เนื้อหาวันที่ : 2010-07-29 10:58:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3535 views

ISO 14015 มาตรฐานการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับสถานที่และองค์กร

มาตรฐาน ISO 14015 จะเป็นมาตรฐานในกลุ่มการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับองค์กรในการตรวจประเมินทางด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับสถานที่ และองค์กร โดยจะเป็นการตรวจประเมิน เพื่อระบุประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงเป็นการพิจารณาถึงผลกระทบทางธุรกิจที่จะตามมาจากประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้น

ISO 14015 มาตรฐานการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับสถานที่และองค์กร
(Environmental Assessment of Sites and Organizations (EASO))

.

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com

.

.

มาตรฐาน ISO 14015 จะเป็นมาตรฐานในกลุ่มการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับองค์กรในการตรวจประเมินทางด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับสถานที่ และองค์กร (Environmental Assessment of Sites and Organization-EASO) โดยจะเป็นการตรวจประเมิน เพื่อระบุประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงเป็นการพิจารณาถึงผลกระทบทางธุรกิจที่จะตามมาจากประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้น

.

มาตรฐานนี้สามารถนำไปใช้ได้ในองค์กรทุกขนาด ไม่ว่าจะขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก รวมถึงการนำไปใช้ได้ทั้งเป็นการตรวจประเมินภายในด้วยตัวองค์กรเอง หรือใช้เป็นแนวทางสำหรับการตรวจประเมินโดยหน่วยงานภายนอกองค์กร โดยมาตรฐานนี้ ไม่ได้มีไว้สำหรับเป็นมาตรฐานเพื่อการขอการรับรอง หรือเพื่อการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

.

เนื้อหาหลัก ๆ ของมาตรฐาน ISO 14015 นี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ที่สำคัญ โดยในส่วนแรกจะอธิบายถึงบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจประเมิน ซึ่งประกอบด้วย ลูกค้า ผู้ตรวจประเมิน และผู้ถูกตรวจประเมิน ส่วนที่สอง จะเป็นการอธิบายถึงขั้นตอนต่าง ๆ ของการตรวจประเมิน ตั้งแต่การวางแผน การรวบรวมข้อมูล และการยืนยันความถูกต้อง การประเมินผล และการจัดทำรายงานการตรวจประเมิน ดังแสดงในรูปที่ 1

.
ส่วนที่ 1 บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบ

ในมาตรฐาน ISO 14015 นี้ จะระบุถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจประเมิน ซึ่งประกอบด้วย ลูกค้า ผู้ถูกประเมิน และผู้ตรวจประเมิน

.

ลูกค้า จะหมายถึงองค์กรที่มีความประสงค์จะให้ทำการตรวจประเมิน โดยอาจจะเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ถูกตรวจประเมิน หรืออื่น ๆ โดยในมาตรฐานนี้ ได้ระบุว่าหน้าที่ความรับผิดชอบของลูกค้า จะประกอบด้วย

.

1. พิจารณาถึงความจำเป็นในการจัดให้มีการตรวจประเมิน
2. กำหนดวัตถุประสงค์ของการตรวจประเมิน
3. กำหนดขอบเขตและเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการตรวจประเมิน
4. คัดเลือกทีมผู้ตรวจประเมิน

.

5. จัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้นให้กับผู้ตรวจประเมิน
6. กำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในส่วนของผู้ตรวจประเมิน เช่น การวางแผน การรวบรวมข้อมูลและยืนยันความถูกต้อง การประเมินผล และการจัดทำรายงาน ซึ่งบางส่วนอาจจะเป็นความรับผิดชอบของลูกค้า หรืออาจจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกองค์กรมาให้ความช่วยเหลือด้วย

.

7. กำหนดลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่จะทำการตรวจประเมิน
8. ประสานงานกับตัวแทนของหน่วยงานหรือพื้นที่ที่จะทำการตรวจประเมิน
9. อนุมัติแผนการตรวจประเมิน
10. จัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ตรวจประเมินในระหว่างดำเนินการตรวจ
11. รับผลการตรวจประเมิน และพิจารณาถึงการแจกจ่ายผลการตรวจประเมินไปยังหน่วยงานอื่น ๆ

.

ในส่วนของผู้ถูกตรวจประเมิน ซึ่งอาจจะเป็นลูกค้าเอง หรืออาจจะเป็นตัวแทนจากหน่วยงานหรือพื้นที่ต่าง ๆ ที่จะถูกตรวจประเมิน ในมาตรฐานได้ระบุไว้ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ประกอบด้วย

.

1. การดูแลในการเข้าถึงพื้นที่ และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทำการตรวจประเมินตามวัตถุประสงค์ของการตรวจประเมินที่ได้กำหนดไว้
2. แจ้งให้กับพนักงานในหน่วยงานหรือพื้นที่ที่จะทำการตรวจประเมินได้รับทราบถึงขั้นตอนต่าง ๆ ของการตรวจประเมิน
3. ประสานงานและจัดเตรียมบุคลากรสำหรับการให้สัมภาษณ์กับผู้ตรวจประเมิน
4. ในบางกรณี อาจจะต้องมีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ตรวจประเมิน
5. ดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยสำหรับผู้ตรวจประเมิน

.

ทั้งนี้ ผู้ถูกตรวจประเมินอาจจะเข้าร่วมในการกำหนดขอบเขต และแผนการตรวจประเมิน รวมถึงได้รับรายงานผลการตรวจประเมินด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของลูกค้า

.

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานนี้ อาจจะมีบางส่วนที่แตกต่างไปจากหน้าที่ของผู้ตรวจประเมินในมาตรฐานอื่น ๆ อยู่บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะคล้าย ๆ กัน โดยนอกจากจะทำหน้าที่ในการประเมินข้อมูลที่รวบรวมได้ เทียบกับเกณฑ์การตรวจประเมินที่กำหนดไว้แล้ว ในบางกรณีผู้ตรวจประเมินอาจจะต้องมีการพิจารณาถึงผลกระทบทางธุรกิจที่จะตามมาจากข้อมูลที่ได้ประเมินแล้วด้วย

.
กล่าวโดยสรุป บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ตรวจประเมิน จะประกอบด้วย

1. ช่วยลูกค้าในการกำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตและเกณฑ์ที่จะใช้ในการตรวจประเมิน
2. กำหนดวิธีการและรูปแบบในการรายงานการตรวจประเมินร่วมกับลูกค้า
3. จัดทำแผนการตรวจประเมิน และส่งให้ลูกค้าให้อนุมัติ
4. จัดเตรียมเอกสารที่จะใช้ในการตรวจประเมิน เช่น ใบตรวจสอบ เอกสารระเบียบการปฏิบัติงาน
5. ดูแลให้มั่นใจได้ว่าสมาชิกในทีมตรวจประเมินมีความสามารถอย่างเพียงพอและเหมาะสม ในการดำเนินการตรวจประเมินในแต่ละหน่วยงานหรือพื้นที่

.

6. แจ้งยืนยันการอนุมัติทีมผู้ตรวจประเมินจากลูกค้า
7. ทำการรวบรวมข้อมูลเบี้องต้นเกี่ยวกับหน่วยงานหรือพื้นที่ที่จะทำการตรวจประเมิน
8. มอบหมายหน้าที่ในการดำเนินงานในการตรวจประเมินให้กับสมาชิกในทีม
9. รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้อง ให้สอดคล้องกันกับแผนการตรวจประเมิน
10. ชี้บ่งและประเมินผลในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม
11. พิจารณาถึงผลกระทบทางธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้น
12. จัดเตรียม และส่งมอบรายงานการตรวจประเมินให้กับลูกค้า

.

ทั้งนี้ ผู้ตรวจประเมิน จะต้องมีความสามารถและคุณสมบัติในการดำเนินการอย่างเหมาะสม รวมถึงมีประสบการณ์และได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอด้วย นอกจากนั้นผู้ตรวจประเมินควรจะมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจประเมินด้วย เช่น ข้อกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยีทางด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ลักษณะทางด้านสิ่งแวดล้อมและเทคนิคของการปฏิบัติการ การปฏิบัติงาน และเทคนิคการตรวจประเมิน

.

ส่วนที่ 2 กระบวนการตรวจประเมิน

กระบวนการตรวจประเมิน จะประกอบด้วย การวางแผนการตรวจประเมิน การวบรวมและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลสารสนเทศ การประเมินผลข้อมูลสารสนเทศ และการจัดทำรายงานการตรวจประเมิน นอกจากนั้น ยังอาจจะรวมไปถึงการระบุโอกาสทางธุรกิจด้วย ถ้าเป็นความต้องการของลูกค้า

.
1. การวางแผน

เมื่อมีการตกลงที่จะมีการดำเนินการตรวจประเมินแล้ว ก็จะต้องมีการวางแผนการตรวจประเมิน โดยการวางแผนจะประกอบด้วยการกำหนด และเห็นชอบในวัตถุประสงค์ของการตรวจประเมิน รวมถึงขอบเขตและเกณฑ์ที่จะใช้ในการตรวจ และการจัดทำแผนการตรวจประเมิน

.
1.1 วัตถุประสงค์ของการตรวจประเมิน

ในการตรวจประเมิน ควรจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์โดยลูกค้า ซึ่งวัตถุประสงค์ของการทำ EASO จะประกอบด้วย
• การชี้บ่ง รวบรวมและประเมินผลข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวกับลักษณะทางด้านสิ่งแวดล้อม และประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมของสถานที่ และองค์กรที่จะทำการตรวจประเมิน
• การพิจารณาถึงผลกระทบทางธุรกิจที่จะตามมาจากประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่หรือองค์กรนั้น ๆ

.
1.2 ขอบเขตของการตรวจประเมิน

ในการกำหนดขอบเขตของการตรวจประเมิน จะระบุถึงความครอบคลุมของพื้นที่ที่จะทำการตรวจประเมิน โดยขอบเขตของการตรวจอาจจะรวมไปถึงการพิจารณาถึงผลกระทบทางธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของลูกค้า ทั้งนี้ ในการจัดทำขอบเขตของการตรวจประเมิน จะต้องพิจารณาถึง

.

• ประเภทของลักษณะด้านสิ่งแวดล้อม (Aspect) ที่จะทำการประเมิน
• ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จากสถานที่หรือองค์กรอื่นที่มีต่อผู้ถูกตรวจประเมิน
• ขอบเขตทางกายภาพของผู้ถูกตรวจประเมิน
• พื้นที่ใกล้เคียง และพื้นที่โดยรอบ
• ขอบเขตขององค์กร รวมถึงความสัมพันธ์หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้รับจ้างช่วง ผู้ส่งมอบ องค์กรอื่น ๆ ผู้ที่เคยอยู่เดิม
• ช่วงเวลาที่จะพิจารณา (อดีต ปัจจุบัน อนาคต)
• กิจกรรมของผู้ถูกตรวจประเมิน หรือของลูกค้า เช่น การปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง แผนการเปลี่ยนแปลง การขยายงาน การรื้อทำลาย การปลดออกจากตำแหน่ง การปรับปรุงใหม่
• การจัดทำเกณฑ์การพิจารณา
• ต้นทุนของผลกระทบทางธุรกิจที่ตามมา

.

ขอบเขตอาจจะกำหนดหรือจำกัดตามสถานที่ และองค์กรที่จะทำการตรวจประเมิน ทั้งนี้ ขอบเขตการตรวจอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างการตรวจได้ ตามความเห็นชอบของลูกค้า ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จะต้องมีการบันทึก และแจ้งให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

.
1.3 การกำหนดเกณฑ์การตรวจประเมิน
เกณฑ์การตรวจประเมิน จะกำหนดขึ้นเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลต่าง ๆ ที่รวบรวมได้ เกณฑ์การตรวจประเมิน อาจจะประกอบด้วย

• ข้อกฏหมายทั้งที่มีในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
• ข้อกำหนดทางด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยลูกค้า (เช่น นโยบายสิ่งแวดล้อม วิธีการปฏิบัติงาน ข้อกำหนดเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อม แนวทางการบริหารจัดการ ข้อกำหนดทางด้านระบบและสมรรถนะ มาตรฐานอุตสาหกรรมและวิชาชีพ เป็นต้น)
• ข้อกำหนด คำร้องเรียนที่เกิดขึ้นหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นของหน่วยงานภายนอก เช่น บริษัทประกัน สถาบันการเงิน เป็นต้น
• ข้อพิจารณาทางด้านเทคนิค

.
1.4 การจัดทำแผนการตรวจประเมิน

แผนการตรวจประเมิน จะประกอบด้วย
• การระบุถึงลูกค้า ตัวแทนของผู้ถูกตรวจประเมิน และผู้ตรวจประเมิน
• วัตถุประสงค์ และขอบเขตของการตรวจประเมิน
• เกณฑ์การตรวจประเมิน
• พื้นที่ตรวจประเมินตามลำดับความสำคัญ
• บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบ
• ภาษาที่ใช้ในการตรวจประเมิน และการรายงาน
• ตารางเวลาในการตรวจประเมิน รวมถึงวันที่ และช่วงเวลา
• ทรัพยากรที่ต้องการ (เช่น บุคคล การเงิน เทคโนโลยี)
• กรอบวิธีการปฏิบัติงานในการตรวจประเมินที่ใช้
• ข้อสรุปของเอกสารที่ใช้ในการอ้างอิง ใบตรวจสอบ และเอกสารการทำงานอื่น ๆ ที่นำมาใช้
• ข้อกำหนดเกี่ยวกับการรายงาน
• ข้อกำหนดในการรักษาความลับ

.

ในส่วนของข้อจำกัดที่เป็นไปได้ ที่อาจส่งผลต่อการประเมิน จะต้องมีการระบุไว้ในแผนการตรวจประเมินด้วย โดยข้อจำกัดที่เป็นไปได้ ประกอบด้วย

.

• ความพร้อมของเวลาในการตรวจประเมิน
• ความพร้อมของทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการตรวจประเมิน
• การเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
• ความพร้อมของข้อมูลสารสนเทศ
• การสื่อสารกับบุคคลต่าง ๆ หรือการเข้าถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง

.

ทั้งนี้ ลูกค้าควรจะมีการทบทวนและอนุมัติแผนการตรวจประเมิน โดยแผนการตรวจประเมินควรได้รับการสื่อสารไปยังตัวแทนของผู้ถูกตรวจด้วย

.

2. การรวบรวม และยืนยันความถูกต้องของข้อมูล

ในการตรวจประเมิน จะเป็นการพิจารณาจากข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องที่รวบรวมได้เกี่ยวกับลักษณะทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Aspects) ผ่านการทบทวนเอกสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน และบันทึกต่าง ๆ (ทั้งก่อนและในระหว่างการเข้าตรวจประเมินในสถานที่) จากการสังเกตกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และจากการสัมภาษณ์

.

กระบวนการในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับลักษณะทางด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องสอดคล้องกันกับวัตถุประสงค์ ขอบเขต และแผนการตรวจประเมิน ทั้งนี้ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล ผู้ตรวจประเมินจะต้องดูแลให้เกิดความเพียงพอ ความเกี่ยวข้อง และความถูกต้องตรงตามจุดประสงค์ของการตรวจประเมิน โดยข้อมูลที่ได้อาจจะเหมาะสมเฉพาะในช่วงเวลาที่ได้มา และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อาจส่งผลต่อความถูกต้องของข้อมูลได้

.

ตัวอย่างของข้อมูลสารสนเทศที่จะนำมาพิจารณาใน EASO ได้แก่
• สถานที่ตั้ง
• คุณลักษณะทางกายภาพ
• ผู้ถูกตรวจประเมิน หน่วยงานใกล้เคียงและโดยรอบ
• การใช้ที่ดิน
• สิ่งอำนวยความสะดวก กระบวนการ และการปฏิบัติงาน
• ความสำคัญของสถานที่
• วัตถุดิบ ระหว่างกระบวนการ และผลิตภัณฑ์ (รวมถึงวัตถุอันตราย)
• การจัดเก็บและเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ
• การปล่อยและระบายออกสู่ อากาศ น้ำ และดิน
• การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย และการกำจัดของเสีย
• การป้องกัน และควบคุมการเกิดไฟไหม้
• วาตภัย และอุทกภัย
• อาชีวอนามัย สุขอนามัยและความปลอดภัยสาธารณะ
• ข้อกฏหมาย ข้อกำหนดองค์กร และอื่น ๆ ความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด

.
ความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก
2.1 การพิจารณาเอกสารและบันทึก

ผู้ตรวจประเมิน ควรจะรวบรวมและทบทวนเอกสาร รวมถึงบันทึกต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับสถานที่ และองค์กรที่จะทำการตรวจประเมิน เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อนได้

.

ทั้งนี้ แหล่งที่มาของข้อมูลที่หลากหลาย ควรได้รับการทบทวนเพื่อยืนยันถึงสิ่งที่พบ โดยข้อมูลอาจจะได้มาจากผู้ถูกตรวจ หรือจากแหล่งอื่น ๆ ผู้ถูกตรวจประเมินควรให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลอย่างเหมาะสม หากพบความไม่สะดวกจากการให้ข้อมูลของผู้ถูกตรวจประเมิน จะต้องมีการบันทึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาทบทวนในภายหลัง รวมถึงข้อจำกัดหรืออุปสรรคอื่น ๆ ที่พบ เช่น เวลา ต้นทุน และความรักษาความลับ

.

นอกจากนั้น ผู้ตรวจประเมิน ควรจะดูแลรักษาเอกสารในการทำงาน เพื่อสนับสนุนต่อกระบวนการรวบรวมข้อมูล ในระหว่างการรวบรวมและทบทวนข้อมูล จำเป็นที่ผู้ตรวจประเมินจะต้องมีการบันทึกประเภท แหล่งที่มา คุณภาพ และความน่าเชื่อถือของข้อมูลสารสนเทศเอาไว้ด้วย

.

ตัวอย่างของเอกสารต่าง ๆ ที่สามารถพบได้ในการตรวจประเมิน EASO ได้แก่ แผนที่ แผนงาน และรูปถ่าย บันทึกประวัติที่ผ่านมา ข้อมูลทางธรณีวิทยา อุทกวิทยา บันทึกการส่งสินค้า และการเคลื่อนย้าย เอกสารข้อมูลความปลอดภัย ใบสั่งงาน วิธีการปฏิบัติงานในการติดตามผล และผลลัพธ์ เอกสารกระบวนการ บันทึกการบำรุงรักษา รายการสินค้าคงคลัง แผนฉุกเฉิน และแผนการโต้ตอบอื่น ๆ

.

บันทึกการฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม บันทึกการเกิดอุบัติเหตุ ใบอนุญาต ใบทะเบียนต่าง ๆ แผนผังองค์กร (ภารกิจ และหน้าที่ความรับผิดชอบ) รายงานการตรวจประเมิน และรายงานอื่น ๆ บันทึกความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด คำร้องเรียน นโยบายองค์กร รวมถึงแผนงาน และระบบการบริหารงาน ข้อกำหนดการประกันภัย สัญญาที่ทำกับผู้ส่งมอบ และหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ บันทึกการฝึกอบรม เป็นต้น

.

แหล่งข้อมูลสำหรับผู้ตรวจประเมิน จะแบ่งออกเป็นแหล่งข้อมูลจากภายนอกองค์กร และจากภายในองค์กรเอง สำหรับแหล่งข้อมูลจากภายนอกองค์กร จะประกอบด้วย หน่วยงานของรัฐทั้งในระดับประเทศ ท้องถิ่น สถานที่เก็บเอกสารสำคัญ สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อสิ่งพิมพ์ทางการค้า แนวปฏิบัติสำหรับอุตสาหกรรม การบริการฉุกเฉิน บริษัทประกันภัย เป็นต้น

.

ในขณะที่แหล่งข้อมูลจากภายในองค์กร ผู้ตรวจประเมินสามารถได้ข้อมูลมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กร เช่น ฝ่ายสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายจัดการทรัพย์สิน ฝ่ายดูแลระบบสาธารณูปโภค ฝ่ายฝึกอบรม ฝ่ายกฏหมาย ฝ่ายการเงิน และบัญชี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายแพทย์ เป็นต้น

.
2.2 การสังเกตุจากกิจกรรมและสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่าง ๆ

ผู้ตรวจประเมิน ควรจะสังเกต และบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสภาพทางกายภาพของสถานที่ และองค์กร ทั้งที่เป็นการปฏิบัติงานในอดีตที่ผ่านมา และในปัจจุบัน

.

การสังเกต อาจจะเป็นการพิจารณาข้อมูลจากการทบทวนเอกสาร รวมถึงข้อมูลที่ได้จากการวิจัย รวมถึงบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา และสิ่งที่พบทั้งในขณะที่อยู่ในสถานที่ และไม่อยู่ในสถานที่ตรวจประเมิน การสังเกตจะถูกจำกัดด้วยความสามารถในการตรวจจับด้วยสัญชาตญาณ ซึ่งผู้ตรวจประเมินควรจะใช้รูปถ่ายและบันทึกที่เป็นเอกสาร ประกอบการสังเกตให้สอดคล้องตามแผนการตรวจประเมิน

.

ผู้ตรวจประเมิน ควรจะมีการยืนยันขอบเขตทางกายภาพของสถานที่ และข้อจำกัดของการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ตามขอบเขตและแผนการตรวจประเมิน ในกรณีที่ผู้ตรวจประเมินไม่สามารถเข้าถึงยังบางส่วนของสถานที่หรือองค์กรเพื่อจะทำการตรวจประเมินได้ ข้อจำกัดดังกล่าวจะต้องมีการบันทึกไว้ในรายงานการตรวจประเมินด้วย รวมถึงผู้ตรวจประเมินจะต้องปฏิบัติข้อกำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยในขณะเข้าตรวจสอบในสถานที่ด้วย

.

ตัวอย่างของกิจกรรมที่จะสามารถสังเกตได้ในการทำ EASO ได้แก่ การจัดการของเสีย การเคลื่อนย้ายวัสดุ และผลิตภัณฑ์ การปฏิบัติงานในกระบวนการต่าง ๆ การจัดการน้ำเสีย การควบคุมการระบายอากาศ การระบายน้ำ การใช้ที่ดิน เป็นต้น

.

ส่วนสภาพแวดล้อมทางกายภาพ จะประกอบด้วย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบทำความร้อนและความเย็น ท่อและระบบระบายอากาศ ทางระบายน้ำ และบ่อน้ำ ระบบสาธารณูปโภค เสียง แสงสว่าง การสั่นสะเทือน หรือความร้อน กลิ่น ฝุ่น ควัน แหล่งน้ำและภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อมโดยรอบและสถานที่ใกล้เคียง ดินและน้ำใต้ดิน พื้นผิวที่มีการเปลี่ยนสีหรือมีคราบเปื้อน สัตว์และพืชที่ได้รับผลกระทบ อาคาร โรงงาน และเครื่องมือ การจัดเก็บวัตถุดิบ วัสดุอันตราย รวมถึงผลิตภัณฑ์และส่วนผสมที่เป็นอันตราย อุปกรณ์ในการควบคุมไฟไหม้ และเหตุฉุกเฉิน

.
2.3 การสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์ จะเป็นวิธีการในการรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมายืนยัน หรือเป็นข้อมูลเพิ่มเติมจากการพิจารณาจากเอกสารและบันทึก รวมถึงการสังเกตทั้งจากกิจกรรม และสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่าง ๆ

.

การสัมภาษณ์สามารถดำเนินการได้กับแต่ละบุคคล หรือเป็นกลุ่ม ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกองค์กร ตัวอย่างของผู้ถูกสัมภาษณ์ ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บุคลากรที่รับผิดชอบในกิจกรรมนั้น ๆ ผู้ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่บำรุงรักษา พนักงานที่ลาออกไปแล้ว หน่วยงานดูแลกฏหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม

.

เจ้าหน้าที่ดับเพลิง การบริการฉุกเฉิน หน่วยงานด้านสาธารณสุข หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กร หรือชุมชนโดยรอบสถานที่ตรวจประเมิน ที่ปรึกษาด้านกฏหมาย เจ้าหน้าที่ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย ผู้รับจ้างช่วง เจ้าหน้าที่จัดซื้อ ผู้ที่เคยอาศัยอยู่เดิม เป็นต้น

.

ทั้งนี้ผู้ถูกสัมภาษณ์ จะถูกตั้งคำถามเพื่ออธิบายถึงลักษณะของการทำงาน และแนวทางการทำงานทั้งในปัจจุบัน และที่ผ่านมา รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ สภาพแวดล้อม และประวัติที่ผ่านมาในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีผล หรืออาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกสัมภาษณ์ จะต้องไม่ถูกบังคับที่จะให้คำตอบ และอาจจะไม่สามารถให้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ครบถ้วนได้ด้วยความรู้ที่จำกัด

.

ดังนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจประเมิน ที่จะต้องทำการทวนสอบความถูกต้องเอง โดยผู้ตรวจประเมิน ควรจะมีการยืนยันให้แน่ชัดว่า ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนจากผู้ถูกสัมภาษณ์ ไม่ได้มาจากปัญหาทางด้านการสื่อสาร รวมถึงข้อจำกัดทางด้านภาษา ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จากการสัมภาษณ์ จะต้องนำไปสู่การจัดทำข้อสรุป ทั้งนี้ ข้อสรุปต่าง ๆ จะต้องได้รับการยืนยันก่อนเท่าที่เป็นไปได้

.
2.4 ความถูกต้องของข้อมูลสารสนเทศ

เมื่อได้มีการรวบรวมข้อมูลมาแล้ว จะต้องมีการยืนยันถึงความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเพียงพอ และความเหมาะสมของข้อมูลสารสนเทศ ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของการตรวจประเมิน

.

ในกรณีที่ข้อมูลที่รวบรวมได้ พบว่าอยู่นอกขอบเขตของการตรวจประเมิน แต่พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวสามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของการตรวจประเมินได้ ควรจะมีการสื่อสารให้กับลูกค้าได้รับทราบด้วย

.

3. การประเมินผล

ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับลักษณะทางด้านสิ่งแวดล้อม จะเป็นปัจจัยนำเข้าที่สำคัญสำหรับกระบวนการประเมินผล โดยกระบวนการจะประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ การระบุประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Issues) และการพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ ทั้งนี้ลูกค้าอาจจะตัดสินใจให้แต่ละส่วนดำเนินการโดยคนละหน่วยงานกัน โดยเฉพาะอาจจะมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น ทางด้านเทคนิค การเงิน หรือกฏหมาย มาพิจารณาเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมากับธุรกิจ

.
3.1 การระบุถึงประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม

ในการระบุถึงประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการโดยการนำข้อมูลที่เกี่ยวกับลักษณะทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Aspect) มาทำการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ เพื่อพิจารณาถึง

.

• ความรับผิดชอบหรือประโยชน์ที่จะเกิดกับองค์กร
• ผลกระทบที่มีต่อภาพลักษณ์ของผู้ตรวจประเมิน หรือต่อลูกค้า
• ต้นทุนอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้น

.
3.2 การพิจารณาถึงผลกระทบทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น

ในการพิจารณาถึงผลกระทบทางธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้น จะดำเนินการก็ต่อเมื่อมีการกำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ และขอบเขตของการตรวจประเมิน โดยผลกระทบทางธุรกิจ จะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของผลกระทบทางการเงิน หรืออื่น ๆ ทั้งในทางบวกหรือทางลบ และในเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ ของประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่พบและได้รับการประเมิน

.

โดยทั่วไป การประเมินจะรวมไปถึงการดำเนินการตัดสินใจในผลกระทบที่จะตามมาของประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของ EASO ด้วย ในขั้นตอนนี้ จะต้องมีการประมาณการณ์ต้นทุนที่เกี่ยวกับผลกระทบทางธุรกิจที่ตามมา รวมถึงผลกระทบที่มีต่อภาพลักษณ์ทางสังคมของผู้ถูกตรวจประเมิน หรือลูกค้า ทั้งนี้ ในการดำเนินการตัดสินใจ จะต้องพิจารณาถึง

.

• ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น จากมาตรการในการบรรเทา หรือการดำเนินการแก้ไข หลีกเลี่ยงหรือป้องกัน
• ความเสียหายที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
• ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ผลที่ตามมาของความไม่สอดคล้องตามข้อกฏหมายทั้งในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น รวมถึงจากข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

.

• ความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของผู้ถูกตรวจประเมิน และลูกค้า
• ความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนดของนโยบายขององค์กรของผู้ถูกตรวจหรือของลูกค้า รวมถึงข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
• ต้นทุนโดยประมาณจากมาตรการหรือการดำเนินการดังกล่าว
• การพัฒนาทางเทคโนโลยี
• ช่วงเวลาที่จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายขึ้น เช่น โอกาสที่จะถูกบังคับใช้ตามกฏหมาย หรือมีการจัดทำกฏหมายใหม่ ๆ

.
4. การจัดทำรายงาน
4.1 เนื้อหาของรายงาน

ผู้ตรวจประเมินจะมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำเนื้อหาของรายงาน และการนำเสนอข้อมูลตามที่กำหนด เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้เข้าใจถึงประเด็นสำคัญที่ตรวจพบ ดังนั้น ผู้ตรวจประเมินควรจะมีการแยกแยะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นออกจากความเห็นส่วนตัวอย่างชัดเจน โดยมีการระบุถึงสิ่งที่พบ และชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พบ ทั้งนี้ เนื้อหาของข้อมูลที่จะรายงานให้กับลูกค้า ควรจะประกอบด้วย

.

• สถานที่ และองค์กรที่ทำการตรวจประเมิน
• ชื่อของผู้ตรวจประเมิน และผู้จัดทำรายงาน
• วัตถุประสงค์ ขอบเขต และเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการตรวจประเมิน
• วันที่ และช่วงเวลาในการตรวจประเมิน
• ข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับความพร้อมของข้อมูล และผลที่จะตามมาต่อการตรวจประเมิน
• ข้อจำกัด การยกเว้น การแก้ไข และความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากขอบเขตของการตรวจประเมินที่ได้มีการตกลงไว้
• ข้อสรุปของข้อมูลที่รวบรวมได้ในระหว่างการตรวจประเมิน และผลลัพธ์ของการตรวจประเมิน

.

นอกจากนั้น อาจจะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาเหล่านี้ลงไปในรายงานการตรวจประเมิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงที่ได้ทำไว้กับลูกค้า ประกอบด้วย
• ชื่อของลูกค้า
• ชื่อของผู้ถูกตรวจประเมิน
• การระบุรายชื่อสมาชิกทีมผู้ตรวจประเมิน
• ตารางเวลาในการตรวจประเมิน
• บทสรุปของวิธีการในการตรวจประเมินที่นำมาใช้
• บทสรุปของเอกสารที่ใช้ในการอ้างอิง
• วิธีการที่ใช้ในการประเมินผล
• ผลลัพธ์ของการประเมินผล ถ้าเป็นการดำเนินการโดยผู้ตรวจประเมิน
• ข้อเสนอแนะสำหรับขั้นตอนถัดไป
• การดูแลรักษาความลับ
• บทสรุป

.
4.2 รูปแบบการรายงาน

ในบางกรณี ลูกค้าอาจจะต้องการให้มีการรายงานด้วยวาจาเท่านั้น แต่โดยทั่วไป มักจะเป็นการรายงานในรูปแบบของเอกสาร ทั้งนี้ รูปแบบของรายงานการตรวจประเมิน อาจจะประกอบด้วย

.

1. บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
2. บทนำ (ชื่อของลูกค้า สถานที่ หรือองค์กรที่ถูกตรวจประเมิน ชื่อของผู้ถูกตรวจประเมิน ชื่อของผู้ตรวจประเมิน กำหนดเวลาในการตรวจประเมิน)
3. วัตถุประสงค์และขอบเขตของการตรวจประเมิน (ข้อแนะนำของลูกค้า ขอบเขตของสถานที่ และองค์กร)
4. เกณฑ์การตรวจประเมิน
5. กระบวนการตรวจประเมิน
6. ข้อมูลสารสนเทศ (แหล่งที่มา ข้อจำกัด และผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ข้อสรุป)
7. บทสรุป (ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้น)
8. ภาคผนวก

.
4.3 การแจกจ่ายรายงาน

รายงานที่จัดทำขึ้น จะถือเป็นทรัพย์สินของลูกค้า ดังนั้นผู้ตรวจประเมินจะต้องมีการดูแลรักษาความลับของรายงานไว้เป็นอย่างดี โดยการแจกจ่ายรายงานไปยังหน่วยงานหรือบุคคลต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้า รวมถึงการจัดทำสำเนาของรายงานให้กับผู้ถูกตรวจด้วย

.

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะเป็นสาระสำคัญของมาตรฐาน ISO 14015 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลาย ๆ มาตรฐานทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น โดยมาตรฐานนี้ สามารถนำไปบูรณาการในการใช้งานร่วมกันกับมาตรฐานทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้อีกด้วย

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด