เนื้อหาวันที่ : 2010-11-26 15:36:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3775 views

มาตรวัดผลสำหรับองค์กรแห่งคุณภาพ

สำหรับความสำเร็จจากการใช้มาตรวัดผลจะต้องมีการกระจายนโยบายที่สะท้อนถึงปัจจัยธุรกิจซึ่งมีผลต่อการตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมธุรกิจ ดังนั้นประสิทธิผลของมาตรวัดผลการดำเนินงานจึงควรเชื่อมโยงกับความสามารถองค์กรและสอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจ

โกศล ดีศีลธรรม
Koishi2001@yahoo.com

.

.

สำหรับความสำเร็จจากการใช้มาตรวัดผลจะต้องมีการกระจายนโยบายที่สะท้อนถึงปัจจัยธุรกิจซึ่งมีผลต่อการตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมธุรกิจ ดังนั้นประสิทธิผลของมาตรวัดผลการดำเนินงานจึงควรเชื่อมโยงกับความสามารถองค์กรและสอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจ

.

โดยเฉพาะการตอบสนองต่อความคาดหวังของลูกค้าหรือกล่าวได้ว่ากลยุทธ์เปรียบเสมือนท่อส่งที่เชื่อมระหว่างความต้องการของลูกค้ากับองค์กร ดังกรณี Dell Computer ได้กำหนดกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยปัจจัยเวลาเข้าสูตลาดและการตอบสนองความต้องการลูกค้าเฉพาะรายกลุ่ม (Customization) ด้วยเหตุนี้มาตรวัดผลทั่วไปจึงมุ่งประสิทธิผลกระบวนการ ดังนี้

.

* การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า โดยครอบคลุมทั้งลูกค้าภายในและภายนอก

* การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

* กำหนดขอบเขตการวัดผลที่ชัดเจนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

* สร้างสมดุลระหว่างการวัดผลทางการเงินกับการปฏิบัติงานด้วยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุกับผลลัพธ์ (Cause and Effect Relationship)

* มาตรวัดได้ถูกใช้สำหรับการประเมินผลงานและกำหนดแนวทางฝึกอบรม ตลอดจนการเทียบเคียง(Benchmark) ทั้งในระดับองค์กรและอุตสาหกรรม 

.

รูปที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุกับผลลัพธ์

.

โดยทั่วไปการกำหนดกลยุทธ์หลักทางธุรกิจเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารซึ่งรูปแบบกลยุทธ์ของแต่ละองค์กรได้มีความแตกต่างกันตามลักษณะของการดำเนินงาน โดยระหว่างทศวรรษ 1970 จนถึงต้นทศวรรษ 1980 องค์กรส่วนใหญ่ได้มุ่งกลยุทธ์การผลิตปริมาณมาก (Mass Production) ที่มุ่งการลดต้นทุนด้วยแนวคิดความประหยัดจากขนาด (Economy of Scale)          

.

ดังนั้นมาตรวัดผลการดำเนินงานจึงมุ่งประสิทธิผลจากการปฏิบัติงาน เช่น ค่าแรงงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าโสหุ้ย และผลิตผลจากสายการผลิตเทียบกับการพยากรณ์ยอดขาย เป็นต้น  

.

ตารางที่ 1 การจำแนกปัจจัยกลยุทธ์สำหรับอุตสาหกรรม

.

แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าจากการพัฒนานวัตกรรม ทำให้ลูกค้ามีความคาดหวังจากทางเลือกอันหลากหลายมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบกับวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สั้นลงด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธุรกิจต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง (Fierce Competition) โดยเฉพาะลูกค้าต่างคาดหวังที่จะได้รับสินค้าหรือบริการราคาถูก คุณภาพสูง และสามารถส่งมอบได้ทันที

.

รูปที่ 2 แสดงวงจรอายุผลิตภัณฑ์

.

ดังนั้นองค์กรธุรกิจชั้นนำส่วนใหญ่จึงได้ปรับเปลี่ยนมาตรวัดผลการดำเนินงานและกลยุทธ์การบริหาร (Management Strategy) ด้วยแนวคิดการบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management) หรือ TQM ที่มุ่งแนวทางตามกระบวนการและประสิทธิภาพกระบวนการหลัก (Core Processes)     

.

โดยเฉพาะปัจจัยทางคุณภาพซึ่งต่างจากแนวคิดเดิมที่ดำเนินการตามหน้าที่แต่ละสายงานหรือเรียกว่าไซโล (Silo) ซึ่งขาดการเชื่อมโยงกระบวนการแบบข้ามสายงานที่สามารถติดตามวัดผลด้วยมาตรวัด

.

ตารางที่ 2 รูปแบบแนวทางธุรกิจแบบเดิม         

.

ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงต้องให้คำมั่นกับการสนับสนุนปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factor) ประกอบด้วย

* การให้ความสำคัญกับลูกค้า (Focus on Customer) โดยมุ่งตอบสนองเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าสูงสุด (Customer Satisfaction)

.

* การบริหารสินทรัพย์ (Asset Management) ประกอบด้วยสินค้าคงคลังและการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์โรงงานอย่างคุ้มค่า

.

* ประสิทธิผลจากการปฏิบัติงาน (Operational Effectiveness) โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและผลิตผลจากกระบวนการ 

.

* ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) ดังคำกล่าวที่ว่า “บุคลากรทุกคนเสมือนเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าขององค์กร” ดังนั้นจึงควรให้การฝึกอบรมพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง  

.

*  วิศวกรรม (Engineering) โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้และเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว 

.

* ทีมงานแบบข้ามสายงาน (Cross-functional Team) โดยมีการจัดแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวกับสภาพการดำเนินงาน เช่น การจัดทำมาตรวัดผล การจัดเก็บข้อมูลกระบวนการ การรายงานผล และการฝึกอบรม

.

รูปที่ 3 ระบบบริหารคุณภาพโดยรวม

.

ส่วนกระบวนการจัดทำมาตรวัดผลควรมีการแจงรายละเอียดกระบวนการย่อย (Breakdown Process) ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการที่เชื่อมโยงกับระดับองค์กรและจัดทำมาตรวัดผลทุกระดับ ซึ่งมาตรวัดผลเหล่านี้จะต้องมุ่งเป้าหมายการสร้างความพึงพอใจลูกค้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว      

.

รวมทั้งการเทียบเคียงและวางแผนฝึกอบรมให้สอดคล้องกับการดำเนินงาน สำหรับประสิทธิผลการดำเนินงานจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสามารถขจัดลดกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าเพิ่มและเกิดการไหลของงานได้อย่างต่อเนื่อง 

.

รูปที่ 4 การเชื่อมโยงกลยุทธ์ทุกระดับ

.

ด้วยเหตุนี้การไหลตลอดทั้งกระบวนการจึงมุ่งการส่งมอบคุณค่าด้วยสินค้าและการให้บริการกับลูกค้า โดยลักษณะมาตรวัดประสิทธิผลกระบวนการ ประกอบด้วย

.

* สามารถเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การผลิต (Manufacturing Strategy)
* สามารถวัดผลลัพธ์ที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Non-financial Measure)
* สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างต่อเนื่อง (Continuously Changing)
* สามารถป้อนกลับด้วยสารสนเทศจากกระบวนการที่เชื่อมโยงกับภายนอก
* สะดวกต่อการทำความเข้าใจและการใช้งาน (Simple and Easy to Use)
* มุ่งเน้นผลลัพธ์และการติดตามผล (Focused on Results and Monitoring) 

.

ส่วนปัจจัยหลักที่สนับสนุนระบบมาตรวัดดังกล่าว ประกอบด้วย คุณภาพ (Quality), ต้นทุน (Cost), ความน่าเชื่อถือในการส่งมอบ (Delivery Reliability), ช่วงเวลานำ (Lead-time), ความยืดหยุ่น (Flexibility), ความสัมพันธ์ของพนักงาน (Employee Relationships) และความปลอดภัย (Safety)

.

ตารางที่ 3 ปัจจัยสนับสนุนมาตรวัดผล

.

ดังนั้นมาตรวัดผลหลักระดับองค์กรควรครอบคลุม ดัชนีความพึงพอใจลูกค้า ต้นทุนคุณภาพ ต้นทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์และแสดงผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น โดยมาตรวัดเหล่านี้ได้เชื่อมโยงกับมาตรวัดระดับถัดลงมา เช่น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) กำไรขั้นต้นก่อนหักภาษี เป็นต้น

.

รูปที่ 5 รายงานผลการดำเนินงานตามรอบเวลา

.

ส่วนการแสดงผลการดำเนินงานระดับสายการผลิตมักแสดงสารสนเทศแต่ละพื้นที่การทำงาน (Work Area) บนบอร์ดด้วย แผนภูมิ หรือกราฟ เพื่อแจ้งเตือนให้กับพนักงานแต่ละส่วนได้รับทราบผลลัพธ์เทียบเคียงกับเป้าหมายเพื่อดำเนินการปรับแผนงานหรือแก้ไขปัญหาด้วยข้อมูลสำคัญ เช่น อัตราการเกิดของเสีย อัตราผลิตผล อัตราการขาดงาน เวลาการตั้งเครื่อง อัตราการเกิดอุบัติเหตุ และระดับสต็อกงานระหว่างผลิต เป็นต้น

.

รูปที่ 6 แสดงรายงานผลระดับสายการผลิต

.
สรุป

ระบบการประเมินวัดผลการดำเนินงานสำหรับองค์กรยุคใหม่จะต้องสามารถติดตามจัดเก็บข้อมูลและเชื่อมโยงกับมาตรวัดแต่ละระดับซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทำให้ผู้บริหารได้รับทราบปัญหาและสถานะการดำเนินงาน ดังนั้นมาตรวัดผลจึงต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจที่มุ่งตอบสนองและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

.

ด้วยเหตุนี้มาตรวัดจึงเป็นเสมือนคำถามที่จะบอกว่า เรากำลังจะไปทางไหน อะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ เป้าหมายของเราอยู่ที่ไหน และควรทำอย่างไรเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของธุรกิจ  

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด