เนื้อหาวันที่ : 2010-08-19 17:42:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 19023 views

มอเตอร์ไฟฟ้ากับการประหยัดพลังงาน

มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ความเข้าใจในส่วนประกอบต่าง ๆ ของมอเตอร์และการทำงานของชิ้นส่วนเหล่านั้นจะทำให้เข้าใจว่าพลังงานสูญเสียในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรและจะลดความสูญเสียเหล่านั้นได้อย่างไร เชิญติดตามรายละเอียดได้ในบทความนี้

ขวัญชัย กุลสันติธำรงค์
kwanchai2002@hotmail.com

.

.

มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ความเข้าใจในส่วนประกอบต่าง ๆ ของมอเตอร์และการทำงานของชิ้นส่วนเหล่านั้นจะทำให้เข้าใจว่าพลังงานสูญเสียในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรและจะลดความสูญเสียเหล่านั้นได้อย่างไร เชิญติดตามรายละเอียดในบทความฉบับนี้ได้เลยครับ

.
มอเตอร์ (Motor)

ไดอะแกรมในรูปที่ 1 แสดงส่วนประกอบต่าง ๆ ของมอเตอร์เหนี่ยวนำ (Induction Motor) ตั้งแต่กล่องต่อสาย (Conduit Box) ซึ่งเป็นจุดรับไฟฟ้าเข้าจนถึงแกนมอเตอร์ (Output Shaft) ซึ่งเป็นจุดส่งกำลังทางกลออกไปขับเคลื่อนโหลดต่าง ๆ มอเตอร์ทำงานได้จากการที่พลังงานไฟฟ้าสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหมุนเวียน (Rotating Magnetic Field) ขึ้นที่

.

(1) สเตเตอร์ (Stator) ซึ่งจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำและสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหมุนเวียนที่ (2) โรเตอร์ (Rotor) และส่งผลให้โรเตอร์และ (3) แกนมอเตอร์ (Shaft) หมุน โดยที่แกนมอเตอร์ติดตั้งอยู่บน (4) แบริ่ง (Bearing) มีผลให้แกนมอเตอร์หมุนได้โดยอิสระ

.

รูปที่ 1 ส่วนต่าง ๆ ของมอเตอร์

.

เมื่อมอเตอร์ต่อโดยตรงกับแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า มอเตอร์จะเร่งความเร็วขึ้นจนถึงความเร็วที่คงที่ค่าหนึ่ง โดยมอเตอร์จะดึงกระแสไฟฟ้าที่มีค่าสูงในช่วงที่เร่งความเร็วนี้ เรียกกระแสไฟฟ้าขณะนี้ว่ากระแสไฟฟ้าขณะสตาร์ท (Motor Starting Current) ซึ่งจะมีความร้อนเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ดังนั้นผู้ผลิตมอเตอร์จึงจำเป็นต้องระบุจำนวนครั้งสูงสุดในการสตาร์ทมอเตอร์ในเวลาหนึ่งชั่วโมง เพราะความร้อนที่สะสมอยู่จะทำให้อายุของมอเตอร์สั้นลง

.

ในกรณีที่สตาร์ทมอเตอร์ด้วย Soft starter หรือ VSD วิธีนี้จะจำกัดปริมาณกระแสไฟฟ้าขณะสตาร์ทไม่ให้สูงเกินไป เป็นการลดความร้อนที่เกิดขึ้น และลดการสึกหรอของมอเตอร์

.
ความสูญเสียของระบบ (System Losses) 

จากไดอะแกรมในรูปที่ 2 เมื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับ (a) อุปกรณ์ควบคุมมอเตอร์ (Drive) จะเกิดความร้อนสูญเสียจากการทำงานของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายใน ปกติแล้วมีค่าประมาณ 5% (b) มอเตอร์เองมีความสูญเสียภายใน และเมื่อต่อกับระบบส่งกำลัง เช่น เกียร์บอกซ์ หรือสายพาน ก็จะมีความสูญเสียในรูปของความเสียดทาน ดังนั้นโดยทั่วไปพลังงานไฟฟ้า 75–80% เท่านั้นจะส่งต่อไปยังโหลด 

.

รูปที่ 2 ไดอะแกรมแสดงความสูญเสียของระบบที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์

.
ประสิทธิภาพของมอเตอร์ (Motor Efficiency) และภาวะโหลด (Loading) 

ประสิทธิภาพของมอเตอร์เปลี่ยนแปลงตามการออกแบบมอเตอร์และช่วงอายุการใช้งาน โดยทั่วไปมอเตอร์ที่ใช้งานแบ่งตามประสิทธิภาพของมอเตอร์ได้เป็น 3 ประเภท คือมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง (High Efficiency) มอเตอร์ประสิทธิภาพมาตรฐาน (Standard Efficiency) และมอเตอร์ประสิทธิภาพต่ำ (Lower Efficiency) โดยมีประสิทธิภาพต่างกันประมาณ 4% แต่ละประเภท มอเตอร์เก่าที่ใช้งานมานาน หรือมอเตอร์ที่พันขดลวดใหม่จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่ามอเตอร์ประสิทธิภาพมาตรฐานพอสมควร 

.

ภาวะโหลดคือปริมาณงานที่มอเตอร์ต้องทำเปรียบเทียบกับกำลังด้านออกสูงสุดของมอเตอร์ที่สร้างขึ้นมาได้  มอเตอร์สมัยใหม่จะทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่โหลด 75% ขึ้นไปจนถึงโหลดสูงสุดที่ 90% ตัวอย่างเช่น มอเตอร์พิกัด 90 kW ขับโหลด 81 kW คิดเป็นโหลด 81 kW/90 kW เท่ากับ 90% Loading

.

การคำนวณกำลังไฟฟ้าด้านเข้าของมอเตอร์ คำนวณจากกำลังด้านออกของมอเตอร์บวกกับพลังงานสูญเสียของมอเตอร์ จากตัวอย่างข้างต้น มอเตอร์ขนาด 90 kW มีประสิทธิภาพ 95% ขับเคลื่อนโหลดที่ 81 kW ดังนั้นกำลังไฟฟ้าด้านเข้าของมอเตอร์ เท่ากับ 81 kW/0.95 เท่ากับ 85.3 kW

.
ประเภทของโหลดมอเตอร์ (Load Type) 

มอเตอร์ไฟฟ้าสามารถขับเคลื่อนโหลดได้หลากหลายประเภท จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงคุณลักษณะของโหลดเหล่านั้นจึงจะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ โหลดของมอเตอร์แบ่งได้เป็น

.

* โหลดชนิดแรงบิดเปลี่ยนแปลง (Variable Torque Loads) โหลดประเภทนี้ เช่น พัดลม ปั๊มน้ำที่เปลี่ยนแปลงความเร็วรอบได้ แรงบิดเปลี่ยนแปลงตามความเร็วรอบยกกำลังสอง และพลังงานไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงตามความเร็วรอบยกกำลังสาม ดังนั้นมอเตอร์ที่ขับเคลื่อนโหลดประเภทนี้จะสามารถลดพลังงานไฟฟ้าลงได้ถ้าลดความเร็วรอบลง เช่น ถ้าลดความเร็วรอบลง 20% จะประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 50%

.

* โหลดชนิดแรงบิดคงที่ (Constant Torque Loads) โหลดประเภทนี้ เช่น สายพาน คอมเพรสเซอร์ชนิด Screw หรือ Reciprocating เครื่องบดหิน โหลดประเภทนี้แรงบิดจะไม่เปลี่ยนแปลงตามความเร็วรอบ และพลังงานไฟฟ้าแปรผันตรงกับความเร็วรอบ ดังนั้นพลังงานไฟฟ้าที่ใช้แปรผันตรงกับงานที่ทำได้ หรือ ทำงานมากก็ใช้พลังงานมาก เช่น ถ้าลดความเร็วรอบลงได้ 50% จะประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 50%

.

* โหลดชนิดพลังงานคงที่ (Constant Power) โหลดประเภทนี้ได้แก่ เครื่องมือกล แรงบิดของโหลดประเภทนี้แปรผันตามความเร็วรอบ แต่พลังงานไฟฟ้ามีค่าคงที่ จึงไม่สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของโหลดประเภทนี้ได้ 

.
ชุดควบคุมมอเตอร์ชนิดปรับความเร็วรอบ (Variable Speed Drive: VSDs) 

ชุดควบคุมมอเตอร์ชนิด VSD จะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าด้านเข้าที่มีความถี่คงที่ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าด้านออกที่ปรับเปลี่ยนความถี่ได้ ความถี่ที่ปรับเปลี่ยนได้นี้จะทำให้ชุดควบคุมมอเตอร์สามารถควบคุมการทำงานของมอเตอร์ได้ตามต้องการ ยกตัวอย่างเช่น สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าที่ความถี่ต่ำเพื่อขับเคลื่อนมอเตอร์ที่ความเร็วรอบต่ำ และสร้างพลังงานไฟฟ้าที่ความถี่สูงเพื่อขับเคลื่อนมอเตอร์ที่ความเร็วรอบที่สูงขึ้น

.

ความถี่ที่ชุดควบคุมมอเตอร์สร้างขึ้นสามารถเปลี่ยนแปลงให้มอเตอร์สร้างแรงบิดตามที่ต้องการได้ ดังนั้นชุดควบคุมมอเตอร์และตัวมอเตอร์สามารถทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนโหลดขนาดใหญ่ที่ความเร็วรอบต่ำและขับเคลื่อนโหลดขนาดเล็กที่ความเร็วรอบสูงขณะที่มอเตอร์มีประสิทธิภาพสูงสุด

.

รูปที่ 3 Variable Speed Drive (VSD)

.

ในกรณีที่ใช้ชุดควบคุมมอเตอร์ชนิด VSD โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโหลดประเภทปรับแรงบิดได้ เช่นพัดลม หรือปั๊มน้ำ จะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าและลดค่าใช้จ่ายลงได้

.
แนวทางการประหยัดพลังงานไฟฟ้าของมอเตอร์ (Opportunities for Energy Savings)
* ใช้งานมอเตอร์อย่างเหมาะสม (Usage and Housekeeping) มีวิธีง่าย ๆ แต่ได้ผลในการประหยัดพลังงาน เช่น 

ปิดสวิตซ์มอเตอร์ (switch–off) เมื่อไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากมอเตอร์ติดตั้งใช้งานอยู่ท่ามกลางเครื่องจักรต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ที่จะถูกละเลยปล่อยให้วิ่งไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีงานเกิดขึ้น ดังนั้นควรมองหาว่ามีเครื่องจักรที่มีมอเตอร์เป็นเครื่องยนต์ต้นกำลัง (Prime Mover) ใด ๆ บ้างถูกปล่อยให้วิ่งโดยไม่ได้งานเกิดขึ้นหรือไม่ได้มีความต้องการ

.

เมื่อพบเครื่องจักรดังกล่าว ก็ควรพิจารณาว่าจะหยุดมอเตอร์ได้หรือไม่ โดยวิธีใดได้บ้าง ทั้งนี้การหยุดมอเตอร์ต้องคำนึงถึงจำนวนครั้งสูงสุดที่จะสตาร์ทมอเตอร์ได้ในเวลาหนึ่งชั่วโมงตามที่ผู้ผลิตแนะนำ รวมถึงควรมีขั้นตอนการหยุดเดินเครื่องที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการหยุดมอเตอร์ผิดตัว 

.

ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ พิจารณาว่าสามารถใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติในการหยุดมอเตอร์ได้หรือไม่ อาจจะใช้ Timer สั่งหยุดเดินเครื่องจักรที่มีมอเตอร์เป็นเครื่องยนต์ต้นกำลังในเวลาที่กำหนด รวมถึงสามารถใช้อุปกรณ์อินเตอร์ล็อกร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความปลอดภัย เช่นจะสั่งเดินเครื่องจักรชุดนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเครื่องจักรอีกชุดหนึ่งที่เกี่ยวข้องเดินเครื่องแล้ว       

.

หรือถ้าเครื่องจักรชุดนี้ถูกหยุด เครื่องจักรที่อินเตอร์ล็อกอยู่ก็จะหยุดด้วยอัตโนมัติ เป็นต้น อาจจะมีการใช้อุปกรณ์ตรวจจับว่ามอเตอร์เดินเครื่องขณะมีโหลดหรือไม่ หากตรวจจับได้ว่ามอเตอร์เดินเครื่องอยู่โดยที่ไม่มีโหลด มอเตอร์ก็จะถูกสั่งให้หยุดในเวลาที่เหมาะสม เพื่อประหยัดพลังงาน

.

ติดตั้งมอเตอร์และชุดควบคุมในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น มอเตอร์และชุดควบคุมมอเตอร์เมื่อใช้งานจะมีความร้อนเกิดขึ้น ความร้อนดังกล่าวจะต้องถูกระบายออกสู่สภาวะแวดล้อมภายนอก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องติดตั้งมอเตอร์และชุดควบคุมในพื้นที่ที่แห้ง สะอาด มีการระบายอากาศที่ดีโดยมีอุณหภูมิที่เหมาะสม

.

ทำความสะอาดมอเตอร์ การทำความสะอาดมอเตอร์มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อต้องติดตั้งมอเตอร์ในสภาพแวดล้อมที่สกปรก ครีบระบายอากาศเป็นส่วนสำคัญของมอเตอร์ในการระบายความร้อนของมอเตอร์สู่อากาศภายนอก ถ้าครีบระบายอากาศสกปรกจะทำให้พื้นที่ผิวสัมผัสกับอากาศภายนอกลดลง มอเตอร์ที่สกปรกจะร้อนขึ้นและมอเตอร์ที่ร้อนจะกินไฟมากกว่าปกติและอายุของมอเตอร์จะสั้นลงอีกด้วยครับ

.

* การกำหนดขนาดมอเตอร์ให้เหมาะสม
ในบางครั้งมอเตอร์ก็ต้องทำงานที่โหลดน้อยกว่าพิกัด (Under–loading) โดยไม่มีทางเลือก แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรให้มอเตอร์ทำงานเต็มพิกัดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

.

แก้ไขขนาดมอเตอร์ให้ถูกต้อง ถ้าใช้มอเตอร์ขนาดเล็กแต่ทำงานเต็มพิกัดจำนวนหลายตัวทำงานแทนมอเตอร์ขนาดใหญ่แต่ทำงานที่พิกัดบางส่วนได้หรือไม่ เพราะถ้าได้จะทำให้มอเตอร์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และประหยัดพลังงานได้ เช่น มอเตอร์ขนาด 10 kW หนึ่งตัวทำงานที่ 25% ของพิกัด แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นใช้มอเตอร์ขนาด 2.5 kW ทำงานเต็มพิกัดจะประหยัดเงินได้ถึง 5,000 บาทต่อปี (นี่แค่ตัวเดียวนะครับ)

.

การจัดการอย่างเหมาะสม (Optimizing) อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการบางอย่างในการผลิตให้มอเตอร์ทำงานเต็มพิกัดตั้งแต่สตาร์ทจนหยุดทำงานในช่วงเวลาสั้นซึ่งดีกว่าที่จะให้มอเตอร์ทำงานอย่างต่อเนื่องที่พิกัดบางส่วน (Partial Loaded) เช่นในกระบวนการผลิตหนึ่ง มีปั๊มที่ทำงานตลอดเวลาในการสูบของเหลวจากถังเก็บที่มีขนาดใหญ่      

.

แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นติดตั้งถังพักพร้อมระบบควบคุมเปิด-ปิดชนิดธรรมดา โดยสั่งสตาร์ทปั๊มเพื่อสูบของเหลวจากถังพักเมื่อมีของเหลวเต็มถังและหยุดปั๊มเมื่อระดับของเหลวต่ำที่กำหนด ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้มอเตอร์สามารถทำงานเต็มพิกัดได้ตลอดช่วงเวลาทำงานของปั๊มทำให้มอเตอร์ทำงานที่ประสิทธิภาพสูงและช่วยประหยัดพลังงานได้

.

ติดตั้งระบบควบคุมมอเตอร์ เช่นมอเตอร์ที่ทำงานที่พิกัดบางส่วน ในกรณีที่ไม่อาจปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อให้มอเตอร์ทำงานเต็มพิกัด ก็อาจติดตั้งชุดควบคุมมอเตอร์เพื่อลดแรงดันไฟฟ้าเฉลี่ยและกระแสไฟฟ้าให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะสมกับโหลดของมอเตอร์ในขณะนั้น ซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้กับมอเตอร์ที่ทำงานที่ 40% ของพิกัด วิธีนี้จะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อีกวิธีหนึ่ง

.
* การใช้อุปกรณ์ใหม่

การซื้อมอเตอร์ใหม่เป็นโอกาสอันดีที่จะปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน การเปลี่ยนมอเตอร์หรือชุดควบคุมอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีเสมอไปในการประหยัดพลังงาน แต่การกำหนดและพิจารณาประสิทธิภาพของระบบมอเตอร์โดยรวมจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

.

พันขดลวดใหม่หรือเปลี่ยนมอเตอร์ใหม่ (อย่างไหนดีกว่ากัน) ส่วนใหญ่มอเตอร์ที่พันขดลวดใหม่จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่ามอเตอร์ใหม่อยู่ประมาณ 3–5% ถึงแม้ว่าต้นทุนในการพันขดลวดใหม่จะถูกกว่าซื้อมอเตอร์ใหม่อยู่พอสมควร แต่ประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าก็หมายถึงมี Running Cost ที่สูงกว่า และแน่นอนเงินลงทุนที่ประหยัดได้จากการพันขดลวดใหม่ก็จะหมดไปในเวลาไม่นาน

.

มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง จริง ๆ แล้วมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงก็ไม่ได้แพงจนเกินไป แต่ประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ถึง  5% (ไม่น้อยเลยนะครับ ในเวลาที่น้ำมันแพง คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟอย่างเวลานี้)

.

มอเตอร์ชนิดมีความเร็วรอบหลายค่า (Multiple Speed Motors) ในการใช้งานตามโหลดต่าง ๆ อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งมอเตอร์ชนิดมีความเร็วรอบหลายค่า มอเตอร์ชนิดนี้มีความเร็วรอบที่กำหนดไว้ได้ถึง 4 ค่าสามารถใช้งานทดแทนมอเตอร์ที่มีอยู่เดิมรวมถึงอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ระบบส่งกำลังซึ่งมีความสูญเสียรวมอยู่

.

มอเตอร์ชนิดนี้ไม่ได้แพงกว่ามอเตอร์มาตรฐานทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถใช้ชุดควบคุมมอเตอร์แบบเปิด–ปิดอย่างง่าย ๆ ได้ ตัวอย่างเช่นระบบระบายอากาศในครัวสามารถใช้มอเตอร์ชนิดมีความเร็วรอบสองค่า (Two Speed Motor) ในการหมุนพัดลมดูดอากาศ ในการดูดอากาศที่ความเร็วรอบเต็มพิกัดในเวลาเย็น และอาจจะใช้มอเตอร์ที่ความเร็วต่ำในเวลาอื่นก็ได้ 

.

* การตรวจติดตาม (Monitoring)
แน่นอนครับ เมื่อใช้วิธีประหยัดพลังงานต่าง ๆ ในโรงงานแล้ว ก็จำเป็นต้องมีระบบตรวจติดตามที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง 

.

การจดบันทึกค่าและข้อมูล มีความสำคัญอย่างมากและพื้นฐานในการวางแผนการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า โดยอาจจะจดบันทึกรายละเอียดดังต่อไปนี้

.
ตารางที่ 1 ตัวอย่างการจดบันทึกค่าและข้อมูลมอเตอร์

.

การวัดค่า การวัดค่าพลังงานไฟฟ้าที่มอเตอร์ใช้จะทำให้เกิดความเข้าใจในความเป็นไปต่าง ๆ และการใช้พลังงานของระบบ ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมและใช้ประหยัดเงินได้อีกมาก การวัดค่าพลังงานไฟฟ้าต้องทำการวัดหลังจากได้ใช้มาตรการต่าง ๆ แล้วเพื่อยืนยันว่ามาตรการต่าง ๆ ได้ผลรวมถึงเป็นการรายงานให้กับฝ่ายจัดการ พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบผลอีกด้วย อุปกรณ์วัดที่มีประโยชน์ได้แก่

.

- Hours Run Meter ใช้วัดค่าจำนวนชั่วโมงที่มอเตอร์ทำงาน
- Clamp–on Ammeter ใช้วัดค่ากระแสไฟฟ้ามอเตอร์ที่ทำงานอยู่
- อุปกรณ์ชนิดพกพาในการบันทึกและจัดเก็บค่า ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ PLC/Computer Based equipment สามารถบันทึกค่าทางไฟฟ้าได้หลายค่าและมีความเที่ยงตรงสูง

.

- เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าชนิดติดตั้งถาวร ส่วนใหญ่ใช้ติดตั้งวัดค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าของมอเตอร์ขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามแนวโน้มการใช้งานของมอเตอร์ รวมถึงเมื่อต่อเข้ากับระบบตรวจวัดและกำหนดเป้าหมายอัตโนมัติก็จะทำให้กำหนดมาตรการประหยัดพลังงานได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

.

เอกสารอ้างอิง

1. Technology Overview : Motors and drives; publication code CTV016
2.
www.carbontrust.co.uk

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด