เนื้อหาวันที่ : 2010-08-19 18:22:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8656 views

RFID เทคโนโลยีอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)

บทความเป็นการนำเสนอเทคโนโลยี RFID ซึ่งเป็นเทคโนโลยี หนึ่งในสิบเทคโนโลยีล่าสุดของโลกที่น่าจับตามมอง กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด กลายเป็นกระแสโลก มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคนมากที่สุดในทศวรรษนี้ ซึ่งในประเทศไทยของเราได้เริ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีอย่างจริงจังในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน โดยได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมากมาย เช่น การออกแบบวงจรไมโครชิปที่ใช้งานในป้ายอัจฉริยะ และการออกแบบและพัฒนาเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี ตลอดจนไปถึงโปรแกรมควบคุมการใช้งานต่าง ๆ พร้อมกับมีคำถามมากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้

วัชรากร หนูทอง และ อนุกูล น้อยไม้
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

 .

.

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ บทความเป็นการนำเสนอเทคโนโลยี RFID (อ่านออกเสียงว่า อาร์เอฟไอดี) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี หนึ่งในสิบเทคโนโลยีล่าสุดของโลกที่น่าจับตามมอง กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด กลายเป็นกระแสโลก มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคนมากที่สุดในทศวรรษนี้

.

ซึ่งในประเทศไทยของเราได้เริ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีอย่างจริงจังในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน โดยได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมากมาย อาทิเช่น การออกแบบวงจรไมโครชิปที่ใช้งานในป้ายอัจฉริยะของระบบอาร์เอฟไอดี และการออกแบบและพัฒนาเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี ตลอดจนไปถึงโปรแกรมควบคุมการใช้งานต่าง ๆ

.

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ จึงเป็นที่มาของบทความนี้ ที่ต้องการสร้างความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีและการนำไปประยุกต์ใช้งาน ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีกันเลยดีกว่าครับ ว่ามันคืออะไร ใช้งานอย่างไร และมันจะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของเราได้อย่างไรบ้าง

.
อาร์เอฟไอดีคืออะไร 

RFID ย่อมาจาก Radio Frequency Identification เป็นเทคโนโลยีการระบุข้อมูลที่แสดงเอกลักษณ์ของวัตถุหรือบุคคล ด้วยคลื่นความถี่วิทยุที่ได้ถูกพัฒนามาในยุค ค.ศ. 1970s วัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการบ่งชี้วัตถุในระยะไกลได้ โดยมีจุดเด่นคือสามารถอ่านข้อมูลจากป้าย (Tag) ได้หลาย ๆ ป้าย แบบไร้สัมผัส และสามารถอ่านค่าได้แม้ในสภาพที่ทัศนวิสัยไม่ดี ทนต่อความเปียกชื้น แรงสั่นสะเทือน การกระทบกระแทก และสามารถจะอ่านข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง โดยข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในไมโครชิปที่อยู่ในป้าย

.

ในปัจจุบันได้มีการนำอาร์เอฟไอดีไปประยุกต์ใช้งานในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากนำมาใช้ทดแทนระบบรหัสแท่งแบบเดิม ได้แก่ การใช้งานในบัตรชนิดต่าง ๆ เช่น บัตรประจำตัวพนักงาน (ID card) บัตรโดยสาร บัตรสำหรับผ่านเข้าออกห้องพัก บัตรที่จอดรถตามศูนย์การค้าต่าง ๆ ป้ายสำหรับติดกระเป๋า เดินทาง ป้ายสำหรับติดสินค้า

.

บางครั้งเราอาจพบเห็นอยู่ใน รูปของป้ายสินค้าซึ่งมีขนาดเล็กจนสามารถแทรกลงระหว่างชั้นของเนื้อกระดาษได้ หรือเป็นแคปซูลขนาดเล็กฝังเอาไว้ในตัวสัตว์เพื่อบันทึกประวัติต่าง ๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าอาร์เอฟไอดีนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย ซึ่งเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเราในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน แต่ก่อนที่จะมาเป็นอาร์เอฟไอดีในวันนี้นั้นอาร์เอฟไอดีนั้น มีจุดกำเนิดมาอย่างไรนั้น เราไปดูกันครับ

.
รู้จักกับระบบ Auto-ID ในปัจจุบัน

Auto-ID หรือ ระบบบ่งชี้อัตโนมัติ เป็นคำเรียกรวม ๆ ของเทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์ เครื่องมือหรือเครื่องจักรสามารถบ่งบอกวัตถุ สิ่งของหรือแม้แต่คนหรือสัตว์ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยระบบแล้วมักจะประกอบด้วยส่วนที่อ่านหรือรับข้อมูลโดยอัตโนมัติ แล้วทำการประมวลผลหรือส่งข้อมูลนี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องมีคนช่วย วัตถุประสงค์ของระบบบ่งชี้อัตโนมัตินี้เพื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน ลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ และยังลดเวลาของการจัดเก็บข้อมูล  

.

ตัวอย่างของเทคโนโลยีระบบบ่งชี้อัตโนมัติ ได้แก่ เทคโนโลยีรหัสแท่ง (Barcode) เทคโนโลยีบัตรเอนกประสงค์ (Smart Card) เทคโนโลยีด้าน ไบโอเมตริกซ์ เช่น ระบบการรู้จำเสียงพูด (Voice Recognition) ระบบลายพิมพ์นิ้วมือ (Fingerprint Scan) ระบบสแกนม่านตา (Iris Scan) เทคโนโลยีการรู้จำตัวอักษร (OCR: Optical Character Recognition) และเทคโนโลยีการบ่งชี้วัตถุโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ หรืออาร์เอฟไอดี (RFID)

.

รูปที่ 1 ระบบ Auto-ID

.

.

.

.

รูปที่ 2 ตัวอย่างระบบ Auto-ID ในแต่ละประเภท

.
จะเห็นได้ว่าระบบบ่งชี้อัตโนมัตินั้นมีด้วยกันหลายเทคโนโลยี โดยที่แต่ละเทคโนโลยีมีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้างไปดูกันเลยครับ
.
ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบข้อแตกต่างของเทคโนโลยีในแต่ละระบบ

 

จากตารางที่ 1 จะเห็นว่า เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีนั้น มีข้อดีที่ดีกว่าเทคโนโลยีทางด้านอื่นหลายด้านด้วยกัน รู้อย่างนี้แล้วอยากที่จะรู้จักกับเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีหรือยังครับ ถ้าอย่างนั้นเราไปรู้จักกับเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีกันเลยครับ

 .
ประวัติความเป็นมาของเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี

ประวัติการเริ่มต้นของเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีนั้น ย้อนกลับไปถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศในกลุ่มพันธมิตร และกลุ่มอักษะได้มีการใช้เรดาร์ ซึ่งถูกค้นพบโดย เซอร์ โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ วัตสัน-วัตต์ ในปี ค.ศ. 1935 ใช้ในการตรวจจับและเตือนเครื่องบินที่กำลังเข้ามา แต่ปัญหาของการใช้เรดาร์ในยุคนั้นคือไม่สามารถแยกแยะ ระหว่างเครื่องบินรบว่าเป็นของฝ่ายไหน 

 .

ทางฝั่งเยอรมันได้ค้นพบว่าเมื่อนักบินบินหมุนตัวแล้ว จะทำให้มีการสะท้อนสัญญาณเรดาร์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ทราบว่าเครื่องบินที่บินเข้ามาเป็นของฝ่ายเยอรมัน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของอาร์เอฟไอดี แบบที่ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติการสะท้อนคลื่นวิทยุ (Passive) ก็ว่าได้

 .

รูปที่ 3 เซอร์โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ วัตสัน-วัตต์ กับเครื่องเรดาร์ในยุคแรก

 .

เมื่อเทคโนโลยีเรดาร์มีการพัฒนาขึ้น นักบินสามารถที่จะสื่อสารระหว่างเครื่องบินกับสถานีภาคพื้นดินหรือระหว่างนักบินด้วยกัน ที่เราเรียกว่าระบบแยกแยะระหว่างมิตรกับศัตรูหรือ IFF (Identification Friend or Foe) โดยที่เมื่อเครื่องบินได้รับสัญญาณเรดาร์จากภาคพื้นดินหรือว่าระหว่างเครื่องบิน

 .

ตัวเครื่องบินจะส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ตอบกลับไป ทำให้ทราบว่าเป็นเครื่องบินของฝ่ายไหน ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารอาร์เอฟไอดีแบบที่วัตถุส่งสัญญาณจากตัวเองไปยังผู้ถามหรือแบบแอกตีฟ (Active Type)

 .

ยุคเริ่มแรกของการใช้อาร์เอฟไอดี ในเชิงพาณิชย์ได้แก่ระบบกันขโมย (EAS: Electric Article Surveillance) ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งตัวสินค้าจะมีการติด อาร์เอฟไอดีแบบ 1 บิต ซึ่งจะมีค่าเป็น ‘0’ หรือ ‘1’ เมื่อสินค้ามีการชำระเงินตัวบิตจะถูกตั้งค่าเป็น ‘0’ ทำให้สามารถนำออกจากร้านได้ ในกรณีที่ไม่มีการชำระสินค้า เมื่อนำสินค้าผ่านประตูเครื่องตรวจป้ายกันขโมย เมื่ออ่านค่าจากวัตถุในถุงของลูกค้ามีค่าเป็น “1” ก็จะมีสัญญาณเตือนขึ้นมา

 .

เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากอะไรกันแล้วนะครับ แต่...ยังครับ เนื่องจากเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีนั้นยังไม่หยุดแค่นี้ ตามกระแสการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งของนักวิทยาศาสตร์ จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอาร์เอฟไอดีไปอีกอย่างหลากหลายด้วยกัน เราไปดูกันต่อเลยครับ ว่าเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี มีการพัฒนาต่อไปอย่างไรบ้างนับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาครับ

 .
วิวัฒนาการของอาร์เอฟไอดี

อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น จุดเริ่มต้นของอาร์เอฟไอดี มีมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางด้านการพัฒนาได้มีการให้สิทธิบัตรของอเมริกาเกี่ยวกับอาร์เอฟไอดี อันแรกให้กับ Mario W. Cardullo เป็นสิทธิบัตรเกี่ยวกับป้ายแบบแอกตีฟ เมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1973 และในปีเดียวกันได้มีการมอบสิทธิบัตรเกี่ยวกับป้ายแบบ พาสตีฟแก่ Charles Walton โดยประยุกต์ใช้งานสำหรับการเปิดล็อกประตู และ Charles Walton ได้อนุญาตสิทธิให้บริษัท Schlage เป็นผู้ผลิต

 .

ในช่วงปี ค.ศ. 1970 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับอาร์เอฟไอดี เหมือนกันที่ศูนย์วิจัยแห่งชาติลอส อลามอส (Los Alamos National Laboratory) มลรัฐนิวเม็กซิโก ใช้สำหรับการติดตามวัตถุนิวเคลียร์ให้กับกระทรวงพลังงาน โดยใช้อาร์เอฟไอดีติดกับรถบรรทุก และเครื่องอ่านที่ประตูทางเข้าออก และเมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยแห่งนี้ ได้ออกมาตั้งบริษัทและพัฒนาเป็นระบบเก็บค่าทางด่วนอัตโนมัติ

 .

ในขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรของสหรัฐมีความต้องการป้ายแบบพาสตีฟชนิดความถี่ 125 กิโลเฮิรตซ์ สำหรับติดวัว เพื่อใช้แยกแยะว่าวัวตัวไหนมีการฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ ทางศูนย์วิจัยแห่งชาติลอส อลามอส ได้พัฒนาอาร์เอฟไอดีความถี่ 125 กิโลเฮิรตซ์ สำหรับฝังใต้ผิวหนังของวัว อาร์เอฟไอดีความถี่ 125 กิโลเฮิรตซ์ ได้มีการใช้ในเชิงพาณิชย์ในหลายรูปแบบ และต่อมาได้มีการพัฒนาไปที่ความถี่ 13.56 เมกะเฮิรตซ์

 .

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1990 บริษัทไอบีเอ็มได้พัฒนาและจดสิทธิบัตร อาร์เอฟไอดี ในย่าน UHF (ย่านความถี่ตั้งแต่ 300 เมกะเฮิรตซ์ ถึง 3 กิกะเฮิรตซ์) แต่เมื่อไอบีเอ็มมีปัญหาการเงิน จึงได้ขายสิทธิบัตรเกี่ยวกับอาร์เอฟไอดีให้กับบริษัท Intermec ในช่วงกลาง ค.ศ. 1990 ในช่วงนั้นการใช้งานยังไม่แพร่หลายนักเนื่องจากอุปกรณ์ยังมีราคาแพงมาก

 .

อาร์เอฟไอดีในย่านความถี่สูงยิ่ง (UHF) ได้แจ้งเกิดอีกครั้งในปี ค.ศ. 1999 เมื่อ UCC (Uniform Code Council) EAN International บริษัท Procter & Gamble และบริษัท Gillette ได้ร่วมก่อตั้งศูนย์ Auto-ID ขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนาแนวทางการใช้อาร์เอฟไอดีในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

 .

ในช่วงปี ค.ศ. 1999 - 2003 Auto-ID ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนจำนวนมาก และได้มีการขยายศูนย์ Auto-ID ไปยังประเทศออสเตรเลีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และจีน

 .

ได้มีการพัฒนามาตรฐานใหม่ที่เรียกว่า รหัสสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ EPC (Electronic Product Code) และในปี ค.ศ. 2003 เทคโนโลยีนี้ได้ถูกขายให้กับ UCC  ซึ่งได้ร่วมกับ EAN ตั้งบริษัท EPCglobal เพื่อพัฒนา EPC ในเชิงพาณิชย์ ส่วนศูนย์ Auto-ID ได้ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ ยังคงเหลือเฉพาะส่วนปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา (Auto-ID Lab) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 ทาง EPCglobal ได้รับรองมาตรฐาน EPC Gen2

 .

ส่วนการใช้งานในนั้นบริษัทใหญ่ ๆ เช่น  Wal-Mart หรือแม้แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้วางแผนที่จะใช้ EPC สำหรับติดตามสินค้าที่ส่งในสายใยอุปทานของตนเอง รวมถึงในหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านยุโรป อเมริกา หรือทางด้านเอเชียเองก็ตาม

 .

ซึ่งเทคโนโลยีทางด้านอาร์เอฟไอดีนั้น มีส่วนประกอบอยู่หลายส่วน โดยที่แต่ละส่วนก็จะต้องมีการทำงานที่สัมพันธ์กัน ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ฉะนั้นเราไปทำความเข้าใจกับส่วนประกอบของระบบอาร์เอฟไอดีกันเลยครับ

 .

ส่วนประกอบของระบบอาร์เอฟไอดี

ในระบบอาร์เอฟไอดี จะมีองค์ประกอบหลัก ๆ อยู่ 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือทรานสปอนเดอร์ หรือ ป้าย (Transponder/Tag) ที่ใช้ติดกับวัตถุต่าง ๆ ที่เราต้องการ โดยป้ายนั้นจะประกอบด้วยสายอากาศและไมโครชิปที่มีการบันทึกหมายเลข (ID) หรือข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุชิ้นนั้น ๆ ส่วนที่สองคือเครื่องสำหรับอ่าน/เขียน ข้อมูลภายในป้าย (Interrogator/Reader) ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ

 .

ถ้าเปรียบเทียบกับระบบรหัสแท่ง ป้ายในระบบอาร์เอฟไอดี เปรียบได้กับตัวรหัสแท่งที่ติดกับฉลากของสินค้า และเครื่องอ่านในระบบอาร์เอฟไอดี คือเครื่องอ่านรหัสแท่ง (Scanner) โดยข้อแตกต่างของทั้งสองระบบคือ

 .

ระบบอาร์เอฟไอดี จะใช้คลื่นความถี่วิทยุในการอ่าน/เขียน ส่วนระบบรหัสแท่งจะใช้แสงเลเซอร์ในการอ่าน โดยข้อเสียของระบบรหัสแท่ง คือการอ่าน (สแกน) เป็นการใช้แสงในการอ่านรหัสแท่ง ซึ่งจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางหรือต้องอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกับลำแสงที่ยิงจากเครื่องสแกน และสามารถอ่านได้ทีละรหัสในระยะใกล้ ๆ

 .

แต่ระบบอาร์เอฟไอดี มีความแตกต่างโดยสามารถอ่านรหัสจากป้ายได้โดยไม่ต้องเห็นป้าย หรือป้ายนั้นซ่อนอยู่ภายในวัตถุและไม่จำเป็นต้องอยู่ในแนวเส้นตรงกับคลื่น เพียงอยู่ในบริเวณที่สามารถรับคลื่นวิทยุได้ก็สามารถอ่านข้อมูลได้ และการอ่านป้ายในระบบอาร์เอฟไอดี ยังสามารถอ่านได้ทีละหลาย ๆ ป้ายในเวลาเดียวกัน โดยระยะในการอ่านข้อมูลได้ไกลกว่าระบบรหัสแท่งอีกด้วย

 .

รูปที่ 4 ระบบ อาร์เอฟไอดี

 .

ส่วนที่สาม ได้แก่ ระบบประยุกต์ใช้งาน ทั้งนี้รวมถึงระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ประยุกต์ใช้งาน หรือระบบฐานข้อมูล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบการใช้งานที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบข้อมูลสินค้า ระบบบริหารงานบุคคล ฯลฯ

 .
ป้าย (Tag/Transponders)

โครงสร้างภายในของป้ายจะประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนของ ไมโครชิป (Microchip) ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลของวัตถุเช่นรหัสสินค้า และขดลวดขนาดเล็กซึ่งทำหน้าที่เป็นสายอากาศ (Antenna) สำหรับรับส่งสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุและสร้างพลังงานป้อนให้ส่วนของไมโครชิป โดยทั่วไปตัวป้ายอาจอยู่ในรูปแบบที่เป็นกระดาษ แผ่นฟิล์ม พลาสติก มีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ กันไป

 .

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่จะนำเอาไปติด และมีหลายรูปแบบ เช่น บัตรเครดิต เหรียญ กระดุม ฉลากสินค้า แคปซูล หรือป้าย เป็นต้น (พิจารณารูปที่ 6) ทั้งนี้เราสามารถแบ่งป้ายที่มีใช้งานกันอยู่ได้เป็น 2 ชนิด ใหญ่ๆ ได้แก่ ป้ายแบบพาสตีฟและป้ายแบบกึ่งพาสตีฟ และ ป้ายแบบแอกตีฟ โดยแต่ละชนิดก็จะมีความแตกต่างกันตามการใช้งาน ราคา โครงสร้างและหลักการทำงาน 

 .

รูปที่ 5 องค์ประกอบทั่วไปของป้าย

 .

นอกจากการแบ่งจากชนิดที่ว่ามาแล้ว เราสามารถที่จะแบ่งประเภทของป้ายจากรูปแบบการอ่านและหรือบันทึกข้อมูลได้เป็น 3 แบบ คือ ป้ายชนิดที่สามารถถูกอ่านและเขียนข้อมูลได้หลายครั้ง (Read–Write) ป้ายชนิดที่เขียนได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นแต่อ่านได้อย่างหลายครั้ง (Write-Once Read-Many หรือ WORM) และป้ายชนิดอ่านได้เพียงอย่างเดียว (Read-Only) 

 .

หรือเรายังสามารถแบ่งชนิดของป้ายตามความถี่ของการใช้งาน เช่นป้ายย่านความถี่ต่ำ (LF) 125-134 กิโลเฮิรตซ์ ป้ายย่านความถี่สูง (HF) 13.56 เมกะเฮิรตซ์ ป้ายย่านความถี่สูงยิ่ง (UHF) 433 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ และป้ายย่านไมโครเวฟ 2.4 กิกะเฮิรตซ์ 

 .

รูปที่ 6 ป้ายในรูปแบบชนิดต่าง ๆ

 .
ป้ายอาร์เอฟไอดีชนิดพาสซีฟ 

ป้ายชนิดนี้ทำงานได้ไม่ต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟภายนอกใด ๆ เพราะภายในป้ายจะมีวงจรกำเนิดไฟฟ้าเหนี่ยวนำขนาดเล็กเป็นแหล่งจ่ายไฟในตัวอยู่ ทำให้การอ่านข้อมูลทำได้ไม่ไกลมากนัก ระยะอ่านสูงสุดประมาณ 1 เมตร ขึ้นอยู่กับกำลังงานของเครื่องส่งและคลื่นความถี่วิทยุที่ใช้ โดยปกติป้ายชนิดนี้มักมีหน่วยความจำขนาดเล็ก โดยทั่วไปประมาณ 16 - 1,024 ไบต์ มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ราคาต่อหน่วยต่ำ

 .

ไมโครชิปหรือไอซีของป้ายชนิดพาสซีฟที่มีการผลิตออกมาจะมีทั้งขนาดและรูปร่างเป็นได้ตั้งแต่แบบแท่งหรือแผ่นขนาดเล็กจนแทบไม่สามารถมองเห็นได้ไปจนถึงขนาดใหญ่สะดุดตา ซึ่งต่างก็มีความเหมาะสมกับชนิดการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปโครงสร้างภายในส่วนที่เป็นไอซีของป้ายนั้นก็จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

 .

ส่วนของควบคุมการทำงานของภาครับส่งสัญญาณวิทยุ (Analog Front-End) ส่วนควบคุมภาคลอจิก (Digital Control Unit) ส่วนของหน่วยความจำ (Memory) ซึ่งอาจจะเป็นแบบ ROM หรือ EEPROM 

 .

รูปที่ 7 สถาปัตยกรรมภายในไมโครชิปของป้ายแบบพาสซีฟ

 .
ป้ายอาร์เอไอดีแบบกึ่งพาสซีฟ

ป้ายชนิดนี้จะต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ภายนอก ทำให้สามารถส่งข้อมูลได้ระยะไกลกว่าป้ายแบบพาสซีฟ ป้ายเองไม่สามารถเป็นผู้เริ่มต้นส่งสัญญาณการสื่อสารได้ ตัวป้ายเองจะรอรับสัญญาณกระตุ้นให้ทำงานจากเครื่องอ่านได้อย่างเดียว

 .
ป้ายอาร์เอฟไอดีแบบแอกตีฟ

ป้ายชนิดนี้จะต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ภายนอก เพื่อจ่ายพลัง-งานให้กับวงจรภายในทำงาน โดยป้ายแบบนี้สามารถมีหน่วยความจำภายในขนาดใหญ่ได้ถึง 1 เมกะไบต์ และสามารถอ่านได้ในระยะไกลสูงสุดประมาณ 100 เมตร ข้อเสียของป้ายแบบนี้คือ มีราคาต่อหน่วยสูง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีอายุการใช้งานที่จำกัดตามอายุของแบตเตอรี่ซึ่งจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-7 ปี

 .

รูปที่ 8 ป้ายแบบแอกตีฟ

 .
เครื่องอ่าน (Reader)

โดยหน้าที่ของเครื่องอ่านก็คือ การเชื่อมต่อเพื่ออ่านหรือเขียนข้อมูลลงในป้ายด้วยสัญญาณความถี่วิทยุ ภายในเครื่องอ่านจะประกอบด้วย เสาอากาศที่ทำจากขดลวดทองแดง เพื่อใช้รับส่งสัญญาณ ภาครับและภาคส่งสัญญาณวิทยุ และวงจรควบคุมการอ่าน-เขียนข้อมูลซึ่งมักจะเป็นวงจรจำพวกไมโครคอนโทรลเลอร์ และส่วนของการติดต่อกับคอมพิวเตอร์ 

 .

รูปที่ 9 โครงสร้างภายในเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี

 .

เครื่องอ่านจะประกอบด้วยส่วนประกอบหลักดังนี้
- ภาครับและส่งสัญญาณวิทยุ (Transceiver)
- ภาคสร้างสัญญาณพาหะ (Carrier)
- ขดลวดที่ทำหน้าที่เป็นสายอากาศ (Antenna)
- วงจรจูนสัญญาณ (Tuner)
- หน่วยประมวลผลข้อมูล และภาคติดต่อกับคอมพิวเตอร์ (Processing Unit)

 .

โดยทั่วไปหน่วยประมวลข้อมูลที่อยู่ภายในเครื่องอ่านมักใช้เป็นไมโครคอนโทรลเลอร์ ซึ่งอัลกอริทึมที่อยู่ภายในโปรแกรม จะทำหน้าที่ถอดรหัสข้อมูล (Decoding) ที่ได้รับ และทำหน้าที่ติดต่อกับคอมพิวเตอร์ โดยลักษณะขนาดและรูปร่างของเครื่องอ่านจะแตกต่างกันไปตามประเภทของการใช้งาน เช่น แบบมือถือขนาดเล็ก หรือ ติดผนัง จนไปถึงขนาดใหญ่เท่าประตู (Gate Size) เป็นต้น 

 .

รูปที่ 10 เครื่องอ่านอาร์เอฟไอดีแบบพกพา

 .

รูปที่ 11 เครื่องอ่านอาร์เอฟไอดีแบบติดผนัง

 .

รูปที่ 12 เครื่องอ่านอาร์เอฟไอดีแบบอุโมงค์

 .

รูปที่ 13 เครื่องอ่านอาร์เอฟไอดีแบบประตู

 .
อาร์เอฟไอดีทำงานอย่างไร

การทำงานของอาร์เอฟไอดีเราจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ด้วยกัน คือ การทำงานระหว่างป้ายอาร์เอฟไอดีแบบ Passive (ป้ายอาร์เอฟไอดีแบบไม่มีแบตเตอรี่ภายใน) กับเครื่องอ่าน และการทำงานระหว่างป้ายอาร์เอฟไอดีแบบ Active (ป้ายอาร์เอฟไอดีแบบมีแบตเตอรี่ภายใน)

 .
การทำงานของป้ายอาร์เอฟไอดีแบบ Passive

ป้ายชนิดนี้ทำงานได้ไม่ต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟภายนอกใด ๆ โดยทั่วไปการทำงานของป้ายอาร์เอฟไอดีแบบ Passive ในย่านความถี่ต่ำและสูง (LF และ HF) จะใช้หลักการคู่ควบแบบเหนี่ยวนำ (Inductive Coupling) ซึ่งเกิดจากการอยู่ใกล้กับขดลวดจากเครื่องอ่านที่กำลังทำงานและสายอากาศของป้าย ทำให้เกิดการถ่ายเทพลังงานจากเครื่องอ่านไปยังไมโครชิปในป้ายผ่านสนามแม่เหล็กฟ้าที่เกิดขึ้น  

 .

เมื่อไมโครชิปได้รับพลังงานก็จะทำงานตามลักษณะเฉพาะของข้อมูลรหัสประจำตัว ปฏิกิริยาของไมโครชิปดังกล่าวเครื่องอ่านจะรับรู้ได้โดยผ่านสนามแม่เหล็ก และจะทำการตีความเป็นข้อมูลดิจิตอลแสดงถึงรหัสประจำตัว ที่ส่งมาจากป้ายได้ ลักษณะเงื่อนไขในการเหนี่ยวนำแบบชักพา ทำให้การอ่านข้อมูลทำได้ไม่ไกลมากนัก โดยทั่วไประยะอ่านสูงสุดจะประมาณ 1 เมตรขึ้นอยู่กับกำลังงานของเครื่องส่งและคลื่นความถี่วิทยุที่ใช้ 

 .

โดยปกติป้ายชนิดนี้มักมีหน่วยความจำขนาดเล็ก โดยทั่วไปประมาณ 16 -1,024 ไบต์ มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ราคาต่อหน่วยต่ำ ไมโครชิปหรือไอซีของป้าย ชนิดพาสซีฟที่มีการผลิตออกมาจะมีทั้งขนาดและรูปร่างเป็นได้ตั้งแต่แบบแท่งหรือแผ่นขนาดเล็กจนแทบไม่สามารถมองเห็นได้ไปจนถึงขนาดใหญ่สะดุดตา ซึ่งต่างก็มีความเหมาะสมกับชนิดการใช้งานที่แตกต่างกัน

 .

รูปที่ 14 สนามแม่เหล็กจากกระบวนการคู่ควบแบบเหนี่ยวนำ

 .

ส่วนในระบบความถี่สูงยิ่ง (UHF) แทนที่จะใช้การสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จะใช้การ คู่ควบแบบแผ่กระจาย (Propagation Coupling) โดยที่สายอากาศของเครื่องอ่านจะทำการส่งพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในรูปคลื่นวิทยุออกมา ซึ่งเมื่อป้ายได้รับสัญญาณผ่านสายอากาศของตน ป้ายก็จะทำงานโดยการสะท้อนกลับคลื่นที่ได้รับซึ่งถูกปรับค่าตามรหัสประจำตัวของตนไปยังเครื่องอ่าน (Back Scattering)

 .

รูปที่ 15 หลักการทำงานของ LF, HF และ UHF

 .

ทั้งนี้การทำงานในย่านความถี่ต่างกันจะทำให้มีคุณสมบัติการทะลวงต่างกัน รวมทั้งประสิทธิภาพโดยรวมจะขึ้นกับเงื่อนไขอื่นๆ ด้วยเช่น ขนาดของสายอากาศ  หรือสัญญาณรบกวน อีกด้วย

 .
การทำงานของป้ายอาร์เอฟไอดีแบบ Active

ป้ายชนิดนี้จะต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ภายนอก เพื่อจ่ายพลังงานให้กับวงจรภายในทำงาน  โดยหลักใหญ่อาจสามารถแบ่งตามหลักการทำงานได้เป็น ทรานสปอนเดอร์แบบแอกตีฟ ซึ่งจะทำการส่งข้อมูลออกก็ต่อเมื่อได้รับสัญญาณจากเครื่องอ่านและแบบเครื่องบอกตำแหน่งหรือเบคอน (Beacon) ซึ่งสัญญาณจะถูกปล่อยออกมาเป็นระยะ ๆ ตลอดเวลา

 .

การใช้งานของป้ายหรือทรานสปอนเดอร์แบบแอกตีฟนั้น อาจพบได้ในระบบเช่น ระบบจ่ายเงินในทางด่วน หรือด่านตรวจ ขณะที่เบคอนอาจพบได้ในระบบที่ต้องการการบ่งชี้พิกัดแบบเวลาจริง (Real-time Locating System, RTLS) เช่นการจัดการการขนส่งสินค้า เป็นต้น

 ..

โดยป้ายแบบนี้สามารถมีหน่วยความจำภายในขนาดใหญ่ได้ถึง 1 เมกะไบต์ และสามารถอ่านได้ในระยะไกลสูงสุดประมาณ 100 เมตร ข้อเสียของป้ายแบบนี้คือ มีราคาต่อหน่วยสูง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีอายุการใช้งานที่จำกัดตามอายุของแบตเตอรี่ซึ่งจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3 - 7 ปี

 .

อาร์เอฟไอดี ดีกว่า บาร์โค้ดอย่างไร ?

• อาร์เอฟไอดีสามารถอ่านได้โดยอัตโนมัติ การใช้งานรหัสแท่งผู้ใช้จะต้องนำเครื่องสแกนไปอ่านที่แถบรหัส ขณะที่อาร์เอฟไอดีสามารถทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อป้ายอยู่ในรัศมีของการอ่าน จึงเหมาะกับงานที่ต้องการการทำงานแบบอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องมีผู้ปฏิบัติงาน เช่น ในระบบลำเลียงในโรงงาน เมื่อลำเลียงผ่านขบวนการใด ก็สามารถตรวจสอบและบันทึกได้ เพียงเคลื่อนสินค้าผ่านเครื่องอ่าน เครื่องอ่านก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ

 .

 .

• อาร์เอฟไอดีสามารถทำได้ทั้งอ่านและเขียน ในขณะที่รหัสแท่งสามารถอ่านรหัสประจำตัวได้อย่างเดียว ระบบอาร์เอฟไอดีนอกจากอ่านรหัสประจำตัวมาทำการประมวลผลแล้วยังสามารถบันทึกข้อมูลอะไรบางอย่างกลับลงไปที่ป้ายได้ ยกตัวอย่าง การตรวจสอบสต็อกสินค้า เมื่อทำการอ่านข้อมูลแล้วก็จะทำการบันทึกกลับไปที่ป้ายว่าได้รับการตรวจแล้ว เพื่อลดข้อผิดพลาดกรณีหยิบสินค้านั้นมาอ่านรหัสประจำตัวซ้ำอีกครั้ง จะทำให้ระบบตรวจสอบสินค้า ผิดพลาดได้ ซึ่งระบบรหัสแท่งไม่สามารถทำได้

.

• อาร์เอฟไอดีสามารถอ่านได้จากระยะไกล ในขณะที่รหัสแท่งต้องอยู่ในระยะใกล้และตำแหน่งที่แสงสามารถสแกนถึงอาร์เอฟไอดี สามารถอ่านข้อมูลจาก ป้ายได้อย่างสะดวก แม้อยู่ในพื้นที่ ๆ ไม่สะดวกหรือในพื้นที่อันตรายต่อการปฏิบัติงาน เช่นห้องพ่นสี หรือพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง

 .

รูปที่ 16 ตรวจสินค้า (ซ้าย) ใช้รหัสแท่งอ่านได้ระยะใกล้ไม่สะดวก (ขวา) ใช้อาร์เอฟไอดีอ่านได้ระยะไกล

 .

• อาร์เอฟไอดี สามารถอ่านข้อมูลได้พร้อม ๆ กัน ในขณะที่ระบบรหัสแท่งจะต้องทำการสแกนแถบรหัสทีละแถบ ในขณะที่อาร์เอฟไอดีสามารถอ่านได้พร้อมกันหลาย ๆ ป้าย เพียงแค่นำสิ่งของที่ติดป้ายมาวางไว้ในพื้นที่รัศมีของเครื่องอ่านก็สามารถอ่านได้พร้อมกันอย่างรวดเร็ว สามารถลดเวลาการทำงานและลดข้อผิดพลาดในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ

 .

รูปที่ 17 อ่านฉลากสินค้า (ซ้าย) ใช้รหัสแท่งอ่านได้ทีละชิ้น (ขวา) ใช้อาร์เอฟไอดีอ่านได้ทีละหลายชิ้น

 .

• อาร์เอฟไอดีสามารถอ่านได้ แม้ไม่เห็นตัวป้ายที่ติดอยู่ ทำให้สะดวกในการ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายสิ่งของ เช่น การตรวจสอบสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ระบบอาร์เอฟไอดี สามารถทราบรายละเอียดสินค้าในตู้สินค้า โดยไม่ต้องเปิดตู้เพิ่มระบบความปลอดภัยได้

.

รูปที่ 18 ตรวจสอบสินค้า (ซ้าย) ใช้รหัสแท่งเวลาอ่านต้องเห็นรหัสแท่งอย่างชัดเจนและอยู่ในระนาบเดียวกับเครื่องอ่าน (ขวา) ใช้อาร์เอฟไอดี เวลาอ่านไม่ต้องเห็นป้าย (อ่านทะลุหีบห่อได้) และไม่ต้องอยู่ในระนาบเดียวกับเครื่องอ่าน

.

• อาร์เอฟไอดีมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากข้อมูลเป็นข้อมูลดิจิตอลในรูปคลื่น แม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้สามารถเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลด้วยการเข้ารหัส ลับเพื่อไม่ให้ผู้อื่นไม่สามารถทราบข้อมูลที่ไม่ต้องการเปิดเผยได้

.

อาร์เอฟไอดีสามารถบันทึกประวัติการเคลื่อนย้ายของสินค้าได้ (Dynamic Data on Items) เช่นบันทึกการเข้าออก ไว้บนสินค้าเอง หรือบันทึกเวลาต่าง ๆ ลงบนสินค้าได้โดยตรง ในขณะที่รหัสแท่งไม่สามารถทำได้ ต้องบันทึกไว้ในระบบฐานข้อมูล ซึ่งเมื่อสินค้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูล ทำให้ไม่สามารถรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ ได้

.

เป็นไงครับท่านผู้อ่าน เริ่มรู้ว่ารู้จักกับเทคโนโลยีนี้มากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ ตอนหน้าเรามาเรียนรู้ประเภทของระบบอาร์เอฟไอดีประเภทต่าง ๆ และเจาะลึกลงไปในป้ายอัฉจริยะว่ามันมีส่วนต่าง ๆ อะไรบ้าง ตลอดจนหลักการและเทคนิคการรับส่งข้อมูลระหว่างป้ายกับเครื่องอ่าน แล้วพบกันในตอนหน้านะครับ สวัสดีครับ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด