เนื้อหาวันที่ : 2010-08-09 15:08:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7765 views

พลังงานทางเลือก (Alternative Fuel) แบบไหนเหมาะที่สุด ?

ในช่วงที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงราคาสูง และไม่มีระดับราคาที่แน่นอน จนทำให้ผู้คนต่างได้รับผลกระทบกันไปทั่ว ช่วงเวลานี้บรรดานักวิจัยต่างเร่งค้นคว้าหาทางเลือกของพลังงานที่จะเหมาะสมที่สุด เพื่อนำมาทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม แม้ว่าสำหรับประเทศไทยนั้นจะตื่นตัวช้าไปหน่อยกับเรื่องนี้ ไม่เหมือนกับบางประเทศที่ได้มีการใช้งานพลังงานทางเลือกอื่น ๆ กันไปนานแล้ว ทั้ง ๆ ที่ทรัพยากรของประเทศเราก็ไม่ได้น้อยกว่า หรือแตกต่างจากประเทศเหล่านั้นเลย

ปนัดดา ศรีจันทรา

.

.

ในช่วงที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงราคาสูง และไม่มีระดับราคาที่แน่นอน จนทำให้ผู้คนต่างได้รับผลกระทบกันไปทั่ว ช่วงเวลานี้บรรดานักวิจัยต่างเร่งค้นคว้าหาทางเลือกของพลังงานที่จะเหมาะสมที่สุด เพื่อนำมาทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม แม้ว่าสำหรับประเทศไทยนั้นจะตื่นตัวช้าไปหน่อยกับเรื่องนี้

.

ไม่เหมือนกับบางประเทศที่ได้มีการใช้งานพลังงานทางเลือกอื่น ๆ กันไปนานแล้ว ทั้ง ๆ ที่ทรัพยากรของประเทศเราก็ไม่ได้น้อยกว่า หรือแตกต่างจากประเทศเหล่านั้นเลย บทความนี้ต้องการนำเสนอตัวอย่างทางเลือกของพลังงานที่เราอาจเลือกนำมาใช้ได้อย่างเป็นรูปเป็นร่าง เพราะในประเทศเราก็มีความพร้อมเช่นเดียวกัน 

.
ปิโตรเลียม (Petroleum)

นับเวลาเป็นร้อย ๆ ปีแล้วที่มนุษย์เรารู้จักดูดเอาน้ำมันปิโตรเลียมจากใต้พื้นโลกมาใช้ประโยชน์ เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนยานยนต์ ในสหรัฐ ฯ มีการใช้นำมันเชื้อเพลิงสูงถึงวันละ 13 ล้านบาร์เรล ดังนั้นเองจึงไม่แปลกเลยที่จะมีคนเรียกน้ำมันว่าทองคำสีดำ “Black Gold” เนื่องจากการเดินทางเป็นวิถีชีวิตของคนเรา

.

ในแต่ละวันเราขับเคลื่อนยานยนต์เป็นระยะทางหลายร้านกิโลเมตรทั่วโลก โดยแบ่งประเภทของการใช้งานยานยนต์เป็น 3 ประเภท คือยานยนต์ส่วนบุคคล (Personal Vehicle), ยานยนต์ขนส่งเชิงพาณิชย์ (Commercial Truck) และยานยนต์ขนส่งมวลชน (Buses) ยกตัวอย่างเปรียบเทียบโดยอาศัยข้อมูลในประเทศสหรัฐ ได้ดังแผนภาพที่ 1

.

รูปที่ 1 แสดงปริมาณการใช้ยานยนต์ประเภทต่าง ๆ ในสหรัฐ

.

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างต้องซื้อน้ำมันปิโตรเลียม จากประเทศแถบตะวันออกกลาง แต่เนื่องจากปัญหาสงครามทำให้น้ำมันขาดตลาดบางช่วง และยังมีราคาสูงขึ้นอย่างไม่มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องใช้น้ำมันด้วยความจำใจ ที่นี้ลองหันมามองในแง่ของสภาพแวดล้อมกันบ้าง  

.

เพราะการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงก่อให้เกิดมลพิษอันเนื่องมาจากไอเสียที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะอากาศเป็นพิษสะสมมานานหลายสิบปี กว่าที่จะเริ่มมีการคิดหาทางแก้ด้วยการแสวงหาเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ มาทนแทนน้ำมันเชื้อเพลิง ตอนนี้อากาศบนพื้นโลกก็เป็นพิษจนเยียวยาได้ยากแล้ว

.

พลังงานทนแทนหลากหลายแบบที่เรารู้จักกันดี และได้มีการหันมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ, เมทานอล, เอทานอล, ไบโอดีเซล รวมทั้งพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพลังงานดังกล่าวมีทั้งข้อเด่น ข้อด้อย ต่าง ๆ กันไป ขึ้นอยู่กับว่าพลังงานชนิดใดจะคุ้มทุน และสะดวกกับการเลือกใช้มากที่สุด

.
* แก๊สโซลีน (Gasoline)

แก๊สโซลีน เป็นเชื้อเพลิงอีกประเภทหนึ่งที่ผลิตขึ้นมาจากปิโตรเลียม ถูกนำไปใช้กันมากในยานยนต์ส่วนบุคคล เรารู้จักกันในชื่อของ น้ำมันเบนซิน ปริมาณการใช้งานน้ำมันเบนซินแต่ละปีนั้นมหาศาล ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแม้ว่าราคาของน้ำมันเบนซินนั้นจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อย้อนไปในช่วงสงครามโลก น้ำมันเบนซินราคา 0.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน ทุกวันนี้ราคาสูงกว่าเดิมเยอะมาก

.

ความเป็นมาของการใช้น้ำมันเบนซิน นั้นเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1859 ในขณะที่ Edwin Drake ค้นพบการกลั่นปิโตรเลียมเป็นน้ำมันก๊าดเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่าง แต่ในตอนนั้นได้ทิ้งน้ำมันเบนซินไปเพราะไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร จนกระทั่ง ปี ค.ศ.1820 ถึงได้มีการประดิษฐ์เครื่องยนต์แก๊สโซลีนขึ้นมาสำเร็จ เป็นเวลาอีก 100 ปีต่อมายานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แก๊สโซลีน และน้ำมันเบนซินก็แพร่หลายไปทั่วโลก พร้อม ๆ กับจำนวนของสถานีบริการน้ำมันเบนซิน

.

ในช่วงปี ค.ศ. 1950 มีการสร้างรถที่ใหญ่ขึ้น วิ่งเร็วขึ้น จึงมีความต้องการเชื้อเพลิงที่ระดับค่าออกเทนสูง และมีการเติมสารตะกั่วเข้าไปในน้ำมันเบนซินเพื่อเพิ่มสมรรถนะของเครื่องยนต์ ในขณะที่น้ำมันชนิดไร้สารตะกั่วเริ่มมีใช้ในช่วงปี 1970 เพราะมีการรณรงค์ถึงผลเสียต่อสุขภาพ จนกระทั้งปี ค.ศ.1980 น้ำมันแบบไร้สารตะกั่วก็กลายเป็นมาตรฐานในท้องตลาด

.

น้ำมันเบนซินเผาไหม้ได้ดี ให้พลังงานสูง แต่เป็นพิษ เนื่องจากไอระเหยของแก๊สโซลีนทำให้รู้สึกเวียนหัว หากสูดดมเข้าไปมากอาจทำให้อาเจียนได้ น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล เมื่อเผาไหม้จะสร้างมลภาวะในอากาศ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 ด้วยข้อกำหนดทางด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีการพัฒนาเครื่องยนต์แก๊สโซลีนให้ลดไอเสียจากการเผาไหม้ได้กว่า 95 เปอร์เซ็นต์

.
น้ำมันดีเซล (Diesel)

น้ำมันดีเซล เป็นน้ำมันปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง ซึ่งได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ ในกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบจะสามารถแยกน้ำมันออกมาได้หลายชนิด ได้แก่น้ำมันเบนซิน, น้ำมันก๊าด, น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันดีเซล โดยน้ำมันดิบจำนวน 42 แกลลอน สามารถกลั่นออกมาเป็นน้ำมันดีเซลได้ 10 แกลลอน 

.

น้ำมันดีเซลใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลเท่านั้น และเครื่องยนต์ดีเซลก็มีใช้งานกันแพร่หลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรือ รถบรรทุก รถไฟ รถบัส และเครื่องจักรทางการเกษตรต่าง ๆ ความเป็นมาของการใช้งานน้ำมันดีเซลนั้นเริ่มจาก Rudolf Diesel ได้ประดิษฐ์เครื่องยนต์ดีเซลขึ้นมาแต่ตอนต้นใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ต่อจากนั้นมามีการพัฒนานำเอาปิโตรเลียมมาใช้เพราะให้ประสิทธิภาพสูงกว่า 

.

.
เครื่องยนต์ดีเซลเครื่องแรกของโลก

น้ำมันดีเซล เป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ และการขนส่ง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับความเป็นอยู่ของเรา หากน้ำมันดีเซลขาดแคลน หรือมีราคาสูงกว่านี้มากจะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจตามมา การหาเชื้อเพลิงมาทดแทนน้ำมันดีเซลเป็นเรื่องยาก เนื่องจากบรรดายานยนต์ในภาคการขนส่งนั้นใช้เครื่องยนต์ดีเซลแทบทั้งสิ้น การเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ จะต้องมีการดัดแปลงเครื่อง และต้องมีการจัดเตรียมแหล่งของเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับความต้องการในแต่ละวันให้ได้ ซึ่งในทุกวันนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

.

ข้อดีของการใช้งานน้ำมันดีเซลเมื่อเทียบกับน้ำมันเบนซินก็คือ มันมีอุณหภูมิจุดติดที่สูงกว่า แต่มีข้อเสียตรงที่ควันพิษจากการเผาไหม้น้ำมันดีเซลนั้นสูงกว่ามาก อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีในปัจจุบันได้ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลเผาไหม้ได้ดีขึ้น และลดการแพร่กระจายควันพิษได้มากกว่า 8 เท่าเมื่อเทียบกับ 12 ปีที่แล้ว

.

น้ำมันดีเซลที่มีการปรับปรุงขึ้นด้วยค่าของซัลเฟอร์ที่ต่ำลงช่วยลดควันพิษจากการเผาไหม้ลงได้มาก โดยน้ำมันดีเซลแบบ Ultra Low Sulfur Diesel (ULSD) ที่ผลิตขึ้นใหม่เป็นเชื้อเพลิงที่มีความสะอาดมาก ช่วยลดมลพิษได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และลดปริมาณสารประกอบไนโตรเจน ได้ 25-50 เปอร์เซ็นต์

.
* พลังงานร่วม (Hybrids)

เทคโนโลยีของยานยนต์พลังงานร่วม ก็คือยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า (Electric Motor) อาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ กับเครื่องยนต์แก๊สโซลีน ทำงานร่วมกัน เรียกยานยนต์ประเภทนี้ว่า HEVs โดยสมรรถนะแล้ว HEVs ขับเคลื่อนในระยะทางใกล้ความเร็วปานกลางด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และใช้เครื่องยนต์แก๊สโซลีนสำหรับการเดินทางระยะไกล ๆ ด้วยความเร็วสูง รถยนต์ HEVs สามารถวิ่งด้วยระยะทางมากกว่ารถยนต์ธรรมดาถึง 50% ด้วยปริมาณเชื้อเพลิงเท่า ๆ กัน และให้กำลัง และสมรรถนะเท่ากันอีกด้วย

.

ความแตกต่างก็คือ เมื่อเราขับรถยนต์ HEVs เราจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์เลยเมื่อมันอยู่ในโหมดของการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต่อเมื่อต้องการแรงขับที่สูงขึ้น หรือต้องการเร่งความเร็วสูง ๆ จึงจะเปลี่ยนไปขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แก๊สโซลีน ความสะดวกอีกอย่างหนึ่งของการใช้งาน HEVs ก็คือเราไม่ต้องคอยชาร์จไฟเข้าแบตเตอร์รี่ เพราะเครื่องยนต์จะทำหน้าที่ประจุไฟให้เองเมื่อระดับแรงดันไฟฟ้าต่ำลง 

.

ในแง่ของการเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมนั้น HEVs ช่วยลดปริมาณการปล่อยควันพิษได้กว่า 1.5 เท่า ด้วยเหตุนี้เองอีกไม่นานนี้จะมีรถ HEVs ออกขาย และวิ่งตามท้องถนน ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ HEVs ของฮอนด้า (Honda Insight) ดังแสดงในรูปที่ 1 สามารถวิ่งด้วยระยะทางถึง 600 ไมล์ ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงถังเดียว, ฮอนด้าซีวิค ในรุ่นที่เป็น HEVs ก็สามารถวิ่งได้ไกลกว่า 50 ไมล์ ด้วยน้ำมันเพียง 1 แกลลอน

.

นอกจากนี้ก็ยังมีรถ HEVs ของโตโยต้า รุ่น Prius ซีดาน 5 ที่นั่ง ที่สามารถเดินทางได้ไกลถึง 600 ไมล์ด้วยน้ำมันเพียงถังเดียว ในขณะที่ฟอร์ด (FORD) ผลิตรถยนต์ Hybrid SUV เป็นเจ้าแรกสู่ท้องตลาด มีสมรรถนะการเดินทางได้ไกล 450 ไมล์ต่อเชื้อเพลิง 1 ถัง

.

รูปที่ 2 หน้าตาของรถยนต์ HEVs รุ่น Insight ของฮอนด้า และ Toyota Prius

.

ในปี ค.ศ.2006 ที่ผ่านมานี้นับได้ว่ามีรถยนต์ HEVs กว่า 11 รุ่นออกสู่ตลาด รวมทั้งรถบรรทุก HEVs อีก 2 รุ่น และรถยนต์ยี่ห้อดังอย่าง LEXUS ก็ได้เปิดตัว HEVs รุ่นแรกของตัวเองด้วยเช่นกัน มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ.2008 นี้จะมีรถ HEVs ผลิตออกมาสู่ตลาดมากถึง 24 รุ่น 

.
* เอทานอล (Ethanol)

เอทานอล เป็นเชื้อเพลิงสะอาด ไม่มีสี ผลิตขึ้นมาจากน้ำตาล ที่อยู่ในเมล็ดพืช เช่นข้าวโพด, ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี และเปลือกมันฝรั่ง ทั้งนี้มีวิธีการหลายอย่างที่จะผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบดังกล่าวซึ่งเรียกว่า Biomass ยกตัวอย่างการใช้งานในประเทศบราซิล นั้นรถยนต์ใช้เอทานอล ที่ผลิตขึ้นจากอ้อย

.

นอกจากนี้เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้สามารถผลิตเอทานอลได้จากต้นไม้, หญ้า และต้นพืช ทั้งนี้การใช้ต้นไม้ และหญ้าผลิตเอทานอลจะใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตด้วยเมล็ดพืช เนื่องจากจะต้องทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเมล็ดพืชในทุก ๆ ปี  

.

ดังนั้นเองนักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกต้นไม้ให้เติบโตเร็วขึ้นสำหรับตอบสนองกับการนำมาผลิตเอทานอลได้อย่างเพียงพอในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้านี้ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้เมื่อเราขับรถผ่านทุ่งหญ้า หรือไร่ข้าวโพด ก็จะพบว่าไม่ได้ถูกปลูกขึ้นเพื่อนำมาทำอาหารสัตว์เหมือนแต่ก่อน แต่เน้นปลูกขึ้นเพื่อนำมาผลิตเมทานอลนั่นเอง

.

อันที่จริงแล้วเอทานอลไม่ใช่เชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ เพราะเคยมีการผลิตขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1908 โดยเฮนรี่ ฟอร์ด ได้ผสมแก๊สโซลีนกับแอลกอฮอล์ และเรียกมันว่า “เชื้อเพลิงแห่งอนาคต” จากนั้นในปี ค.ศ.1919 ก็ได้มีข้อห้ามการผลิต และใช้เอทานอล เนื่องจากมีการดัดแปลงเพื่อบริโภคเป็นสุราชนิดหนึ่ง จะมีการจำหน่ายได้ก็ต่อเมื่อนำไปผสมกับปิโตรเลียมเท่านั้น  

.

อย่างไรก็ตามมีการยกเลิกข้อห้ามนี้ในอีก 14 ปีต่อมา ทำให้มีการนำเอทานอลกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงอีกครั้ง อย่างไรก็ตามหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความนิยมใช้เอทานอลก็ลดน้อยลงเพราะน้ำมันมีราคาถูกลง

.

ทุกวันนี้มีการผลิตเอทานอลปริมาณกว่า 1 พันล้านแกลลอนต่อปี น้ำมันเบนซินที่มีส่วนของเอทานอล 10 % ถูกเรียกว่า “E10” มีการใช้งานกันแพร่หลายในเขตชนบทของสหรัฐ ฯ และเนื่องจากเอทานอลประกอบไปด้วยออกซิเจน การนำไปผสมในน้ำมันเบนซินจึงช่วยลดการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้มากถึง 25 เปอร์เซ็นต์  

.

หากผสมเอทานอล 85% กับน้ำมันเบนซิน 15 เปอร์เซ็นต์ จะได้เป็น “E85” ซึ่งก็เป็นสูตรน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ที่ปัจจุบันนี้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในบางเมืองของสหรัฐ ฯ สำหรับเครื่องยนต์ที่จะใช้ E85 อาจต้องมีการออกแบบให้มีความยื่นหยุ่นต่อเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น เรียกเครื่องยนต์นี้ว่า “Flexible Fuel Vehicles”

.

รูปที่ 3 ลักษณะสถานีเติมน้ำมัน E85 มีลักษณะเช่นเดียวกับสถานีเติมน้ำมันเบนซิน และสมรรถนะของรถยนต์ที่ใช้ E85 รวมทั้งการดูแลรักษาก็เหมือนกันด้วย

.
เอทานอล กับสภาพแวดล้อม

เนื่องจากเชื้อเพลิงเอทานอลนั้นผลิตจากพืช ซึ่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคายออกซิเจนออกมา กระบวนการนี้จึงช่วยทำให้เกิดสมดุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ในบ้านเรายังคงไม่มีการนำเอทานอล หรือ E85 มาใช้เนื่องจากตัวแปรหลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัตถุดิบ, ความพอเพียง, ความต่อเนื่องของวัตถุดิบ, เทคโนโลยีที่ใช้ผลิต, ค่าลงทุน และความคุ้มทุน สำหรับอนาคตของเชื้อเพลิงรูปแบบนี้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถผลิตเอทานอลได้จากทุก ๆ ส่วนของพืช และต้นไม้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงได้กว่านี้ 

.
* ก๊าซโพรเพน (Propane)

ก๊าซโพรเพน หรือที่เรียกกันว่าก๊าซ LPG (Liquefied Petroleum Gas) อันที่จริงแล้วเป็นก๊าซที่ไร้สี ไร้กลิ่น แต่ที่เราได้กลิ่นเหม็นก็เพราะมีการเติมกลิ่นเข้าไปเพื่อความปลอดภัยหากเกิดการรั่วไหล ก๊าซ LPG ได้มาจากกระบวนการกลั่นปิโตรเลียม และกระบวนการของก๊าซธรรมชาติ

.

ในสภาวะปกตินั้น LPG มีสถานะเป็นก๊าซ แต่เมื่อมีการนำไปอัดเข้าถังด้วยความดันมันก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว ทั้งนี้ก๊าซ LPG ปริมาณ 270 แกลลอน เมื่อถูกอัดเข้าถังจะมีปริมาณเหลือเพียง 1 แกลลอน เท่านั้น การเตรียม LPG เพื่อใช้งานเป็นเชื้อเพลิงจึงมีความสะดวกเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถบรรจุก๊าซได้มากในถังขนาดเล็ก

.

การใช้งาน LPG ในยานยนต์นั้นมีมานานกว่า 75 ปีแล้ว สำหรับรถยนต์ต่าง ๆ บนท้องถนนที่เราพบเห็นได้ทั่วไป เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำกว่าน้ำมัน ทำให้ประหยัดได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG จะเผาไหม้ได้ดีกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน ไอเสียที่ปล่อยออกมาจึงสะอาดกว่า และเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม ปัจจุบันสถานีเติมก๊าซ LPG มีเพิ่มมากขึ้นจนแพร่หลาย ทำให้มีคนหันมาใช้ก๊าซ LPG กันมากขึ้น

.

เมื่อก๊าซ LPG เผาไหม้จะสร้างมลพิษในขึ้นน้อยกว่าการใช้น้ำมันเบนซิน โดยมีการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนนอนออกไซด์ต่ำกว่า 50-92 เปอร์เซ็นต์ และการแพร่กระจายของไฮโดรคาร์บอน ต่ำกว่า 30-62 เปอร์เซ็นต์

.
* ก๊าซธรรมชาติ CNG

.

ก๊าซธรรมชาติ (Compressed Natural Gas) เป็นเชื้อเพลิงประเภท ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Non-Renewable) อีกชนิดหนึ่ง จากเดิมที่เราใช้เพื่อสร้างความร้อน เผาไหม้วัตถุ และเพื่อการหุงต้มในชีวิตประจำวัน ก่อนที่จะถูกนำมาใช้กันแพร่หลายมากขึ้นในทุกวันนี้ แต่เดิมในประเทศไทยการใช้กับรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น รถประจำทาง และรถของหน่วยงานราชการ 

.

นอกจากข้อดีในเรื่องของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น CNG ยังมีต้นทุนที่ต่ำ และเผาไหม้ได้สะอาดกว่า LPG แต่การนำเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ จะต้องอัดก๊าซเข้าถังด้วยความดันสูงกว่ากรณีของ LPG หลายเท่าจึงจะสามารถให้กำลัง และใช้งานได้อย่างเพียงพอและคุ้มค่า และเทียบเท่ากับ LPG

.

ด้วยเหตุนี้เองถังบรรจุ CNG จึงต้องมีขนาดใหญ่ และหนาเป็นพิเศษพอที่จะทนทานต่อแรงดันในถัง และทนทานต่อแรงกระแทกกรณีที่รถเกิดการชน ข้อเสียอย่างหนึ่งของการใช้ CNG ก็คือรถยนต์จะวิ่งได้ระยะทางที่น้อยกว่า ทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่โดยสารเพื่อเพิ่มขนาดถังบรรจุก๊าซให้ใหญ่ขึ้น

.

ในประเทศที่มีความพร้อม และพัฒนามาก่อน มีการใช้ก๊าซธรรมชาติแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ในรถยนต์ ด้วยการออกแบบและผลิตรถที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ในบ้านเราใช้งานแบบ 2 ระบบ นั่นคือใช้ร่วมกับน้ำมันเบนซิน หรือน้ำมันดีเซล ทั้งนี้ถ้าเป็นเครื่องยนต์ที่ทำงานด้วยก๊าซเพียงอย่างเดียวก็จะให้สมรรถนะที่สูงกว่า และลดการแพร่กระจายของควันพิษได้มากกว่า อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังมีสถานีเติมก๊าซไม่เพียงพอ ทุกวันนี้จึงต้องใช้งานแบบ 2 ระบบไปก่อน

.
* ไบโอดีเซล (Bio-Diesel)

.

ไบโอดีเซล ก็คือเชื้อเพลิงที่ผลิตมาจากน้ำมันเหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืชจากครัวเรือน, ภัตตาคาร, ไขมันสัตว์, น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันปาล์ม เราสามารถนำมาใช้ได้โดยตรงเป็นสูตรไบโอดีเซล 100% (B100) หรือหากนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลในอัตราส่วน น้ำมันดีเซล 80% และน้ำมันพืชเหลือใช้ 20% จะได้เป็นน้ำมันชนิด B20 นำไปใช้กับรถบรรทุกได้โดยไม่ต้องมีการดัดแปลงเครื่องยนต์ 

.

น้ำมันดีเซลทั่วไปมีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ ซึ่งทำลายสภาพแวดล้อมเมื่อมีการเผาไหม้น้ำมัน แต่ถ้าสกัดเอาซัลเฟอร์ออกจากน้ำมันดีเซล ก็จะทำให้น้ำมันใช้งานได้ไม่ดี การเติมไบโอดีเซลเข้าไปสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะไบโอดีเซลไม่มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ ระดับของซัลเฟอร์ในน้ำมันจึงลดลง การใช้งานไบโอดีเซลยังส่งผลดีต่อถังบรรจุน้ำมันดีเซลของรถด้วย เพราะมันทำหน้าเหมือนกับสารชำระล้าง และละลายตะกอนของแข็งที่เกาะติดอยู่ภายในถัง และท่อต่าง ๆ 

.

ทุกวันนี้การใช้งานไบโอดีเซลยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากน้ำมันไบโอดีเซลตามมาตรฐานสากลนั้นมีคุณสมบัติเทียบเคียงได้กับน้ำมันดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม ดังนั้นผลกระทบต่อเครื่องยนต์ถือได้ว่าไม่มีผลทางด้านลบ หรือในกรณีของเครื่องยนต์เก่า อาจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนซีลยางบางส่วนเท่านั้นเอง โดยทั่วไป การใช้น้ำมันไบโอดีเซลในต่างประเทศนั้นนิยมนำไปผสมเป็นสูตรต่าง ๆ เช่น

.

* B2 (ไบโอดีเซล 2%: ดีเซล 98%) มีจำหน่วยทั่วไปในมลรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา
* B5 (ไบโอดีเซล 5%: ดีเซล 95%) มีจำหน่วยทั่วไปในประเทศฝรั่งเศส โดยกว่าครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซลที่จำหน่วยเป็นน้ำมันสูตร B5
* B20 (ไบโอดีเซล 20%: ดีเซล 80%) เป็นน้ำมันผสมที่คณะกรรมการไบโอดีเซลแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ใช้ตามกฎหมายยานยนต์เชื้อเพลิงทดแทนของประเทศ (Alternative Motor Fuels Act: AMFA 1988)      

.

ปัจจุบันนิยมใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะรถของบริษัทและรถของหน่วยงานราชการกว่า 147 แห่ง รวมทั้งการใช้ยานยนต์ในพื้นที่ที่ต้องคำนึงถึงมลพิษเป็นพิเศษ เช่น รถรับส่งนักเรียน รถประจำทาง เรือ หรือ เครื่องจักรกลที่ใช้ในเหมืองแร่ ทั้งนี้ได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตระบบหัวฉีดน้ำมันเและเครื่องยนต์ 

.

* B40 (ไบโอดีเซล 40%: ดีเซล 60%) เป็นสูตรที่ใช้ในรถขนส่งมวลชนในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อผลในการลดมลพิษ
* B100 (ไบโอดีเซล 100%) เป็นน้ำมันไบโอดีเซลร้อยละ 100 ที่ใช้ในประเทศเยอรมนีและออสเตรีย โดยได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศ 

.

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการใช้งานไบโอดีเซลอย่างแพร่หลาย อันเนื่องมาจากข้อจำกัดหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็น ปริมาณ และการรวบรวมที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน, ราคาต้นทุนนั้นยังใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล และยังไม่มีการประกาศกำหนดมาตรฐานของไบโอดีเซล

.

.

มีการจำหน่ายไบโอดีเซลในเชิงพาณิชย์ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2544 โดยปัจจุบัน ปตท. มีสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันดีเซลปาล์ม (บริสุทธิ์) แล้ว 4 แห่งใน กทม. ได้แก่

.
1. สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาสุขาภิบาล 3
2. สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาสวัสดิการสำนักพระราชวัง สนามเสือป่า
3. สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขากรมช่างอากาศ สะพานแดง
4. สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สวัสดิการ ร.1 รอ. (ถ.วิภาวดีรังสิต)
     และสำหรับราคานั้นมีการจำหน่ายถูกกว่าน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร
.
* รถไฟฟ้า (Electric Vehicles)

ในปี ค.ศ.1891 มีการประดิษฐ์รถไฟฟ้าขึ้นครั้งแรกในสหรัฐ ฯ โดย วิลเลียม มอริสัน จนถึงวันนี้มีรถไฟฟ้าวิ่งอยู่บนท้องถนนนับแสนคันทั่วโลก แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นปัญหาของการออกแบบ และสร้างรถไฟฟ้านั้นก็คือ การพัฒนาแบตเตอรี่ ให้มีประสิทธิภาพสูงเหมาะกับการนำมาใช้งานได้อย่างลงตัวนั่นเอง

.

เนื่องจากรถไฟฟ้า ต้องอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ และต้องมีการประจุไฟใหม่ซ้ำหลายรอบ และยิ่งต้องการกำลังไฟจากแบตเตอรี่มากเท่าไหร่ เราจะต้องใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่ตามไปด้วย หรือต้องใช้แบตเตอรี่หลาย ๆ ก้อนมาต่อเรียงกัน ลักษณะการใช้งานแบบนี้ไม่เกิดความสะดวกเท่าไหร่ในเรื่องของพื้นที่เก็บแบตเตอรี่บนรถยนต์ซึ่งมีจำกัด รถไฟฟ้าหลายรุ่นผลิตขึ้นมามีน้ำหนักของแบตเตอรี่ครึ่งหนึ่งของน้ำหนักรถ นอกจากนี้เมื่อครบ 3 ปี หรือ 6 ปี แบตเตอรี่ก็จะเสื่อมสภาพ ถึงเวลาต้องเปลี่ยน ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงอีกด้วย

.

กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ เป็นตัวหยุดยั้งการพัฒนารถไฟฟ้า ให้สามารถผลิตออกมาใช้งานได้อย่างแพร่หลายเหมือนที่ควรจะเป็น รถไฟฟ้ายังไม่เหมาะกับการขับขี่ระยะไกล ๆ เพราะต้องมีการชาร์จไฟบ่อย ๆ หากขับขี่ด้วยความเร็วสูงแบตเตอรี่ก็จะหมดเร็วขึ้น ทั้งนี้ความเร็วเฉลี่ยที่สามารถทำได้อาจอยู่ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

.

ทั้งนี้ความเร็วเฉลี่ยที่สามารถทำได้อาจอยู่ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะทางสั้น ๆ รถไฟฟ้าที่ผลิตออกขายในท้องตลาดวันนี้มีหลากหลายยี่ห้อ ยกตัวอย่างเช่น โตโยต้า RAV-4EV, ฟอร์ด, จีเอ็ม และฮอนด้า ซึ่งต่างได้มีการผลิตรถไฟฟ้าออกมาในช่วงปี 2002 แม้ว่าจำนวนการผลิตจะลดลงไปเนื่องจากหันไปผลิตรถแบบไฮบริด ซึ่งใช้เครื่องยนต์ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า

.

ในขณะเดียวกันก็ได้มีความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ ให้สามารถผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบที่ให้กำลังไฟฟ้ามากขึ้นในขณะที่ขนาดตัวเล็กลง เหมือน ๆ กับแบตเตอรี่ที่ใช้กันในคอมพิวเตอร์แบบมือถือ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างให้แบตเตอรี่สามารถให้กำลังงานไฟฟ้าได้ 2 เท่าของที่ใช้ในรถไฟฟ้าปัจจุบันนี้

.

รูปที่ 4 แสดงสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้า ในสหรัฐ ฯ

.
ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้า ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสภาพแวดล้อมโดยตรง เพราะไม่มีท่อไอเสีย แต่การผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อมาชาร์จแบตเตอรี่นั้นก่อให้เกิดมลภาวะขึ้นได้ เพราะถ่านหิน, น้ำมัน, นิวเคลียร์ และก๊าซ ซึ่งนำมาผลิตกระแสไฟฟ้านั้นเมื่อมีการเผาไหม้ก็จะก่อให้เกิดควันพิษปล่อยออกจากปล่องควันโรงไฟฟ้า ในลักษณะเช่นเดียวกับควันพิษที่ปล่อยออกจากท่อไอเสียรถยนต์บนท้องถนน อย่างไรก็ตามมลพิษที่เกิดในโรงงานไฟฟ้านั้นสามารถควบคุมได้ และโรงไฟฟ้าก็ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองด้วย

.

สำหรับคนที่กำลังใช้รถไฟฟ้าอยู่ คงพอใจที่ไม่ต้องคอยดูแลรักษาเครื่องยนต์มากนัก เพราะรถไฟฟ้าไม่มีชิ้นส่วน และอะไหล่ นับร้อยชิ้นเหมือนเครื่องยนต์เบนซิน และไม่มีความจำเป็นต้องเข้าศูนย์บริการอย่างสม่ำเสมออีกด้วย เมื่อแบตเตอรี่หมดก็สามารถเสียบปลั๊กไฟชาร์จแบตเตอรี่ที่บ้านได้เลย นอกจากนี้ในสหรัฐยังมีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไว้บริการเป็นจำนวนเกือบพันแห่งแล้วด้วย 

.

ถ้าไม่ได้รีบร้อนในการเดินทางมากนัก หรือถ้ามีการพัฒนาแบตเตอรี่ขึ้นสำเร็จในเร็ววันนี้ ก็ไม่แน่ว่าคนที่กำลังเก็บเงินซื้อรถอยู่ เงินเก็บอาจจะครบทันซื้อรถไฟฟ้ารุ่นใหม่สักคันพอดี

.
* เมทานอล (Methanol)

เมทานอล เป็นแอลกอฮอล์ ไร้สี ไร้กลิ่น ผลิตได้จากก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน, น้ำมัน หรือไบโอแมส (Biomass) โดยเมทานอลที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐ ฯ นั้นผลิตขึ้นจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า มีเทน (Methane) และสถานีผลิตเมทานอลนั้นมักจะอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตแอมโมเนีย เนื่องจากต้องใช้ก๊าซชนิดเดียวกันในกระบวนการผลิต

.

รูปที่ 5 แสดงสถานีเติมเชื้อเพลิงเมทานอล ในสหรัฐ ฯ

.
การใช้งานเมทานอลในเครื่องยนต์

มีการใช้งานเมทานอลบริสุทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ (M100) เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ แต่ก็มีการดัดแปลงผสมด้วยน้ำมันเบนซิน 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นสูตร M85 เพื่อให้เหมาะใช้กับรถยนต์ โดยไม่ต้องมีการดัดแปลงเครื่องยนต์มากนัก

.

ในปัจจุบันยังไม่มีบริษัทผู้ผลิตรายใดผลิตรถยนต์เชื้อเพลิงเมทานอล ทั้งนี้เพราะต้นทุนของเมทานอลใกล้เคียงกับน้ำมันเบนซิน และเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันเบนซินแล้ว เมทานอลวิ่งได้ระยะทางสั้นกว่า แต่เนื่องจากค่าออกเทนของเมทานอลสูงกว่า ทำให้รถวิ่งได้เร็วกว่ามาก

.

ทุกวันนี้ในสหรัฐ มีรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเมทานอล สูตร M85 กว่า 5,000 คัน โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย และมีสถานีเติมเมทานอลมากที่สุดด้วย ทั้งนี้จำนวนครึ่งของการใช้งานเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล อีกครึ่งเป็นรถของหน่วยงานราชการ 

.

เมทานอล อาจไม่ใช่เชื้อเพลิงที่สมบูรณ์แบบมากนัก แต่เนื่องจากมีค่าออกเทนสูง กว่าน้ำมันเบนซิน ช่วยให้เครื่องยนต์เผาไหม้ได้อย่างสะอาด และช่วยเพิ่มแรงม้าให้เครื่องยนต์ จึงมีการนำไปใช้สำหรับรถแข่งกันอย่างแพร่หลาย

.
* เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell)

เซลล์เชื้อเพลิงอาจเป็นคำตอบสุดท้าย ของระบบขนส่งในอนาคต ทั้งนี้เพราะไฮโดรเจน เป็นสิ่งมีอยู่มากมายบนพื้นโลกนี้ และไม่เหมือนกับก๊าซ เพราะเราสามารถผลิตไฮโดรเจนได้จากวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น การแยกโฮโดรเจนออกมาจากน้ำ, การแตกโมเลกุลของก๊าซธรรมชาติ, ไบโอแมส หรือได้จากถ่านหิน เป็นต้น

.

ยานอวกาศ ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนทยานออกนอกโลกมานานแล้ว แต่เรายังคงชื้อไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไม่ได้ในวันนี้ ที่ผ่านมาหลายปีนี้มีการวิจัยเครื่องยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งอาศัยไฮโดรเจน กับออกซิเจน สร้างกระแสไฟฟ้าขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้รถวิ่งไปได้ แทนที่จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่

.

ไฮโดรเจนมีสถานะปกติเป็นก๊าซ และเป็นการยากที่เราจะจัดเก็บเอาไว้ในรูปของเหลว เนื่องด้วยยังไม่มีเทคโนโลยีนั่นเอง และต้นทุนในการผลิตก็ยังคงสูง อุปสรรคอย่างหนึ่งก็คือการบรรจุเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อใช้งานนั้นต้องอาศัยถังเชื้อเพลิงขนาดใหญ่กว่ารถยนต์เบนซินถึง 6 เท่า อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีของเซลล์เชื้อเพลิงเป็นมิตรอย่างมากกับสภาพแวดล้อม เพราะของเสียที่ปล่อยออกจากท่อไอเสียก็คือน้ำบริสุทธิ์นั่นเอง

.
รถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง

.

ล่าสุดผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างฮอนด้า ได้สร้างรถต้นแบบที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงขึ้นมา และประกาศในมอเตอร์โชว์ 2007 ที่โตเกียวว่าปีหน้าจะมีการผลิตรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงออกจำหน่าย ปริมาณมากกว่า 1,000 คันโดยรถต้นแบบจะสามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 270 ไมล์ต่อเชื้อเพลิง 1 ถัง และแม้ว่าจะมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานีเติมก๊าซที่อาจไม่มีเพียงพอ แต่ผู้บริหารของฮอนด้ากล่าวว่า “เมื่อมีดีมานด์ของรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงเกิดขึ้น ธุรกิจการจำหน่ายไฮโดรเจนก็จะเกิดขึ้นตามมา”

.

ในขณะที่เกิดวิกฤติ ก็เหมือนจะมีโอกาสที่ดีสำหรับมนุษย์ที่จะมุ่งมั่นค้นหาเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ มาทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงจากดินแดนตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามถ้าวันหนึ่งในอนาคตที่เรารู้จัก และสามารถหาเชื้อเพลิงทดแทนมาใช้งานได้อย่างโดยง่าย จนทำให้ปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงหมดไป ในวันนั้นการใช้งานเชื้อเพลิงราคาถูกกันอย่างไม่ต้องกลัวหมด จะก่อให้เกิดมลพิษ และความร้อนให้กับโลกใบนี้อย่างทวีคูณหรือไม่

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด