เนื้อหาวันที่ : 2010-11-11 09:28:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 13977 views

ระบบสถานีย่อยอัตโนมัติ (Substation Automation System)

ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้ามีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม อันเนื่องจากเหตุขัดข้องทางไฟฟ้าอาจจะทำให้เกิดความสูญเสียความสามารถและโอกาสในการผลิตรวมทั้งเครื่องจักรราคาสูงอาจชำรุดได้ ในปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ที่มีสถานีย่อยไฟฟ้าเป็นของตนเองซึ่งรับแรงดันไฟฟ้าที่ระดับแรงดันส่ง อันมีความเชื่อถือได้สูง ทำให้ความเชื่อถือได้และความต่อเนื่องในการใช้งานระบบไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารสำนักงานสูงไปด้วย

พิชิต จินตโกศลวิทย์
pichitor@yahoo.com

.

.

ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้ามีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม อันเนื่องจากเหตุขัดข้องทางไฟฟ้าอาจจะทำให้เกิดความสูญเสียความสามารถและโอกาสในการผลิตรวมทั้งเครื่องจักรราคาสูงอาจชำรุดได้ ในปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ที่มีสถานีย่อยไฟฟ้าเป็นของตนเองซึ่งรับแรงดันไฟฟ้าที่ระดับแรงดันส่ง (Transmission & Sub-transmission Level) อันมีความเชื่อถือได้สูง

.

ส่งผลทำให้ความเชื่อถือได้และความต่อเนื่องในการใช้งานระบบไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารสำนักงานสูงไปด้วย ตลอดทั้งค่าไฟยังถูกกว่าระดับแรงดันจำหน่าย (Distribution Level)

.

แต่ถึงกระนั้นระดับความเชื่อถือได้อาจยังไม่สูงสุดถ้าสถานีย่อยไฟฟ้านั้นไม่มีระบบควบคุมที่เหมาะสม ระบบควบคุมหนึ่งที่เพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าในสถานีย่อยไฟฟ้าสูงขึ้นคือ ระบบสถานีย่อยอัตโนมัติซึ่งระบบสามารถแก้ไขเหตุขัดข้องในระบบไฟฟ้าได้โดยอัตโนมัติ เช่นการเปลี่ยนสายส่งไฟฟ้าโดยอัตโนมัติเมื่อสายส่งไฟฟ้าที่กำลังใช้มีสภาพผิดปกติ                         

.

อันที่จริงระบบสถานีย่อยอัตโนมัติสามารถถูกประยุกต์ใช้ได้หลากหลายระบบ เช่น ระบบส่งน้ำประปา, ระบบส่งก๊าซและน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงระบบสถานีย่อยอัตโนมัติสำหรับระบบไฟฟ้าเป็นลำดับแรก

.
ระบบสถานีย่อยอัตโนมัติคืออะไร

ระบบสถานีย่อยอัตโนมัติบ่อยครั้งจะถูกเรียกว่า SAS โดยทำหน้าที่พื้นฐานดังนี้

1. การให้บริการในการเข้าถึงข้อมูลทางระบบไฟฟ้าทั้งระยะไกลและใกล้ (Remote/Local) เช่น ตรวจสอบสถานะอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือแม้กระทั้งแก้ไขค่าเซตติ้งของระบบป้องกัน (Relay Setting)

.

2. การควบคุมการทำงานอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าโดยบุคคลและโดยระบบอัตโนมัติ (Manual/Automatic Function) ทั้งในเหตุการณ์ปกติและไม่ปกติ เช่น การรักษาระดับแรงดันไฟฟ้า

.

3. การจัดการระบบสื่อสารข้อมูลระหว่างอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าและระบบควบคุมหรือศูนย์สั่งการ (SCADA: Supervisory Control and Data Acquisition) ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้มากที่สุด

.

ระบบ SAS เริ่มต้นพัฒนามาจาก RTU (Remote Terminal Unit) และ Protective Relay ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ประกอบด้วยชุดรับส่งสัญญาณดิจิตอล และอะนาลอก (DI/DO/AI/AO: Digital Input/Digital Output/Analog Input/Analog Output) รวมทั้งประกอบด้วยฟังก์ชั่นการทำงานซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ เพื่อดึงค่าวัด สถานะ สัญญาณเตือน รวมทั้งควบคุมการทำงานของอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า และป้องกันการเสียหายของอุปกรณ์ไฟฟ้า

.

โดยค่าวัดและสถานะต่าง ๆ นั้นจะถูกส่งไปยังระบบ SCADA เพื่อประกอบการตัดสินใจในการควบคุมอุปกรณ์การจ่ายไฟฟ้านั้น ๆ ผ่านระบบสื่อสารข้อมูลด้วยโปรโตคอลที่ออกแบบมาสำหรับงานระบบอัตโนมัติโดยเฉพาะ ในปัจจุบัน RTU ยังมีใช้อย่างแพร่หลายในระบบขนาดเล็กหรือระบบที่ไม่มีความซับซ้อนสูง ส่วน Protective Relay มักถูกใช้ในการด้านระบบป้องกันอย่างเดียว    

.

สำหรับระบบขนาดใหญ่นั้นระบบ SAS เริ่มเข้ามามีบทบาทอันเนื่องจากโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบ SAS เป็นแบบกระจายหน้าที่ (Distributed Concept) ซึ่งมีความน่าเชื่อถือได้สูงตลอดรวมทั้งระบบประสิทธิภาพในการทำงานก็สูงเช่นกัน เนื่องจากระบบทำงานด้วยโปรเซสเซอร์หลายตัว (Multiple Processor) สามารถรองรับงานที่ต้องการการตอบสนองด้วยความเร็วสูง เช่น งานโอนถ่ายโหลดไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ งานระบบป้องกันทางไฟฟ้า 

.

รูปที่ 1 DI/DO/AI/AO Module

.
โครงสร้างของระบบสถานีย่อยอัตโนมัติ (Substation Automation Structure)

ระบบ SAS ประกอบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (IED: Intelligence Electronic Device) หลาย ๆ ประเภท ทำหน้าที่ต่างกันเช่น เป็นอุปกรณ์ป้องกัน (Protective Relay) อุปกรณ์สื่อสารข้อมูล (Data Communication Device) อุปกรณ์ควบคุม (CU: Control Unit) หรือแม้กระทั่งตัว RTU IED แต่ละตัวจะถูกติดตั้งตามโครงสร้างของระบบ SAS ขึ้นอยู่กับหน้าที่และภาระงานของมัน

.
โครงสร้างของระบบ SAS ได้ถูกจัดแบ่งเป็น 3 ระดับ โดยแต่ละระดับมีหน้าที่ดังนี้

1. ระดับสถานี (Station Level) มีหน้าที่ในการส่งข้อมูลให้ระบบ SCADA, การจัดการระบบอัตโนมัติระดับสถานี (ระหว่างอุปกรณ์ต่างเบย์หรือต่างกลุ่ม เช่น ระหว่างสองหม้อแปลงกำลัง), การจัดการวิเคราะห์และสำรองข้อมูล, การเข้าจังหวะเวลาระหว่างอุปกรณ์ (Time Synchronization), การจัดการสัญญาณเตือน สถานะและการเปลี่ยนแปลงภายในสถานีย่อย และการควบคุมอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (HMI: Human Machine Interface)

.

รูปที่ 2 Human Machine Interface

.

2. ระดับเบย์ (Bay Level) มีหน้าที่ในการจัดการระบบอัตโนมัติระดับเบย์ (ระหว่างภายในเบย์เดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน เช่น กลุ่มหม้อแปลงกำลังเดียวกัน), การดึงข้อมูลจากอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า (Data Acquisition), การจัดการการควบคุมอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า, การจัดการระบบป้องกันอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า

.

3. ระดับโปรเซส (Process Level) มีหน้าที่เชื่อมสายสัญญาณทางไฟฟ้าจากอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าไปยังระดับเบย์ เช่น สายสัญญาณค่ากระแสจากหม้อแปลงกระแส (CT: Current Transformer), สายสัญญาณค่าสถานะของอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าเช่นสถานะปลดสับของเบรกเกอร์, สายสัญญาณควบคุมอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า   

.

เช่น สายสัญญาณปลดเบรกเกอร์ และสายสัญญาณสื่อสารข้อมูลสำหรับอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าสมัยใหม่ที่มี IED ขนาดเล็กฝังภายในตัวอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า เช่น หม้อแปลงกระแสอัจฉริยะ (Intelligence CT ตามมาตรฐาน IEC61850) การใช้สายสัญญาณสื่อสารข้อมูลจะสามารถลดจำนวนสายสัญญาณราคาสูงที่เป็นทองแดง และสามารถติดตั้งระบบ SAS ได้โดยง่าย อันเนื่องมาจากสายสัญญาณสื่อสารข้อมูลต้องการพื้นที่ในการติดตั้งน้อย

.

รูปที่ 3 โครงสร้างของระบบสถานีย่อยอัตโนมัติ

.
สถาปัตยกรรมของระบบสถานีย่อยอัตโนมัติ (Substation Automation Architecture)

สถาปัตยกรรมของระบบสถานีย่อยอัตโนมัติคือการออกแบบระบบ SAS ให้มีประสิทธิภาพและความเชื่อถือได้สูงสุด แต่อย่างไรก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงเช่นกัน การออกแบบระบบ SAS ที่ดีต้องออกแบบให้ระบบ SAS มีประสิทธิภาพและความเชื่อถือได้ในการรองรับงานนั้น ๆ ได้ นอกจากนี้การออกแบบระบบ SAS นั้นต้องพิจารณาในหลายหัวข้อดังต่อไปนี้

.

1. รูปแบบการสื่อสารข้อมูล เช่น การสื่อสารแบบ Master-Slave, Period Process State Transfer, Client-Server, Peer-to-Peer และ Multi-peer โดยแต่ละรูปแบบการสื่อสารมีกลไกการทำงานและจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกันซึ่งผู้ออกแบบต้องพิจารณารูปแบบให้เหมาะสมตามระบบงานนั้น ๆ เช่น Multi-peer ใช้กลไกการส่งข้อความแบบตรวจสอบว่าสายสัญญาณว่างก่อนส่งข้อมูล หรือที่รู้จักกันดีคือ CSMA/CD (Carrier Sense Multiple Access/Collision Detection)

.

ซึ่งอาจจะมีเหตุการณ์การส่งข้อมูลชนกันในสายสัญญาณ (Data Collision) เป็นผลทำให้การวัดค่าหน่วงในสายสัญญาณไม่แน่นอน ทำการทำการเข้าจังหวะเวลาระหว่าง IED (Time Synchronization) ไม่แม่นยำไปด้วย ดังนั้นถ้าระบบงานต้องการความแม่นยำของเวลา ดังนั้นจึงไม่สมควรที่จะเลือกการสื่อสารรูปแบบ Multi-peer เป็นต้น

.

2. การเข้าจังหวะเวลา (Time Synchronization) คือการตั้งเวลาของแต่ละ IED รวมทั้ง SCADA ให้ตรงกันเพื่อสำหรับวิเคราะห์เหตุการณ์ในแต่ละเบย์หรือพื้นที่เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการทำงานของระบบอัตโนมัติหรือเพื่อใช้ในการบำรุงรักษาเชิงแก้ไข (Corrective Maintenance) ในรูปแบบการเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบ (SOE: Sequent of Events)

.

โดยรูปแบบการรับเวลามีสองรูปแบบหลักคือ การรับเวลาจากตัวรับสัญญาณจากดาวเทียม (GPS: Global Position System Receiver) และการรับเวลาจากระบบสื่อสารข้อมูลโดยโปรโตคอล การรับเวลาจากดาวเทียมมีความแม่นยำสูงแต่มีค่าใช้จ่ายในด้านอุปกรณ์และสายสัญญาณ และในระบบ SAS ที่มีขนาดใหญ่นั้น ไม่สามารถติดตั้งระบบ GPS ที่ IED ทุกตัวได้

.

ดังนั้นการรับเวลาต้องมีการออกแบบผสมผสานระหว่าง GPS และ โปรโตคอล เพื่อให้ได้ความแม่นยำของเวลาสูงสุด สำหรับการเข้าจังหวะเวลาด้วยโปรโตคอลนั้น ต้องเลือกโปรโตคอลที่สนับสนุนเรื่องการเข้าจังหวะเวลาโดยพิจารณากลไกการเข้าจังหวะเวลาด้วย เช่น IEC 60850-5-103, DNP3, SNTP หนึ่งในชุด TCP/IP โปรโตคอล

.

รูปที่ 4 การเข้าจังหวะเวลาจากดาวเทียมและโปรโตคอล

.

3. ประสิทธิภาพของการสื่อสารข้อมูล (Performance of Communication) เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงในการออกแบบระบบ SAS เนื่องจากประสิทธิภาพเป็นหนึ่งในตัววัดที่ชี้ว่าระบบ SAS จะได้ข้อมูลตามเวลาจริงมากที่สุด (Real-Time Data) ผู้ออกแบบจะต้องออกแบบระบบสื่อสารข้อมูลให้สามารถรองรับจำนวนการรับส่งข้อมูลจริงในระยะเวลาที่กำหนด (Data Throughput)

.

โดยปกติจะต้องออกแบบความสามารถในการส่งรับข้อมูล (Throughput Capacity) มากกว่าอย่างน้อย 10% ของความต้องการของระบบ SAS ในขณะทำงานปกติ ดังนั้นผู้ออกแบบต้องสามารถวิเคราะห์ความต้องการทางด้านการสื่อสารข้อมูลของระบบ และเลือกเทคโนโลยีที่สามารถสนับสนุนงานนั้น ๆ เช่น เลือกโปรโตคอลที่เหมาะสม หรือเลือกอุปกรณ์ทางด้านการสื่อสารข้อมูลที่เหมาะสม

.

4. ความปลอดภัยและความต่อเนื่องในการทำงานของระบบ (Safety and Availability) ความต่อเนื่องในการทำงานของระบบ SAS ขึ้นอยู่กับการออกแบบป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์ที่จุดบกพร่องหรือขัดข้องจุดเดียวทำให้ระบบทั้งระบบขัดข้องหรือล่ม (Single Point of Failure) 

.

โดยปกติจะใช้หลักการซ้ำซ้อนระบบ (Redundancy Concept) ในการป้องกันการเกิด Single Point of Failure นั้นคือเมื่ออุปกรณ์หรือฟังก์ชั่นตัวใดตัวหนึ่งทำงานผิดพลาดหรือบกพร่องจะมีอุปกรณ์หรือฟังก์ชั่นตัวอื่นทำหน้าที่แทนอย่างต่อเนื่อง (Switch-Over Operation)

.

ในแง่ของความปลอดภัยของระบบ SAS นั้นคือเมื่อระบบสื่อสารข้อมูลทำงานผิดพลาดต้องไม่ก่อให้เกิดการทำงานผิดพลาดหรือการทำงานที่ไม่ต้องการของระบบ เช่น ในกรณีข้อมูลถูกเปลี่ยนแปลงโดยสัญญาณรบกวนภายนอก, ข้อมูลสูญหาย หรือข้อมูลมาช้ากว่าที่กำหนด ระบบจะต้องทำงานต่อเนื่องได้อย่างไม่มีปัญหา

.

โดยทั่วไปวิธีป้องกันการทำงานผิดพลาดของระบบสื่อสารคือ การใช้วิธีการตรวจสอบความผิดพลาดในการสื่อสารข้อมูล (Error Detection) เช่น Longitudinal Redundancy Check (LRC), Cyclical Redundancy Check (CRC), Select Before Operate (SBO) และการติดตั้งสายสัญญาณข้อมูลที่ทนทานต่อการรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอกเช่น สายใยแก้วนำแสง เป็นต้น

.

ในแง่ของคุณภาพของข้อมูล (Data Quality) นั้นโปรโตคอลต้องสามารถบ่งชี้คุณภาพของข้อมูล (Quality Flag) ว่าสามารถเชื่อถือได้หรือไม่ หรือเหมาะสมในการนำมาตัดสินใจได้หรือไม่ ถ้าคุณภาพข้อมูลไม่ดี เช่น ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งผิดปกติ (Data Oscillation) ก็ไม่สามารถนำข้อมูลนั้นมาพิจารณาในระบบอัตโนมัติได้ ดังนั้นการเลือกโปรโตคอลที่เหมาะสมก็มีผลต่อระดับความปลอดภัยของระบบได้

.

รูปที่ 5 การทำการ Redundant ระบบสื่อสาร

.

5. สื่อนำสัญญาณสื่อสาร (Communication Media) สื่อสัญญาณที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลในระบบ SAS มีผลต่อความปลอดภัยและความต่อเนื่องในการทำงานของระบบ SAS ประเภทของการติดต่อสื่อสารข้อมูลระดับล่าง (Physical and Data link) ในระบบ SAS หลัก มี 3 ประเภทคือ

.

* RS232C หรือรู้จักกันทั่วไปในชื่อของ Com Port หรือ Serial Port เป็นการสื่อสารแบบหนึ่งต่อหนึ่งในแบบอนุกรม หรือ หนึ่ง RS232C พอร์ต สามารถสื่อสารกับ IED ได้เพียงตัวเดียว โดยการสื่อสารสามารถรับ-ส่งข้อมูลในเวลาเดียวกัน (Full Duplex)

.

ข้อดีของ RS232C คือสามารถกำหนดช่วงเวลาการเข้าถึงข้อมูลได้แน่นอนที่สุด (Quality of Service) ข้อเสียคือระยะทางของสายสัญญาณพื้นฐาน (ทองแดง) ประมาณ 10 เมตร และอัตราการส่งข้อมูลสูงสุดโดยทั่วไปอยู่ที่ 38,400bps

.

* RS485 เป็นการสื่อสารแบบหนึ่งต่อหลายตัวในแบบอนุกรม หรือ หนึ่ง RS485 พอร์ต สามารถสื่อสารกับ IED ได้หลายตัว (RS485 Network) โดยการสื่อสารต้องรับและส่งข้อมูลในช่วงเวลาที่ต่างกัน (Haft Duplex) ข้อดีของ RS485 คือระยะทางของสายสัญญาณไกลประมาณ 1,200 เมตร

.

เนื่องจากเป็นส่งสัญญาณแบบสมดุล (Balance Mode) และอัตราการส่งข้อมูลค่อนข้างสูงอยู่ที่ 5 mbps ขึ้นอยู่กับระยะทางและสภาพแวดล้อม ข้อเสียคือ Quality of Service ต่ำกว่า RS232C ขึ้นอยู่กับจำนวนของ IED ที่ใช้สื่อสัญญาณเดียวกัน

.

* Ethernet (IEEE 802.3) เป็นรูปการรับส่งข้อมูลพื้นฐานในเครือข่ายคอมพิวเตอร์มีความเร็วสูงตั้งแต่ 10 mbps ถึงระดับหลายกิกะบิต ระยะทางของสายสัญญาณพื้นฐานโดยประมาณอยู่ที่ 100 เมตร ข้อเสียคือ Quality of Service ค่อนข้างต่ำรวมทั้งการทำการเข้าจังหวะเวลาระหว่าง IED ทำได้ยาก         

.

อันเนื่องมาจากไม่สามารถคาดการณ์การชนข้อมูลได้อย่างแน่นอน ส่งผลให้การวัดการหน่วงของเวลาในสายสัญญาณไม่แน่นอน แต่ในปัจจุบันได้พัฒนากลไกการทำงานเพื่อเพิ่ม Quality of Service โดยใช้ตัวบอกระดับความสำคัญของข้อมูล (Priority Tag)

.

สำหรับในสถานีย่อยที่มีระยะห่างระหว่าง IED ค่อนข้างไกลนั้นไม่สมควรที่ใช้สายสัญญาณที่เป็นสายทองแดงเนื่องจากอาจจะถูกรบกวนจากคลื่นสนามแม่เหล็กได้โดยง่ายโดยเฉพาะในขณะที่อุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงเริ่มทำงาน สายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ 

.

โดยปกติสายใยแก้วนำแสงสามารถผลิตจากแก้วหรือพลาสติก ซึ่งสายใยแก้วนำแสงที่สร้างจากพลาสติกจะมีราคาค่อนข้างถูกแต่จะมีข้อเสียในเรื่องของอัตราการเสื่อมสภาพที่สูงกว่าแก้วค่อนข้างมาก

.

รูปที่ 6 รูปแบบการเชื่อมต่อ IED

.
ประโยชน์ของระบบสถานีย่อยอัตโนมัติ

ประโยชน์ของระบบ SAS สามารถวิเคราะห์ได้ 2 มุมมอง คือ ทางด้านธุรกิจ และทางด้านเทคนิคโดยในบทความนี้จะกล่าวในลักษณะโดยรวมได้แก่

.

1. เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานระบบไฟฟ้า (Enhancing Power System Operation) เนื่องจากระบบ SAS สามารถเข้าถึงข้อมูลของแต่ละอุปกรณ์ไฟฟ้า ทำให้วิศวกรไฟฟ้าสามารถรู้ขีดความสามารถของแต่ละอุปกรณ์ไฟฟ้าได้จริง และสามารถคำนวณค่าระยะเผื่อความปลอดภัย (Safety Margin) ของแต่ละอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง ทำให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าได้เหมาะสมกับราคาและความสามารถของมัน

.

2. เพิ่มความเชื่อถือได้และความยืดหยุ่นในระบบไฟฟ้า (Increasing Reliability and Flexibility) ระบบ SAS มีระบบอัตโนมัติที่จัดการสภาพขัดข้องทางไฟฟ้าทำให้ลดระยะเวลาไฟฟ้าดับ ป้องกันอุปกรณ์ไฟฟ้าราคาสูงชำรุดอันเนื่องมาจากกระแสลัดวงจรหรือแม้กระทั้งทำการปลดโหลดที่ไม่สำคัญเพื่อรักษาโหลดที่สำคัญเอาไว้ ดังตัวอย่างดังต่อไปนี้

.

* Autoreclosing คือการจ่ายไฟฟ้ากลับอัตโนมัติหลังจากเกิดการลัดวงจรแบบชั่วคราว

.

* Load Shedding คือการปลดโหลดที่ไม่สำคัญเพื่อรักษาโหลดที่สำคัญเอาไว้เนื่องจากมีปัญหาในความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าของระบบไฟฟ้า

.

* High Speed Power Transfer for Uninterrupted Power Supply คือการย้ายรับแหล่งจ่ายไฟด้วยความเร็วสูง เช่น ถ้าในโรงงานมีหม้อแปลงกำลัง 2 ตัวแยกกันจ่ายไฟฟ้า ถ้าหม้อแปลงหนึ่งมีปัญหา โหลดจะย้ายอัตโนมัติไปรับไฟจากอีกหม้อแปลงหนึ่งทันที

.

* Bay Oriented Busbar Protection คือการป้องกันบัสบาร์ซึ่งเป็นแท่งตัวนำไฟฟ้าซึ่งรับพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าและส่งไปยังแหล่งรับไฟฟ้า อาจจะมีแหล่งรับหรือแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลายแห่ง เช่นมีหม้อแปลงกำลังไฟฟ้าหลายตัว

.

ดังนั้นบัสบาร์จึงมีโอกาสได้รับผลกระทบจากเหตุผิดพร่องทางไฟฟ้าสูง เมื่อเกิดกระแสลัดวงจรไหลในบัสบาร์ ระบบ SAS ต้องพยายามตัดแหล่งต้นต่อของการลัดวงจรให้เร็วที่สุดและพยายามรักษาแหล่งจ่ายและแหล่งรับไฟฟ้าตัวอื่นให้ทำงานต่อไปได้ การป้องกันบัสบาร์เป็นการรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าที่สำคัญระบบหนึ่ง

.

* Power Transformer Protection Control and Monitoring หม้อแปลงกำลังเป็นอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าราคาสูง ระบบ SAS สามารถตรวจสอบสภาพผิดปกติของหม้อแปลงก่อนที่จะเกิดเหตุขัดข้องทางระบบไฟฟ้า เป็นผลให้ลดค่าบำรุงรักษารวมทั้งลดค่าความเสียหายอันเนื่องจากไฟดับ (Outage Cost) อีกทั้งระบบ SAS สามารถใช้ความสามารถของหม้อแปลงกำลังได้อย่างสูงสุดจากการควบคุมโหลดและระดับแรงดันที่เหมาะสม

.

* Power System Monitoring ระบบ SAS สามารถตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้ระบบไฟฟ้าขัดข้องเช่น เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์, เกิดจากความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือวงจรควบคุมไฟฟ้า  หรือเกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ลม ฝน ดังนั้นวิศวกรสามารถวิเคราะห์สาเหตุเพื่อออกมาตรการป้องกัน หรือเพื่อแก้ไขเหตุขัดข้องได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเข้าแก้ไขสิ่งผิดปกติในระบบก่อนที่เหตุขัดข้องไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้

.

รูปที่ 7 Sequent of Events

.
สรุป

การติดตั้งระบบ SAS สามารถทำให้ระบบไฟฟ้ามีความเชื่อถือได้สูงขึ้น ลดค่าความเสียหายอันเนื่องจากไฟฟ้าดับ (การเสียโอกาสทางด้านการผลิต และความเสียหายอันเนื่องจากเครื่องจักรชำรุด) และรักษาระดับของแรงดันให้เหมาะสมกับระบบไฟฟ้าของโรงงาน ระบบ SAS สามารถบันทึกข้อมูลและเหตุการณ์ทางด้านระบบไฟฟ้าทำให้วิศวกรไฟฟ้าสามารถวางแผนการบำรุงรักษา รวมทั้งแก้ไขเหตุขัดข้องได้อย่างรวดเร็วลดระยะเวลาของไฟฟ้าดับ

.

รูปที่ 8 การดูสภาพทั่วไปของเบรกเกอร์เพื่อบำรุงรักษา

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด