เนื้อหาวันที่ : 2010-08-04 16:42:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8081 views

นิเวศอุตสาหกรรมกับการบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิด

สาระสำคัญของแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม คือ การสนับสนุนให้เกิดการใช้วัสดุอย่างเป็นวงจร มีการผันวัสดุที่ผ่านการใช้ประโยชน์แล้วกลับไปใช้ซ้ำอีกอย่างไม่รู้จบ ซึ่งถ้าทำได้อย่างนั้น อัตราการถลุงทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติก็จะลดลง อัตราการเกิดของเสียอันเป็นเหตุของมลภาวะต่าง ๆ ก็จะบรรเทาเบาบางลง ซึ่งสาระสำคัญข้อนี้มีความสอดคล้องโดยตรงกับแนวคิดเรื่อง การนำกลับไปใช้ใหม่ และ การรีไซเคิล

สิบริรัตน์ ศิริพรวิศาล
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
Sirirat2@yahoo.com

..

..

ดังที่เคยกล่าวย้ำมาโดยตลอดว่า สาระสำคัญของแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม คือ การสนับสนุนให้เกิดการใช้วัสดุอย่างเป็นวงจร มีการผันวัสดุที่ผ่านการใช้ประโยชน์แล้วกลับไปใช้ซ้ำอีกอย่างไม่รู้จบ ซึ่งถ้าทำได้อย่างนั้น อัตราการถลุงทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติก็จะลดลง อัตราการเกิดของเสียอันเป็นเหตุของมลภาวะต่าง ๆ ก็จะบรรเทาเบาบางลง  ซึ่งสาระสำคัญข้อนี้มีความสอดคล้องโดยตรงกับแนวคิดเรื่อง การนำกลับไปใช้ใหม่ และ การรีไซเคิล

..

ในตอนที่แล้วผู้เขียนได้อธิบายถึงบทบาทของงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่มีต่อการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมตามแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม นั่นคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน ซึ่งมีการผนวกแนวคิดเรื่อง วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ ช่วยการกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีโอกาสที่จะถูกเก็บกู้กลับคืนสู่ระบบอุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น ในอัตราที่เพิ่มขึ้น และเอื้อให้การผลิตรอบใหม่ (Remanufacturing) ทำได้ง่ายขึ้น

..

แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่อาจที่จะย้อนกลับสู่ระบบอุตสาหกรรมด้วยตัวของมันเอง ถึงแม้จะถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมแล้ว แต่การกู้คืนผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์จากภาคการบริโภคกลับคืนสู่ระบบอุตสาหกรรมอีครั้งก็ต้องอาศัยกิจกรรมทางธุรกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ การบริหารห่วงโซ่อุปทาน และ การออกแบบเครือข่ายลอจิสติกส์ นั่นเอง

..
ลักษณะทั่วไปของห่วงโซ่อุปทานแบบวงปิด

ในระบบการค้ายุคปัจจุบัน การบริหารห่วงโซ่อุปทานเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่มีสำคัญมากต่อการแข่งขัน แต่เท่าที่ผ่านมา พัฒนาการของการบริหารห่วงโซ่อุปทานจะเน้นไปที่การบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบไปข้างหน้า (Forward Supply Chain) เป็นหลัก

..

กระทั่งแนวคิดเกี่ยวกับการหมุนเวียนวัสดุกลับมาแปรรูปใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น ระบบห่วงโซ่อุปทานแบบวงปิด (Closed-loop Supply Chain) ก็ถูกนำมาพิจารณามากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งในระยะแรก ๆ จะมีการให้นิยามของห่วงโซ่อุปทานวงปิดไว้อย่างหลากหลายตามมุมมองของนักวิชาการและนักปฏิบัติแต่ละท่าน      

..

แต่ภายหลังได้มีการสรุปสาระสำคัญไว้ค่อนข้างตรงกันว่า ห่วงโซ่อุปทานแบบวงปิดเป็นการขยายขอบเขตของระบบห่วงโซ่อุปทานแบบไปข้างหน้า โดยเพิ่มห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับของผลิตภัณฑ์เข้าไปด้วย กล่าวคือ ระบบห่วงโซ่อุปทานก็คือ ระบบที่มีทั้งห่วงโซ่การไหลไปข้างหน้าละห่วงโซ่การไหลย้อนกลับ นั่นเอง

..

รูปที่ 1 ลักษณะพื้นฐานของห่วงโซ่อุปทานวงปิด

..
พิจารณาในส่วนของห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับ (Reverse Supply Chain) นั้น จะมีกิจกรรมพื้นฐานที่สำคัญ ๆ 5 กิจกรรม ได้แก่

* การรวบรวมผลิตภัณฑ์ (Product Acquisition) หมายถึง กิจกรรมทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับการรวบผลิตภัณฑ์ใช้แล้วจากแหล่งต่าง ๆ และโยกย้ายไปเก็บยังจุดรวบรวมจุดใดจุดหนึ่ง รวมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแปรสภาพให้ผลิตภัณฑ์หรือวัสดุใช้แล้วเหล่านั้นให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสำหรับการนำกลับไปผลิตรอบใหม่ ซึ่งโดยทั่วไป ก็จะหมายรวมถึง กิจกรรมการจัดซื้อจัดหา การขนย้าย และการเก็บรักษา นั่นเอง

..

* ลอจิสติกส์ผันกลับ (Reverse Logistics) หมายถึงกิจกรรมได้รับการออกแบบและวางแผนเครือข่ายการลำเลียงผลิตภัณฑ์หรือวัสดุ ด้านปลายของห่วงโซ่อุปทานเดินหน้า หรือจากพื้นที่ของการบริโภค ให้ย้อนกลับสู่ระบบการผลิตและการแปรรูปอีกรอบ

..

* การตรวจสอบ ทดสอบ แยกหมวด และการกำจัด (Inspection, Testing, Sorting, and Disposition) หมายถึง กิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาว่า ผลิตภัณฑ์ที่รวบรวมมาได้ จะสามารถนำเข้าสู่การผลิตรอบใหม่ในช่องทางใดบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปก็จะหมายถึง การตรวจสอบ (Inspection) และการแยกแยะ (Separation) ผลิตภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อส่งมอบสู่ช่องทางการแปรรูปที่เหมาะสม     

..

เช่น การถอดชิ้นส่วน เครื่องถ่ายเอกสารเก่าเพื่อแยกสิ้นส่วนที่สามารถนำไปไปใช้ซ้ำได้ (Re-usable Parts) ออกจากชิ้นส่วนที่จะต้องนำไปรีไซเคิล (Recyclable Parts) เป็นต้น

.

* การผลิต ประกอบ หรือตกแต่งใหม่ (Remanufacturing Reassembly or Refurbishing) หมายถึง กระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์หรือใช้แล้วให้กลับเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้อีกครั้ง ซึ่งอาจจะโดยการนำไปใช้โดยตรง การซ่อมแซม การรีไซเคิล รวมถึงการกำจัดทิ้งบางส่วนด้วย

.

* การตลาดรอบใหม่ (Remarketing) หมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขาย การตลาด และการกระจายผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปรอบใหม่ให้ไปถึงผู้บริโภค หรือกลับเข้าสู่พื้นที่การบริโภคอีกรอบหนึ่ง

.
ความท้าทายสำหรับการบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิด

ถึงแม้ว่าโดยผิวเผิน ห่วงโซ่อุปทานวงปิดจะประกอบด้วยลำดับขั้นที่ค่อนข้างชัดเจน เข้าใจง่าย และเราก็อาจคิดว่าน่าจะสามารถนำเอาความรู้เกี่ยวกับการบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบเดินหน้ามาประยุกต์ใช้ได้ แต่ความคิดนี้ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด เพราะในรายละเอียดของห่วงโซ่อุปทานวงปิดหนึ่ง ๆ     

.

โดยเฉพาะในส่วนของห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับจะมีเงื่อนไขที่จำเพาะมากมายที่ต้องใส่ใจอย่างละเอียดลออ ตั้งแต่การออกแบบ การวางแผน ตลอดจนถึงการกำกับควบคุม ซึ่งในจุดนี้ นักบริหารห่วงโซ่อุปทานที่มีประสบการณ์จะเข้าใจดีว่า การบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิดนั้นมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่ามาก

.

ในเบื้องต้นของการบริหารห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับ นักบริหารจะต้องเผชิญกับโจทย์ปัญหาที่จะนำไปสู่การตัดสินใจสำคัญ ๆ หลายประการ ประการแรก องค์กรจะต้องพิจาณาว่า การเก็บผลิตภัณฑ์เก่ากลับมาผลิตหรือแปรรูปใหม่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรจริงหรือไม่ ประการที่ 2 ถ้าพิจาณาแล้วว่าการนำกลับไปใช้ใหม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม

.

องค์กรจะต้องพิจารณาเลือกวิธีการในการรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด และใช้ต้นทุนดำเนินการต่ำที่สุด ประการที่ 3 ก็จะต้องมีการระบุประเด็นปัญหาด้านการดำเนินงานต่าง ๆ อย่างรัดกุมเพื่อเตรียมการรับมือล่วงหน้า     

.

เช่น การออกแบบสถานที่ และปัจจัยอำนวยประโยชน์ที่จำเป็นสำหรับรองรับผลิตภัณฑ์ที่รวบรวมได้ การวางแผนผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการผลิตรอบใหม่ รวมถึงนโยบายในการควบคุมระบบคงคลัง เป็นต้น ประการที่ 4 การพิจาณากลยุทธ์ในการรักษาอัตราสมดุลระหว่าง ปริมาณผลิตภัณฑ์ที่รวบรวมได้ กับปริมาณที่ต้องการของตลาดสำหรับผลิตจากการแปรรูปรอบใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้องและระมัดระวังมากที่สุด

.

ยังมีความท้าทายหลายประการ ที่ทำให้การบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิดมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าการบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบเดินหน้าทางเดียว เงื่อนไขสำคัญประการแรกคือ ในวงจรของการส่งมอบและการกระจายสินค้าในปัจจุบัน มีตำแหน่งที่ผลิตภัณฑ์สามารถไหลย้อนกลับได้หลายตำแหน่ง     

.

ผลิตภัณฑ์อาจถูกส่งกลับภายหลังจากหมดอายุการใช้งาน หรือ หลังถูกเลิกใช้ (ทั้งที่ยังมีสภาพใช้งานได้) หรือ อาจถูกส่งคืนตามเงื่อนไขของการประกันความพอใจ (เช่น ให้คืนหรือเปลี่ยนได้ภายใน 7 วัน หรือ 30 หลังจากวันที่ซื้อ) หรือผลิตภัณฑ์อาจถูกส่งคืนระหว่างการวางจำหน่ายเพราะหมดอายุทางการตลาด เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้การย้อนกลับของผลิตภัณฑ์แต่ละจุดมีประสิทธิภาพที่เหมาะสม นักบริหารห่วงโซ่อุปทานก็จะต้องออกแบบระบบห่วงโซ่อุปทานให้มีความเหมาะสมกับการย้อนกลับแต่ละรูปแบบ

.

เงื่อนสำคัญประการต่อมาที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิด คือ ความตื่นตัวและความตระหนักของภาคอุตสาหกรรม ทุกวันนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังคงให้ความสนใจจดจ่ออยู่กับการบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบเดินหน้า ในขณะที่การบริหารห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับ ได้รับความสนใจน้อยกว่ามาก และยังมองว่าห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับไม่ใช่ประเด็นทางธุรกิจที่มีความสำคัญ     

.

สังเกตได้จากระบบโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับที่ค่อนข้างลางเลือน และไม่ปะติดปะต่อ เช่น กรณีของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการบริโภคที่มักจะมีนโยบายประกันความพอใจ และการคืนสินค้าในช่วงเวลาที่กำหนด หรือการรับคืนผลิตภัณฑ์เก่ากลับไปแยกชิ้น 

.

แต่ส่วนใหญ่ทางผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายก็ยังไม่มีการวางโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับที่ชัดเจนขึ้นมารองรับ ทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบว่าจะส่งคืนผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางใด รวมทั้งไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ส่งคืนไปนั้น จะถูกลำเลียงไปถึงปลายทางที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น หลาย ๆ บริษัทยังมองว่าห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับอาจก่อให้เกิดปัญหาทางเทคนิคในอนาคต เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการจัดการกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกคืนมา      

.

การนำกลับไปผลิตหรือประกอบใหม่จะคุ้มค่าหรือไม่ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตใหม่จากวัสดุมือสองจะมีคุณภาพพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น การที่บริษัทส่วนใหญ่ไม่ใคร่จะเอาจริงเอาจังนักกับการรับคืนผลิตภัณฑ์จากแหล่งต่าง ๆ ทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่รับคืนมานั้นไม่สม่ำเสมอและไม่ต่อเนื่อง ซึ่งนั่นเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรอบใหม่ 

.

การบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิดจะยิ่งมีความท้าทายมากขึ้นเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มในอนาคต เมื่อแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมเข้ามามีอิทธิพลต่อการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น จนก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น การขยายขอบเขตนโยบายและข้อกำหนดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม

.

การส่งเสริมในเรื่องของการรีไซเคิลและการแสดงความเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship) สถานการณ์เหล่านี้จะกระตุ้นให้ผันกลับของผลิตภัณฑ์มีอัตราที่เพิ่มขึ้น องค์กรที่ไม่ได้เตรียมการสำหรับเรื่องนี้อย่างจริงจังอาจประสบปัญหาด้านการดำเนินงานขึ้นได้      

.

เพราะการจัดการกับผลิตภัณฑ์ที่ย้อนกลับในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นและกำไรสุทธิลดต่ำลง แทนที่จะได้รับมูลค่าเพิ่มจากการผันวัสดุหรือผลิตภัณฑ์กลับมาผลิตใหม่ ถึงเวลาที่อุตสาหกรรมยุคใหม่ต้องยอมรับว่าการบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิดก็จะเป็นกระบวนธุรกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งที่องค์กรธุรกิจยุคใหม่จะต้องนำไปปฏิบัติ 

.
กรณีศึกษา

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายต่อหลายรายการที่ถูกออกแบบให้สามารถหมุนเวียนกลับไปใช้ใหม่หรือผลิตใหม่ได้ แต่การหมุนเวียนเอาวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านั้นกลับคืนสู่ระบบการผลิตใหม่หรือการใช้ซ้ำ ก็ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า แต่ละห่วงโซ่อุปทานจะมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาแตกต่างกันออกไป และมีประเด็นด้านการบริหารจัดการที่ต้องพิจารณาแตกต่างกันออกไป

.

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความท้าทายของการบริหารห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับสำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละรายการได้อย่างชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจึงขอหยิบเอาประเด็นการบริหารห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน 2 รายการ มาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบ ดังต่อไปนี้ 

.
ห่วงโซ่อุปทานวงปิดของตลับหมึกพิมพ์ที่เติมใหม่ได้

ผู้ผลิตหมึกพิมพ์ในปัจจุบันมีการออกแบบตลับหมึกพิมพ์รุ่นใหม่ ที่สามารถขายคืนให้กับผู้ผลิตเพื่อนำกลับไปบรรจุใหม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ เพื่อให้การเก็บคืนตลับหมึกใช้แล้วเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้ผลิตหมึกพิมพ์แต่ละรายก็จะมีการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานขึ้นมารองรับ โดยห่วงโซ่อุปทานสำหรับการเก็บกู้ตลับหมึกเก่าจะประกอบด้วยโครงสร้างหลัก ๆ ของห่วงโซ่อุปทานผันกลับอย่างครบถ้วน คือ การจัดหารวบรวม ลอจิสติกส์ผันกลับ  การตรวจสอบ ทดสอบ แยกหมวด และการกำจัด  การผลิตรอบใหม่ (บรรจุใหม่)  การตลาดรอบใหม่

.

Xerox ในฐานะผู้ผลิตหมึกพิมพ์และเครื่องสำเนาเอกสารชั้นนำรายหนึ่งของโลก ก็ได้มีการพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานสำหรับการเก็บกู้ตลับหมึกพิมพ์ที่ใช้แล้วคืนกลับไปเติมใหม่ ซึ่งในส่วนนี้ Xerox ได้เข้าไปควบคุมการส่งคืนตลับหมึกโดยตรง โดยการมอบแบบส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าใช้ในการส่งตลับหมึกคืนไปยังโรงงานของ Xerox โดยตรง

.

กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สามารถประกันปริมาณตลับหมึกที่ถูกส่งคืนอย่างคงที่ พร้อมทั้งสามารถคะเนปริมาณล่วงหน้าได้ และยังกลายเป็นแบบอย่างให้กับการส่งคืนผลิตภัณฑ์ใช้แล้วอีกหลาย ๆ ชนิดในเวลาต่อมา 

.

รูปที่ 2 ห่วงโซ่อุปทานวงปิดสำหรับตลับหมักพิมพ์ของ Xerox

.

กิจกรรมด้านลอจิสติกส์ผันกลับสำหรับตลับหมึกใช้แล้วจะมุ่งความสนใจไปที่การลำเลียงตลับหมึกใช้แล้วจากผู้ใช้ขั้นสุดท้ายไปยังโรงงานบรรจุหมึก ซึ่งการที่ Xerox ได้มอบแบบส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางให้ลูกค้าสามารถที่จะส่งตลับหมึกกลับไปยังโรงงานของ Xerox ได้โดยตรง ช่วยให้การลำเลียงตลับหมึกเก่าสะดวกและมีประสิทธิภาพมาก ทันทีที่ตลับหมึกเก่าถูกส่งถึงโรงงาน      

.

กระบวนการแยกชิ้นส่วน การตรวจสอบและทดสอบ รวมถึงการผลิตรอบใหม่จะดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและใช้ต้นทุนต่ำ เพราะโดยธรรมชาติของผลิตภัณฑ์เองก็มีลักษณะเรียบง่ายอยู่แล้ว ในส่วนของการกระจายกลับสู่ตลาดก็เรียบง่ายมาก ตลับหมึกพิมพ์ที่บรรจุใหม่แล้วสามารถถูกส่งเข้าสู่ช่องทางการตลาดเดียวกับตลับหมึกใหม่ โดยมีฐานผู้บริโภคเดียวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นเอง

.

ในห่วงโซ่อุปทานวงปิดของตลับหมึกพิมพ์ที่เติมใหม่ได้ การตลาดสำหรับตลับหมึกพิมพ์เติมใหม่สามารถควบคุมได้ง่าย เพราะคุณภาพของตลับหมึกที่เติมใหม่จะทัดเทียมกับตลับหมึกใหม่ สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เท่าเทียมกัน และเทคโนโลยีของตลับหมึกก็มีความคงที่ ทำให้มีกลุ่มลูกค้าคงที่ไม่มีการแยกตัวไปสู่ตลาดอื่น ถึงแม้จะมีตลาดรองเข้ามาแข่งขันบ้าง เช่น ตลาดของหมึกเติมเอง แต่ขนาดของตลาดกลุ่มนี้ก็ยังเล็กกว่ามาก  

.
ห่วงโซ่อุปทานวงปิดสำหรับการนำกลับไปผลิตรอบใหม่

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสำนักงานในปัจจุบันมักถูกออกแบบในลักษณะแยกโมดูลหรือลักษณะที่แยกชิ้นส่วนได้ง่าย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในกรณีที่นำกลับไปผลิตหรือประกอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรสาร เครื่องพิมพ์เอกสาร และโดยเฉพาะเครื่องสำเนาเอกสาร

.

Xerox ได้รายงานว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ประกอบอยู่เครื่องถ่ายเอกสารกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำกลับไปผลิตใหม่ได้ และการนำชิ้นส่วนจากเครื่องเก่ากลับมาผลิตใหม่นั้น ช่วยให้ Xerox ประหยัดพื้นที่ฝังกลบชิ้นส่วนเครื่องถ่ายเอกสารเก่าได้กว่า 300 ล้านกิโลกรัม (ยอดรวมตั้งแต่ ค.ศ.1998 – ปัจจุบัน)

.

และในการนี้ Xerox ได้ออกแบบเครื่องถ่ายเอกสารใหม่ตามหลักการออกแบบแบบแยกโมดูล (Modular Design Principles) เพื่อให้การแยกชิ้นส่วนกลับไปผลิตใหม่ทำได้ง่ายขึ้น และได้วางโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานเพื่อนำเครื่องถ่ายเอกสารเก่ากลับมาผลิตใหม่ ดังรูปที่ 3

.

รูปที่ 3 ห่วงโซ่อุปทานวงปิดสำหรับเครื่องถ่ายเอกสาร

.

การรักษาสมดุลระหว่างอัตราการส่งคืน กับอัตราความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับการผลิตใหม่ เป็นงานที่ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะตลาดของสินค้าผลิตรอบสอง กับสินค้าใหม่จะแยกกันชัดเจน ขณะที่ลูกค้ากลุ่มหนึ่งอาจต้องการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แต่ลูกค้าอีกกลุ่มก็อาจต้องการผลิตภัณฑ์ที่ผลิตรอบสองที่ประหยัดกว่า กรณีเช่นนี้ก่อให้เกิดความกังวลว่า ตลาดที่แยกจากกันนั้นอาจกลายเป็น ตลาดที่กินกันเอง (Market Cannibalization) ในอนาคต 

.

แต่ส่วนที่ยากลำบากที่สุดสำหรับการบริหารห่วงโซ่อุปทานย้อนกลับเพื่อการผลิตรอบสอง คือ ลอจิสติกส์ผันกลับ สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องถ่ายเอกสาร ที่ถูกออกแบบให้สามารถแยกชิ้นส่วนหรือโมดูล การรวบรวมเพื่อนำกลับเพื่อการผลิตรอบใหม่จะค่อนข้างง่าย แต่กระนั้น การออกแบบเครือข่ายลอจิสติกส์เพื่อการนำกลับไปผลิตใหม่ก็ยังมีความท้าทายอยู่มากและความยุ่งยากก็ยังมีอยู่มาก     

.

เช่น ปริมาณของชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ที่เก็บกู้ได้ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งต้นทุนดำเนินงานในการรวบรวมผลิตภัณฑ์ใช้แล้วกลับสู่ระบบการผลิตใหม่ก็ค่อนข้างสูง ดังนั้น กลยุทธ์ในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของหน่วยต่าง ๆ ในเครือข่ายลอจิสติกส์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ผู้ผลิตต้องวางแผนสำหรับการลำเลียงผลิตภัณฑ์หลากหลายแหล่งที่มีความต่างกันทางภูมิศาสตร์ 

.

ผลิตภัณฑ์เก่าหลายรายการอาจอยู่ในสภาพที่เป็นวัตถุอันตรายซึ่งจะต้องลำเลียงกลับอย่างระมัดระวัง กระบวนการตรวจสอบ ทดสอบ แยกแยะ และแบ่งเกรดจะยุ่งยากซับซ้อนและค่อนข้างสิ้นเปลืองเวลามาก เพราะตัวผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง อาจประกอบด้วยชิ้นส่วนเพียงสิบชิ้น หรืออาจจะมากเป็นพันชิ้น การคัดแยกจะต้องทำอย่าละเอียดลออเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพปะปนเข้าสู่กระบวนการผลิตรอบใหม่ เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ 

.
สรุป: ความสำคัญและอนาคตของการบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิด

กล่าวโดยสรุปก็คือ ห่วงโซ่อุปทานวงปิดคือวิวัฒนาการอีกก้าวหนึ่งของการบริหารห่วงโซ่อุปทาน ที่องค์ความรู้เดิมเกี่ยวการบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบไปข้างหน้าอย่างเดียว ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างครอบคลุม ดังนั้น ในการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานวงปิดจึงจำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าระบบห่วงโห่อุปทานวงปิดที่ถูกสร้างขึ้นจะยังไม่เสถียรในช่วงแรก     

.

องค์กรอาจต้องลงทุนพอสมควรเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ใหม่มาใช้ปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการลองผิดลองถูก หรือการวิจัยดำเนินงานอย่างเป็นระบบ หนทางหนึ่งที่เชื่อกันว่าจะสามารถเร่งให้การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิดก็คือ การแลกเปลี่ยนความรู้ ข่าวสาร และค้นคว้าวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิชาการในแวดวงการศึกษากับนักปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรม

.

จากเนื้อหาที่นำเสนอมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การบริหารห่วงโซ่อุปทานและการออกแบบเครือข่ายลอจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ จะมีประโยชน์มากทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และในเชิงของความยั่งยืน เพราะถ้าหากภาคอุตสาหกรรมสามารถสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานแบบวงปิดขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเก็บกู้วัสดุและผลิตภัณฑ์จากภาคการบริโภคกลับคืนสู่ภาคการผลิตก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

.

สายธารของวัสดุที่ไหลคืนเข้าสู่วงจรการรีไซเคิล หรือ การผลิตรอบใหม่ก็จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย นั่นหมายถึง เสถียรภาพของอุตสาหกรรมภาครีไซเคิลและภาคการผลิตรอบใหม่ (Recycling and Remanufacturing Sector) ก็จะสูงขึ้น จนกลายเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ยั่งยืนกว่า

.

เอกสารอ้างอิง

* Barros AI, Dekker R and Scholten V (1998) A two-level network for recycling sand: A case study. European Journal of Operational Research 110: 199-214
* Beamaon BM and Fernandes C (2004) Supply-chain network configuration for product recovery. Production Planning & Control, 15(3): 270–281
* Blackburn JD, Guide VDR Jr., Souza GC and van Wassenhove LN (2004) Reverse Supply Chains for Commercial Returns. Calofornia Management Review 46,6(2): 6-22
* Fleischmann M; Beullens P; Bloemhof-Ruwaard JM; van Wassenhove LN (2001) The impact of product recovery on logistics network design Production and Operations Management 10(2): 156-173
* Fleischmann M, Bloemhof-Ruwaard JM, Dekker R, van der Laan E, van Nunen Jo AEE, van Wassenhove LN (1997) Quantitative models for reverse logistics: A review. European Journal of Operational Research 103: 1-17
* Guide VDR Jr., Harrison TP and van Wassenhove LN (2003) The Challenge of Closed-LoopSupply Chains. INFORMS 33(6): 3–6
* Guide VDR Jr., Teunter RH and van Wassenhove LN (2003) Matching Demand and Supply to Maximize Profits from Remanufacturing. Manufacturing & Service Operations Management 5(4): 303–316
* Mason S (2002) Backward Progress–Turning the negative perception of reverse logistics into happy returns. IIE Solutions August: 42-46
* Sim E, Jung S, Kim H, and Park J (2004) A Generic Network Design for a Closed-Loop Supply Chain Using Genetic Algorithm. In Deb K et al. (Eds.): GECCO 2004, LNCS 3103: 1214–1225

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด