เนื้อหาวันที่ : 2010-11-16 18:33:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5274 views

ข้อควรรู้ในการออกแบบระบบไฟฟ้าเครื่องกลสำหรับประเทศในตะวันออกลาง

ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงระดับ 50–60 ดอลลาร์สหรัฐ สูงจนกระเป๋าสตางค์แฟบและฉีกแล้ว นักวิเคราะห์บางท่านยังบอกให้กลัวขึ้นสมองไปอีกว่าจะได้เห็นราคาที่ 100 เหรียญอเมริกา แค่นี้เราคงบอกได้ว่าประเทศใดจะมีเงินส่วนเกิน (Surplus) มากที่สุดในโลก

ข้อควรรู้ในการออกแบบระบบไฟฟ้าเครื่องกลสำหรับประเทศในตะวันออกลาง
(Design Notes for the Middle East)

.

ขวัญชัย กุลสันติธำรงค์
kwanchai2002@hotmail.com

.

ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงระดับ 50–60 ดอลลาร์สหรัฐ สูงจนกระเป๋าสตางค์แฟบและฉีกแล้ว นักวิเคราะห์บางท่านยังบอกให้กลัวขึ้นสมองไปอีกว่าจะได้เห็นราคาที่ 100 เหรียญอเมริกา แค่นี้เราคงบอกได้ว่าประเทศใดจะมีเงินส่วนเกิน (Surplus) มากที่สุดในโลก เงินส่วนเกินหมายถึง เงินที่งอกขึ้นมาโดยไม่ได้มีผลิตผลเกิดขึ้นหรือแลกมาด้วย Productivity ใด ๆ          

.

แต่จริง ๆ ก็คือเงินของประเทศที่ไม่มีบ่อน้ำมันแหละครับ ที่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำเอาเงินไปแลกน้ำมันมา ประเทศที่ร่ำรวยเหล่านี้ก็คือ กลุ่มประเทศโอเปก ผู้ส่งออกน้ำมันเป็นสินค้าออก ถูกต้องแล้วครับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในตะวันออกลางนั่นเอง ประเทศเหล่านี้ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย บาร์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) คูเวต โอมาน และการ์ตา 

.

รูปที่ 1 แผนที่แสดงกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางบริเวณรอบอ่าวเปอร์เซีย หรือ Gulf States

.

เมื่อมีเงินส่วนเกินในประเทศจำนวนมหาศาล ก็ต้องหาทางเอาเงินออกมาใช้ แน่นอนครับก็ต้องใช้เงินไปกับการซื้อ และสร้าง การสร้างในที่นี้ก็คือ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ใช่แล้วครับ ผมกำลังบอกว่าอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่กล่าวถึงข้างต้นกำลังบูมสนั่น เหมือนประเทศไทยในอดีตที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์พองตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533–2538                

.

แต่ไม่เหมือนของไทยที่ตรงไหนรู้มั้ยครับ เขาบูมด้วยเงินของเขาเองจริง ๆ แต่เราบูมด้วยเงินกู้ไงครับ เพื่อนฝูงหลายคนที่ผมรู้จักก็ขยับขยายไปทำงานที่นั่น บริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยก็ไปที่นั่น บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาก็รับงานออกแบบจากที่นั่นมาทำในประเทศไทยและส่งแบบหรือเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกลับไปให้กับลูกค้า เพื่อใช้ในงานก่อสร้างต่อไป เรียกว่า Act Global Do Local เท่ซะไม่มี

.

พูดถึงงานออกแบบระบบไฟฟ้าเครื่องกลในประเทศไทยกับประเทศในตะวันออกกลางแล้ว เราคงเข้าใจได้ว่าต้องมีข้อแตกต่างมากมาย แค่นึกถึงอุณหภูมิที่ร้อนตับแลบ ฝุ่นทราย หรือพายุทะเลทรายแล้ว วิศวกรผู้ออกแบบไทยคงต้องไตร่ตรองและคำนึงถึง อะไรต่อมิอะไร ให้รอบคอบก่อนจรดปากกา หรือคลิกเมาส์ เพื่อออกแบบและส่งงานกลับให้ลูกค้าใช้งานแล้วละครับ มาศึกษาในรายละเอียดด้วยกันมั้ยครับว่า อะไรต่อมิอะไรที่ผมว่าจะมีอะไรบ้าง เป็นงงหรือยังครับ

.

ข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบ (Basic Design Information)
รู้ร้อน รู้หนาว ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาบอกเราได้ 

ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาสำคัญนะครับ ขอบอก เป็นข้อมูลพื้นฐานบอกเราว่าอุณหภูมิของอากาศของวันในแต่ละเดือนมีค่าสูงสุดและต่ำสุดเท่าไร มีค่าความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity %) มากขนาดไหน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในแต่ละเดือนเท่าไร เป็นต้น

.

รูปที่ 2 ตัวอย่างข้อมูลอุตุนิยมวิทยาของบาร์เรน

.

จากข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในรูปที่ 2 นำมาคำนวณหาอุณหภูมิที่ใช้ในการออกแบบ (Design Temperature) ได้ ซึ่งวิศวกรระบบปรับอากาศต้องการข้อมูลเหล่านี้ในการออกแบบ และกำหนดคุณสมบัติของวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น Water Chiller, Cooling Tower, Air Handling Unit เป็นต้น ถ้าวิศวกรผู้ออกแบบไม่ได้ใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่ถูกต้องในการออกแบบแล้วละก็ แค่เริ่มต้นออกแบบก็ผิดแล้วละครับ

.

ตารางที่ 1 แสดงอุณหภูมิที่ใช้ในการออกแบบ (Design Temperatures) ในแต่ละสถานที่ โดยคำนวณจากข้อมูลอุตุนิยมวิทยา

.

ค่าที่แสดงอยู่ในตารางที่ 1 สามารถนำมาใช้ในการคำนวณเบื้องต้นได้ (Preliminary Calculations) แต่การคำนวณขั้นสุดท้าย (Final Calculations) ควรอ้างอิงกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้น ๆ ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่ามีความถูกต้อง แม่นยำ 

.

มีข้อพึงระวังอีกประการหนึ่งก็คือ ไม่ควรอ้างอิงข้อมูลจากพื้นที่หนึ่งไปใช้กับพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงในลักษณะเดียวกับการอ้างอิงแบบ Topographic ซึ่งอุณหภูมิในแต่ละจุดสามารถเปลี่ยนแปลงได้มากอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นต้องระวังครับ

.

มาตรฐานท้องถิ่น (Local Standards) สิ่งที่ต้องรู้

มาตรฐานท้องถิ่นก็เปรียบเหมือนกับกฎหมายท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ดังนั้นวิศวกรผู้ออกแบบก็ต้องออกแบบงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลให้ถูกต้องตามมาตรฐานท้องถิ่นของแต่ละประเทศ หากว่าไม่มีมาตรฐานท้องถิ่นใช้อ้างอิงในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ก็ควรจะอ้างอิงมาตรฐานนานาชาติ (International Standard)       

.

เนื่องจากในตะวันออกกลางมีชาติตะวันตกเข้าไปทำมาหากินเป็นจำนวนมากและเป็นเวลานานแล้ว มาตรฐานนานาชาติที่ใช้อ้างอิงได้ก็จะเป็นมาตรฐานจากอังกฤษ British Standard จากสหรัฐอเมริกา ASTM, NFPA และจากยุโรป IEC, ISO, VDE 

.

ระบบไฟฟ้ากำลัง (Electrical Power Supply) ในซาอุดิอาระเบีย เป็นระบบ 60 Hz และมาตรฐานจากสหรัฐอเมริกาใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศนี้ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ รอบอ่าวเปอร์เซีย (Gulf States) อีกห้าประเทศ จะใช้มาตรฐาน BS อย่างแพร่หลาย ถ้าท่านผู้อ่านเคยดูหนังเรื่อง ลอเรนซ์แห่งอาระเบียก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมมาตรฐาน BS ถึงใช้งานแพร่หลายในประเทศกลุ่มนี้

.

สำหรับมาตรฐาน BS นั้น เพื่อนวิศวกรที่ปรึกษาที่สนใจสามารถไปติดต่อได้ที่ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (ส.ม.อ.) ถนนศรีอยุธยา ตรงข้ามโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งที่นั่นมีมาตรฐาน BS จำนวนมาก ค่อนข้างครบถ้วน ให้ศึกษาและถ่ายสำเนาได้ครับ

.

ตารางที่ 2 ตัวอย่างมาตรฐาน BS Standard ที่ใช้อ้างอิงในการออกแบบได้    

.

วิศวกรผู้ออกแบบต้องศึกษาข้อบังคับของการไฟฟ้าท้องถิ่น การประปาท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่ให้บริการระบบสาธารณูปโภคโภคท้องถิ่นด้วย เหมือนเวลาเราออกแบบระบบไฟฟ้าแรงสูงหรือระบบไฟฟ้าแรงต่ำต้องเป็นไปตามมาตรฐานการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าภูมิภาคนั่นแหละครับ เหมือนกัน                           

.

หรืออาจจะต้องปรึกษาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเหล่านั้น ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการออกแบบหรือตั้งแต่ Preliminary Design ก็จะดีเพื่อลดความผิดพลาดในการออกแบบที่อาจจะเกิดขึ้น

.

นอกจากนี้ วิศวกรผู้ออกแบบควรคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ (Local Material and Products) ด้วย เพราะมีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกค้าอาจจะมีความต้องการเลือกใช้ของในประเทศมากกว่าของนอกก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามถ้าต้องใช้ของนอกจริง ๆ แล้ว ขอแนะนำว่าควรจะต้องพิจารณาเลือกใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าโดยตัวแทนจำหน่ายหรือผู้นำเข้าที่มีคุณภาพเพื่อประกันความผิดหวัง

.

สภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศ (Climate and Terrain) 

สภาพอากาศของตะวันออกกลาง มีแดดแรงจัด (High Intensities of Solar Radiation) อุณหภูมิสูง (High Temperature) มีความชื้นสูง (High Humidity) เป็นบรรยากาศของไอทะเล (Saline Atmosphere) มีพายุทรายและฝุ่น (Sand and Dust Storms) เพียงเรื่องการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศอย่างนี้เรื่องเดียวก็เวียนหัวแล้วละครับ 

.

แดดที่แรงจัดจะทำให้วัสดุประเภทพลาสติก เช่น ท่อพีวีซี ท่อพีอี เสื่อมคุณภาพได้ ถึงแม้ว่าวัสดุประเภทนี้จะนำไปใช้ภายในอาคารก็ตาม แต่ในระหว่างการขนส่งหรือจัดเก็บ ถ้าทำไม่ดีปล่อยให้ตากแดดตากลมทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ แล้วละก็ ท่อพลาสติกพวกนี้ก็อาจเสื่อมคุณภาพและมีอายุใช้งานสั้นลงไปแล้วเมื่อต้องเอาใช้งานจริง 

.

ท่อน้ำและแท็งก์น้ำที่ต้องโดนแดด ควรต้องทาสีสะท้อนแสง (สีดำอย่าใช้นะครับ ร้อนตายเลย) อุณหภูมิระหว่างที่เห็นท้องฟ้าแจ้งสูงมากกว่า 40 C dry–bulb และลดต่ำลงไปถึง -10 C dry–bulb ในตอนกลางคืน วัสดุอุปกรณ์ที่เลือกใช้ต้องทนต่อ Thermal Shock หรือภาวะเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาวให้ได้

.

พื้นที่ส่วนใหญ่ของตะวันออกกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเล จะมีบรรยากาศของไอทะเลและดินมีส่วนผสมของเกลือในปริมาณสูง และที่พบบ่อยก็คือระดับความลึกของน้ำในดินก็ไม่ลึกนักแม้ว่าจะอยู่ห่างจากทะเลหลายกิโลเมตรแล้ว ความชื้นที่สูง ไอทะเล และพายุทรายและฝุ่นจะทำให้ผิวหน้าและส่วนที่อยู่ภายในของมอเตอร์ พัดลม

.

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ควบคุมเสียหายได้ถ้าไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม รวมถึงท่อน้ำ ท่อไฟฟ้า หรือแท็งก์น้ำที่ฝังใต้ดินต้องหาวิธีป้องกันให้ดีครับไม่งั้นผุกร่อนหมดแน่เลย

.

ในบางพื้นที่ที่มีพายุทรายเกิดขึ้นบ่อยอาจจะมีฝนตกและน้ำท่วมฉับพลัน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่สูงต้องออกแบบเผื่อแรงลมไว้ด้วยและต้องมีระบบล่อฟ้าไว้ด้วย

.

ในหลายพื้นที่จะมีหนูชุกชุม (หนูน่ะครับ ไม่ใช้น้องหนู) เจ้าหนูพวกนี้ก็เหมือนกับหนูไทยแหละครับ ชอบกัดกินพวกพลาสติกและฉนวนต่าง ๆ เช่น ท่อพีวีซี ฉนวนหุ้มสายสายไฟ ก็ต้องหาวิธีป้องกันไว้บ้างนะครับ ไม่งั้นหนูอิ่ม เราจะแย่

.

จากที่บรรยายมาข้างต้น ปัญหาหลายอย่างอาจจะแก้ไขได้ที่หน้างาน แต่อย่างไรก็ตามวิศวกรผู้ออกแบบต้องพิจารณาเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับวัสดุและอุปกรณ์ก่อนการติดตั้ง

.

พายุทรายและพายุฝุ่น (Sand and Dust Storm)

มาถึงตะวันออกกลางแล้วไม่พูดถึงพายุทรายและพายุฝุ่นก็เหมือนมาไม่ถึง จริงไหมครับ บรรยากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นทรายมีผลโดยตรงต่อคุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality) เพราะถ้าอากาศดีภายนอก (Fresh Air) มีฝุ่นทรายในปริมาณสูงก็ต้องออกแบบให้มี Air Filter หรือที่กรองฝุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อกรองเอาฝุ่นทรายออกจากอากาศดีเพื่อให้ได้อากาศที่มีคุณภาพหมุนเวียนภายในอาคาร 

.

ลองมาดูรูปแบบของพายุทรายและพายุฝุ่นที่เกิดขึ้นกันหน่อยดีไหมครับ 

รูปที่ 3 air distribution pattern for sandstorm

.

รูปที่ 4 air distribution pattern for dust storm

.

พายุทรายจะมีการเคลื่อนที่ในแนวระนาบ ถ้ามองเหมือนคลื่นก็จะมียอดคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ซึ่งไม่สูงนักเนื่องจากมีขนาดของอนุภาคใหญ่กว่าฝุ่นถึง 80–2000 เท่า ส่วนพายุฝุ่นที่เกิดขึ้นจะมีแรงยกในแนวดิ่งด้วยทำให้ฝุ่นที่มีขนาดของอนุภาคน้อยกว่า 10 ไมครอนฟุ้งกระจายขึ้นที่สูงถึง 250–600 เมตรได้

.

ปกติแล้ว พายุทรายจะเกิดขึ้นเมื่อลมพัดที่ความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนพายุฝุ่นจะเกิดขึ้นเมื่อลมพัดที่ความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หมายความว่าพายุฝุ่นจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าพายุทราย โดยทั่วไปพายุทรายจะพัดต่อเนื่องนาน 2 ชั่วโมง     

.

ส่วนพายุฝุ่นจะพัดต่อเนื่องนาน 5 ชั่วโมง เมื่อความเร็วลมต่ำกว่า 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมงฝุ่นทรายก็จะสงบเหมือนตกตะกอนนอนก้น ตารางที่ 2 แสดงให้เห็นว่าอนุภาคแต่ละขนาดจะใช้เวลา ตกตะกอนนอนก้น (Settling Time) เฉลี่ยนานเท่าไร

.

ตารางที่ 3 เวลาที่ฝุ่นทรายตกตะกอนนอนก้น

.

จะเห็นได้ว่าฝุ่นซึ่งมีขนาดอนุภาคประมาณ 10 ไมครอน ต้องใช้เวลานานเกือบหนึ่งสัปดาห์ ทัศนวิสัยจึงจะชัดเจน

รูปที่ 5 แสดงปริมาณของอนุภาคที่ระดับความสูง 3 เมตรและ 8 เมตร

.

จากรูปที่ 5 แสดงให้เห็นได้ว่าถ้าติดตั้ง Fresh Air Inlet ไว้ที่ความสูง 8 เมตร จะได้อากาศเข้าอาคารที่มีปริมาณของฝุ่นทรายปะปนน้อยกว่าหรือได้อากาศเข้าอาคารที่มีคุณภาพดีกว่าในกรณีที่ติดตั้ง Fresh Air Inlet ไว้ที่ความสูง 3 เมตร     

.

ในแง่ของการออกแบบ วิศวกรผู้ออกแบบต้องทราบปริมาณของฝุ่นทรายในอากาศเฉลี่ยต่อปี (มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) หรือค่า MAPC (ตารางที่ 4 และ 5) และข้อจำกัดของฝุ่นทรายที่ปะปนของอากาศภายในอาคารที่ยอมรับได้ (ตารางที่ 6) ซึ่งจะใช้เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของ Air Filter อีกทีหนึ่ง

.

ตารางที่ 4 แสดงการคำนวณหาปริมาณฝุ่นทรายในอากาศเฉลี่ยต่อปีที่ระดับความสูง 8 เมตร

.

จากตารางที่ 4 แสดงวิธีการคำนวณของปริมาณฝุ่นทรายในอากาศเฉลี่ยที่เกิดขึ้นในเวลาหนึ่งปี หรือ Mean Annual Particulate Concentration (MAPC) ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่นั้นและช่วงเวลาที่พายุฝุ่น พายุทราย จะเกิดขึ้นตามตัวอย่างในตารางที่ 5

.

ตารางที่ 5 ตัวอย่างของ Mean Annual Particulate Concentration (MAPC) ในพื้นที่ต่าง ๆ

.

ตารางที่ 6 ข้อแนะนำปริมาณความเข้มข้นสูงสุดของฝุ่นทรายภายในอาคาร 

.

การกัดกร่อน (Corrosion) 

ธาตุทั้งสี่ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ สามารถกัดกร่อนวัสดุอุปกรณ์ของงานระบบไฟฟ้าเครื่องกลโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายนอกอาคารให้เสื่อมสภาพได้อย่างรวดเร็วครับ 

.

โดยทั่วไปสำหรับพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินปัญหาการผุกร่อนค่อนข้างน้อย แต่สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลปัญหาจากการผุกร่อนมีค่อนข้างมาก เนื่องจากอากาศภายนอกที่มีความชื้นสูงและและไอทะเลเป็นสภาวะที่ทำให้เกิดการผุกร่อนได้มากที่สุด

.

ดังนั้นวิศวกรผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงในการออกแบบและเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีการป้องกันการผุกร่อนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ภายนอกอาคารเช่น แอร์คอนเดนเซอร์ เพื่อให้แน่ใจว่าวัสดุอุปกรณ์สามารถใช้งานได้นาน ไม่เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว 

.

สภาพของดินที่มีความชุ่มชื้นสูงและมีเกลือในทรายผสมอยู่จำนวนมากจะทำให้ดินมีภาวะกัดกร่อนสูง ดังนั้นการเลือกวัสดุและอุปกรณ์ที่ฝังหรือติดตั้งในดินต้องคำนึงถึงการป้องกันการผุกร่อนด้วยครับ 

.

การนำวัสดุอุปกรณ์เข้ามาที่สถานที่ก่อสร้างเพื่อติดตั้ง ต้องมีการเก็บวัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิศวกรรมด้วยครับ เพราะการปล่อยให้วัสดุอุปกรณ์กองทิ้งไว้กลางแดดที่มีความเข้มของรังสีอินฟราเรดและรังสีอัลตราไวโอเลตสูงก็จะทำให้วัสดุอุปกรณ์ประเภทอโลหะ พลาสติก หรือ ยางเสื่อมสภาพได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ประเภทนี้ต้องคำนึงถึงอุณหภูมิภายนอก ความชื้นในอากาศและโอกาสที่จะได้รับแสงแดดด้วย

.

แหล่งน้ำกินน้ำใช้มีตั้งแต่การขุดเจาะบ่อบาดาลถึงการผลิตน้ำโดยกระบวนการแยกเกลือ (Desalinated Water) คุณภาพน้ำบาดาลเปลี่ยนแปลงตามความลึกของบ่อบาดาล โดยทั่วไปต้องมีกระบวนการบำบัด (Treatment) น้ำบาดาลก่อนนำไปบริโภคและอุปโภค 

.

ส่วนคุณภาพของน้ำที่ผลิตโดยกระบวนการแยกเกลือจะเปลี่ยนแปลงไปตามคุณภาพของกระบวนการผลิต วัสดุที่ใช้ในระบบจ่ายน้ำต้องเลือกใช้อย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าวัสดุอุปกรณ์จะไม่ทำให้น้ำสกปรกและวัสดุอุปกรณ์เองต้องทนต่อการผุกร่อนจากน้ำนั้นได้ ที่ต้องระมัดระวังคือน้ำที่ผลิตจากกระบวนการแยกเกลือจะกัดกร่อนท่อเหล็ก Galvanised ได้ภายใน 6 เดือนถ้าน้ำนั้นผลิตได้ไม่ดี

.

แนวความคิดในการออกแบบระบบไฟฟ้าเครื่องกล (Design Concepts)

แนวความคิดทั่วไปในการออกแบบระบบไฟฟ้าเครื่องกลสามารถสรุปได้ดังนี้

(ก) กำหนดหลักการพื้นฐานของการออกแบบที่คำนึงถึงภูมิประเทศ ภูมิอากาศท้องถิ่น ความต้องการด้านธุรกิจ ด้านกฎหมาย และเงื่อนไขทางสังคม

.

(ข) ต้องพิจารณาการออกแบบระบบ (System Design) และการเลือกวัสดุอุปกรณ์ คาดคะเนถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นสูง ฝุ่น ทราย และแสงแดดแรงจัด บรรยากาศไอทะเล น้ำบาดาลและความผิดปกติของแหล่งกำเนิดไฟฟ้า

.

(ค) หลีกเลี่ยงการออกแบบที่สลับซับซ้อน ออกแบบให้ง่าย อย่าทดลองหรือออกแบบเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าใช้งานได้มาก่อน 

.

(ง) นำข้อมูลหรือประสบการณ์ในท้องถิ่น ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรทั้งหลายที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มที่

.

(จ) นำข้อมูลหรือคำแนะนำของผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ขนาดใหญ่เช่น Chiller, Sewage Treatment Plant etc. มาใช้ในการออกแบบ การติดตั้งและการทดสอบระบบและอุปกรณ์

.

(ฉ) ควรเลือกใช้ระบบหรืออุปกรณ์สำเร็จรูป (Packaged Equipment) ถ้าสามารถลดความต้องการพิเศษในการติดตั้งหน้างานได้

.

ระบบ HVAC

* อาจจะรู้สึกแปลกใจนะครับว่าในตะวันออกกลางต้องใช้ระบบทำความร้อน (Heating System) ด้วย แต่ถ้าศึกษาข้อมูลอุตุนิยมวิทยาก็จะพบว่าในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยภูเขาจะมีอุณหภูมิต่ำถึงติดลบ ดังนั้นระบบทำความร้อนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในบางพื้นที่เช่นกัน

.

* ระบบปรับอากาศ (Air Conditioning) สำหรับอาคารขนาดเล็ก เครื่องปรับอากาศมีให้เลือกใช้งานได้หลายประเภทตั้งแต่เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน หรือ Split Type เครื่องปรับอากาศชนิด Packaged Air Cooled เมื่อคำนึงถึงแหล่งน้ำและคุณภาพน้ำแล้ว  

.

การเลือกใช้เครื่องปรับอากาศชนิดระบายความร้อนด้วยอากาศ (Air Cooled) จะเหมาะสมกว่า สำหรับอาคารขนาดใหญ่ การออกแบบระบบปรับอากาศชนิดระบายความร้อนด้วยอากาศ (Air Cooled ) หรือชนิดระบายความร้อนน้ำ (Water Cooled) สามารถใช้งานได้ทั้งคู่ 

.

* ในปัจจุบันระบบปรับอากาศชนิด Central Air Handling หรือเครื่องส่งลมเย็นจากส่วนกลางที่มีความเร็วลมต่ำ (Low Velocity) ใช้ในอาคารขนาดใหญ่เช่น ห้องประชุม โรงแรม หอประชุม ภัตตาคาร พื้นที่ส่วนกลางในโรงแรม ได้รับความนิยมและติดตั้งใช้งานอย่างแพร่หลายครับ ในขณะที่เครื่องส่งลมเย็นที่มีความเร็วลมสูงไม่นิยมใช้งานกันครับ

.

* ระบบปรับอากาศชนิดใช้น้ำเย็นเป็นตัวทำความเย็น (Chilled Water Plant) ใช้งานอย่างแพร่หลายในโครงการหลายประเภทเช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน อาคารพักอาศัย โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เป็นต้น 

.

โดยเป็นระบบ 2 ท่อ Supply/Return Chilled Water Pipes System จ่ายน้ำเย็นไปยังเครื่องเป่าลมเย็น (Fan Coil Unit) และเครื่องส่งลมเย็น (Air Handling Unit) พร้อมอุปกรณ์ควบคุมความเร็วลม (3–speed Fan Switch) อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ (Thermostat Control) และ Modulating Control Valves

.

* ฉนวน (Insulation) ที่ใช้งานในระบบ HVAC ต้องทนต่อภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงและความชื้นสูงได้

.

* ความต้องการทั่วไปของระบบระบายอากาศได้แก่
(ก) ต้องแน่ใจว่าตำแหน่งลมเข้าอาคาร (Outside Air Intake) อยู่ในตำแหน่งสูงสุดเท่าที่จะทำได้
(ข) กำหนดให้ Filter เป็นวัสดุที่ภายหลังจากทำความสะอาดแล้วสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ (Washable Filter Media)
(ค) ต้องแน่ใจว่าได้ติดตั้ง Sand Trap Louver ไว้ที่ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และห้อง Water Treatment Plant
(ง) กำหนดให้ Face Velocity ที่ผ่าน Sand Trap Louver มีความเร็วต่ำสุด
(จ) กำหนดให้มี Dirty Filter Alarm ที่ Filter ทุกตำแหน่ง โดยอาจจะใช้ Differential Pressure Sensors ได้
(ฉ) จัดให้มีตำแหน่งที่เข้าถึงได้ (Access Point) ที่ท่อจ่ายลมเย็นเป็นช่วง ๆ เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาด
(ช) กำหนดให้มีลิ้นกันลม (Damper) ที่ตำแหน่งลมเข้าอาคาร เพื่อให้ปิดได้ในเวลาที่เกิดพายุฝุ่นและพายุทราย

.

* การคำนวณโหลดระบบปรับอากาศ (Air Conditioning Load Calculation) ต้องคำนึงถึงการเติมอากาศภายนอกเข้ามาในระบบปรับอากาศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่ Outdoor Summer Wet–bulb Temperature มีค่าสูงซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดอุณหภูมิภายในในการออกแบบ รวมถึงความสบาย และการออกแบบระบบอีกด้วย

.

นอกจากนี้ความร้อนจากแสงแดด ความร้อนจากระบบปรับอากาศได้แก่ความร้อนจากมอเตอร์ของพัดลม จาก Chilled Water Pump จากท่อลม และท่อน้ำทั้งหมดนี้มีผลต่อการคำนวณโหลดของระบบปรับอากาศของอาคารด้วยนะครับ อย่ามองข้ามจุดสำคัญเหล่านี้นะครับ

.

ระบบสุขาภิบาล (Sanitary System)

* เนื่องจากการขยายตัวของเมืองต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นวิศวกรผู้ออกแบบต้องตรวจสอบข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในเรื่องของระบบสุขาภิบาลก่อนการออกแบบและการก่อสร้าง

.

* เนื่องจากค่าน้ำประปาสูงมากครับ ดังนั้นการออกแบบนำน้ำใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่เป็นน้ำรดน้ำต้นไม้ (Irrigation Water) จะดีกว่าการปล่อยน้ำทิ้งไปเปล่า ๆ นะครับ

.

* ถ้ากำหนดให้ใช้ท่อ uPVC ต้องมั่นใจว่าการเก็บท่อ uPVC ต้องไม่ปล่อยตากแดด ต้องจัดเก็บไว้ในที่เหมาะสม เพราะรังสีอัลตราไวโอเลตจะทำให้ท่อ uPVC เสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว การติดตั้งต้องเป็นไปตามคำแนะนำของผู้ผลิต (Manufacturer Recommendation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการขยายตัว (Thermal Expansion) 

.

* ในการออกแบบและติดตั้งงานท่อต่าง ๆ (Pipework) ต้องจัดให้มีจุดที่เข้าถึงได้ (Access Points) เพื่อแยงท่อเมื่อท่ออุดตัน ทำความสะอาดท่อต่าง ๆ โดยตำแหน่งช่องเปิดต้องอยู่เหนือระดับน้ำท่วมถึงได้ หรือ Flooding Level ของตำแหน่งนั้น

.

* ในระบบน้ำทิ้งในบางประเทศนิยมออกแบบให้ท่อ Waste กับท่อ Soil แยกกันเป็น Two Pipes System ในบางประเทศอนุญาตให้ออกแบบเป็นระบบท่อเดียวคือ Waste กับ Soil รวมกันได้ 

.

* การออกแบบห้องน้ำต้องเป็นไปตามข้อปฏิบัติในศาสนาอิสลาม ดังนั้นก่อนออกแบบควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ทางศาสนาท้องถิ่นก่อนการออกแบบด้วย ต้องจัดให้มี Floor Drain ในห้องน้ำ (Toilet ) และห้องอาบน้ำ (Bathroom) โดย Floor Drain Outlet นี้ต้องป้องกันไม่ให้แมลงหรือหนูผ่านเข้ามาได้รวมทั้งต้องป้องกันกลิ่นย้อนเข้ามาในอาคาร

.

* การออกแบบระบบระบายน้ำฝน ต้องศึกษาข้อมูลปริมาณน้ำฝน (Rainfall Data) ในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย ท่านผู้อ่านที่ดูการถ่ายทอดสดเอเชี่ยนเกมส์จากประเทศการ์ตาร์จะพบว่าการแข่งขันกีฬาหลายอย่าง เช่น เทนนิสต้องหยุดแข่งขันเพราะฝนตก ในตะวันออกกลางยังมีฝนตกนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่มี โดยออกแบบระบบระบายน้ำฝนให้

.

(ก) ระบายน้ำฝนทั้งหมดที่ตกลงมาทิ้งเพื่อไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ของโครงการ
(ข) Roof Drain Outlet บนหลังคามีโอกาสจะตันได้ดังนั้นต้องออกแบบให้มี Overflow Drainage Channel ทางระบายน้ำล้น เพื่อไม่ให้น้ำฝนไหลย้อนกลับเข้ามาในอาคาร
(ค) ต้องไม่มีการหักงอท่อระบายน้ำในระบบระบายน้ำฝนเพราะอาจจะทำให้มีทรายสะสมในเส้นท่อ
(ง) ออกแบบให้มี Roof Drain Outlet อย่างน้อย 2 จุดบนหลังคา

.

* ในการออกแบบและติดตั้งระบบน้ำดี ในหลายประเทศไม่อนุญาตให้ใช้ท่อ Galvanized Steel Pipe เพราะมีความเป็นไปได้ที่น้ำที่ไหลในเส้นท่อจะทำให้ท่อผุกร่อนให้ใช้ท่อทองแดง ท่อซีเมนต์ ท่อเหล็ก Black Steel Pipe แทน

.

* ควรออกแบบให้มีถังเก็บน้ำดีในอาคารเพื่อกักเก็บน้ำไว้นาน24 ชั่วโมง ตำแหน่งถังเก็บน้ำไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่ถูกแดดโดยตรง ควรติดตั้งอยู่ภายในห้องเครื่องสูบน้ำจะดีกว่า

.

ระบบไฟฟ้า (Electrical Services)

* สำหรับโครงการขนาดใหญ่ ควรจัดหาและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง Diesel Generator เป็นแหล่งไฟฟ้าสำรองด้วยนะครับ ถึงแม้ว่าการไฟฟ้าท้องถิ่นของประเทศในตะวันออกกลางได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้ว โดยมีความต้องการทางเทคนิคที่สำคัญดังนี้

.

(ก) ติดตั้งไดชาร์จสตาร์ทด้วยมือเผื่อไว้ในกรณีที่แบตเตอรี่ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเสีย
(ข) ติดตั้งปั๊มสูบน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยมือ หรือ Hand Pump ไว้ที่ถังเก็บน้ำมัน (Day Tank) ด้วย
(ค) ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในห้องที่ที่เสียงรบกวน (Noise) ความร้อน (Heat) และควันเสียไม่ก่อให้เกิดปัญหา

.

(ง) ต้องจัดให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอที่จะระบายความร้อนที่เกิดขึ้นจากเครื่องยนต์และหม้อน้ำ ขอแนะนำว่าควรที่จะติดตั้งหม้อน้ำห่างจากเครื่องยนต์หรือที่เรียกกันว่า Remote Radiator ซึ่งจะช่วยลดปริมาณลมเย็นที่ต้องการภายในอาคารได้

.

(จ) ติดตั้ง Sand Trap Louver เพื่อป้องกันฝุ่นหรือทรายเข้าไปในห้อง Generator หรือติดตั้ง Fresh Air Inlet ในระดับสูงก็ได้

.

* การเลือกว่าโหลดไฟฟ้าประเภทใดรับไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองควรพิจารณาว่าจะเกิดความเสียหายอะไรบ้างถ้าไฟฟ้าดับ เช่น เมื่อเครื่องสูบน้ำไม่ทำงานน้ำทิ้งจะล้นจากบ่อพักน้ำ พัดลมระบายอากาศของห้องแบตเตอรี่หยุดทำงาน ก๊าซพิษที่เป็นอันตรายจะสะสมอยู่ในห้อง

.

หรือในกรณีที่เครื่องปรับอากาศของห้อง Server ไม่ทำงานจะทำให้อุณหภูมิในห้องสูงกว่าค่า Set Point ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ Shutdown รวมถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่น ๆ ได้แก่ พัดลมอัดอากาศในบันไดหนีไฟ พัดลมดูดควันไฟ เครื่องสูบน้ำดับเพลิง ไฟแสงสว่างฉุกเฉิน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรับไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองเพื่อให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาแม้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าท้องถิ่นจะดับลง

.

* เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดต้องติดตั้งเพื่อทำงานในภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง ดังนั้นสวิตช์เกียร์ไฟฟ้าแรงสูงหรืออุปกรณ์ที่ใช้กระแสไฟฟ้าสูงควรเป็นชนิดที่มีฉนวนประเภท Oil/Compound/Resin Insulated มากกว่าประเภท Air Insulated ซึ่งมีประสิทธิภาพในการถ่ายเทความร้อนที่ต่ำกว่า

.

อย่าลืมด้วยครับว่าการกำหนด Rating ของอุปกรณ์ไฟฟ้าต้องใช้ตัวคูณลดที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมในการติดตั้ง ปัญหาที่จะติดตามมาในอนาคตในขณะใช้งานและบำรุงรักษาก็จะน้อยลง

.

* ในตะวันออกกลางสภาวะความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) เกิดขึ้นเมื่อระบบปรับอากาศทำงานอย่างเต็มที่ โดยจะเกิดขึ้นพร้อมกับที่อุณหภูมิภายนอกสูงสุดและการระบายความร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ (Natural Ventilation) น้อยสุด การกำหนดขนาดหม้อแปลงไฟฟ้าต้องคำนึงถึงสภาวะดังกล่าวนี้ เพราะถ้าหม้อแปลงไฟฟ้ามีขนาดไม่เหมาะสม

.

เมื่อการระบายความร้อนขาดประสิทธิภาพ หม้อแปลงไฟฟ้าอาจจะเกิดโหลดเกิน (Overload) ได้ นอกจากนี้ต้องไม่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าภายนอกอาคารในตำแหน่งที่ถูกแสงแดดจัดโดยตรง เพราะผลเสียที่เกิดขึ้นตามมาจะมากกว่าที่หม้อแปลงไฟฟ้าทำงานในสภาวะโหลดเกินอีกนะครับ ต้องระวัง

.

* หม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งเป็นหัวใจของระบบไฟฟ้ากำลังมีโอกาสที่จะทำงานในอุณหภูมิที่สูงมากกว่า 40 ๐C dry bulb ในภาวะ Full Load ในระหว่างวันและทำงานในอุณหภูมิ  –10 ๐C dry bulb ในภาวะโหลดน้อยในเวลากลางคืน จากช่วงของอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงนี้ การเลือกใช้หม้อแปลงไฟฟ้าน้ำมันชนิด Hermetically Sealed จะเหมาะสมกว่า

.

* ห้องเมนไฟฟ้าของอาคารหรือห้อง MDB ที่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ควรต้องมีระบบระบายอากาศด้วยวิธีทางกล (Mechanical Ventilation) หรืออาจจะต้องติดตั้งระบบปรับอากาศก็ได้เพื่อควบคุมอุณหภูมิแวดล้อม (Ambient Temperature) ให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม

.

* ดินในตะวันออกกลางจะประกอบด้วยทรายเป็นส่วนประกอบหลักหรือวัสดุที่นำไฟฟ้าได้น้อยผสมอยู่รวมถึงน้ำในดินก็อยู่ในระดับที่ลึกกว่าการต่อลงดินโดยวิธีทั่วไปจะไปถึงได้ นอกจากนี้ในภาวะที่อากาศแห้งมีโอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าสถิตที่โครงสร้างโลหะได้ง่าย     

.

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและการทำงานที่ถูกต้องของระบบไฟฟ้า ต้องต่อส่วนที่เป็นโครงสร้างโลหะและสิ่งห่อหุ้ม (Enclosure) ที่เป็นโลหะของอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้าด้วยกันเป็นระบบ Equipotential Bonding โดยใช้ตัวนำไฟฟ้าที่มีค่าอิมพีแดนซ์น้อย ได้แก่ Cable Sheath, Cable Amour หรือ Copper Bonding Conductor ก็ได้

.

ระบบดับเพลิง (Fire Protection System)

* การกำหนดจุดรับน้ำดับเพลิง หรือ Fire Inlet ตำแหน่งถังเก็บน้ำดับเพลิงของอาคาร และการเชื่อมต่อระบบดับเพลิงของอาคารเข้ากับกับท่อเมนน้ำดับเพลิงสาธารณะ (ถ้ามี) ต้องพิจารณาจากความสัมพันธ์ของสถานที่ก่อสร้างกับ (1) ถนนสาธารณะที่ผ่านหน้าโครงการ (2) หัวจ่ายน้ำดับเพลิงสาธารณะ (บ้านเราเรียกว่าหัวแดง) และ (3) สถานีตำรวจดับเพลิงที่อยู่ใกล้เคียง 

.

* สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ การจัดหาและติดตั้งหัวจ่ายน้ำดับเพลิง (Hydrant) รอบอาคารเป็นสิ่งจำเป็นโดยต้องต่อเชื่อมเข้ากับหัวจ่ายน้ำดับเพลิงสาธารณะ
*  ในกรณีที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องการน้ำดับเพลิงในปริมาณสูงและความเชื่อถือได้ของแหล่งจ่ายน้ำดับเพลิง ควรจัดให้มีถังเก็บน้ำดับเพลิงพร้อมเครื่องสูบน้ำดับเพลิงภายในอาคาร 

.

* มาตรฐาน BS Standard ได้กำหนดให้แยกถังเก็บน้ำดับเพลิงสำหรับ (1) ระบบ Hydrant มีขนาด 202 ลูกบาศก์เมตร คำนวณที่ Flow Rate 25 l/s ในเวลา 45 นาที (2) ระบบ Hose Reel มีขนาด 1.5 ลูกบาศก์เมตร และ (3) ระบบ Sprinkler มีขนาดอย่างน้อย 11 ลูกบาศก์เมตร 

.

* ใช้เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัว One Duty, One Standby ดีกว่าใช้เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัวกับเครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดเครื่องยนต์ดีเซล 1 ตัว วิธีนี้ช่วยลดขนาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองได้อีกด้วยครับ

.

* การออกแบบระบบดับเพลิงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร เส้นทางหนีไฟ รวมถึงการทำงานที่ปลอดภัยของพนักงานผจญเพลิงในขณะเกิดเพลิงไหม้ด้วย
* การออกแบบระบบ Sprinkler โดยทั่วไปสำหรับอาคารประเภท Commercial จะมี Fire Hazard Classification ประเภท Ordinary Hazard Group II 

.

* ในกรณีของห้องไฟฟ้าที่ ไม่เหมาะสมที่จะดับเพลิงด้วยระบบ Sprinkler หรือสถานที่ที่ดับเพลิงด้วย sprinkler ทำให้เกิดความเสียหายมาก ควรออกแบบระบบดับเพลิงด้วยก๊าซ (Automatic Gas Flooding System) ชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซฮาลอน หรือ FM – 200
* การออกแบบระบบดับเพลิงด้วยก๊าซ ควรพิจารณาดังนี้

.

(ก) เงินลงทุนของระบบดับเพลิงด้วยก๊าซขึ้นอยู่กับปริมาตรของห้องโดยต้องเปรียบเทียบกับมูลค่าของอุปกรณ์หรือวัสดุที่ติดตั้งอยู่ในห้องนั้น ๆ เช่นระบบคอมพิวเตอร์ หรือสวิตช์เกียร์ เป็นต้นว่ามีมูลค่ามากกว่าหรือน้อยกว่าระบบดับเพลิงด้วยก๊าซเพียงใด

.

(ข) การเลือกชนิดของก๊าซควรพิจารณาว่าห้องนี้เป็นห้องที่ (1) ไม่มีคนอยู่เลย (2) มีคนอยู่ตลอดเวลา หรือ (3) มีคนอยู่เป็นบางเวลา 
(ค) มีค่าใช้จ่ายในการทำให้ระบบใช้งานได้ใหม่หลังจากที่ระบบได้ฉีดก๊าซแล้วเท่าไร รวมถึงมีตัวแทนจำหน่ายก๊าซภายในประเทศด้วยหรือไม่ มีค่าขนส่งมายังโครงการเท่าไร

.

(ง) มีระบบปรับอากาศทำงานร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ จะต้องมีระบบควบคุมสั่งงานให้ระบบปรับอากาศหยุดทำงานอัตโนมัติก่อนที่ระบบดับเพลิงจะทำงาน รวมถึงมีลิ้นกันไฟ (Damper) ที่จะปิดท่อลมและช่องเปิดต่าง ๆ ที่ผ่านไปยังพื้นที่อื่นโดยอัตโนมัติก่อนที่ก๊าซจะฉีดออกมา

.

(จ) ความเข้มข้นของก๊าซมีค่าเท่าไร โดยขึ้นอยู่กับชนิดของก๊าซที่ใช้และลักษณะของเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น
(ฉ) ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ก๊าซฮาลอนเป็นตัวทำลายโอโซน แต่มีประสิทธิผลมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ต้องพิจารณาด้วยครับ

.

สรุป

จากรายละเอียดทั้งหมดข้างต้น หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นเบื้องต้นในการพิจารณาออกแบบระบบไฟฟ้า-เครื่องกล ให้มีความถูกต้องตามหลักวิศวกรรมและเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางนะครับ เรียกว่าออกแบบอย่างเข้าใจ เข้าถึง และถูกต้องไง

.

เอกสารอ้างอิง

1. Technical Memoranda “Design Notes for the Middle East” TM4 : 1990 CIBSE
2. CIBSE Guide Volume A : Design Data

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด