เนื้อหาวันที่ : 2010-11-11 17:54:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9064 views

กลยุทธ์การบริการหลังการขาย เพื่อเพิ่มระดับความพึงพอใจของลูกค้าอย่างรวดเร็ว

บทความนี้จะนำเสนอ กลยุทธ์การบริการหลังการขาย ของบริษัทชั้นนำ 3 บริษัท ที่ได้รับชัยชนะการบริการหลังการขาย ที่สามารถเพิ่มระดับความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นแนวทางให้บริษัท องค์กร ธุรกิจ ของประเทศไทยได้ประยุกต์ ใช้เป็นแนวทางในการบริหาร จัดการการบริการหลังการขาย

สนั่น เถาชารี
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
nutphysics@hotmail.com

.

.

บทความนี้กระผมจะนำเสนอ กลยุทธ์การบริการหลังการขาย ของบริษัทชั้นนำ 3 บริษัท ที่ได้รับชัยชนะการบริการหลังการขาย ที่สามารถเพิ่มระดับความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นแนวทางให้บริษัท องค์กร ธุรกิจ ของประเทศไทยได้ประยุกต์ ใช้เป็นแนวทางในการบริหาร จัดการการบริการหลังการขาย เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์แบบของการดำเนินการทางธุรกิจ อันจะนำมาซึ่งผลสำเร็จของการดำเนินการของกิจการ

.
ตัวอย่างที่ 1 แคนนอน กล้องถ่ายรูปดิจิตอล 
ความสัมฤทธิ์ผลของความพยายามในการสร้างผู้เชี่ยวชาญในการซ่อม

ที่ Quick Repair Center: QR Center ศูนย์การขายกล้องถ่ายรูปแคนนอนที่อูเอโน โตเกียว เวลาสิบโมงเช้าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นทีละคน ทีละคน สักครู่เดียว บริเวณช่องติดต่อประชาสัมพันธ์ก็เต็มไปด้วยลูกค้าที่มาเข้าคิว     

.

ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะนำกล้องถ่ายรูปดิจิตอล หรือปริ๊นเตอร์มารอการซ่อม ที่ศูนย์นี้เป็นศูนย์รวมการซ่อมที่รวมช่างไว้มากที่สุด ถ้ามีความเสียหายไม่มากนัก ทางศูนย์ก็ให้สัญญาว่า ถ้ากล้องถ่ายรูปก็ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าเป็นปริ๊นเตอร์ก็ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้นก็จะซ่อมเสร็จ

.

ลูกค้าแต่ละคนก็มีเหตุผลที่สำคัญ และจำเป็นทั้งนั้น เป็นต้นว่า “พรุ่งนี้ต้องไปเที่ยวแล้ว” หรือ “ต้องรีบเอาไปใช้งาน” ฯลฯ ในแต่ละปีจะมีลูกค้ามาใช้บริการที่ศูนย์การขายแห่งนี้ถึงปีละ 13,000 คน ซึ่งลูกค้าหลาย ๆ ราย ไม่รู้ว่าใช้เวลาซ่อมเพียงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง เมื่อรู้ว่าสามารถรอรับกลับได้เลยก็ยิ้มแย้มด้วยความพึงพอใจอย่างมาก ทำให้ทีมงานที่ศูนย์ ฯ รู้สึกว่าความพยายามที่มีมาตลอดได้ผลอย่างที่ต้องการ

.

จากตัวเลขปลายปีที่แล้ว ตลาดของกล้องถ่ายรูปดิจิตอลเติบโตอย่างมาก อัตราการครอบครองของจำนวนครัวเรือนน่าจะมีมากกว่า 50เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าทุก ๆ 2 ครอบครัว จะต้องมีกล้องถ่ายรูปดิจิตอลอยู่ในบ้าน      

.

ดังนั้นผู้ผลิตแต่ละบริษัท ต่างพยายามเป็นอย่างมากที่จะทำให้ลูกค้าทุก ๆ คนมีความพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าประเภทที่มีความชำนาญในการใช้กล้อง มีกล้องหลาย ๆ ชนิดที่แยกใช้ต่างกัน หรือลูกค้าประเภทมือใหม่ที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากไม่น้อยเลย

.

แคนนอนในปีนี้ได้รับการประเมินระดับความพึงพอใจของการบริการหลังการขาย เพิ่มขึ้นอีก 20 จุด เป็น 47 จุด ขยับจากอันดับ 7 มาเป็นอันดับ 2 ได้สำเร็จ (ในกลุ่มกล้องถ่ายรูปดิจิตอล โดยอันดับหนึ่งยังคงเป็นนิคอน ส่วนอันดับ 3 เป็นฟูจิฟิล์ม) ในอดีตที่ผ่านมา สูงสุดเคยได้อันดับที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2545 ฝ่ายวางแผนการขายของแคนนอนจึงประเมินว่าระดับการบริการหลังการขายของตนเอง เริ่มเข้าสู่ระดับที่มีมาตรฐานแล้ว

.

ช่างทำหน้าที่รับเรื่องการซ่อมโดยตรง บริษัทมีเป้าหมายว่า จะใช้การบริการหลังการขายสร้างเอกลักษณ์ของบริษัทให้ได้ การขายของแคนนอนใน 1-2 ปีจึงเน้นแนวนโยบายนี้มาโดยตลอด QR Center จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมของแนวนโยบายนี้นั่นเอง

.

หลายครั้ง ช่างอธิบายอย่างง่ายแก่ลูกค้าว่า “อย่างนี้ไม่ได้เสียหรอก เพียงแต่ติดตั้งไม่ถูกต้องเท่านั้นเอง” ใน QR Center ช่างเทคนิคจะเป็นผู้รับเรื่องการซ่อมจากลูกค้าโดยตรง รับฟังเรื่องราวความขัดข้องของเครื่องอย่างตั้งใจ พร้อมกับสอบถามว่าต้องการให้ซ่อมอย่างไร ? พร้อมทั้งสามารถให้คำตอบได้อย่างรวดเร็วว่ามีส่วนไหนของเครื่องที่ขัดข้อง ทำให้สามารถค้นหาว่า ความจริงเครื่องไม่ได้เสีย          

.

แต่ลูกค้าเข้าใจผิดหรือติดตั้งไม่ถูกต้อง ทำให้ใช้การไม่ได้ดีก็มีไม่น้อย จึงเพียงแต่แนะนำวิธีการใช้ที่ถูกต้องเท่านั้นก็เป็นที่เรียบร้อย แต่ถ้าเป็นเพียงพนักงานรับเรื่อง ที่ถึงแม้ว่าจะรับฟังปัญหาด้วยดี พร้อมกับยินดีรับเครื่องที่จริง ๆ แล้วไม่ได้เสียนำมาเก็บไว้ซ่อม แทนที่จะเป็นผลดีกลับทำให้ทั้งลูกค้า ทั้งบริษัทต้องเสียเวลาเปล่า ๆ ก็มี ดังนั้นการที่ช่างรับเรื่องโดยตรง เป็นการช่วยประหยัดเวลาและความยุ่งยากลงได้มากทีเดียว

.

เมื่อมีนโยบายที่จะซ่อมให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง ทาง QR Center ก็ต้องมีช่างเทคนิคที่มีความสามารถสูงอยู่ให้พร้อม ส่วนใหญ่จะมีอายุน้อย อย่างมากก็อายุ 30 กว่าปี ไม่ใช่นำช่างแก่ ๆ ที่จะเกษียณอายุ มาอยู่ที่ศูนย์ ฯ หัวหน้าทีมที่ศูนย์ ฯ นี้มีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น ถึงแม้จะมีอายุน้อยแต้ก็ผ่านการฝึกทักษะการเป็นช่างผู้ชำนาญการซ่อมมาเป็นอย่างดี

.

แนวนโยบายการบริหารบุคลากรของแคนนอนนั้น หลังวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทคู่แข่งอื่น ๆ ต่างพากันระงับการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ แต่ทีมงานขายของแคนนอนก็ยังคงรับช่างเทคนิคในจำนวนที่คงที่เป็นประจำมาตลอด จากนโยบายการสรรค์สร้างบุคลากรอย่างจริงจังของบริษัท ช่วยทำให้การบริการมีระดับคุณภาพที่สูงขึ้นได้ระดับหนึ่ง

.

หลังจากที่แคนนอนตั้ง QR Center ขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โซนี่หรือฟูจิก็เริ่มเปิดศูนย์สนับสนุนที่คล้ายคลึงกัน แต่ QR Center ของแคนนอน นอกจากมีที่โตเกียวแล้วยังมีที่โอซาก้า นาโกย่า ฟูกูโอกะ ต่าง ๆ รวมทั้งหมด 6 ศูนย์ ดังนั้น การที่แคนนอนสามารถเปิดศูนย์ซ่อมได้มากขนาดนี้ในระยะเวลาอันสั้นก็แสดงว่าจะต้องมีช่างเทคนิคที่มีฝีมือดีอยู่ในมือจำนวนมากนั่นเอง

.

ค่าซ่อมใช้ระบบ Flat Rate ค่าซ่อมนั้นตั้งไว้เป็น 3 อัตรา คือ 7,875 เยน 9,975 เยน และ 12,075 เยน ที่ QR Center นอกจากจะเป็นการซ่อมแบบเร่งด่วนแล้ว ในกลางปีที่แล้ว ฝ่ายขายของแคนนอนได้นำระบบของค่าซ่อมที่เป็นระบบ Flat Rate เข้ามาใช้เป็นบริษัทแรกในธุรกิจเดียวกัน เพื่อเป็นการแก้ไขความไม่พึงพอใจของลูกค้าที่ว่า “ค่าใช้จ่ายในการซ่อมมักจะแพงเสมอ”

.

ระบบค่าซ่อมใหม่นี้มีเป้าหมายอยู่ที่กล้องถ่ายรูปดิจิตอลแบบคอมแพกต์เท่านั้น แต่ยกเว้นสำหรับเครื่องที่เสียหายเกือบทั้งหมด ดังนั้น ทำให้ไม่ต้องมีการถกเถียง เจรจาต่อรองค่าซ่อมกับลูกค้าอีกต่อไป อัตราค่าซ่อมทั้ง 3 อัตรานี้ แบ่งเป็นค่าเทคนิคและค่าอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนด้วย เมื่อเปรียบเทียบโดยรวมกับค่าซ่อมเดิมแล้วจะถูกลงประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

.

และในปี พ.ศ. 2551 แคนนอนมีเป้าหมายจำหน่ายกล้องถ่ายรูปดิจิตอลจำนวน 16.8 ล้านเครื่อง ซึ่งจะก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก แซงหน้าโซนี่อย่างแน่นอน ตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นเองถึงแม้ว่าจะมีการเติบโตน้อยก็ตาม แต่ก็คาดการณ์ว่าแคนนอนน่าจะเพิ่มยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์           

.

การขยายจำนวนเครื่องที่ขาย ถึงแม้ว่าจะทำให้ผลประกอบการของแคนนอนดีขึ้นก็ตาม แต่ในทางตรงกันข้ามอาจจะทำให้การบริการลูกค้ามีคุณภาพลดต่ำลงได้ ดังนั้น หากไม่มีการพัฒนาระบบการบริการให้สอดคล้องกับจำนวนเครื่องที่เพิ่มขึ้น ก็จะกลายเป็นการบริการแบบคุณภาพต่ำไปในทันที

.

ภายในปีนี้ แคนนอนจะเพิ่มศูนย์ซ่อม QR Center ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังใช้ Web Questionnaire สอบถามไปยังผู้ซื้อกล้องถ่ายรูปดิจิตอลว่าต้องการการบริการอะไรบ้าง เพื่อพิจารณานำเสนอการบริการใหม่ ๆ สร้างระบบสนับสนุนให้สมกับความเป็นผู้นำในธุรกิจเดียวกันนี้ ความแข็งแกร่งของแคนนอนก็จะคงอยู่ไปได้นานทีเดียว

.
ตัวอย่างที่ 2 เครื่องซักผ้าซันโย การตอบสนองในเวลาเร่งด่วน เพิ่มความเชื่อมั่นให้สูงขึ้น

ในระยะหลังเครื่องซักผ้าเป็นถังเดี่ยวและปั่นให้แห้งได้ด้วย จึงมีสมรรถนะการใช้งานที่สูงขึ้นแต่ในขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องแบบเก่า วิธีการใช้นั้นซับซ้อนขึ้นมาก จึงมักจะมีลูกค้าโทรมาสอบถามอยู่เสมอ    

.

เป็นต้นว่าต้องใช้ผงซักฟอกเท่าไหร่จึงจะพอดี หรือเวลาปั่นแห้งมักมีกลิ่นแปลก ๆ หรือกดปุ่มยกเลิกแล้วทำไมไม่ยกเลิก ฯลฯ เมื่อเครื่องซักผ้าเริ่มมีระบบอัตโนมัติมากขึ้นจึงมีปัญหาไม่น้อยกว่าเครื่องไฟฟ้าแบบดิจิตอลเลย ปัญหาเหล่านี้ ทางหน่วยงาน Customer Service: CS ต้องพบอยู่เสมอ ๆ ทีเดียว

.

ในปี พ.ศ.2545 ซันโยเป็นรายแรกที่วางการตลาดเครื่องซักผ้าปั่นแห้งระบบอัตโนมัติถังเดี่ยว ที่สามารถนำเสื้อผ้าเข้าออกได้จากด้านบน หรือที่เรียกว่า Top-Open Drum ในขณะที่ปี พ.ศ.2546 มัทสึชิตะ (เนชั่นเนล พานาโซนิค) ได้นำเครื่องซักผ้าปั่นแห้งแบบถังเอียงมาสู้ในตลาด ทำให้ตลาดมีความคึกคักอย่างมาก การแข่งขันก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  

.

ส่งช่างฝีมือดีไปทั่วประเทศ ในการบริการหลังการขาย ซันโยก็ได้เพิ่มความแข็งแกร่งทางด้านนี้ให้กับธุรกิจเครื่องซักผ้าของตนเอง ความพยายามนี้ทำให้สามารถยกระดับความพึงพอใจในการบริการขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง

.

กลยุทธ์ที่ซันโยนำมาใช้คือ การจัดทำคู่มือ Q&A สำหรับการตอบคำถามที่รวดเร็ว และสำหรับคำถามที่เข้ามายังศูนย์ให้คำปรึกษาลูกค้า คู่มือนี้นับตั้งแต่วางตลาดสินค้าใหม่ในปี พ.ศ.2545 มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาถึง 5 ครั้งด้วยกัน ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ในขณะนี้มีถึง 3 คน โดยจะขอความร่วมมือกับฝ่ายงานเครื่องซักผ้า เรียนรู้วิธีการใช้อยู่เสมอ ๆ

.

นอกจากนี้ เมื่อไปเยี่ยมลูกค้าเพื่อซ่อมเครื่อง ก็จะมีแบบสอบถามให้ลูกค้ากรอกด้วย เพื่อที่จะได้นำเนื้อหาไปเพิ่มคุณภาพในการสนับสนุนการบริการให้สูงขึ้น โดยบริษัทได้ตั้งทีมสนับสนุนจำนวน 10 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเทคนิค ทักษะ และความสามารถในการสอนเป็นเลิศ   

.

เวียนไปยังศูนย์บริการทั่วประเทศถึง 100 แห่ง เพื่อถ่ายทอดทั้งทางด้านเทคนิค และมารยาทการบริการ การที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องมารยาทเพราะจิตใจของลูกค้านั้นละเอียดอ่อนมาก ถึงแม้ว่าสินค้าจะได้รับการซ่อมด้วยดีก็ตาม แต่หากท่าทีของผู้บริการไม่ดีแล้ว ลูกค้าก็จะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีตลอดไป

.

การที่ซันโยต้องเพิ่มกำลังด้านการสนับสนุนการบริการอย่างจริงจัง เพราะว่าเกิดปัญหาสินค้าเสียหายหลายครั้งหลายหน เป็นต้นว่า ฝาด้านบนรูปทรงเสียหาย เมื่อตรวจสอบดูปรากฏว่า ขั้วเสียบต่อสายไฟของวงจรเครื่องทำความร้อนใช้ชิ้นส่วนที่ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณภาพ ในระหว่างปั่นแห้งจึงเกิดควันหรือไฟขึ้นได้   

.

ทำให้ซันโยต้องรีบทำการตรวจสอบและให้ซ่อมแซมฟรีโดยทันที เมื่อประกาศออกไปแล้วเครื่องรุ่นต่าง ๆ ที่อยู่ในโมเดลเดียวกัน จึงต้องมีการตรวจสอบหรือซ่อมถึง 164,364 เครื่องเลยทีเดียว มาตรการแก้ไขที่รวดเร็วนี้มาจากการตั้งระบบโทรศัพท์ที่สามารถโทรเข้าฟรีถึง 100 สาย โรงงานก็เตรียมชิ้นส่วนสำหรับเปลี่ยนให้พร้อมเสมอ ทำให้ได้รับการประเมินจากลูกค้าว่ามีความพึงพอใจสูง

.

จัดทีมบริการ 2 คนต่อหนึ่งทีม เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน สิ่งแรกที่จะต้องใส่ใจให้มากที่สุดก็คือ การที่จะทำอย่างไรให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและพึงพอใจ นั่นก็คือ การไปเยี่ยมเยียนที่บ้านของลูกค้าแล้วซ่อมแซมให้ แม้ว่าในขณะนั้นลูกค้าซื้อเครื่องซักผ้าปั่นแห้งไปใช้ยังไม่รู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นและยังใช้อยู่โดยที่ยังไม่พบปัญหา

.

แต่การไปเยี่ยมเยียนที่บ้านลูกค้าแล้วอธิบายว่าอาจจะเกิดเครื่องเสียได้ พร้อมกับช่วยเปลี่ยนชิ้นส่วนให้ใหม่ ในขณะเดียวกันวิธีการพูด หรือท่าทีในขณะนั้นก็ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก มิฉะนั้นลูกค้าอาจจะเข้าใจผิด   

.

การเปลี่ยนชิ้นส่วนนั้น จะต้องมีการเลื่อนตัวเครื่องซักผ้าปั่นแห้งเพื่อให้เปลี่ยนได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องตั้งทีมซ่อม 2 คนต่อหนึ่งทีม เมื่อทั้งสองคนซ่อมเครื่องเรียบร้อยแล้ว คนหนึ่งก็จะไปทำการอธิบายเพิ่มเติมให้ลูกค้าเข้าใจมากขึ้น การซ่อมจะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง ในระหว่างนั้นก็จะทำการอธิบายไม่เฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาเท่านั้น แต่จะอธิบายทั้งวิธีการใช้ต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาทั่ว ๆ ไปของลูกค้าด้วย ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจ เชื่อใจ และพอใจมากขึ้น

.

เมื่อกลางปีที่แล้ว ซันโยก็เกิดปัญหากับสินค้าใหม่ที่วางจำหน่ายอีก ดังนั้นในเดือนเมษายนนี้ จึงได้ทำการตรวจสอบและซ่อมแซมฟรีให้แก่ลูกค้าทั้งหมดแต่ครั้งนี้มีเพียง 54,475 เครื่อง ซึ่งน้อยกว่าครั้งที่แล้วมาก เครื่องซักผ้าปั่นแห้งในปัจจุบันใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มีโครงสร้างที่ซับซ้อนมากขึ้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดการขัดข้องขึ้นมากกว่าเดิม       

.

ซันโยจึงได้ใช้ประสบการณ์จากครั้งนี้แปลงวิกฤติเป็นโอกาส ในขณะที่เทคโนโลยีของเครื่องซักผ้าปั่นแห้งก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ทั้งคุณภาพ และการบริการ ทั้งสองด้านจะต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซันโยจึงฉวยโอกาสนี้สร้างจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งได้สำเร็จ 

.
ตัวอย่างที่ 3 รถยนต์ไดฮัทสุ ปรับปรุงการบริการเพื่อสุภาพสตรีโดยเฉพาะ

จากผลการสำรวจ ปรากฏว่าในครั้งนี้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ไดฮัทสุ มีระดับความพึงพอใจต่อการบริการก้าวกระโดดจากอันดับที่ 7 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 คือเพิ่มขึ้นกว่า 10 จุด ในขณะที่อันดับหนึ่งมา 5 ปีอย่างฮอนด้า หรืออันดับ 2 อย่างโตโยต้ามีคะแนนที่ลดลง เพราะไดฮัทสุมีการปฏิรูประบบการบริการอย่างจริงจังตั้งแต่ปีที่แล้วนั่นเอง

.

การอธิบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะกับลูกค้าที่เป็นสุภาพสตรี เป็นต้นว่า “ตรวจดูสภาพรถแล้ว น้ำมันเกียร์อัตโนมัติสกปรกนิดหน่อย ถ้าเปลี่ยนน้ำมันการเปลี่ยนเกียร์ก็จะราบรื่นขึ้นแล้วยังช่วยประหยัดน้ำมันอีกด้วย” การอธิบายที่ตรงไปตรงมา ฟังดูแล้วอาจจะไม่ค่อยมีน้ำเสียงเท่าไร แต่ให้ข้อมูลที่ชัดเจน ลูกค้าเข้าใจและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

.

เลือกช่างซ่อมได้ ตั้งแต่ปีที่แล้ว บริษัทสนับสนุนการให้บริการแก่ลูกค้ามากขึ้น โดยให้ช่างผู้รับผิดชอบโดยตรงมาพบปะกับลูกค้าของไดฮัทสุที่เป็นรถขนาดเล็กด้วย 70เปอร์เซ็นต์เป็นสุภาพสตรี

.

เพราะฉะนั้น ในด้านคุณภาพการบริการ หรือค่าใช้จ่าย จะมีความละเอียดกว่าผู้ชาย เพียงแค่ใช้วาทศิลป์อย่างเดียว ก็จะไม่พอเพียงที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจ ไดฮัทสุได้เห็นประเด็นนี้ จึงมีนโยบายให้ช่างซ่อมออกมาต้อนรับลูกค้าโดยตรง ด้วยเหตุผลที่ว่า หลาย ๆ ครั้ง พอบอกว่าเช็คแล้วต้องเปลี่ยนชิ้นส่วน แต่ถ้าไม่อธิบายว่าทำไมต้องเปลี่ยน ลูกค้าก็จะไม่เข้าใจ       

.

ดังนั้น แทนที่จะให้พนักงานรับรถที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องรถยนต์มาอธิบาย ถึงแม้ว่าจะพูดจาไพเราะอย่างไร ก็ไม่เท่ากับให้ช่างที่ชำนาญ ถึงแม้ว่าจะพูดไม่เก่งก็ตาม มาอธิบายแล้ว สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าได้มากกว่า

.

โดยระบบที่ใช้ก็จะใช้ช่าง 1 คนต่อลูกค้าหนึ่งราย โดยให้ช่างเป็นตัวเอกในการบริการให้แก่ลูกค้า ไดฮัทสุจึงได้นำระบบที่ให้ช่างคนเดียวดูแลตรวจสอบซ่อมแซม ตลอดจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย ในระหว่างการตรวจสอบรถ ช่างที่รับผิดชอบก็จะโทรศัพท์ไปแจ้งลูกค้าด้วยตัวเองว่า จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ เมื่อถึงวันนั้นช่างที่รับผิดชอบก็จะรอรับลูกค้า เมื่อลูกค้าไปรับรถก็จะพบกับคนที่เคยติดต่อด้วยมาคอยต้อนรับ ก็คงจะเป็นที่น่าประทับใจมาก

.

เมื่อผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ก็จะโทรศัพท์ไป Thank You Call เพื่อติดตามผลอีกด้วย ดังนั้น เราอาจจะเคยมีประสบการณ์ว่าเวลาซื้อของก็คงต้องการจะซื้อจากพนักงานคนนั้นคนนี้ หรือเวลาไปทำผมก็ต้องการจะเลือกช่างทำผมที่รู้ใจ เช่นเดียวกัน ไดฮัทสุก็ได้ใช้แนวคิดนี้ทำให้ลูกค้าประทับใจ ครั้งต่อไปลูกค้าสามารถเลือกช่างที่จะให้บริการได้ เพราะพอใจและมั่นใจว่าถ้าเลือกช่างคนนี้แล้วไม่ผิดหวังแน่นอน

.

นอกจากนี้ไดฮัทสุยังได้นำบริการใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการบริการที่รวดเร็ว ง่ายและมีราคาที่เหมาะสม เช่น บริการ Quick Body Repair สำหรับกลุ่มลูกค้าสุภาพสตรีโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่สุภาพสตรี เมื่อขับรถใหม่ ๆ มักจะขับรถเข้าบ้านไม่พ้น กันชนมักจะกระทบรั้วหรือประตูบ้าน ซึ่งเป็นการซ่อมแบบง่าย ๆ เมื่อนำมาซ่อมที่นี่ก็ใช้เวลาเพียง 80 นาที เสียเงิน 8,000 กว่าเยน

.

แต่ถ้าไปซ่อมที่อื่นที่เป็นศูนย์เฉพาะ อาจจะต้องเสียถึง 20,000-30,000 เยนเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มบริการล้างล้อรถ กำจัดกลิ่นในรถ เคลือบกระจกรถต่าง ๆ ในราคาที่ลูกค้าสามารถรับได้ง่าย ทำให้ยอดขายของไดฮัทสุแซงซูซูกิได้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี การให้บริการหลังการขายที่ทำให้ลูกค้าพึงพอใจนั้น ยังช่วยให้บริษัทมีรายได้สูงขึ้นอีกมาก           

.

เพราะรถยนต์ขนาดเล็กมีกำไรน้อยอยู่แล้ว การที่จะแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ฮอนด้าได้ ไดฮัทสุก็ต้องพยายามสร้างกลยุทธ์ที่เป็นตัวของตัวเองที่ผู้อื่นเลียนแบบไม่ได้ การฝึกอบรม การสื่อสารกับลูกค้า ซึ่งแต่เดิมใช้กับทีมขายก็ต้องเริ่มมาใช้กับทีมงานบริการซ่อม เพราะเทคนิคการซ่อมอย่างเดียว อาจจะใช้ไม่ได้นาน ช่างต้องมีศิลปะการพูดให้ถูกหูลูกค้าด้วยเช่นกัน

.
สรุป 

ต้องเปลี่ยนจิตสำนึกของการบริการลูกค้า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลยุทธ์สำคัญที่ธุรกิจมักจะนำมาใช้ก็คือ ระบบ Call Center ซึ่งขณะนี้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาแล้ว แต่จากการสำรวจของสมาคมพัฒนาประสิทธิภาพของญี่ปุ่น ได้พบว่ายุคนี้การบริการหลังการขายได้ผ่านพ้นยุคของการแข่งขันความเป็นเลิศด้าน Hardware หรือ Infrastructure แล้ว และกำลังเข้าสู่อีกระดับหนึ่งของการแข่งขัน เมื่อทุกคนมี Infrastructure กันเกือบหมดแล้ว ต่อไปจะแข่งขันเรื่องอะไรกัน

.

เคล็ดลับประการแรกคือ จะชนะหรือไม่ชนะนั้น อยู่ที่ว่าจะฝึกทักษะเพิ่มขีดความสามารถเฉพาะคนของทีมงานบริการหลังการขาย นั่นเอง จากการสำรวจพบว่าลูกค้าเริ่มไม่ค่อยพอใจกับการให้บริการตามมาตรฐานคู่มือเพียงอย่างเดียว

.

เป็นต้นว่า การรับโทรศัพท์ของ Call Center ตามมาตรฐานคู่มือก็จะมีคำแนะนำไว้ว่า “ให้พูดสั้น ๆ ได้ใจความชัดเจน” แน่นอนการประหยัดแรงงาน ประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็เหมือนกับการเร่งลูกค้า พยายามตัดบท ย่อมสร้างความไม่พึงพอใจให้เกิดขึ้นแก่ลูกค้าได้

.

ฟูจิตสึได้นำแนวคิดการบริการพีซี (Personal Computer) โดยใช้วิธีการหลุดพ้นจากมาตรฐานคู่มือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรับฟังปัญหาของลูกค้าด้วยความตั้งใจและจริงใจ วิธีการพูดจะต้องเปลี่ยนจากเพียงการต้อนรับลูกค้า มาเป็นการพูดคุยกับลูกค้าให้มากขึ้น หมายความว่าจะทำให้เหมือนกับเป็นธุรการประจำวันไม่ได้แล้ว จะต้องดูแลลูกค้า เพื่อสร้างให้ลูกค้ามีความสนุกสนานกับสินค้าของเรา

.

เคล็ดลับประการที่ 2 คือ การรับฟัง แม้ว่าจะเป็นความไม่พึงพอใจ หรือปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ของลูกค้า เพื่อนำไปเชื่อมโยงปรับปรุงต่อ

.

Call Center ของมัทสึชิตะได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าหลายราย เมื่อ 2 ปีก่อนว่า ชิ้นยางบริเวณพื้นของโน้ตบุ๊กหลุดหายไป ซึ่งเดือน ๆ หนึ่ง อาจจะมีเพียงสิบกว่ารายเท่านั้น แต่มัทสึชิตะก็ไม่ปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดเลยไป โมเดลใหม่ในปีที่แล้วจึงได้มีการเปลี่ยนแม่พิมพ์ใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนน้ำยากาวที่ติด ในขณะที่ได้เตรียมมาตรการซ่อมแซม หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนเป็นอย่างดีแล้วก็ตามแต่ก็ยังได้รับความไม่พึงพอใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องที่ใหญ่โตมากนัก

.

ทั้งนี้ การรับฟังนั้นก็เพื่อให้เกิดข้อร้องเรียนต่อเนื่องในอนาคต มัทสึชิตะเอง เมื่อได้รับข้อร้องเรียนจากลูกค้า ก็จะเผยแพร่ภายในด้วยอินทราเน็ต ทำให้ทั้งฝ่ายออกแบบ ฝ่ายพัฒนา ฝ่ายผลิต สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้มาประชุมกันเดือนละครั้ง เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของลูกค้าเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ นี่คือ การใส่ใจความไม่พึงพอใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ของลูกค้า นำมาเป็นพลังเชื่อมโยงที่ต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ทันที

.

เคล็ดลับประการที่ 3 คือ สร้างความพิเศษของตัวเอง ไม่ใช่ลอกเลียนแบบจากคนอื่น ตัวอย่างนี้ ก็คือการนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็น Entertainment อย่างหนึ่ง ในปี พ.ศ.2547 NEC ได้นำระบบ Remote Support มาใช้กับผลิตภัณฑ์พีชีนั่นคือการใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงระหว่างพีชีกับพีชีของ Support Center แล้วแก้ไขปัญหาแบบ Long Distance Service โดยให้โอเปอเรเตอร์คุยกับลูกค้าทางโทรศัพท์แล้วแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน

.

วิธีนี้ใช้ได้ดีสำหรับลูกค้าที่เริ่มใช้พีชีใหม่ ๆ เพราะการอธิบายด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียวลูกค้าไม่เข้าใจ จึงให้โอเปอเรเตอร์อธิบายทีละชิ้น ๆ ให้ลูกค้าทำไปพร้อม ๆ กันนั่นเอง วิธีนี้ทำให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ลูกค้าไม่ต้องขนเครื่องมาหรือบริษัทต้องส่งคนไปสอน

.

กลยุทธ์นี้ นอกจากจะใช้ประโยชน์คือทำให้คุณภาพการบริการสำหรับเรื่องที่เป็นเทคนิคทันสมัยแล้ว ยังเป็นการสร้างความประทับใจอย่างมากให้แก่ลูกค้าอีกด้วย ปัจจุบัน NEC ให้บริการ Remote Support วันละ 100 ราย ได้รับการประเมินความพึงพอใจในบริการจากลูกค้าในระดับที่สูง อาจจะ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ว่าได้

.

การใช้จุดเด่น จุดแข็งของบริษัทตนเองสร้างระบบการบริการที่เป็นของตนเอง จะเป็นอาวุธที่สำคัญในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง แต่ต้องไม่ใช่การเรียนแบบผู้อื่น นอกจากนี้ ความมีเอกลักษณ์ของตนเองยังจะเป็นหนทางไปสู่การเพิ่มระดับคุณภาพของความพึงพอใจสำหรับลูกค้าอีกด้วย

.
เอกสารอ้างอิง

1.  สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น). (2550). กลยุทธ์การบริการหลังการขาย. ค้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2550, จาก http://www.tpa.or.th/emagazine/jpwatch/
2.  สนั่น เถาชารี.การบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริการขององค์กร โดยใช้กลยุทธ์ รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง. Industrial Technology Review 2550; 13(167): 139-414.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด