เนื้อหาวันที่ : 2010-09-28 18:12:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 15061 views

หลักการป้องกันกระแสเกินสำหรับคาปาซิเตอร์แบงก์ในโรงงานอุตสาหกรรมและระบบจำหน่าย

การเชื่อมต่อคาปาซิเตอร์แบงก์ เข้าระบบไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมหรือระบบจำหน่าย จัดได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ การติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์เข้ากับระบบจะช่วยส่งเสริมให้ระบบไฟฟ้ามีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น แต่การติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์ในสภาวะที่มีฮาร์มอนิก จะมีผลหรืออาจก่อให้เกิดสถาวะเรโซแนนซ์ได้

ธงชัย คล้ายคลึง
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสาน นครราชสีมา

.

.

การเชื่อมต่อคาปาซิเตอร์แบงก์ เข้าระบบไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมหรือระบบจำหน่าย จัดได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ ดังนี้

1. สามารถปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังของระบบ ให้มีค่าสูงขึ้นตามความต้องการได้ ซึ่งจะส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่าย ลดลง เมื่อเทียบกับการลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์ เพิ่มเข้าไปในระบบได้

.

2. การสูญเสียของระบบลดลง ทำให้ประสิทธิภาพของไฟฟ้าสูงขึ้น
3. ขนาดแรงดันในระบบเพิ่มขึ้น เป็นผลดีต่อการส่งผ่านกำลังของโหลดบางชนิด เช่น อินดักชันมอเตอร์
4. ทำให้ระบบมีพิกัดการจ่ายกำลังไฟฟ้าสูง ทั้งนี้เพราะว่า คาปาซิเตอร์แบงก์ จ่ายกำลังไฟฟ้ารีแอกตีฟเข้าสู่ระบบแทน

.

เมื่อพิจารณาถึงข้อดีของการติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์เข้ากับระบบแล้ว พบว่าจะช่วยส่งเสริมให้ระบบไฟฟ้ามีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น แต่การติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์ในสภาวะที่มีฮาร์มอนิก จะมีผลหรืออาจก่อให้เกิดสถาวะเรโซแนนซ์ได้

.

ซึ่งสภาวะนี้ จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อคาปาซิเตอร์แบงก์เอง หรือทำให้อุปกรณ์ป้องกันแรงดันเกิน (Arrester) เสียหาย และส่งผลให้เกิดแรงดันเกินในระบบได้ และถ้าติดตั้งคาปาซิเตอร์เข้าไปในระบบที่มีขนาด (Amplitude) ของสัญญาณรบกวนหรือมีฮาร์มอนิกสูง ๆ จะทำให้ฟิวส์ขาดบ่อย ๆ ได้ง่าย

.

จากกรณีที่ได้กล่าวมานั้น จะพบว่าการติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์มีทั้งผลดีและผลเสียกระทบต่อระบบได้เช่นกัน ไม่ว่าในส่วนของระบบการผลิตในงานอุตสาหกรรมหรือระบบไฟฟ้า ตลอดจนในเรื่องของคุณภาพไฟฟ้า ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์เข้าไปในระบบ พร้อมทั้งมีระบบการป้องกันกระแสเกินที่ดีพอ

.

การติดตั้งคาปาซิเตอร์ในระบบไฟฟ้านั้น จะต้องติดตั้งในจุดที่จัดเตรียมไว้เฉพาะมีการป้องกันการกระทบกระแทกอย่างปลอดภัย โดยมีพื้นที่และมีช่องว่างเพียงพอ ไม่แออัดหรือแน่นจนเกินไป โดยให้สอดคล้องกับขนาดหรือพิกัดตามหน่วยกิโลวาร์ (KVAR) ที่เลือกใช้

.

ค่าระดับแรงดันพิกัด (Voltage Rating) ของคาปาซิเตอร์ที่จะนำมาติดตั้ง จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับระดับแรงดันของระบบ (System Voltage) นั้น ๆ โดยสามารถเลือกการต่อได้ทั้งแบบ สตาร์ (Y-Connection) หรือแบบเดลต้า ( -Connection) กรณีต่อแบบสตาร์ จะสามารถแยกออกเป็นการต่อแบบสตาร์-กราวด์ และสตาร์-ไม่มีกราวด์

.

ส่วนการควบคุมการทำงานและการเลือกวิธีการต่อใช้งานคาปาซิเตอร์แบงก์ เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ๆ เช่น ผลของฮาร์มอนิกจะขึ้นอยู่กับวิธีการต่อ (สตาร์หรือเดลต้า) และค่าระดับแรงดันไลน์ (Line–Line Voltage) จะต้องเลือกให้สามารถรองรับกับพิกัดแรงดันของระบบ (System Voltage) ตัวอย่างเช่น 2.4 kV–24.0 kV (ในระบบที่ไม่เกิน 24 kV)

.

ซึ่งพิกัดของคาปาซิเตอร์แบงก์แต่ละตัว โดยปกติจะมีขนาดตั้งแต่ 50, 100, 150, 200, 300, 400 และ 500 kVAR เมื่อเทียบกับตามมาตรฐานของอเมริกา ANSI/IEEE. 18-1992 (IEEE. Standard for shunt power capacitor) และมาตรฐาน IEEE. C37.99-1990 (IEEE. Guide for the protective of shunt capacitor banks) โดยในมาตรฐานดังกล่าวนั้นได้กำหนดไว้ว่า คาปาซิเตอร์แบงก์จะต้องสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

.

1. ต้องทนแรงดันได้ไม่ต่ำกว่า 110% ของแรงดันพิกัด (RMS. Rated Voltage) โดยที่ระดับแรงดัน 110% ดังกล่าว อาจจะมีแรงดันที่มีส่วนประกอบของฮาร์มอนิกรวมอยู่ด้วย แต่รวมแล้วจะต้องไม่เกิน  ของแรงดันพิกัด หรือ 1.2 x Vrms ของแรงดันระบบ

.

2. ต้องสามารถจ่ายพิกัดกำลังรีแอกตีฟได้ไม่ต่ำกว่า 135% ของพิกัด kVAR ตามที่ระบุในเนมเพลต
3. ต้องสามารถทนกระแส (ทั้งกระแสความถี่กำลัง (50Hz) และกระแสฮาร์มอนิก) ได้ถึง 180% ของกระแสพิกัด

.

สำหรับวิธีการป้องกันกระแสเกิน (Over Current Protection) ของคาปาซิเตอร์แบงก์ บทความนี้ต้องการนำเสนอเฉพาะในระบบจำหน่ายและระบบงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ใช้คาปาซิเตอร์แรงดันสูง (ตั้งแต่ 2.4 kV ขึ้นไป) และเลือกวิธีการต่อคาปาซิเตอร์แบงก์แบบสตาร์ (Y-Connection) เท่านั้น

.

ในส่วนของการต่อแบบเดลต้าจะไม่ได้กล่าวถึง ทั้งนี้เนื่องจากไม่ค่อยใช้ในระบบแรงดันสูงหรือระบบที่มีการติดตั้งคาปาซิเตอร์ขนาดใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องระดับแรงดันของคาปาซิเตอร์แบงก์ ปัญหาด้านราคา และปัญหาการเลือกใช้ฟิวส์ป้องกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว การป้องกันกระแสเกินของคาปาซิเตอร์แบงก์ มักจะเลือกใช้ฟิวส์ โดยมีหลักในการเลือกใช้ดังนี้

.

การเลือกใช้ฟิวส์

หลักการโดยทั่วไปสำหรับการพิจารณาเลือกใช้ฟิวส์ป้องกันกระแสเกินในคาปาซิเตอร์แบงก์ มีดังต่อไปนี้

1. ฟิวส์จะต้องสามารถทนต่อกระแสสภาวะคงตัว (Steady State Current ) และกระแส สภาวะชั่วขณะ (Transient Current) ได้
2. เมื่อเกิดสภาวะกระแสเกิน ฟิวส์ต้องสามารถปลดวงจรคาปาซิเตอร์ออกจากระบบได้ทัน โดยจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อคาปาซิเตอร์หรืออุปกรณ์ประกอบรอบข้าง

.

ดังนั้น การออกแบบระบบป้องกันกระแสเกินด้วยฟิวส์  วิศวกรผู้ออกแบบจะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อม มลภาวะ ว่าควรจะใช้ Expulsion Fuse หรือ Current Limiting Fuse จากนั้นเลือกพิกัดกระแส แรงดันของฟิวส์ ค่ากระสอินเตอร์รัปต์ และค่า BIL หรือปัจจัยอื่นที่จำเป็นหรือตามที่ผู้ผลิตฟิวส์แนะนำ

.

แนวทางการออกระบบป้องกันกระแสเกินด้วยฟิวส์ ในบทความนี้ขออธิบาย 2 วิธีการ ได้แก่ การออกแบบฟิวส์ป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์เป็นกลุ่ม (Group Fusing) และการออกแบบฟิวส์ป้องกันแบบแยก (Individual Fusing) ดังนี้

.

ฟิวส์กลุ่ม (Group Fusing)

การป้องกันกระแสเกินแบบฟิวส์กลุ่ม (ดังแสดงในรูปที่ 1) หมายถึงการใช้ฟิวส์เพียงตัวเดียวป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์หลายตัวในแต่ละเฟส ซึ่งวิธีการป้องกันแบบนี้ จะเหมาะสำหรับใช้ในการป้องกัน คาปาซิเตอร์แบงก์ ที่ติดตั้งอยู่บนเสาไฟฟ้าของระบบจำหน่ายซึ่งมักเรียกว่า ฟิวส์ลิงค์ (Fuse Links) ซึ่งติดตั้งตำแหน่งไม้คอนเสา 

.

รูปที่ 1 การป้องกันกระแสเกินแบบฟิวส์กลุ่ม สำหรับการป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์ ต่อแบบสตาร

.

ฟิวส์แยก (Individual Fusing)

การป้องกันกระแสเกินแบบฟิวส์แยก หมายถึงการต่อฟิวส์เข้ากับคาปาซิเตอร์ทุกตัวที่อยู่ในชุดคาปาซิเตอร์แบงก์ โดยฟิวส์จะป้องกันกระแสเกินของคาปาซิเตอร์แบงก์แต่ละตัวแยกออกจากกัน ดังแสดงในรูปที่ 2 ซึ่งเหมาะสำหรับป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์ที่ติดตั้งอยู่ที่สถานีไฟฟ้าย่อย (Sub Station) หรือคาปาซิเตอร์แบงก์ที่ติดตั้งและมีการหอหุ้มมิดชิด

.

รูปที่ 2 การป้องกันกระแสเกินแบบฟิวส์แยก สำหรับการป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์ต่อแบบสตาร์

.

การป้องกันกระแสเกิน

สำหรับการป้องกันกระแสเกินของคาปาซิเตอร์แบงก์ที่ติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรมจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตำแหน่งของการติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์ ดังนั้นในการพิจารณาเลือกการป้องกันด้วยฟิวส์ทั้งแบบกลุ่มหรือแบบแยก  จะต้องคำนึงถึงข้อกำหนดต่าง ๆ ดังนี้

.

1. พิกัดกระแสต่อเนื่อง (Continuous Current) ที่ไหลผ่านฟิวส์ 
2. พิกัดกระแสชั่วขณะ (Transient Current) ที่ไหลผ่านฟิวส์    
3. พิกัดกระแสฟอลต์ (Fault Current)  
4. กราฟความทนได้ของตัวถัง (Tank Rupture Curve)
5. ค่าแรงดันที่คาปาซิเตอร์ยังคงใช้งานได้ ทั้งก่อน/หลังการเกิดฟอลต์
6. ผลของฮาร์มอนิก
7. ผลจากค่าพลังงานจากคาปาซิเตอร์ที่ดิสชาร์จออกเมื่อเกิดการลัดวงจรในส่วนของเซลล์ขนานกัน
8. ผลกระทบจากพลังงานสูง
9. กระแสพุ่งออกจากคาปาซิเตอร์ (Outrush Current)
10. ความสามารถในการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันต่อสภาวะเฟสไม่สมดุล

.
1. กระแสต่อเนื่อง (Continuous Current)

การเลือกฟิวส์สำหรับการป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์ จะต้องเลือกให้สามารถทนต่อค่ากระแสต่อเนื่องได้มากกว่าหรือเท่ากับ 135% ของกระแสพิกัด (Rated Current) ซึ่งในส่วนนี้ จะต้องสามารถรองรับกับสภาวะการเกิดแรงดันเกินที่ 10%, และมีผลของฮาร์มอนิกที่ 10% ซึ่งค่า 135% ดังกล่าวจะใช้กับการป้องกันเมื่อการต่อคาปาซิเตอร์เป็นแบบสตาร์-กราวด์ (ส่วนในกรณีต่อแบบสตาร์ -ไม่มีกราวด์ จะใช้ที่ 125%)

.
ดังสมการ
          
.

ดังนั้น ในการเลือกใช้ฟิวส์ วิศวกรผู้ออกแบบระบบป้องกันจะต้องรู้ค่าพิกัดกระแสต่อเนื่องของฟิวส์ว่ามีค่าเท่าใด  โดยอาจดูจากข้อมูลของบริษัทผู้ผลิตฟิวส์ แต่อย่าลืมว่าค่าที่บริษัทให้มานั้นอาจคิดที่ 100% ของกระแสพิกัดของฟิวส์ หรือบางครั้งอาจคิดที่ 150% ของกระแสพิกัด

.

ดังนั้นจะต้องดูให้ละเอียด หรือบางครั้งอาจไม่ได้บ่งบอกมา ซึ่งผู้ออกแบบจะต้องคำนวณหาเอง ซึ่งในการออกแบบการป้องกันสำหรับฟิวส์แบบกลุ่ม จะมีความยุ่งยากต่อการเลือกใช้ฟิวส์เพื่อให้สามารถทำงานและรองรับต่อการจัดลำดับความสัมพันธ์ (Co-ordination) เมื่อเทียบกับแบบฟิวส์แยก นอกจากนั้นแล้วจะต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายประกอบกับการตัดสินใจเลือกใช้ด้วยเช่นกัน

.
2. กระแสชั่วขณะ (Transient Current)

ในสภาวะที่กระแสมีขนาดและความถี่สูงในระยะเวลาสั้น ๆ หรือที่เรียกว่าสภาวะกระแสชั่วขณะ ในความเป็นจริงแล้วฟิวส์น่าจะทำงานในสภาวะกระแสชั่วขณะนี้ เนื่องจากกระแสมีค่าสูงขึ้นมากจากกระแสปกติหลายเท่าตัว แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ฟิวส์จึงไม่ทำงาน (ขาด) 

.

ดังนั้นในการป้องกันด้วยฟิวส์จึงต้องออกแบบเลือกให้ฟิวส์สามารถทนค่ากระแสชั่วขณะนี้ได้ ค่ากระแสชั่วขณะจะเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่ เกิดจากการสวิตชิ่งคาปาซิเตอร์แบงก์ (Switching Capacitor) และเกิดจากฟ้าผ่า (Lightning Surge)

.

การสวิตชิ่ง หมายถึงการสับสวิตช์คาปาซิเตอร์แบงก์ เข้า-ออก กับระบบหรือบัสใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสวิตชิ่งแบบ Back–to–Back Switching ซึ่งในกรณีนี้ คาปาซิเตอร์แบงก์ที่สวิตช์เข้าระบบจะไปกระตุ้นให้คาปาซิเตอร์แบงก์อื่น ๆ รอบข้างได้รับผลกระทบด้วย

.

นอกจากนั้นในระบบไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์ 2 จุดหรือมากกว่าเข้าในระบบหรือบัสแรงดันต่ำก็มักจะได้รับผลดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน แต่กรณีดังกล่าวนี้จะไม่ค่อยเกิดกับคาปาซิเตอร์แบงก์ที่ติดตั้งบนคอนเสา

.

ค่าขนาดและความถี่สูงจากการสวิทช์ชิ่งแบบ Back–to–Back จะทำให้เกิดกระแสชั่วขณะพุ่งเข้า (Inrush Current) มากน้อยแค่ไหนจะขึ้นอยู่กับส่วนประกอบอื่น ๆ อีกเช่น แรงดันของระบบในเวลานั้น ๆ หรือเรียกว่าจุดบนสัญญาณแรงดันที่ทำการสวิตช์เข้า-ออก (Point on Wave), ค่าอิมพีแดนซ์ คาปาซิเตอร์แบงก์เมื่อเทียบกับค่ารีแอกแตนซ์จุดอื่นในวงจร, จำนวนของคาปาซิเตอร์แบงก์ที่สวิตช์เข้าระบบแล้ว และผลการหน่วง (Damp) จากค่าความต้านทานของสวิตช์ หรือวงจรอื่น ๆ  

.

ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีการสับสวิตช์คาปาซิเตอร์เพื่อการปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังของระบบ (การไฟฟ้ากำหนดไว้ที่ 0.85 PF. Lagging) เพื่อหลีกเลี่ยงการปรับค่ากิโลวาร์ที่รับจากการไฟฟ้า ถ้าต้องการลดผลของการเกิดกระแสชั่วขณะจากการสวิตชิ่งนี้ จะต้องทำการสวิตช์ ภายใต้การรองด้วยรีแอกเตอร์ (Tuned Filter)

.

จากรูปที่ 3 จะแสดงให้เห็นถึงรูปร่างของกระแสพุ่งเข้า (Inrush Current) ระหว่างการ Back–to–Back Switching ของคาปาซิเตอร์แบงก์ โดยแสดงให้เห็นถึงค่าความถี่ชั่วขณะ ของการสวิตชิ่งที่ความถี่ประมาณ 5000 Hz   

.

นอกจากนั้นแล้ว ในการเลือกใช้ฟิวส์ป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์จะต้องพิจารณาถึงอีกปัจจัย ได้แก่ผลของแรงดันเกินอันเนื่องจากผลของฟ้าผ่า ซึ่งในการออกแบบใช้งานกันโดยทั่วไป จะเลือกใช้ฟิวส์ชนิดทำงานเร็วคือชนิด T (T–Tin Links) ซึ่งเป็นชนิดที่ใช้กันโดยทั่วไป สำหรับพิกัดกระแสต่ำ ๆ จนถึง 25 A

.

สำหรับป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์แบบเป็นกลุ่ม ส่วนฟิวส์ชนิดทำงานช้าคือชนิด K (K-Tin Links) จะทนกระแสได้มากกว่า 25 A ขึ้นไป โดยชนิด K นี้ จะสามารถทนกระแสเกินชั่วครู่ได้ดีทั้งนี้เนื่องจากทำงานช้า ซึ่งเป็นชนิดที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป เพราะให้ประสิทธิภาพที่ดี และมักใช้ในพื้นที่เกิดฟ้าผ่าบ่อย ๆ

.

รูปที่ 3 รูปคลื่นของกระแสชั่วขณะพุ่งเข้า (Inrush Current) ที่เกิดจากสวิทช์แบบ Back-to-Back Switching

.

ในสถานีไฟฟ้าย่อยซึ่งมีการออกแบบระบบป้องกันฟ้าผ่าที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่มีผลของแรงดันเกินจากฟ้าผ่านี้ เนื่องจากจะถูกกำจัดโดย Lightning Arrester ก่อนที่จะเข้ามายังสถานีไฟฟ้าย่อย แต่ถ้าหากเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะมีฟิวส์ป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์ ซึ่งจะคอยรองรับกระแสเกินจำนวนนั้นได้ 

.

ดังนั้นจะเห็นว่า ในการออกแบบป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์แบบฟิวส์แยก กระแสทั้งหมดจะถูกแบ่งออกไปตามจำนวนชุดคาปาซิเตอร์ที่ต่อขนานกันอยู่ ทำให้ขนาดของกระแสที่ไหลผ่านฟิวส์แต่ละตัว จะมีค่าลดลงตามจำนวนชุดของคาปาซิเตอร์แบงก์ที่ขนานกันตามไปด้วย กรณีที่ออกแบบระบบป้องกันกระแสเกินของคาปาซิเตอร์แบงก์ ที่เลือกแบบฟิวส์ กลุ่ม จะเห็นว่ากระแสชั่วขณะจะไหลผ่านฟิวส์ทั้งหมดเพียงตัวเดียว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความร้อนขึ้นที่ฟิวส์สูง โดยจะมีค่าขึ้นอยู่กับกระแส และเวลาที่กระแสดังกล่าวไหลผ่าน ตามสมการ  I2

.

3. กระแสฟอลต์ (Fault Current)

กระแสฟอลต์ เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญต่อการเลือกฟิวส์ป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์ ถ้าต่อคาปาซิเตอร์แบงก์แบบสตาร์-กราวด์ หากติดตั้งในสถานีไฟฟ้าย่อยหรือติดตั้งอยู่บนเสาไฟฟ้าก็ตาม หากที่ขั้วต่อของคาปาซิเตอร์แบงก์เกิดการลัดวงจร (Capacitor Failure) และเกิดฟอลต์ในระบบ ทำให้กระแสฟอลต์ไหลผ่านจุดนั้นสูงจนกว่าฟิวส์จะขาด ซึ่งค่ากระแสฟอลต์สูงสุดที่คาปาซิเตอร์แบงก์แบบ All–Film ทนได้โดยไม่เกิดความเสียหาย จะแสดงในตารางที่ 1 ดังนี้

.

ตารางที่ 1 กระแสฟอลต์สูงสุดที่คาปาซิเตอร์แบงก์ทนได้ของผู้ผลิตคาปาซิเตอร์แบงก์รายหนึ่ง

.

การต่อคาปาซิเตอร์แบงก์ในสถานีไฟฟ้าย่อย มักจะจัดออกเป็นหลายกลุ่มย่อยที่ต่ออนุกรมกัน (ในกรณีต่อแบบสตาร์) ดังนั้นกระแสฟอลต์ที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถไหลผ่านจุดฟอลต์ได้มากนัก ทั้งนี้เพราะว่ายังมีคาปาซิเตอร์แบงก์อื่น ๆ ที่ต่อนุกรมอยู่อีก

.

เว้นแต่ว่าจะเกิดลัดวงจรที่ขั้วของคาปาซิเตอร์แบงก์พร้อม ๆ กันหรือเกิดวาบไฟตามผิว (Flashover) จากส่วนอื่นแล้วทำให้เกิดฟอลต์ขึ้นพร้อมกัน ซึ่งเป็นไปได้ค่อนข้างยากมากในกรณีนี้ ในการออกแบบระบบป้องกัน มักจะใช้สมมุติฐานว่ากระแสฟอลต์ที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถไหลผ่านได้ทั้งหมด อันเนื่องจากเหตุผลว่า มีคาปาซิเตอร์อื่น ๆ ต่ออนุกรมอยู่ ดังอธิบายไปแล้วนั้น

.

การเลือกใช้คาปาซิเตอร์แบงก์แบบ All-Film Capacitor จะให้ผลการรองรับกระแสฟอลต์และพลังงานที่ถ่ายเทระหว่างเซลล์ได้ดีกว่าแบบอื่น ๆ ตารางที่ 2 จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถของคาปาซิเตอร์แบงก์ อีกชนิดหนึ่ง ที่ทนต่อกระแสฟอลต์สูงได้ ซึ่งคาปาซิเตอร์แบงก์ ชนิดนี้ได้ออกแบบการผลิต จากการใช้วัสดุ Foil ถักรอบภายในตัวถังของคาปาซิเตอร์แบงก์ เพื่อให้ทนต่อกระแสและพลังงานสูงที่อาจเกิดขึ้น

.

ตารางที่ 2  กระแสฟอลต์สูงสุดของคาปาซิเตอร์ชนิด High Energy Capacitor ของผู้ผลิตรายหนึ่ง

.
4. กราฟแสดงความสัมพันธ์กันค่าความเสียหายของตัวถังคาปาซิเตอร์แบงก์

ค่าเวลาสูงสุดที่ฟิวส์ทำงานหรือขาด ซึ่งเรียกว่า Maximum Clearing Time Current Characteristics เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันด้วยกราฟ Log-log Scale จะต้องให้เส้นกราฟ Maximum Clearing Time ของฟิวส์ อยู่ใต้เส้นกราฟเสียหายของตัวถังคาปาซิเตอร์แบงก์ (Tank Rupture Curve) เนื่องจากผลของกระแสและค่าพลังงานดิสชาร์จสูงที่อาจเกิดขึ้นในถังของคาปาซิเตอร์ จะทำให้ตัวถังเสียหายหรือระเบิดได้ง่ายขึ้น ดังแสดงในรูปที่ 4 ซึ่งเส้นกราฟความเสียหายของตัวถังคาปาซิเตอร์นั้น

.

ผู้ผลิตจะต้องมีการทดสอบเพื่อให้ได้เส้นกราฟมา ซึ่งแบ่งการทดสอบออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้เส้นกราฟที่ 10%, 5%, และ 90% (เป็น % หมายถึง โอกาสที่จะเกิดการระเบิดของตัวถัง) ดังนั้นเวลาเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินเพื่อให้อุปกรณ์ป้องกันสามารถทำงานสัมพันธ์กันได้ จะต้องพิจารณาถึงกราฟนี้ด้วย (นอกจากดูที่กระแสพิกัดที่ฟิวส์รองรับได้เพียงอย่างเดียว) ซึ่งในปัจจุบันจะไม่ค่อยได้ให้ความสนใจกับกราฟนี้เท่าใดนัก เพราะในการจัดการทำงานให้การจัดลำดับความสัมพันธ์ของฟิวส์ มักจะเลือกค่าที่ต่ำกว่า 10%

.

รูปที่ 4 กราฟคุณสมบัติ เวลา–กระแส เทียบกับ กราฟการทนได้สูงสุดของตัวถังคาปาซิเตอร์

.

จากรูปที่ 4 เป็นตัวอย่างการจัดลำดับความสัมพันธ์ของฟิวส์ขนาด 25 A, Type T-tin จะเห็นว่าฟิวส์ 25 A ดังกล่าวมีกราฟเส้นขาด (Clearing Time Curve) ต่ำกว่าหรืออยู่ใต้เส้นกราฟ Tank Rupture Curve ที่เส้น TCC 10% ของตัวถังคาปาซิเตอร์ นั่นหมายถึงฟิวส์จะขาดก่อนตัวถังคาปาซิเตอร์จะระเบิดนั่นเอง 

.

พิกัดการทนได้ของตัวถัง จะแสดงถึงประสิทธิภาพความสามารถทนได้ของโลหะที่ใช้ทำตัวถังของคาปาซิเตอร์แบงก์ โดยจะต้องทนกระแสได้มากกว่า กระแสพิกัดของคาปาซิเตอร์แบงก์ เพื่อป้องกันการระเบิด ซึ่งในการออกแบบป้องกัน จะต้องพิจารณาถึงกราฟนี้ประกอบด้วย และคุณสมบัติของกราฟนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับพิกัดแรงดันและ ขนาด KVAR ของคาปาซิเตอร์แบงก์ นั้น ๆ ด้วย

.
5. ค่าแรงดันที่คาปาซิเตอร์ยังคงทำงานได้ ทั้งก่อน/หลังการเกิดฟอลต์

กรณีต่อคาปาซิเตอร์แบงก์แบบสตาร์-ไม่ต่อกราวด์ เมื่อเกิดฟอลต์ที่ขั้วของคาปาซิเตอร์เพียงตัวใดตัวหนึ่งดังรูปที่ 5 ทำให้แรงดันที่คร่อมคาปาซิเตอร์แบงก์เฟสอื่น ๆ (B, C Phase) มีค่าเท่ากับแรงดันไลน์ของระบบ () และถ้าอุปกรณ์ป้องกันกำจัดฟอลต์ช้าหรือไม่ทัน จะทำให้คาปาซิเตอร์แบงก์ เหล่านั้นเสียหายได้

.

ดังนั้นต้องออกแบบระบบป้องกันให้ฟิวส์ทำงานได้ทันท่วงที เพื่อป้องกัน คาปาซิเตอร์แบงก์ที่เหลืออีก 2 เฟส ก่อนที่จะเกิดความเสียหายตามมา และควรเลือกใช้ฟิวส์ชนิด K–link ซึ่งเป็นแบบทำงานเร็ว (แต่ถ้าต้องการออกแบบให้ฟิวส์ทำงานช้าหรือตัดช้าเพื่อป้องกันผลของกระแสชั่วขณะ จะต้องเลือกใช้ T–link)

.

รูปที่ 5 แสดงการเกิดแรงดันเกินเมื่อฟอลต์ที่คาปาซิเตอร์แบงก์

.

สรุปได้ว่า การต่อคาปาซิเตอร์แบงก์แบบแยก ควรจะเลือกใช้ฟิวส์แบบตัดเร็วคือ K–type ถ้าเป็นคาปาซิเตอร์แบงก์ขนาดใหญ่และต่ออนุกรมกันหลาย ๆ กลุ่มดังรูปที่ 6 ควรเลือกใช้ฟิวส์ชนิด T–link ซึ่งเมื่อเกิดลัดวงจรขึ้นที่ขั้วของคาปาซิเตอร์ตัวใดตัวหนึ่งขึ้น คาปาซิเตอร์กลุ่มอื่น ๆ ที่ต่ออนุกรมอยู่จะยังคงทำงานต่อไปได้ จนกว่าฟิวส์จะขาด ดังนั้นอาจจะทำให้เกิดภาวะแรงดันเกินที่เฟสอื่นได้ ดังแสดงในตารางที่ 3 (เมื่อกำหนดให้เกิดการลัดวงจรขึ้นที่ขั้วคาปาซิเตอร์แบงก์เฟส A)

.

รูปที่ 6 แสดงการต่อคาปาซิเตอร์แบงก์อนุกรมกันหลายกลุ่ม

.

ตารางที่ 3 แสดงค่าแรงดันเกิน (pu.) ของคาปาซิเตอร์ในเฟสที่ไม่เกิดฟอลต์

.
6. ผลของฮาร์มอนิก

ผลของฮาร์มอนิก เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คาปาซิเตอร์แบงก์และอุปกรณ์ป้องกันทำงานผิดพลาดได้ ถึงแม้ว่าคาปาซิเตอร์แบงก์ ไม่ได้ก่อให้เกิดฮาร์มอนิกก็จริง แต่การสวิตชิ่งคาปาซิเตอร์แบงก์เข้า-ออกในระบบไฟฟ้า จะทำให้เกิดการชาร์จความถี่เข้าไปในระบบ และบ่อยครั้งอาจจะส่งผลให้เกิดแรงดันเกินชั่วขณะได้ ทำให้กระแสและแรงดันของระบบมีรูปคลื่นผิดเพี้ยนไปจากความถี่กำลัง (Power Frequency) ซ้ำร้ายที่สุดอาจเข้าสู่สภาวะเรโซแนนซ์ได้ ดังแสดงในรูปที่ 7 ดังนี้

.

รูปที่ 7 รูปคลื่นฮาร์มอนิกเรโซแนนซ์ที่ 5 ที่เกิดจากการสวิตช์คาปาซิเตอร์

.

โดยปกติแล้วคาปาซิเตอร์แบงก์ถูกออกแบบมาให้สามารถทนต่อผลกระทบจากฮาร์มอนิกได้ แต่ถ้าระบบมีปริมาณของฮาร์มอนิกมาก ๆ (%THD สูง ๆ) ย่อมส่งผลให้การทำงานของฟิวส์ผิดพลาดได้ง่าย เช่น ในกรณีที่ไม่เกิดฟอลต์ แต่ฟิวส์ขาด อันเนื่องมาจากผลของฮาร์มอนิก และเมื่อฟิวส์ทำงานจะทำให้มีโอกาส เกิดสภาวะความถี่เรโซแนนซ์ได้ง่าย เมื่อเปลี่ยนฟิวส์ใหม่ทุกครั้ง ผลของความถี่เรโซแนนซ์ในระบบนี้ ก็จะเป็นตัวสร้างปัญหาให้ฟิวส์ขาดอยู่บ่อย ๆ ได้เช่นกัน

.

ฮาร์มอนิกในระบบนั้นจะมีต้นเหตุมาจากโหลดแล้ววิ่งเข้ามาในไลน์ของระบบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วค่าอิมพีแดนซ์แหล่งจ่ายของระบบจะน้อยกว่าค่าอิมพีแดนซ์ของโหลดเสมอ (ประมาณ 20–50 เท่า) ดังนั้นเมื่อระบบมีคาปาซิเตอร์แบงก์สวิตชิ่งเข้าไป จะสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินของกระแสฮาร์มอนิกไปและทำให้ระดับแรงดันของระบบเพิ่มสูงขึ้นได้

.

แต่ค่าอิมพีแดนซ์ของคาปาซิเตอร์แบงก์จะลดลงเนื่องจากมีค่าความถี่ฮาร์มอนิกมากขึ้น ดังสมการ  Xc = 1/(2fC)  ผลจากค่าอิมพีแดนซ์ของคาปาซิเตอร์แบงก์ลดลงจะทำให้แรงดันฮาร์มอนิก จะตกคร่อมคาปาซิเตอร์แบงก์ได้น้อย แต่ค่ากระแสฮาร์มอนิกจะผ่านทะลุคาปาซิเตอร์แบงก์ได้มากขึ้นและทำให้ฟิวส์ป้องกันขาดได้

.

7. ผลจากค่าพลังงานจากคาปาซิเตอร์ที่ดิสชาร์จออกเมื่อเกิดการลัดวงจรในส่วนของเซลล์ขนานกัน

เมื่อคาปาซิเตอร์ตัวใด ๆ เกิดความเสียหายขึ้นในกลุ่มคาปาซิเตอร์แบงก์ ที่มีพิกัดสูง ๆ พลังงานที่ถูกสะสมตามจำนวนที่ต่อขนานอยู่กับตัวมัน จะสามารถดิสชาร์จ ผ่านคาปาซิเตอร์แบงก์ ที่เสียหายนั้นอย่างรวดเร็ว ดังแสดงในรูปที่ 8 ซึ่งอาจทำให้เกิดการระเบิดของคาปาซิเตอร์แบงก์ได้

.

ดังนั้น ฟิวส์จะต้องทำงานทันที เพื่อเปิดวงจรส่วนนั้นออก ในการออกแบบจะต้องคำนวณด้วยว่า จะสามารถขนาน คาปาซิเตอร์แบงก์ได้กี่ตัว เพื่อไม่ให้เกิดพลังงานสะสมใน คาปาซิเตอร์แบงก์ ที่ต่อขนานกัน มากกว่าค่าของพิกัดตัวถังหรือฟิวส์ทนได้และไม่ก่อให้เกิดการระเบิดขึ้น

.

รูปที่ 8 การดิสชาร์จพลังงานของคาปาซิเตอร์รอบข้างเข้าผ่านคาปาซิเตอร์ที่ลัดวงจร

.

การออกแบบการติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์ ค่าพลังงานนี้จะต้องไม่เกิน 10,000 จูล (คาปาซิเตอร์แบงก์ไม่เกิน 3100 KVAR ในคาปาซิเตอร์ทั้งหมดที่ขนานกันสำหรับคาปาซิเตอร์ชนิดกระดาษหรือแบบแผ่นฟิล์ม) และไม่เกิน 15,000 จูล (คาปาซิเตอร์แบงก์ไม่เกิน 4650 KVAR ของชุดคาปาซิเตอร์แบงก์ที่ขนานกันสำหรับคาปาซิเตอร์แบงก์ ชนิดฟิล์มล้วน) 

.

ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตคาปาซิเตอร์ สามารถออกแบบให้ทนพลังงานสะสมสูงถึง 30,000 จูล ได้ (9300 KVAR ของคาปาซิเตอร์แบงก์ที่ขนานกัน) โดยที่ คุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ทำตัวถังคาปาซิเตอร์และคุณลักษณะทางไฟฟ้ายังคงอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี

.

ในการออกแบบคำนวณหาจำนวนคาปาซิเตอร์ที่สามารารถขนานกันได้เพื่อให้ทนกับค่าพลังงานที่อาจเกิดการดิสชาร์จนั้น สำหรับการต่อคาปาซิเตอร์แบงก์แบบกลุ่ม จะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้จาก 2 เหตุผล ดังนี้

.

1. ในการออกแบบคาปาซิเตอร์แบงก์ จะต้องพยายามลดจำนวนของ คาปาซิเตอร์แบงก์ที่ขนานกันลงเท่าที่จะทำได้  ทั้งนี้เพื่อลดพลังงานที่สะสมและลดความเสี่ยงต่อการระเบิด นอกจากนั้นแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของจำนวนคาปาซิเตอร์ด้วย ตลอดจนลดการสิ้นเปลืองพื้นที่ในสถานีไฟฟ้าลงได้

.

2. การเลือกใช้ฟิวส์จำกัดกระแส จะทำให้สิ้นเปลืองมากเพราะต้องมีฟิวส์เท่ากับจำนวนคาปาซิเตอร์ทั้งหมด (ดูรูปที่ 8) และยังเป็นการเพิ่มความร้อนและกำลังการสูญเสีย (Power Loss) ที่ฟิวส์บวกกับกำลังการสูญเสียที่คาปาซิเตอร์แบงก์ ทำให้เพิ่มกำลังสูญเสียเป็น 2 เท่าโดยปริยาย ปกติแล้วกำลังการสูญเสียที่ฟิวส์ จะมากกว่าหรือเท่ากับกำลังการสูญเสียที่คาปาซิเตอร์แบงก์   

.
8. ผลกระทบจากพลังงานสูง

เมื่อคาปาซิเตอร์เสียหายหรือเกิดการทะลุผ่านของเซลล์เมื่อเกิดแรงดันเกินขึ้นเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม ต้องพึงระวังถึงค่าพลังงานที่สะสมอยู่ภายในซึ่งพร้อมที่จะดิสชาร์จได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ต่อคาปาซิเตอร์ต่อแบบขนาน ซึ่งสามารถคำนวณหาค่าพลังงานที่สะสมใน คาปาซิเตอร์ ได้จากสมการ

.
         
เมื่อ    C  = ค่าคาปาซิแตนซ์ (Farad)
           V  = ค่าแรงดันระบบ (pu.)
.

ค่าพลังงานสูงสุดที่อาจถูกดิสชาร์จออกจาก คาปาซิเตอร์นั้น จะเกิดก็ต่อเมื่อคาปาซิเตอร์เกิดการทะลุผ่านหรือคาปาซิเตอร์เกิดความเสียหาย ภายใต้สภาวะแรงดันเกินหรือมากกว่า 110% ของแรงดันระบบ ซึ่งการเกิดแรงดันเกินดังกล่าวนี้จะเกิดได้หลาย ๆ สาเหตุ เช่น เกิดจากการสวิตชิ่ง หรือจากการเกิดฟ้าผ่า เป็นต้น ค่าพลังงานสะสมในคาปาซิเตอร์แบงก์แบบกลุ่มนั้นสามารถหาได้จากสมการ

.
           

เมื่อ      Q   = ค่า kVAR ที่ต่อขนานกันต่อเซลล์
             V   = ค่าแรงดันระบบ (pu.)
              f   = ความถี่ของระบบ (Hz)
จากสมการที่ 3 ถ้าคาปาซิเตอร์แบงก์กลุ่มหนึ่งมีพลังงานสะสมรวมเท่ากับ E = 30 kJ, Q = 4650 kVAR, f = 60 Hz จงคำนวณหาค่า V สูงสุดที่กลุ่มคาปาซิเตอร์ทนได้เมื่อใช้กับระบบ 22 KV

.
วิธีทำ  จาก

.

ดังนั้นถ้าเกิดแรงดันเกิน 110 % ของแรงดันระบบซึ่งมีค่าเท่ากับ1.1 x 22 = 24.2 kV จะเห็นว่ากลุ่มคาปาซิเตอร์แบงก์ดังกล่าวยังคงทำงานได้โดยไม่เกิดความเสียหายเนื่องจากแรงดันเกินนี้ สำหรับการเลือกฟิวส์กำจัดกระแส ในทางปฏิบัติถ้าออกแบบเลือกคาปาซิเตอร์ให้มีพลังงานสะสมอยู่มาก ๆ คาปาซิเตอร์แบงก์ จะต้องเลือกฟิวส์ที่พิกัดกระแสต่ำลงมากขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหาย และเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น

.

9. กระแสพุ่งออก

ในกรณีคาปาซิเตอร์ตัวใดเกิดลัดวงจรหรือทะลุผ่าน ฟิวส์ป้องกันคาปาซิเตอร์นั้นจะต้องอยู่ภายใต้สภาวะความถี่และค่า I2t สูง ๆ คาปาซิเตอร์แบงก์ที่ต่อขนานอยู่ข้างจะดิสชาร์จพลังงานที่คงค้างอยู่ ผ่านเข้ามายังส่วนที่คาปาซิเตอร์ตัวที่เสียหายผ่านฟิวส์

.

ดังนั้น ในการเลือกใช้ฟิวส์จะต้องพิจารณาถึงส่วนนี้ด้วย โดยทั่วไปแล้วการออกแบบระบบป้องกันจะพิจารณาองค์ประกอบอยู่ 2 ประเด็นร่วมกันซึ่งประกอบด้วย ค่าเวลาสูงสุดของการทำงานของฟิวส์ (เริ่มจากหลอมละลาย   จนเปิดวงจรเสร็จสิ้น) และค่าเวลาสูงสุดที่ตัวถังของคาปาซิเตอร์แบงก์ทนได้ตามที่ได้กล่าวมา

.

การออกแบบระบบป้องกันกระแสเกิน จะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ฟิวส์ที่ขาดเร็วจะทน I2t ได้น้อยได้แก่ฟิวส์ชนิด K ส่วนฟิวส์ที่ขาดช้าจะต้องทนหรือรองรับ I2t ได้สูง ซึ่งได้แก่ฟิวส์ชนิด T สำหรับรายละเอียดต่าง ๆ ถ้าวิศวกรผู้ออกแบบระบบป้องกันสงสัยเกี่ยวกับ ข้อมูลคุณลักษณะของอุปกรณ์ที่สำคัญ สามารถสอบถามได้จากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง

.

10. ความสามารถในการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันต่อสภาวะเฟสไม่สมดุล

เมื่อเกิดความผิดปกติหรือเกิดฟอลต์ขึ้นแล้วฟิวส์ของคาปาซิเตอร์แบงก์นั้นทำงาน จะทำให้แรงดันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดสภาวะเฟสไม่สมดุลได้ เมื่อขนาดของแรงดันสูงขึ้นเกินกว่า 110% ของแรงดันระบบ ฟิวส์จะต้องตัดวงจรคาปาซิเตอร์แบงก์ออกทันที โดยทั่วไปแล้วการสวิทช์คาปาซิเตอร์เข้า–ออก กับระบบ จะใช้โหลดเบรกสวิตช์ หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ แทนการสับเปลี่ยนฟิวส์เข้า–ออก โดยตรง ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและยืดหยุ่นต่อการทำงาน

.

การออกแบบการจัดลำดับการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันให้สัมพันธ์กันในสภาวะเฟสไม่สมดุลนี้จะต้องพิจารณาจากกราฟคุณลักษณะของกระแส–เวลาของฟิวส์และอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ เพื่อให้การป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับคาปาซิเตอร์แบงก์ โดยจะต้องออกแบบให้ฟิวส์ทำงานก่อนเซอร์กิตเบรกเกอร์ เนื่องจากถ้าเซอร์กิตเบรกเกอร์ทำงานก่อนฟิวส์   จะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการตรวจสอบหาสาเหตุหรือการปรับเปลี่ยนคาปาซิเตอร์แบงก์ชุดใหม่ได้

.

บทสรุป

มีข้อแนะนำหลายประการ เกี่ยวกับการออกแบบระบบป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์ในระบบไฟฟ้า ทางเลือกสำหรับการออกแบบระบบป้องกันมีหลายวิธี สำหรับการใช้ฟิวส์ป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์ ต่างมีหลายชนิด หลายพิกัดให้เลือกใช้ตามบริษัทผู้ผลิตทำออกมา แต่ข้อสำคัญในการออกแบบระบบป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์ จะต้องเลือกชนิด และพิกัดของฟิวส์ให้ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ว่าคาปาซิเตอร์แบงก์จะต่อแบบกลุ่ม หรือแบบแยกก็ตาม

.

การใช้ฟิวส์ป้องกันคาปาซิเตอร์แบงก์แบบแยกจะต้องมีการเผื่อ เพื่อการจัดลำดับความสัมพันธ์ต่อการทนได้ของตัวถังของคาปาซิเตอร์ และต้องคำนึงถึงกระแสฟอลต์สูงสุด ค่าพลังงานสะสมภายในคาปาซิเตอร์แบงก์ซึ่งอาจจะไหลผ่านจุดที่คาปาซิเตอร์แบงก์บางตัวเสียหายและทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้

.

ในการออกแบบและเลือกใช้ฟิวส์จำกัดกระแส จะต้องพิจารณาเหตุการณ์หรือลักษณะการเกิดฟอลต์หลาย ๆ กรณีผสมผสานกัน ทั้งนี้เพื่อให้ระบบการป้องกันมีความถูกต้องและครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะส่งผลต่อคาปาซิเตอร์แบงก์ ในโรงงานอุตสาหกรรมและระบบจำหน่ายจำหน่ายสามารถทำงานให้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัยยิ่ง ๆ ขึ้น

.

เอกสารอ้างอิง

[1] S. R. Mendis, M. T. Bishop, J. C. McCall and W. M. Huast , “Capacitor over-current  protection for industrial distribution system”, Copper Power Systems, Engineering Group, Franksville, Wisconsin and  McGraw-Edison Power Capacitors Greenwood, South  Carolina, pp. 285-292.
[2] Roger, C.D. 1996. Electrical Power Systems Quality. McGraw- Hill, New York

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด