดพักผ่อน ค่าเบี้ยประกันภัย เงินบำเหน็จ เงินสำรองกองทุนเลี้ยงชีพ เป็นต้น
7.ค่าพลังงานความร้อน ค่าพลังงานไฟฟ้า

.

เนื่องจากการวัดค่าอย่างชัดเจนเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ ต้นทุนการผลิตทางอ้อมจึงมักจะต้องถูกปันส่วนให้ครอบคลุมหน่วยการผลิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นสำหรับรอบระยะเวลานั้น ๆ ต้นทุนการผลิตทางอ้อมยังมีชื่อเรียกในลักษณะอื่น ๆ อีกซึ่งมีความหมายในทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็นโสหุ้ยในโรงงาน ค่าใช้จ่ายในการผลิต หรือค่าใช้จ่ายในโรงงานก็ตาม

.

สินค้าคงเหลือ (Inventories)

ภายในโรงงานอุตสาหกรรมใด ๆ มีความเป็นไปได้มากที่จะพบว่ากระบวนการผลิตที่มีหลายลำดับขั้นตอนจึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตที่สมบูรณ์ การดำเนินงานผลิตในแต่ละขั้นตอนจะมีการใส่วัตถุดิบเข้าไปเพื่อผ่านการแปรสภาพเป็นงานระหว่างทำในระหว่างขั้นตอนการผลิต

.

กระบวนการผลิตจะดำเนินงานไปอย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดกระบวนการซึ่งจะทำให้ได้มาซึ่งสินค้าสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่ต้องการ จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าบัญชีสินค้าคงเหลือในแต่ละขั้นของกระบวนการผลิตสามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภทคือ วัตถุดิบและวัสดุสิ้นเปลือง (Materials and Supplies) งานระหว่างทำ (Work in Process) และสินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods)

.

วัตถุดิบและวัสดุสิ้นเปลือง เป็นบัญชีสินค้าคงเหลือที่ใช้แสดงมูลค่าของวัตถุในคลัง หรือวัตถุดิบและวัสดุโรงงานที่จะถูกนำไปใช้ในแต่ละลำดับขั้นตอนของกระบวนการผลิตหรือมูลค่าส่วนที่เหลือของสินทรัพย์หลังจากเบิกใช้เข้ากระบวนการผลิตแล้ว มูลค่าของบัญชีวัตถุดิบและวัสดุสิ้นเปลืองที่ซื้อเข้ามาซึ่งแสดงไว้ในใบกำกับสินค้าจะถูกนำไปประเมินมูลค่าวัตถุดิบคงเหลือที่มี ณ วันใดวันหนึ่ง

.

งานระหว่างทำ เป็นบัญชีสินค้าคงเหลือที่แสดงให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตบางส่วนที่โอนเข้าสู่สินค้า หลังจากที่ได้นำวัตถุดิบและวัสดุโรงงานต่าง ๆ ผ่านเข้ามาในกระบวนแต่ยังผลิตไม่เสร็จเรียบร้อย ณ วันที่รายงานยอด งานระหว่างทำอาจจะเกิดขึ้นได้แตกต่างกันไปในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการผลิต โดยระดับขั้นความสำเร็จของงานจะแสดงในรูปของสัดส่วนหรือเปอร์เซ็นต์ เช่น ระดับขั้นความสำเร็จของวัตถุดิบที่ 3/4 หรือระดับขั้นความสำเร็จของแรงงานเท่ากับ 50% เป็นต้น

.

สินค้าสำเร็จรูป เป็นบัญชีสินค้าคงเหลือที่สะสมต้นทุนของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการรอคอยเพื่อการโอนจากโรงงานไปยังคลังสินค้าที่ขาย หรืออยู่ในระหว่างการรอคอยจากคลังสินค้าที่ขายเพื่อการขนส่งไปให้ลูกค้า ผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์นี้เป็นการโอนต้นทุนจากบัญชีงานระหว่างทำเข้าสู่บัญชีสินค้าสำเร็จรูปซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดต้นทุนการผลิตและจะเป็นจุดเริ่มต้นของค่าใช้จ่ายในการขาย

.

รูปที่ 1 บัญชีสินค้าคงเหลือและต้นทุนการผลิต

.

งบต้นทุนการผลิต (Manufacturing Statement)

แม้ว่ารายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตจะถูกจดบันทึกไว้เรียบร้อย แต่กิจการอุตสาหกรรมจะต้องทำการคำนวณต้นทุนของสินค้าที่ทำการผลิตเสร็จในรูปของรายงานหรืองบการเงิน รายงานหรืองบการเงินที่แสดงต้นทุนสินค้าที่ผลิตเสร็จจะเรียกว่างบต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำการรายงานต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างรอบระยะเวลาหนึ่ง ๆ เพื่อนำมาคำนวณร่วมกับงานระหว่างทำต้นงวดและงานระหว่างทำปลายงวด

.

ตัวอย่างที่ 1

ต่อไปนี้เป็นงบต้นทุนการผลิตของร้านวิวัฒน์การผลิต สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 25X5

.

งบต้นทุนการผลิตข้างต้นเริ่มต้นด้วยงานระหว่างทำต้นงวดจำนวน 20,000 บาท ซึ่งต้นทุนการผลิตจำนวนนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในงวดก่อนและจะยกมาทำการผลิตต่อในงวดปัจจุบัน สำหรับต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในงวดปัจจุบันนี้ประกอบด้วยต้นทุนวัตถุดิบทางตรง 190,000 บาท ต้นทุนค่าแรงงานทางตรง 360,000 บาท และต้นทุนการผลิตทางอ้อม (ค่าใช้จ่ายในการผลิต) 180,000 บาท

.

รวมต้นทุนการผลิตในระหว่างงวดนี้เท่ากับ 730,000 บาท เมื่อรวมกับงานระหว่างทำต้นงวดจึงทำให้ต้นทุนการผลิตรวมสำหรับงวดเท่ากับ 750,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25X5 ปรากฏว่ามีงานระหว่างทำปลายงวดคงค้างในกระบวนการเท่ากับ 30,000 บาท ดังนั้นจึงได้ต้นทุนสินค้าที่ผลิตเสร็จและโอนออกไปเป็นสินค้าสำเร็จรูปเท่ากับ 720,000 บาท (780,000 บาท–30,000 บาท)

.

จากรายงานต้นทุนการผลิตข้างต้นจะเห็นได้ว่าส่วนประกอบของต้นทุนการผลิตจำแนกออกเป็นวัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง และต้นทุนการผลิตทางอ้อม (ค่าใช้จ่ายในการผลิต) แต่ต้นทุนการผลิตทางอ้อมนั้นมีรายการต้นทุนแยกย่อยที่สนับสนุนการทำงานในกระบวนการผลิตอีกหลายรายการสามารถแสดงการคำนวณประกอบได้ดังนี้

.

.

ต้นทุนสินค้าที่ขาย (Cost of Goods Sold)

ต้นทุนสินค้าที่ขายของกิจการอุตสาหกรรมสามารถหาได้จากการนำรายการสินค้าสำเร็จรูปต้นงวดต้นทุนสินค้าที่ผลิตเสร็จระหว่างงวด และสินค้าสำเร็จรูปปลายงวดมาคำนวณประกอบเข้าด้วยกัน โดยการนำสินค้าสำเร็จรูปต้นงวดบวกเข้ากับต้นทุนสินค้าที่ผลิตเสร็จระหว่างงวดจะทำให้ทราบต้นทุนสินค้าที่มีเพื่อขาย และเมื่อนำสินค้าสำเร็จรูปปลายงวดไปหักออกจากยอดรวมต้นทุนสินค้าที่มีเพื่อขายจะได้ผลลัพธ์ของต้นทุนสินค้าที่ขายสำหรับงวด

.

จากหลักการคำนวณดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการคำนวณต้นทุนสินค้าที่ขายในกิจการอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างกับการคำนวณต้นทุนสินค้าที่ขายของกิจการซื้อมาขายไปในตำแหน่งของการนำต้นทุนสินค้าที่ผลิตเสร็จไปรายงานแทนที่ต้นทุนการซื้อสินค้าสุทธิซึ่งข้อมูลต้นทุนการซื้อสุทธิหรือยอดซื้อสุทธิสามารถหาได้จากใบกำกับสินค้าที่ส่งมาพร้อมกับสินค้าที่ซื้อเข้ามา แสดงการเปรียบเทียบความแตกต่างของการคำนวณหาต้นทุนสินค้าที่ขายได้ดังตารางที่ 1 ต่อไปนี้

.

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบต้นทุนสินค้าที่ขายของกิจการอุตสาหกรรมกับกิจการซื้อมาขายไป

.

ต้นทุนสินค้าที่ขายสำหรับงวดที่คำนวณขึ้นนี้เป็นเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะต้องนำไปรายงานในงบกำไรขาดทุนเพื่อนำไปหักออกจากยอดขายสินค้าสำหรับงวดซึ่งจะทำให้ทราบถึงกำไรขั้นต้นที่เกิดขึ้น และเมื่อนำค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารงานไปหักออกจากกำไรขั้นต้นจะทำให้ทราบถึงกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานสำหรับงวดเวลา

.

ตัวอย่างที่ 2

จากตัวอย่างที่ 1 ต่อไปนี้เป็นรายงานต้นทุนสินค้าที่ขายของร้านวิวัฒน์การผลิต สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 25X5

.

วัฏจักรต้นทุน (Cost Cycle)

วัฏจักรกิจการอุตสาหกรรมจะเริ่มต้นจากวัตถุดิบและวัสดุสิ้นเปลืองในโรงงานถูกเบิกไปจากคลังวัตถุดิบและนำไปใส่ในกระบวนการผลิต โดยจำเป็นต้องอาศัยแรงงานคนและเครื่องมือเครื่องจักรต่าง ๆ เพื่อดำเนินการแปรสภาพสิ่งที่นำเข้าสู่กระบวนการ

.

และเมื่อทำการผลิตเสร็จสมบูรณ์หน่วยสินค้าที่ผลิตเสร็จจะโอนออกไปเข้าบัญชีสินค้าสำเร็จรูปเพื่อรอการขนส่งไปยังลูกค้าต่อไป ทั้งนี้เมื่อได้รับคำสั่งซื้อแล้ว การสะสมต้นทุนการผลิตจะดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้เป็นวัฏจักรต้นทุน โดยต้นทุนการผลิตจะสะสมเข้าสู่บัญชีแรกคือบัญชีงานระหว่างทำ  

.

ต้นทุนการผลิตที่สมบูรณ์จะถูกโอนจากบัญชีงานระหว่างทำไปยังบัญชีสินค้าสำเร็จรูปซึ่งถือเป็นขั้นสุดท้ายของวัฏจักรต้นทุน ต้นทุนสินค้าที่ขนส่งไปยังลูกค้าจะถูกบันทึกบัญชีทางด้านเครดิตด้วยบัญชีสินค้าสำเร็จรูป และจะเดบิตบัญชีต้นทุนสินค้าที่ขาย แสดงแผนภาพการไหลของต้นทุนการผลิตในกิจการอุตสาหกรรมได้ดังรูปที่ 2 ต่อไปนี้

.

รูปที่ 2 การไหลของต้นทุนการผลิต

.

กระดาษทำการเพื่อการจัดทำงบการเงิน

การจัดทำกระดาษทำการของกิจการอุตสาหกรรมยังคงใช้หลักการเดียวกันกับกิจการให้การบริการหรือกิจการซื้อมาขายไป เพียงแต่กระดาษทำการของกิจการอุตสาหกรรมจะมีช่องงบต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการคำนวณหาต้นทุนการผลิตนั่นเอง หลักการจัดทำกระดาษทำการของกิจการอุตสาหกรรมสามารถสรุปได้ดังนี้

.

1.นำข้อมูลในงบทดลองก่อนการปรับปรุงรายการมากรอกลงในกระดาษทำการช่องงบทดลอง และให้ทำการสรุปยอดรวมจำนวนเงินด้านเดบิตและเครดิตในช่องงบทดลองใหม่อีกครั้งจะพบว่าจำนวนเงินรวมด้านเดบิตและเครดิตมีความเท่ากัน

.

2.ตรวจสอบว่ามีรายการใดที่จะต้องนำมาทำการปรับปรุงข้อมูลทางการบัญชีให้มีความถูกต้องเป็นปัจจุบัน ณ รอบระยะเวลาที่ต้องการทำงบการเงิน ถ้าพบว่ามีรายการที่ต้องการปรับปรุงให้ใส่ข้อมูลที่ต้องการปรับปรุงเพิ่มเติมในช่องรายการปรับปรุง และเมื่อสรุปยอดรวมจำนวนเงินด้านเดบิตและเครดิตในช่องรายการปรับปรุงจะพบว่าจำนวนเงินรวมด้านเดบิตและเครดิตมีความเท่ากัน

.

3.เมื่อทำการกรอกข้อมูลที่ต้องการปรับปรุงเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการกระทบยอดคงเหลือของบัญชีต่าง ๆ เสียใหม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร โดยยอดที่ทำการสรุปใหม่นี้จะรายงานในช่องงบทดลองหลังการปรับปรุง และเมื่อสรุปยอดรวมจำนวนเงินด้านเดบิตและเครดิตในช่องงบทดลองหลังการปรับปรุงจะพบว่าจำนวนเงินรวมด้านเดบิตและเครดิตมีความเท่ากัน

.
4.ทำการผ่านรายการจากงบทดลองหลังการปรับปรุงไปยังช่องงบต้นทุนการผลิต งบกำไรขาดทุน และงบดุล ดังนี้

4.1 บัญชีที่จะผ่านรายการไปยังช่องงบต้นทุนการผลิตจะประกอบด้วยบัญชีที่เกี่ยวกับวัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง ค่าใช้จ่ายในโรงงานหรือต้นทุนการผลิตทางอ้อม หรือค่าใช้จ่ายในการผลิต บัญชีงานระหว่างทำต้นงวด และบัญชีงานระหว่างทำปลายงวด

.

เมื่อทำการผ่านรายการในช่องนี้เรียบร้อยแล้ว ให้นำจำนวนเงินรวมทางด้านเดบิตและด้านเครดิตมาเปรียบเทียบกันจะทำให้ทราบมูลค่าของบัญชีต้นทุนการผลิต มูลค่าต้นทุนการผลิตที่คำนวณได้ให้รายงานเพิ่มเข้าไปจะทำให้จำนวนเงินรวมด้านเดบิตและเครดิตมีความเท่ากัน

.

4.2 บัญชีที่จะผ่านรายการไปยังช่องงบกำไรขาดทุนจะประกอบด้วยบัญชีรายได้ ค่าใช้จ่ายในส่วนของการขายและการบริหารงาน บัญชีสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือต้นงวด และบัญชีสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือปลายงวด รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่คำนวณหาได้จากช่องงบต้นทุนการผลิต เมื่อทำการผ่านรายการในช่องนี้เรียบร้อยแล้ว และนำยอดรวมทางด้านเดบิตและด้านเครดิตมาเปรียบเทียบกันจะทำให้ทราบมูลค่าของกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงาน

.

มูลค่าของกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานที่คำนวณได้ให้รายงานเพิ่มเข้าไปจะทำให้จำนวนเงินรวมด้านเดบิตและเครดิตในช่องงบกำไรขาดทุนมีความเท่ากัน รวมถึงเมื่อนำไปรายงานในช่องงบดุลแล้วจะต้องทำให้ยอดรวมจำนวนเงินทางด้านเดบิตและด้านเครดิตของงบดุลมีความเท่ากันด้วย

.

4.3 บัญชีที่จะผ่านรายการไปยังช่องงบดุลจะประกอบด้วยบัญชีสินทรัพย์ (สำหรับสินทรัพย์ที่เป็นสินค้าคงเหลือให้ผ่านรายการเฉพาะยอดคงเหลือปลายงวดเท่านั้นซึ่งได้แก่ วัตถุดิบปลายงวด งานระหว่างทำปลายงวด และสินค้าสำเร็จรูปปลายงวด) หนี้สิน และทุน รวมถึงผลกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานที่คำนวณหาได้จากช่องงบกำไรขาดทุน เมื่อทำการผ่านรายการในช่องนี้เรียบร้อยแล้ว จะพบว่าจำนวนเงินรวมด้านเดบิตและเครดิตมีความเท่ากัน

.

ตัวอย่างที่ 3

ต่อไปนี้เป็นงบทดลองของปุ้มปุ้ยการผลิต ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25X5

.
1.สินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25X5 มีดังนี้

.

2.ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับปรุงสำหรับปีเท่ากับ 1,000 บาท
3.ค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายล่วงหน้าส่วนที่หมดประโยชน์แล้วเท่ากับ 500 บาท
4.ค่าจ้างค้างจ่ายเท่ากับ 1,400 บาท เป็นส่วนของพนักงานทำความสะอาดโรงงาน
5.ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้าส่วนที่ยังไม่หมดประโยชน์สำหรับงวดต่อไปเท่ากับ 30,940 บาท

.
จากข้อมูลข้างต้นแสดงการจดบันทึกรายการปรับปรุงในสมุดรายวันทั่วไปได้ดังนี้

.

จากข้อมูลข้างต้นสามารถนำมาจัดทำกระดาษทำการเพื่อการจัดทำงบการเงินได้ดังนี้

.

จากการจัดทำกระดาษทำการข้างต้นแสดงการปิดบัญชีในสมุดรายวันทั่วไปได้ดังนี้

.

จากข้อมูลข้างต้นสามารถนำมาจัดทำกระดาษทำการเพื่อการจัดทำงบการเงินได้ดังนี้  

.

.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด